บัตรเสียบัตรเถลิง

Artboard 2

นัยของการลงประชามติวันที่ 7 สิงหาคม ในโค้งสุดท้ายได้เคลื่อนเข้าสู่ทางเลือกระหว่างการยอมรับและไม่ยอมรับอำนาจ คสช. อย่างเลี่ยงไม่พ้น

เหตุที่เป็นเช่นนี้ ไม่ใช่เพียงเพราะ ‘ที่มา’ ‘เนื้อหา’ และ ‘กระบวนการ’ ของร่างรัฐธรรมนูญเท่านั้น แต่หลักฐานยืนยันคือการบรรจุ ‘คำถามพ่วง’ ลงในบัตรออกเสียง ซึ่งเขียนด้วยภาษาเทคนิคกฎหมาย แต่แปลไทยเป็นไทยได้ความว่า หากกา ‘เห็นชอบ’ จะส่งผลให้ คสช. ยังมีช่องทางใช้อำนาจผ่าน สว. ซึ่งแต่งตั้งตามเครือข่ายตน เพื่อเลือกนายกรัฐมนตรีผูกพันต่อไปอย่างน้อย 8 ปี

คำถามสำหรับคนที่ยังก้ำๆ กึ่งๆ ก็คือ แล้วถ้าไม่กาในช่องคำถามพ่วง หรือกาไม่ครบทั้งสองคำถาม บัตรออกเสียงของตนจะกลายเป็น ‘บัตรเสีย’ หรือไม่

นี่คือข้อมูลเบื้องต้น เพื่อป้องกันการเล่มเกมนับบัตรเสีย

 

สองสิ่งแรกที่ควรรู้ ก่อนเดินเข้าคูหาออกเสียงประชามติก็คือ

 

หนึ่ง มีช่องให้กาออกเสียงสองคำถาม

ช่องบนถามว่า ‘เห็นชอบ’ หรือ ‘ไม่เห็นชอบ’ ร่างรัฐธรรมนูญ ให้เลือกกากบาทช่องใดช่องหนึ่ง

ช่องถัดลงมาเป็นคำถามพ่วง ถามว่า ”ท่านเห็นชอบหรือไม่ว่า เพื่อให้การปฏิรูปประเทศเกิดความต่อเนื่องตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ สมควรกำหนดไว้ในบทเฉพาะกาลว่า ในระหว่าง 5 ปีแรกนับแต่วันที่มีรัฐสภาชุดแรกตามรัฐธรรมนูญนี้ ให้ที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภาเป็นผู้พิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี”

คำถามนี้มีช่องให้เลือกกากบาท ‘เห็นชอบ’ และ ‘ไม่เห็นชอบ’ ช่องใดช่องหนึ่งเช่นกัน

สอง การออกเสียงประชามติครั้งนี้ ไม่มีช่องให้เลือกกา ‘งดออกเสียง’ หรือ ‘ไม่ประสงค์จะลงคะแนน’

ทั้งนี้ อย่าลืมว่า ก่อนหน้าที่นวัตกรรม ‘งดออกเสียง’ หรือ ‘ไม่ประสงค์จะลงคะแนน’ (vote no) จะเริ่มปรากฏในบัตรออกเสียงเลือกตั้งนั้น บัตรที่ไม่มีการกากบาทจะถือเป็น ‘บัตรเสีย’ ความหมายคือ ไม่ถูกนับเป็นเครื่องมือสะท้อนเจตจำนงของคนในสังคม

สรุปง่ายๆ เพื่อความเข้าใจให้ตรงกันคือ ในการลงประชามติ 7 สิงหาคมนี้ หากกาช่อง ‘เห็นชอบ’ คือ vote yes แต่ถ้าต้องการ vote no ต้องกาช่อง ‘ไม่เห็นชอบ’ เท่านั้น

คำถามต่อมาก็คือ การไม่กาให้ครบทั้งสองช่อง คือกาเฉพาะคำถามใดคำถามหนึ่ง เช่น กาเฉพาะคำถามแรก เห็นชอบ/ไม่เห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญ แต่ไม่ได้กาเลือกเห็นชอบ/ไม่เห็นชอบคำถามพ่วง หรือในทางตรงกันข้าม กาเห็นชอบ/ไม่เห็นชอบ เฉพาะคำถามพ่วง แต่ไม่ได้กาเห็นชอบ/ไม่เห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญ กรณีเช่นนี้ถือเป็น ‘บัตรเสีย’ หรือไม่

คำตอบเบื้องต้น ให้ดูที่ พระราชบัญญัติว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.. 2559

มาตรา 45 ลักษณะบัตรออกเสียงดังต่อไปนี้ให้ถือเป็นบัตรเสีย

(1) บัตรปลอม

(2) บัตรที่มิใช่บัตรซึ่งกรรมการประจําหน่วยออกเสียงมอบให้

(3) บัตรที่มิได้ทําเครื่องหมายลงคะแนนออกเสียง

(4) บัตรที่มีการเขียนข้อความหรือถ้อยคําอื่นลงไป

(5) บัตรที่ทําเครื่องหมายอื่นนอกจากเครื่องหมายกากบาท

(6) บัตรที่ทําเครื่องหมายลงคะแนนออกเสียงนอกช่อง “ทําเครื่องหมาย”

(7) บัตรที่ทําเครื่องหมายเป็นที่สังเกต เว้นแต่เป็นการกระทําตามอํานาจหน้าที่

(8) บัตรที่ทําเครื่องหมายลงคะแนนออกเสียงในช่อง “ทําเครื่องหมาย” เกินกว่าหนึ่งเครื่องหมาย

(9) บัตรที่มีลักษณะตามที่คณะกรรมการการเลือกตั้งประกาศกําหนดว่าเป็นบัตรเสีย

บัตรเสียตามวรรคหนึ่งมิให้นับเป็นคะแนนออกเสียง

มาตรา 46 กรณีที่มีการออกเสียงมากกว่าหนึ่งประเด็นในบัตรออกเสียงเดียวกัน ให้บัตรออกเสียงที่มีลักษณะดังต่อไปนี้เป็นบัตรเสียทั้งฉบับและมิให้นับเป็นคะแนนออกเสียง

(1) บัตรออกเสียงที่มีลักษณะตามมาตรา 45 (1) (2) (4) หรือ (7)

(2) บัตรออกเสียงที่มีลักษณะตามมาตรา 45 (3) (5) (6) (8) หรือ (9) ในทุกประเด็น

ในกรณีที่มิใช่บัตรเสียทั้งฉบับตามวรรคหนึ่งให้วินิจฉัยบัตรออกเสียงเป็นรายประเด็น ทั้งนี้ลักษณะประเด็นเสียให้เป็นไปตามระเบียบที่คณะกรรมการการเลือกตั้งกําหนด

ที่มา: http://www.ect.go.th/th/wp-content/uploads/2016/04/referendum_act.pdf

 

คำว่า “ทั้งนี้ลักษณะประเด็นเสียให้เป็นไปตามระเบียบที่คณะกรรมการการเลือกตั้งกําหนด” เพื่อให้ชัดเจนขึ้น จึงควรศึกษา ระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้งว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการออกเสียงประชามติ พ.. 2559 ซึ่งระเบียบข้อกำหนดเกี่ยวกับบัตรเสีย ยึดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.. 2559 ดังนี้

ข้อ 89 บัตรออกเสียงที่มีลักษณะดังต่อไปนี้ ให้ถือว่าเป็นบัตรเสียและไม่ให้นับเป็นคะแนน

(1) บัตรปลอม

(2) บัตรที่มิใช่บัตรซึ่งกรรมการประจําหน่วยออกเสียงมอบให้

(3) บัตรที่มิได้ทําเครื่องหมายลงคะแนนออกเสียง

(4) บัตรที่มีการเขียนข้อความหรือถ้อยคําอื่นลงไป

(5) บัตรที่ทําเครื่องหมายอื่นนอกจากเครื่องหมายกากบาท

(6) บัตรที่ทําเครื่องหมายลงคะแนนออกเสียงนอกช่อง “ทําเครื่องหมาย”

(7) บัตรที่ทําเครื่องหมายเป็นที่สังเกต เว้นแต่เป็นการกระทําตามอํานาจหน้าที่

(8) บัตรที่ทําเครื่องหมายลงคะแนนออกเสียงในช่อง “ทําเครื่องหมาย” เกินกว่าหนึ่งเครื่องหมาย

(9) บัตรที่ไม่อาจทราบได้ว่าลงคะแนนไปในทางใด

ข้อ 90 กรณีที่มีการออกเสียงมากกว่าหนึ่งประเด็นในบัตรออกเสียงใบเดียวกัน ให้บัตรออกเสียงที่มีลักษณะดังต่อไปนี้เป็นบัตรเสียทั้งฉบับ และไม่ให้นับเป็นคะแนน

(1) บัตรออกเสียงที่มีลักษณะตามข้อ 89 (1) (2) (4) หรือ (7)

(2) บัตรออกเสียงที่มีลักษณะตามข้อ 89 (3) (5) (6) (8) หรือ (9) ในทุกประเด็น

ในกรณีที่มิใช่บัตรเสียทั้งฉบับตามวรรคหนึ่ง ให้วินิจฉัยบัตรออกเสียงเป็นรายประเด็น ประเด็นใดที่มีลักษณะดังต่อไปนี้ให้ถือว่าประเด็นนั้นเสีย

(1) ประเด็นที่มิได้ทําเครื่องหมายลงคะแนนออกเสียง

(2) ประเด็นที่ทําเครื่องหมายอื่นนอกจากเครื่องหมายกากบาท

(3) ประเด็นที่ทําเครื่องหมายลงคะแนนออกเสียงนอกช่อง “ทําเครื่องหมาย”

(4) ประเด็นที่ทําเครื่องหมายลงคะแนนออกเสียงในช่อง “ทําเครื่องหมาย” เกินกว่าหนึ่งเครื่องหมาย

(5) ประเด็นที่ไม่อาจทราบได้ว่าลงคะแนนไปในทางใด

ข้อ 91 กรณีที่มีการออกเสียงเพียงประเด็นเดียวในบัตรออกเสียง เมื่อคณะกรรมการประจําหน่วยออกเสียงได้ดําเนินการตามข้อ 87 และข้อ 88 เสร็จเรียบร้อยแล้วให้ดําเนินการนับคะแนนออกเสียง โดยกรรมการประจําหน่วยออกเสียงคนที่หนึ่งหยิบบัตรออกเสียงทีละฉบับและคลี่บัตรส่งให้กรรมการประจําหน่วยออกเสียงคนที่สอง เพื่อดําเนินการวินิจฉัยบัตรออกเสียงและอ่าน ดังนี้

(1) ถ้าเป็นบัตรดีให้อ่านว่า “ดี” และขานการแสดงความคิดเห็นว่า “เห็นชอบ” หรือ “ไม่เห็นชอบ” พร้อมทั้งชูบัตรออกเสียงโดยเปิดเผยให้ผู้ที่อยู่ในบริเวณที่ออกเสียงได้เห็นด้วย

(2) ถ้าเป็นบัตรเสียให้อ่านว่า “เสีย” พร้อมทั้งชูบัตรออกเสียงโดยเปิดเผยให้ผู้ที่อยู่ในบริเวณที่ออกเสียงได้เห็นด้วย และให้กรรมการประจําหน่วยออกเสียงไม่น้อยกว่าสองคนสลักหลังบัตรว่า “เสีย” พร้อมทั้งระบุเหตุผลว่าเป็นบัตรเสียเพราะเหตุใด แล้วส่งให้กรรมการประจําหน่วยออกเสียงคนที่สาม

ข้อ 92 กรณีที่มีการออกเสียงมากกว่าหนึ่งประเด็นในบัตรออกเสียงเดียวกันให้ดําเนินการวินิจฉัยบัตรออกเสียงและอ่าน ดังต่อไปนี้

(1) ถ้าเป็นบัตรเสียทั้งฉบับ ตามข้อ 90 วรรคหนึ่ง ให้อ่านว่า “เสียทั้งฉบับ” พร้อมทั้งชูบัตรออกเสียงโดยเปิดเผยให้ผู้ที่อยู่ในบริเวณที่ออกเสียงได้เห็นด้วย และให้กรรมการประจําหน่วยออกเสียงไม่น้อยกว่าสองคน สลักหลังบัตรว่า “เสียทั้งฉบับ” พร้อมทั้งระบุเหตุผลว่าเป็นบัตรเสียเพราะเหตุใด แล้วส่งให้กรรมการประจําหน่วยออกเสียงคนที่สาม

(2) กรณีอื่นนอกจากข้อ (1) ให้อ่านว่า “ดี” หรือ “ดีบางส่วน” แล้ววินิจฉัยทีละประเด็น และให้อ่านผลการแสดงความคิดเห็นว่า “ประเด็นที่……… “เห็นชอบ” หรือ “ไม่เห็นชอบ” หรือ “เสีย”” ตามข้อ 90 วรรคสอง พร้อมทั้งชูบัตรออกเสียงโดยเปิดเผยให้ผู้ที่อยู่ในบริเวณที่ออกเสียงได้เห็นด้วย แล้วส่งให้กรรมการประจําหน่วยออกเสียงคนที่สาม

ข้อ 93 เมื่อกรรมการประจําหน่วยออกเสียงคนที่สามรับบัตรออกเสียงจากกรรมการประจําหน่วยออกเสียงคนที่สองแล้วให้เจาะมุมบัตรออกเสียงที่วินิจฉัยและอ่านคะแนน และพับบัตรออกเสียงแยกเก็บใส่ในภาชนะที่เตรียมไว้ ดังนี้

(1) กรณีที่มีการออกเสียงเพียงประเด็นเดียวในบัตรออกเสียงให้แยกภาชนะใส่บัตรเสียหนึ่งใบและใส่บัตรดีหนึ่งใบ

(2) กรณีที่มีการออกเสียงมากกว่าหนึ่งประเด็นในบัตรออกเสียงเดียวกัน ให้แยกภาชนะใส่ดังนี้

    () บัตรเสียทั้งฉบับ ให้ใส่ลงในภาชนะบัตรเสีย

    () บัตรนอกจาก () ให้ใส่ลงในภาชนะบัตรดี

Artboard 1

ข้อ 94 ให้กรรมการประจําหน่วยออกเสียงคนที่สี่ขีดคะแนนในแบบขีดคะแนน เมื่อกรรมการประจําหน่วยออกเสียงคนที่สอง ได้วินิจฉัยบัตรออกเสียงและอ่านตามข้อ 91 หรือข้อ 92 โดยให้ดําเนินการ ดังนี้

(1) กรณีที่มีการออกเสียงเพียงประเด็นเดียวในบัตรออกเสียงและไม่เป็นบัตรเสียตามข้อ 89 เมื่อกรรมการประจําหน่วยออกเสียงคนที่สองอ่านว่า “ดี “เห็นชอบ” หรือ “ไม่เห็นชอบ” ให้กรรมการประจําหน่วยออกเสียงคนที่สี่ ขานทวนแล้วจึงขีดคะแนนลงในแบบขีดคะแนน โดยให้บุคคลทั่วไปที่อยู่ในบริเวณที่ออกเสียงเห็นการขีดคะแนนได้อย่างชัดเจน

(2) กรณีที่มีการออกเสียงมากกว่าหนึ่งประเด็นในบัตรออกเสียงใบเดียวกันและไม่เป็นบัตรเสียทั้งฉบับตามข้อ 90 วรรคหนึ่ง เมื่อกรรมการประจําหน่วยออกเสียงคนที่สองอ่านว่า “ดี” หรือ “ดีบางส่วน” และอ่านบัตรออกเสียงทีละประเด็นว่า “ประเด็นที่…… “เห็นชอบ” หรือ “ไม่เห็นชอบ” หรือ “เสีย” ให้กรรมการประจําหน่วยออกเสียงคนที่สี่ขานทวนแล้วจึงขีดคะแนนลงในแบบขีดคะแนนจนครบทุกประเด็นที่ออกเสียง โดยให้บุคคลที่อยู่ในบริเวณที่ออกเสียงเห็นการขีดคะแนนได้อย่างชัดเจน

(3) กรณีที่เป็นบัตรเสียตามข้อ 89 หรือเป็นบัตรเสียทั้งฉบับตามข้อ 90 วรรคหนึ่ง เมื่อกรรมการประจําหน่วยออกเสียงคนที่สองอ่านว่า “เสีย” หรือ “เสียทั้งฉบับ” แล้วแต่กรณีให้กรรมการประจําหน่วยออกเสียง คนที่สี่ขานทวนแล้วจึงขีดคะแนนลงในแบบขีดคะแนน โดยให้บุคคลที่อยู่ในบริเวณที่ออกเสียงเห็นการขีดคะแนนได้อย่างชัดเจน

ที่มา: http://www.ect.go.th/th/wp-content/uploads/2016/04/หลักเกณฑ์และวิธีการออกเสียงประชามติ.pdf

 

โดยสรุปก็คือ ในกรณีที่เราเดินเข้าคูหาประชามติและปฏิบัติตามระเบียบข้อกฎหมายทุกประการ อาทิ ไม่ขีดเขียนด่าทอ ไม่ทำสัญลักษณ์ใดๆ ลงในบัตรออกเสียง ฯลฯ บัตรออกเสียงของเราจะถูกนับเป็น ‘บัตรเสีย’ ต่อเมื่อส่งกระดาษเปล่า คือไม่กาทั้งสองช่องเท่านั้น การไม่กาช่องใดช่องหนึ่ง จะถูกนับเป็น ‘บัตรดีบางส่วน’ ไม่ถือเป็นบัตรเสีย

 

ทั้งหมดนี้ เพื่อเป็นการทบทวนกติกากันเอาไว้ ก่อนที่จะมีใครเล่นเกมนับบัตรเสีย จนกลายเป็นเกมบัดสีบัดเถลิงดังเช่นที่ผ่านมา

และเนื่องจากประชามติครั้งนี้ ไม่ใช่การเลือกตั้ง จึงไม่มีช่องให้กา ‘งดออกเสียง’ หรือ ‘ไม่ประสงค์จะลงคะแนน’ อันเป็นการ vote no ตามความหมายเดิม

ดังนั้น สำหรับการเข้าคูหาวันที่ 7 สิงหาคม 2559

หากกากบาทช่อง ‘เห็นชอบ’ ความหมายคือ vote yes

แต่หากกากบาทที่ช่อง ‘ไม่เห็นชอบ’ ความหมายคือ vote no

 

Author

กองบรรณาธิการ
ทีมงานหลากวัยหลายรุ่น แต่ร่วมโต๊ะความคิด แลกเปลี่ยนบทสนทนา แชร์ความคิด นวดให้แน่น คนให้เข้ม เขย่าให้ตกผลึก ผลิตเนื้อหาออกมาในนามกองบรรณาธิการ WAY

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า