บ่ายวันที่ 21 มีนาคม 2017 พรรคชินน์เฟนแห่งไอร์แลนด์เหนือประกาศว่า มาร์ติน แม็คกินเนส (Martin McGuinness) วัย 66 ปี อดีตรองมุขมนตรีลำดับที่หนึ่งของไอร์แลนด์เหนือ แคว้นหนึ่งของสหราชอาณาจักรบริเตน และอดีตผู้บัญชาการกองทัพกู้ชาติไอริช หรือ ไออาร์เอ (Irish Republican Army: IRA ) ที่เคยลงมือก่อการร้ายในไอร์แลนด์เหนือมามากต่อมากในอดีต ได้เสียชีวิตแล้ว
สาเหตุการเสียชีวิตเข้าใจว่าน่าจะมาจากโรค amyloidosis ซึ่งทำให้อวัยวะสำคัญเสื่อมลงอย่างรวดเร็ว ก่อนหน้านี้ไม่นาน แม็คกินเนสลาออกจากตำแหน่งรองมุขมนตรีอันดับแรก เมื่อ 9 มกราคมที่ผ่านมา เพื่อประท้วงนโยบายอื้อฉาวเรื่องค่าชดเชยในการใช้พลังงานความร้อนหมุนเวียน
แม็คกินเนสได้รับการยอมรับว่าเป็นบุคคลสำคัญคนหนึ่งตลอดเวลา 30-40 ปีของความขัดแย้งและความพยายามเพื่อสันติภาพในไอร์แลนด์เหนือ เขาเปลี่ยนแปลงตนเองจากอดีตรองผู้นำหน่วยติดอาวุธ IRA มาเป็นผู้ดำเนินการสร้างสันติภาพในการทำงานด้านการจัดตั้งรัฐบาลผสมแบ่งปันอำนาจ หลังจากข้อตกลง กู้ดฟรายเดย์ (Good Friday agreement) เมื่อปี 1998
ในช่วงทศวรรษ 1980 ทั้งเขาและ เจอร์รี อดัมส์ เป็นผู้ดำเนินการคนสำคัญในการรณรงค์เลือกตั้งของพรรคชินน์เฟน ซึ่งเป็นพันธมิตรทางการเมืองของ IRA ในการสนับสนุนยุทธศาสตร์ที่ผสมผสานการเลือกตั้งเข้ากับการต่อสู้ดิ้นรนเพื่อสิทธิของชาวไอริช
ปัญหาของไอร์แลนด์เหนือเกิดจากการที่บริเตนแบ่งมณฑลนี้ออกจากตอนเหนือของสาธารณรัฐไอร์แลนด์ เมื่อปี 1921 ประชากรจำนวนมากในพื้นที่เป็นชาวโปรเตสแตนท์ที่มาตั้งรกรากในอาณานิคมโดยการสนับสนุนของทางการอังกฤษ ทำให้ชาวไอริชคาทอลิกกลายเป็นชนชั้นล่างผู้เสียเปรียบ ฝ่ายแรกต้องการคงอยู่กับบริเตน แต่ฝ่ายหลังต้องการแยกตัวหรือเข้ารวมกับไอร์แลนด์หลังจากสาธารณรัฐไอร์แลนด์ได้รับเอกราชจากบริเตนเมื่อปี 1922
ภูมิหลังดังกล่าวคือที่มาของความขัดแย้งที่เรียกกันว่า ‘เดอะ ทรับเบิลส์’ (The Troubles) เกิดการสู้รบก่อการร้ายดำเนินมานานกว่า 30 ปี คร่าชีวิตทหารและพลเรือนกว่า 3,600 คน ในจำนวนนี้เป็นทหารอังกฤษประมาณ 1,000 นาย กว่าจะดำเนินมาถึงความสำเร็จของข้อตกลงกู้ดฟรายเดย์
ความสูญเสียครั้งสำคัญท่ามกลางสภาพขัดแย้งรุนแรงคืออสัญกรรมของ ลอร์ด หลุยส์ เมาท์แบตเทน พระญาติในสมเด็จพระราชินีอังกฤษ ที่ถูกลอบวางระเบิดสังหารเมื่อปี 1979 พร้อมกับหลานชายวัย 14 ปี ขณะล่องเรือในไอร์แลนด์
ระหว่างสองทศวรรษ แม็คกินเนสพยายามรักษาระยะห่างออกจากกิจกรรมของ IRA และเกิดขัดแย้งกับสมาชิกฝ่ายนิยมสาธารณรัฐจำนวนหนึ่ง เขาได้รับเลือกเป็นสมาชิกสภาสมัชชาไอร์แลนด์เหนือปี 1982 และสามารถชักนำสมาชิกของ IRA จำนวนมากเข้าร่วมในแนวทางการเมืองมากขึ้น หลังการทำข้อตกลงหยุดยิงครั้งที่สองของ IRA เมื่อปี 1997 แม็คกินเนสเป็นหัวหน้าเจรจาสันติภาพของพรรคชินน์เฟนที่นำไปสู่ข้อตกลงกู้ดฟรายเดย์ครั้งสำคัญ
นับจากนั้นอีกหนึ่งทศวรรษ การเติบโตของพรรคชินน์เฟนขยายขนาดมากขึ้น ผลักดันให้แม็คกินเนสเข้าดำรงตำแหน่งรองมุขมนตรีอันดับแรกของไอร์แลนด์เหนือเมื่อปี 2007 และทำงานร่วมกับผู้นำทางการเมืองของพรรคอื่นรวมทั้งชาวโปรเตสแตนท์ระดับนำที่เคยเป็นคู่อาฆาตขัดแย้งกันมานาน
แม็คกินเนสพยายามผลักดันแนวนโยบายของพรรคชินน์เฟนไปสู่แนวทางสันติ เพื่อผนวกรวมไอร์แลนด์เหนือเข้ากับสาธารณรัฐไอร์แลนด์ทำให้พรรคได้รับความนิยมมากขึ้น เอาชนะพรรคใหญ่กว่าได้ในหลายพื้นที่ เพิ่มที่นั่งในสภาร่วม จาก 5 ที่นั่ง เป็น 23 ที่นั่ง ตัวเขาเองเคยลงชิงตำแหน่งประธานาธิบดีของสาธารณรัฐไอร์แลนด์เมื่อปี 2011 แต่ไม่ประสบความสำเร็จ
ความตายของแม็คกินเนสรื้อฟื้นความทรงจำของบุคคลจำนวนมากที่มีต่อตัวเขาทั้งในทางชื่นชมสรรเสริญและก่นประณามสาปแช่ง โดยเฉพาะกรณีผลงานก่อการรุนแรงของ IRA ที่ทำให้คนตายไปกว่า 1,500 รายโดยตรง ก่อนที่เขาจะหันมายอมรับแนวทางการอยู่ร่วมกันอย่างสันติ
หลายคนยังจำภาพเหตุการณ์สำคัญในวันที่ 27 มิถุนายน 2012 นั่นคือการจับมือกันระหว่างพระราชินีอังกฤษ กับ แม็คกินเนส ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งเป็นรองมุขมนตรีคนที่หนึ่งของไอร์แลนด์เหนือ (การจับมือครั้งแรกไม่ได้เกิดขึ้นต่อหน้าสื่อมวลชนแต่เป็นห้องโถงสถานที่จัดงานการกุศลแห่งหนึ่งในอาคารที่นครเบลฟาสต์ ระหว่างที่พระราชินีเสด็จเยือนเมืองดังกล่าว) อย่างไรก็ดี พระราชินี กับ แม็คกินเนส ได้จับมือกันอีกครั้งต่อหน้าสื่อมวลชน ก่อนที่พระราชินีเสด็จกลับออกจากอาคาร
อดีตนายกรัฐมนตรี โทนี แบลร์ ผู้ดำรงตำแหน่งระหว่างเกิดข้อตกลงกู้ดฟรายเดย์ กล่าวถึงมรณกรรมของแม็คกินเนสว่า “บรรดาญาติมิตรผู้สูญเสียชีวิตในความขัดแย้งคงไม่มีวันลืมเรื่องราวที่เกี่ยวข้อง แต่ผู้มีส่วนในความตกลงสันติภาพแห่งไอร์แลนด์เหนือตระหนักกันดีว่า หากไม่มีความพยายาม ความกล้าหาญ การทุ่มเทของแม็คกินเนสเพื่อชักนำให้ทุกฝ่ายลืมสิ่งที่เกิดขึ้นในอดีตในครั้งนั้น เราคงไม่มีทางประสบความสำเร็จ”
ผู้นำพรรคชินน์เฟน แม็คกินเนส กับ เจอร์รี อดัมส์ มุ่งตรงเข้าชักนำ นายกรัฐมนตรีโทนี แบลร์ นับตั้งแต่แรกที่แบลร์ชนะเลือกตั้งเมื่อ พฤษภาคม 1997 และสามารถเจรจาให้ทางการอังกฤษผ่อนคลายมาตรการมากมายสำหรับไอร์แลนด์เหนือ เช่น ปล่อยนักโทษ IRA เลิกไล่ล่าผู้นำฝ่ายนิยมสาธารณรัฐ ให้สิทธิยกเว้นดำเนินคดี ฯลฯ ซึ่งเป็นก้าวแรกๆ ของแนวทางสู่สันติภาพ
อาร์ลีน ฟอสเตอร์ ผู้นำพรรค Democratic Unionist ของชาวโปรเตสแตนท์แห่งไอร์แลนด์เหนือ กล่าวแสดงความเสียใจและยกย่องว่า แม็คกินเนสเป็นพลังสำคัญที่ชักนำให้ชาวสาธารณรัฐนิยมหันเข้ามาสู่หนทางการเมืองและประชาธิปไตยแทนการต่อสู้ด้วยอาวุธ
นายกรัฐมนตรีหญิง เทเรซา เมย์ บอกว่า “ดิฉันไม่มีวันยอมให้อภัยการกระทำเช่นนั้นของเขาในอดีต แต่ดิฉันยอมรับว่าแม็คกินเนสคือบุคคลมีบทบาทสำคัญที่ชักนำขบวนการสาธารณรัฐนิยมให้หันเหออกจากการใช้ความรุนแรง ดิฉันยอมรับว่าเขาอุทิศตนแท้จริงเพื่อทำให้ไอร์แลนด์เหนือเกิดสันติภาพ”
อย่างไรก็ดี บรรดาผู้เสียหาย ญาติมิตรของผู้รับเคราะห์กรรมจากฝีมือปฏิบัติการของหน่วยรบ IRA จำนวนมากไม่ได้คิดอะไรทำนองนั้น สตีเฟน กัลท์ ซึ่งสูญเสียบิดาจากเหตุการณ์ระเบิดโดยฝีมือ IRA เมื่อปี 1987 บอกว่าเขาไม่มีวันให้อภัยแม็คกินเนส ผู้มีส่วนส่งพลพรรค IRA ปฏิบัติการก่อการร้ายเข่นฆ่าผู้บริสุทธิ์ “ผมจะจำเขาไว้ว่าเป็นผู้ก่อการร้ายอยู่ตลอดไป เขาไม่คู่ควรกับภาพจำว่าเป็นนักสร้างสันติภาพเพียงอย่างเดียว”
ไมเคิล แม็คคอนวิล (Michael McConville) บุตรชายของมารดาผู้หายสาบสูญเมื่อ 27 ปีที่แล้วรายหนึ่ง กล่าวคำเสียใจสำหรับครอบครัวแม็คกินเนส เขาบอกกับผู้สื่อข่าววิทยุ BBC “ผมจำได้ดีว่าเขามีส่วนสำคัญใหญ่หลวงในช่วงยุค The Troubles ในไอร์แลนด์เหนือครั้งนั้น และนั่นคือสิ่งที่ผมจะจดจำเขาไว้ แต่ในทางการเมืองเขาก็พยายามได้ดี”
จูลี แฮมเบิลตัน (Julie Hambleton) น้องสาวของผู้ถูกลอบวางระเบิดสังหารรายหนึ่งกล่าวว่า “ความจริงได้ตายลงเสียแล้วภายหลังการล่วงลับของแม็คกินเนส” เธอบอกว่ายังคงมีญาติของผู้รับเคราะห์กรรมจากฝีมือผู้ก่อการร้ายจำนวนมากกำลังรอคอย ‘ความจริง’ และ ‘ความยุติธรรม’ อยู่ตลอดเวลา แม้ว่าแม็คกินเนสได้ตายไปแล้วก็ตาม เธอระบุว่า “เขาไม่เคยแสดงออกอย่างแจ่มชัด เขาจงใจเลือกเสนอเพียงบางส่วนของความจริง เมื่อเขาตายไป ความจริงก็เลือนรางไปด้วย และนี่คือปัญหา”
อดีต สส. พรรคอูลสเตอร์ยูเนียนนิสต์ ลอร์ด กิลคลูนีย์ (Lord Kilclooney) บอกว่าน่าจะหาสมาชิกชินน์เฟนผู้มีคุณสมบัติแบบเดียวกับแม็คกินเนสได้ยากมาก ลอร์ดกิลคลูนีย์เคยตกเป็นเป้าหมายสังหารของ IRA มาแล้วในอดีตขณะเขาเป็นรัฐมนตรีกิจการภายในของไอร์แลนด์เหนือ ปี 1972 “ผมเฝ้ามองเส้นทางการเมืองของแม็คกินเนสอย่างใกล้ชิด เป็นเรื่องชัดเจนว่า เขามีอดีตอันสุดชั่วช้า แต่ก็กลับกลายมาเป็นนักสร้างสันติจนได้”
หัวเรี่ยวหัวแรงกระบอกเสียงของผู้รณรงค์ฝ่ายเหยื่อสังหาร อัลแลน แม็คไบรด์ (Alan McBride) ซึ่งสูญเสียภรรยาไปในการวางระเบิดที่ถนนชานกิลล์ในกรุงเบลฟาสต์โดยฝีมือ IRA บอกว่า “ถึงยังไงเราก็ยังเป็นหนี้บุญคุณแม็คกินเนสผู้ล่วงลับอยู่ดี แม้ว่าจะปรากฏหลักฐานฝีมือของเขาอยู่ทั่วทั้งช่วงยุค The Troubles แต่หลักฐานแบบเดียวกันนั้นก็ปรากฏอยู่ในขบวนการสร้างสันติภาพทั้งหมด”
ลอร์ด เทบบิต (Lord Tebbit) ขุนนางอนุรักษนิยม ประกาศประณามแม็คกินเนสว่าเป็น ‘ไอ้ขี้ขลาดตาขาว’ ผู้ไม่เคยยอมสารภาพบาป และไม่เคยรู้จักสำนึกผิดต่ออาชญากรรมที่เขาเคยลงมือกระทำ
หลังจากทิ้งอดีตอันเต็มไปด้วยบทบาทสุดโลดโผนโจนทะยาน ทั้งก่อการร้าย ก่อแนวทางสันติ เป็นทั้งที่ชื่นชมและชิงชังของผู้คนไว้เบื้องหลัง ทั้งหลายทั้งปวงแล้ว นับจากนี้ทุกสิ่งที่เกี่ยวพันกับ มาร์ติน แม็คกินเนส ก็จะเหลืออยู่เพียงในความทรงจำของบุคคลที่เกี่ยวข้อง ตราบใดที่อดีตพลพรรค IRA ไม่ว่าสมาชิกระดับธรรมดาหรือบุคคลสำคัญไม่ออกมาเปิดปากบอกเล่าเรื่องราวยุค The Troubles ที่ยังคงหลงเหลือเป็นสิ่งยอกย้อนซ่อนเงื่อน แต่ทั้งหมดน่าจะเป็นเรื่องยากมาก เนื่องจากผู้คนส่วนใหญ่นอกเหนือจากญาติมิตรของผู้รับเคราะห์ อาจจะอยากลืมเหตุการณ์ในช่วงเวลานั้นมากกว่ารื้อฟื้นจดจำ
ภายหลังข่าวการเสียชีวิตของแม็คกินเนส สำนักพระราชวังบัคกิงแฮมได้ออกประกาศว่า สมเด็จพระราชินีอลิซาเบ็ธจะส่งราชสารส่วนพระองค์ไปยัง เบอร์นี แม็คกินเนส (Bernie McGuinness) ภรรยาหม้ายของอดีตรองมุขมนตรีผู้ล่วงลับ
อ้างอิง:
https://www.theguardian.com/politics/2017/mar/21/martin-mcguinness-northern-ireland-former-deputy-first-minister-dies
The BBC
The Irish Times
http://www.irishtimes.com/news/politics/martin-mcguinness-death-queen-to-send-private-message-to-family-of-former-deputy-first-minister-1.3018556
http://www.telegraph.co.uk/news/2017/03/21/martin-mcguinness-former-ira-commander-deputy-first-minister/
http://www.independent.ie/irish-news/victims-of-ira-violence-react-to-the-death-of-martin-mcguinness-35550917.html
l