แก๊สน้ำตาคละคลุ้ง มวลชนปะทะเดือด รัฐสภาถกแก้รัฐธรรมนูญวุ่น

#ม็อบ17พฤศจิกา

17 พฤศจิกายน 2563 วันแรกของการประชุมร่วมกันระหว่างสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา ครั้งที่ 1 สมัยสามัญประจำปีครั้งที่ 2 มีวาระเร่งด่วนที่สำคัญคือ การพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ 7 ฉบับ หนึ่งในนั้นคือร่างที่เสนอโดยประชาชนเกือบ 1 แสนรายชื่อ ซึ่งน่าจับตาว่าจะถูกที่ประชุมร่วมรัฐสภาตีตกหรือไม่ 

ช่วงสายของวันเดียวกัน ผู้ชุมนุมกลุ่ม ‘ไทยภักดี’ นำโดย นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม พร้อมด้วยมวลชนสวมเสื้อสีเหลือง ได้เดินทางไปยังรัฐสภาเพื่อแสดงจุดยืนคัดค้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 แต่เจ้าหน้าที่ไม่อนุญาตให้เข้าไปในพื้นที่โดยรอบรัฐสภาในระยะ 50 เมตร เนื่องจากเป็นเขตควบคุม จากนั้นผู้ชุมนุมกลุ่มไทยภักดีจึงเดินทางไปที่สำนักงานอัยการสูงสุด เพื่อยื่นคำร้องให้ส่งศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาระงับยับยั้งการแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยเชื่อว่าร่างรัฐธรรมฉบับประชาชนอาจจะนำไปสู่การล้มล้างสถาบันกษัตริย์ 

การชุมนุมของกลุ่มไทยภักดีเป็นไปอย่างเรียบร้อย โดยได้รับการอำนวยความสะดวกจากเจ้าหน้าที่รัฐ ไม่มีการฉีดน้ำหรือใช้กำลังเข้าปราบปรามแต่อย่างใด 

ม็อบทางบก

อีกด้านหนึ่ง ผู้ชุมนุมกลุ่มราษฎร 2563 นัดรวมตัวกันที่หน้ารัฐสภา เวลา 15.00 น. ทั้งทางบกและทางเรือ เพื่อเรียกร้องให้ที่ประชุมรัฐสภารับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน ทว่าก่อนถึงเวลานัดหมาย ปรากฏว่าเกิดเหตุชุลมุนระหว่างผู้ชุมนุมและเจ้าหน้าที่ 

14.10 น. ที่ถนนสามเสน บริเวณแยกบางกระบือ ก่อนถึงทางเข้ารัฐสภา เจ้าหน้าที่ตำรวจใช้รถฉีดน้ำแรงดันสูงเพื่อสกัดผู้ชุมนุมไม่ให้เข้ารื้อรั้วลวดหนาม ขณะเดียวกันมีการขว้างพลุควันสีจากฝั่งผู้ชุมนุมไปยังฝั่งแนวรั้วและแผงปูนแบริเออร์ของเจ้าหน้าที่ตำรวจ จากนั้นเจ้าหน้าที่ประกาศผ่านเครื่องขยายเสียงเพื่อขอเจรจากับการ์ดผู้ชุมุนมกลุ่ม We Volunteer โดยตำรวจให้รถฉีดน้ำถอยหลังไป 30 เมตร และขอให้ฝั่งผู้ชุมนุมถอยร่นออกไปเพื่อเว้นระยะห่างและหลีกเลี่ยงการเผชิญหน้า

15.00 น. ผู้ชุมนุมกลุ่มราษฎรอีกส่วนหนึ่งได้เดินขบวนแห่เรือเป็ดยางมาสมทบที่หน้ารัฐสภา แต่เมื่อเดินทางมาถึงบริเวณแยกเกียกกายได้ถูกเจ้าหน้าที่ฉีดน้ำสกัดกั้น โดยมีทั้งน้ำผสมสีและน้ำผสมสารเคมี ทำให้ทีมการ์ดและผู้ชุมนุมแถวหน้าได้รับบาดเจ็บ นอกจากนี้เจ้าหน้าที่ตำรวจยังประกาศเตือนด้วยว่าหากผู้ชุมนุมยังไม่หยุดการเคลื่อนไหว เจ้าหน้าที่จะใช้กระสุนยางปราบปรามผู้ชุมนุม 

เหตุการณ์ที่แยกเกียกกายยืดเยื้อต่อเนื่อง โดยเจ้าหน้าที่ยังคงระดมฉีดน้ำผสมสารเคมีเข้าใส่ผู้ชุมนุมเป็นระยะๆ หลายคนเกิดอาการแสบตา ระคายเคืองผิวหนัง ขณะที่ฝ่ายผู้ชุมนุมได้พยายามเคลื่อนย้ายสิ่งกีดขวาง ทั้งแนวรั้วและรถตู้ของเจ้าหน้าที่ตำรวจ เพื่อเปิดทางเข้าสู่บริเวณด้านหน้ารัฐสภา

16.30 น. เพนกวิน-พริษฐ์ ชิวารักษ์ ขึ้นปราศรัยบนรถขยายเสียงที่แยกเกียกกาย ให้กำลังใจแก่ผู้ชุมนุม จนกระทั่งเวลา 17.10 น. ผู้ชุมนุมสามารถบุกฝ่าแนวกั้นเข้าไปได้ ทำให้เจ้าหน้าที่และรถฉีดน้ำต้องถอยร่นออกไป 

จากนั้นผู้ชุมนุมกลุ่มราษฎร 2563 ได้เผชิญหน้ากับกลุ่มคนเสื้อเหลือง หรือกลุ่มไทยภักดี ที่ปักหลักอยู่ด้านหลังแนวของเจ้าหน้าที่ตำรวจ จนเกิดการปะทะและขว้างปาสิ่งของ ขวดน้ำ ขวดแก้ว ก้อนหิน เข้าใส่กันทั้งสองฝ่าย จนมีผู้ได้รับบาดเจ็บ ทางด้านเพนกวิน-พริษฐ์ และแกนนำคนอื่นๆ ประกาศผ่านเครื่องขยายเสียงขอให้มวลชนสองฝ่ายยุติการใช้ความรุนแรง 

สถานการณ์ยังไม่นิ่ง จนกระทั่งเวลา 19.30 น. ผู้ชุมนุมสามารถเคลื่อนขบวนเข้าประชิดรัฐสภาเป็นที่เรียบร้อย พร้อมประกาศจะปักหลักชุมนุมข้ามคืนเพื่อติดตามการประชุมรัฐสภาอย่างใกล้ชิด 

ม็อบทางน้ำ

15.45 น. ระหว่างการประชุมพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญยังไม่เสร็จสิ้น ปรากฏว่ามีกลุ่ม สว. สส.พลังประชารัฐ และเจ้าหน้าที่ข้าราชการประจำรัฐสภาจำนวนหนึ่ง ต่างพากันทยอยออกมายังท่าเรือเกียกกาย เพื่อขึ้นเรือด่วนหลบหนีออกจากพื้นที่ เนื่องจากเกรงว่าจะไม่ได้รับความปลอดภัยจากเหตุการณ์ปราบปรามผู้ชุมนุม

16.50 น. เครือข่ายคนรุ่นใหม่นนทบุรี นำโดย ไบรท์-ชินวัตร จันทร์กระจ่าง เดินทางมาพร้อมมวลชนโดยเรือด่วนเจ้าพระยามาถึงท่าเรือเกียกกาย และประจัญหน้ากับเจ้าหน้าที่ที่นำกำลังมาปิดกั้นทางเข้าด้านหลังรัฐสภา ขณะที่ข้าราชการประจำรัฐสภายังคงทยอยเดินทางกลับบ้านอย่างต่อเนื่อง 

17.50 น. ผู้ชุมนุมที่ท่าเรือเกียกกายยังไม่สามารถฝ่าแนวกั้นของตำรวจเข้าไปได้ ทำให้ไบรท์-ชินวัตร กระโดดน้ำเจ้าพระยา ว่ายไปยังกำแพงด้านหลังอาคารรัฐสภา พร้อมชูป้ายข้อความ “หยุดคุกคามประชาชน” เพื่อแสดงสัญลักษณ์ส่งไปถึงนายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา โดยมีเรือของตำรวจน้ำตามประกบ

เสียงของผู้คน

1

“ผมทำงานออกแบบและผลิตเสื้อผ้าส่งขายต่างประเทศ ตั้งแต่ ปี 49 จนถึงตอนนี้ ต่างชาติเขาไม่ยอมรับรัฐเผด็จการ เขาไม่สั่งออเดอร์จากผมจนถึงตอนนี้ บริษัทผมเจ๊ง ล้มหายตายจาก การที่เราไม่มีประชาธิปไตย มันกระทบระหว่างประเทศ ประเทศภาคีของเราเขามีกฎของการทำการค้า ประยุทธ์ไม่ได้สนใจ เราโดนคว่ำบาตร ธุรกิจเล็กๆ ล้มหายตายจาก อาทิตย์ที่ผ่านมา 5 ประเทศใหญ่ส่งทูตเข้ามาเตือนประเทศไทยแล้ว เขาย้ายฐานการผลิตไปประเทศเพื่อนบ้านหมดแล้ว

“เราจะสันโดษกันแบบนี้เหรอ ไม่ได้ เราต้องมีเพื่อน ต้องมีมิตรจากนานาประเทศ แต่ประยุทธ์ไม่มีเพื่อนเลย และไม่มีนโยบายอะไรที่บ่งบอกว่า ประเทศมีอนาคต

“วันนี้ผมมากดดันรัฐสภารับร่างรัฐนูญของ iLaw หนึ่งในนั้นมีชื่อของผม”

2

“ผมขายแผงโซลาเซลล์ส่งออก ธุรกิจผมเดินไม่ได้เลย ตอนนี้แม้แต่จะขายแตงโมงยังลำบากเลยครับ แตงโมผมเน่าทิ้งหมด เงินเราไม่ใช่เงินเย็น เราต้องกู้ เราต้องลงทุน เราเป็นหนี้ มันรวยกระจุกจนกระจายอย่างที่เขาว่าจริงๆ

“มีใครบ้างที่สบายใจกับระบบที่ไม่เอื้อคนจนเลย แจก 5,000 บาท หรือจ่ายครึ่งๆ ผมว่าเขาคิดน้อย มันไม่ช่วยในระยะยาว

“ปี 19 ผมก็มาม็อบ อยู่ลานโพธิ์ ปี 53 ก็มา ปีนี้ก็มา ผมว่าม็อบนี้เป็นคนกรุงเทพฯ ซะส่วนใหญ่ วันที่ 19 กันยา สนามหลวง ตกดึกหายกันไปหมด เหลือแค่หย่อมคนต่างจังหวัด แต่พอหกโมงเช้า เด็กๆ ก็มากันแล้ว เราก็ถาม ทำไมรีบมา เด็กบอกว่า ‘หนูนอนไม่หลับ’ แป๊บเดียวเท่านั้น เด็กๆ กรุงเทพฯ มากันเต็มไปหมด 

“คนกรุงเทพฯ เขาตื่นแล้ว ตื่นแบบไม่ธรรมดา ผมว่าเขาหลับไม่ได้แล้ว”

– ลุงต๋อย 63 ปี / ชลบุรี

3

“มันไม่ควรจะเกิดขึ้น ไม่คิดไม่ฝัน ประชาชนมาด้วยเหตุผลที่ชัดเจน เพื่อรอและกดดันอย่างสันติ มาเรียกร้องร่างรัฐธรรมนูญวาระแรก 7 ฉบับ โดยเฉพาะร่างของ iLaw แก้ทุกมาตรา ที่พวกเราลงชื่อไปกว่าแสน ตรวจสอบได้ 

“ทำไมเมื่อเช้ากลุ่มเสื้อเหลืองถึงเข้าไปได้ แทบจะเข้าไปรัฐสภาด้วยซ้ำไป ทำไมคุณเลือกปฏิบัติขนาดนี้ ทำไมเราต้องโดนฉีดน้ำแรงดันสูง ผสมสี-แก๊สน้ำตา ทำไมคุณทำแบบนี้”

– การ์ดฟันเฟืองประชาธิปไตย อายุ 61 ปี

4

“หนูมาเพราะอยากรู้ว่าร่างรัฐนูญของ iLaw ไปถึงไหนแล้ว เขาเลื่อนมาเรื่อยๆ อยากมาดูว่าความชัดเจนมันอยู่ตรงไหน

“รัฐบาลเขาทำให้ทุกคน ทุกช่วงอายุ ไม่เห็นถึงชีวิตที่จะดีขึ้น สิทธิที่จะพูด เขาบอกเราทำได้ แต่พอพูดขึ้นมา คนกลับต้องโดนคดีความ โดนหมายศาล โดนจับ โดนสลาย มันแค่ลมปาก

“เขาทำให้เด็กแบบหนู… ไม่เห็นอนาคตตัวเอง (เสียงสั่น) โทษทีพี่ พูดทีไรหนูไม่ไหวจริงๆ หนูไม่รู้ว่าอยู่แล้วได้อะไร อนาคตในประเทศนี้จะเป็นแบบไหน เขาให้เราเติบโตในกรอบที่จำกัด หนูอยากเติบโตแบบอิสระ

“หนูรักประเทศไทยนะคะ อยากเห็นบ้านเราพัฒนา พวกหนูมีศักยภาพพอแต่เขาไม่เชื่อในเราเลย เขาทำให้เรารู้สึกว่าเราโตที่นี่ไม่ได้ เพราะถ้าเราโตมาในแบบที่เขาไม่ต้องการ เราผิด”

– จัสมิน 19 ปี / กรุงเทพฯ 

5

“รัฐบาลเขาพยายามเลี้ยงความรุนแรงนี้ไว้ ยันไว้ตลอดเวลา นี่เราอยู่หน้ารัฐสภาไทย มีผู้แทนฯ ของเราอยู่ในนั้นนะ! เราไม่ได้อยู่ในดินแดนที่เราเลือกใครไม่ได้ ผม…ผมพูดไม่ออก ตรงนี้คือพื้นที่ของรัฐสภานะ ทำไมคนมาพูด มาแสดงความคิดเห็นไม่ได้ ทำไมต้องรุนแรงแบบนี้

“นี่คือสิทธิอันชอบธรรมที่จะแสดงออก พื้นฐานมาก คุณยังไม่รู้อะไรเลย คุณก็จะไม่รับร่างแล้ว มันมีรายชื่อคนสองแสนกว่าคน แล้วมาบอกไม่รับ คืออะไร?

“ผมไม่ขอฝากบอกเ_ี้ยอะไรกับรัฐบาลทั้งนั้น อย่ามาฉีดแก๊สน้ำตาใส่ผมก็พอแล้ว”

– ถนอม ชาภักดี

‘รัฐสภา’ ถกร่างรัฐธรรมนูญ วาระ 1

การประชุมรัฐสภา (ประชุมร่วมกันระหว่างสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา) ครั้งที่ 1 สมัยสามัญประจำปีครั้งที่ 2 มีวาระเร่งด่วนที่น่าจับตาคือ เรื่องร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้ง 7 ฉบับ รวมถึงการรายงานการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญก่อนรับหลักการ จำนวน 6 ฉบับ ซึ่งคณะกรรมาธิการพิจารณาเสร็จสิ้นแล้ว 

สำหรับญัตติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญมีทั้งร่างที่เสนอโดย สส.พรรคร่วมรัฐบาล สส.พรรคฝ่ายค้าน และที่เสนอโดยโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน หรือ iLaw โดยการประชุมรัฐสภาจะดำเนินไป 2 วันคือ วันที่ 17-18 พฤศจิกายน เพื่อพิจารณาและลงมติรับหลักการ

สำหรับประเด็นที่น่าสนใจมีดังนี้

ญัตติการแก้ไขรัฐธรรมนูญ  

  • การเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญผ่านมาตรา 256 เกี่ยวกับหลักเกณฑ์และวิธีการแก้รัฐธรรมนูญ
  • ญัตติของ สส.พรรคฝ่ายค้าน และกลุ่ม iLaw เสนอให้ใช้เสียงไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของสมาชิกรัฐสภาเป็นมติเพื่อให้การแก้รัฐธรรมนูญ 
  • ญัตติของ สส.พรรคร่วมรัฐบาล เสนอให้ใช้เสียงไม่น้อยกว่า 3 ใน 5 ของสมาชิกรัฐสภาเป็นมติ

การแต่งตั้ง ส.ส.ร. 

  • ทั้ง 3 ญัตตินี้ เป็นการเสนอให้เพิ่มหมวดจัดตั้ง ส.ส.ร. เพื่อยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยญัตติของ สส.พรรคฝ่ายค้านและพรรคร่วมรัฐบาล เห็นตรงกันว่า ควรจัดให้มี ส.ส.ร. จำนวน 200 คน แต่ห้ามแก้ไขเพิ่มเติมหมวด 1 บททั่วไป และหมวด 2 พระมหากษัตริย์ 
  • ร่างรัฐธรรมนูญของ iLaw เป็นการเปิดให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ 
  • โครงสร้างที่มาของ ส.ส.ร. ในญัตติของพรรคการเมืองฝ่ายรัฐบาลให้มาจากการเลือกตั้งโดยตรง 150 คน และมาจากการคัดเลือกโดยรัฐสภา 20 คน ที่ประชุมอธิการบดีมหาวิทยาลัย เลือกผู้เชี่ยวชาญและผู้มีประสบการณ์ 20 คน และสมาชิก คัดเลือกจากนักเรียน นิสิต หรือนักศึกษา 10 คน 
  • ญัตติพรรคฝ่ายค้านและ iLaw เป็นการเสนอให้มี ส.ส.ร. มาจากการเลือกตั้งโดยตรงทั้งหมด ในจำนวนไม่น้อยกว่าจังหวัดละ 1 คน ขึ้นอยู่กับจำนวนประชากรแต่ละจังหวัด ระยะเวลาดำเนินการทั้งหมดไม่เกิน 1 ปี

ยกเลิกอำนาจ สว. 

  • ญัตติพรรคฝ่ายค้าน เสนอยกเลิกมาตรา 270-272 เพื่อยกเลิกอำนาจ สว. ขณะที่ iLaw เสนอให้ยกเลิก สว. ที่ คสช. แต่งตั้ง แล้วให้มี สว. มาจากการเลือกตั้งโดยตรงทั้งหมด
  • ญัตติของพรรคการเมืองฝ่ายค้านและ iLaw เสนอให้นายกฯ มาจาก สส. และยกเลิกมาตรามาตรา 279 โดยยกเลิกการรับรองประกาศและคำสั่งของ คสช. เดิม
  • ญัตติของพรรคฝ่ายค้านเสนอให้แก้ระบบเลือกตั้งเพื่อกลับมาเลือกผ่านบัตร 2 ใบ แบบแยกแบ่งเขตกับบัญชีรายชื่อ ส่วน iLaw เสนอให้ยกเลิกยุทธศาสตร์ชาติและแผนการปฏิรูปประเทศ รวมถึงยกเลิกกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญเฉพาะกับที่เกี่ยวข้องที่มาขององค์กรอิสระ 

15.35 น. คณะผู้แทนของผู้ริเริ่มร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับภาคประชาชน ขึ้นแถลงต่อที่ประชุมรัฐสภาถึงหลักการและเหตุผลในการเสนอร่างรัฐธรรมนูญ โดยนาย จอน อึ๊งภากรณ์ หนึ่งในผู้แทนฯ ขึ้นแถลง มีสาระสำคัญว่า ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ไม่ใช่ร่างรัฐธรรมนูญฉบับ iLaw ตามที่มักเรียกกัน แต่ที่จริงแล้วเป็นร่างของประชาชนกว่า 100,000 คน ที่มาร่วมกันลงชื่อ ภายในระยะเพียงเดือนเดียวเท่านั้น  โดยได้รับการรับรอง 98,824 รายชื่อ

“ทำไมประชาชนจำนวนมากจึงกระตือรือร้นที่จะลงชื่อในร่างฉบับนี้ เพราะว่ามาจากการปรึกษาหารือกันในหมู่ประชาชนที่จะต้องการเห็นประเทศไทยเป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง และเห็นปัญหาของใหญ่ของรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ปัญหาของรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันออกแบบเพื่อให้ คสช. ยังคงอำนาจอยู่ แม้หลังจากการเลือกตั้งสภาผู้แทนราษฎร หลังจากที่ คสช. ถืออำนาจมา 5 ปีกว่า ก็ยังมีการออกแบบรัฐธรรมนูญ ซึ่งเห็นได้ชัดในปัจจุบัน การที่มีสมาชิก คสช. เป็นรัฐมนตรีหลายคน 

“และรัฐธรรมนูญนี้เขียนเหมือนทุกฉบับไว้ว่า อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย อันนี้เป็นการโกหก มันน่าจะถือว่าเป็นโมฆะ เพราะว่ารัฐธรรมนูญ 2560 ไม่ได้เป็นอย่างนั้น ประชาชนมีสิทธิเลือกแค่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แต่ประชาชนไม่มีโอกาสกำหนดว่าใครจะตั้งรัฐบาล ใครจะมาเป็นนายกฯ เพราะมีองค์ประกอบส่วนอื่นที่ไม่มีประชาชนเป็นตัวกำหนด ดังนั้น ตอนแรกเราต้องการรณรงค์เรื่องรัฐธรรมนูญ ราวประมาณเดือนพฤษภาคม เราตัดสินใจจะช่วยกันร่างรัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตย

“ถอนพิษของระบบเผด็จการออกก่อน แล้วเปิดโอกาสให้มี ส.ส.ร. ที่จะร่างรัฐธรรมนูญต่อไป ไม่นานก็เกิดเหตุการณ์ประชาชนจำนวนมากออกมาเรียกร้องประชาธิปไตยตามท้องถนน จำนวนมากเป็นคนรุ่นใหม่ ทำให้เห็นว่าประเทศไทยกำลังเปลี่ยนแปลงไป คนรุ่นใหม่ทนไม่ได้แล้ว อยากเห็นประเทศประชาธิปไตยโดยเร็ว เราก็เลยเอาร่างของเรามาตั้งโต๊ะให้ประชาชนมาลงชื่อ ปรากฏว่าประชาชนให้ความกระตือรือร้นมากทีเดียว มีการมารอแถว กว่าจะได้ลงชื่อ กว่าจะได้ถ่ายบัตรประชาชน คนที่ส่งทางไปรษณีย์ก็ติดตามว่าที่ส่งมาได้รับรายชื่อหรือยัง ทุกคนเป็นห่วงว่าชื่อตัวเองจะไม่ได้มีส่วนร่วม อันนี้เป็นความตั้งใจของประชาชนจำนวนมาก 

“ผมจึงหวังว่าท่านสมาชิกรัฐสภาจะให้ความสำคัญกับร่างฉบับของประชาชน ไม่ใช่ปฏิเสธตั้งแต่วาระแรก แต่ควรจะให้ข้อดีๆ หลายอย่างของร่างฉบับนี้ ได้เข้าไปพิจารณาร่วมกับร่างของพรรคการเมืองต่างๆ แล้วที่สำคัญในขณะนี้ถ้าประเทศไทยจะพ้นวิกฤติ ถ้าประเทศไทยจะมีพัฒนาการใกล้เคียงกับอารยะประเทศได้ เราจำเป็นต้องพัฒนาไปสู่ประชาธิปไตยอย่างเร็วที่สุด แล้วผมเชื่อว่า ท่านสมาชิกทั้งหลายทราบดีว่าประเทศไทยมีปัญหากับรัฐธรรมนูญนี้ ถึงได้มีร่างแก้ไขเกิดขึ้นมากมายในสภานี้”  

รัฐสภาได้มีการอภิปรายถกเถียงกันในหลายประเด็นว่าด้วยการรับร่างแก้ไขฉบับประชาชน หรือฉบับ iLaw ไม่ว่าจะเป็น พลเอกเลิศรัตน์ รัตนวานิช สมาชิกวุฒิสภา นายไพบูลย์ นิติตะวัน สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคพลังประชารัฐ นายศุภชัย ใจสมุทร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคภูมิใจไทย รวมถึง สส. จากพรรคการเมืองฝ่ายค้าน เป็นต้น 

อย่างไรก็ตาม ระหว่างการอภิปรายหลายครั้ง สมาชิกพรรคฝ่ายค้านได้ลุกขึ้นขอหารือกับทางประธานสภาผู้แทนราษฎรถึงเหตุการณ์ปะทะกันของมวลชนนอกรัฐสภา

Author

กองบรรณาธิการ
ทีมงานหลากวัยหลายรุ่น แต่ร่วมโต๊ะความคิด แลกเปลี่ยนบทสนทนา แชร์ความคิด นวดให้แน่น คนให้เข้ม เขย่าให้ตกผลึก ผลิตเนื้อหาออกมาในนามกองบรรณาธิการ WAY

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า