‘VAR’ ไขคดีดังในประเทศเหลื่อมล้ำ ที่ความยุติธรรมชำรุด

VAR ไขคดีดัง
เรื่อง: พชรกฤษณ์ โตอิ้ม / เวชะรดา มะเวชะ
ภาพประกอบ: วาทิตยา บุพศิริ

 

หลังจาก FIFA นำระบบเทคโนโลยี VAR* มาใช้เป็นตัวช่วยในการตัดสินฟุตบอลโลก 2018 กระแสตอบรับล้วนเป็นไปในทิศทางบวก ภาพ ‘ความจริง’ ปรากฏออกมาให้สังคมได้รับรู้และเห็นกันอย่างจะแจ้งทุกมุมกล้อง

ส่วนหนึ่งเป็นเพราะเจ้าระบบนี้เข้ามาช่วยให้ผู้ตัดสินทำหน้าที่ในสนามได้อย่าง ‘ใสสะอาด’ และ ‘ยุติธรรม’ มากขึ้น เพราะแต่เดิม หากมีเรื่องที่เถียงกันจนคอแตกก็ไม่มีข้อสรุป VAR จึงเข้ามารับบทบาทสำคัญในการเปิดเผยข้อสงสัยเหล่านั้นได้ทั้งหมดทั้งมวล

ประจวบเหมาะกับประเทศไทยแลนด์แดนอะเมซิ่ง ที่มีคดีลี้ลับและอุดมไปด้วยเรื่องราวที่เป็นปริศนาจำนวนไม่น้อย เหมือนระบบการตัดสินฟุตบอลแบบเก่า – เราไม่เห็นภาพความจริงบางอย่าง

ข่าวลือและคำโป้ปดหลอกลวง ไม่ต่างกับการพุ่งเอาจุดโทษหรือล้มกลิ้งเพราะสะดุดยอดหญ้า

WAY พยายามจินตนาการ คาดการณ์ คาดเดา เกี่ยวกับเหตุการณ์ที่เป็นปริศนาอยู่ในสังคมไทยร่วมสมัย ถ้าระบบ VAR เข้ามาเป็นเครื่องมือช่วยตัดสินชี้ขาดและยุติข้อพิพาทหลายๆ เรื่อง การสืบสวนคดีดังและเรื่องอื้อฉาวต่างๆ คงกระจ่างแจ้งยิ่งขึ้น

ข้อเท็จจริงที่ไม่จำกัดเป็นเพียงแค่คำบอกเล่าเลื่อนลอย

ข้อเท็จจริงที่จะปรากฏให้เห็นโดยไม่ต้องถกเถียงว่า ‘เกิดอะไรขึ้น’ ณ ที่แห่งนั้นอีกต่อไป

(หมายเหตุ: ‘Video Assistant Referee’ นามย่อว่า ‘VAR’) เป็นหนึ่งในระบบเทคโนโลยีแบบใหม่ที่เข้ามามีส่วนช่วยคลายข้อสงสัยมากมายในวงการฟุตบอล วิธีทำงานคือ กล้องจะจับภาพอยู่ทั่วทุกมุมสนาม หากมีผู้เล่นทำผิดกติกา หรือเกิดเหตุการณ์ที่ไม่ชอบมาพากล กรรมการสามารถเรียกชมภาพย้อนหลังได้ ทั้งนี้ เพื่อนำข้อมูลเหล่านั้นมาใช้ประกอบการตัดสินถูกผิดของผู้เล่นได้อย่างยุติธรรมและเท่าเทียม)

VAR ไขคดีดัง

ปริศนาที่ 1: ‘บิลลี่’ ผู้เรียกร้องสิทธิ และผู้สูญหาย
บริเวณติดตั้ง VAR: อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน

วันที่ 17 เมษายน 2557 คือวันที่ พอละจี รักจงเจริญ หรือ ‘บิลลี่’ นักปกป้องสิทธิมนุษยชนบ้านบางกลอยหายไปตัว ข้อมูลที่เกี่ยวกับตัวบิลลี่ครั้งสุดท้ายคือ เขาหายตัวไปในเขตอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน

นับตั้งแต่วันนั้นมาจนถึงวันนี้ยังไม่มีใครพบเห็นเขาอีกเลย แม้แต่การสืบสวนการหายไปของเขาก็แทบไม่มีความคืบหน้า

มูลเหตุสำคัญในการหายตัวไปของบิลลี่เกี่ยวข้องกับกรณีชาวบ้านถูกเจ้าหน้าที่อุทยานฯ เผาบ้าน เผายุ้งข้าว เมื่อเดือนพฤษาคม 2554 บิลลี่ในฐานะสมาชิก อบต.ห้วยแม่เพรียง เข้ามาช่วย ‘ปู่คออี้’ หรือ โคอิ มิมี และคนในชุมชน โดยบิลลี่ได้พาชาวบ้านไปฟ้องเจ้าหน้าที่อุทยานฯ ที่ศาลปกครอง เพื่อเรียกร้องสิทธิของชาวบ้านที่ถูกละเมิด

คดีบุคคลสูญหายนั้นเป็นคดีที่มีพยานหลักฐานคลุมเครืออย่างมาก ซึ่งข้อสันนิษฐานส่วนมากเกี่ยวกับคดีอุ้มหายมักมีสาเหตุจากการขัดผลประโยชน์ระหว่างกัน หรือระหว่างนักต่อสู้ด้านสิทธิมนุษยชนกับเจ้าหน้าที่รัฐอยู่เสมอ

นอกจากคดีของบิลลี่แล้วยังมีรูปคดีในลักษณะที่ใกล้เคียงกันอยู่อีกจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็น ทนง โพธิ์อ่าน ผู้นำแรงงานที่หายตัวไป หลังต้านการรัฐประหารปี 2534 ของคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) สมชาย นีละไพจิตร ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนที่ทำงานเกี่ยวกับคดีละเมิดสิทธิมนุษยชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือจะเป็น เด่น คำแหล้ นักต่อสู้สิทธิที่ดินจากทุ่งลุยลาย รวมทั้งผู้สูญหายอีกหลายสิบรายที่ไม่ได้กล่าวถึง ณ ที่นี้

ถ้ามีระบบ VAR ช่วยดักจับภาพในวันเกิดเหตุ ไม่แน่ว่าภาพที่ถ่ายติดในวันนั้นอาจทำให้ทุกคนหายสงสัยว่าบิลลี่สูญหายไปอย่างไรก็เป็นได้

VAR ไขคดีดัง

ปริศนาที่ 2: คดีลอบสังหารแกนนำพันธมิตรฯ
บริเวณติดตั้ง VAR: แยกบางขุนพรหม

ประมาณเช้าตรู่ของวันที่ 17 เมษายน 2552 สนธิ ลิ้มทองกุล แกนนำพันธมิตรเพื่อประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ถูกคนร้ายใช้อาวุธสงครามกระหน่ำยิงบริเวณแยกบางขุนพรหม ขณะกำลังเดินทางเพื่อไปออกรายการ ‘Good Morning Thailand’ ที่สถานีโทรทัศน์ ASTV ซึ่งอยู่ห่างไปเพียงราว 1 กิโลเมตร จากจุดเกิดเหตุ

เหตุการณ์แปลกประหลาดเกี่ยวกับการสืบค้นคดีนี้คือ ณ วันเกิดเหตุ ไม่มีกล้องวงจรปิดตัวใดที่สามารถจับภาพคนร้ายได้เลย พยานหลักฐานจากกล้อง CCTV บริเวณแยกบางขุนพรหม สามารถใช้งานได้เพียงบางตัว จากทั้งหมด 206 กล้อง ตั้งแต่บริเวณใกล้ทำเนียบรัฐบาล เช่น แยกวังแดง แยกสวนมิสกวัน แยกพระบรมรูปทรงม้า รวมทั้งภาพจากกล้องวงจรปิดจากร้านเซเว่นอีเลฟเว่น ธนาคาร และทางด่วนทุกจุด ก็ไม่มีข้อมูลที่ระบุตัวคนร้ายได้อย่างชัดเจน

นายสนธิเองยังกล่าวอยู่เสมอๆ ว่า คนสั่งการให้ลอบสังหารตนนั้นเป็นทหาร คนดำเนินการก็เป็นทหาร และกระสุนก็มาจากทหาร

แต่แหล่งข้อมูลเดียวที่ช่วยในการพิจารณาคดีคือ มีผู้อ้างว่าเป็นประจักษ์พยานสองคนที่เห็นคนร้ายอย่างชัดเจน โดยระบุตัวผู้ต้องสงสัยว่าเป็น ส.ต.ท.วรวุฒิ มุ่งสันติ เจ้าหน้าที่ศูนย์ข่าวกองบัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติด (บช.ปส.) ช่วยราชการกรมสอบสวนคดีพิเศษ จ.ส.อ.ปัญญา หรือ ห่อ ศรีเหรา ทหารศูนย์สังกัดสงครามพิเศษ และ ส.อ.สมชาย บุญนาค เจ้าหน้าที่สังกัดกองร้อยกองบังคับการกรมรบพิเศษที่ 3 ค่ายเอราวัณ รวมผู้ต้องหาในคดีนี้สามคน

ปัจจุบันคดียังอยู่ในความเงียบ ผู้ต้องสงสัยไม่ถูกจับกุม และไม่ปรากฏผลความคืบหน้าเกี่ยวกับคดีมากนัก

ข้อเท็จจริงเป็นเช่นไร นั่นยังคงเป็นปริศนาอยู่เช่นเดิม

ถ้ามี VAR ล่ะก็…

ที่มา:
mgronline.com
thairath.co.th

VAR ไขคดีดัง

ปริศนาที่ 3: ใครฆ่าเสือดำ?
บริเวณติดตั้ง VAR: เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร

วินาทีนี้ (และหลายๆ วินาที หลายๆ เดือนก่อน) ไม่มีใครไม่รู้จัก เปรมชัย กรรณสูต ซีอีโออิตาเลียนไทย ผู้ถูกสังคมตั้งคำถามว่า “เขาคือผู้ที่ฆ่าเสือดำในป่าทุ่งใหญ่นเรศวรหรือไม่”

หากไล่เรียงตามลำดับเหตุการณ์พบว่า วันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2561 นายเปรมชัย กรรณสูต ร่วมกับสมาชิกผู้ติดตามอีกสามคน เข้าไปในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรบริเวณฝั่งตะวันตก จังหวัดกาญจนบุรี จุดที่นายเปรมชัยได้เข้าไปตั้งที่พักอยู่ในเขตพื้นที่ห้วยปะชิ ซึ่งถือเป็นจุดที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันตกไม่อนุญาตให้ตั้งที่พักในบริเวณดังกล่าว

นายเปรมชัยกับสมาชิกที่ติดตามเข้าป่าอีกสามคนถูกเจ้าหน้าที่จับกุมตัวในวันถัดมา และเมื่อเข้าตรวจค้นที่พักของนายเปรมชัย เจ้าหน้าที่ได้ตรวจพบซากเสือดำ พร้อมด้วยอาวุธปืนและเครื่องกระสุนจำนวนมาก

คดีล่าเสือดำนี้เป็นอีกหนึ่งคดีที่สร้างความไม่พอใจให้กับสังคมอย่างกว้างขวาง ซึ่งตอนนี้นายเปรมชัยและคณะติดตามได้ตกเป็นจำเลยคดีอาญา 6 ข้อหา และกำลังอยู่ในขั้นตรวจพยานหลักฐาน ก่อนเริ่มกระบวนการสืบพยานในภายหลัง

แม้ว่ารูปคดีกำลังอยู่ในขั้นดำเนินการไปบางส่วน แต่เรื่องราวทั้งหมดที่เกิดขึ้นในป่ายังคงเป็นปริศนาดำมืด

เมื่อไม่มี VAR สิ่งที่ทุกคนทำได้คือคาดการณ์ว่า “ณ วันเกิดเหตุ คณะของนายเปรมชัยได้ฆ่าเสือดำจริงหรือไม่”

ที่มา:
bbc.com
thairath.co.th

VAR ไขคดีดัง

ปริศนาที่ 4: คดีฆาตกรรมชาวต่างชาติ
บริเวณติดตั้ง VAR: เกาะเต่า อำเภอเกาะพะงัน จังหวัดสุราษฎร์ธานี

เช้าของวันที่ 15 กันยายน 2557 พบร่างผู้เสียชีวิตเป็นนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติสองราย บริเวณหาดทรายรี เกาะเต่า จังหวัดสุราษฎร์ธานี

ผู้เสียชีวิตทั้งคู่เป็นชายและหญิง ฝ่ายชายถูกทุบด้วยของแข็งที่ท้ายทอย ส่วนฝ่ายหญิงถูกตีด้วยของแข็งที่ใบหน้าและอยู่ในสภาพเปลือยเปล่า

ทั้งคู่เป็นชาวอังกฤษที่มาท่องเที่ยวเกาะเต่า ชื่อ เดวิด มิลเลอร์ อายุ 24 ปี และ ฮานนาห์ วิทเธอร์ริจ อายุ 23 ปี ทันทีที่พบร่างของผู้เสียชีวิต เจ้าหน้าที่ตำรวจได้เร่งสืบพยานหลักฐานผ่านกล้องวงจรปิด และการตรวจดีเอ็นเอบนร่างเหยื่อ กระทั่งภายหลังมีการจับกุมผู้ต้องหาชาวพม่าสองราย ทั้งคู่เป็นแรงงานรับจ้างบนเกาะเต่า

แม้ว่าจะจับกุมผู้ต้องหาได้ แต่การทำงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจกลับเต็มไปด้วยความเคลือบแคลง โดยเฉพาะประเด็นเรื่องกระบวนการสืบสวนที่มิชอบ และความคลุมเครือระหว่างขั้นตอนดำเนินงานต่างๆ ของเจ้าหน้าที่

ทั้งสื่อในประเทศและสื่อต่างชาติให้ความสนใจเหตุการณ์ดังกล่าวเป็นพิเศษ เนื่องจากรูปคดีล้วนแต่มีความน่าสงสัยหลายประการ ไม่ว่าจะเป็นการตั้งคำถามว่า ผู้มีอิทธิพลในพื้นที่เข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องในกระบวนการยุติธรรมหรือไม่ รวมถึงการไต่ถามถึงความโปร่งใสในกระบวนการยุติธรรมของเจ้าหน้าที่ตำรวจว่าพวกเขาปฏิบัติหน้าที่โปร่งใสมากน้อยเพียงใด

เพราะในความเป็นจริง ไม่มี VAR ที่เกาะเต่า เราไม่สามารถเห็นได้ทุกมุมว่ามี ‘มือ’ ของใครเข้ามามีส่วนร่วมในคดีนี้บ้าง

ตลอดช่วงระยะเวลาตั้งแต่ปี 2557-2560 เป็นต้นมา เกาะเต่ามีคดีฆาตกรรมและคดีบุคคลสูญหายจำนวนมาก โดยปัจจุบันคดีชาวต่างชาติที่ถูกฆาตกรรม หรือถูกระบุว่าเป็นบุคคลสูญหาย มีจำนวนมากถึง 7 คดี

ที่มา:
bangkokbiznews.com
sanook.com

VAR ไขคดีดัง

ปริศนาที่ 5: เหตุวิสามัญฯ ชัยภูมิ ป่าแส
บริเวณติดตั้ง VAR: ด่านตรวจบ้านรินหลวง ตำบลเมืองนะ อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่

ราว 11 โมงของวันที่ 17 มีนาคม 2560 ชัยภูมิ ป่าแส นักกิจกรรมชาวลาหู่ พร้อมกับเพื่อนอีกหนึ่งคนได้เดินทางโดยรถยนต์ฮอนด้าแจ๊สสีดำ ผ่านบริเวณด่านตรวจถาวรบ้านรินหลวง ตำบลเมืองนะ อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่

หลังจากนั้นไม่นาน ชัยภูมิ ป่าแส ก็ได้ถูกทหารประจำด่านตรวจวิสามัญฆาตกรรมจนเสียชีวิต

สิ่งที่ทำให้เหตุการณ์นี้ไม่สามารถสืบค้นความจริงได้คือ คำให้การจากหลายๆ ฝ่ายไม่สอดคล้องกัน พยานหลักฐานชิ้นสำคัญในเหตุการณ์นี้จึงเป็น ‘ภาพจากกล้องวงจรปิด’ ที่ติดตั้งในที่เกิดเหตุ แต่ฝ่ายทหารกลับเลือกที่จะไม่เปิดเผยภาพจากกล้องวงจรปิด โดย พลเอกเฉลิมชัย สิทธิสาท ผู้บัญชาการทหารบก ณ ขณะนั้น กล่าวกับผู้สื่อข่าวว่า “ภาพในกล้องวงจรปิด ไม่สามารถอธิบายเหตุการณ์ได้ทั้งหมด”

ฝ่ายเจ้าหน้าที่รัฐระบุว่า นายชัยภูมินั่งรถเข้ามาในบริเวณด่านตรวจจริง โดยนั่งอยู่ด้านข้างคนขับ ระหว่างเจ้าหน้าที่เข้าไปเจรจา นายชัยภูมิได้ใช้กำลังขัดขืนการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ และพยายามวิ่งหนีการจับกุม นั่นจึงทำให้ทหารต้องลั่นไกวิสามัญฆาตกรรม เพราะเกรงว่านายชัยภูมิอาจมีอาวุธเข้ามาทำร้ายเจ้าพนักงาน

แม้ภายหลังกองทัพบกจะตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงในเหตุการณ์วิสามัญฆาตกรรมดังกล่าวแล้วก็ตาม แต่การเสียชีวิตของ ชัยภูมิ ป่าแส ยังเป็นอีกหนึ่งกรณีที่มีความคลุมเครือและยังไม่ได้รับคำตอบ บุคคลใกล้ชิดกับชัยภูมิยืนยันว่า “ชัยภูมิไม่มีทางที่จะเกี่ยวข้องกับยาเสพติด” ขณะที่บุคคลสำคัญฝ่ายรัฐหลายคนออกมาแสดงท่าทีปกป้องทหารว่าทำถูกแล้ว และชี้ว่านายชัยภูมิมีส่วนเกี่ยวข้องกับยาเสพติด

ถึงจะมี VAR ก็ไม่แน่ว่าจะมีเหตุผลประมาณว่า “ไม่สามารถอธิบายได้ทั้งหมด” อีกหรือเปล่า

ที่มา:
bbc.com
bbc.com
prachatai.com

VAR ไขคดีดัง

ปริศนาที่ 6: คดีแหวนคุณแม่ นาฬิกาคุณเพื่อน
บริเวณติดตั้ง VAR: ณ ร้านนาฬิกา หรือบ้านของคุณเพื่อนที่ให้ยืมนาฬิกา

ขณะ พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กำลังถ่ายภาพหมู่คณะรัฐมนตรีชุดใหม่เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2560 ผู้คนจำนวนหนึ่งสังเกตเห็นรัศมีเปล่งประกายในภาพถ่ายดังกล่าว พร้อมๆ กับจุดประเด็นเรื่อง ‘แหวนเพชร’ กับ ‘นาฬิกายี่ห้อริชาร์ด มิลล์’ ที่พลเอกประวิตรสวมใส่เป็นเครื่องประดับในภาพว่า ทั้งสองสิ่งที่มีมูลค่ามหาศาลเป็นทรัพย์สินของพลเอกประวิตรมาตั้งแต่ก่อนรับตำแหน่งบริหารประเทศหรือไม่

คำถามดังกล่าวถูกขยายใหญ่จนกลายเป็นเรื่องบานปลาย เพราะในบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินที่แจ้งไว้กับคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กลับไม่ปรากฏเครื่องประดับทั้งสอง

หลังจากนั้นสังคมเริ่มวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับเครื่องประดับของพลเอกประวิตรอย่างแพร่หลาย รวมทั้งมีการเปิดเผยข้อมูลบนโซเชียลมีเดียอย่างต่อเนื่อง จนถึงขั้นรับรู้ว่าพลเอกประวิตรมีนาฬิกาในครอบครองมากถึง 25 เรือน

วรวิทย์ สุขบุญ เลขาธิการ ป.ป.ช. แถลงความคืบหน้าเกี่ยวกับคดีเแหวนและนาฬิกาว่า ขณะนี้ ป.ป.ช. ตรวจสอบพบว่า พลเอกประวิตรมีนาฬิกาที่มีมูลค่าสูงจำนวนทั้งสิ้น 22 เรือน และนาฬิกาทั้งหมดเป็นของเพื่อนพลเอกประวิตรที่เสียชีวิตไปแล้ว ส่วนกรณีเรื่องแหวนนั้น เลขาธิการ ป.ป.ช. ระบุว่าเป็นทรัพย์สินส่วนตัวของพ่อพลเอกประวิตร ก่อนจะมอบให้กับแม่ แล้วแม่นำมามอบให้กับพลเอกประวิตรอีกทอดหนึ่ง

หากระบบ VAR ถูกใช้ประกอบกับกระบวนการสืบสวนสอบสวนได้จริง มุมกล้องที่ปรากฏในข่าวคงไม่ใช่แค่ ‘ยกมือป้องหน้า’ แต่ข้อกังขาถึงที่มาของเครื่องประดับมากมูลค่าหลายรายการคงถูกเปิดเผยให้ประชาชนทั่วไปได้เห็นในทุกมุมมอง

ที่มา:
posttoday.com
bbc.com
workpointnews.com

VAR ไขคดีดัง

ปริศนาที่ 7: แด่อุทยานราชภักดิ์ ด้วยความจงรักภักดี
บริเวณติดตั้ง VAR: อุทยานราชภักดิ์ อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์

‘อุทยานราชภักดิ์’ เป็นหนึ่งในอุทยานประวัติศาสตร์ที่เริ่มก่อสร้างแล้วเสร็จภายเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา ซึ่งตั้งอยู่บริเวณตำบลหนองแก อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และถูกสร้างขึ้นมาเพื่อแสดงความจงรักภักดี เป็นการเทิดทูนและประกาศเกียรติคุณบูรพมหากษัตริย์แห่งประเทศไทย

เมื่อเป็นการก่อสร้างครั้งใหญ่ วันหนึ่งอุทยานราชภักดิ์ก็ถูกสังคมวิพากษ์วิจารณ์ว่า พบการทุจริตในหลายขั้นตอนของโครงการ ไม่ว่าจะเป็นเงินที่รับบริจาคจากเอกชน ค่าก่อสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์ รวมไปถึงการบิดเบือนราคาต้นปาล์มที่ใช้ประดับในบริเวณอุทยานอีกด้วย

อุทยานราชภักดิ์เป็นโครงการที่มี พลเอกอุดมเดช สีตบุตร เป็นประธานคณะกรรมการโครงการ โดยรัฐบาล พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นผู้อนุมัติโครงการ ทำให้ทั้งคู่ต่างต้องเผชิญคำถามมากมายเกี่ยวกับความไม่โปร่งใส

ผลการตรวจสอบของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เมื่อวันที่ 7 กันยายน 2559 ป.ป.ช. มีมติ 9 ต่อ 0 เสียง ว่าการดำเนินการสร้างอุทยานราชภักดิ์เป็นไปอย่างถูกต้องตามระเบียบราชการทุกประการ

“กองทัพบกได้ทำการตรวจสอบแล้วและยืนยันว่าโครงการนี้ไม่มีทุจริตในวันนี้ และกองทัพบกพยายามทำทุกอย่างให้อยู่ในขอบเขตของกรอบกติกาของราชการ ใครจะเข้ามาตรวจสอบสามารถดำเนินการได้ตามขั้นตอน เราไม่ได้ปิดกั้น สามารถมาประสานข้อมูลได้” พันเอกวินธัย สุวารี โฆษกกองทัพบก และโฆษกคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าว

หาก ป.ป.ช. มีตัวช่วยเป็น VAR และเปิดภาพแก่สายตาผู้ชม เราคงเห็นภาพช้าๆๆ ในทุกมุมมองและขั้นตอนว่าคะแนน ‘9 ต่อ 0’ นั้นถูกต้องแล้วใช่ไหม

ที่มา:
posttoday.com
dailynews.co.th
mgronline.com
thaipublica.org

VAR ไขคดีดัง

ปริศนาที่ 8: ‘หมุดคณะราษฎร’ กลายเป็น ‘หมุดหน้าใส’
บริเวณติดตั้ง VAR: ลานพระบรมรูปทรงม้า

เมื่อต้นเดือนเมษายนปี 2560 เพจเฟซบุ๊คชื่อ ‘หมุดคณะราษฎร’ แจ้งข้อมูลข่าวสารถึงปรากฏการณ์การเปลี่ยนหมุดคณะราษฏรที่ลานพระบรมรูปทรงม้า

ช่วงวันที่ได้รับแจ้งว่ามีการโยกย้ายหมุดออกไปจากพื้นที่เดิม พื้นที่บริเวณใกล้เคียงนั้น ทางเจ้าหน้าที่คาดการณ์ไว้ว่าอาจจะพอมีกล้องวงจรปิดบันทึกภาพได้บ้าง แต่ก็ต้องผิดหวัง เพราะกล้องเหล่านั้นได้ถูกถอนออกไปจากการปรับเปลี่ยนสัญญาณไฟจราจรช่วงก่อนหน้านั้น…จนถึงตอนนี้ก็ยังไม่ได้ติดตั้งกลับเหมือนเดิม

หมุดคณะราษฎร จัดทำขึ้นเพื่อจารึกวันแห่งการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบประชาธิปไตย เมื่อ 24 มิถุนายน 2475 นำโดย พระยาพหลพลพยุหเสนา และเหล่าคณะราษฎร มีเนื้อความว่า

“ณ ที่นี้ 24 มิถุนายน 2475 เวลาย่ำรุ่ง คณะราษฎรได้ก่อกำเนิดรัฐธรรมนูญ เพื่อความเจริญของชาติ”

ขณะที่หมุดใหม่ซึ่งถูกปักไว้ที่ลานพระบรมรูปทรงม้า ร.5 ด้านหน้าสนามเสือป่าแทนที่หมุดเดิม มีข้อความสลักในหมุดว่า

“ขอประเทศสยามจงเจริญยั่งยืนตลอดไป ประชาสุขสันต์หน้าใสเพื่อเป็นพลังของแผ่นดิน ความนับถือรักใคร่ในพระรัตนตรัยก็ดี ในรัฐของตนก็ดี ในวงศ์ตระกูลของตนก็ดี มีจิตซื่อตรงในพระราชาของตนก็ดี ย่อมเป็นเครื่องทำให้รัฐของตนเจริญยิ่ง”

ที่มา:
bbc.com
matichon.co.th

VAR ไขคดีดัง

ปริศนาที่ 9: การซ้อมทรมานในห้องปิดตาย
บริเวณติดตั้ง VAR: สถานที่ลับต่างๆ

การทรมานด้วยการซ้อม ทำร้ายร่างกาย และการขู่เข็ญให้หวาดกลัว เป็นวิธีที่เจ้าหน้าที่รัฐยังใช้ปฏิบัติกันอยู่ในบางคดี โดยอ้างเหตุว่าเป็นปฏิบัติการเพื่อขยายผล มีวัตถุประสงค์พิเศษเพื่อหาข่าวเกี่ยวกับการก่อความไม่สงบ หรือเพื่อเป็นการลงโทษผู้ต้องสงสัย เนื่องจากเจ้าหน้าที่เชื่อว่าบุคคลเหล่านั้นเป็นผู้กระทำความผิดต่อความมั่นคงของรัฐ

แน่นอนความลับคือความลับ เรื่องราวในห้องสอบสวนจึงเป็น ‘ความลับ’ ที่ VAR ถูกกันไว้นอกบานประตู

เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ปี 2561 สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) คืน ‘ร่างกฎหมายป้องกันมิให้มีการกระทำการทรมาน การปฏิบัติที่โหดร้ายและการบังคับให้สูญหาย’ กลับไปยังคณะรัฐมนตรี เพื่อให้ปรับแก้และให้มีการรับฟังความเห็น ทั้งที่ก่อนหน้านี้ร่างกฎหมายฉบับดังกล่าวผ่านการหารือร่วมกันระหว่างเอกชนและภาคประชาสังคมมาหลายปีแล้ว

“ผู้ที่ตกเป็นเหยื่อของการทรมานมักเป็นผู้ต้องสงสัยที่เป็นชาวไทยมุสลิมเชื้อสายมลายู โดยพบว่า เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงบางคนมีทัศนคติเชิงลบกับกลุ่มบุคคลดังกล่าว โดยเห็นได้จากการเผยแพร่ข่าวตามสื่อมวลชน และการปฏิบัติการต่างๆ ของเจ้าหน้าที่ที่มีลักษณะของการเลือกปฏิบัติ” คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ได้แจ้งต่อการประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อ 7 ปีก่อน

สีละ จะแฮ ชาวเขาเผ่าลาหู่ จังหวัดเชียงใหม่ หนึ่งในนักเคลื่อนไหวปกป้องสิทธิมนุษยชน เคยเล่าถึงการซ้อมทรมานที่ตนเองประสบในงานเสวนา ‘สถานการณ์และแนวทางยุติการทรมานในประเทศไทย’ ว่าเขาได้เห็นภาพการทารุณกรรมโดยเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานรัฐต่อหน้าญาติของผู้ที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้มียาเสพติดไว้ในครอบครอง

“ผมเห็นสภาพที่ชาวบ้านถูกทรมาน เขาจับคนมาราดน้ำ ใช้ไฟฟ้าช็อตที่บริเวณร่างกาย บางคนสลบไปก็ถูกสาดน้ำให้ฟื้นขึ้นมาแล้วซ้อม เหมือนกับว่าไม่ใช่มนุษย์ บางคนโดนรุมซ้อมจนปางตายก็เอาไปฝังโดยที่ยังมีลมหายใจอยู่” สีละพูดถึงประสบการณ์ที่ได้พบเจอมา

ที่มา:
isranews.org
posttoday.com

 

Author

กองบรรณาธิการ
ทีมงานหลากวัยหลายรุ่น แต่ร่วมโต๊ะความคิด แลกเปลี่ยนบทสนทนา แชร์ความคิด นวดให้แน่น คนให้เข้ม เขย่าให้ตกผลึก ผลิตเนื้อหาออกมาในนามกองบรรณาธิการ WAY

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า