สองเดือนก่อนด้วยความบังเอิญ – เราได้รับหนังสือ 2 เล่มจากสุภาพสตรีท่านหนึ่ง พร้อมข้อความว่า ‘เห็นว่าชอบมังงะ ก็เลยหยิบมาฝาก’ เรากล่าวขอบคุณด้วยความลิงโลด แล้วจึงแยกย้าย
คล้อยหลังไม่นาน เวลาล่วงดึก – เราสาวเท้าขึ้นรถไฟฟ้าอย่างไม่รีบร้อน, อีกหลายสถานีต่อจากนี้คงกินเวลาร่วมชั่วโมง ในโมงยามที่เงียบสงัด มีเพียงเสียงรถไฟเคลื่อนตัว นอกนั้นคือเสียงหายใจของเพื่อนร่วมขบวน
ด้วยความคุ้นชิน เราล้วงมือเข้าไปในกระเป๋า ควานหาบางสิ่งที่อาจจะเป็นโทรศัพท์ หรือหนังสือสักเล่ม การ์ตูน 2 เล่มของสุภาพสตรีเมื่อครู่จึงถูกหยิบขึ้นมาอย่างไม่ลังเล เมื่อพินิจอีกครั้งโดยละเอียด หนังสือเล่มนี้คือการ์ตูนเล่มไม่หนาไม่บาง ปกเขียนตัวอักษรไว้ว่า Melayu Route เปิดเส้นทางใหม่ด้วยหัวใจมลายู และอีกเล่มนั้นคือ Melayu Line เส้นทางสายลายมลายู
สองอาทิตย์ให้หลัง เราและกล้อง 1 ตัวได้มาหยุดยืนอยู่ที่ สถาบันรามจิตติ สถานที่นัดพบของเรากับ เล็ก-จิรศักดิ์ อุดหนุน และ ตอง-กิตติคุณ กิตติอมรกุล ทั้งคู่คือนักวิจัย นักทำสารคดี นัดวาดการ์ตูน ซึ่งการได้มาพบกันครั้งนี้ ต้นเหตุคือการ์ตูน 2 เล่มในวันนั้น
ตอน 1
มังงะจากงานวิจัย
“ตอง นายถนัดอยู่แล้วเรื่องวาดการ์ตูน งั้นเรามาย่อยงานวิจัยให้ออกมาเป็นมังงะดูไหม” เล็ก-จิรศักดิ์ กล่าวชักชวน ตอง-กิตติคุณ หนึ่งในทีมวิจัยฝ่ายผลิตสื่อของสถาบันรามจิตติ ที่แม้เส้นทางในรั้วมหาวิทยาลัยของเขาจะเป็นเส้นทางครุศาสตร์ เอกภาษาอังกฤษ แต่การวาดการ์ตูนนั้น ต้องบอกว่าอยู่ในสายเลือด!
“ความที่เราทำงานวิจัยโดยเฉพาะเรื่องของสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ มันมีกระแสของข่าวที่ออกไปเยอะ ในฐานะนักวิจัยรู้สึกว่า จะสื่อสารออกไปอย่างไรให้เข้าถึงคนมากขึ้น และด้วยลายเส้นของตองจะมีสไตล์ญี่ปุ่น มันจึงยิ่งทำให้มีความแปลกใหม่และเข้าถึงคนได้มากขึ้น เราเลยเอางานวิจัยมาคุยกับตอง แล้วลองทำกันดู” จิรศักดิ์ เล่าถึงเหตุผลในการชักชวนกิตติคุณ ให้มาร่วมงานการ์ตูนที่มาจากงานวิจัย
การ์ตูน 2 เล่ม ว่าด้วยเรื่อง ‘ราก’ และ ‘ลาย’ ของมลายู
“การ์ตูนแล่มแรกที่ว่าด้วย root นั้น ถอดมาจากงานวิจัยที่จะทำอย่างไรให้คนได้เห็นทุนในพื้นที่ เป็นเส้นทางที่สะท้อนผ่านตัวละครในนี้ว่า เรียนจบมาใหม่ เขาใฝ่ฝันจะไปทำงานที่กรุงเทพฯ เพื่อให้ได้เงินมา แต่การ์ตูนเล่มนี้จะพาเขาไปสำรวจพื้นที่ต่างๆ ผ่านตัวปราชญ์ชุมชน เรื่องราวในเล่มก็อิงมาจากตัวงานวิจัย คนในพื้นที่จะเห็นว่าเขามีต้นทุนมากขนาดไหน แล้วจะเปลี่ยนทุนตรงนี้เป็นคุณค่าและสร้างมูลค่าได้อย่างไร มันเลยเป็นที่มาของเล่มแรก” เขาว่า
ส่วนหนึ่งอิงจากงานวิจัย ส่วนอีกพาร์ทนั้น ตอง-กิตติคุณ ใช้ประสบการณ์ที่แวะเวียนคลุกคลีอยู่ในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ตลอดหลายปีที่ผ่านมา ทำให้เรื่องราวของ ‘ราก’ และ ‘ลาย’ ที่ล้วนว่าด้วยวัฒนธรรมมลายูนั้นมีชีวิตชีวา เข้าถึงได้ไม่ยาก แม้จะเป็นเรื่องราวที่คนนอกไม่ค่อยจะคุ้นเคยนัก ทว่าด้วยเหตุผลนั้น ต้องบอกว่า ไม่คุ้นสิยิ่งดี!
“ไม่คุ้นเคยยิ่งดี เพราะคนอ่านจะได้เปิดโลกใหม่ๆ แต่ในฐานะที่เราทำงานทั้งส่วนของคนผลิตสื่อด้วย และเรามีความผูกพันในพื้นที่ด้วย กดดันอย่างเดียวเลยคือ ข้อมูลของเราพลาดตรงไหนไหม จะตรงไหม มีตรงไหนที่เราล้ำเส้นไหม จึงต้องใช้การประสานงานคนทำกับคนในพื้นที่ค่อนข้างเยอะ” ตอง-กิตติคุณ เล่า
“อย่างในเล่มที่ 2 มีฉากที่ค่อนข้างท้าทายเรามากว่า วัฒนธรรมมุสลิมนั้นผู้หญิงก็จะปิดมิดชิด แล้วถ้าเราจะวาดผู้หญิงมุสลิมใส่ชุดว่ายน้ำจะได้ไหม เลยไปเช็คกับน้องที่เป็นเด็กมุสลิมในพื้นที่ เขาก็บอกว่า ‘ได้ ก็เหมือนชุดที่แข่งในโอลิมปิกไง’ ก็จะเหมือนชุดประดาน้ำปิดทั้งตัว เราหาข้อมูลดูถึงรู้ว่า อ๋อ มันมีชุดว่ายน้ำที่เป็นสากลแบบนี้อยู่ เราก็เลย ลองร่างเป็นสตอรี่บอร์ดให้เขาดู ว่าเขาจะว่าอะไรไหม… โอเคผ่าน”
ไม่ใช่แค่นั้น …
“หลายๆ อย่างมาจากประสบการณ์และงานวิจัย ครั้งหนึ่งที่เราไปทำงาน ได้เจอผู้หญิงที่กำลังจะเข้าพิธีแต่งงาน เขาอธิบายว่า ในพิธีจะมีสามีมาแตะที่ศีรษะเหมือนการขอพรให้กันและกัน เขาบอกว่า เป็นช่วงเวลาของความสุขที่เขาสัมผัสได้ เราเลยแนะนำตองว่า สิ่งนี้มันมีคุณค่าและสร้างพลังมากๆ โดยเฉพาะกับคนมลายู มุสลิม ก็เลยได้เพิ่มฉากนี้ในการ์ตูน” เล็ก-จิรศักดิ์ เสริม
แล้วกว่าจะได้มาซึ่งการ์ตูนทั้ง 2 เล่ม มีขั้นตอนอะไรบ้าง? – เราถาม
“เรามีข้อมูล ก็มานั่งจำแนกข้อมูลว่ามีเรื่องของอะไรบ้าง แต่ละเรื่องมีรายละเอียดอะไรบ้าง แล้วก็มาดูโจทย์ที่ทางพี่เล็กอยากได้ เราก็เอาข้อมูลกับโจทย์มาผูกกันเป็นเรื่อง จากนั้นเข้าสู่ขั้นตอนออกแบบตัวละคร เหมือนกระบวนการทำมังงะทั่วไปเลย มีข้อมูล ทำคาแรคเตอร์ดีไซน์ แล้วก็เริ่มร่างภาพหยาบๆ ว่าตัวละครจะเป็นแบบไหน บทพูดอย่างไร
“จากนั้นส่งให้คนในพื้นที่อ่านก่อน ให้เขาเช็คว่าตรงไหนผิดกับความเชื่อหรือวิถีของเขาไหม หรือตรงไหนที่เราไม่ควรเล่า หรือจุดไหนที่เราก้าวล่วงเขาเกินไป เราให้คนในพื้นที่เช็คและปรับแก้ แล้วจึงค่อยทำลงเส้นจริง” ตองเล่า
ด้วยขั้นตอนที่ยึดโยงกับข้อมูลวิจัย ไปจนถึงการรีเสริ์ชผ่านถ้อยคำของคนในพื้นที่ ทำให้การ์ตูนเรื่องนี้อัดแน่นไปด้วยวิถีมุสลิม-มลายูขนานแท้ ตั้งแต่สถานที่ทางวัฒนธรรม ขนบและความเชื่อของคนพื้นที่ งานฝีมือที่บอกเล่าเรื่องราวของผู้คน และการดำเนินเรื่องสนุกจนเกินคาด
“ตอนเราเริ่มทำ พื้นที่แถบนั้นสีแดงม้ากมาก ถ้าถามว่ามาไกลไหม… ไกลครับ ที่บอกว่าไกล เพราะหากเริ่มจากการบุกป่าไปในครั้งนั้น วันนี้พวกเขาแข็งเเรงขึ้นมาก และเเข็งแรงได้อีก”
จิรศักดิ์หมายถึงจุดตั้งต้นของมังงะชิ้นนี้ ที่เริ่มจากงานวิจัย
ตอนที่ 2
เด็กผู้ชายหายไปไหนหมดดดดดดด!
จุดหมายของการสนทนา เริ่มต้นด้วยการ์ตูนมังงะว่าด้วยเรื่องราววิถีมลายู ทว่าเมื่อสืบสาวราวเรื่องได้สักพัก เราพบว่า มังงะนั้นคือปลายทาง ทว่าจุดสตาร์ทของพวกเขา คืองานวิจัยที่ว่าด้วยการพัฒนาเด็กและเยาวชนนอกระบบในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ เล็ก-จิรศักดิ์ บอกว่า มันเริ่มจากการบุกป่า และคำถามที่ว่า ‘เด็กผู้ชาย…หายไปไหน!’
“เราและทีมทำเรื่องของการพัฒนาเด็กและเยาวชนนอกระบบในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยที่เรารู้สึกว่า อยากยกระดับคุณภาพชีวิตของเขา เพราะว่าก่อนหน้านั้นเราทำสำรวจสภาวะการณ์ของเยาวชนนอกระบบในสามชายแดนใต้ พบว่า เด็กเขาทิ้งชุมชน ออกจากชุมชน และหนีห่างจากชุมชน บ้างก็ออกไปหางานข้างนอก บ้างก็ไปเข้าป่าแถวๆ บ้าน ไปรวมตัวกัน บ้างก็ไปต้มน้ำกระท่อม” เล็กเล่า
เรามองไปที่ทุนทางวัฒนธรรมที่เขามี เพราะเด็กเหล่านี้เป็นเด็กนอกระบบอยู่แล้ว บางคนเป็นลูกหลานช่างฝีมือเสียด้วยซ้ำ โดยที่เขาก็ไม่เคยรู้หรอกว่า สิ่งที่เขาทำมันคือภูมิปัญญาช่างดั้งเดิม เราเลยคิดว่า จะทำยังไงในการเอางานวิจัยเข้าไปช่วย เอากระบวนการดีไซน์ กระบวนการฟื้นความรู้ที่ทำให้เขาตระหนักถึงต้นทุนทางวัฒนธรรมที่มี เพื่อทำให้เขาเห็นคุณค่าในสิ่งที่มีและเห็นถึงความเป็นไปได้ที่เขาจะอยู่กับชุมชนได้โดยที่มีอาชีพที่ไม่ใช่แค่ตัดยาง
‘ชักเย่อ’ คือโจทย์ที่จิรศักดิ์ และทีมวิจัยตั้งไว้กับการทำงานครั้งนี้ หมายความว่า พวกเขากำลังนำองค์ความรู้จากงานวิจัย กระบวนการทำงานกับเยาวชน และแง่งามทางวัฒนธรรมมายึดโยงเด็กๆ กับชุมชน
“ต้องเข้าใจก่อนว่า ในบางพื้นที่นั้น งานหัตกรรมที่เกิดจากภูมิปัญญามันทำให้ได้เงินช้า บางพื้นที่เขาต้มน้ำกระท่อมขายมีรายได้เกือบ 5,000 บาทต่อวัน กลายเป็นว่า แล้วเราจะทำยังไงดีที่จะชวนพวกเขามาทำหัตถกรรมที่มาจากต้นทุนในพื้นที่ของคุณ เราก็ต้องไปชักเย่อกับการต้มน้ำกระท่อมที่ได้เงินมากกว่า ต้องทำให้เขาได้สัมผัสว่ามันมีโอกาสนะ แล้วคุณสามารถไปต่อได้”
ตอน 3
เมื่อเด็ก (ถูกผลักสู่) นอกระบบ
จากการสืบสาวไปที่ต้นสายปลายเหตุที่ผลักเด็กกลุ่มนี้ออกจากระบบ ก็คงไม่พ้นปัญหาของระบบการศึกษาไทย ที่ไม่ตอบโจทย์กับชีวิตของเด็กมุสลิม
“เพราะพวกเขาไม่รู้ว่าเรียนไปทำไม เราต้องเข้าใจก่อนว่า บริบทของความเป็นมลายู-มุสลิม ชีวิตของเขาผูกพันกับศาสนา ซึ่งบริบทของบางโรงเรียนนั้นก็ไม่ได้มีหลักสูตรที่เป็นสามัญควบกับศาสนา จะมีแค่บางโรงเรียนเท่านั้น เมื่อเด็กต้องไปเรียน เขาก็พบว่า ‘คุณก็ไม่เข้าใจศาสนาของเรา’ บางโรงเรียนสอนแต่ศาสนาพุทธ มันไม่ตอบชีวิตเขา หรือบางทีเรียนเรื่องของวิชาการ ก็ไม่ตอบชีวิตเขาเหมือนกัน สุดท้ายเขาก็ทิ้ง
พอเขาทิ้งการเรียน ทำอะไรในชุมชนล่ะ? ไม่มีอะไรให้ทำ มีแค่รับจ้างทั่วไป ถ้ามีเส้นมีสายหน่อยก็จะออกไปหางานทำที่มาเลเซีย ไปเป็นแรงงาน แต่หนักกว่านั้น ถ้าไม่มีเส้นสายก็ไปแบบผิดกฎหมาย สุดท้ายก็โดนจับ หนักกว่าเดิม จากการที่หวังออกจากพื้นที่เพื่อไปหาเงิน แต่พอไปทำแบบผิดกฎหมาย โดนขังคุกที่มาเลเซีย เงินก็ไม่ได้ รายได้ก็ไม่มี
“จริงๆ แล้วมันไม่ได้มีอะไรไปมากกว่าการหาโอกาสที่บ้านตัวเองไม่มี เขาก็เลยต้องออกไป เพราะในพื้นที่มันมีไม่พอ การส่งเสริมของภาครัฐมันก็ไม่ถูกจุด ไปส่งเสริมเกษตร แต่ส่งเสริมแล้วก็ไม่ทำการตลาดให้เขา พอเขาปลูกตามที่คุณบอก นโยบายเปลี่ยนก็ต้องเปลี่ยนกันยกใหญ่อีก บางพื้นถิ่นมีชื่อเรื่องการปลูกข้าว ปัจจุบันปลูกข้าวไม่เป็นแล้ว เพราะไปส่งเสริมยางพาราอย่างเดียว สุดท้ายแล้วยังไง? ตอนนี้ก็ไปส่งเสริมปาล์มอีก
“เลยกลายเป็นว่า เขาต้องออกไปเพราะไม่เห็นโอกาสในบ้านของตัวเอง มันหลายอย่างนะครับ อย่างเช่นไปส่งเสริมให้เขาเลี้ยงวัวสายพันธุ์ที่ไม่เหมาะกับพื้นที่ ผมก็ไม่เข้าใจเหมือนกันว่าคำสั่งมันมายังไง”
การศึกษาที่ไม่สร้างความหมายต่อชีวิตก็ส่วนหนึ่ง ทว่าลึกลงไป สถาบันครอบครัว ก็เป็นอีกตัวแปรสำคัญที่จิรศักดิ์ และทีมวิจัยพบว่า เมื่อพ่อแม่ส่วนใหญ่ต้องไปขายแรงงาน ส่งมาเพียงเงินเพื่อจุนเจือลูกน้อย ระยะที่ห่างเหิน ความอบอุ่นที่เบาบาง ปลายทางจึงเป็นเด็กคนหนึ่งที่เติบโตมาโดยไร้ซึ่งความมั่นคงทางจิตใจ
ไม่ใช่เพียงหนึ่งปี สองปี หรือสามปี เล็กบอกเราว่า การทำงานเช่นนี้ สำคัญคือการไว้วางใจ ยิ่งในพื้นที่ที่มีความเปราะบางและความขัดแย้งมายาวนานอย่างสามจังหวัดชายแดนใต้ ทำให้กว่าที่พวกเขาจะให้ความเชื่อใจได้นั้น ใช้เวลานานนับ 10 ปี
“…ไม่ง่ายเลย” (จิรศักดิ์ส่ายหัว)
ช่วงแรกบอกได้เลยว่า มือขวาถือกล้อง ใต้ใหล่มีปืนนะ ใต้เสื้อเป็นชุดเกราะนะครับ ยุคแรกๆ เป็นอย่างนั้นเลย เราไปตั้งแต่ยุคเผาโรงเรียน เขาก็ไม่ไว้ใจเรา เราก็ไม่ไว้ใจเขา บรรยากาศเป็นอย่างนั้นเลยนะช่วงแแรก เราเดินไปในชุมชน ทุกบ้านมองเราหมด ไอ้เราก็กลัวว่าจะไหวไหมวะ!
“พอเราทำงานไปเรื่อยๆ ค่อยๆ ซึมซับวัฒนธรรมของเขา เข้าใจเขา เรารู้ว่าเขามีวัฒนธรรมการใช้ชีวิตอย่างไร ศาสนาสัมพันธ์กับชีวิตอย่างไร เราเข้าใจในวิถีชีวิตของเขามากขึ้น ทำให้เราทำงานกับเขาได้ เช่น เราทำงานกับเขาช่วงศีลอด เราก็อดไปกับเขาด้วยทั้งวัน เขาไม่ได้กินน้ำ เราก็ไม่ได้กิน เราก็หิวเขาก็หิว จะให้เราไปกินโชว์เขา มันก็ไม่ใช่ไง (หัวเราะ)
“มันจึงกลายเป็นการทำงานที่กลืนไปกับวัฒนธรรมเขา เหมือนเพื่อนของเขา เพราะนอกจากพื้นที่และตัวเยาวชนแล้ว เขาก็จะมีชุดความคิดอีกแบบหนึ่งในการปฏิบัติกับคนนอก เขาจะมีการเรียกร้องบางอย่างที่แสดงถึงตัวตนของเขา ในฐานะที่เราลงไปทำวิจัย เราเป็นตัวแทนของคนที่รับทุนจากหน่วยงาน ซึ่งบางที หน่วยงานภาครัฐที่ลงไปทำงานกับชุมชนก็จะปฏิบัติแบบไม่เข้าใจในวิถีของพวกเขา
เช่นอะไรบ้าง – เราถาม
“อย่างการเข้ามัสยิด คุณไม่ถอดรองเท้า ทหารก็ไม่ถอดบูทอยู่แล้ว แต่สำหรับคนในชุมชน มัสยิดเป็นพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ มันก็จะหาทางออกไม่ได้ บ้านนู้นก็โดนจับจังเลย จับแล้วก็ปล่อย จับแล้วก็ปล่อย ไม่รู้ทำไม บางทีเขาก็สะท้อนว่า ‘อยากให้กูเป็นโจรขนาดนั้นเลยเหรอวะ’
อีกอุปสรรคที่จิรศักดิ์และทีมต้องเผชิญ คือการทำงานภายใต้ทุนวิจัยจากหน่วยงานรัฐ ซึ่งทำให้คนในพื้นที่ไม่ไว้เนื้อเชื่อใจ เราจึงถามต่อไปว่า – อะไรที่เขาเหล่านั้นถูกกระทำบ้าง
เด็กที่เราไปทำงานด้วยเขาเล่าให้ฟังว่า ‘พี่ อยู่ดีๆ ผมกลายเป็นผู้ก่อการร้ายกลับใจ’ เราก็ถามว่าทำไมวะ ‘ก็เขามาเรียกพวกผมให้ไปอบรมกับเขา พอไปถึงอบรมนู่นนี่นั่นเสร็จ หน่วยงานก็ถ่ายรูปเขียนป้ายว่า คืนคนดีสู่สังคม’ …ก็ไปทำกับเขาอย่างนั้นไงครับ (ส่ายหัวอีกครั้ง) เด็กๆ เขาก็บอกว่า ‘เฮ้ยพี่ ผมกลายเป็นผู้ร้ายกลับใจไปแล้วเหรอ?’ สิ่งนี้มันคือหลายๆ อย่างที่คนในพื้นที่โดนกระทำ
“มีครั้งหนึ่ง เราจัดทริปการปั้นหม้อ โดยการเชิญชวนคนภายนอกไปดูชุมชนด้วยกันนับสิบคน ตกกลางคืนอยู่ดีๆ ก็มีชาวบ้านเดินมากลุ่มใหญ่ เราก็งงว่าเกิดอะไรขึ้น พอเขาเดินมาก็บอกเราว่า ‘ได้ข่าวว่าพวกคุณมาดูการทำหัตถกรรมที่นี่ หมู่บ้านเราก็มีนะ ถ้ามีโอกาสก็ไปหมู่บ้านเราบ้างสิ’ เป็นชาวบ้านจากหมู่บ้านใกล้ๆ สิ่งนี้แสดงให้เห็นว่า ในพื้นที่จริงๆ เขาไม่ได้ปิดกั้น เขาต้องการโอกาสและค่อนข้างเปิด เพียงแต่ว่าเราจะทำอย่างไรที่จะทำให้ทั้งเราและเขาเชื่อมกันได้ ไว้ใจกันได้มากกว่า” จิรศักดิ์ว่า
ตอน 4
ตามหารากของเราในดินแดนของเพื่อนบ้าน
“เราตั้งต้นจากความต้องการของเยาวชนในพื้นที่เลย เราคุยกับเขาเลยว่า ถ้าเราจะทำงานบนฐานวัฒนธรรมของคุณ สิ่งแรกที่คุณอยากรู้คืออะไร”
“แล้วเขาอยากรู้อะไร”
“เขาอยากรู้รากของตัวเอง” จิรศักดิ์ตอบ
‘พวกผมอยากรู้ว่า ลวดลายมลายูที่แท้จริงมันเป็นยังไง?’
คือคำตอบของเด็กในชุมชน เพราะเขาเหล่านั้นล้วนเติบโตมากับงานช่างและหัตถกรรมมาตั้งแต่จำความได้ ซึ่งเมื่อความต้องการถูกส่งมาเช่นนี้ จิรศักดิ์และทีมจึงออกสืบเสาะหาปราชญ์จากประเทศมาเลเซีย มาเป็นครูให้เยาวชนได้เรียนรู้ถึงลวดลายมลายูที่เขาเคยเห็น เคยทำ แต่ไม่เคยเข้าใจรากที่แท้จริง
“การเวิร์คช็อปครั้งนั้นเด็กๆ ได้ความรู้เต็มที่ และทำให้พวกเขาเห็นว่า ต้นตอของภูมิปัญญาที่สืบทอดกันมานั้น รากมันมาอย่างไร เพราะก่อนหน้านี้เขาก็บอกแค่ว่า ‘พ่อแม่ผมสอนมาแบบนี้ ลายแบบนี้’ แต่พอเราเชิญปราชญ์มา เขาจึงรู้ถึงราก และสามารถนำไปพัฒนาต่อได้อีก”
เมื่อเหล่าเยาวชนได้แง้มประตูไปพบรากของต้นผ่านการเรียนรู้จากปราชญ์คนสำคัญ เล็กและทีมก็ไม่รอช้าในการผลักประตูบานนั้นให้เปิดกว้าง โดยการจัดทริปทัศนศึกษายังดินแดนเพื่อนบ้าน ณ ประเทศมาเลเซีย อันมีรากแห่งวัฒนธรรมร่วมกันนับต่อจากบรรพบุรุษ
“โอ้โห เหนื่อยมาก แทบไม่ได้พักเลย” เล็กอุทานก่อนเข้าเรื่อง และเริ่มเล่าการเดินทางครั้งนั้นด้วยเสียงที่เจือไปด้วยความสนุก
“เราพาพวกเขาไปดูงานที่มาเลเซียตอนเหนือที่ติดกับไทย ตัวลุ่มวัฒนธรรมของมลายูที่ยังคงเหลือและมีรากร่วมกัน ทางตรังกานู โกตาบารู ไล่ไปตามขอบเส้นกั้นทางน้ำ โซนเหล่านี้ยังคงมีรากร่วมกันอยู่ เราพาเด็กๆ ไปเพื่อให้เขาเห็นว่า ตัววัฒนธรรมของคุณนั้นมันอยู่ลุ่มเดียวกัน แล้วเชื่อมโยงกันอย่างไร และทุนทางวัฒนธรรมที่คุณมีนั้น สำคัญอย่างไร
“ซึ่งพิพิธภัณฑ์หลายๆ ที่ที่มาเลเซียเก็บเงินแพงนะครับ ที่ไปทัศนศึกษาครั้งนั้น เสียเงินค่าเข้าพิพิธภัณฑ์เยอะมากนะครับ แต่พิพิธภัณฑ์บ้านเราไม่เก็บตังค์ยังแทบจะไม่มีคนเข้าไปดูเลย มันเป็นเรื่องที่น่าแปลกเหมือนกันนะ”
“พวกเขาไปเจออะไรกันบ้าง” – เราถาม …และเขาเริ่มเล่าต่อ
“ไปโดนตอกกลับอย่างหนักหนาสาหัส” จิรศักดิ์ว่า
พิพิธภัณฑ์ของเราไม่ได้มีอะไรมากมายเลย ของที่คุณเห็นในพิพิธภัณฑ์ก็มาจากบ้านของคุณทั้งนั้น ทำไมถึงมาจากบ้านของคุณล่ะ? ก็เพราะพวกคุณไม่สนใจ ถ้วยชามที่แตกๆ พวกคุณเดินเหยียบเดิมข้าม ไม่สนใจ เราเลยไปรวบรวมแล้วเอามาไว้ในพิพิธภัณฑ์ของเราที่มาเลเซีย
คือถ้อยคำจากเจ้าหน้าที่พิพิธภัณฑ์ของมาเลเซีย ที่ทำเอาจิรศักดิ์และเหล่าเยาวชนได้แต่เพียงยิ้มแหยๆ หรือว่ากันตามตรง ทัศนศึกษาครั้งนี้ทำให้พวกเขาปะทะกับความจริงที่ว่า “เรากำลังพาคนของเราไปดูงานของเราเอง” หัวเราะร่วนและเล่าต่อ
“เราไปเจอปราชญ์ที่… ปราชญ์ท่านนี้เก่งมากนะ เป็นคนรวบรวมศิลปะลวดลายมลายูที่เป็นลายเส้นต่างๆ งานของเขาอลังการสวยงาม และเป็นคนที่ถ้าคุณอยากจะเรียนรู้เรื่องลายมลายู ต้องไปเรียนกับเขา ซึ่งเขาก็ตอกเราเจ็บอีกว่า ‘ผมใช้เวลา 20 ปีในการเก็บรวบรวมศิลปะมลายูไว้ แล้ว 20 ปีนั้นผมอยู่ปัตตานี ซึ่งถ้าพวกคุณอยากจะเอาคืนผมก็ยินดีให้’”
‘โหพี่ มันเป็นของเราอะ ทำไมเราไม่รักษา’ คือเสียงสะท้อนของเยาวชนคนหนึ่งที่ร่วมเดินทางไปครั้งนั้น และเป็นประโยคที่เล็กและทีมรู้สึกว่า การเดินทางเพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้พวกเขาครั้งนี้ บรรลุความตั้งใจแล้ว
ตอน 5
อาเนาะกายู ต้นกล้าแห่งงานศิลป์ (ร่วมกัน)
ไทม์ไลน์โดยคร่าว เริ่มต้นจากการค้นหาความต้องการของเหล่าเยาวชนนอกระบบ กระทั่งพบต้นทุนทางวัฒนธรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่นที่พวกเขามี สู่การเดินทางค้นหาราก การทำงานเพื่อพัฒนาศักยภาพผ่านการสนับสนุนจากทีมวิจัยสถาบันรามจิตติภายใต้ ‘โครงการศึกษาคุณค่าและพัฒนาผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นบนฐานทางวัฒนธรรมของกลุ่มเยาวชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้’
เหล่านี้ – จึงก่อกำเนิดเป็น อาเนาะกายู ที่แปลว่า ‘ลูกไม้’ แต่พวกเขาขนานนามตนเองว่า ต้นกล้าของการทำงานศิลป์ร่วมกัน
“ปัจจุบันอยู่ในช่วงที่เรากำลังให้เด็กๆ คัดเลือกความเป็นตัวตนของตัวเอง ทั้งเรื่องโลโก้ แล้วเขาก็กำลังพัฒนางานฝีมือของเขาภายใต้แบรนด์ ‘อาเนาะกายู’ ร่วมกันอยู่ กลุ่มที่สร้างรายได้มากที่สุดคือ บาราโหม จังหวัดปัตตานี กลุ่มนี้เป็นกลุ่มมุสลิมม๊ะ (กลุ่มมุสลิมผู้หญิง) เริ่มจากสามีของพวกเขาไปทำงานที่มาเลเซียหรือประเทศอื่นๆ คนที่เป็นแม่บ้านก็ไม่รู้จะทำอะไร ก็เลยรวมตัวกันดีไซน์งานขึ้นมา ตัวงานวิจัยเราก็ไปช่วยทำให้เรื่องราวของเขาเข้มเเข็งมากขึ้น เอาสื่อไปสปอตไล์เขาสู่สาธารณะมากขึ้น ทำให้แบรนด์แข็งแรงขึ้นมาและสร้างรายได้ค่อนข้างเยอะเลย
“ส่วนแกนนำของกลุ่มอาเนาะกายูในรุ่นแรกๆ ที่ทำกันมา เขาแข็งแรงแล้ว และเป็นหัวใจของการดึงเยาวชนทุกๆ คนมาพัฒนาร่วมกันภายใต้แบรนด์อาเนาะกายู”
“ในเฟสแรกจะมี 6 กลุ่ม ปัจจุบันก็เพิ่มมาอีก 6 กลุ่ม เป็น 12 กลุ่ม ซึ่งก่อนหน้านี้เราได้เสียไปหนึ่งกลุ่มที่เขาทำเรื่องกรงนกคุ้ม เขาเก่งมาก แต่เขาไปเป็น กองอาสารักษาดินแดน (อส.) ด้วยเพราะมีประกาศให้ไปรับราชการ ไปฝึกทหาร เป็น อส.ประจำอำเภอ
ต้องบอกว่า ชีวิตของเด็กที่อยู่นอกระบบมาโดยตลอด เลี้ยงวัวและกรีดยางมาตลอด พอมีโอกาสมาว่า คุณมาสมัครสิ แล้วคุณก็จะได้เงินเดือน มีเครื่องแบบ เขาก็ละทิ้งตัวตนของตัวเอง ซึ่งจะบอกว่าเป็นความหวังดีของภาครัฐก็ใช่ แต่หลายๆ ส่วนก็ทำให้เห็นถึงการให้ค่าของคนเหมือนกันว่าทำไมเขาถึงมองหาเครื่องแบบ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะการยอมรับของคนในพื้นที่ คนในสังคม เราจึงเสียไปกลุ่มหนึ่ง น่าเสียดายครับ
ปัจจุบัน อาเนาะกายูคือร่มใหญ่ที่ประกอบด้วยกลุ่มเยาวชน 11 กลุ่มครอบคลุมทั้งสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ในการพัฒนางานภูมิปัญญาในพื้นที่ของต้น และผลักดันอาเนาะกายูเป็นเเบรนด์สินค้าสู่การยอมรับของสากล
“เราอยากให้แบรนด์อาเนาะกายูของพวกเขาเเข็งแรงและเป็นที่ยอมรับในตลาดภายนอก แล้วเขาสามารถหมุนเวียนตัวผลิตภัณฑ์และสร้างรายได้ให้กับพวกเขาได้อย่างชัดเจน ให้คนทำงานอยู่ได้ เพราะเราก็พยายามที่จะเอาตัวทุนวิจัยที่ยังพอมีอยู่ ทำอย่างไรที่จะเอาไว้ใช้ในการผลักแบรนด์ให้ไปต่อหลังจากงานวิจัยจบแล้ว หาโอกาสที่จะทำให้เรื่องราวและแบรนด์ของพวกเขาเดินทางออกนอกพื้นที่ได้มากขึ้น” จิรศักดิ์เล่า
จากการอ่านมังงะในรถไฟฟ้า ไม่น่าเชื่อว่าหนังสือการ์ตูน 2 เล่มนี้ ได้พาเราไปไกลถึงสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ และได้เข้าไปเห็นชีวิตจริงของตัวละครในการ์ตูน
สามารถติดตามการ์ตูนของพวกเขาได้ที่: Documentarism