ปรียนันท์ ล้อเสริมวัฒนา เครือข่ายผู้เสียหายทางการแพทย์ พร้อมตัวแทนเครือข่ายกลุ่มเพื่อนมะเร็ง ตัวแทนเครือข่ายผู้ปกครองในสถานศึกษา ตัวแทนมูลนิธิเครือข่ายครอบครัว ตัวแทนเครือข่ายผู้บริโภค ตัวแทนเครือข่ายคนคอนโด ตัวแทนสมาคมสตรีมุสลิม ตัวแทนกลุ่ม Medical error ตัวแทนชมรมหัวเราะบำบัด และตัวแทน Medical Malpractice Nonthaburi ยื่นหนังสือมอบ 15,000 รายชื่อให้กับ สุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานสภานิติบัญญัติ เพื่อให้แก้ไข พ.ร.บ. วิชาชีพเวชกรรม พ.ศ. 2525 ให้แพทยสภามีคนนอกเข้าไปเป็นกรรมการ
วันที่ 29 กันยายน 2559 เวลา 12.30 น. ที่รัฐสภา ปรียนันท์ ล้อเสริมวัฒนา ประธานเครือข่ายผู้เสียหายทางการแพทย์ พร้อมกับเพื่อนเครือข่ายอื่นๆ กว่า 25 ราย เข้ายื่นหนังสือพร้อมรายชื่อประชาชน จำนวน 15,000 ราย กับ สุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานสภานิติบัญญัติ เพื่อขอให้แก้ไข พ.ร.บ. วิชาชีพเวชกรรม พ.ศ. 2525 ให้แพทยสภามีคนนอก
เนื่องจากที่ผ่านมาแพทยสภาเป็นสภาวิชาชีพที่ก่อตั้งขึ้นตาม พ.ร.บ. วิชาชีพเวชกรรม พ.ศ. 2525 มีหน้าที่ตรวจสอบจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพแพทย์ คณะกรรมการมีองค์ประกอบอยู่ 2 ส่วน คือกรรมการโดยตำแหน่งจำนวน 28 ท่าน จากการเลือกตั้งจำนวน 28 ท่าน รวมเป็น 56 ท่าน โดยเป็นแพทย์ทั้งสิ้นไม่มีองค์ประกอบใดที่เป็นคนนอกอยู่เลย
“ปัจจุบันพบปัญหามากมายเรื่องการขัดแย้ง และการกล่าวหาคนไข้ ซึ่งทางคนไข้ก็ไม่ต้องการที่จะฟ้องแพทย์ จึงพยายามผลักดันกฎหมายผู้เสียหายจากการบริการสาธารณสุขขึ้น แต่ก็ยังติดขัดเนื่องจากแพทยสภาไม่เห็นด้วย และที่ผ่านมาได้ทำแคมเปญเกี่ยวกับค่ารักษาพยาบาลในโรงพยาบาลเอกชนแพง ได้รายชื่อกว่า 30,000 รายชื่อ แต่ก็ไม่สำเร็จเนื่องจากกรรมการจากแพทยสภาไม่เห็นด้วย
“ดังนั้นในครั้งนี้จึงนำรายชื่อ 15,000 รายชื่อมายื่นเพื่อให้มีคนนอกเข้าไปเป็นการในแพทยสภาเพื่อความเป็นธรรมและโปร่งใสกับประชาชน” ประธานเครือข่ายผู้เสียหายทางการแพทย์กล่าว
สุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานสภานิติบัญญัติ กล่าวว่า “ขณะนี้ได้มีการพิจารณากฎหมายฉบับหนึ่งที่เกี่ยวกับสถานพยาบาล ซึ่งในกฎหมายสถานพยาบาลจะมีคณะกรรมการคณะหนึ่งเข้ามาดูแลทั้งในเรื่องราคายา และทั้งเรื่องคุณภาพในการให้บริการสาธารณสุขของประชาชน มีตัวแทนจากสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) จะเข้ามาดูแล โดยในสภาได้อภิปรายเรื่องราคายาที่ไม่มีการแจ้งอัตราค่าบริการสถานพยาบาลให้กับผู้ใช้บริการ
“อย่างไรจะนำเรื่องที่ยื่นในวันนี้เข้าไปรวมดูว่าในส่วนของกฎหมายสถานพยาบาลเพียงพอหรือยัง หากยังไม่เพียงพอจะไปแก้ใน พ.ร.บ. วิชาชีพเวชกรรม ต้องมาดูกันอีกครั้ง”
ทั้งนี้ประชาชนได้มีข้อเรียกร้องให้ทางสภานิติบัญญัติแก้ไขใน พ.ร.บ. วิชาชีพเวชกรรม พ.ศ. 2525 ดังต่อไปนี้
1. ให้ประชาชนทั่วไปเข้าไปเป็นกรรมการในสัดส่วน 50:50
2. ลดจำนวนคณะกรรมการลงเพื่อความคล่องตัว
3. กำหนดให้กรรมการดำรงตำแหน่งได้ไม่เกิน 2 วาระ วาระละ 2 ปี
4. กำหนดให้ตำแหน่งผู้บริการระดับสูงเช่นนายกแพทยสภา เลขาธิการแพทยสภา อุปนายกแพทยสภา ฯลฯ ต้องไม่ใช่ผู้ที่มีผลประโยชน์ทับซ้อนกับธุรกิจสถานพยาบาลเอกชน