ความเสียหายครั้งมโหฬารที่นำมาสู่การกวาดล้างผลิตภัณฑ์ในเครือ ‘เมจิกสกิน’ อาจนับได้ว่าเป็นทั้งบทเรียนครั้งใหญ่ และเป็นโอกาสสำคัญที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะได้หันกลับมาสังคายนาระบบการควบคุมกำกับผลิตภัณฑ์ที่ไม่ปลอดภัยต่อผู้บริโภค
การประชุมโต๊ะกลม ‘ความร่วมมือในการควบคุมกำกับผลิตภัณฑ์สุขภาพและการโฆษณา เพื่อความยั่งยืนในการคุ้มครองผู้บริโภค’ เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2561 จัดขึ้นภายใต้ความร่วมมือระหว่างสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ศูนย์วิชาการคุ้มครองผู้บริโภคเพื่อสุขภาพ (คคส.) มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ศูนย์วิชาการเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา (กพย.) และหน่วยปฏิบัติการวิจัยเภสัชศาสตร์ (วจภส.)
หัวใจของการจัดประชุมครั้งนี้มีด้วยกัน 3 ข้อ
- เพื่อส่งเสริมสนับสนุนการบริหารงานขององค์กรรับผิดชอบระบบควบคุมกำกับผลิตภัณฑ์สุขภาพและการโฆษณาทุกหน่วยงาน
- ชี้เป้าสำคัญของปัญหา ข้อเสนอความร่วมมือ และมาตรการการจัดการปัญหาโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพ ทั้งอาหารและเครื่องสำอาง
- กระตุ้นให้องค์กรผู้บริโภคและประชาชนตื่นตัว ตระหนักถึงปัญหาการโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพที่โอ้อวดเกินจริง และร่วมกันเฝ้าระวังเตือนภัย
ผู้ช่วยศาสตราจารย์เภสัชกรหญิง รุ่งเพ็ชร สกุลบำรุงศิลป์ คณบดีคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เกริ่นนำถึงสถานการณ์ผลิตภัณฑ์สุขภาพและการโฆษณาเกินจริง ซึ่งขณะนี้ได้ส่งผลกระทบต่อชีวิตและสุขภาพของคนไทยอย่างรุนแรงและกว้างขวาง โดยผลิตภัณฑ์อาหารบางประเภทยังมีการอวดอ้างสรรพคุณเป็นยารักษาโรคได้ ขณะที่บางผลิตภัณฑ์ก็มีการปลอมปนยาอันตราย เช่น ซิลเดนาฟิล (Sildenafil) ยาควบคุมพิเศษอย่างสเตียรอยด์ (Steroids) ไซบูทรามีน (Sibutramine) หรือที่รู้จักในฐานะของยาลดความอ้วนที่ทั่วโลกยกเลิกทะเบียนตำรับแล้ว
“วาระการประชุมในครั้งนี้จึงนับเป็นการพลิกวิกฤติให้กลายเป็นการสร้างโอกาสร่วมกันระหว่างหน่วยงานต่างๆ ในการกำกับควบคุมผลิตภัณฑ์สุขภาพและการโฆษณา”
ขณะที่ ผู้ช่วยศาสตราจารย์เภสัชกรหญิง นิยดา เกียรติยิ่งอังศุลี ผู้จัดการ กพย. กล่าวชี้แจงความเป็นมาและวัตถุประสงค์ของการประชุมครั้งนี้ว่า เป็นส่วนหนึ่งของความพยายามที่จะผลักดันวาระต่างๆ เพื่อสร้างกลไกคุ้มครองผู้บริโภคซึ่งเป็นมหากาพย์ที่ดำเนินมาอย่างยาวนาน และตลอดเวลาที่ผ่านมา กพย. ได้พยายามขับเคลื่อนมาโดยตลอด อีกทั้งมีการเสนอเข้าสู่สมัชชาสุขภาพแห่งชาติ รวมไปถึงการร่วมมือกับสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ในการหามาตรการใหม่ๆ เพื่อควบคุมสถานีโทรทัศน์ทั้งฟรีทีวี เคเบิลทีวี และทีวีดิจิตอล ให้มีความเข้มงวดมากขึ้นในการเผยแพร่โฆษณาที่ผิดกฎหมาย
“หลายท่านคงทราบแล้วว่าปัญหาโฆษณาทุกวันนี้มีเยอะมากขึ้น ซับซ้อนมากขึ้น และมีตัวละครที่เกี่ยวข้องมากขึ้น ฉะนั้น ทำอย่างไรที่เราจะใช้โอกาสนี้แก้ปัญหาในภาพรวมได้ จึงจำเป็นต้องสร้างความร่วมมือกับหน่วยงานที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องทั้งทางตรงและทางอ้อม เพื่อช่วยกันระดมความเห็น และนำไปสู่ข้อเสนอแนะแก่หน่วยงานต่างๆ โดยทุกความเห็นที่เกิดขึ้นในการประชุมครั้งนี้จะมีการสะท้อนกลับไปอีกครั้งหนึ่ง ท่านมีความคิดเห็นอย่างไร ท่านมีความตั้งใจอย่างไรในสิ่งที่ได้ทำไปแล้วและกำลังจะทำต่อไปอย่างไรบ้าง นี่คือหัวใจสำคัญที่อยากให้ทุกท่านช่วยกันระดมทั้งฝ่ายกฎหมาย ทั้งผู้เฝ้าระวัง”
โมเดลการทำงาน 7 ระบบ
ลำดับถัดมา เภสัชกรวรวิทย์ กิตติวงศ์สุนทร ในฐานะอุปนายกสภาเภสัชกรรม นำเสนอร่างโมเดลการทำงาน 7 ระบบ เพื่อใช้ควบคุมกำกับผลิตภัณฑ์สุขภาพ โฆษณา และฉลาก ที่แต่ละหน่วยงานสามารถนำไปปฏิบัติได้ทันที พร้อมมีกฎหมายรองรับ ประกอบด้วย
-
ระบบการขึ้นทะเบียน การอนุญาต
มีข้อเสนอให้เพิ่ม QR Code บนฉลากและสื่อโฆษณา ทั้งผลิตภัณฑ์อาหาร ยา และเครื่องสำอาง โดยสัญลักษณ์นี้สามารถนำไปใช้ตรวจสอบผลิตภัณฑ์ได้ง่ายและรวดเร็ว ผู้บริโภคสามารถสแกนเพื่อตรวจสอบได้ด้วยตนเอง ว่าฉลากถูกต้องตามที่ อย. ประกาศไว้หรือไม่
-
ระบบเฝ้าระวัง ตรวจสอบ
เปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมตรวจสอบได้ โดยลำดับแรกหน่วยงานรัฐต้องมีการกำหนดกรอบกติกาให้ชัดเจน อาทิ การใช้ ‘คำ’ หรือ ‘ข้อความ’ อันหลอกลวงเป็นเท็จ หรือข้อความอื่นที่มีความหมายในทำนองเดียวกัน ตลอดจนการใช้ภาพในลักษณะที่สื่อว่าเป็นผลมาจากการใช้ผลิตภัณฑ์ก่อนและหลัง (Before-After) นอกจากนี้ยังรวมไปถึงห้ามนำบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข หรือทำให้เข้าใจว่าเป็นบุคลากรดังกล่าวมาแนะนำ รับรอง หรือเป็นผู้แสดงแบบ
-
ระบบแจ้งเตือนภัย
หากระบบเฝ้าระวัง ตรวจสอบ มีความเข้มแข็งแล้ว จะนำมาสู่ระบบแจ้งเตือนภัยซึ่งหน่วยงานภาครัฐจะรับไปดำเนินการต่อ โดยมีเป้าหมายสำคัญคือ ‘ทันการณ์-ถึงกลุ่มเป้าหมาย-ทั่วถึง’ เช่น เมื่อตรวจพบผลิตภัณฑ์ที่ไม่ปลอดภัย เลขาธิการ อย. จะเป็นผู้ประกาศผลการตรวจพิสูจน์ เพื่อแจ้งเตือนให้ประชาชนได้รับทราบโดยทั่วกัน
-
ระบบเก็บสินค้าไม่ปลอดภัยออกจากตลาด
เมื่อมีการตรวจพิสูจน์และประกาศเตือนภัยแล้ว เป็นหน้าที่ของสาธารณสุขจังหวัด เจ้าของผลิตภัณฑ์ และร้านค้า ที่จะต้องเร่งดำเนินการเก็บคืนผลิตภัณฑ์อันตรายเหล่านั้นออกจากท้องตลาดโดยเร็ว
กรณีศึกษาของ ‘เมจิกสกิน’ ที่ตกเป็นข่าวในขณะนี้ อย. สามารถออกประกาศเพิกถอนใบรับจดแจ้งเครื่องสำอาง และให้เรียกเก็บคืนสินค้าเพื่อทำลายเครื่องสำอางทั้ง 227 รายการ โดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 31 แห่งพระราชบัญญัติเครื่องสำอาง พ.ศ. 2558
-
ระบบการสั่งระงับการกระทำผิด พักใช้-เพิกถอนใบอนุญาต และดำเนินคดี
การดำเนินคดีกับผู้กระทำผิด สามารถใช้กฎหมายเฉพาะเรื่อง ร่วมกับกฎหมายอื่นได้ เช่น หากกระทำผิดตาม พ.ร.บ.อาหาร มีโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท ซึ่งนับว่าโทษยังน้อยเกินไป แต่หากพิจารณาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 236 และมาตรา 238 จะมีอัตราโทษที่สูงขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้กระทำผิดเกิดความยำเกรงต่อกฎหมาย
-
ระบบเยียวยาผู้เสียหาย
อาศัยกลไกจาก พ.ร.บ.ความรับผิดต่อความเสียหายจากสินค้าไม่ปลอด พ.ศ.2551 (Product Liability Law: PL LAW) และ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ.2551 รวมไปถึงการรวมตัวฟ้องร้องเจ้าของผลิตภัณฑ์เป็นกลุ่มได้
-
ระบบเสริมพลังประชาสังคม
ต้องมีการส่งเสริมให้ทุกภาคส่วนของสังคมเข้ามาร่วมมือกัน รวมถึงผู้ประกอบการที่ดียังมีอยู่มากมาย แต่อาจได้รับผลกระทบตามไปด้วย ทั้งนี้ ย่อมขึ้นอยู่กับการสร้างความรู้ สร้างกลไกการทำงาน และสร้างภูมิคุ้มกันผู้บริโภค ไม่ให้เกิดการเอาเปรียบจากราคาสินค้าที่สูงเกินจริง และเพื่อให้ประชาชนได้รับความปลอดภัย ไม่ตกเป็นเหยื่อหลงเชื่อโฆษณาหลอกลวงต่างๆ
ที่สำคัญคือ องค์กรผู้บริโภค และหน่วยงานต่างๆ เป็นหัวใจสำคัญ ถ้าร่วมมือกันด้วยดี จะสามารถยับยั้งการกระทำผิดได้ และยังเป็นการยกระดับคุณภาพของสินค้าไทยให้เป็นที่เชื่อถือทั้งในและต่างประเทศ
Regulator โมเดล
ในส่วนถัดมา วงประชุมได้เปิดโอกาสให้ผู้แทนส่วนต่างๆ ให้ความเห็นและข้อเสนอแนะ เพื่อร่วมกันสร้างหลักประกันการคุ้มครองผู้บริโภค โดยเภสัชกรประพนธ์ อางตระกูล ผู้แทนเลขาธิการ อย. ให้ความเห็นไว้ว่า ที่ผ่านมารากเหง้าของปัญหาผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ผิดกฎหมายเกิดขึ้นมานาน จึงจำเป็นต้องแก้ไขทั้งระบบ ไม่เพียงเท่านั้นปัญหาของการโฆษณาสินค้าที่ผิดกฎหมายยังแตกต่างจากในอดีต จึงจำเป็นต้องมีการส่งเสริมให้ความรู้แก่ประชาชน รวมไปถึงสร้างทัศนคติที่ถูกต้อง
“จะเห็นได้ว่า ที่ผ่านมาไม่ว่าจะเป็นบุคลากรทางการแพทย์หรือหน่วยงานราชการ จะออกมาพูดหรือเตือนอย่างไร ก็ยังพบว่ามีประชาชนหลงเข้าไปอยู่ในวังวนนี้ไม่ใช่น้อย พอเห็นบุคคลผู้มีชื่อเสียงทางสังคมออกมาแนะนำสินค้าก็ไปซื้อตาม ซึ่งที่ผ่านมาสำนักงานตำรวจแห่งชาติได้เชิญผู้มีชื่อเสียงเหล่านี้มาให้ปากคำ ก็พบว่าบางคนเคยใช้ผลิตภัณฑ์แค่ไม่กี่ครั้ง หรือแทบจะไม่เคยใช้เลย”
ทั้งนี้ ภก.ประพนธ์ มองกลับมายังจุดอ่อนของส่วนราชการเองที่มักบอกแต่ข้อห้ามให้กับประชาชน แต่ไม่บอกทางเลือก หรือไม่ได้บอกวิธีที่ถูกต้องที่สุดในการลดน้ำหนักคืออะไร วิธีที่ปลอดภัยที่สุดจะต้องทำอย่างไร
“เราอาจลืมไปว่าเยาวชนของเรา เขายอมสวยในชาตินี้นะครับ”
นอกจากทัศนคติต่อประชาชนและส่วนราชการเองแล้ว ภก.ประพนธ์ ยังมองไปถึงโมเดลต้นแบบในการจัดทำ QR-Code แม้จะช่วยแก้ปัญหาได้ในระดับหนึ่ง แต่สุดท้ายแล้วก็อาจปลอมแปลงได้
“สิ่งสำคัญที่ควรต้องทำก็คือ ฐานข้อมูลการโฆษณา แต่ยังติดปัญหาเรื่องความไม่เสถียรของระบบไอที ซึ่งเป็นนิมิตหมายที่ดีที่เลขาธิการ กสทช. และเลขาธิการ อย. ได้จับมือกันว่า เรื่องการโฆษณาทางสื่อทีวี ไม่ว่าจะเป็นฟรีทีวี ดาวเทียม จะให้เจ้าหน้าที่ อย. ไปร่วมตรวจสอบที่ กสทช. ด้วย ถ้าดูแล้วเห็นว่าผิดกฎหมายก็จะส่งหนังสือร้องเรียนถึง กสทช. โดยตรง”
ขณะที่ตัวแทนหน่วยงานด้านการคุ้มครองผู้บริโภค อัชญา บุญสุวรรณ ผู้แทนเลขาธิการ สคบ. แสดงทัศนะว่า ที่ผ่านมาไม่เคยมีหน่วยงานไปทำหน้าที่ตรวจสอบต้นทุนของผลิตภัณฑ์ต่างๆ ว่ามีสินค้าจำนวนเท่าไร ซึ่งจะโยงไปถึงการจ่ายผลตอบแทนที่ทำให้เกิดกรณีแชร์ลูกโซ่ในธุรกิจขายตรงหรือการขายสินค้าเกินจริงตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ
“ดังนั้น หน้าที่ของ สคบ. ก็จะเข้าไปดูตรงนี้ ไปดูบัญชีรายรับ-รายจ่าย ไปดูผลตอบแทน และดูสินค้าที่เป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร เครื่องสำอาง นอกเหนือจากนี้ ถ้าจะมีการโฆษณา สคบ. ก็ควรดูก่อน คุณจะโฆษณาอะไร ผ่านช่องทางไหน จะใช้ข้อความอะไร ผิดกฎหมายตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค หรือไม่ หรือก่อให้เกิดความเข้าใจผิดต่างๆ ไหม”
ทว่าปัญหาที่อัชญามองอีกส่วนคือ การให้ใบอนุญาตผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ซึ่งส่วนมากแล้ว สคบ. จะไม่ได้ทำการตรวจสอบกลับไปยัง อย. เพราะเชื่อถือในเอกสารราชการว่าได้รับรองอย่างถูกต้องแล้ว และนั่นกลายเป็นช่องทางให้เกิดการปลอมแปลงเกิดขึ้น
“ปัญหาที่เราพบในขณะนี้คือ เรื่องการตรวจสอบสินค้าต่างๆ เมื่อประชาชนตรวจพบสินค้าไม่ปลอดภัยแล้วสามารถแจ้งเตือนเองได้ไหม” จิราวุสฐ์ สุขได้พึ่ง อัยการผู้เชี่ยวชาญพิเศษ ให้ความเห็นในแง่ข้อกฎหมายที่อาจเกี่ยวข้องกับระบบการแจ้งเตือนภัย เมื่อประชาชนตรวจสอบพบว่า สินค้าในท้องตลาดมีการโฆษณาเกินจริง ผิดจากข้อบังคับทางกฎหมาย ประชาชนจะสามารถแจ้งเตือนได้หรือไม่
“ในความเห็นส่วนตัวของผม ผมว่าได้ และเรื่องนี้ถือเป็นสิทธิผู้บริโภคที่ต้องได้รับความคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญ และตามกฎหมาย พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค มาตรา 4 ที่บอกไว้ชัดเจนว่าสิทธิของผู้บริโภคคืออะไร”
อาจกล่าวได้ว่า ประเด็นการโฆษณาคือปัญหาใหญ่อย่างหนึ่งที่ต้องอาศัยความร่วมมือในการแก้ไข พลโทพีระพงษ์ มานะกิจ ในฐานะตัวแทนกรรมการ กสทช. ให้ความเห็นว่า ที่ผ่านมามีเสียงสะท้อนของผู้ประกอบการต่างๆ ที่ยอมรับว่า หากไม่มีโฆษณาจำพวกนี้แล้ว รายได้ที่เข้ามาสู่องค์กรจะหดหายไปค่อนข้างมาก
“เดิม กสทช. ได้ร่วมมือกับ อย. ในระดับหนึ่ง คือเมื่อก่อนใช้วิธีส่งเอกสารกันไปมา ถ้า กสทช. จะออกคำสั่งระงับการโฆษณาออกอากาศ ก็ต้องมีการพิสูจน์ให้ได้ก่อนว่าตัวสินค้าเท็จหรือจริง ซึ่งหน่วยงานที่มีอำนาจตรวจพิสูจน์ก็คือ อย. ฉะนั้น เมื่อ กสทช. ตรวจพบว่าเข้าข่ายน่าสงสัยก็ต้องส่งไปที่ อย. ก่อน ส่งกันไปส่งกันมา รวมแล้วใช้เวลาประมาณ 7 เดือน นี่คือเรื่องจริงที่เคยเกิดขึ้น” พลโทพีระพงษ์เล่าย้อนถึงรากปัญหาการทำงานในช่วงก่อนหน้านี้
จนกระทั่งเมื่อเกิดกรณีเมจิกสกินขึ้นมา กสทช. และ อย. จึงตกลงกันว่าจะไม่ใช้วิธีการทำงานแบบเดิมที่ล่าช้าไปกว่า 7 เดือน และระหว่างนั้นผู้ผลิตสินค้าก็ยังสามารถโฆษณาต่อไปได้ ทำให้ประชาชนได้รับการผลิตซ้ำทางโฆษณาจนเกิดความหลงเชื่อ แต่หลังจากนี้ อย. จะเข้ามานั่งดูโฆษณาต่างๆ ไปพร้อมกันกับ กสทช.
“ในกรณีง่ายๆ อย่างเช่นโฆษณาอาหารที่ไม่ได้เป็นการอวดอุตริ ท่านก็ชี้มาเลย แต่ถ้ามันซับซ้อนกว่านั้น ท่านก็กลับไปทำการบ้านและเซ็นกลับมาสามคน พอมีลายเซ็นทั้งสามคน ผมก็ทำงานง่ายขึ้นแล้ว ผมก็ออกคำสั่งให้ระงับการกระทำไว้ก่อน โดยให้อำนาจเลขาธิการ กสทช. สั่งการไปยังสถานีโทรทัศน์ที่มีการโฆษณาสินค้าชิ้นนี้ให้ยุติไว้ก่อน เพื่อที่เราจะได้ใช้อำนาจกฎหมายในการเรียกผู้เกี่ยวข้องเข้ามาให้ปากคำ เช่น มีการจัดทำโฆษณาให้คนนั่งรถเข็น พอกินยาตัวนี้เข้าไป เขาลุกขึ้นเดินได้ แถมยังขี่จักรยานได้ ซึ่งน่าเหลือเชื่อ ถ้าใครดูโฆษณานี้แล้วคุณไม่รู้หรือไงว่านี่มันแหกตาแล้ว วิญญูชนพึงรู้ว่านี่มันหลอกลวงประชาชน”
พลโทพีระพงษ์ยังกล่าวอีกว่า แม้โดยส่วนตัวแล้วจะเห็นใจผู้ประกอบการสถานีโทรทัศน์และวิทยุกระจายเสียงต่างๆ ในแง่การหารายได้ขององค์กร แต่หากมีการโฆษณาผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่โอ้อวดเกินจริง กสทช. ก็ไม่อาจปล่อยให้มีการโฆษณาต่อไปได้ เนื่องจากส่งผลกระทบต่อประชาชนจำนวนมาก