แปลและเรียบเรียง: เทพพิทักษ์ มณีพงษ์
ชื่อของ กาเบรียล การ์เซีย มาร์เกซ เป็นที่รู้จักในนามของนักเขียนผู้บุกเบิกวรรณกรรมในแนวสัจนิยมมหัศจรรย์ (Magical Realism) จากนวนิยายเรื่อง หนึ่งร้อยปีแห่งความโดดเดี่ยว (One Hundred Years of Solitude) และตามติดมาอีกหลายต่อหลายเล่ม แต่ก่อนหน้าที่มาร์เกซจะเข้าสู่วงการวรรณกรรม ชายชาวโคลอมเบียผู้นี้เคยประกอบอาชีพเป็นนักหนังสือพิมพ์มาก่อน
ในปี 1997 มาร์เกซได้เขียนบทความแสดงทัศนะเกี่ยวกับวิวัฒนาการของวงการข่าวและวารสารศาสตร์ลงในนิตยสาร Index on Censorship ด้วยการบอกเล่าประสบการณ์และความเป็นห่วงถึงอนาคตของวิชาชีพนักข่าวนักหนังสือพิมพ์ที่มาร์เกซเขียนถึงไว้ว่า
กำลังหลงทางอยู่ในเขาวงกตแห่งเทคโนโลยีและความต้องการที่จะนำวิชาชีพไปสู่อนาคตโดยไร้การควบคุม
มาร์เกซเริ่มต้นอาชีพนักข่าวเมื่ออายุ 19 ปี จากการเป็นนักเขียนในกองบรรณาธิการของหนังสือพิมพ์ El Universal หลังจากนั้นจึงไต่เต้าขึ้นมาเรื่อยๆ จากการฝึกฝนและทำงานหนักทำให้เขาก้าวสู่ตำแหน่งสูงที่สุดของผู้สื่อข่าวฝึกหัด และเนื่องจากวงการหนังสือพิมพ์ช่วงที่มาร์เกซเริ่มเข้าทำงานใหม่ๆ ยังไม่มีการเรียนการสอนในแขนงวิชาวารสารศาสตร์เหมือนปัจจุบัน แหล่งผลิตและเรียนรู้สำหรับบุคลากรในอุตสาหกรรมข่าวจึงอยู่ในทุกๆ ที่ นับตั้งแต่ในห้องข่าวของหนังสือพิมพ์ไปจนถึงระหว่างการสังสรรค์ในค่ำคืนวันศุกร์
“เหล่านักหนังสือพิมพ์อยู่ด้วยกันตลอดเวลา เราใช้ชีวิตเหมือนๆ กัน เราหลงใหลในงานเสียจนไม่พูดเกี่ยวกับเรื่องอื่นๆ เลย” มาร์เกซเล่า
การประชุมงานในยุคนั้นไม่มีเวลาที่แน่นอน แต่ทุกๆ วันเวลา 5 โมงเย็น พนักงานทุกคนจะพักดื่มกาแฟพร้อมกันในห้องทำงานและพูดคุยให้ความเห็นเกี่ยวกับข่าวของวันนั้นและหาประเด็นข่าวที่จะนำเสนอในวันถัดไป หลังจากนั้นไม่นาน หนังสือพิมพ์แบ่งพนักงานออกเป็น 3 หน่วยย่อยๆ คือฝ่ายข่าว ฝ่ายบรรณาธิการ และฝ่ายสารคดี ในช่วงแรกดูเหมือนฝ่ายบรรณาธิการจะเป็นผู้มีอิทธิพลสูงสุดในหนังสือพิมพ์ ในขณะที่ผู้สื่อข่าวกลับเป็นเพียงส่วนเล็กๆ ที่ไม่ค่อยได้รับความสนใจ
เทคโนโลยีทำร้ายนักข่าว
หลังจากทุกคนตระหนักรู้ว่ากำลังหลักสำคัญของวงการข่าวคือผู้สื่อข่าว ในเวลาเดียวกันนั้นเองได้เกิดการเรียนการสอนในสาขาวิชาวารสารศาสตร์ พร้อมๆ กับการมาถึงของเทคโนโลยีสมัยใหม่ เขาเล่าว่าบัณฑิตจบใหม่จากสถาบันเหล่านี้จบมาด้วยความรู้ด้านไวยากรณ์และการเขียนข่าวที่น้อยมาก ทั้งยังไม่เข้าใจในวิชาชีพอย่างแท้จริง และที่สำคัญยังเข้าใจหน้าที่ของอาชีพนักข่าวเพียงแค่ว่าจะทำอย่างไรให้ได้สกู๊ปข่าวที่น่าสนใจ โดยที่ไม่สนใจความสำคัญของจริยธรรมและความถูกต้องเลยแม้แต่นิดเดียว
“ดูเหมือนว่าตัววิชาชีพจะก้าวไปไม่ทันกับอุปกรณ์ที่ใช้ในการทำงาน” มาร์เกซกล่าวพร้อมเสริมว่าการเติบโตของธุรกิจหนังสือพิมพ์ก้าวหน้าไปมากเนื่องจากการแข่งขันในยุคสมัยใหม่เน้นที่ความทันสมัยมากกว่าจะหันมาให้ความสนใจกับสิ่งที่เป็นกำลังสำคัญที่ทำให้ธุรกิจก้าวไปได้อย่างบรรดานักข่าวในหนังสือพิมพ์ของตนเอง
ธุรกิจหนังสือพิมพ์ที่เติบโตละทิ้งการมีส่วนร่วมของคนทำงานซึ่งเปรียบเสมือนสิ่งที่ทำให้จิตวิญญาณแห่งวิชาชีพแข็งแกร่ง ปัจจุบัน ห้องทำงานของหนังสือพิมพ์เป็นเพียงห้องที่รวบรวมคนแปลกหน้าให้มาอยู่ด้วยกันและนั่งทำงานเหมือนเป็นสิ่งมีชีวิตที่ถูกลดค่าความเป็นมนุษย์ลงเรื่อยๆ
“ให้นักข่าวสมัยนี้สื่อสารกับมนุษย์ต่างดาวยังง่ายกว่าให้สื่อสารกับคนอ่าน” เขาว่า
ก่อนหน้าที่โทรเลขและโทรพิมพ์จะถือกำเนิดขึ้น นักข่าวต้องทำงานด้วยการนั่งรอฟังข่าวสารจากคลื่นวิทยุที่กระจายอยู่รอบโลกและนำมาปะติดปะต่อกันให้เกิดเป็นเรื่องราวโดยค้นหาข้อมูลที่เชื่อมโยงกันเพื่อนำมาเขียนเป็นข่าว ในขณะที่ปัจจุบัน ข้อเท็จจริงและความเห็นกลับพัวพันยุ่งเหยิงจนแยกกันไม่ออก มีการใส่ความคิดเห็นเข้าไปในข่าวจนทำให้มีการใส่ร้ายป้ายสีและบิดเบือนความจริง ไม่ว่าจะโดยรู้ตัวหรือไม่ก็ตาม สิ่งเหล่านี้ทำให้อาชีพนักข่าวกลายเป็นสิ่งอันตรายไปพร้อมๆ กับข่าวในมือที่เปรียบเสมือนอาวุธร้ายแรงไปด้วย
และในบางครั้ง นักข่าวก็ไม่เคยถามตัวเองเลยว่ากำลังถูกใช้เป็นเครื่องมือในการส่งสารที่แหล่งข่าวต้องการจะบิดเบือนออกสู่สาธารณะหรือไม่ ด้วยความคิดที่ว่าเป็นเรื่องจำเป็นที่จะต้องปกปิดชื่อและที่มาของแหล่งข่าว ไม่ว่าจะเป็น ‘แหล่งข่าวกล่าวว่า…’, ‘เจ้าหน้าที่รัฐรายหนึ่งบอกว่า…’ ฯลฯ
“ผมคิดว่าในบางครั้ง นักข่าวแย่ๆ บางคนก็เอาใจใส่แหล่งข่าวมากกว่าตัวเองเสียอีก โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าเป็นแหล่งข่าวที่ดูเป็นทางการหน่อย นักข่าวก็จะพยายามทะนุถนอมและปกปิดเขาเสียจนทำให้คิดไปเองว่าไม่ต้องการการยืนยันข้อมูลจากแหล่งข่าวอื่นๆ อีกแล้ว” มาร์เกซว่า
เหตุแห่งความเสื่อม
อีกหนึ่งสิ่งที่มาร์เกซเห็นว่าเป็นเหตุแห่งความเสื่อมของวงการข่าวในปัจจุบันก็คือ เครื่องบันทึกเสียง เพราะก่อนหน้าที่มันจะถูกสร้างขึ้น อุปกรณ์ของนักข่าวประกอบไปด้วยสิ่งของเพียง 3 ชิ้นเท่านั้น นั่นคือ สมุด จรรยาบรรณ และหูทั้งสองข้างที่คอยฟังว่าแหล่งข่าวกำลังบอกอะไร
“ยังไม่มีการเขียนคู่มือสำหรับการใช้เครื่องบันทึกเสียงอย่างมีจรรยาบรรณและเป็นมืออาชีพ ผมคิดว่าน่าจะมีคนไปบอกพวกผู้สื่อข่าวรุ่นใหม่ๆ หน่อยว่าเครื่องพวกนี้ไม่ได้เป็นตัวตายตัวแทนของสมอง มันแค่ถูกสร้างขึ้นเพื่อเป็นเวอร์ชั่นใหม่ของสมุดบันทึกยุคเก่าที่ใช้งานได้มากขึ้นกว่าเดิมเท่านั้นเอง
“เครื่องบันทึกเสียงแค่ฟังและพูดซ้ำๆ เหมือนเป็นนกแก้วนกขุนทองเวอร์ชั่นอิเล็กทรอนิกส์ มันคิดไม่เป็น ไม่มีจิตใจ ไม่ว่าจะอัดด้วยคุณภาพดีเพียงไรก็ไม่มีทางเทียบได้กับข่าวที่มาจากผู้สื่อข่าวที่ตั้งใจฟังทุกคำพูดที่ออกมาจากปากของคู่สนทนา” เขาให้ความเห็น
มาร์เกซมองว่า เครื่องบันทึกเสียงเกิดจากการให้ความสำคัญแบบผิดๆ กับการสัมภาษณ์ ซึ่งหากเป็นวงการวิทยุหรือโทรทัศน์ก็อาจเป็นเรื่องที่เข้าใจได้ แต่ในตอนนี้ แม้แต่สื่อสิ่งพิมพ์ก็ยังแพร่กระจายข้อมูลผิดๆ ที่ไม่ได้เกิดจากความผิดพลาดของนักข่าว แต่เกิดจากความผิดพลาดของผู้ให้สัมภาษณ์ จนทำให้เขาคิดว่าบางทีวิธีการที่ดีที่สุดคือการให้เหล่านักข่าวกลับไปใช้สมุดจดเพื่อสร้างงานอย่างชาญฉลาดมากขึ้นจากการตั้งใจฟัง และใช้เครื่องบันทึกเสียงเป็นเพียงอุปกรณ์ที่ใช้ตามหน้าที่ของมันคือ ‘ใช้เพื่อบันทึกเสียงเท่านั้น’
ในทัศนะของมาร์เกซ ความย่ำแย่ของวงการข่าวอาจจะไม่ได้มาจากการกระทำผิดศีลธรรมและจรรยาบรรณวิชาชีพเพียงเท่านั้น แต่เขามองว่าเกิดจากการขาดพื้นฐานที่ดีในการประกอบวิชาชีพนักข่าวนักหนังสือพิมพ์ ซึ่งอาจเกิดจากการเรียนการสอนด้านวารสารศาสตร์ที่สอนถึงหลักการอันเป็นประโยชน์และการพลิกแพลงเพื่อนำมาปรับใช้ในการทำงาน ขณะเดียวกันกลับเน้นเรื่องความเป็นมืออาชีพน้อยเกินไป
การเรียนการสอนของวิชาชีพนักข่าวควรประกอบไปด้วยหลักการพื้นฐาน 3 ประการ หนึ่ง คือการสร้างความถนัดและความสามารถ สอง คือการปลูกฝังนิสัยชอบสืบสวนที่เป็นสิ่งพื้นฐานที่นักข่าวทุกคนต้องมี และ สาม คือการทำให้ผู้เรียนตระหนักว่าจริยธรรมและจรรยาบรรณเป็นสิ่งสำคัญที่สุดของอาชีพตนเอง
แม้กาเบรียล การ์เซีย มาร์เกซ จะจากโลกนี้ไปตั้งแต่วันที่ 17 เมษายนที่ผ่านมา แต่หลักการทั้ง 3 ข้อของวิชาชีพนักข่าวที่มาร์เกซเน้นย้ำยังเป็นเรื่องพึงรับฟัง เพราะมันเป็นสิ่งที่ตัวเขาเองได้ร่ำเรียนโดยตรงจากห้องเรียนวิชานักข่าว และระหว่างช่วงพักดื่มกาแฟเวลา 5 โมงเย็นของทุกวัน