เสียงสะท้อนจากสื่อ พยานปากเอกในสมรภูมิข่าวสารยุค COVID-19

หลังค้นพบผู้ติดเชื้อ COVID-19 ครั้งแรกในไทย ตั้งแต่วันที่ 12 มกราคม 2563 นับจากนั้นเป็นต้นมาประเทศไทยก็เกิดการปรับตัวขนานใหญ่เข้าสู่ ‘ชีวิตวิถีใหม่’ (New Normal) เพื่อจำกัดวงของการระบาด และทำให้พบข้อมูลใหม่ๆ เป็นจำนวนมาก โดยมี ‘สื่อมวลชน’ เป็นผู้มีบทบาทสำคัญในฐานะผู้ส่งต่อข้อมูลข่าวสารในสถานการณ์พิเศษ จนอาจเรียกได้ว่าเป็นพยานของเรื่องราวที่เกิดขึ้นในสังคมทั้งดีและร้ายอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ 

ข้อมูลจำนวนมหาศาลพรั่งพรูเข้าสู่การรับรู้ของสังคมรวดเร็วไม่น้อยไปกว่าการระบาดของโรค ตามการไหลบ่าของสื่อกระแสใหม่อย่างโซเชียลมีเดีย ที่มากขึ้น ควบคู่ไปกับสื่อกระแสหลักอย่างโทรทัศน์หรือวิทยุ แน่นอนว่านอกจากบรรดาสื่ออิสระจำนวนมากที่เปิดพื้นที่ในการนำเสนอข้อมูลข่าวสารเหล่านี้แล้ว ยังมีชุดข้อมูลอีกด้านหนึ่งที่มาจากภาครัฐ จนทำให้สายพานการ in-put และ out-put ของข้อมูลข่าวสารเพิ่มจำนวนมากขึ้นจนใกล้เคียงคำว่าโกลาหลในช่วงปีแรกของการระบาด 

เมื่อมองย้อนกลับไป คำบอกเล่าประสบการณ์และภาพสะท้อนเหตุการณ์ทางสังคมได้เปิดเผยให้เห็นสิ่งต่างๆ มากขึ้นหลังเข้าสู่ปีที่ 3 ของการระบาด นี่คือสิ่งที่โครงการวิจัย โควิด-19 กับสังคมไทย: บันทึกวิกฤติและประสบการณ์การรับมือไวรัสโคโรนา โดย ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (ศมส.) ได้ทำการเก็บข้อมูลเพื่อหาคำอธิบายจากสิ่งเหล่านี้ จากการสำรวจประชากรวัยแรงงานจำนวน 555 คน ในกลุ่มอาชีพและช่วงวัยที่หลากหลาย และเมื่อจำกัดวงมายังกลุ่ม ‘สื่อมวลชน’ ในรายงานวิเคราะห์บทสัมภาษณ์ ‘ทุกข์ยากจากการสื่อสาร: ความป่วยไข้ของข้อมูลท่ามกลางวิกฤติ COVID-19’ ทำให้สามารถสรุปข้อค้นพบออกได้เป็น 3 ประเด็นสำคัญ คือ 1) สังคมไทยไม่สามารถปฏิบัติตาม New Normal ได้ทั้งหมด 2) ความคลุมเครือของข้อมูลทำให้เกิดความยากลำบาก และ 3) การต่อสู้ระหว่างสิ่งที่เรียกว่า ‘เฟคนิวส์’ กับ ‘ข้อเท็จจริง’

ต่อไปนี้คือ 3 สิ่งสำคัญในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา เมื่อสื่อไทยกำลัง ‘สื่อ’ ให้เราเห็นถึงความเปลี่ยนแปลงของสังคมจากการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 

มาตรการ New Normal ที่ไม่ได้เข้าใจสภาพสังคมไทย

เป็นเรื่องธรรมดาที่สังคมจะอยู่ในสภาวะหวาดกลัวเมื่อต้องเผชิญกับโรคระบาดที่เพิ่งรู้จัก ทว่าความหวาดกลัวนี้ดูเหมือนจะยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้นในประเทศไทย อันเป็นผลจากท่าทีในการบริหารจัดการวิกฤติของภาครัฐ ในกรณีนี้สื่อมวลชนและคอลัมนิสต์อย่าง อธึกกิต แสวงสุข เจ้าของนามปากกา ‘ใบตองแห้ง’ ชี้ให้เห็นว่า การจัดการวิกฤติของภาครัฐในระยะแรกมีส่วนสำคัญเป็นอย่างมากที่ทำให้สังคมเกิดความตื่นตระหนก

“การสื่อสารช่วงแรกเหมือนยังสับสน มีลักษณะหย่อนยานช่วงแรก แต่พอเป็นเรื่องก็ตื่นตูม คำสั่งของผู้ว่าฯ กทม. ที่คนวิจารณ์มากก็คือ ทำไมคุณไม่เตรียมการออกมาตรการรองรับให้คนอยู่ในกรุงเทพฯ มีการกักตัวอะไรต่างๆ ก็คือสุดท้ายมันกระจายพรวดออกไปทุกจังหวัด”

แน่นอนว่าไม่ใช่เพียงแค่นโยบายที่ไม่มีความแน่นอนชัดเจนแล้ว ในแง่ของการประชาสัมพันธ์และกระจายข้อมูลสำคัญๆ ของภาครัฐก็มีส่วนในการสร้างบรรยากาศของความ ‘ไม่ปลอดภัย’ ให้แก่สังคม ประเด็นนี้ อธึกกิตระบุชัดเจนว่า ท่าทีของภาครัฐคือ “สื่อที่มุ่งสร้างความกลัว โดยเฉพาะรอบแรกมุ่งสร้างความกลัวให้คนกลัวมากๆ แล้วจะได้ไม่ต้องออกมาจากบ้าน”

ความหวาดกลัวอันมีสาเหตุหนึ่งจากมาตรการของภาครัฐ เกิดขึ้นควบคู่ไปกับการพยายามรณรงค์สร้างกระแส New Normal แต่กลับกลายเป็นว่าผู้คนส่วนใหญ่ในสังคมไม่สามารถที่จะปฏิบัติตามได้ เห็นได้จากผู้ตอบแบบสอบถาม 310 คน (ตอบได้มากกว่า 1 ข้อ) ที่มองว่าตนเองมีความเสี่ยง เพราะจำเป็นต้องเข้าไปในสถานที่พลุกพล่าน เช่น ตลาด ร้านอาหาร หรือห้างสรรพสินค้า เป็นต้น จำนวนดังกล่าวนี้คิดเป็นร้อยละ 46.1 จากทั้งหมด ตามมาด้วยเหตุผลของการที่ต้องทำงานใกล้ชิดผู้ติดเชื้อหรือกลุ่มเสี่ยง ร้อยละ 14.7 สภาพแวดล้อมในการทำงานที่เว้นระยะห่างไม่ได้ ร้อยละ 12.8 และการใช้บริการขนส่งสาธารณะเป็นประจำ ร้อยละ 11.1

การจัดการของภาครัฐที่ออกคำสั่งโดยไม่สอดคล้องกับวิถีชีวิตและสภาพความเป็นจริงของคนในสังคมไทย นอกจากจะสะท้อนผ่านคำพูดของอธึกกิตแล้ว คำให้สัมภาษณ์ของ อธิป กลิ่นวิชิต บรรณาธิการอาวุโส ศูนย์สื่อศิลปวัฒนธรรม สถานีโทรทัศน์ ไทยพีบีเอส เองก็พูดถึงประเด็นนี้ในลักษณะที่คล้ายคลึงกัน โดยยกตัวอย่างมาตรการในช่วงเดือนพฤษภาคม 2563 ที่ภาครัฐจำกัดจำนวนคนทำงานในกองถ่าย

“มาตรการช่วงเดือนพฤษภาคม 2563 ที่ระบุว่ากองถ่ายไม่เกิน 5 คน ตัวเลขนี้สเกลโปรดักชั่นสตูดิโอข่าวเองยังทำไม่ได้เลย แม้ว่าปัจจุบัน สตูดิโอหลายช่องเริ่มใช้ robot camera ช่วยในการคอนโทรล แต่คนที่อยู่ในนั้นยังไงก็เกิน 5 คน”

การออกมาตรการของรัฐที่กำหนดให้ผู้คนหลีกเลี่ยงสถานที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อ ซึ่งขัดกับวิถีชีวิตจริงที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้สังคมตื่นตระหนกและนำไปสู่ความเลวร้ายของสถานการณ์ด้านอื่นๆ มากขึ้น ซึ่งโยงไปถึงปัญหาถัดไปที่ภาครัฐกลายเป็นหนึ่งในจุดที่ไม่น่าไว้ใจในสายตาประชาชน โดยแบบสอบถามในหัวข้อ ‘สาเหตุของการแพร่ระบาด’ มีผู้ที่มองว่าภาครัฐไม่ให้ข้อมูลเรื่องการแพร่ระบาดของไวรัสอย่างครบถ้วนถึง 213 คน และยังมีผู้ตอบแบบสอบถาม 172 คน ที่เห็นว่าเป็นเพราะเจ้าหน้าที่รัฐไม่มีความน่าเชื่อถือ

เพราะข้อมูลคลุมเครือ ภาครัฐจึงไม่น่าเชื่อถือ 

ความหวาดกลัวต่อไวรัส COVID-19 ในสังคมถูกเสริมแรงมากขึ้นโดยนโยบายของภาครัฐที่ไม่ได้เข้าใจประชาชน สื่อมวลชนต้องเผชิญกับสภาวะที่ข้อมูลเต็มไปด้วยความหลากหลายและเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา ข้อมูลที่ภาครัฐสื่อออกมานอกจากจะสร้างความตื่นตระหนกแล้ว ยังมีลักษณะของการมองว่าประชาชนฝ่าฝืน New Normal และข้อบังคับต่างๆ จนทำให้สถานการณ์เลวร้ายลง อย่างไรก็ตาม หลักฐานที่สะท้อนว่าประชาชนจำนวนไม่น้อยยังให้ความร่วมมือกับภาครัฐคือ ผู้ตอบแบบสอบถามเข้าใจตรงกันว่า วิธีการป้องกันการติดเชื้อที่ดีที่สุด คือการสวมหน้ากากอนามัย ล้างมือด้วยสบู่และเจลแอลกอฮอล์ และเว้นระยะห่าง คิดเป็นร้อยละ 29.8 ร้อยละ 28.6 และร้อยละ 24 จากจำนวนผู้ตอบแบบสอบถามทั้งหมด ตามลำดับ มากกว่าการอมน้ำเกลือ การรับประทานฟ้าทะลายโจร หรือแม้แต่การสวดมนต์ จุดนี้ทำให้พูดได้ว่าประชาชนไม่ได้ ‘การ์ดตก’ ดังที่ภาครัฐให้สัมภาษณ์ผ่านสื่อ

นอกจากความสับสนจากการให้ข้อมูลของรัฐ กับน้ำเสียงของรัฐในเชิงตำหนิประชาชนจะทำให้เกิดปัญหาด้านความเชื่อมั่นแล้ว การไม่สามารถเข้าถึงความช่วยเหลือของภาครัฐก็นับเป็นปัญหาใหญ่ด้วยเช่นกัน บีบให้ประชาชนต้องหันไปหาข้อมูลข่าวสารด้วยตนเอง ซึ่งพบว่าข้อมูลข่าวสารในสังคมไทยเกี่ยวกับโรคระบาดยังมีความไม่ชัดเจนและเป็นไปคนละทิศคนละทาง สะท้อนผ่านแบบสอบถามหัวข้อ ‘จำแนกความไม่ชัดเจนของข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับโรคโควิด-19’ โดยผู้ตอบแบบสอบถามระบุว่า ความไม่ชัดเจนลำดับที่ 1 คือ การผลิต การนำเข้า การจัดสรรวัคซีน (433 คน) ความไม่ชัดเจนลำดับที่ 2 คือ ข้อมูลการเยียวยาโดยรัฐบาล (260 คน) ความไม่ชัดเจนลำดับที่ 3 คือ ระเบียบ คำสั่ง มาตรการทางกฎหมาย และคำแนะนำข้อปฏิบัติทางสาธารณสุข (254 คน)

ปัญหาเหล่านี้เกิดจากการที่ประชาชนไม่สามารถหาต้นทางของข้อมูลที่แน่นอนได้ เนื่องจากข้อมูลภาครัฐมีลักษณะที่ทั้ง ‘สับสน’ และ ‘สร้างความตื่นตระหนก’ ขณะที่สื่ออีกหลายเจ้าในตลาดข้อมูลเองก็มีแหล่งที่มาของข้อมูลที่หลากหลาย สิ่งเหล่านี้ส่งผลให้ความเป็นความตายของประชาชนในเรื่องสำคัญอย่างการจัดซื้อจัดหาวัคซีน มาตรการเยียวยา หรือข้อกำหนดทางกฎหมายต่างๆ กลายเป็นสิ่งที่สื่อมวลชนต้องค้นหาความจริงและหาทางรับมือให้รวดเร็วทันกับสถานการณ์ 

เมื่อสื่อต้องขุดคุ้ยและทำงานหนักมากขึ้นกับข้อมูลตรงหน้า สื่อมวลชนหลายสำนักได้ระบุในทำนองเดียวกันว่า ข้อเท็จจริงที่ประชาชน ‘อยากจะรู้’ หลายครั้งไม่ใช่ข้อเท็จจริงเดียวกันกับที่รัฐ ‘อยากจะบอก’ และทำให้เกิดการปะทะกันของข้อมูลภายใต้การตีตราด้วยคำว่า ‘เฟคนิวส์’ ในที่สุด 

‘เฟคนิวส์’ คำครหาที่ภาครัฐใช้เพื่อปกปิดข้อมูล? 

การชี้ว่าข่าวไหนหรือสื่อของใครเป็นเฟคนิวส์ ในสถานการณ์หน้าสิ่วหน้าขวานเช่นนี้ถือได้ว่าเป็นคำกล่าวหาที่รุนแรง อย่างไรก็ตาม เราปฏิเสธไม่ได้ว่าหลายครั้งการทำงานของสื่อภายใต้ New Normal ย่อมทำให้เกิดข้อติดขัดในการนำเสนอความจริงออกสู่สังคม ประเด็นนี้ ณฐา พงษ์ศาศวัต บรรณาธิการข่าวคุณภาพชีวิตจาก PPTV กล่าวเอาไว้ในบทสัมภาษณ์ที่แสดงให้เห็นว่า การทำงานของสื่อมวลชนใต้คำว่า New Normal นี้กลายเป็นช่องว่างให้ความจริงถูกพูดไม่หมด 

“ที่ยากที่สุดคือเราลงพื้นที่ไม่ได้ มันเสี่ยงมากที่จะติดเชื้อกลับมา กระทรวงสาธารณสุขเองเมื่อพบว่ามีผู้สื่อข่าวติดเชื้อ เขาก็จะประกาศทันทีว่าไม่ต้องมาแล้ว ใช้ ZOOM อย่างเดียว ฟังจาก Facebook Live อย่างเดียว ซึ่งเราต้องส่งคำถามไปก่อน ไม่มีการโต้ตอบสองทาง” 

ปัญหาที่ณฐาพยายามจะสื่อให้เห็นก็คือ การส่งคำถามไปยังผู้ให้สัมภาษณ์หรือการฟังการให้สัมภาษณ์ผ่าน Facebook Live เพียงอย่างเดียวนั้น สื่อมวลชนแทบไม่มีทางรู้ว่าผู้ให้สัมภาษณ์ได้อ่านคำถามที่ส่งไปหรือไม่ เมื่อไม่มีการโต้ตอบแบบสองทาง ก็ยิ่งทำให้ง่ายต่อการเลี่ยงตอบในบางคำถาม รวมไปถึงการลดการสื่อสารลง เพราะภาครัฐเชื่อว่าเป็นวิธีที่จะทำให้สังคมลดอาการวิตกกังวลไปด้วย อย่างไรก็ตาม อีกหลายกรณีที่เจ้าหน้าที่ให้คำตอบกับสื่อแต่ละสำนักไม่ตรงกัน ไปจนถึงการจัดการเฟคนิวส์ของภาครัฐนั้น ณฐาสรุปเอาไว้ว่า “สิ่งที่รัฐบาลต้องการ ไม่ใช่การจัดการกับข่าวปลอม (fake news) แต่ต้องการปิดกั้นการแสดงออกของสื่อมากกว่า”

ปัญหาของการแปะป้ายเฟคนิวส์ให้กับผู้กระจายข้อมูลต่างๆ นั้นยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้นเมื่อการตีตรานั้นถูกนำไปใช้กับสื่อใหม่ โดยเฉพาะสื่อออนไลน์ที่ให้ความสำคัญกับความรวดเร็วในการรายงานข่าวเพื่อให้ทันกระแสโลกออนไลน์ แต่เมื่อการให้ข้อมูลของภาครัฐมีความสับสน ก็มีผลให้ประชาชนหันมาโทษสื่อมวลชนจากการรายงานความจริงที่ผิดพลาด ประเด็นนี้ ระวี ตะวันธรงค์ นายกสมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ ได้ให้สัมภาษณ์เอาไว้เช่นเดียวกัน

“ผมเคยบอกกับที่ประชุม ศบค. ไปว่า ทำไมประเทศนี้เราจึงมีปัญหาเรื่องสับสนกับข้อมูลข่าวสาร ประชาชนก็โทษสื่อว่า ทำไมเรารายงานไม่ตรง เราก็บอกว่า เอามาจากข้อมูลของรัฐที่เขาบอกมา เช้ามีคนบอกอย่างหนึ่ง บ่ายมีคนพูดอีกอย่างหนึ่ง จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พอคนพูดไม่ตรงกันเช้าและบ่าย สื่อก็ต้องนำเสนอข้อเท็จจริงตามนั้น แต่มันกลายเป็นความสับสนของสังคม”

ข้อเสนอที่ระวีได้กล่าวเอาไว้ในบทสัมภาษณ์คือ การสร้างเว็บไซต์กลางขึ้นมาสำหรับรวบรวมข้อมูลของสถานการณ์การระบาด จำนวนวัคซีน การกระจายวัคซีน ไปจนถึงเรื่องที่เกี่ยวข้องอื่นๆ เพื่อให้ประชาชน รวมถึงสื่อมวลชน ไม่ต้องเผชิญกับการปะทะกันของข้อมูลบนอินเทอร์เน็ต 

การปะทะกันหลายครั้งในช่วงระยะแรกของการระบาด ระวีระบุว่าเป็นการสะท้อนให้เห็นถึงความจำเป็นในการต้องพัฒนา พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสาร ให้ชัดเจนกว่าเดิม แต่ภาครัฐกลับแก้ไขปัญหาด้วยวิธีแบบรัฐราชการรวมศูนย์ คือการไม่ให้ข้อมูลข่าวสารที่ชัดเจนกับสื่อมวลชน เห็นได้จากช่วงแรกที่รัฐเปิดเผยข้อมูลที่ค่อนข้างตรงไปตรงมา แต่ในระยะหลังของการระบาดกลับมีการจำกัดการให้ข้อมูล ประเด็นนี้ พงศ์พิพัฒน์ บัญชานนท์ บรรณาธิการบริหาร The MATTER ก็ได้สะท้อนข้อสังเกตที่น่าสนใจเอาไว้ในบทสัมภาษณ์เช่นกัน

“กรมควบคุมโรค เคยให้ข้อมูลได้ดีมากว่าวัคซีนกระจายไปที่จังหวัดไหน ให้คนได้กี่โดส ข้อมูลละเอียดมาก แต่อยู่ๆ ก็ปิดการเข้าถึงข้อมูลจากสาธารณชน ซึ่งงงว่าปิดทำไม อีกข้อมูลคือวัคซีนแต่ละยี่ห้อกระจายไปที่ไหนบ้าง ถึงขนาดที่ว่าวัคซีนกระจายไปโรงพยาบาลไหนบ้าง อยู่ดีๆ เดือน 7 ก็ปิดข้อมูล ช่วงกลางปีที่คนสนใจโควิดมากที่สุดเรื่องวัคซีน แต่ปรากฏว่าข้อมูลเกี่ยวกับวัคซีนไม่มาถึงพับลิค”

ปัญหาดังกล่าวทำให้สื่อแต่ละสำนักต้องหันไปพึ่งพาต้นทุนของตัวเองในการเข้าถึงข้อมูลที่ไม่ใช่ตัวแทนจากภาครัฐ ซึ่งแต่ละสื่อก็มีต้นทุนที่ไม่เท่ากัน พงศ์พิพัฒน์ระบุว่า สาเหตุตรงนี้คือจุดหนึ่งที่ทำให้ภาครัฐไม่พอใจกับการทำงานของสื่อ และเริ่มนำคำว่าเฟคนิวส์มาใช้กับสื่อ จนทำให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัวในการรับข้อมูลข่าวสารมากกว่าเดิม 

จากคำให้สัมภาษณ์นี้เองทำให้พอจะวิเคราะห์ได้ว่า หนึ่งในต้นเหตุของเฟคนิวส์เกิดจากการปิดกั้นข้อมูลของรัฐเอง และถูกใช้โดยรัฐ เมื่อสื่อมวลชนไม่หยุดความพยายามในการค้นหาข้อมูลจากแหล่งอื่นมาเปิดเผยต่อสาธารณชน 

สื่อไทยที่เปลี่ยนแปลง กับพฤติกรรมรับสารที่เปลี่ยนไป

การระบาดของไวรัส COVID-19 ครั้งนี้ ในสายตาของสื่อไทยสำนักต่างๆ สามารถบ่งชี้ให้เห็นถึงบริบทที่เปลี่ยนแปลงไปของการทำงานสื่อและการรับสารจากฝั่งผู้บริโภค และยังสามารถมองได้ว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงยุคของการสื่อสารทางเดียว (one-way communication) ที่เคยเป็นมาอีกด้วย สิ่งเหล่านี้ยืนยันได้จากงานศึกษาของ ศมส. จากการสำรวจในหัวข้อ ‘ช่องทางการติดตามข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับโรคโควิด-19’ ที่ถามกลุ่มตัวอย่างซึ่งเป็นคนวัยทำงาน มีการศึกษา และมีรายได้ ว่าเลือกรับส่งข่าวสารผ่านช่องทางใดบ้าง โดยพบว่า ส่วนใหญ่บริโภคข่าวสารผ่านแพลตฟอร์มเฟซบุ๊ค (Facebook) มากที่สุดถึง 467 คน รองลงมาคือแพลตฟอร์มไลน์ (Line) 410 คน ตามมาด้วยช่องทางโทรทัศน์จำนวน 399 คน 

ในเรื่องของช่องทางการรับสื่อที่เปลี่ยนไปนั้น สุภิญญา กลางณรงค์ อดีตคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ได้ให้สัมภาษณ์เอาไว้ว่า “ข้อดีของทวิตเตอร์กับเฟซบุ๊คคือ เราได้เห็นข้อมูลที่หลากหลาย ข้อเสียคือจะเวียนหัวข้อมูลเยอะ ไม่รู้จะเชื่อใคร ลุกลามจากข้อมูลธรรมดาเป็นด่าทอเสียดสี ขณะที่ไลน์กลุ่ม คนที่ไม่พอใจ ไม่เห็นด้วยจะลีฟ (leave) ออกจากกลุ่มไปเงียบๆ ไม่ทน ไม่อยากทะเลาะ จะเหลือแต่คนคอเดียวกัน ไม่เตือนกัน พยักพเยิดเชื่อในสิ่งที่ผิด อาจเพราะว่า เกรงใจเพราะรู้จักกันหมด แต่เฟซบุ๊ค ทวิตเตอร์ ไม่สนิท ไม่ได้รู้จักกันมากก็ไม่ต้องแคร์กัน” 

เธอยังกล่าวถึงสื่อโทรทัศน์ หนังสือพิมพ์ ที่เคยเป็นสื่อกระแสหลักของสังคมด้วยว่า 

“สื่อหลักออกในทีวี ช่อง 3 ช่อง 7 ไทยรัฐ ลงในหนังสือพิมพ์ก็ตาม แต่ในยุคนี้คนก็ไม่ได้ใส่ใจทีวีมากเหมือนในอดีตที่พอพูดออกทีวีจะรับรู้ เชื่อพร้อมกัน ขะมักเขม้นดูมือถือของตัวเอง คนที่จะมาตอกย้ำคือเพื่อนกลุ่มที่คุยกัน ทำให้พลังของสื่อบุคคลในยุคโซเชียลมีเดียมีผลมากกว่าสื่อมวลชนในบางกรณี”

ความเห็นของสุภิญญา สอดคล้องกับข้อมูลที่ได้จากแบบสอบถามในหัวข้อ ‘จำแนกความน่าเชื่อถือของช่องทางในการติดตามข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับโรคโควิด-19’ ในกลุ่มคนวัยทำงาน ที่แม้จะยังมีผู้ตอบว่า สื่อโทรทัศน์มีความน่าเชื่อถือสูงสุดถึงร้อยละ 40.3 ทว่าสื่อโซเชียลมีเดียที่เคยถูกทิ้งห่างในอดีตอย่าง Facebook กลับตีตื้นขึ้นมาเป็นอันดับ 2 คือ ร้อยละ 21.90 รองลงมาคือ Twitter และ Line ซึ่งหนึ่งในปัจจัยที่ทำให้สื่อออนไลน์เริ่มตีตื้นขึ้นมาหายใจรดต้นคอสื่อโทรทัศน์ นอกจากจะเป็นเพราะการสื่อสารสองทางแล้ว ยังแสดงให้เห็นว่าสื่อใหม่ได้ทำให้เกิดวัฒนธรรมของการตรวจสอบข้อมูลระหว่างกันมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะสามารถค้นหาข้อมูลได้อย่างรวดเร็วด้วยโทรศัพท์มือถือเพียงเครื่องเดียว 

ในเรื่องนี้ พงศ์พิพัฒน์กล่าวเอาไว้ว่า “ตอนนี้ทุกคนเป็นสื่อได้ มีโซเชียลมีเดีย โดยเนเจอร์อะไรที่เกี่ยวกับโรคระบาดจะเป็นการแชร์กันระหว่างครอบครัว กรุ๊ปไลน์ กรุ๊ปแชท บทบาทของสื่อกระแสหลักมีไม่เยอะ มันเป็นการแชร์เพื่อแสดงความห่วงใย เตือนภัย สิทธิประโยชน์ในการป้องกันโรค ปกติคนรับข่าวสารจะรับจากทุกทางที่เข้ามา ไม่ได้รับจากสื่ออย่างเดียว แต่เวลาคนจะเช็คเพื่อเมคชัวร์ว่าข่าวสารนี้น่าเชื่อถือแค่ไหน จะกลับมาที่สื่อที่เป็นองค์กรสื่อ สื่อสถาบัน สื่อต้องมีหน้าที่เสนอข้อมูลใกล้เคียงกับข้อเท็จจริงมากที่สุด สมมุติคนได้รับข่าวสารจากครอบครัว เราเอ๊ะ จริงไหมนะ ก็จะกลับมาเช็คสื่อที่เขารู้จัก สื่อองค์กร สื่อสถาบัน”

วัฒนธรรมของการตรวจสอบข้อมูลที่ควบคู่ไปกับการสื่อสารสองทางเช่นนี้ กลายเป็นวัฒนธรรมใหม่ หรืออาจจะเรียกได้ว่าเป็น New Normal ของโลกข้อมูลข่าวสาร และเป็นการปะทะกับวัฒนธรรมการสื่อสารแบบเดิมๆ ที่ภาครัฐยึดถือ หรือการปะทะกันระหว่างสิ่งใหม่และสิ่งเก่า อธึกกิตอธิบายประเด็นนี้ไว้ว่า “รัฐไทยมีลักษณะการปกครองแบบพ่อปกครองลูกอยู่แล้ว ต้องเชื่อฟังโดยที่ไม่จำเป็นต้องให้เหตุผล ไม่ต้องอธิบาย มันใช้วิธีการนี้ในการควบคุม ซึ่งคนที่มีสำนึกแบบประชาธิปไตยหรือคนชนชั้นกลางที่รู้สึกว่าเป็นตัวของตัวเอง ย่อมไม่พอใจกับมาตรการแบบนี้ ฝั่งหมอของรัฐส่วนหนึ่งที่มีอำนาจชี้นำก็ยังติดทักษะหมอแบบเดิม ก็คือลักษณะแบบรัฐ คนไข้ต้องเชื่อฟังหมอ ถึงแม้ว่ายุคหลังๆ หมออาจจะมีหลักการว่าต้องอธิบายคนไข้เหมือนกัน”

หากมองในแง่การสื่อสารของรัฐไทยในยุคปัจจุบัน ในความเห็นของอธิประบุเอาไว้ว่า เป็นเพราะภาครัฐ (ศบค.) ต้องการทำให้สังคมเป็นเอกภาพไปในทิศทางเดียวกัน แต่ปัญหาคือภาครัฐไม่รู้ว่าควรสื่อสารแบบไหนหรือจัดการกับข่าวอย่างไร โดยยังคงใช้วิธีเก่าๆ ที่เคยได้ผลเมื่อ 10-20 ปีก่อน อธิปยังกล่าวถึงความพยายามที่ล้มเหลวของภาครัฐด้วยว่า “เราต้องเปิดข้อมูล กำหนดทิศทางว่าคนที่รับสารจัดการอย่างไร ให้ทางเลือก แต่ ศบค. จะขอความร่วมมือ บอกให้ทำ แต่ไม่ให้ทางเลือก แต่คนรับสารในปัจจุบันอยู่ในยุคที่มีทางเลือกมาก มีข้อมูลจากหลายแหล่ง ทำให้ช่วงท้ายๆ ของ ศบค. ไม่มีใครเชื่อถือข้อมูลที่ออกจาก ศบค. อีกเลย ผมว่าไม่ได้ผิดที่จะมี ศบค. ตั้งศูนย์ขึ้นมาพยายามชี้แจงข้อมูลต่างๆ แต่เขาเลือกวิธีการสื่อสารที่ไม่สอดคล้องกับสภาพสังคมยุคปัจจุบันเลย”

ทุกคำให้สัมภาษณ์จากสื่อมวลชนแขนงต่างๆ ประกอบกับผลสำรวจที่ได้จากงานศึกษาข้างต้น ทำให้สามารถมองเห็นภาพกว้างได้ว่า วิกฤติการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 เป็นเพียงปัจจัยหนึ่งที่เข้ามาเร่งปฏิกิริยาความล้มเหลวของรัฐบาลที่ขาดทักษะในการบริหารจัดการวิกฤติ (crisis management) อันเป็นผลสืบเนื่องมาจากพื้นฐานความไม่ชำนาญในการบริหารงานสื่อสาร รวมถึงปัญหาสถานการณ์ทางการเมืองที่ยืดเยื้อมาเป็นระยะเวลานานนับตั้งแต่เกิดการรัฐประหาร พ.ศ. 2557 จนทำให้สังคมสั่งสมความไม่ไว้วางใจรัฐ และข้อมูลข่าวสารจากรัฐ 

คำให้การของพยานปากเอกอย่างสื่อมวลชนที่จับจ้องทุกเหตุการณ์แบบไม่กะพริบตา คือหนึ่งในข้อพิสูจน์ให้เห็นว่า รูปแบบการใช้อำนาจที่ไม่เท่าทันกับวัฒนธรรมโลกที่เปลี่ยนไปเช่นนี้ คือสิ่งหนึ่งที่เร่งให้เกิดความโกลาหลของสังคมไทยมาตลอดระยะเวลาแห่งการระบาด และอาจจะต่อเนื่องไปถึงอนาคตอันใกล้หากรัฐยังไม่ตระหนักถึงการเปลี่ยนแปลง

อ้างอิง
  • โครงการวิจัยโควิด-19 กับสังคมไทย: บันทึกวิกฤติและประสบการณ์การรับมือไวรัสโคโรนา โดย ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (ศมส.)
  • สัมภาษณ์ อธึกกิต แสวงสุข วันที่ 15 สิงหาคม 2564
  • สัมภาษณ์ อธิป กลิ่นวิชิต วันที่ 17 สิงหาคม 2564
  • สัมภาษณ์ ณฐา พงษ์ศาศวัต วันที่ 6 กรกฎาคม 2564
  • สัมภาษณ์ ระวี ตะวันธรงค์ วันที่ 11 สิงหาคม 2564
  • สัมภาษณ์ พงศ์พิพัฒน์ บัญชานนท์ วันที่ 24 สิงหาคม 2564
  • สัมภาษณ์ สุภิญญา กลางณรงค์ วันที่ 24 สิงหาคม 2564 

Author

ภูภุช กนิษฐชาต
คนหนุ่มผู้หลงใหลการตามหาสาระในเรื่องไร้สาระ คลั่งไคล้การถกเถียงเรื่องปรัชญาการเมืองยามเมามาย นิยมเสพสื่อบันเทิงแทบทุกชนิดที่มีบนโลก ขับเคลื่อนชีวิตด้วยคาเฟอีนและกลิ่นกระดาษหอมกรุ่นของหนังสือราวกับต้นไม้ต้องการแสงแดด ความฝันอันสูงสุดมีเพียงการได้มีชื่อของตนเองจารึกเอาไว้ใน Reading-list ของเหล่านักศึกษาในมหาวิทยาลัยเพียงเท่านั้น

Illustrator

ณขวัญ ศรีอรุโณทัย
อาร์ตไดเร็คเตอร์ผู้หนึ่ง ชอบอ่าน เขียน และเวียนกันเปิดเพลงฟัง

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า