ไม้หนึ่ง ก.กุนที ในบทกวีและเขียงสับเป็ด

 

 

พฤษภาคม พ.ศ. 2552 WAY นัดพูดคุยกับ ไม้หนึ่ง ก.กุนที ด้วยความสนใจในฐานะเขาเป็นกวีคนแรกๆ ที่เปิดหน้าลงไปทำงานเคลื่อนไหวกับมวลชนเสื้อสีแดง ในนาม ‘เสรีชน’ คนหนึ่ง

ไม่ว่าบทบาทและแนวทางการเคลื่อนไหวในช่วงท้ายชีวิตของเขาจะเคลื่อนไปในทิศทางใดก็ตาม แต่นี่คือบันทึกบทสนทนาทางความคิด ในห้วงเวลาที่กวีหนุ่มผู้นี้เพิ่งกระโจนเข้าสู่วงจรกิจกรรมทางการเมือง

บทสนทนานี้อาจช่วยให้เราทำความรู้จักและเข้าใจบางแง่มุมของเพื่อนมนุษย์มากขึ้น เพื่อเป็นประโยชน์สำหรับผู้ที่ยังมีชีวิตอยู่ต่อไป

 

++++++++++++++++++

 

เรื่อง: วีรพงษ์ สุนทรฉัตราวัฒน์

ภาพ: อนุช ยนตมุติ

 

 

mai1-1

 

บางเวลาเขาเป็นพ่อค้าข้าวหน้าเป็ด แต่บางเวลาเขาเป็นกวี และในบางเวลาเขาเป็นคนเก็บขยะ !

บางสถานการณ์ เขาตื่นแต่เช้ามืด เดินทางจากศาลายาขึ้นไปอ่านบทกวีบนเวทีสนามหลวง เป็นแนวรบด้านศิลปวัฒนธรรมให้คนที่สวมเสื้อบางสี บางสถานการณ์ เขาหวังว่าบทกวีจะช่วยลดทอนความหยาบ-เถื่อน-ถ่อย-กักขฬะ ปรับสายตาของผู้มีเรียวปากกว้างและเสียงดังในสังคมให้มองเห็นหัวจิตหัวใจคนที่สวมเสื้อบางสี บางสถานการณ์หลังอ่านบทกวีในช่วงเช้า เขาก้าวลงเวทีมุ่งหน้าเก็บขยะที่เกลื่อนกลาด ไม่ต่างจากมวลชนคนอื่นๆ บางสถานการณ์หลังเก็บขยะเสร็จ เขาเดินทางกลับศาลายาเพื่อไปเปิดร้านข้าวหน้าเป็ด

อยู่อย่างนั้น วันแล้ววันเล่า

ชัดเจนที่สุด เขา – ไม้หนึ่ง ก.กุนที เป็นพ่อค้าข้าวหน้าเป็ดที่ชอบสวมเสื้อสีแดง!

และบางที เขาอาจเป็นคนล้างจานที่ริอ่านเขียนบทกวี

 

 

หนึ่ง : ยุคสมัยไม่อนุญาตใครเปิดบริสุทธิ์ศิลปะ

“ในสภาพที่ภววิสัยเป็นอย่างทุกวันนี้ มันไม่เอื้อให้เกิดศิลปะเพื่อศิลปะ” ระหว่างพูด ไม่มีรอยยิ้มบนเรียวปากเขา “ยิ่งสถานการณ์ของเมืองไทยตอนนี้ ไม่มีหรอก ศิลปะเพื่อศิลปะ”

ไม้หนึ่งบอกว่า นาทีนี้ มีแต่ศิลปะเพื่อประชาชน หรือศิลปะเพื่อมวลชน เขายกตัวอย่างผ่านอัตชีวประวัติของบางศิลปินที่จบชีวิตก่อนวัยชรา จบชีวิตทั้งที่ยังไม่เข้าสู่กระบวนการความเป็นปกติของชีวิต ยังไม่ผ่านบททดสอบความพลุ่งพล่านของเลือดลม ยังไม่สามารถผ่านบททดสอบของฮอร์โมนต่างๆ อันเป็นธรรมชาติของสัตว์ที่เรียกว่าคน

เช่นเดียวกัน สังคมที่ยังไม่สามารถผ่านบททดสอบบางอย่างจากธรรมชาติ สังคมนั้นไม่เอื้อให้เกิดงานเพียวอาร์ต (Pure Art) – คือความเห็นของเขา

แต่… แรงเฉื่อยของศิลปะเพื่อชีวิตจากทศวรรษที่ 1970 โดยเฉพาะวรรณกรรม ถูกตั้งคำถามจากศิลปินและผู้เสพงานร่วมสมัย บ้างว่าซ้ำซากน่าเบื่อ บ้างว่าเชย และรุนแรงถึงขั้นว่า หากศิลปะถูกสร้างขึ้นมารับใช้สิ่งหนึ่งสิ่งใด หรืออุดมการณ์หนึ่งอุดมการณ์ใด คุณค่าของศิลปะอาจถูกลดทอน

แน่นอนที่สุด บทกวีในช่วง 3 ปีที่ผ่านมาของเขา รับใช้ประชาชนกลุ่มที่เขาเรียกว่า : ฐานพีระมิด

“ประเด็นอยู่ที่ว่า คนที่ให้ค่าศิลปะเพื่อศิลปะมีกี่คน ปัญญาชนชั้นกลาง พวกคุณน่ะนับหัวได้ ก็แวดวงพวกเรานี่แหละ อ่านหนังสือเล่มเดียวกัน เป็นศิษย์ครูบาอาจารย์คนเดียวกัน แลกเปลี่ยนเรื่องเดียวกัน ดูหนังเรื่องเดียวกัน ถึงอินดี้-ก็อินดี้แบบเดียวกัน เพราะฉะนั้นพวกคุณเป็นกลุ่มที่เล็กนะ (ขึ้นเสียง) แต่พวกคุณมีไมโครโฟน คุณมีกล้องทีวี คุณจึงหลงตัวเองนะโว้ย ผมจะบอกให้”

ไม้หนึ่งมองว่า การให้คุณค่างานศิลปะกับการให้คุณค่าประชาชนบางกลุ่ม พูดให้ชัดกว่านี้ กลุ่มมวลชนเสื้อแดง ทั้งสองเป็นเรื่องเดียวกัน

“โลกมันกว้างใหญ่กว่าโลกลวงที่พวกเราอยู่กัน พวกเราแลกเปลี่ยนข้อมูลในวงแคบๆ ประเด็นคือ เราออกทีวี เรามีรูปตีพิมพ์ในหนังสือ แล้วเราก็นึกว่า สิ่งที่เราคิด-เราฉลาด แต่เราไม่รู้เลยว่า เราเป็นกลุ่มคนที่เล็กแต่มันมีกลุ่มคนที่เล็กกว่า และมีความสามารถในการเลี้ยงเราด้วยกระบวนการทั้งปวง ที่สุด เราก็ถูกกลุ่มคนที่เลี้ยงเราเสี้ยมให้มองคนที่เป็นตัวจริง (ประชาชนแรงงานผลิต) ในการสร้างบ้านสร้างเมือง ทำให้เขาเหล่านั้นเป็นสัตว์ที่เป็นสัตว์…

“เราทำให้เขาเป็นสัตว์อมตะนิรันดร คุณเรียนทฤษฏีของชาร์ลส์ ดาวิน แต่คำว่าวิวัฒนาการไปอยู่ที่ไหนในหัวใจคุณ-เวลาคุณมองประชาชน พระพุทธเจ้าสอนไว้ชัดเจน เกิดขึ้น-ตั้งอยู่-ดับไป ไม่มีอะไรอยู่นิ่งๆ การที่คนรากหญ้าถูกสร้างมาตลอดว่าต่ำ ทุกวันนี้มันถูกทำให้ต่ำจนสุดตีนแล้วนะ มันมีทางเดียวถ้าคุณเชื่อในปรัชญาพระพุทธเจ้า สัจจะไม่สามารถอยู่นิ่งจากจุดเสถียรนั้น ต้องมีการเคลื่อนที่ จากต่ำต้องมาสูง” กวีสีแดงระบายสีสันของอารมณ์

ในทัศนะของไม้หนึ่ง เพียวอาร์ตคือศิลปะที่เกิดจากศิลปินที่มีแรงบันดาลใจบริสุทธิ์ในการสร้างงาน โดยไม่ได้ใช้งานศิลปะเป็นเครื่องมือเพื่อสิ่งอื่นใดเลย นอกจากเพื่อศิลปะ

“ตราบใดที่ยังมีเรื่องการเมืองการปกครองแทรกซึมอยู่ในทุกอย่าง แล้วเป็นการเมืองการปกครองที่วิปริตต่อต้านประชาชน-ต่อต้านราษฎร ศิลปะเพื่อศิลปะมันไม่มีในเมืองไทย มีอย่างเดียวคือกดขี่แรงงานให้คุณไปปั้นหน้าบันฟรีๆ ไปทำวังฟรีๆ นี่ไงศิลปะเพื่อศิลปะของเมืองไทย คือศิลปะที่ไม่รับค่าแรง คนที่มีเงินยิ่งขี้เหนียวไม่ต้องจ่ายค่าแรง เพราะว่าคุณได้บุญจากการไปปั้นประตูวัง แล้วถ้าคุณเป็นนายทุนคุณก็กำลังทำศิลปะเพื่อศิลปะ นี่คือความจริง” ไม้หนึ่งตอบแรง

 

 

mai1-2

 

สอง : สีของกวี

แรง – ไม่ต่างจากบทกวีที่เขาเขียน เมื่อไม่นานนี้:

ชนชั้นกลางกลวงว่างเปล่าสมอง
บกพร่องทำปัญญาเสื่อมสูญหาย
ชีวิตไหวเบาหวิวปลิวสยาย
แย่กว่าควายไม่มีใครยอมไถนา!

เป็นบางส่วนจากบทกวี สถาปนาสถาบันประชาชน บทกวีที่เขาขึ้นไปอ่านบนเวทีในงาน Thai Poet Society Forum: การเมืองในมิติกวีนิพนธ์ เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ซึ่งมีหลายกวีทั้งรุ่นเล็กรุ่นใหญ่ขึ้นไปแสดงความคิดและทัศนะทางการเมืองผ่านบทกวี

แน่นอน เสื้อมีหลายสี กวีย่อมมีมากกว่าหนึ่งความคิด

แรง – จนทำให้กวีอย่างเขาถูกมองว่า เป็นเด็กก้าวร้าว

กวีต่างสวมเสื้อสีเหลือง – สีแดง ใครสวมสีไหน ต่างรู้กันชัดเจน เราสงสัยว่า สถานการณ์แบ่งสีเสื้อที่ลุกลามเข้ามาในปริมณฑลกวี สิ่งนี้สร้างสรรค์ หรือทำลายแวดวงกวี

แต่.. เขาถามกลับ

“ทำไมวะ?! มันถึงจะแบ่งไม่ได้ ปัญหาของพวกคุณคือ ทำไมวะ! ทำไมมันต้องไม่แบ่ง ก็เมื่อโลกในศาสนาบอกว่ามันมีดีมีชั่ว มีกลางวันมีกลางคืน ทำไมเวลามีความขัดแย้งที่จะนำไปสู่วิวัฒนาการทางสังคมหรือการเปลี่ยนแปลงที่มันดีขึ้น สังคมไทยเหี้ยๆ แม่งบล็อกตลอดเวลา ว่าต้องสมานฉันท์ หรือต้องไม่แบ่ง ทำไมคุณไม่มองว่าการแบ่งเป็นปกติอยู่แล้ว วัฒนธรรมที่หลากหลายมันมีการปะทะ มันมีการแลกเปลี่ยน คุณควรจะหาข้อเขียนสักอันหนึ่งที่ตั้งคำถามให้กับสังคมอยู่เสมอว่า ทำไมเราไม่ควรแบ่ง” เป็นคำถามที่ไม้หนึ่งโยนกลับใส่เรา

เหมือนขี้! จริงอย่างที่เขาพูด หากไม่วัดความถูก-ผิดกันที่อคติ สิ่งหนึ่งที่ทำให้คนสองสีไม่มองหน้ากัน ไม่รับรู้หัวอกหัวใจกัน ไม้หนึ่งบอกว่า เหมือนขี้!

“อะไรก็แล้วแต่ที่คุณเหยียดหยามคุณจะขยะแขยง แล้วคุณจะไม่ค้นหาความจริง ก็เหมือนกับหนอนที่อยู่ในอุจจาระ คุณเคยรู้มั้ยว่ามันสีอะไร แม่ง! มีหลายสีมีหลายพันธุ์มาก แล้วคุณไม่สามารถฝ่าปราการของความขยะแขยงลงไปหาความจริงได้ ว่ามันสีอะไร ขนาดยาวเท่าไหร่ มีกี่พันธุ์…”

ผมเป็นราษฎรในกองอุจจาระ

เปล่า ไม้หนึ่งไม่ได้พูดประโยคนี้

คำตอบของเขาส่งกลิ่นชัดเจน

 

 

mai1-3

 

สาม : เป็ดบางตัวเขาหม่นเศร้า

หากคำพูดเขามีกลิ่น ไม้หนึ่ง ก.กุนที เคยพูดไว้เมื่อหลายปีที่ผ่านมาขณะพบบางสัจจะบริเวณหลังเขียงเป็ดว่า :  ‘เป็ดบางตัวเขายิ้มแย้ม แต่บางตัวเขาหม่นเศร้า ในงานผม ผมจะไม่เลือกเป็ดตัวที่หม่นเศร้ามาเขียน’

‘เป็ดบางตัวเขาหม่นเศร้า’ กลิ่นนี้มีความหมายใด – ใครบางคนนิ่วหน้าสงสัย

สมัยนั้น การงานในชีวิตประจำวันมันหนัก ผมเองมองว่า ณ วันนั้นผมไม่ใช่ตัวแทนของผู้คนที่ทุกข์ยากอย่างแท้จริง ผมเหนื่อย แต่เรื่องที่ผมจะพูดถึงในชีวิตของผม ผมไม่จำเป็นต้องมาพูดถึงความหม่นเศร้าของตัวเอง เพราะมันไม่ใช่ตัวแทนของราษฎรคนหมู่มาก มันคือปัจเจกบุคคล แล้วคนบ้านนอกในยามวิบาก เวลามาบอกว่าเจ็บปวดอย่างนั้นอย่างนี้ มันไม่เท่ มันจะมีบุคลิกของความอึดอยู่ในชนชั้น มันจะมีบุคลิกของความไม่ยอมเสียหน้า มันก็เป็นเรื่องธรรมดาที่ช่วงวัยนั้นผมจะเปรียบเทียบเป็นคำพูดอย่างที่คุณยกมา

ย้อนกลับไปเมื่อปี 2541 รวมบทกวีนิพนธ์ชุด : บางเราในนคร ได้สร้างสุ้มเสียงใหม่ๆ ในท่วงทำนองกวี ถ้อยคำง่ายๆถูกร้อยรวมกันปรากฏความงาม เป็นเรื่องราวที่มีอยู่จริงในชีวิตของไม้หนึ่ง พ.ศ.นั้น

หลายบทในงานชุดนั้น แสดงถึงการเดินทางข้างในของวัยหนุ่ม ครึ่งเล่มแรกต้องยอมรับว่าปรากฏอหังการ์ของกวีอยู่หลายบท ขณะครึ่งท้าย เม็ดเหงื่อและรอยยิ้มง่ายๆ ของพ่อค้าข้าวหน้าเป็ด กลับผุดให้เห็น

“ถ้าพูดถึงช่วงระยะเริ่มต้น บทกวีผมก็ร่วมยุคร่วมสมัยกับคนอื่นทั่วไป มีอุดมการณ์สุกๆ ดิบๆ เขียนในเรื่องราวที่อ่าน เขียนในเรื่องราวที่ได้แลกเปลี่ยน หรือว่ากระแสสังคม หรือมีเชื้อจากวรรณกรรมเพื่อชีวิต 6 ตุลา แต่พอผมมาอยู่ที่ราชวัตร (ร้านวันสตาร์ข้าวหน้าเป็ด) ผมเริ่มเขียนเกี่ยวกับตัวตนผมเลย เขียนเกี่ยวกับการงานของผม (ขายข้าวหน้าเป็ด) เขียนถึงสิ่งต่างๆ ที่ผมเห็น เขียนถึงตลาด ถือว่าร้านข้าวหน้าเป็ดทำให้ผมแหวกออกมาจากกระแสหลักการเขียนและอ่านในช่วงนั้น”

ในวัยหนึ่งของคนเขียนหนังสือ พลังความพลุ่งพล่านขับเคลื่อนให้สร้างงานออกมาอย่างกับโรงงาน ไม้หนึ่งบอกว่า คนเขียนบทกวี หรือแม้แต่เรื่องสั้น ในช่วงเริ่มต้น มักจะมีสิ่งที่บรรจุเก็บสะสมในชีวิตที่รอการปล่อยออกมา แต่ในเรื่องทักษะหรือชั้นเชิงในการนำเสนออาจยังไม่เนียน ยังไม่ลงตัว

“คุณชอบช่วงเวลาที่พลังมันพลุ่งพล่านอย่างนั้นมั้ย”

“ผมสัมผัสได้ถึงความสุขจากความโดดเดี่ยวนะ หมายถึงว่า… มันเหมือนคุณมี 2 บุคลิก จริงๆ มนุษย์เป็นสัตว์สังคม แต่คนเขียนหนังสือมันมีภาวะของสัตว์โทนอยู่ คุณต้องแยกออกจากฝูงเท่านั้นคุณถึงจะทำงานได้ คุณต้องแยกออกจากความสัมพันธ์แม้แต่ในครอบครัวเพื่อที่คุณจะทำงาน คุณต้องโดดเดี่ยว” ไม้หนึ่งตอบ และเล่าไปอีกว่า ความโดดเดี่ยวไม่ใช่ข้ออ้างความชอบธรรมของ… คนเขียนหนังสือ

“แต่… พอชีวิตคุณเดินมาถึงระดับหนึ่ง… อันนี้มันเลยจุดการผลิตอย่างเยอะแล้วนะ การผลิตอย่างเยอะมันต้องอาศัยความโดดเดี่ยวอยู่ แต่พอถึงระดับหนึ่ง คุณมีทักษะมีอะไรหลายๆ อย่าง คุณสามารถคุยกับลูกกับเมียแล้วทำงานไปด้วยได้ ที่สุดแล้ว ความเป็นปกติความเป็นธรรมดาในสิ่งที่เขาทำคือการเขียนหนังสือ มันสามารถกลมกลืนกับชีวิตเขาได้เมื่อไหร่ ถ้ามันกลมกลืนได้เมื่อไหร่ มันไม่มีข้อจำกัดแล้ว

“ความคิดซึ่งนำมาสำหรับปัญหาสังคมไทยทุกวันนี้ เพราะความคิดปัญญาชน คนชั้นกลาง หรือนักคิดนักเขียน คิดว่าตัวเองเป็นพวกวิเศษที่สุด คุณไม่ได้ต่างจากพวกชนชั้นสูงเลย คุณต้องการพื้นที่พิเศษสำหรับพวกคุณ คุณเป็นพวกไร้มารยาทนะ เช่นเดียวกัน พอย้อนกลับมาส่วนของนักเขียน คุณเรียกร้องจากครอบครัว คุณไม่ต้องไปพูดถึงการรับใช้ประชาชนข้างนอกเลยนะ คุณไม่สามารถรับใช้ลูกเมียคุณได้ คุณเรียกร้องให้เขาต้องเห็นใจคุณ ต้องเอื้อบรรยากาศในการเขียนหนังสือของคุณ ประเด็นคือเรื่องพวกนี้ไม่ควรพูด คุณมีครอบครัวของคุณ คุณน่าจะมุ่งประสานสร้างความพอดี หรือว่ายิ่งถ้าคุณเขียนมานาน มันต้องโชว์เหนือด้วยการที่ชีวิตแม่งรุงรังเท่าไหร่ คุณต้องแหวกออกมาทำสิ่งที่คุณรักให้ได้ ผมกล้าพูดเรื่องนี้ ชีวิตทุกวันนี้ผมเป็นพ่อค้าข้าวหน้าเป็ด ทุกคนถามผม ‘พี่เอาเวลาไหนเขียนหนังสือ’ เวลามันอยู่ที่คุณจะจัดสรร”

การเขียนบทกวีเป็นสิ่งปกติ…

เป็นสิ่งปกติพอๆ กับการล้างชามกองหนึ่ง บางครั้งชามกองใหญ่อาจใช้เวลาครึ่งชั่วโมง ข้อเขียนชิ้นหนึ่ง บางทีก็ใช้เวลาเท่าๆ กัน – ไม้หนึ่งว่าอย่างนั้น

และ…

เพราะฉะนั้น เขาบอกว่า : คุณอย่าทำให้มันวิเศษ!

 

 

 

 

 

Author

WAY

Author

กองบรรณาธิการ
ทีมงานหลากวัยหลายรุ่น แต่ร่วมโต๊ะความคิด แลกเปลี่ยนบทสนทนา แชร์ความคิด นวดให้แน่น คนให้เข้ม เขย่าให้ตกผลึก ผลิตเนื้อหาออกมาในนามกองบรรณาธิการ WAY

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า