ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิว บาปในอดีตของเยอรมนี กับการชำระความทรงจำและสำนึกของคนรุ่นใหม่

การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิว ที่นำโดยอดอล์ฟ ฮิตเลอร์ (Adolf Hitler) และพรรคนาซี ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นบาดแผลฝังลึกของโลกและเยอรมนีมานานเกือบ 80 ปี คนเยอรมันที่เกิดหลังสงครามต้องรับรู้การกระทำอันป่าเถื่อนของบรรพบุรุษตนเองที่ถูกพิพากษาว่าเป็นอาชญากรต่อมนุษยชาติ เป็นความทรงจำที่เลวร้ายที่สุดประการหนึ่งของมนุษย์โลก 

ไม่ง่ายนักที่ชนชาติหนึ่งๆ จะแบกรับและจัดการกับบาดแผลที่ฝังลึกและรุนแรง แต่เยอรมนีกลับได้รับคำยกย่องจากหลายประเทศว่าสามารถรับมือกับบาดแผลที่เกิดจากการกระทำของบรรรพบุรุษตนเองได้ดี บทความนี้ชวนทุกคนเหลียวมองกระบวนการแบกรับประวัติศาสตร์ชาติที่เจ็บปวดของสังคมเยอรมัน 

การทำงานของนักประวัติศาสตร์ จากผู้ถูกกระทำสู่ผู้กระทำ

เช่นเดียวกับประเทศอื่นๆ ทั่วโลก การสร้างภาพจำเกี่ยวกับเหตุการณ์ในอดีตของประเทศย่อมเกิดจากบันทึกและมุมมองของนักประวัติศาสตร์ ภาพจำของชาวเยอรมันต่อเหตุการณ์ต่างๆ ในสงครามโลกครั้งที่ 2 รวมถึงการสังหารหมู่ชาวยิว ค่อยๆ พัฒนาขึ้นตามการรับรู้ของนักประวัติศาสตร์ที่มีการเปลี่ยนแปลงตามข้อมูลและผลการศึกษาที่พวกเขาค้นพบ

งานเขียนของนักประวัติศาสตร์ชาวเยอรมันหลายคนแสดงให้เห็นว่าในช่วงแรก โดยเฉพาะ 1 ปีแรก หลังสงครามสิ้นสุด มุมมองและความทรงจำของชาวเยอรมันที่มีต่อส่งครามโลกครั้งที่ 2 คือ การที่ประเทศและคนเยอรมันตกเป็นเหยื่อของฮิตเลอร์และพรรคนาซีหรือพรรคสังคมนิยมแห่งชาติเยอรมนีที่เข้ามาปกครองประเทศตั้งแต่ ค.ศ. 1933 และพยายามเปลี่ยนสาธารณรัฐไวมาร์ (Weimar Republic) ให้กลายเป็นรัฐเผด็จการหรือจักรวรรดิไรช์ที่ 3 (The Third Reich) มีการจำกัดสิทธิประชาชนและปราบปรามผู้เห็นต่าง รวมถึงนำประเทศเข้าสู่สงครามโลกครั้งที่ 2 โดยมีข้อมูลระบุว่าในช่วง ค.ศ. 1946 ขวบปีแรกหลังสงคราม ชาวเยอรมันส่วนใหญ่ รวมทั้งนักประวัติศาสตร์เองยังไม่รู้เกี่ยวกับการสังหารหมู่ชาวยิว รวมทั้งเรื่องราวเกี่ยวกับค่ายกักกันต่างๆ โดยเรื่องราวเกี่ยวกับสงคราม ความอดอยาก และความโหดร้ายของฮิตเลอร์ ถูกบอกเล่าผ่านกันระหว่างสมาชิกในครอบครัว ซึ่งไม่เคยมีการพูดเกี่ยวกับการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิว

ประวัติศาสตร์สงครามโลกในการรับรู้ชาวเยอรมันในช่วงทศวรรษ 1950-1960 จึงให้ความสำคัญกับ ‘เหยื่อ’ ของสงครามคือประชาชนในชาติต่างๆ ที่ได้รับผลจากสงคราม โดยมีชาวเยอรมันเป็นเหยื่อลำดับต้นๆ 

แม้ภายหลังจะมีหลักฐานเชิงประจักษ์เรื่องการสังหารหมู่ชาวยิว โดยเฉพาะช่วงปลายทศวรรษ 1950 ต่อทศวรรษ 1960 ที่ศาลโลกพิจารณาคดีที่เกี่ยวกับอาชญากรรมสงคราม รวมถึงการพิจารณาคดีค่ายกักกันเอาชวิตซ์ (Auschwitz) ซึ่งมีสมาชิกพรรคนาซีหลายคนเป็นอาชญากรสงคราม สังคมเยอรมันในยุคนั้นยังคงมองว่า ความทารุณโหดร้ายที่เกิดขึ้นไม่ใช่เป็นการกระทำของประเทศเยอรมนี 

หนังสือเรื่อง Die deutsche Katastrophe: Betrachtungen und Erinnerungen (The German Catastrophe: Contemplations and Recollections) ซึ่งเป็นบันทึกประวัติศาสตร์สงครามโลกครั้งที่ 2 ในมุมมองของประเทศเยอรมนี เขียนโดยฟรีดริช ไมเนคเคอ (Friedrich Meinecke) (1862-1954) นักประวัติศาสตร์ชาวเยอรมันผู้โด่งดังคนหนึ่ง บอกเล่าถึงบทบาทประเทศเยอรมนีในการสังหารหมู่ครั้งนั้นว่า ประเทศเยอรมนีถูกฮิตเลอร์และสมาชิกพรรคนาซี ซึ่งเป็นเพียงคนกลุ่มเล็กๆ และวิกลจริต หลอกลวง สร้างความเสียหายต่อประเทศและวัฒนธรรมของเยอรมนี การกระทำของฮิตเลอร์และพรรคนาซีจึงไม่ใช่การกระทำผิดของประเทศเยอรมนี 

เด็กและเยาวชนที่เข้าสู่ระบบโรงเรียนในช่วง 2 ทศวรรษแรกหลังสงคราม จึงเติบโตมาพร้อมกับการหล่อหลอมของตำราเรียนเกี่ยวกับสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่ให้น้ำหนักกับเนื้อหา 2 ประเด็น คือ 1) สถานการณ์สงคราม ตั้งแต่การสู้รบ ภาวะอดอยากยากแค้น รวมถึงการเนรเทศประชาชนออกจากเยอรมนีตะวันออก 2) ความสูญเสียมหาศาลของประเทศเยอรมนีที่เกิดจาก ‘สงครามของฮิตเลอร์’ ทั้งการเสียชีวิต สูญเสียบ้านเรือน ดินแดน และทรัพย์สิน 

การมองและยอมรับว่า การสังหารหมู่ชาวยิวเป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์เยอรมนีสมัยใหม่ เพิ่งเกิดขึ้นในช่วงทศวรรษ 1980-1990 เมื่อนักประวัติศาสตร์เริ่มศึกษาเจาะลึกเกี่ยวกับการสังหารหมู่เพื่อล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิว ปัจจัยสำคัญที่เป็นตัวกระตุ้นความอยากรู้อยากเห็นของนักประวัติศาสตร์เยอรมนีคือ การที่หอจดหมายเหตุของรัฐต่างๆ ที่เคยเป็นส่วนหนึ่งของสหภาพโซเวียตและรัฐที่เคยตกเป็นเหยื่อการสังหารหมู่ของฮิตเลอร์และนาซี เช่น เบลารุส ลิทัวเนีย โปแลนด์ และยูเครน เปิดให้สาธารณชนเข้าถึงข้อมูลด้วยตนเองได้ 

ข้อมูลเชิงลึกที่ไม่เคยอยู่ในการรับรู้ของนักประวัติศาสตร์เยอรมนีจึงค่อยๆ ปรากฏมากขึ้น โดยเฉพาะข้อมูลเกี่ยวกับความร่วมมือของพรรคนาซีกับขบวนการฟาสซิสต์ เพื่อต่อต้านยิวในรัฐต่างๆ ของสหภาพโซเวียตในขณะนั้น เช่น องค์กรชาตินิยมยูเครน (Organization of Ukrainian Nationalists หรือ Orhanizatsia Ukraїns’kykh Natsionalistiv: OUN) กองกำลังใต้ดินที่มุ่งปลดปล่อยยูเครนจากสหภาพโซเวียต การร่วมมือกับพรรคแห่งชาติโปแลนด์ (National Party) พรรคการเมืองฝ่ายขวาที่มีแนวคิดต่อต้านยิว ซึ่งมีหลักฐานยืนยันว่าได้รับการสนับสนุนจากเยอรมนีก่อเหตุสังหารหมู่ชาวยิวในเมืองเยดวับเน (Jedwabne) หลังจากที่เยอรมนีเข้ายึดครองโปแลนด์ในปี 1941 การสังหารหมู่ครั้งนี้ถูกบันทึกในประวัติศาสตร์โปแลนด์ว่า Jedwabne pogrom รวมถึงมีการร่วมมือกับกลุ่มที่ชื่อว่า žydšaudžiai ซึ่งเป็นกลุ่มการเมืองที่คอยไล่ล่าชาวยิวในลิทัวเนีย

การเข้าถึงข้อมูลหลักฐานต่างๆ ได้มากขึ้น ทำให้การศึกษาประวัติศาสตร์สงครามโลกครั้งที่ 2 ของนักประวัติศาสตร์เยอรมนีในช่วงหลัง สามารถผลิตข้อมูลที่กว้างและลึกกว่าที่เคยผลิตในช่วงแรกๆ เริ่มมีงานเขียนที่แสดงให้เห็นว่าการสังหารหมู่ที่เกิดขึ้นไม่สามารถถูกลดทอนลงเป็นเพียงการกระทำของคนกลุ่มเล็กๆ เพราะจริงๆ แล้วเส้นแบ่งระหว่างนาซีและเยอรมนีนั้นเบาบางมาก และที่สำคัญชาวเยอรมันจำนวนไม่น้อยรู้เห็นการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ และเฝ้าดูมันดำเนินไปอย่างเงียบๆ  ทศวรรษ 1980-1990 เป็นช่วงที่สังคมเยอรมันเริ่มพูดถึงบทบาทของประเทศตนเองในสงครามโลกครั้งที่ 2 ในฐานะ ‘ผู้กระทำ’ มากกว่า ‘ผู้ถูกกระทำ’ และมีเวทีสาธารณะพูดถึงการสังหารหมู่ในฐานะส่วนหนึ่งของการกระทำของจักรวรรดิไรช์ที่ 3 ภาพของเยอรมนีในฐานะ ‘เหยื่อ’ ของสงครามกลายเป็นเรื่องต้องห้ามของสังคมเยอรมันในช่วง 2 ทศวรรษนี้ จน ดับเบิลยู จี เซบาลด์ (W.G. Sebald) นักเขียนชื่อดังชาวเยอรมัน ซึ่งเกิดก่อนสงครามสิ้นสุด 1 ปี เรียกคนเยอรมันว่าเป็น ‘เหยื่อที่ถูกลืม’ (forgotten victims) ของการพูดคุยเกี่ยวกับสงครามโลกในสังคมเยอรมันยุคนั้น

ดับเบิลยู จี เซบาลด์ (W.G. Sebald)

ภาพของเยอรมนีในฐานะเหยื่อของสงคราม กลับมาเป็นเนื้อหาส่วนหนึ่งในกระบวนการการสร้างความทรงจำเกี่ยวกับสงครามอีกครั้งในปี 1997 เมื่อเซบาลด์เปิดประเด็นความทุกข์ทรมานของเหยื่อที่ถูกลืม ในการบรรยายสาธารณะของเขาที่กรุงซูริค สวิตเซอร์แลนด์ การเปิดประเด็นของเซบาลด์ได้รับแรงสนับสนุนจาก กุนเตอร์ กราสส์ (Günter Grass) นักเขียนรางวัลโนเบล ที่ตีพิมพ์นิยายเรื่อง Crabwalk ออกมาในปี 2002 เพื่อบอกเล่าเรื่องราวความทุกข์ทรมานของชาวเยอรมันในช่วงสงคราม หลังจากนั้นวาทกรรมว่าด้วยเหยื่อที่ถูกลืมก็ถูกตีความและขยายประเด็นมาสู่คนรุ่นหลังสงครามโลกที่ต้องใช้ชีวิตอย่างทุกข์ทรมาน เพราะประเทศของตนตกเป็นเป้าของประชาคมโลกเมื่อมีการพูดถึงการสังหารหมู่ชาวยิวในครั้งนั้น

สร้างสำนึกคนรุ่นใหม่ เพื่อประวัติศาสตร์ไม่ซ้ำรอย 

คุณลักษณะที่สำคัญยิ่งในการชำระประวัติศาสตร์อย่างเปิดกว้างของเยอรมนี ที่ยอมรับว่าการสังหารหมู่คือบาปประการสำคัญที่บรรพบุรุษของตนเองก่อไว้กับมนุษยชาติ คือการย้อนมองบาดแผลในประวัติศาสตร์เพื่อนำความเจ็บปวดและทุกข์ทรมานมาขับเคลื่อนประเทศต่อไปข้างหน้า ซึ่งเยอรมนีให้ความสำคัญกับการสร้างคนรุ่นใหม่ที่จะขับเคลื่อนประเทศโดยไม่ให้ประวัติศาสตร์ซ้ำรอย 

ตำราเรียนประวัติศาสตร์ที่ตีพิมพ์ตั้งแต่ทศวรรษ 1990 เป็นต้นมา ฉายภาพของเยอรมนีทั้งในฐานะผู้กระทำและเหยื่อของสงคราม เพื่อให้คนรุ่นใหม่อยู่กับประวัติศาสตร์ที่เป็นจริง เยาวชนเยอรมันถูกท้าทายให้ยอมรับกับอดีตที่โหดร้ายของบรรพบุรุษตัวเองมากกว่าเยาวชนในประเทศอื่น เพราะคนกลุ่มนี้คือคนที่จะลุกขึ้นมาขับเคลื่อนเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองของเยอรมนีต่อไปในภายหน้า และเพื่อสร้างความเข้มเข็งให้กับพวกเขา เพราะไม่ว่าเวลาจะผ่านไปนานเท่าใด ชาวเยอรมันที่เกิดหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ก็ต้องทนแบกรับสายตาโลกโดยเฉพาะชาวยิวที่เคยถูกบรรพบุรุษของพวกเขากระทำ

หนังสือพิมพ์ The New York Times ในปี 1996 สัมภาษณ์นักเรียนมัธยมปลายในกรุงบอนน์ และพบว่าหนุ่มสาวเยอรมันในยุคนั้นจำนวนมากไม่รู้สึกผิดต่อการกระทำของบรรพบุรุษของตน แต่พวกเขารู้สึกว่าเป็นความรับผิดชอบของคนรุ่นเขาที่จะต้องขัดขวางการฟื้นฟูของแนวคิดเหยียดเชื้อชาติ การต่อต้านชาวยิว และลัทธิชาตินิยม 

“เราไม่สามารถทำอะไรเกี่ยวกับเรื่องนี้ได้ ปู่ย่าตายายของเราเป็นคนทำ แต่เราไม่ควรลืมมัน”

นักเรียนคนหนึ่งกล่าวกับ The New York Times

สังคมเยอรมันในยุคนั้นดำเนินไปอย่างระมัดระวังไม่ให้ประวัติศาสตร์ซ้ำรอย

“ชาวอเมริกันสามารถปักธงไว้ที่สวนหลังบ้านตัวเองได้ โดยไม่มีใครพูดอะไร แต่ถ้าเราทำแบบนั้น เราจะถูกหาว่าเป็นพวกนาซี”

และ

“ที่นี่ไม่มีใครสามารถพูดว่า ‘ฉันภูมิใจที่เป็นชาวเยอรมัน’ ได้ ทุกอย่างถูกมองผ่านแว่นของสงครามโลกครั้งที่ 2”

คือส่วนหนึ่งของความเห็นที่นักเรียนเยอรมันถ่ายทอดให้ The New York Times ฟัง

ปัจจุบันกรอบการใช้ชีวิตประจำวันของชาวเยอรมันอาจจะไม่เข้มงวดเท่าทศวรรษ 1990 แต่นโยบายระดับประเทศจำนวนมากยังคงดำเนินไปอย่างระมัดระวังมิให้ประวัติศาสตร์ซ้ำรอย เช่น การห้ามการแสดงออกถึงเครื่องหมายสวัสดิกะ สัญลักษณ์ของนาซี โดยถือว่าเป็นความผิดทางอาญาที่มีโทษสูงสุดจำคุกถึง 3 ปี หรือในช่วงต้นศตวรรษที่ 21 ที่ทั่วโลกแข่งกันวิ่งไล่ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีชีววิทยาศาสตร์ (Life Science) ที่ก้าวไกลไปถึงการคัดเลือกยีนเด่น ยีนด้อยให้กับทารกในครรภ์ เพื่อให้เด็กออกมามีคุณลักษณะที่พึงประสงค์ ไม่มียีนที่เป็นต้นกำเนิดของโรคทางพันธุกรรม แต่เยอรมนีก็ไม่ผลีผลามเข้าสู่ความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ที่สามารถนำไปสู่การสร้างสังคมสุพันธุกรรม (Eugenics) ที่เป็นปัจจัยสำคัญของการเหยียดเชื้อชาติ แม้ในปัจจุบันการเลือกเพศเด็กในครรภ์จะถือเป็นเรื่องปกติที่พบได้ในหลายประเทศทั่วโลกรวมถึงประเทศไทย โดยมีโรงพยาบาลเอกชนหลายแห่งให้บริการเลือกเพศลูกกับคู่สมรส ทว่าเยอรมนีอนุญาตให้การเลือกเพศเด็ก รวมถึงการคัดกรองตัวอ่อนในครรภ์ สามารถทำได้เพียงเพื่อวัตถุประสงค์ทางการแพทย์เท่านั้น

พิพิธภัณฑ์และอนุสรณ์สถาน รูปธรรมความทรงจำที่เจ็บแล้วต้องจำ

เยอรมนีน่าจะเป็นประเทศที่มีอนุสรณ์สถานเกี่ยวกับการสังหารหมู่ชาวยิวในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 มากที่สุดในโลก เฉพาะพิพิธภัณฑ์และอนุสรณ์สถานขนาดใหญ่ที่สามารถเสิร์ชพบในกูเกิลก็มีถึง 26 แห่ง 

photo: H. Raab

พิพิธภัณฑ์และอนุสรณ์รำลึกเหยื่อความโหดร้ายของฮิตเลอร์และนาซีที่ถูกสร้างล่าสุด (เท่าที่ผู้เขียนค้นข้อมูลได้) คือพิพิธภัณฑ์ที่เมืองมุลดอร์ฟ (Mühldorf) ซึ่งเคยเป็นที่ตั้งค่ายกักกันขนาดเล็กที่ชาวยิวในฮังการีจำนวนมากถูกบังคับใช้แรงงานและทรมานจนเสียชีวิตในช่วงท้ายของสงคราม เพื่อสร้างโรงงานอาวุธให้เยอรมนีและฝ่ายอักษะ ศพผู้เสียชีวิตถูกฝังรวมกันที่นั่น ชาวเยอรมันเรียกร้องให้มีการตั้งพิพิธภัณฑ์ที่เมืองนี้ตั้งแต่ทศวรรษ 1980 แต่มีการถกเถียงและประท้วงจากกลุ่มนีโอนาซีมาตลอด จนเพิ่งสร้างได้ในปี 2018 ขณะที่ศูนย์กลางบันทึกประวัติศาสตร์ลัทธิสังคมนิยมแห่งชาติ (Documentation Center for the History of National Socialism) ในกรุงมิวนิค ที่เปิดตัวในปี 2015 ถูกมองว่าเป็นพิพิธภัณฑ์ที่นำเสนอและตีความการสังหารหมู่ด้วยมุมมองของเศรษฐกิจ การเมือง และสังคมของศตวรรษที่ 21 ได้ชัดเจนที่สุด

อาคารสีขาวสะอาด ในรูปลักษณ์ของสถาปัตยกรรมร่วมสมัยถูกสร้างขึ้นบนพื้นที่เคยเป็นที่ตั้งของอาคาร Brown House ที่ถูกใช้เป็นสำนักงานใหญ่ของพรรคนาซีตั้งแต่ปี 1930 จนสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 สถานที่ที่ฮิตเลอร์ใช้ในการวางแผนสังหารหมู่ชาวยิว ศูนย์กลางบันทึกประวัติศาสตร์ลัทธิสังคมนิยมแห่งชาติเปลี่ยนพื้นที่นี้ให้เป็นแหล่งแลกเปลี่ยนเรียนรู้เกี่ยวกับสงครามโลกครั้งที่ 2 และการสังหารหมู่ในทุกแง่มุม เรื่องราวของสงคราม การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ การเหยียดผิว ลัทธิต่อต้านยิว การบังคับย้ายถิ่น และอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ถูกนำเสนอเต็มพื้นที่ 4 ชั้นของตัวอาคาร นอกจากนี้ยังเป็นพื้นที่ให้ประชาชนทุกชาติ ทุกสีผิว จากทุกภูมิหลังทางสังคมสามารถเข้ามาจัดกิจกรรมและใช้ประโยชน์ได้ 

นอกจากนี้การจัดนิทรรศการหรือกิจกรรมเพื่อรำลึกถึงความโหดร้ายของการสังหารหมู่ ยังคงเกิดขึ้นบนแผ่นดินเยอรมนีอย่างต่อเนื่อง ในช่วงเวลาที่บทความนี้ถูกเขียนขึ้น นิทรรศการที่ชื่อ ‘นิทรรศการชีวิตชาวยิวในเยอรมัน: อดีตและปัจจุบัน’ กำลังถูกจัดแสดงบนพื้นที่กว่า 3,500 ตารางเมตร ณ พิพิธภัณฑ์ชาวยิวในกรุงเบอร์ลิน (Jewish Museum Berlin) นิทรรศการนี้เริ่มมาตั้งแต่เดือนกันยายนปีนี้ และจะแสดงไปจนถึงมกราคมปีหน้า

Jewish Museum, Berlin | photo: Denis Esakov

แม้เยอรมนีสมัยใหม่จะมีการจารึกบาดแผลจากการกระทำของบรรพบุรุษตัวเอง แต่อีกด้านหนึ่งก็ยังมีพื้นที่ให้กับการรำลึกอดีตของฝ่ายสนับสนุนแนวคิดนาซี โดยพบว่าในเขตชนบท ชุมชนเล็กๆ ที่ห่างไกล ยังคงมีการแสดงออกเพื่อรำลึกถึงสมาชิกพรรคนาซีในอดีตที่มีความเชื่อมโยงกับชุมชนเป็นพิเศษ กรณีที่เห็นเด่นชัด ได้แก่ การสร้างสุสานรำลึกถึง อัลเฟรด โยดิ (Alfred Jodl) อดีตรองผู้บัญชาการแห่งกองทัพเยอรมนี (Wehrmacht’s Second in Command) ที่หมู่บ้านเล็กๆ บนเกาะเฟราเอนคิมซี (Frauenchiemsee) ที่ตั้งอยู่ในทะเลสาบคีมซี (Chiemsee) ทางใต้ของมิวนิค หลังสงครามสิ้นสุด โยดิถูกฝ่ายสัมพันธมิตรแขวนคอในนูเรมเบิร์ก (Nuremberg) ร่างของเขาถูกเผาและเถ้ากระดูกถูกโปรยทิ้ง เพื่อไม่ให้มีการสร้างหลุมศพให้นาซีเก่าและใหม่ได้มารวมตัว แต่ภายหลังลูกหลานของโยดิได้สร้างสุสานเพื่อรำลึกถึงเขาในบ้านเกิด ซึ่งได้กลายเป็นประเด็นทางสังคมในเยอรมนีจนศาลต้องเป็นผู้ตัดสินชี้ขาด โดยตัดสินให้ให้มีสุสานของโยดิได้

ตลอดเวลาเกือบ 80 ปี ที่ต้องอยู่ร่วมกับประวัติศาสตร์การสังหารหมู่ เยอรมนีเลือกที่จะเผชิญหน้ากับความจริง และส่งผ่านความทรงจำอันโหดร้ายให้คนรุ่นต่อๆ ไป ด้วยความหวังว่าความเจ็บปวดจะขับเคลื่อนสังคมเยอรมันไม่ให้เดินซ้ำรอยเดิม แม้วันนี้แนวคิดต่อต้านยิวและลัทธิสังคมนิยมนาซีจะยังมีหลงเหลืออยู่ แต่การเรียนรู้ประวัติศาสตร์อย่างเปิดกว้างและยอมรับความจริง ก็ทำให้มีคนรุ่นใหม่เข้าใจรากแห่งปัญหา และพร้อมปกป้องประเทศไม่ให้ตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของแนวคิดที่นำมาซึ่งความสูญเสียที่ไม่อาจประเมินได้นั้นอีก 

และนั่นคือเหตุผลที่ทุกประเทศทั่วโลก รวมทั้งประเทศไทยควรเรียนรู้การจัดการกับบาดแผลของประเทศเยอรมนี เพราะการปกปิดและหนีความจริง ไม่เพียงเป็นการบิดเบือนประวัติศาสตร์ แต่ยังเป็นการเปิดโอกาสให้ประวัติศาสตร์ที่เจ็บปวดนั้นอาจซ้ำรอยเดิมได้

อ้างอิง:

เพ็ญนภา หงษ์ทอง
นักเขียน นักแปลอิสระ อดีตนักข่าวสิ่งแวดล้อม สนใจประเด็นทางสังคม การกดขี่ภายใต้การอ้างความชอบธรรมของกฎ ระเบียบ กฎหมาย และโครงสร้างอำนาจ มีผลงานแปลหลากหลาย อาทิ No Logo โดย นาโอมิ ไคลน์ รวมถึง พระนิพนธ์ขององค์ทะไล ลามะ

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า