ในศาสนจักร การล่วงละเมิดทางเพศอาจเกิดขึ้นเพราะนักบวชต้องเป็น ‘โสด’

ข่าวคราวการล่วงละเมิดทางเพศโดยฝีมือนักบวชคาทอลิกในหลายหนแห่งทั่วโลกกลายเป็นประเด็นร้อนมาตลอดหลายปี นับตั้งแต่ยุคอดีตสันตะปาปาคนก่อน จวบจนถึงยุคปัจจุบัน ในสมัยโป๊ปฟรานซิส ก็ยังไม่มีทีท่าจะจางหายไป ขณะที่รายงานผลการศึกษาวิจัยฉบับใหม่เกี่ยวกับการล่วงละเมิดในแวดวงคาทอลิกแสดงว่า กฎเกณฑ์ที่ให้นักบวชถือครองสถานภาพ ‘โสด’ อาจเป็นศูนย์กลางของปัญหานี้

ข้อกล่าวหาส่วนใหญ่ของการล่วงละเมิดทางเพศโดยนักบวชคาทอลิกที่กระทำต่อบุคคลในปกครอง โดยเฉพาะเด็กและเยาวชน เกิดขึ้นในหลายประเทศทั่วโลก เป็นคดีฟ้องร้องทั้งทางแพ่งและอาญามากมาย คดีโด่งดังในสหรัฐอเมริกาหลังจากทางศาสนจักรปิดบังและเพิกเฉยมาหลายปีเกิดเป็นข่าวอื้อฉาวโดยการเปิดโปงของหนังสือพิมพ์ The Boston Globe เมื่อปี 2002 ซึ่งเป็นที่มาของภาพยนตร์ Spotlight ที่โดดเด่นและได้รับรางวัลระดับนานาชาติ

เมื่อกลางเดือนกันยายนที่ผ่านมา สันตะปาปาฟรานซิส ประมุขแห่งศาสนจักรโรมันคาทอลิก ได้กล่าวยอมรับว่า กลไกของศาสนจักรขยับตัวเคลื่อนไหวเพื่อตอบสนอง ‘วิกฤติการล่วงละเมิดทางเพศ’ ได้อย่างสุดเชื่องช้าเหลือจะกล่าว

ความย่อหย่อนนี้รวมถึงวิธีปฏิบัติในแวดวงอำนาจของนักบวชระดับปกครองถูกวิพากษ์มาโดยตลอด แต่ไม่ได้เป็นที่รับรู้ต่อสาธารณะ เป็นพระผู้ใหญ่ที่เคยตั้งหน้าตั้งตาเอาแต่โยกย้ายนักบวชผู้ล่วงละเมิดต่อเด็กๆ จากโบสถ์แห่งหนึ่งไปสู่อีกแห่งหนึ่ง ครั้งแล้วครั้งเล่า แทนที่จะรายงานการทำผิดเช่นนั้นต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจ

โป๊ปกล่าวว่า “มโนธรรมของศาสนจักรปรากฏขึ้นอย่างค่อนข้างเชื่องช้า” ตามที่รายงานโดยหนังสือพิมพ์ Washington Post

สันตะปาปาฟรานซิสระบุถ้อยคำดังกล่าวในถ้อยแถลงซึ่งไม่ได้เตรียมการมาล่วงหน้าต่อคณะกรรมการที่ท่านตั้งขึ้นมาเพื่อหาทางขจัดปัญหาดังกล่าว โดยยอมรับว่า ทางการศาสนจักรทำงานด้านสอบสวนเรื่องเหล่านี้ให้คืบหน้ามาได้อย่างสุดเอื่อยเฉื่อย รวมทั้งยังได้พร่ำบ่นอย่างหงุดหงิดกับความไม่รู้ตระหนักถึงข้อปัญหาดังกล่าวว่ามันร้ายแรงระดับไหนภายในแวดวงกำแพงวิหารเซนต์ปีเตอร์

“การล่วงละเมิดทางเพศต่อเด็กคือความป่วยไข้” โป๊ปฟรานซิสแถลง “วันนี้ใครคนหนึ่งอาจสำนึกผิดได้ และเมื่อเดินหน้าต่อ เราย่อมให้อภัยเขา แล้วอีกสองปีต่อมาเขาก็พลั้งร่วงหล่นลงอีก เราต้องตระหนักในความคิดของเราว่า นั่นคือความป่วยไข้”

ร่างคำแถลงของโป๊ปซึ่งในที่สุดไม่ได้อ่านจริงในการปราศรัยต่อคณะกรรมการ ปรากฏข้อความว่า สันตะปาปา “รู้สึกถึงบาปอันสุดหนักหน่วงในจิตวิญญาณของข้าพเจ้า” สำหรับเด็กๆ ที่ถูกล่วงละเมิดเหล่านั้น

“ขอให้ข้าพเจ้าได้กล่าวอย่างแจ่มแจ้งชัดเจนว่าการล่วงละเมิดทางเพศเป็นบาปกรรมอันน่าสะพรึง เป็นสิ่งตรงกันข้ามและขัดแย้งกับสิ่งที่ศาสดาเยซูและศาสนจักรได้สั่งสอนเรามา”

โป๊ปประกาศว่า ต่อไปนี้จะยกเลิกระบบอุทธรณ์ต่อสำนักวาติกันสำหรับกรณีที่คดีล่วงละเมิดทางเพศต่อเด็กที่ได้รับการพิสูจน์แล้ว

ข้าพเจ้าจะไม่ยอมให้นิรโทษกรรมต่อนักบวชที่ล่วงละเมิดทางเพศต่อผู้เยาว์เป็นอันขาด ขอให้เป็นที่ชัดเจน

ตามการรายงานของศูนย์ข่าวคาทอลิก (The National Catholic Reporter: NCR) โป๊ปมีประสบการณ์กับการให้อภัยเช่นนี้มาก่อนเมื่อเข้ารับตำแหน่งใหม่ๆ และ “เลือกหนทางให้โอกาสแก่ผู้สำนึกผิด” แทนการปลดนักบวชรายหนึ่งให้สึกออกไป แต่ว่าอีกสองปีถัดมา นักบวชคนนั้นก็ทำความผิดซ้ำแบบเดิมเช่นเคย ก่อความปวดร้าวในประสบการณ์ของโป๊ปอย่างยิ่ง

แหล่งข่าวจากวงในของสำนักวาติกันยืนยันว่า ถ้อยคำเหล่านี้ถ่ายทอด “ความรู้สึกขมขื่นส่วนตัวแท้จริงของสันตะปาปา เช่นเดียวกับความยากลำบากในการบำบัดเยียวยาบุคคลผู้มีปมชอบร่วมเพศกับเด็ก (pedophiles) ตามที่เคยคิดกันว่าเป็นไปได้ ซึ่งแทบเป็นความล้มเหลวโดยสิ้นเชิง”

ตามการระบุของแหล่งข่าว ความคิดเห็นของสันตะปาปาและเหตุการณ์ต่างๆ ล่าสุดกระตุ้นนำความสนใจมุ่งไปที่ความพยายามขนาดหนักของศาสนจักรเพื่อเสริมสร้างพลังต่อต้านพฤติกรรมล่วงละเมิดทางเพศ เนื่องจากกลุ่มผู้สนับสนุนจำนวนมากกำลังเรียกร้องให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างกว้างขวางภายในโครงสร้างลำดับชั้นต่างๆ ของสันตะสำนัก

เมื่อปลายเดือนกันยายน ทางการศาสนจักรคาทอลิกได้สั่งย้ายนักการทูต บาทหลวง คาร์โล อัลแบร์โต คาเพลลา (Carlo Alberto Capella) กลับไปยังสำนักวาติกัน เนื่องจากเจ้าหน้าที่สอบสวนของสหรัฐสงสัยว่าเขามีส่วนในอาชญากรรมเกี่ยวข้องกับสื่อลามกอนาจารเด็ก และกำลังดำเนินการถอดถอนเอกสิทธิ์ทางการทูตเพื่อเอาผิด

เจ้าหน้าที่วาติกันแจ้งว่าคาเพลลาจะต้องเผชิญกับการสอบสวนและดำเนินคดีภายในสำนักวาติกันเอง แต่ผู้สังเกตการณ์กล่าวหาว่าทางการศาสนจักรพยายามปกป้องคนของตนด้วยการดึงตัวบุคคลกลับจากต่างประเทศให้พ้นเขตอำนาจศาลต้นทาง

และเมื่อต้นปีนี้ คาร์ดินัล จอร์จ เพล (George Pell) หนึ่งในบรรดาเจ้าหน้าที่ผู้ทรงอำนาจสูงสุดในสำนักวาติกันถูกตำรวจออสเตรเลียตั้งข้อหาในคดี “ความผิดเกี่ยวกับการล่วงละเมิดทางเพศในประวัติเดิมหลายคดี…หลังจากผู้เสียหายหลายรายทำเรื่องร้องเรียน” แล้วเดินทางกลับไปยังประเทศบ้านเกิด “เพื่อเรียกคืนชื่อเสียงของท่าน” ตามแถลงการณ์ของอัครสังฆมณฑลแห่งซิดนีย์

คาร์ดินัล จอร์จ เพล

เท่าที่ผ่านมา นับว่า คาร์ดินัล เพล เป็นนักบวชผู้ครองตำแหน่งสูงสุดของศาสนจักรคาทอลิกที่ถูกกล่าวหาในคดีลักษณะนี้ ขณะปรากฏตัวต่อหน้าศาลเมลเบิร์นในการไต่สวนมูลฟ้องเมื่อเดือนกรกฎาคม เขากล่าวปฏิเสธ (no guilty) ทุกข้อกล่าวหาในทุกคดีที่ตำรวจรัฐวิคตอเรียอ้างถึง บอกว่าตนเอง “ไม่ได้ทำสิ่งใดผิด” ทั้งที่ยังไม่ถึงกำหนดต้องยื่นคำให้การ

ศาลเมลเบิร์นกำหนดจะเริ่มต้นพิจารณาคดีของคาร์ดินัลเพล วันที่ 5 มีนาคม 2018 ต่อเนื่องตลอดสี่สัปดาห์ โดยจะมีพยานถึง 50 ปากขึ้นให้การต่อศาล

ศาสนจักรคาทอลิกในบางประเทศรวมทั้งสหรัฐอเมริกาได้จัดให้มีระบบปกป้องเด็กและเยาวชน และหลังจากเข้ารับตำแหน่ง สันตะปาปาฟรานซิสได้แต่งตั้งคณะกรรมการปฏิรูปที่มีความแข็งขันในเรื่องการล่วงละเมิดทางเพศขึ้นทำงาน

จอห์น ธาวิส (John Thavis) ผู้เขียนหนังสือ The Vatican Diaries และเป็นนักข่าวมือเก่าของสำนักข่าวคาทอลิกกล่าวว่า หลายคนชักเริ่มสงสัยว่าวาทกรรมของสันตะปาปาจะสามารถกระตุ้นให้สำนักวาติกันดำเนินการอย่างรวดเร็วตามแนวทางที่คาดหวังนั้นได้หรือไม่

“คำถามคือ โป๊ปจะสามารถจัดให้มีรูปแบบองค์กรอันทรงอำนาจควบคุมอย่างใกล้ชิดต่อพวกบิชอปที่มักตัดสินใจทำอะไรอย่างผิดๆ ได้สำเร็จหรือไม่” เขากล่าว “นั่นดูเหมือนว่าจะเป็นจุดสำคัญสุดยอด”

ผู้สนับสนุนสันตะปาปาส่วนใหญ่บอกว่าท่านได้ลงมือทำหลายสิ่งไปแล้ว เพื่อกำหนดให้พวกบิชอปและบาทหลวงต้องออกมารับผิดชอบ

เมื่อกลางปีนี้ โป๊ปได้ออกกฤษฎีกาว่าอาจต้องมีการไล่บิชอปออกจากสังฆมณฑล หากไม่ยอมรายงานกรณีที่สงสัยว่ามีการล่วงละเมิด ปี 2014 โป๊ปเคยปลดบิชอปรายหนึ่งในปารากวัยที่ถูกกล่าวหาว่าปิดบังกรณีล่วงละเมิด และปี 2015 โป๊ปอนุมัติการลาออกของบิชอปในแคนซัสซิตี้ สหรัฐ ที่ถูกตัดสินลงโทษจำคุกหลังจากปกปิดการล่วงละเมิดของนักบวชบางรายในเขตอำนาจตน

ในออสเตรเลีย นอกเหนือจากกรณีครึกโครมเรื่องคาร์ดินัลเพลต้องข้อกล่าวหาล่วงละเมิดทางเพศแล้ว ผลการศึกษาวิจัยอันสำคัญฉบับหนึ่งของผู้เชี่ยวชาญหัวข้อการรังคัดรังแกทางเพศต่อเด็กทั่วโลกในแวดวงศาสนจักรโรมันคาทอลิก อาจส่งผลกดดันให้สันตะปาปาฟรานซิส โดยเฉพาะอย่างยิ่งทางการศาสนจักรของออสเตรเลีย ให้ลงมือหาทางขยับทำอะไรได้มากขึ้นเพื่อป้องกันเหตุการณ์ความผิดทางเพศ

รายงานการศึกษาวิจัย ‘การล่วงละเมิดทางเพศต่อเด็กในศาสนจักรคาทอลิก’ (Child Sexual Abuse in the Catholic Church) ที่เปิดเผยขึ้นเมื่อต้นเดือนกันยายนโดย ศูนย์วิจัยสากลของราชสถาบันเทคโนโลยีแห่งเมลเบิร์น (Center for Global Research at the Royal Melbourne Institute of Technology: RMIT) ระบุข้อมูลที่ค้นพบว่า การที่ศาสนจักรกำหนดให้นักบวชถือครองสถานภาพโสด หรือที่เรียกว่า ‘ศีลพรหมจรรย์’ (celibacy) เป็นปัจจัยเสี่ยงอันสำคัญสูงสุดต่อการล่วงละเมิดทางเพศ

เป็นครั้งแรกที่การศึกษาวิจัยของ RMIT รวบรวมผลสำรวจของคณะกรรมการ 26 คณะเข้าไว้ด้วยกัน ซึ่งรวมถึง การสืบสวนของตำรวจ การไต่สวนของศาล การสำรวจสอบถามโดยรัฐบาล การศึกษาของทางการศาสนจักร และการวิจัยทางวิชาการจากทั่วโลกตั้งแต่ปี 1985

ศาสตราจารย์เดสมอนด์ เคฮิล (Desmond Cahill) ผู้นำการศึกษาวิจัยเรื่องนี้ระบุ “การทำร้ายทางเพศต่อเด็ก เคยมียอดพุ่งขึ้นสูงสุด แล้วต่อมาก็ลดลง นับตั้งแต่ช่วงปลายทศวรรษ 1970 ถึงต้นยุคทศวรรษ 1980 และนั่นเป็นเพราะเรื่องนี้ถูกนำเสนอให้ปรากฏต่อเวทีสาธารณะมากยิ่งขึ้น

“แต่ว่าในประเทศกำลังพัฒนายังไม่ค่อยมีประเด็นนี้เปิดเผยต่อสาธารณะ โดยเฉพาะในเอเชียและแอฟริกา นี่อาจเป็นการยืนยันด้วยตัวปัญหาเองว่า หลังจากที่มีการขจัดปัดเป่าให้พ้นไป แล้วมันยังกลับมาเป็นประเด็นอีกในเวลา 30 ถึง 40 ปี…ว่าพื้นฐานของปัญหายังไม่ได้รับการแก้ไข

“ผมยังไม่เคยเห็นสัญญาณใดที่ระดับสำนักวาติกัน และแม้แต่ในออสเตรเลียนี้เอง ที่พวกบิชอปสามารถออกมาตอบคำถามได้ว่าเหตุใดจึงเกิดเรื่องแบบนี้ขึ้น และทำไมพวกบิชอปนั้นเอง จึงมีปฏิกิริยาสนองตอบได้แบบแย่มากๆ”

เดสมอนด์ เคฮิล ศาสตราจารย์ด้านการศึกษาวัฒนธรรมสัมพันธ์ระหว่างประเทศแห่ง RMIT ระบุว่าผลการศึกษาวิจัยชี้ให้เห็นถึงความจำเป็นเร่งด่วนเพื่อทบทวนสถานะนักบวชแห่งศตวรรษที่ 21 เขากล่าวว่า ศาสนจักรควรพิจารณาข้อกำหนดเกี่ยวกับการถือครองหลักการละเว้นทางเพศโดยสิ้นเชิงสำหรับชีวิตนักบวชเสียใหม่ได้แล้ว

“ขณะนี้ศาสนจักรคาทอลิกตกอยู่ในสภาพวิกฤติ และจำต้องมีแรงกดดันเพื่อให้ศูนย์อำนาจวาติกันดำเนินการตามขั้นตอนที่จำเป็นเพื่อการเปลี่ยนแปลง” ศาสตราจารย์เคฮิลกล่าว

หลังจากพิจารณารายงานจากออสเตรเลีย ไอร์แลนด์ สหราชอาณาจักร แคนาดาและเนเธอร์แลนด์ ศาสตราจารย์เคฮิลกับผู้วิจัยร่วม ปีเตอร์ วิลกินสัน (Peter Wilkinson) นักเทววิทยา พบว่า หนึ่งใน 15 ของนักบวช หรือประมาณร้อยละ 7 ถูกกล่าวหาว่าล่วงละเมิดต่อเด็กและวัยรุ่นระหว่างปี 1950 ถึง 2000

ทั้งสองเคยบวชเป็นพระสงฆ์แล้วสึกออกมาระหว่างทศวรรษ 1970 แต่ยังคงปฏิบัติหน้าที่ฆราวาสคาทอลิกตามปกติ ศาสตราจารย์เคฮิลเล่าว่า ขณะอยู่ในวงการสงฆ์ เขาทำงานเคียงข้างนักบวชบางคนที่มีพฤติกรรมละเมิดหนักข้อมากสุดในออสเตรเลีย แต่เขาไม่ทันรู้ถึงเรื่องเช่นนั้น จนกระทั่งอีกหลายสิบปีภายหลัง

“พื้นฐานของเราทำให้สามารถเข้าใจได้ลึกซึ้งถึงขนบการทำงานของศาสนจักรออสเตรเลีย รวมถึงสันตะสำนักแห่งกรุงโรมด้วย เป็นที่ซึ่งเราเคยเข้าเรียนระดับบัณฑิตวิทยาลัยในมหาวิทยาลัยสงฆ์”

สองนักวิจัยกล่าวว่าแม้กระทั่งทุกวันนี้ เด็กๆ “มีความเสี่ยงในสถาบันการศึกษาและสถานสวัสดิการ เพราะว่าพวกเหยื่อวัยเยาว์เป็นแหล่งที่สามารถเข้าถึงได้ง่ายจากคนครองตัวเป็นโสดโดยสภาพ แต่มีจิตบกพร่องทางเพศ และ/หรือ มีอาการโหยหาทางเพศ ซึ่งรวมถึงทั้งพระสงฆ์และภราดาทั้งหลาย”

อย่างไรก็ตาม ศาสตราจารย์เคฮิล ซึ่งเป็นที่ปรึกษาของคณะกรรมการแห่งรัฐเพื่อสอบสวนการล่วงละเมิดทางเพศต่อเด็กในสถาบัน เชื่อว่า ขณะนี้ความเสี่ยงที่เกิดกับเด็กในโรงเรียนคาทอลิกของออสเตรเลียได้ลดลง เนื่องจากมาตรการระมัดระวังโดยบิดามารดา ครู และเจ้าหน้าที่โรงเรียน

แม้ว่าศาสนจักรออสเตรเลียแก้ปัญหาไปได้บ้างสำหรับเรื่องล่วงเกินเด็กในโรงเรียน แต่กระนั้นในรายงานวิจัยก็ระบุว่ายังไม่มีการแต่งตั้งตัวแทนของเขตวัดเพื่อทำหน้าที่ปกป้องเด็กโดยเฉพาะ หรือการจัดการให้มี ‘เขตปลอดภัย’ สำหรับลูกจ้างพนักงานขององค์กรคาทอลิก เช่นที่ทำกันอยู่ในประเทศอื่น

เมื่อไม่นานมานี้ คณะกรรมการสอบสวนถึงการทำงานของศาสนจักรออสเตรเลียด้านการตอบสนองต่อกรณีล่วงละเมิดทางเพศ ได้เสนอแนะให้เกิดการเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ทั้งทางกฎหมายและนโยบาย หนึ่งในหัวข้อสำคัญเหล่านั้นคือ การกำหนดให้พระสงฆ์ผู้รับฟังการสารภาพบาป หากมีการบอกเล่าถึงการล่วงละเมิดทางเพศ จะต้องรายงานเรื่องดังกล่าวต่อเจ้าหน้าที่บ้านเมือง

ข้อเสนอดังกล่าวจุดชนวนให้เกิดการอภิปรายถกเถียงกันอย่างดุเดือด อัครสังฆราชเดนิส ฮาร์ท (Denis Hart) แห่งเมลเบิร์น กล่าวว่า เขายินดีถูกจำคุกมากกว่าต้องฝ่าฝืนกฎเกณฑ์ ‘รักษาความลับในที่แก้บาป’ (confidentiality of the confessional) แต่รายงานวิจัยฉบับนี้ก็ยังได้ยกตัวอย่างในประวัติศาสตร์จำนวนหนึ่งแสดงว่าทางการศาสนจักรเคยยอมให้มีการยกเว้นกฎเกณฑ์เก็บงำความลับมาบ้างแล้ว

วิลกินสันกล่าวว่า ศาสนจักรมีความจำเป็นอย่างยิ่งยวดที่จะต้องสำรวจตนเองเพื่อจะได้ไม่ร่วงหล่นลงสู่ความหายนะมากไปกว่านี้ “การจะเรียกคืนความไว้เนื้อเชื่อใจ จากทั้งประชาคมคาทอลิกและประชาชนในชาติ ศาสนจักรควรดำเนินการถึงขั้น ‘ปฏิรูปอย่างถอนรากถอนโคน’ ครั้งใหม่ เพื่อเปลี่ยนแปลงทั้งจิตวิญญาณและวัฒนธรรมของตนเอง”

ขณะที่เรื่องราวอื้อฉาวเกี่ยวกับการทำร้ายทางเพศถูกเปิดเผยขึ้นมาในหลายแห่งทั่วโลกทำให้ความสนใจมักเพ่งเล็งถึงการกระทำผิดของพระสงฆ์ตามเขตวัดทั่วไป (parish priests) แต่รายงานการวิจัยฉบับนี้ยังกล่าวถึง ‘โศกนาฏกรรมคู่ขนาน’ ที่เกิดขึ้นในสถาบันอยู่ประจำภายใต้การดำเนินการของคาทอลิกด้วย เช่น สถานดูแลเด็กกำพร้าและโรงเรียนประจำ ว่าเป็นจุดน่าเป็นห่วงอีกแหล่งหนึ่ง ซึ่งควรได้รับความเอาใจใส่มากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศกำลังพัฒนา

ในปัจจุบันทั่วโลกมีบ้านสงเคราะห์และโรงเรียนสำหรับเด็กกำพร้าขององค์กรคาทอลิกอยู่กว่า 9,600 แห่ง

ผลงานวิจัยแสดงว่า มีการล่วงละเมิดตามรูปแบบที่สอดคล้องกันในสถานที่ดังกล่าวเมื่อครั้งอดีตในออสเตรเลีย (ซึ่งบัดนี้ไม่มีสถานเด็กกำพร้าของศาสนจักรอีกแล้ว) รวมทั้งในประเทศอื่นๆ ด้วย ตามข้อมูลที่ได้มาจากการสอบสวนของรัฐบาลและทางการศาสนจักรเอง งานวิจัยสรุปว่า หากสภาพดังกล่าวมีแนวโน้มแพร่หลายคล้ายกันในท้องถิ่นอื่น “ความปลอดภัยของเด็กๆ ในสถาบันอยู่ประจำภายใต้การดูแลของคาทอลิก ก็ยิ่งจะน่าเป็นห่วงอย่างมาก”

“ดูเหมือนว่าทางสันตะสำนักไม่รู้ตระหนักถึงประเด็นดังกล่าว หรืออาจเลือกหนทางเมินเฉยต่อปัญหานี้ก็ได้” รายงานระบุ โดยยกตัวอย่างที่เกิดขึ้นหลายกรณีในอินเดียและอิตาลี ที่ทางการศาสนจักรดำเนินงานสถาบันอยู่ประจำประเภทสถานดูแลเด็กกำพร้าและโรงเรียนประจำจำนวนนับพันแห่ง

รายงานวิจัยกล่าวย้ำถึงกฎเกณฑ์บังคับสถานภาพถือครองชีวิตโสดหรือศีลพรหมจรรย์ของพระสงฆ์ว่าเป็น “ปัจจัยเสี่ยงที่เร่งเร้าให้เกิดการล่วงละมิดทางเพศต่อเด็ก” ทั้งนี้ รายงานชี้ชัดว่า ในศาสนจักรภาคตะวันออก (Orthodox Churches) หลายแห่ง ซึ่งอนุญาตให้พระสงฆ์แต่งงานได้ก่อนรับศีลบรรพชาเข้าเป็นนักบวช “มีสถิติการล่วงละเมิดที่ต่ำมาก หรือแทบไม่ปรากฏขึ้นเลย”

บาทหลวงโยเซฟ ปาลาชิโอส (Joseph Palacios) พระสงฆ์คาทอลิกและศาสตราจารย์สังคมวิทยาประจำมหาวิทยาลัยแห่งแคลิฟอร์เนียภาคใต้  (University of Southern California) กล่าววิจารณ์รายงานผลงานวิจัยฉบับนี้ว่า “เป็นการศึกษาค้นคว้าแบบมืออาชีพอย่างยิ่ง” ซึ่งประกอบด้วย “งานชั้นเยี่ยมที่รวบรวมเอากระแสแฝงเร้นทางประวัติศาสตร์และเชิงเทววิทยาของการทำร้ายทางเพศในศาสนจักรคาทอลิกเข้ามาไว้ด้วยกัน”

ปาลาชิโอสยกย่องว่างานวิจัยนี้ได้ศึกษาวิเคราะห์โรงเรียนและสถาบันอยู่ประจำที่ดำเนินการโดยคณะนักบวชของศาสนจักร ซึ่งเขากล่าวว่า “อาจกลายไปเป็นพื้นที่ปลอดภัย” สำหรับผู้มีแนวโน้มจะล่วงละเมิด

“เมื่อผสมผสานกับความไว้เนื้อเชื่อใจเชิงจิตวิทยาที่เด็กทั้งหลายมักมอบให้แก่ครูและผู้ดูแลเป็นปกติวิสัย สถาบันเหล่านี้กลับกลายเป็นสถานที่แฝงอันตรายสูงมาก เพราะอาจมีบุคลากรทางศาสนาจำนวนหนึ่งเป็นผู้มีปมทางเพศแบบด้อยพัฒนาและบุคลิกทางจิตใจอันต่ำทราม” เขากล่าว

ศาสตราจารย์เคฮิลกล่าวว่า เขาเริ่มต้นทำงานวิจัยฉบับนี้ในปี 2012 และขยายขอบเขตขึ้นในปี 2014 หลังจากที่ได้เข้าร่วมการประชุมเชิงปฏิบัติการนานาชาติที่ภาคเหนือของสเปน ซึ่งเป็นที่รวบรวมนักวิจัยชั้นนำหัวข้อการล่วงละเมิดทางเพศต่อเด็กในสังคมแวดล้อมแบบของคาทอลิกเข้ามาปรึกษาหารือกัน ส่วนวิลกินสันเข้าร่วมการศึกษาวิจัยในปี 2015

คีรัน แทพเซล (Kieran Tapsell) ผู้เป็นทนายความเกษียณและเคยเขียนหนังสือเกี่ยวกับเรื่องอื้อฉาวในการข่มเหงทางเพศในศาสนจักร กล่าวว่ารายงานวิจัยฉบับนี้น่าสนใจมากตรงที่มีการสังเคราะห์เนื้อหาสาระของข้อมูลระดับมหาศาล และวิเคราะห์โดยใช้ทัศนคติทั้งเชิงสังคมวิทยา จิตวิทยา และเทววิทยา เข้าไว้ในฉบับเดียวกัน

“เท่าที่ผ่านมา ยังไม่เคยมีการรวบรวมแบบนี้มาก่อน” เขากล่าว

ศาสตราจารย์เคฮิลกับผู้วิจัยร่วม วิลกินสัน แจ้งว่า รายงานผลการศึกษาวิจัยซึ่งมีฉบับเต็มที่ได้ผ่านร่างสุดท้ายแล้วหนาเกือบ 400 หน้า มีกำหนดจะเปิดเผยสู่สาธารณะในปลายปีนี้ และคาดว่าในรายงานนั้นจะมีคำแนะนำถึงมาตรการเพิ่มเติมเพื่อให้การคุ้มครองเด็กและเยาวชนด้วย

อ้างอิงข้อมูลจาก:

  • RMIT University / rmit.edu.au
  • ABC News / abc.net.au
  • The Guardian / theguardian.com
  • Washington Post / washingtonpost.com

Author

ไพรัช แสนสวัสดิ์
ทำงานหนังสือพิมพ์รายวันฉบับภาษาอังกฤษมาทั้งชีวิต มีความสนใจในระดับหมกมุ่นหลายเรื่อง อาทิ ประวัติศาสตร์ วรรณคดี การเมือง สังคม วัฒนธรรม ศิลปะ จักรยาน ฯลฯ ช่วงทศวรรษ 2520 มีงานแปลทะลักออกมาหลายเล่ม หนึ่งในนั้นคือ Bury my heart at Wounded Knee หรือ ฝังหัวใจข้าไว้ที่วูนเด็ดนี
ปัจจุบันเกษียณตัวเองออกมาทำงานแปลอย่างเต็มตัว แต่ไม่รังเกียจที่จะแปลและเขียนบทวิเคราะห์ข่าวต่างประเทศ หากเป็นประเด็นที่คิดว่ามีประโยชน์ต่อชาวโลก

Illustrator

ณขวัญ ศรีอรุโณทัย
อาร์ตไดเร็คเตอร์ผู้หนึ่ง ชอบอ่าน เขียน และเวียนกันเปิดเพลงฟัง

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า