ประชามติเคนย่า: รับร่างรัฐธรรมนูญ เพื่อออกจากยุคเผด็จการและความรุนแรง

Flag_of_Kenya.svgเรื่อง: iLaw

 

เคนย่า เป็นประเทศอยู่ในแอฟริกาตะวันออก มีประชากรประมาณ 45 ล้านคน ประชากรส่วนใหญ่ประมาณ 83 เปอร์เซ็นต์นับถือศาสนาคริสต์ มีประชากรที่นับถือศาสนาอิสลามประมาณ 11 เปอร์เซ็นต์ ในประเทศมีชนเผ่าหลากหลาย เช่น เผ่าคิคูยู (Kikuyu) 22 เปอร์เซ็นต์ เผ่าหลูยา (Luhya) 14 เปอร์เซ็นต์ เผ่าลูโอ (Luo) 13 เปอร์เซ็นต์ เผ่าคาเลนจิน (Kalenjin) 12 เปอร์เซ็นต์ เผ่าคัมบา (Kamba) 11 เปอร์เซ็นต์ ฯลฯ

ปี 1963 เคนย่าได้รับเอกสารสำคัญซึ่งเป็นมรดกตกทอดจากอังกฤษ ตั้งแต่สมัยที่เป็นอาณานิคม คือ รัฐธรรมนูญ หลังได้รับเอกราช ผู้นำหลายสมัยของเคนย่าต่างก็พยายามแก้ไขรัฐธรรมนูญมาเรื่อยๆ เพื่อหาช่องทางให้ตัวเองได้อยู่ในอำนาจให้นานที่สุด จนผลลัพธ์ที่ได้ทำให้เคนย่าเป็นประเทศปกครองแบบเผด็จการโดยรัฐธรรมนูญ

นอกจากระบบการเมืองที่เป็นเผด็จการแล้ว เคนย่ายังมีระบบการจัดสรรทรัพยากรที่ไม่เป็นธรรม เพราะผู้มีอำนาจมักจะจัดสรรทรัพยากรให้กับประชาชนจากกลุ่มชนเผ่าของตัวเองมากกว่าเผ่าอื่น ทำให้บางส่วนของประเทศเจริญกว่าส่วนอื่น ตำรวจเป็นเครื่องมือของรัฐที่ละเมิดสิทธิ์ประชาชน ชนเผ่าที่เป็นคนกลุ่มน้อยของประเทศไม่ได้รับบริการสาธารณะขึ้นพื้นฐาน เช่น โรงพยาบาล โรงเรียน น้ำสะอาด

ปี 1992 เป็นจุดเริ่มต้นของความพยายามที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญให้ประเทศกลับสู่ประชาธิปไตย เนื่องจากผู้มีอำนาจในขณะนั้นมีลักษณะเผด็จการภายใต้รัฐธรรมนูญ และไม่มีทางถูกเอาลงจากอำนาจตามช่องทางปกติในรัฐธรรมนูญได้ ประชาชนชาวเคนย่าจึงเห็นว่าการจะเปลี่ยนแปลงรัฐบาลได้ต้องอาศัยรัฐธรรมนูญใหม่เท่านั้น และกระแสเรียกร้องก็ดังขึ้นเรื่อยๆ ข้อเรียกร้องขั้นต่ำที่ยอมรับกันในขณะนั้นคือ ต้องปฏิรูปสามประเด็น หนึ่ง – ยกเลิกรัฐธรรมนูญมาตรา 2A ที่กำหนดให้เคนย่าเป็นประเทศที่ปกครองโดยพรรคเดียว สอง – ต้องปฏิรูปตำรวจ โดยให้ทั้งฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาลมีส่วนร่วมในการแต่งตั้งคณะกรรมการตำรวจแห่งชาติ สาม – ต้องปฏิรูปคณะกรรมการการเลือกตั้ง

kenya 02
ที่มาภาพ: cafeavra.org

ปี 2005 มีการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่สำเร็จขึ้นมาครั้งแรก และนำไปให้ประชาชนตัดสินโดยการลงประชามติเมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2005 ระหว่างช่วงเวลาการรณรงค์มีการจับกุมนักการเมืองฝ่ายที่ทำกิจกรรมต่อต้านร่างรัฐธรรมนูญ และมีเหตุการณ์ความรุนแรงระหว่างผู้สนับสนุนทั้งสองฝ่าย จนมีผู้เสียชีวิตอย่างน้อยเก้าคน ขณะที่กลุ่มการเมืองที่ต่อต้าน ประธานาธิบดีมไว คิบากิ (Mwai Kibaki) ที่บริหารประเทศอยู่ในขณะนั้น ก็ใช้โอกาสนี้นำเสนอว่าการไปโหวตไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ มีความหมายคล้ายการไม่รับรองประธานาธิบดีไปด้วย

การทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญครั้งแรกในปี 2005 ผล คือ ผู้มาลงคะแนนไม่รับ 58 เปอร์เซ็นต์ และรับ 41 เปอร์เซ็นต์ ทำให้ร่างรัฐธรรมนูญตกไป

เมื่อมีการเลือกตั้งครั้งใหม่ในปี 2007 โดยรัฐธรรมนูญยังไม่ได้แก้และปัญหาต่างๆ ยังไม่ได้ปฏิรูป ประธานาธิบดีคิบากิชนะการเลือกตั้งอีกครั้ง ท่ามกลางข้อกล่าวหาเรื่องการโกงการเลือกตั้ง ฝ่ายค้านออกมาชุมนุมใหญ่ตามเมืองต่างๆ และตำรวจก็ยิงผู้ชุมนุมเสียชีวิต ก่อให้เกิดความโกรธแค้นและความรุนแรงขึ้นทั่วประเทศ ประชาชนฆ่ากันด้วยเหตุผลด้านเชื้อชาติชนเผ่า โดยเฉพาะเผ่าคิคูยู ซึ่งเป็นเผ่าของประธานาธิบดีคิบากิ ถูกฆ่าตายจำนวนมาก จนกระทั่ง โคฟี อันนาน เลขาธิการสหประชาชาติขณะนั้น ต้องเข้ามาเจรจาไกล่เกลี่ย และนำไปสู่ทางออกโดยการจัดตั้งรัฐบาลผสม ที่มีคิบากิเป็นประธานาธิบดี และผู้นำฝ่ายค้านเป็นนายกรัฐมนตรี

ปี 2009 ร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่ตกไปในปี 2005 จึงถูกรื้อกลับขึ้นมาปัดฝุ่นอีกครั้งในฐานะข้อตกลงสันติภาพที่รัฐบาลผสมจะต้องจัดทำร่วมกัน คนที่เคยเห็นด้วยและไม่เห็นด้วยกับรัฐธรรมนูญ 2005 ก็มาร่วมในกระบวนการนี้ด้วยกัน และนำเอาร่างรัฐธรรมนูญเก่าขึ้นมาแก้ไขเพิ่มเติม นำไปผ่านการลงมติรับรองโดยรัฐสภา และนำไปสู่การลงประชามติโดยประชาชนในปี 2010

ร่างรัฐธรรมนูญฉบับปี 2010 นี้ มีฐานะเป็นความหวังของชาวเคนย่า ที่จะเป็นทางออกของวิกฤติความขัดแย้งทางการเมือง การปกครองภายใต้เผด็จการรัฐธรรมนูญ และพาประเทศผ่านพ้นความเจ็บปวดจากความรุนแรงที่เกิดขึ้นภายในประเทศที่ผ่านมาให้ได้

สาระสำคัญของร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่แตกต่างไปจากฉบับปี 2005 คือ เน้นการกระจายอำนาจที่มากขึ้น และปรับปรุงบทบัญญัติเกี่ยวกับสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชน

เนื่องจากสังคมเคนย่า ยังมีคนที่ไม่ได้เรียนหนังสือและอ่านหนังสือไม่ออกจำนวนมาก บัตรลงคะแนนจึงถูกออกแบบให้เป็นรูปผลไม้ โดยใช้รูปส้ม เป็นสัญลักษณ์แทนการโหวต NO และใช้รูปกล้วยเป็นสัญลักษณ์แทนการโหวต YES ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ที่ใช้เหมือนกันทั้งการลงประชามติในปี 2005 และ 2010

การรณรงค์ประชามติในปี 2010 ทั้งฝ่ายที่สนับสนุนและต่อต้านประธานาธิบดีคิบากิ ต่างร่วมกันสนับสนุนรัฐธรรมนูญร่างนี้ บรรยากาศการรณรงค์ช่วงนั้นเป็นไปอย่างคักคัก และไม่มีการปิดกั้นการรณรงค์ องค์กรภาคประชาสังคมต่างเลือกข้างและแสดงจุดยืนทั้งรับและไม่รับ พร้อมเหตุผลสนับสนุน

ภาคประชาสังคมบางส่วน จัดทำสรุปสาระสำคัญของร่างรัฐธรรมนูญ ย่อยจากสองร้อยกว่าหน้าให้เหลือประมาณ 50 หน้า แล้วแปลจากภาษาอังกฤษเป็นภาษาท้องถิ่น และอักษรเบรลล์ สำหรับคนตาบอด แจกจ่ายไปตามที่ต่างๆ มีการเดินขบวนหลายครั้งตามที่ต่างๆ มีการจัดประชุมตามศาลาประจำเมือง มีการจัดวงพูดคุยกับภาคส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง และการจัดกิจกรรมรณรงค์ในโรงเรียนและมหาวิทยาลัยเพื่อให้เด็กๆ บอกต่อไปยังครอบครัวได้

kenya 05
ที่มาภาพ: bauck.com

กิจกรรมรณรงค์เป็นไปอย่างมีสีสัน โดยฝ่ายรณรงค์ให้รับร่างใช้สัญลักษณ์สีเขียวในการรณรงค์ ขณะที่ฝ่ายรณรงค์ไม่รับร่างใช้สีแดงในการทำกิจกรรม

กลุ่มภาคประชาสังคมที่คัดค้านร่างฉบับนี้ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มผู้นำของศาสนาคริสต์ เนื่องจากในร่างรัฐธรรมนูญ กำหนดเรื่องสิทธิ์ในการมีชีวิต เอาไว้ว่า บุคคลมีสิทธิ์มีชีวิต และมีสิทธิ์ที่จะทำแท้งได้หากมีเหตุผลทางการแพทย์ ซึ่งกลุ่มผู้นำของศาสนาคริสต์มีความเชื่อว่า สิทธิ์ที่จะมีชีวิตเป็นสิทธิ์ที่ใครจะพรากไปไม่ได้ การทำแท้งเป็นสิ่งที่ต้องห้ามอย่างเด็ดขาด

อีกประเด็นหนึ่งที่กลุ่มของศาสนาคริสต์ใช้เป็นเหตุผลในการคัดค้านคือ ร่างรัฐธรรมนูญกำหนดให้มี Kadhi Courts ซึ่งเป็นศาลที่ทำหน้าที่ตัดสินคดีครอบครัวและมรดกตามหลักศาสนาอิสลามสำหรับคนที่นับถือศาสนาอิสลาม กลุ่มศาสนาคริสต์คัดค้านเพราะเชื่อว่า การให้มีศาลพิเศษเช่นนี้อยู่จะเป็นจุดเริ่มต้นของการนำกฎหมายชารีอะห์มาใช้ในเคนย่า ในขณะที่ก่อนหน้านี้ในทางปฏิบัติก็มีศาล Kadhi Courts ทำหน้าที่มาตลอดเพียงแต่ยังไม่เคยรับรองไว้ในร่างรัฐธรรมนูญ

จุดน่าสนใจอีกประการของการทำประชามติในปี 2010 คือ นักโทษที่ถูกคุมขังอยู่มีสิทธิ์ไปลงคะแนนออกเสียงในประชามติครั้งนี้ได้ ทั้งที่ในการเลือกตั้งตามปกตินักโทษก็ไม่มีสิทธิ์ลงคะแนน ทั้งนี้เพราะเชื่อในหลักการว่า วันหนึ่งข้างหน้านักโทษเหล่านี้ก็จะพ้นโทษออกมาและกลับเข้าสู่สังคม และเป็นส่วนหนึ่งของสังคมภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับนี้เหมือนกัน จึงควรให้นักโทษได้ลงคะแนนรับหรือไม่รับรัฐธรรมนูญในครั้งนี้ด้วย

ผลการลงประชามติเมื่อวันที่ 4 สิงหาคม ปี 2010 ออกมาพบว่า มีประชาชนมาใช้สิทธิ์ลงคะแนน 8,887,652 จากผู้มีสิทธิ์ลงคะแนน 12,616,627 หรือคิดเป็น 72 เปอร์เซ็นต์ของจำนวนผู้มีสิทธิ์ลงคะแนนทั้งหมด และ 68.55 เปอร์เซ็นต์ ลงคะแนนรับร่างรัฐธรรมนูญ และ 31.45 เปอร์เซ็นต์ ลงคะแนนไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ

การลงประชามติในปี 2010 ค่อนข้างได้รับการยอมรับจากประชาชนชาวเคนย่า เพราะมีการหยิบประเด็นต่างๆ ในร่างรัฐธรรมนูญ ที่กระทบผู้คนกลุ่มต่างๆ ขึ้นมาพูดคุยทำความเข้าใจกับคนในแต่ละท้องที่ แม้แต่กลุ่มคนที่เคยรณรงค์คัดค้านร่างรัฐธรรมนูญ หลังแพ้การทำประชามติแล้ว ก็หันมาร่วมกันสนใจในประเด็นต่อไปว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้จะถูกบังคับใช้ได้จริงได้อย่างไร

 


เรื่อง iLaw: ประชามติเคนย่า: รับร่างรัฐธรรมนูญ เพื่อออกจากยุคเผด็จการและความรุนแรง 
อ้างอิง:
ขอบคุณข้อมูลจาก Peter Shambi, Program officer of Muslims for Human Rights, Kenya
VOANEWS / voanews.com
afronline.org
Nation Kenya / nation.co.ke

Author

กองบรรณาธิการ
ทีมงานหลากวัยหลายรุ่น แต่ร่วมโต๊ะความคิด แลกเปลี่ยนบทสนทนา แชร์ความคิด นวดให้แน่น คนให้เข้ม เขย่าให้ตกผลึก ผลิตเนื้อหาออกมาในนามกองบรรณาธิการ WAY

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า