ไมตรี จำเริญสุขสกุล กับฝันพังทลาย หลังความตายของ ชัยภูมิ ป่าแส

บ้านกองผักปิ้ง

ห่างออกไปจากกลางอำเภอเชียงดาวเกือบ 1 ชั่วโมง ใกล้เข้าไปก่อนถึงบ้านกองผักปิ้งราว 10 นาที ที่ด่านตรวจบ้านรินหลวงมีไม้กั้นทาสีขาว-แดงวางสลับฟันปลา ทหารหลายนายประจำการ ป้ายเขียนว่า ‘หยุดตรวจ’ จุดไหนสักแห่งห่างจากบริเวณนี้ในระยะย่างก้าว ที่นี่มีคนตาย

17 มีนาคม 2560 ‘ชัยภูมิ ป่าแส’ วัย 17 ปี ถูกยิงเข้าด้านข้างของต้นแขนซ้ายด้วยปืน M16 เขาหยุดหายใจ และจากไปด้วยคมกระสุนที่ทะลุเข้าไปและแตกอยู่ในร่างกาย

หมู่บ้านกองผักปิ้ง ตำบลเมืองนะ อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ บ้านหลังหนึ่งสร้างด้วยปูนชั้นเดียว ถัดไปเป็นบ้านหลังเล็กสร้างจากไม้ฟากใช้ไผ่สานขัดกันเป็นผนังอย่างง่าย ไมตรี จำเริญสุขสกุล และญาติพี่น้องของเขานั่งอยู่ตรงนั้น บนผนังในระดับเหนือศีรษะมีภาพพระเยซูถูกตรึงกางเขนแขวนอยู่ บนพื้นของบ้านหลังนั้นมีจานใส่มันสำปะหลังต้ม มันถูกหยิบยื่นให้ด้วยมิตรไมตรีเมื่อแขกอย่างเราไปถึง

ไมตรี จำเริญสุขสกุล และชาวลาหู่ในหมู่บ้านนี้เป็นคริสเตียน เขาซึ่งเรากำลังนั่งคุยด้วยเคยเป็นครูสอนศาสนา ที่นี่เคยเป็นแหล่งรวมตัวของเด็กๆ เพื่อทำกิจกรรมสารพัดอย่างที่ไมตรีมีกำลังและศรัทธาจะทำได้

“เรารู้ว่าที่นี่เป็นพื้นที่ยาเสพติด เด็กๆ โตมากับความเสี่ยง พ่อแม่ติดยา เด็กก็รอดจากยาเสพติดยาก พวกผมทำกลุ่มรักษ์ลาหู่เพื่อที่จะทำงานกับคนหมู่บ้านเดียว ไม่ได้จะคิดใหญ่โตอะไร เป้าหมายคืออยากให้พวกเขาเติบโตมาแล้วหลุดออกจากยาเสพติด เราก็พยายามหากิจกรรมอะไรมาทดแทนจากการสูบยา สูบบุหรี่ ดื่มเหล้า ดมกาว เสพยาบ้า ซึ่งยุคผมมันระบาดเยอะมาก”

กลุ่มรักษ์ลาหู่

หมู่บ้านแถบนี้เป็นภูเขา ชาวบ้านมีอาชีพปลูกข้าวโพดเป็นหลัก แต่มันกลับไม่ได้เป็นพื้นที่สีเขียวอย่างที่สายตาเห็น ด้วยรอยต่อกับประเทศเพื่อนบ้านที่สามารถเดินข้ามกันไปมาได้ ยาเสพติดจึงไหลเข้ามาตามแนวลัดเลาะของชายป่าไม่ขาดสาย บ้านกองผักปิ้งจึงกลายเป็นหนึ่งในพื้นที่สีแดงซึ่งหลายฝ่ายเฝ้าระวัง

“ผมยอมรับว่าหมู่บ้านนี้เป็นพื้นที่สีแดง คือยอมรับเพราะว่ามันเป็นชายแดน แล้วผมก็เห็นว่าครอบครัวทุกหลังยุ่งเกี่ยวกับการเสพยา มีเกือบทุกหลังเลย เด็กที่โตมาก็จะรอดยาก แต่ผมไม่ค่อยเห็นผู้ค้ายารายใหญ่ พวกที่ขนมาเป็นกระสอบหรือว่าถูกจับ ในหมู่บ้านนี้ไม่มี ลองไปดูรายชื่อคนที่ถูกจับไปเลย ไม่มีรายใหญ่

“เขาจับแต่รายย่อยแล้วก็ปล่อย จับไปก็ปล่อย โดยจิตสำนึกแท้จริงผมคิดว่าเจ้าหน้าที่รู้อยู่แล้วว่าชาวบ้านเหล่านี้หาทางรอดยาก มันไม่มีอาชีพอื่นเลย ผมเข้าใจว่าเขาพยายามเข้าใจชาวบ้าน คือรู้อยู่แล้ว แต่บางทีการรู้มันก็ไม่ได้ช่วยให้ดีขึ้น เพราะเขาไม่ได้เข้ามาช่วยแก้ไข

“ในเมื่อคุณรู้ว่าเป็นพื้นที่สีแดง พื้นที่เสี่ยง มาตรการของคุณคือใช้กระสุนอย่างเดียวใช่ไหม ทำไมไม่ใช้เกษตรเข้ามา ทำไมไม่เอาอาชีพเข้ามาที่นี่บ้าง มันมีทางเลือกอื่นที่ดีกว่า คุณต้องเสนอให้เขาได้เปลี่ยน นี่คือการพัฒนา ไม่ใช่ว่าจับไป จับไป แล้วก็ชีวิตทุกอย่างพังหมด แล้วกลายเป็นปัญหาสังคม”

ถูกจับ ปล่อยตัว ถูกจับ ปล่อยตัว บ้างเข้าสู่กระบวนการพิจารณาคดี ถูกจับกุมคุมขัง บางส่วนที่ถูกปล่อยตัวก็ไม่ เขาไม่เข้าใจว่าเกิดอะไรขึ้น แต่ในฐานะผู้ศรัทธาในพระเจ้า เมื่อมีคนได้รับการปล่อยตัวออกมา เขาไม่สามารถลอบมองอย่างนิ่งเฉย กลุ่มรักษ์ลาหู่ถูกตั้งขึ้นเพื่อทำหน้าที่โอบกอดและพาผู้คนในชุมชนแห่งนี้ให้กลับมาสู่แสงสว่างให้ได้ แม้เพียง 1 ใน 100 ก็ดีกว่าเดินสู่ที่มืดทุกคน

“ผมทำตั้งแต่อายุประมาณ 17 ปี ตอนนี้อายุ 30 กว่าปีแล้ว กี่ปีแล้วล่ะ เกือบ 20 ปีแล้ว เด็กลาหู่ซึ่งเคยรับมาทำกิจกรรมในกลุ่มก็กลายเป็นผู้นำศาสนาบ้าง ผู้นำหมู่บ้านบ้าง ก็เป็นคนที่ใช้งานใช้การได้

“แรกเริ่มก็ทำดนตรีร้องเพลง หลังๆ ก็ลองฝึกทำหนังสั้น แต่เราไม่เคยได้เรียนไง เอากล้องดิจิตอลไปถ่ายทำแล้วก็เอามาตัดต่อ ตอนนั้นยังไม่มีโซเชียลมีเดีย ไม่มียูทูบ ทำเสร็จก็ไรต์ลงแผ่นซีดี ดูกันทั้งหมู่บ้าน แล้วสุดท้ายก็ไปเตะตาเพื่อนๆ หลายคนซึ่งเขาอยากจะช่วย อยากให้ความรู้เรื่องการทำหนังสั้น การทำสารคดีว่ากระบวนการเป็นอย่างไร”

ชัยภูมิ ป่าแส

ไมตรี จำเริญสุขสกุล เป็นหัวเรือของกลุ่มรักษ์ลาหู่ ส่วน ‘ชัยภูมิ ป่าแส’ เป็นเด็กในกองผักปิ้งซึ่งมีระยะห่างจากบ้านไมตรีเพียงไม่กี่ก้าว แม้ไม่ใช่คนสายเลือดเดียวกัน แต่คนหนุ่มไม่ได้รู้สึกว่าเด็กชายวัย 7 ขวบขณะนั้นเป็นคนอื่นคนไกล

“ชัยภูมิเป็นเด็กที่จนที่สุดในหมู่บ้านนี้ก็ว่าได้ หากเขามีความจำเป็นต้องใช้เงิน ก็จะไปหาเห็ดเผาะ ไปรับจ้างตั้งแต่เด็ก เราก็เห็นว่าเด็กคนนี้มันสู้งาน พอช่วงที่วิกฤติชีวิตหนักๆ ไม่มีข้าวกิน เขาก็จะไปรับจ้างกับพวกที่ค้ายารายย่อย ซึ่งเขาก็จะบอกว่า นัดคนนี้มาที่นี่หน่อย นัดคนนั้นมาที่นี่หน่อย แล้วเขาก็จะให้ 100-200 บาท เขาเรียกว่าเป็นนกพิราบ ก็คือเอาสารไปส่ง ไปสื่อสารระหว่างคนค้ากับคนซื้อ ผมเคยเห็นเขาทำแบบนี้ตอนเด็ก

“คนอื่นก็แค่มาพัก เพราะบ้านเขาอบอุ่น ครอบครัวเขามีกินมีอยู่ เขามาพัก มาเที่ยว มาเรียนรู้แล้วก็กลับไปนอนที่บ้าน แต่สำหรับชัยภูมิคือกลับบ้านปุ๊บ ไม่ปลอดภัยกับตัวเขา บ้านแคบๆ พ่อแม่สูบยา ก็จะไปกระทบกับร่างกายเขา เขาก็จะไปเป็นขี้ยาโดยที่ตัวเองไม่ได้สูบ เราก็มองอย่างนี้ เลยดึงเขาเข้ามาอยู่กับผมเลย ใหม่ๆ เขาอาจจะอึดอัด แต่หลังๆ เขาก็มองว่านี่คือบ้านเขาแล้ว เขาแทบจะไม่กลับบ้านตัวเองเลย (หัวเราะ) ก็มาอยู่ที่นี่ซะส่วนใหญ่”

ไมตรี ไม่ปฏิเสธว่า ชัยภูมิ ป่าแส เกี่ยวข้องกับยาเสพติด เขาซื่อสัตย์พอทั้งต่อพระเจ้าและคู่สนทนา

“เด็กที่ผมทำงานด้วยทุกคนเกี่ยวข้องกับยาเสพติด เนื่องจากโดยส่วนใหญ่ 90 เปอร์เซ็นต์โตมากับครอบครัวติดยาเสพติด ต้องเห็นว่าพ่อแม่สูบยายังไง เราก็ดึงเขาออกมาจากแบบนั้นได้ ซึ่งแต่ละคนเราใช้เวลาต่างกัน บางคนใช้ 2 ปี 3 ปี กว่าจะหลุดออกมาได้ เพราะฉะนั้นการที่บอกว่าชัยภูมิไม่เกี่ยวกับยาเสพติดมันก็ไม่สามารถปฏิเสธได้ทั้งหมด มันเป็นส่วนหนึ่ง เพราะชีวิตเขาก็อยู่แบบนี้มาก่อน แม่เขาเสพยา พ่อเขาเสพยา อยู่ในบ้านแบบนี้ โตมาตั้งแต่เด็ก แล้วตัวเขาเองก็เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้โดยปริยาย โดยบริบทชุมชนและครอบครัวของเขาเป็นแบบนี้ เราก็ดึงเขาออกมา ซึ่งการได้ออกมาแบบนี้ผมคิดว่ามันคือสิ่งที่ดีที่สุดที่สังคมต้องทำ แต่กลับไม่มีใครทำ”

ไมตรี จำเริญสุขสกุล

จุดเปลี่ยนของพิราบเทา

ในความเห็นของไมตรี เขาพบว่า ชัยภูมิ เปลี่ยนไป หากนับจากจุดเริ่มต้น มันไม่ได้เกิดขึ้นเพียงเพราะปรารถนาอันงดงามตามลำพัง และกระบวนการก็ไม่ได้ใช้ไม้อ่อนตามตำราเสมอไป ความยากของการทำให้เด็กหนึ่งคนตัดขาดจากยาเสพติดนั้น บางครั้งไมตรีเลือกใช้ไม้แข็ง

“ผมตีเขา ใช้ไม้เรียวตีก้นเลย ไม่ให้ยุ่งกับเรื่องพวกนี้ ในฐานะที่อยู่ในความปกครองของเรา ผมก็ให้ตัดขาดเลย ตีแรงด้วย เพื่อไม่ให้ยุ่งอีก ถ้ายากจนก็ให้มันจนตายไปไม่ต้องไปทำอย่างนี้

“พอเขาโตเป็นหนุ่มแล้วทำงานขยันมาก เราก็มั่นใจว่าเขาไม่ได้ยุ่งกับพวกนี้แล้ว ก็เลยมอบงานทุกอย่างที่ผมดูแลอยู่ให้เขา จุดเปลี่ยนมันจึงไม่ได้เกิดขึ้นในวันเดียว แต่เกิดจากการได้อยู่กินด้วยกัน นอนด้วยกัน เห็นทุกวันว่ามันเกิดอะไรขึ้น เราดูแลคนที่อยู่ในบ้านเรา ติดตามทุกวัน ดูแม้กระทั่งว่าเขาไปเรียนจริงไหม

“เขาอัธยาศัยดี ทำงานเก่ง อยู่เฉยๆ ไม่ค่อยเป็น ถ้าอยู่เฉยๆ นี่มันจะตายเอา (หัวเราะ) ชอบคิดนู่นคิดนี่ คิดอะไรใหม่ๆ สมองทำงานตลอด ทำนี่ด้วยกัน ทำนู่นดีกว่า เปลี่ยนอันนี้ไม่เวิร์ค ทั้งปีเนี่ยเราทำอะไรบ้าง เขาก็จะวางแผนตลอด”

หลังจากขลุกกับการทำงานกับกลุ่มรักษ์ลาหู่มาหลายปี ไมตรีเลือกวางมือเพื่อไปประกอบอาชีพที่สามารถเลี้ยงครอบครัวได้ เขาไปเปิดร้านขายโทรศัพท์อีกหมู่บ้านหนึ่งซึ่งอยู่ห่างจากกองผักปิ้งราว 30 กิโลเมตร โดยปล่อยงานทุกอย่างที่ทำมาให้กับคนที่เขาเห็นแววและไว้ใจที่สุด นั่นคือ ชัยภูมิ ป่าแส

“ก่อนเกิดเรื่อง 3 ปีหลัง ผมกับครอบครัวก็ไปทำมาหากิน ก็มอบทุกอย่างให้เขา ตอนนั้นเรามีกลุ่มดินสอสีเข้ามาช่วยแล้ว แรกเริ่มได้ 80,000 บาทต่อปี พอทำงานเรื่อยๆ เขาก็เลยขยับขึ้นให้ทุกๆ ปี จนตอนผมวางมือเขาให้ทุนมาทำ 120,000 บาท ผมหัก 30,000 บาทให้เขาไปบริหาร แล้วฝึกให้เขาเขียนโครงการขอทุนจากแต่ละที่ เขาก็ได้รับสนับสนุนมาอีก ก็เลยมีเงินโครงการปีนึงเป็นแสน เกือบสองแสนมั้ง เพราะได้หลายที่ ที่ละ 20,000-30,000 บาท เลยมีเงินเข้าออกบัญชีอยู่แล้ว ซึ่งจะเห็นตอนเป็นข่าวใหม่ๆ ที่เขาก็บอกว่าเด็กคนนึงจะมีเงินเข้าอย่างนี้ได้ยังไง”

งานของกลุ่มรักษ์ลาหู่กำลังเดินไปได้ดี สารคดีหลายเรื่องถูกผลิตและฉายผ่านสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส ขณะที่หนังสั้นเรื่อง เข็มขัดกับหวี  ได้รับรางวัลช้างเผือกดีเด่น หนังอีกเรื่อง ทางเลือกของจะดอ ได้รางวัลชมเชย รัตน์ เปสตันยี จากเทศกาลภาพยนตร์สั้น ครั้งที่ 16 โดยมูลนิธิหนังไทย ไม่นับกิจกรรมอื่นๆ อีกมากมายที่กลุ่มได้รับเงินทุนสนับสนุนและมีโอกาสเข้าไปร่วมทำกิจกรรมสร้างสรรค์ทั้งด้านศิลปวัฒนธรรม รวมทั้งด้านเด็กและเยาวชน กระทั่งเสียงปืนนัดนั้นดังขึ้น

ตื่นจากฝัน

วันเกิดเหตุ ไมตรีอยู่ตรงนี้ ตรงที่เรากำลังนั่งคุยกัน นอกจากร้านขายโทรศัพท์ เขาทำงานขายกาแฟออนไลน์ซึ่งสร้างรายได้ตั้งแต่ 120-600 บาทต่อวัน กิจกรรมในมือของเด็กปั้นก็เข้าท่า งานอื่นก็เริ่มเข้ามาสร้างรายได้ ย้อนกลับไปวันก่อนหน้าชัยภูมิยังบอกกับเขาว่าจะเก็บเงินไปซื้อโซลาร์เซลล์เพื่อมอบให้กับบ้านหลังหนึ่งซึ่งไม่มีไฟฟ้าใช้ แม้ไมตรียังไม่ได้ช่วยสมทบทุนทันที แต่คิดว่าอีกไม่นาน ทว่าหลังจากนั้นกราฟชีวิตที่ดูเหมือนกำลังไต่ขึ้นด้านบนก็หล่นฮวบลงมาข้างล่าง

“คนโทรมาบอกว่า มีเหตุวิสามัญคนตรงด่านบ้านรินหลวง ให้ผมไปดูหน่อย ผมก็ไม่ได้ไป เพราะไม่นึกว่าเป็นคนของเรา แล้วก็กำลังทำงานอยู่ สักพักใหญ่ๆ ก็มีคนโทรมาอีกว่าไปดูหน่อยน่าจะเป็นคนของคุณ ผมก็เลยพาเพื่อนที่มาทำงานดนตรีไปดูที่เกิดเหตุ”

ร่างนั้นที่เขาพบคือ ชัยภูมิ ป่าแส ในความสับสนอลหม่าน เขานึกขึ้นได้ว่าที่ตรงนั้นมีกล้องวงจรปิด ภาพเหล่านั้นน่าจะช่วยคลี่คลายได้ว่าเกิดอะไรขึ้น ถึงเขาจะเชื่อว่าพระเจ้าจะอยู่ข้างเขา แต่หลักฐานชิ้นสำคัญซึ่งควรจะเข้าสู่กระบวนการพิจารณาคดีนั้นกลับล่องหน แม้ว่า พลโทวิจักขฐ์ สิริบรรสพ แม่ทัพภาคที่ 3 เคยพูดขณะแถลงข่าวว่า ได้ดูภาพจากกล้องวงจรปิดแล้วก็ตาม

ไมตรี จำเริญสุขสกุล

“ตอนที่เราคุยกัน เขาก็บอกว่ามันหายแล้ว ข้อมูลถูกลบแล้ว ทนายก็ถามว่า หายในมือใครคนนั้นต้องรับผิดชอบ ช่วยตามคนนั้นให้ทีว่าครั้งสุดท้ายภาพอยู่ในมือใคร ศาลก็บอกว่าไม่ต้องถึงขนาดนั้นก็ได้ เพราะเท่าที่มีพยานหลักฐานมันก็มากพอแล้ว

“ปกติแล้วหลักฐานสำคัญขนาดนี้มันหายไม่ได้ ถ้าหายก็อ้างลอยๆ ก็จบ เพราะไม่รู้ว่าใครต้องรับผิดชอบ หลักฐานอยู่ในมือใคร แล้วหายได้ยังไง แล้วทำไมต้องทำหาย หายแล้วจะชดใช้ยังไง อย่างนี้ก็ไม่พูด ก็หายไปดื้อๆ เลยแล้วก็ไม่ระบุว่าใครต้องรับผิดชอบ”

3 ปีแล้วกับการต่อสู้คดี นอกจากการบอกว่า ชัยภูมิ ป่าแส ตายเพราะกระสุนของทหาร ก็ไม่มีการระบุว่าใครผิด-ใครถูก กระทั่งถึงตอนนี้ ก็ยังไม่มีวี่แววว่าคำพิพากษาจะออกหัวหรือก้อย

“ผมเคยคุยกับผู้กำกับฯ หรือใครสักคน ‘เขาบอกว่าชัยภูมิค้ายาจริงๆ’ ผมก็บอกไม่เชื่อว่าค้า แต่ถ้าคุณบอกว่าค้ายาจริงก็เอาหลักฐานมาคุยกัน ‘เขาบอกค้ายาจริงๆ พี่ไม่ค้า พี่อาจจะไม่รู้’ เขาบอกผม ‘แต่ว่าน้องของพี่คนนี้เขาค้ายาจริงๆ’ เขายืนยัน ผมก็เลยถามไปว่า ค้ายาของเขานั้นมันขนาดไหน ถึงกับว่าต้องยิงทิ้งเลยไหม ไว้ชีวิตไม่ได้เลยใช่ไหม ผมถาม เขาก็เงียบ ไม่ตอบ เพราะผมเห็นคนค้ายาที่พวกคุณจับได้บางคนนี่เต็มกระบะรถยนต์ แต่พวกคุณก็ไม่ได้ฆ่าเขา แล้วทำไมเด็กคนหนึ่งคุณอ้างว่าค้ายาแล้วก็ฆ่าเขา”

บ้านของชัยภูมิ ที่ไม่มีชัยภูมิแล้ว

ในซอยเดียวกัน ถัดจากบ้านของ ไมตรี จำเริญสุขสกุล ในระยะตะโกนเรียกกันได้เป็นบ้านของ ชัยภูมิ ป่าแส หลังความตายของเขา เจ้าหน้าที่ทหารเข้ามาซ่อมแซมบ้าน เปลี่ยนสังกะสี ทำฝ้า สร้างห้องน้ำ เปลี่ยนจากสภาพจะพังมิพังแหล่ให้ดีขึ้นกว่าเดิมเล็กน้อย ไมตรีบอกว่า ทหารใช้เวลา 2 วันในการดำเนินการ โดยที่เขาก็ไม่ทราบวัตถุประสงค์ว่า ทหารจะทำแบบนี้ไปทำไม

ไมตรีเล่าพลางพาเราเดินรอบบ้าน อันที่จริง ไม่ต้องเดินก็มองเห็นโดยรอบอยู่แล้ว เพราะขนาดของโครงสร้างที่เรียกว่าบ้านหลังนี้ ใหญ่กว่ากระท่อมเพียงกระเบียดนิ้ว และตั้งอยู่บนผืนดินที่กว้างกว่าชายคาเพียงคืบเห็นจะได้

“นี่คือบ้านชัยภูมิที่สื่อออกข่าวว่าเป็นบ้านที่ร่ำรวย ใหญ่โต มีเงินมีทอง คือบ้านหลังนี้แหละ ก่อนหน้านี้สื่อไปถ่ายบ้านผม แล้วออกข่าวไปมั่ว”

ลมหนาวในวันนั้นทำให้ที่นี่ดูเงียบเหงา น้ำเสียงจากบทสนทนายิ่งทำให้ความเศร้าปรากฏชัด เราถามว่าหลังจากนี้ ไมตรี จำเริญสุขสกุล และกลุ่มรักษ์ลาหู่ว่าขณะนี้เป็นอย่างไร เขาตอบแทบจะทันทีว่า มันพังหมดแล้ว

“พังหมด ใช้คำนี้เลย เพราะว่าไม่ได้ทำต่อเลย ไม่มีกิจกรรมอีกแล้ว กลายเป็นศูนย์ เหมือนกับว่าไม่เคยมีอะไรเกิดขึ้น ไม่เคยมีกิจกรรมอะไรในหมู่บ้านเลย

“ในชุมชนนี้มีแค่กลุ่มผมกลุ่มเดียวเท่านั้นที่ทำอยู่ ถ้าเป็นที่อื่นอาจจะมีกลุ่มเด็ก กลุ่มสตรี มีหลายกลุ่ม แต่ที่นี่มีแค่ผมคนเดียว ตั้งแต่เทศบาลขึ้นมาถึงนี่ มีแค่กลุ่มผมกลุ่มเดียวเท่านั้น เพราะฉะนั้นถ้าผมจบก็ไม่มีใครทำแล้ว

“ตัวแปรสำคัญคือน้องคนนึงที่เราคิดว่าได้ทำเพื่อเขาอย่างดี สุดท้ายตายแบบนี้ คือผมก็มองว่า ผมอาจจะมีส่วนผิดที่สอนเขาเกี่ยวกับเรื่องเสรีภาพ เกี่ยวกับการสื่อสาร เกี่ยวกับสิทธิ คือผมเชื่อว่าวันที่เกิดเหตุ ชัยภูมิจะต้องเถียงกันกับเจ้าหน้าที่แน่ เพราะแกมีความกล้า แกรู้เรื่องสิทธิเสรีภาพ แกรู้ว่าแกมีสิทธิอะไร และไม่มีสิทธิอะไร และการเถียงกันตรงนี้ทำให้โมโห เกิดเรื่องรึเปล่า? ที่ผมเชื่อนะ

“ผมก็เลยโทษตัวเองตลอดว่า ถ้าสมมุติย้อนกลับไปได้ ถ้าผมไม่สอนเกี่ยวกับเรื่องสิทธิให้เขา เขาจะปลอดภัยมากกว่านี้ไหม ถ้าเราไม่สอนว่าเขามีสิทธิอะไร มีสิทธิที่จะขัดขืนเจ้าหน้าที่ได้ในด้านไหนบ้าง ถ้าเราไม่สอนอย่างนี้ เขาอาจจะเป็นเหมือนคนอื่นคือ ‘ครับๆๆ’ ไม่โต้ตอบ ไม่ถามกลับไป ผมก็เลยสงสัยว่า สิ่งที่เราสอนอยู่มันถูกหรือผิดกันแน่ มันก็อาจจะถูกตามกฎหมาย ถูกตามสิทธิเสรีภาพ แต่มันอาจจะใช้ไม่ได้กับที่นี่”

อ่านเพิ่มเติม ไทม์ไลน์ ‘ชัยภูมิ ป่าแส’ จากกระสุนปลิดชีวิต สู่กล้องวงจรปิดในตำนาน

Author

โกวิท โพธิสาร
เพลย์เมคเกอร์สารพัดประโยชน์ผู้อยู่เบื้องหลังเว็บไซต์ waymagazine.org มายาวนาน ก่อนตัดสินใจวางมือจากทีวีสาธารณะ มาร่วมปีนป่ายภูเขาลูกใหม่ในฐานะ ‘บรรณาธิการ’ อย่างเต็มตัว ทักษะฝีมือ จุดยืน และทัศนคติทางวิชาชีพของเขา ไม่เป็นที่สงสัยทั้งในหมู่คนทำงานข่าวและแม่ค้าร้านลาบ

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า