ช่วยมารีญาตอบคำถาม Social Movement ที่สำคัญที่สุดในยุคของคุณคืออะไร?

ประเด็นคำถามของ มารีญา พูลเลิศลาภ ที่ได้รับบนเวที Miss Universe น่าสนใจพอๆ กับการเข้ารอบ 5 คนสุดท้ายของการประกวดสาวงามระดับโลก แม้ท้ายสุดมงกุฏจะไม่ได้สวมให้กับสาวงามจากแผ่นดินไทย แต่คำถามที่ออกจากปาก สตีฟ ฮาร์วีย์ ยังคงรบกวนสติปัญญาของเราตั้งแต่เช้า

คำตอบของมารีญาอาจถูกใจหรือชวนให้หลายคนหงุดหงิด แต่อย่างว่า คำถามไม่ง่ายเลย หลายคนส่งเสียงผ่านโซเชียลมีเดียว่ามันควรจะเป็นหัวข้อ Thesis มากกว่าคำถามบนเวทีนางงาม
 
ด้วยเหตุนี้เราหยิบคำถามเดียวกันแจกจ่ายไปยังสุภาพสตรีหลายท่าน ซึ่งแน่นอนว่าพวกเขาได้เปรียบมารีญาเพราะมีเวลาไตร่ตรองร่วมชั่วโมง รวมทั้งมีโอกาสตอบคำถามมากกว่า 30 วินาที แต่หากพิเคราะห์โดยตัดเงื่อนไขของเวลาออกไปแล้วเราควรตอบคำถามนี้อย่างไร นี่คือเสียงจากล่างเวทีที่ไม่มีมงกุฏมอบให้
 
“คุณคิดว่าอะไรคือ Social Movement ที่สำคัญที่สุดในยุคของคุณ และเพราะอะไร?”

อิมเมจ – สุธิตา ชนะชัยสุวรรณ / ศิลปิน

เรื่องความเท่าเทียมของทุกเพศสภาพและเชื้อชาติ รู้สึกว่านี่เป็นสิ่งสำคัญที่สุดในยุคเราละ มันเป็นการก้าวข้าม barrier ของการตัดสินกันโดยปัจจัยภายนอก เพราะทุกชีวิตควรจะเท่าเทียม เพราะทุกชีวิตมีค่าเท่ากัน

ธนิสรา เรืองเดช / กองบรรณาธิการ The Matter

ขอบคุณสำหรับคำถามค่ะ

จริงๆ เราว่าการเกิดขึ้นของ social movement ที่หลากหลายในยุคสมัยนี้นี่แหละ เป็น social movement ที่สำคัญ เพราะมันเหมือนกับว่าเรากำลังเข้าสู่ยุคที่คนแบบ… ไม่ไหวละ ขอลุกขึ้นมาพูดมาทำอะไรเองล

แต่ถ้าให้คิดเร็วๆ สำหรับเรานะ LGBT Pride นี่น่าจะเป็น movement ที่ค่อนข้างอิมแพ็คกับคนทั่วโลกเลย ไม่ว่าคุณจะเป็นหนึ่งใน LGBT หรือไม่ แต่คนเราก็ต้องอยู่ร่วมกันไง มันเป็นเรื่องของการสร้างความเข้าใจกัน การหาวิธีสื่อสารกัน ซึ่งเรามองว่ามันเป็นเบสิกที่นำไปสู่การสร้างสรรค์ ประนีประนอม หรือแก้ปัญหาอื่นๆ หลายอย่างได้เลย (นางงามไหม?)

เอาง่ายๆ ก็คือเราว่า movement นี้ทำให้คนมองเห็นความเป็นคน และให้เกียรติการตัดสินใจของคนอื่นมากขึ้น มองข้ามไปแล้วว่าเขาเป็นเพศอะไร แต่มองว่าเขาเป็นคนคนหนึ่งเหมือนกัน

ขอบคุณค่ะ (ไหว้ย่อ)

ลลิตา หาญวงษ์ / อาจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

social movement ในเจนเนอเรชั่นของดิฉันที่คิดว่าน่าจดจำที่สุดคือการลุกฮือขึ้นของประชาชนในตะวันออกกลาง เพื่อประท้วงต่อต้านผู้นำเผด็จการที่ปกครองประเทศของพวกเขามายาวนานหลายสิบปี รู้จักกันในนามกระแส Arab Spring ที่มองว่าเหตุการณ์นี้สำคัญเพราะมันไม่ได้เป็นเพียงเหตุการณ์ แต่ยังมอบแรงบันดาลใจให้กับคนตัวเล็กตัวน้อยให้ออกมาปกป้องสิทธิของตัวเอง และทำให้พวกเขารู้ว่าเผด็จการอำนาจนิยมไม่ใช่เรื่องไกลตัว แรงกระเพื่อมจากโลกอาหรับยังทำให้ผู้นำเผด็จการจากหลายๆ แห่งทั่วโลกประเมินพลังของประชาชนสูงขึ้น เลยมองว่าผลกระทบที่มัน long-lasting ของ Arab Spring นี่ล่ะมันสุดๆ จริงๆ

จีน – พุธิตา ชัยอนันต์ / นักกิจกรรม

ประเด็นปัญหาที่น่าเป็นห่วงในยุคสมัยนี้คือ ประเด็นปัญหาความรุนแรง สงคราม สันติภาพและการละเมิดสิทธิมนุษชน ดังนั้นขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมที่สำคัญและน่าสนใจในยุคนี้ก็เช่น เครือข่ายสิทธิมนุษยชนในซีเรียที่เรียกร้องให้มีการยุติสงครามกลางเมืองในซีเรีย ,ขบวนการ Anti-Islamophobia ในสหรัฐอเมริกาและแคนาดา , ขบวนการ Umbrella Revolution ที่นำโดยกลุ่มคนรุ่นใหม่ฮ่องกง หรือกลุ่มเคลื่อนไหวในเรื่องความหลากหลายและสิทธิความเท่าเทียมกันทางเพศ เช่น The LGBTQ Movemen ซึ่งเป็นขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมแบบใหม่ (new social movement )ที่สอดคล้องกับยุคสมัย และสุดท้ายใกล้ตัวเราที่สุดก็คือ ขบวนการเคลื่อนไหวเรียกร้องประชาธิปไตยในประเทศไทย

เน็ตติ้ง – จารุวรรณ สุพลไร่ / กษตรกรนักเดินทาง

คิดว่าการเคลื่อนไหวทางสังคมเกษตรกรรมยั่งยืนที่ขับเคลื่อนโดยคนรุ่นใหม่ คือเรื่องที่สำคัญที่สุดในยุคนี้นะ เราจะขอยกตัวอย่างจากโปรเจ็คท์ที่ตัวเองทำร่วมกับเพื่อนเกษตรกรรุ่นใหม่ในอีสานตอนล่าง เราคือกลุ่มคนรุ่นใหม่กลุ่มเล็กๆ ที่ตัดสินใจลาออกจากงานประจำและกลับบ้านมาทำเกษตรอินทรีย์ เราไม่ได้กลับบ้านมาปลูกผักปลอดสารให้ครอบครัวเพียงอย่างเดียว เพื่อให้ตัวเองอยู่รอดและอยู่ได้ แต่เราลุกขึ้นมารวมตัวกัน เพื่อร่วมกันเปลี่ยน ร่วมกันสร้างสรรค์ให้ชุมชนน่าอยู่ และทำกันแบบหลากมิติ เช่น การจัดค่ายเกษตรแบบพึ่งพาตัวเองให้เด็กๆ เพื่อหนุนเสริมทางเลือกด้านการศึกษา การเปิดตลาดอาหารปลอดภัยในชุมชน เพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจในชุมชน การมีสุขภาพดีของคนในชุมชน การจัดงานวัฒนธรรมอีสานให้คนในชุมคนได้มาเจอกัน คนแก่ได้มีพื้นที่พูดคุยกับคนรุ่นใหม่ เป็นต้น

คนรุ่นใหม่ในเครือข่ายเรามาจากหลากหลายพื้นที่ ทั้งจากฐานเมืองและฐานชนบท ถึงแม้เราจะทำงานบนฐานชุมชนแต่เราก็ทำงานเชื่อมกับเพื่อนๆ เครือข่ายเกษตรกรรุ่นใหม่ทั้งสี่ภาคในประเทศไทย และรวมทั้งเครือข่ายเกษตรรุ่นใหม่อนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงด้วย เราแลกเปลี่ยนมุมมองความคิดความรู้ทางเทคนิคด้านเพาะปลูก แลกเปลี่ยนเมล็ดพันธุ์ ร่วมกันแก้ปัญหา วิเคราะห์ และกำหนดอนาคตร่วมกัน

สำหรับเราแล้ว การทำงานด้าน social movement มันต้องมองให้เห็นภาพปัญหาใหญ่ของสังคมที่เกิดขึ้นตอนนี้ และในขณะเดียวกันก็ร่วมกันมองหา solution และ ความเป็นไปได้ใหม่ๆ ที่คนรุ่นนี้จะช่วยผลักเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางสังคมในระยะยาวในอนาคต การทำงานเพื่อตอบโจทย์ social movement มันต้องมองกันในระยะยาว มองให้เห็นความยั่งยืน ไม่ได้มองแค่ประเด็นเดียว แล้วไม่เชื่อมโยงกับมิติอื่นๆ ในสังคม ไม่ใช่แค่เป็นโปรเจ็คท์สองสามปีแล้วจบ และกับบางอย่างบางเรื่องต้องทำกันทั้งชีวิต… สังคมฐานเกษตรกรรมยั่งยืนคือคำตอบ และคนรุ่นใหม่คือคนของอนาคต พวกเรามีพลัง พลังที่จะ ‘เปลี่ยนอนาคต’ ที่เราอยากเห็นในช่วงชีวิตนี้

ดร.ชนกพร พัวพัฒนกุล / อาจารย์ประจำสาขาวิชาภาษาไทย คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

social movement ที่สำคัญในมุมมองของเรา คือการที่คนรุ่นใหม่ใช้สื่อสังคมออนไลน์เป็นช่องทางในการวิพากษ์และตั้ง ‘คำถาม’ กับสถาบัน ระบบ และโครงสร้างทางสังคมต่างๆ ที่มัน ‘ไม่โอเค’ และเอื้อให้เกิดความไม่เท่าเทียมกันในมิติต่างๆ กันมากขึ้น ซึ่งเมื่อก่อนมันก็มีนะ แต่อาจจะจำกัดอยู่ในวงนักคิด นักเขียน หรือในธีสีสบางเล่มที่อยู่บหิ้ง

ในหลายที่ของโลก การตั้งคำถามนี้อาจนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นรูปธรรม เช่น การแก้ไขกฎหมาย การเปลี่ยนแปลงนโยบาย การเลือกผู้นำประเทศ แต่ในกรณีของประเทศไทย อย่างน้อยมันก็ทำให้บางเรื่องกลายเป็น ‘กระแส’ ขึ้นมา หรือทำให้สิ่งที่คนเคยยอมรับโดยไม่ตั้งคำถาม (take it for granted) กลายเป็นประเด็นที่มีคนสนใจและหยิบยกขึ้นมาถกเถียงกันได้ ตั้งแต่เรื่องใกล้ตัว อย่างสถาบันครอบครัว ความเป็นหญิง ความเป็นชาย และการ bully กัน ไปจนถึงเรื่องที่ใหญ่กว่านั้นอย่างศาสนา การเมือง การปกครอง

โอเค! ถึงแม้ว่าเราจะยังไม่มีวุฒิภาวะพอที่จะคุยเรื่องพวกนี้กันโดยปราศจาก hatespeech หรือตรรกะวิบัติได้ทั้งหมด แต่อย่างน้อยการมีพื้นที่ให้ตั้งคำถามและมีคนกล้าถาม พอถามแล้วมีคนได้ยิน และนำไปขบคิดใคร่ครวญต่อ (บ้าง) สำหรับเรามันกลายเป็นแบบฝึกหัดให้คนรู้จักยับยั้งชั่งใจ รู้จักมี Political Correctness มากขึ้นเยอะถ้าเทียบกับสมัยก่อน ในฐานะที่เป็นครูก็รู้สึกว่าเป็น movement ที่ท้าทายนะ ทำอย่างไรจะให้เด็กๆ ยังสนุกกับการตั้งคำถามและหาคำตอบซึ่งมักจะไม่ได้มี ‘คำตอบ’ เพียงหนึ่งเดียวเสียด้วย

มนทกานติ รังสิพราหมณกุล

ก่อนเรื่องอื่นๆ และส่วนตัวคิดว่าน่าจะสำคัญเหมือนกัน ก็คือขอกลับไปที่คำถาม การเจาะจงว่า เจนเนอเรชั่น ‘ของคุณ’ นี่ไม่น่าจะเป็นตัวเลือกสำหรับการตั้งคำถามแบบนี้ คือถึงโลกทุกวันนี้มันจะยังเละๆ ถึงเละมากอยู่ในระดับหนึ่ง แต่ที่จริงมันคือโลกเดียวแล้ว ไม่ว่าจะมีคนที่ยังพยายามปฏิเสธแข็งขันดิ้นรนแค่ไหน เน็ตเวิร์คก็ได้ทำการเชื่อมโยงทุกสิ่งเข้าหากันอยู่ทุกวันโดยมองข้ามการปฏิเสธนั้นไปเฉย เปิดพื้นที่ให้คนจำนวนมากเข้าไป -อย่างน้อยที่สุด – มีบทบาทแสดงความคิดเห็นในที่ที่ไม่เคยแตะถึงมาก่อน

ยกตัวอย่าง คนสามัญธรรมดาอย่างเราก็ออกความคิดเห็นได้เลยระหว่างการไลฟ์ประชุมหรือแถลงสำคัญๆ ระดับชาติ ระดับโลก จะมีคนสนใจความเห็นของเราหรือเปล่า หรือจะมาไล่ลบความเห็นเราหรือเปล่านั่นเรื่องหนึ่ง สิ่งสำคัญคือเราได้แสดงมันออกไปแล้ว บอร์เดอร์มันสลายหมดจด ตั้งแต่เรื่องเฉพาะตัวของทุกคนอย่างเรื่องเพศ เรื่องวัย เรื่องชนชั้นทางสังคม ความเชื่อ อาชีพ เชื้อชาติ สีผิว เวลาพูดถึง social movement มันจึงเป็นไปไม่ได้ที่จะเคลื่อนเฉพาะเจนไหนเจนหนึ่ง มันไปของมันทั้งหมดอัตโนมัติ ต่อให้คุณไม่เดิน คุณก็ต้องไหลไปกับคลื่นคนในที่สุด จะยืนตัวแข็งอยู่ได้นานเท่าไหร่

ทีนี้มาถึงคำถาม เกี่ยวเนื่องกันเลย ก็ในเมื่อโลกมันเป็นแบบนี้ และมันไม่อาจจะกลับไปเป็นอย่างเก่าได้อีกแล้ว เวลาที่เราคุ้นชินกับพื้นที่กว้างเชื่อมโยงแบบนั้น มันไม่ได้แค่ตื่นตาตื่นใจหรือสะดวกสบายกับการที่มันนำเสนอแทบจะทุกอย่างมาให้เรา เพราะพร้อมๆ กันนั้นมันเปลี่ยนข้างในตัวเราทั้งหมดไปเรียบร้อยแล้วด้วย มนุษย์เปลี่ยนไปแล้วตลอดกาล movement สำคัญที่สุดตอนนี้จึงหนีไม่พ้นการขับเคลื่อนให้เป็นจริงมากที่สุดของสิทธิมนุษยชน ความเสมอภาคของทุกอย่างที่เราว่ามา เพศ วัย ชนชั้นทางสังคม ความเชื่อ อาชีพ เชื้อชาติ สีผิว – ก็ใช่ มันอาจจะฟังดูอุดมคติ โดยเฉพาะในพื้นที่ที่มันยังเละเทะ แต่ – ข่าวดีจ้ะที่รัก มันไม่ใช่ทางเลือก มันเป็น A-MUST

วาสนา ลำดี / นักสื่อสารแรงงาน

ในมุมมองคิดว่าประเด็นด้านสิทธิความไม่เป็นธรรมทางสังคม ไม่ว่าจะเป็นสิทธิความเท่าเทียมด้านกฎหมาย การใช้กฎหมายในการกระทำต่อประชาชน หากเรามองไปรอบข้างจะเห็นประเด็นความไม่เป็นธรรมอยู่ทั่วไป ซึ่งการเคลื่อนไหวทางสังคมต่อประเด็นที่ดินที่อยู่อาศัยที่ทำกิน ประเด็นสิทธิแรงงาน ประเด็นเด็กและสตรี การกระทำในเชิงนโยบายที่เอื้อต่อระบบทุนจนไม่ได้สนใจความเป็นมนุษย์ ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำทางสังคมมากขึ้น เกิดช่องแห่งความยากจน ภาพของคนไร้บ้านที่เพิ่มขึ้นในโลกใบนี้ การว่างงานภายใต้ระบบทุนนิยม ตลาดการค้าเสรี ไม่เห็นหัวคนจน

นโยบายรัฐที่เอื้อต่อทุนจนสร้างความเหลื่อมล้ำทางสังคมมากขึ้น ทั้งปัญหาแรงงาน ปัญหาที่ทำกิน ปัญหาด้านการศึกษา ปัญหาการละเมิดสิทธิทางเพศ สีผิว และศาสนา
การขับเคลื่อนสังคมผ่านการต่อสู้เรียกร้อง เรื่องระบบประกันสังคมในขบวนแรงงาน นักศึกษา ภาคประชาสังคม ที่ชุมนุมเรียกร้องเพื่อให้เกิดสวัสดิการขั้นพื้นฐาน ช่วงนั้นถือว่าเป็นขบวนการขับเคลื่อนที่ยิ่งใหญ่ของแรงงานและรัฐบาล ที่ประกาศบังคับใช้พระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533 เป็นสวัสดิการพื้นฐานทางสังคมให้กับคนทำงาน การชุมนุมครั้งนั้น ที่เป็นการอดข้าวประท้วงของผู้ใช้แรงงานและนักศึกษา อาจนำมาซึ่งสิทธิประกันสังคม นำมาสู่การเคลื่อนไหวในประเด็นลาคลอด 90 วัน ในช่วงปี 2537-2539 ซึ่งการต่อสู้ของกลุ่มหญิงและชายเพื่อให้แรงงานหรือคนทำงานที่เป็นผู้หญิงได้ลางานเพื่อเลี้ยงดูบุตรให้ได้รับน้ำนมที่มีคุณค่าอย่างน้อย 90 วัน การขับเคลื่อนครั้งนี้ทำให้สังคมเกิดบรรทัดฐานอย่างเท่าเทียมกันในการลาคลอด ไม่ว่าจะเป็นแรงงานในระบบราชการ และรัฐวิสาหกิจ

กุลธิดา รุ่งเรืองเกียรติ / นักวิชาการอิสระ

การเคลื่อนไหวของคนตัวเล็กตัวน้อยในสังคมไทยเพื่อเรียกร้องสิทธิอันพึงจะได้รับในประเทศตัวเองค่ะ (คิดว่าเราต่างตัวเล็กเพราะภาคประชาชนอย่างเรามีสิทธิจำกัดจำเขี่ยเหลือเกินในประเทศนี้) ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มชาวบ้าน กลุ่มเรียกร้องเสรีภาพทางความคิดต่างๆ หรือกลุ่มนักเรียนที่เริ่มออกมาเรียกร้องให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ในระบบการศึกษา และที่คิดว่าการเคลื่อนไหวเหล่านี้สำคัญ เพราะว่าบรรยากาศอันอึมครึมทางสังคมในปัจจุบันของบ้านเรา และวัฒนธรรมอำนาจนิยมที่ยังทรงพลังอยู่นั้น ชวนให้ชินชาและด้านชากับบรรยากาศที่สิทธิของเราถูกลิดรอนลง แต่ยังดีที่มีกลุ่มคนเหล่านี้คอยส่งเสียงเตือนอยู่เสมอว่า อย่าเพิ่งชินชากับสถานการณ์เหล่านี้ค่ะ

ตอบไม่ยาวมาก เวลานางงามมีน้อย

วิรดา แซ่ลิ่ม / Multimedia Journalist

คิดว่าคือการชุมนุมของกลุ่มเสื้อเหลือง-เสื้อแดง โดยมองความสำคัญของเหตุการณ์นี้ว่ามันคือช่วงเวลาที่ยังพอมีพื้นที่ให้ประชาชนกลุ่มต่างๆ ในสังคมได้แสดงออกถึงความเชื่อ และความต้องการที่แตกต่างกัน คิดว่าตอนนั้นมันคือช่วงเวลาที่ประชาชนได้มีส่วนร่วมทางการเมือง ในการจะบอกว่าแต่ละคนคิดว่าประเทศควรจะเดินไปในทิศทางไหน ไม่ว่าแรงจูงใจหรือที่มาของความเชื่อของคุณจะคืออะไรก็ตา

จำได้ว่ายังเรียนหนังสืออยู่ ส่วนตัวยังเสียดายมาถึงทุกวันนี้ ย้อนกลับไปตอนนั้นเรายังไม่มีสายตาที่จะมองเห็นความสำคัญของปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น รู้ตัวอีกทีเราก็เดินมาถึงจุดที่พื้นที่แบบนั้นมันหายไปแล้ว หายไปพร้อมกับสิทธิในการแสดงออก จนตอนนี้ถ้าเราอยากจะขับเคลื่อนประเด็นอะไรที่เป็นความต้องการของเราในฐานะประชาชนให้ไปถึงระดับนโยบาย ไม่รู้ต้องทำยังไง ต้องทำคลิปไวรัลให้ถึง 70 ล้านวิว? แล้วถ้าวันหนึ่งเขาห้ามแท็กเพื่อนในเฟซบุ๊คเกิน 5 คนด้วยล่ะ?

แต่ถ้าได้ตอบคำถามนี้จริงๆ บนเวทีประกวดนางงาม เขาให้ตอบแบบนี้ได้ไหมอะ?

ฝ้ายคำ หาญณรงค์ / ผู้ประสานงานคณะทำงานโลกเย็นที่เป็นธรรม

มันคือขบวนการ Climate Justice ซึ่งเป็นกลุ่มขบวนการที่ค่อนข้างกว้าง ไม่ได้มีแค่กลุ่มใดกลุ่มหนึ่งที่กำลังเกิดขึ้นทั่วโลก การเคลื่อนไหวนี้ประกอบด้วยองค์ประกอบสองส่วนหลักๆ คือกลุ่มคนที่ aware เรื่อง climate change และกลุ่มคนที่ aware เรื่อง justice พอมารวมกันเราคิดว่ามันสำคัญในแง่ที่ว่า เรื่อง climate change มันเป็นภัยคุกคามต่อมนุษยชาติ ซึ่งประเด็นนี้เป็นโจทย์บังคับให้คนทั้งโลกต้องคิดใหม่ในเรื่องการใช้ชีวิต ตั้งแต่ระบบการผลิตสิ่งของจนถึงการใช้พลังงาน

การพบกันระหว่างผู้คนที่ตระหนักเรื่อง climate change และ justice ทำให้การมองปัญหานี้ไม่ติดอยู่กับเรื่องใดเรื่องหนึ่ง เช่น คนที่ตระหนักเรื่อง climate change ก็มองไปไกลว่าเทคโนโลยี เพราะผลกระทบที่เกิดขึ้น รวมทั้งการแก้ปัญหานั้นเกี่ยวข้องกับความเป็นธรรมด้วย

ตัวอย่างก็คือ กลุ่มคนที่เป็นชาวเกาะ ไม่ได้มีสิทธิมีเสียงบนเวทีโลก คนจน คนที่มีรายได้น้อย คนที่มีปัญหาเมื่ออากาศร้อนขึ้นแต่ไม่มีปัญญาติดแอร์ ชุมชนคนผิวสีข้างโรงกลั่นน้ำมันที่แคลิฟอร์เนีย ชาวนาที่บ้านอยู่ข้างเหมืองถ่านหินที่อินโดนีเซีย ชาวบ้านข้างเหมืองทองที่จังหวัดเลย ชนเผ่าอินเดียนที่ท่อ Keystone XL จะตัดผ่าน ชาวประมงข้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน หรือคนเมืองที่กังวลเรื่องปัญหาพลาสติกล้นทะเล กลุ่มคนพวกนี้เมื่อเกิดผลกระทบเรื่องโลกร้อน พวกเขาจะเจอปัญหามากที่สุด แต่คนที่ปรับตัวได้มากที่สุดคือคนมีเงิน ซึ่งเป็นกลุ่มคนที่ใช้พลังงานมากที่สุดเช่นกัน

เราเลยคิดว่า Climate Justice Movement มันเป็นการเคลื่อนไหวที่สำคัญในยุคนี้ เพราะเป็นการควบรวมคนทั้งที่ทำงานด้านสิ่งแวดล้อม ความไม่ยุติธรรม กลุ่มที่ทำงานเรื่องเพศ สังคม และกลุ่มต่างๆ อีกมากมายไว้ด้วยกัน แล้วตอนนี้ก็เริ่มมีการดึงคนรุ่นใหม่เข้ามามีส่วนร่วมด้วย ซึ่งน่าจะเป็นหนทางที่ทำให้โลกดำรงต่อไปแบบยั่งยืน ทั้งเรื่องการใช้ทรัพยากร การดำเนินชีวิต และการมีส่วนร่วมของคน โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ที่จะได้รับผลกระทบต่อไปในอนาคต

Author

กองบรรณาธิการ
ทีมงานหลากวัยหลายรุ่น แต่ร่วมโต๊ะความคิด แลกเปลี่ยนบทสนทนา แชร์ความคิด นวดให้แน่น คนให้เข้ม เขย่าให้ตกผลึก ผลิตเนื้อหาออกมาในนามกองบรรณาธิการ WAY

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า