อายุรอุตุนิยมวิทยา: เหตุใดเราจึงป่วย เมื่อฤดูกาลเปลี่ยน

กรมอุตุนิยมวิทยาประกาศว่าวันที่ 29 ตุลาคม 2565 ที่ผ่านมา ฤดูหนาวได้มาเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการ แต่ทุกคนคงทราบดีว่าสภาพอากาศบ้านเรามักจะหนาวอยู่แป๊บเดียว หลังจากนั้นคือร้อน ร้อนมาก และร้อนมว๊ากกก (ก. ไก่ ล้านตัว) ล้อเล่นนะครับ ถ้ามองรวมๆ เราจะพบว่าประเทศไทยมี 3 ฤดู โดยภาคเหนือกับภาคตะวันออกเฉียงเหนือจะสัมผัส ‘อากาศเย็น’ ได้ก่อน ภาคกลางกับพื้นที่ข้างเคียงจะอุ่นกว่า ส่วนภาคใต้จะไม่มีฤดูหนาวที่ชัดเจน อุณหภูมิของแต่ละพื้นที่จะแตกต่างกันไปตามปัจจัยทางภูมิศาสตร์ หากเราอาศัยอยู่ในเมืองใหญ่จะรู้สึกร้อนกว่าปกติ เพราะคอนกรีตดูดกลืนความร้อนได้ดี ส่วนใครที่อาศัยอยู่ใกล้ป่าหรือดอยสูงก็จะรู้สึกหนาวหน่อย

การเปลี่ยนผ่านจากฤดูฝนเข้าสู่ฤดูหนาวของประเทศไทยถูกกำหนดโดย ‘เกณฑ์การเปลี่ยนฤดูกาล’ โดยพิจารณาจากการเปลี่ยนแปลงความเร็วและทิศทางของลมที่พัดปกคลุมประเทศไทยที่ระดับความสูงต่างๆ ร่วมกับ ‘อุณหภูมิเฉลี่ย’ และ ‘ปริมาณฝนเฉลี่ย’ ของประเทศไทยตอนบนที่ลดต่ำลง แต่ภาคใต้อาจมีฝนเพิ่มขึ้น ส่วนคำว่าเย็น หนาว และหนาวจัด แม้จะมีความหมายใกล้เคียงกันและถูกใช้เรียกแทนกันบ่อยๆ แต่ในทางวิชาการจะมี ‘เกณฑ์อากาศหนาว’ คอยกำหนด ‘ช่วงอุณหภูมิ’ อีกทีหนึ่ง ดังนี้

  1. อากาศเย็น (cool) มีช่วงอุณหภูมิระหว่าง 16-22.9 องศาเซลเซียส
  2. อากาศหนาว (cold) มีช่วงอุณหภูมิระหว่าง 8-15.9 องศาเซลเซียส
  3. อากาศหนาวจัด (very cold) มีอุณหภูมิต่ำกว่า 7.9 องศาเซลเซียสลงไป

ระหว่างช่วงเปลี่ยนฤดูกาล ผู้อ่านหลายท่านอาจมีอาการเหมือนกับผม คือรู้สึกร้อนๆ หนาวๆ มีไข้ ปวดหัว ตัวร้อน และเมื่อยล้า เพราะร่างกายกำลังปรับตัวให้เข้ากับอุณหภูมิ ความชื้น กระแสลม และแสงแดดที่กำลังเปลี่ยนแปลงไป พูดง่ายๆ คือ เมื่อฤดูกาลเปลี่ยนไป สุขภาพของเราก็เปลี่ยนตาม ด้วยเหตุนี้ นักวิทยาศาสตร์จึงทำการศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างลมฟ้าอากาศ (weather) กับสุขภาพของมนุษย์ (human health) เรียกว่า ‘อายุรอุตุนิยมวิทยา’ (medical meteorology) โดยเป็นการนำความรู้วิชาอุตุนิยมวิทยา (meteorology) มาประยุกต์ร่วมกับวิชาแพทยศาสตร์ (medicine) เพื่อหาคำตอบว่าลมฟ้าอากาศมีอิทธิพลต่อร่างกายของเราอย่างไร

คนไทยส่วนใหญ่คุ้นเคยกับ ‘ฤดูร้อน’ เป็นอย่างดี โดยอากาศที่ ‘ร้อน’ และ ‘ชื้น’ จะทำให้ร่างกายของเราขับเหงื่อเพื่อระบายความร้อนได้ยาก พอมีความร้อนสะสมอยู่ภายในร่างกายเป็นจำนวนมาก ร่างกายจะทำงานผิดปกติโดยแสดงอาการหน้ามืด วิงเวียน เป็นลม หรือเป็นโรคลมเหตุร้อน (heat stroke) ที่อาจอันตรายถึงชีวิต โชคดีที่คนไทยสามารถปรับตัวและรับมือกับอากาศร้อนได้ค่อนข้างดี อย่างไรก็ตาม คนที่อาศัยอยู่ในประเทศที่เผชิญกับคลื่นความร้อน (heat wave) อย่างรุนแรง อาจไม่ได้โชคดีเหมือนเรา

‘คลื่นความร้อน’ คือปรากฏการณ์ที่อุณหภูมิบริเวณพื้นผิวโลก ณ พื้นที่หนึ่งมีค่าสูงกว่าปกติติดต่อกันเป็นเวลานานหลายวัน สภาวะดังกล่าวเกิดจากการมีความกดอากาศสูง (high pressure area) มากดทับมวลอากาศด้านล่างจนร้อนขึ้น หรือเกิดจากอากาศร้อนที่สะสมอยู่ ณ บริเวณหนึ่งถูกลมพัดหอบไปยังอีกบริเวณหนึ่ง โดยเกณฑ์ของอุณหภูมิและระยะเวลาการเกิดคลื่นความร้อนจะแตกต่างกันไปตามแต่ละพื้นที่ ยังไม่มีนิยามที่เป็นสากล แต่ทุกครั้งที่คลื่นความร้อนไปเยือนที่ใด ที่นั่นจะต้องมีคนป่วยหรือคนเสียชีวิตเกือบทุกครั้ง ดังเช่นล่าสุดคลื่นความร้อนที่เข้าจู่โจมทวีปยุโรปเมื่อกลางปี ค.ศ. 2022 ที่ผ่านมา ได้คร่าชีวิตผู้คนไปมากกว่า 15,000 คน!

ความกดอากาศสูงทำให้เกิดคลื่นความร้อน
photo: U.S. National Weather Service/National Ocean Service

อีกกรณีที่คล้ายกับคลื่นความร้อนคือ ‘ลมเฟิน’ (Foehn wind) ซึ่งเกิดจากกระแสลมที่ ‘เย็น’ และ ‘ชื้น’ ไหลผ่านสันเขาแล้วสูญเสียไอน้ำออกไปในรูปของเมฆและหยาดน้ำฟ้า (precipitation) เมื่อกระแสลมดังกล่าวไหลลงมาตามลาดเขาก็จะถูกความกดอากาศโดยรอบกดทับจนมีอุณหภูมิสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว กลายเป็นลมที่ ‘ร้อน’ และ ‘แห้ง’ พัดต่อไปยังพื้นที่อับลมด้านหลังภูเขา บางครั้ง ลมเฟินก็ถูกเรียกว่า ผู้กินหิมะ (snow-eater) เพราะมันสามารถทำให้หิมะละลายและน้ำแข็งปริแตกอย่างรวดเร็ว

การเกิด ‘ลมเฟิน’ (Foehn wind) บริเวณภูเขา
photo: ดัดแปลงจาก Andrew D. Elvidge และ Ian A. Renfrew

จากบันทึกทางประวัติศาสตร์ ลมเฟินทำให้พื้นที่บางแห่งในรัฐเซาท์ ดาโคตา (South Dakota) และรัฐโคโลราโด (Colorado) มีอุณหภูมิพุ่งพรวดทีเดียวหลายสิบองศาเซลเซียสในชั่วอึดใจ พร้อมกับเกิดลมกระโชก สภาพอากาศแปรปรวน ผืนดินแห้งผาก พืชพรรณเหี่ยวเฉา และไฟป่าลุกไหม้ สัตว์ต่างๆ จึงป่วยหรือไม่มีอาหารกิน

พืชไม่รอด สัตว์ไม่รอด แน่นอนว่ามนุษย์ก็คงหนีไม่รอดจากอิทธิพลของลมเฟินเช่นเดียวกัน เพราะมีข้อมูลทางสถิติที่ระบุว่า ลมเฟินอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพของคน ไม่ว่าจะเป็นอาการปวดหัว คลื่นไส้ เหนื่อยล้า นอนไม่หลับ ระบบไหลเวียนเลือดผิดปกติ และยัง ‘อาจ’ ทำให้บางพื้นที่ในยุโรปตอนกลางมีอัตราการเกิดอุบัติเหตุ การแสดงพฤติกรรมที่ก้าวร้าว และการฆ่าตัวตายสูงขึ้นอีกด้วย!

เราจะไปต่อกันที่ความชื้นแฉะของ ‘ฤดูฝน’ ที่ทำให้หลายคนเป็นหวัด สาเหตุที่เรามักป่วยบ่อยๆ ในฤดูฝนเป็นเพราะสิ่งแวดล้อมรอบตัวเรามีแบคทีเรียและไวรัสปะปนอยู่เป็นจำนวนมาก ด้วยขนาดที่เล็กจิ๋ว พวกมันจึงสามารถปลิวไปตามลมหรือตกลงมาพร้อมกับฝน แล้วแพร่กระจายเป็นบริเวณกว้าง อากาศที่ ‘เย็น’ และ ‘ชื้น’ เหมาะสมอย่างยิ่งต่อการเพิ่มจำนวนของเชื้อโรค การยืดอายุขัยของเชื้อโรค และทำให้ระบบภูมิคุ้มกันของเราอ่อนแอลง

เวลาที่เราเปียกฝน เรามักเผลอนำมือที่สกปรกไปสัมผัสดวงตา จมูก และปาก เชื้อโรคจึงแอบย่องเข้ามาในร่างกายของเราได้ง่ายขึ้น หากเราไปหลบฝนอยู่ใต้ชายคาเดียวกับคนหมู่มาก แล้วมีใครสักคนเป็นหวัด การไอหรือจามเพียงครั้งเดียวก็เพิ่มโอกาสการติดเชื้อได้มากโข ไม่เพียงเท่านั้น การสัมผัสกับน้ำที่ขังอยู่ตามที่ต่างๆ ยังเพิ่มโอกาสการเป็นโรคอุจจาระร่วงเฉียบพลัน โรคฉี่หนู โรคมือเท้าปากเปื่อย และยังเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุงที่เป็นพาหะนำโรคไข้เลือดออกอีกด้วย

ความจริงแล้ว สิ่งมีชีวิตที่ตากฝนแล้วป่วย ไม่ได้มีแค่มนุษย์กับสัตว์นะครับ เพราะในเม็ดฝนอาจมีกลุ่มแบคทีเรียก่อโรคที่เรียกว่า ‘Pseudomonas syringae’ ซึ่งสามารถเข้ารุกรานพืชจนเสียหายหรือป่วยได้เช่นกัน

แบคทีเรีย Pseudomonas syringae บนจานเพาะเชื้อ
photo: Howard F. Schwartz

เราจะปิดท้ายกันที่ ‘ฤดูหนาว’ เหตุการณ์นี้เกิดที่รัฐควิเบก (Quebec) ประเทศแคนาดา เมื่อปี ค.ศ. 1998 ชุมชนหลายแห่งได้ถูกพายุน้ำแข็ง (ice storm) พัดกระหน่ำเข้าใส่อย่างกะทันหันจนชาวเมืองไม่ทันตั้งตัว โครงข่ายไฟฟ้าล้มระเนระนาดและได้รับความเสียหายอย่างหนัก ทำให้หลายร้อยครอบครัวต้องใช้ชีวิตอยู่ท่ามกลางความมืดมิด ขาดแคลนอาหารเป็นเวลานานนับเดือน และป่วยด้วยภาวะอุณหภูมิร่างกายต่ำ (hypothermia) ซึ่งชาวเมืองเหล่านั้นมีทั้งผู้ชาย ผู้หญิง คนแก่ เด็ก และหญิงที่กำลังอุ้มทารกอยู่ในครรภ์

ผลกระทบของพายุน้ำแข็ง photo: NOAA

เมื่อเหตุการณ์ดังกล่าวแว่วไปเข้าหูคณะนักวิจัยแห่งมหาวิทยาลัยแมคกิลล์ (McGill University) พวกเขาก็เกิดความสงสัยว่า สุขภาพกายและจิตของหญิงที่กำลังตั้งครรภ์จะส่งผลกระทบต่อสุขภาพของลูกหลังคลอดหรือไม่ การกระตุกต่อมสงสัยของเหล่านักวิจัยกลายเป็นจุดเริ่มต้นของโครงการพายุน้ำแข็ง (project ice storm) ซึ่งเป็นการศึกษาเกี่ยวกับภาวะเครียดของมารดาก่อนคลอดบุตร (prenatal maternal stress) ที่มีผลต่อสุขภาพของบุตรตั้งแต่หลังคลอดจนเติบใหญ่ ซึ่งเป็นการวิจัยที่กินระยะเวลายาวนานเกือบ 20 ปีเต็ม!

ผลการศึกษาพบว่า หากแม่ที่กำลังตั้งครรภ์ต้องใช้ชีวิตอยู่ในสถานการณ์อดอยาก ยากลำบาก และตึงเครียด เป็นเวลานาน ร่างกายของพวกเธอจะมีฮอร์โมนเครียด (cortisol) สะสมอยู่ในปริมาณมาก ส่งผลให้ลูกหลังคลอดมีภาวะอ้วนเมื่อเติบใหญ่ รวมถึงมีพัฒนาการทางสมองและร่างกายต่ำกว่าเด็กทั่วไปในวัยเดียวกัน ยิ่งร่างกายของแม่ตกอยู่ในภาวะเครียดเป็นเวลานาน ผลกระทบที่มีต่อลูกก็จะยิ่งมีมาก คณะนักวิจัยคาดว่าสาเหตุที่ทำให้สุขภาพของเด็กเหล่านี้ผิดปกติอาจมาจากกระบวนการเหนือพันธุกรรม (epigenetic) ที่ทำให้การแสดงออกของยีนผิดแผกแปลกไป โดยไม่มีการเปลี่ยนแปลงลำดับดีเอ็นเอ แต่ตรงจุดนี้ต้องขอย้ำว่าเป็นเพียง ‘แนวโน้ม’ ที่พบในระดับกลุ่มประชากร ไม่ใช่ว่าแม่ทุกคนที่เครียดแล้วลูกทุกคนจะอ้วนไปซะหมด (แต่ผมว่าไม่เครียดจะดีที่สุด)

เห็นไหมครับว่า ลมฟ้าอากาศไม่เพียงทำให้เราร้อนจนเหงื่อตก เปียกปอนจนเป็นไข้ หรือหนาวเหน็บจนตัวสั่น แต่อิทธิพลของมันสามารถ ‘กำหนด’ ชีวิตของเรา ตั้งแต่สุขภาพกาย สุขภาพใจ ไปจนถึงความเป็นความตายเลยทีเดียว

อ้างอิง

สมาธิ ธรรมศร
นักสื่อสารวิทยาศาสตร์และนักวิชาการด้านฟิสิกส์ประยุกต์ โลกศาสตร์ และดาราศาสตร์ ที่ชื่นชอบการเดินป่า เที่ยวพิพิธภัณฑ์ และฟังเพลงวงไอดอล

Illustrator

พิชชาพร อรินทร์
เกิดและโตที่เชียงใหม่ มีลูกพี่ลูกน้องเป็นน้องหมา 4 ตัว ชอบสังเกต เก็บรายละเอียดเรื่องราวของผู้คน ตัดขาดจากโลกภายนอกด้วย playlist เพลงญี่ปุ่น อยู่ตรงกลางระหว่างหวานและเปรี้ยว นั่นคือ ส้ม

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า