Savita’s Law: ชัยชนะของชาวไอริชกับสิทธิการทำแท้ง

สาวิตา ฮาลัปพานาวาร์

เมื่อวันศุกร์ที่ 25 พฤษภาคม ชาวไอริชไปแสดงพลังลงประชามติเพื่อให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งที่ 8 ที่ห้ามการทำแท้ง ด้วยเสียงสนับสนุนถึง 66 เปอร์เซ็นต์ นั่นหมายความว่าอย่างช้าวันอังคารที่ 28 พฤษภาคม รัฐบาลจะพิจารณาอนุมัติร่างกฎหมายที่อนุญาตให้มีการทำแท้งได้ในหลายกรณีมากขึ้น ซึ่งจะมีผลบังคับใช้อย่างช้าสิ้นปีนี้

ชาวไอริช 1,429,981 คน หรือ 66.4 เปอร์เซ็นต์ ลงมติสนับสนุนการยกเลิกข้อห้ามตามกฎหมายรัฐธรรมนูญปี 1983 ที่ไม่อนุญาตให้มีการทำแท้ง ส่วนคะแนนคัดค้านนั้นมี 33.6 เปอร์เซ็นต์ จากจำนวนผู้ออกมาใช้สิทธิอยู่ที่ 64 เปอร์เซ็นต์

“วันเสาร์ที่ 26 จะเป็นวันที่ได้รับการจดจำว่าไอร์แลนด์ได้ก้าวพ้นเงามืดสู่แสงสว่าง เป็นวันที่ประเทศนี้บรรลุนิติภาวะ” นายกรัฐมนตรีลีโอ วารัดคาร์ (Leo Varadkar) กล่าวภายหลังทราบผลการลงประชามติ

ไอร์แลนด์เป็นประเทศพัฒนาแล้วประเทศเดียวที่จำกัดการทำแท้งเกือบทุกกรณีและมีโทษสูงสุดถึงจำคุก 14 ปี นั่นเพราะอิทธิพลของความเป็นคาทอลิก ขณะที่เพื่อนบ้านในสหภาพยุโรป รวมถึงสหราชอาณาจักร ให้สิทธิการทำแท้งในหลายกรณี ทั้งเรื่องสภาวะร่างกายของแม่และลูก และความไม่พร้อมในเชิงเศรษฐกิจ

ที่ผ่านมา ไอร์แลนด์เคยลงประชามติเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ระบุให้การทำแท้งผิดกฎหมายมาแล้วถึงสามครั้ง แต่ทุกครั้งฝ่ายสนับสนุนการทำแท้งเสรีต้องจบลงด้วยความพ่ายแพ้

อย่างไรก็ตาม เมื่อหกปีที่แล้ว สาวิตา ฮาลัปพานาวาร์ (Savita Halappanavar) ทันตแพทย์หญิงเชื้อสายอินเดีย วัย 31 ปี เกิดภาวะแท้งติดเชื้อ (septic abortion) แต่ไม่ได้รับอนุญาตให้ทำแท้งโดยโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยกัลเวย์ (University Hospital Galway) บอกกับสาวิตาว่าที่นี่เป็นประเทศคาทอลิก หนึ่งวันต่อมาเธอเสียชีวิต กรณีนี้เป็นการจุดกระแสการทำแท้งเสรีในไอร์แลนด์อีกครั้ง

ใบหน้าและเรื่องราวของสาวิตาปรากฏทั่วในการรณรงค์ให้โหวต Yes และเมื่อการลงประชามติผ่าน ทุกคนหวังที่จะตั้งชื่อกฎหมายที่อนุญาตให้มีการทำแท้งได้ในไอร์แลนด์ตามชื่อของเธอ นั่นก็คือ ‘กฎหมายสาวิตา’ (Savita’s Law)

ที่ผ่านมา สตรีไอริชราว 170,000 คนต้องออกไปทำแท้งในต่างประเทศ แม้หลังการเสียชีวิตของสาวิตาจะมีการแก้ไขกฎหมายในปี 2013 แต่ก็จำกัดและถือว่าน้อยมากๆ โดยผู้หญิงสามารถทำแท้งได้อย่างถูกกฎหมายก็ต่อเมื่อแพทย์สามคนลงชื่อรับรองอย่างเป็นเอกฉันท์ ว่าหากปล่อยให้ตั้งครรภ์ต่อไป ผู้หญิงอาจมีอันตรายถึงชีวิตเท่านั้น ขณะที่ผู้หญิงที่ถูกข่มขืนจนตั้งครรภ์ ผู้หญิงที่ทารกในครรภ์พิการ และผู้หญิงที่ครรภ์เป็นพิษจนมีอันตราย แต่ไม่ถึงชีวิต ยังไม่มีสิทธิทำแท้ง

ผลของการโหวต Yes รัฐบาลไอร์แลนด์ กำลังจะเสนอกฎหมายที่อนุญาตให้ผู้หญิงจะสามารถทำแท้งได้ภายในอายุครรภ์ 12 สัปดาห์แรก, หลังจาก 12 สัปดาห์ การทำแท้งจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อการตั้งครรภ์มีความเสี่ยงต่อชีวิตของแม่ หรือมีความเสี่ยงอย่างรุนแรงต่อสุขภาพกายและสุขภาพจิตของผู้หญิง, การอนุญาตให้ทำแท้งหลังตั้งครรภ์ไม่เกิน 24 สัปดาห์ การยุติการตั้งครรภ์จะต้องได้รับอนุญาตก่อนในกรณีที่เกิดความผิดปกติของทารกในครรภ์

ทางด้าน เคที แอสคัฟ (Katie Ascough) อดีตประธานองค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยในกรุงดับลิน กำลังสำคัญของฝ่ายรณรงค์คัดค้านการทำแท้งเสรี มองว่า กฎหมายอนุญาตทำแท้งเสรีเป็นเรื่องสุดโต่ง

ไอร์แลนด์ควรมองหาทางเลือกอื่นแทนการทำแท้ง “เรายังไม่ได้สนับสนุนผู้หญิงในไอร์แลนด์” แทนที่จะทำให้การทำแท้งถูกกฎหมาย ควรจะสนับสนุนทางการเงินและสนับสนุนผู้หญิงที่กำลังตั้งครรภ์ดีกว่า

“เรื่องต่างๆ อย่าง การสนับสนุนทางการเงินในช่วงตั้งครรภ์, การดูแลทารกที่ป่วยหนักใกล้เสียชีวิต และการดูแลเด็กโดยรวมที่ดีขึ้น ในมหาวิทยาลัยส่วนใหญ่ งบประมาณสำหรับการดูแลเด็กแทบไม่ได้รับการสนับสนุนอีกแล้ว

“เรายังไม่ได้คุยกันเรื่อง บริการรับเลี้ยงดูเด็ก, การดูแลเด็ก, หญิงตั้งครรภ์ไร้บ้าน ถ้ามีความมุ่งมั่นผลักดันทางการเมือง เราก็สามารถเปลี่ยนแปลงมันได้”

นี่คือหนึ่งในความเห็นของผู้สนับสนุนการมีชีวิตซึ่งมีประสบการณ์ตรงในการโอบอุ้มน้องชายที่แท้งจากครรภ์ของมารดาด้วยอายุครรภ์เพียง 13 สัปดาห์เท่านั้น

“ฉันไม่เคยลืมความรู้สึกตอนเขาอยู่บนฝ่ามือ แล้วฉันก็มองหน้าเขา ฉันได้ถือว่าตัวเองเลือกเป็นผู้สนับสนุนการมีชีวิตอยู่แล้วในตอนนั้น ฉันตกใจที่เห็นพัฒนาการของเขา ขณะที่เขามีอายุเพียง 13 สัปดาห์ เขามีรอยย่นที่ข้อนิ้ว เขามีเล็บ เขามีครบเหมือนมนุษย์ เพียงแค่ตัวเล็กเท่านั้น สำหรับฉัน นั่นช่วยเปิดตาฉันสู่ปัญหานี้ ทำให้ฉันเข้าใจจริงๆ ว่านี่คือชีวิตมนุษย์”

จากผลการลงประชามติที่เปิดทางให้มีการทำแท้งได้ในหลายเหตุผลมากขึ้นของไอร์แลนด์ ก็เริ่มมีคำถามไปยังไอร์แลนด์เหนือว่าเมื่อไหร่ เพราะไอร์แลนด์เหนือเป็นพื้นที่เดียวในเครือจักรภพที่ยังจำกัดการทำแท้ง

อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้อาจไม่ง่ายนักสำหรับฝ่ายการเมือง เนื่องจากรัฐบาลของ เทเรซา เมย์ ยังต้องพึ่งพาเสียงของพรรคการเมืองในไอร์แลนด์เหนือที่ค่อนข้างอนุรักษนิยม การที่จะหวังให้มีการเสนอแก้ไขกฎหมายเกี่ยวกับการทำแท้งหรือเปิดทางให้คนไอร์แลนด์เหนือได้ลงประชามติ อาจจะไม่ใช่ช่วงเวลาเร็วๆ นี้ เว้นแต่กระแสสังคมจะเรียกร้องเพื่อแสดงถึงความมีวุฒิภาวะ เช่นที่ปรากฏในไอร์แลนด์

ปัจจุบัน ประเทศในทวีปแอฟริกา อเมริกาใต้ ตะวันออกกลาง เกือบทั้งหมดยังจำกัดสิทธิการทำแท้ง ส่วนประเทศในเอเชียที่ยังจำกัดสิทธิทำแท้ง ส่วนใหญ่มักเป็นเหตุผลทางศาสนา เช่น ศาสนาอิสลาม อย่างบรูไน บังคลาเทศ และอินโดนีเซีย, ศาสนาพุทธ เช่น ศรีลังกา ภูฏาน และเมียนมาร์ และศาสนาคริสต์นิกายคาทอลิก เช่น ฟิลิปปินส์

ในประเทศไทย กฎหมายอนุญาตให้ผู้หญิงทำแท้งได้ในกรณีที่การตั้งครรภ์ต่อไปจะเป็นอันตรายต่อสุขภาพผู้หญิง หรือในกรณีที่ผู้หญิงถูกทำให้ตั้งครรภ์โดยวิธีผิดกฎหมาย เช่น ถูกข่มขืน แต่กฎหมายไทยก็ยังไม่ยอมให้ผู้หญิงทำแท้งในกรณีที่ทารกในครรภ์พิการ หรือในกรณีที่ผู้หญิงไม่พร้อมด้วยวัยวุฒิ และทุนทรัพย์ที่จะมีลูก ซึ่งกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ของประเทศที่พัฒนาแล้ว อนุญาตให้มีการทำแท้งด้วยเหตุผลทางเศรษฐกิจได้

อย่างไรก็ตาม การลงประชามติเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อเปิดทางให้มีการทำแท้งเสรีในไอร์แลนด์ครั้งนี้ ไม่ใช่เป็นเพียงการเผชิญหน้ากันระหว่างสิทธิในการมีชีวิตของทารกในครรภ์กับสิทธิในร่างกายของมารดาเท่านั้น แต่สังคมคาทอลิกเข้มข้นอย่างไอร์แลนด์กำลังเผชิญวิกฤติศรัทธาทางศาสนาอย่างหนักหน่วง

ผลของการลงประชามติทำให้บิชอปโรมันคาทอลิกในไอร์แลนด์อย่างน้อยสองท่านกล่าวยอมรับว่า นี่คือบทสะท้อนถึงการที่ศาสนาไม่ได้เป็นที่ยอมรับหรือสามารถนำสังคมในไอร์แลนด์ได้อีกต่อไปแล้ว

สาเหตุหลักมาจากความอื้อฉาวของบาทหลวงไอร์แลนด์ที่ล่วงละเมิดทางเพศเด็กชาย

จากรายงานของศาสตราจารย์เดสมอน เคฮิล (Desmond Cahill) กับผู้วิจัยร่วม ปีเตอร์ วิลคินสัน (Peter Wilkinson) นักเทววิทยา พบว่า หนึ่งใน 15 ของนักบวช หรือประมาณ 7 เปอร์เซ็นต์ของศาสนจักรโรมันคาทอลิกในออสเตรเลีย ไอร์แลนด์ สหราชอาณาจักร แคนาดา และเนเธอร์แลนด์ ถูกกล่าวหาว่าล่วงละเมิดต่อเด็กและวัยรุ่นระหว่างปี 1950 ถึง 2000

แต่จากรายงานเมื่อปลายปี 2017 ของ Tusla องค์กรเพื่อพิทักษ์สิทธิเด็กและครอบครัวในไอร์แลนด์ ที่ไปตรวจสอบคดีล่วงละเมิดทางเพศเด็กพบว่า อดีตบาทหลวงไอร์แลนด์กว่า 67 รายยังคงลอยนวล และการสอบสวนวินัยทางศาสนา 57 เปอร์เซ็นต์ของผู้กระทำผิดยังคงอาศัยอยู่ในประเทศ แสดงให้เห็นถึงความหละหลวมในการตรวจสอบวินัยของกลุ่มบาทหลวง เดอ ลา เซล (De La Salle) และกลุ่มสอบสวนทางวินัย Norbertine ของชาวไอร์แลนด์ ซึ่งตามรายงานยังชี้ว่า ความผิดพลาดในการติดตามตัวอาชญากรเหล่านี้เกิดจากความล่าช้าเกินไปในการรายงานข้อกล่าวหาทางวินัยของบาทหลวง

นั่นหมายความว่า ศาสนจักรไม่เพียงย่อหย่อนต่อการจัดการกับผู้กระทำผิดแต่ยังมีโครงสร้างที่ช่วยปิดบังกลุ่มบาทหลวงเหล่านี้ด้วย นี่จึงเป็นเหตุให้คนไอร์แลนด์จำนวนหนึ่งหันหลังให้กับศาสนจักรและขอบรรลุนิติภาวะด้วยตนเอง


อ้างอิงข้อมูลจาก:
BBC Thai
The Guardian
standard.co.uk
เดลินิวส์
ไทยโพสต์
โพสต์ทูเดย์
VOICE TV
BEC-Tero
public-law.net
way magazine

Author

กรรณิการ์ กิจติเวชกุล
เป็นตัวอย่างของคนทำงานสื่อที่มีพัฒนาการสูง จากนักข่าวรายวันสู่คอลัมนิสต์ นักจัดรายการวิทยุที่รอบรู้และรอบจัดในการสังเคราะห์ข้อมูล ขณะที่อีกขาหนึ่งยังรับบทผู้ประสานงาน และทำงานวิชาการป้อนข้อมูลให้องค์กรเคลื่อนไหวทางสังคมอย่างเข้มข้น

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า