เรื่องและภาพ: นิธิ นิธิวีรกุล
ภาพประกอบ: Shhhh
เท่าที่จดจำได้ ความรู้เรื่องอาหารปลอดสารพิษ พืชผักออร์แกนิค เกิดขึ้นเมื่อไม่กี่ปีก่อน ตอนได้ลงพื้นที่ไปเขียนสารคดีเชิงท่องเที่ยว ได้พบและพูดคุยกับปราชญ์ชาวบ้าน ทำให้รู้ว่าแนวคิดเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงและการลดการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชนั้นผนวกกันอย่างแยกไม่ออก ระหว่างเรื่องต้นทุนกับความรู้สึกปลอดภัยในอาหารที่รับประทานเข้าไป
กระทั่งสองปีที่แล้วนี้เอง จึงพบข้อเท็จจริงหนึ่งจากหนังญี่ปุ่นเล็กๆ ที่ชื่อ Little Forest ข้อเท็จจริงที่ว่านั้นคือ ระหว่างความพอเพียง ความปลอดภัย และการอยู่ได้อย่างยั่งยืน ไม่อาจมองแบบแยกส่วนจากกันได้ เพราะลำพังการใช้ชีวิตกินอยู่อย่างเรียบง่ายเพียงอย่างเดียวอาจไม่พอ หากยังต้องขึ้นอยู่กับชุมชน สิ่งแวดล้อม และการกำหนดกติการ่วมกันของชุมชนที่จะมุ่งไปสู่ทิศทางใดทิศทางหนึ่งผ่านการเรียนรู้ และสำคัญที่สุด การรับฟังซึ่งกันและกัน
มูลนิธิบูรณะนิเวศ และศูนย์วิจัยเปิดมินามาตะศึกษา มหาวิทยาลัยคุมะโมโตะกักกุเอ็ง ประเทศญี่ปุ่น ได้จัดงานสัมมนาวิชาการภายใต้หัวข้อ ‘ข้อเท็จและความจริง: เหมืองทองคำ จังหวัดเลย ครั้งที่ 2’ โดยนำเสนอข้อมูลจากการศึกษาในพื้นที่ 6 หมู่บ้านของตำบลเขาหลวง อำเภอวังสะพุง จังหวัดเลย ซึ่งพบว่ามีการปนเปื้อนสารเคมีทั้งในแหล่งน้ำผิวดิน แหล่งน้ำใต้ดิน ตลอดจนพื้นที่เกษตรกรรมรอบๆ เหมืองแร่ทองคำ นับตั้งแต่เดือนกันยายน 2549 เป็นต้นมา
เรื่องเล่าจากมินามาตะ
ศาสตราจารย์ทาเคชิ มิยากิตะ จากศูนย์วิจัยเปิดมินามาตะศึกษา มหาวิทยาลัยคุมะโมโตะกักกุเอ็ง ซึ่งมีประสบการณ์จากการศึกษากรณีสารปนเปื้อนในพื้นที่เมืองมินามาตะ กล่าวถึงจุดมุ่งหมายในการศึกษากรณีเหมืองแร่ทองคำ อำเภอวังสะพุง ว่า “ทำอย่างไรที่เราจะมีทรัพยากรท้องถิ่นเป็นของคนในชุมชนเพื่อชุมชนเอง และทำให้เกิดความเข้มแข็งของแต่ละท้องถิ่นที่มาแต่ดั้งเดิม”
มิยากิตะ มองว่า การนำพาท้องถิ่นไปสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) นั้น เกิดขึ้นจากแนวคิดใหม่ของประชาคมโลกผ่านองค์การสหประชาชาติที่กำหนดเป้าหมาย 17 ประการ ในการเปลี่ยนแปลงชุมชนของเราและของโลก โดยทุกคนควรให้ความสนใจกับปัญหาของชุมชนและช่วยกันหาทางออก โดยขณะที่เรียนรู้ ก็จะเกิดความตระหนัก เกิดการเติบโต เพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงด้วยกัน รวมไปถึงเผยแพร่สิ่งที่ได้เรียนรู้ออกไปสู่ประชาคมโลกด้วย
“กิจกรรมทั้งหมดนี้จะตั้งอยู่บนพื้นฐานของชุมชน นำไปสู่การตระหนักของสังคมที่ให้ความเคารพต่อศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของสมาชิกในชุมชนนั้น”
คนกลุ่มแรกที่ต้องยอมเสียสละ
มิยากิตะ เล่าว่า ในอดีตตั้งแต่ปี พ.ศ. 2499 บริษัทซิสโสะ ได้เข้ามาเปิดโรงงานเคมีในเมืองมินามาตะ โดยระยะแรกเปิดเป็นโรงงานผลิตปุ๋ย ก่อนจะขยับขยายกิจการตามแผนพัฒนาด้านอุตสาหกรรมที่นำไปสู่การผลิตสารเคมีต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นอะเซทิลีน อะซีทัลดีไฮด์ กรดอะซิติก ฯลฯ นำไปสู่การทิ้งของเสียลงสู่อ่าวมินามาตะ ซึ่งเป็นแหล่งน้ำของชาวบ้าน จนกระทั่งเกิดผลกระทบจากการปนเปื้อนของสารปรอท ชาวบ้านเริ่มมีอาการวิตกจริตอ่อนๆ กรีดร้อง นัยน์ตาดำขยายกว้าง แขนขาเคลื่อนไหวลำบาก และต่อมาถูกเรียกขานในชื่อโรค ‘มินามาตะ’
ตลอด 60 ปีที่ผ่านมา มิยากิตะและนายแพทย์มาซาโนริ ฮานาเดะ ได้ลงพื้นที่ไปศึกษาทั้งกลุ่มชาวประมงในเมืองมินามาตะ ริมทะเลชิรานุอิ การตั้งถิ่นฐานของชาวอะบอริจินในแคนาดา และอีกหลายพื้นที่ ทำให้พบว่า คนที่อาศัยใกล้ชิดกับธรรมชาติ ไม่ว่าจะเป็นทะเล แม่น้ำ และทะเลสาบ ได้กลายเป็นคนกลุ่มแรกที่ต้องยอมเสียสละและรับผลร้ายแรงที่สุดต่อชีวิตของพวกเขา
มิยากิตะ กล่าวว่า มนุษย์เป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ และเป็นสายพันธุ์หนึ่งของสิ่งมีชีวิตที่อาศัยอยู่ในห่วงโซ่ร่วมกับสิ่งมีชีวิตนับล้านรูปแบบ โดยใช้ชีวิตพึ่งพาพรจากธรรมชาติที่ระบบนิเวศบนโลกเกื้อกูลให้
มองกลับมายังปัจจุบัน แม้มนุษย์จะรับรู้และตระหนักดีในข้อเท็จจริงที่ว่านั้น แต่มนุษย์ก็ยังคงมีความคิดในลักษณะที่เอาตัวเองเป็นศูนย์กลางมากขึ้นเรื่อยๆ และให้ความสำคัญสูงสุดกับความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจ
“หากจะทลายสถานการณ์เช่นนี้ พวกเราต้องทบทวนวิถีการดำรงชีวิตและระบบสังคม รวมถึงระบบเศรษฐกิจ ว่าเรามีวิถีชีวิตที่เป็นแบบแผนอย่างไรบ้าง เพื่อที่เราจะได้พิจารณาหรือดำเนินการต่างๆ โดยคำนึงถึงคนรุ่นหลังจากเรา”
พิพิธภัณฑ์มีชีวิต
ด้วยความมุ่งหวังที่จะส่งต่อแนวคิดในการรักษาสภาพแวดล้อมให้คงอยู่สืบไป มิยากิตะและชาวเมืองมินามาตะจึงร่วมกันก่อตั้ง ‘พิพิธภัณฑ์มีชีวิต’ เพื่อส่งต่ออดีตที่เคยเจ็บปวดกินระยะเวลากว่า 60 ปีให้ยังคงอยู่ ภายใต้แนวคิด 3 เสาหลัก ดังนี้
- ชุมชนที่มีเสน่ห์ หมายถึง สภาพแวดล้อมและวิถีชีวิตของชุมชนนั้นเป็นดั่งมรดกทางวัฒนธรรมสำหรับการส่งทอดสู่คนรุ่นต่อไปในอนาคต
- ความสัมพันธ์ระหว่างชุมชนเมืองและชุมชนชนบท หมายถึง การตระหนักถึงคุณค่าของทั้งคนในชุมชนเมืองและในชนบทว่าต้องพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน
- ชุมชนที่มีความเจริญรุ่งเรือง ประกอบด้วย การอยู่ร่วมกันของเศรษฐกิจ 3 ระบบ ได้แก่ เศรษฐกิจการเงิน (Monetary Economy) เศรษฐกิจชุมชน (Cooperative Economy) และเศรษฐกิจที่พึ่งตนเองได้ (Self-sufficient Economy)
ภายใต้ 3 เสาหลักที่ว่านี้นำไปสู่การรับสมัครอาสาสมัครประจำพิพิธภัณฑ์มีชีวิต ซึ่งอาคารพิพิธภัณฑ์ก็คือ เมืองทั้งเมืองนั่นเอง โดยอาสาสมัครจะทำหน้าที่ในการแนะนำการทำนาขั้นบันได ศิลปะและงานฝีมือดั้งเดิม รวมไปถึงผลิตภัณฑ์การเกษตรต่างๆ ซึ่งในที่สุดแล้วจะนำไปสู่การลดการพึ่งพาระบบเศรษฐกิจภายนอก หรือกล่าวให้ชัดกว่านั้นคือ ลดการพึ่งพาระบบเศรษฐกิจอุตสาหกรรมที่นำมาซึ่งผลลัพธ์ที่เสียหายมากกว่าผลดี ดั่งที่เคยเกิดขึ้นในอดีตจากกรณีโรคมินามาตะ
เจ็บและจำ
หวนกลับมาสู่กรณีศึกษาที่อำเภอวังสะพุง จังหวัดเลย เกิดขึ้นภายใต้กรอบแนวคิดกว้างๆ โดยเริ่มจากเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ SDGs ขององค์การสหประชาชาติ และสิทธิชุมชนตามรัฐธรรมนูญปี 2550
มิยากิตะ กล่าวว่า ชาวบ้านในอำเภอวังสะพุงมีการศึกษาต้นทุนทางธรรมชาติและทรัพยากรธรรมชาติที่นำไปสู่ภูมิปัญญาท้องถิ่น วัฒนธรรมท้องถิ่น ที่จะหล่อหลอมให้เกิดวิถีท้องถิ่น เศรษฐกิจท้องถิ่น เพื่อนำไปสู่
- การประเมินใหม่เกี่ยวกับชีวิตและเศรษฐกิจแบบพึ่งตนเอง หรือเศรษฐกิจพอเพียงที่คนไทยคุ้นเคย
- การสร้างสรรค์แผนที่ทรัพยากรท้องถิ่นโดยชาวบ้าน ซึ่งร่วมมือกับคนจากภายนอก
- การวางแผนสำหรับการตั้งศูนย์การเรียนรู้ หรือพิพิธภัณฑ์มีชีวิต เพื่อการเรียนรู้ สังเกต ปรับปรุง และการเปลี่ยนแปลงร่วมกัน
จากการศึกษาและลงมือปฏิบัติการที่หมู่บ้านนาหนองบง ในเขตตำบลเขาหลวง 1 ใน 6 หมู่บ้านที่ได้รับผลกระทบจากกิจการเหมืองแร่ทองคำ มิยากิตะ กล่าวว่า จะต้องมีการดำเนินการส่งต่อข้อมูลให้กับหมู่บ้านอื่นๆ ที่เหลือในตำบลเขาหลวง รวมไปถึงระดับจังหวัดและระดับประเทศ เพื่อที่จะนำไปสู่ “การสร้างศูนย์การเรียนรู้เพื่อนำเสนอแนวคิดใหม่ๆ คุณค่าของชุมชน เกี่ยวกับการฟื้นคืนสภาพสู่ความยั่งยืนของชุมชน ส่งเสริมพัฒนาคุณภาพของเยาวชน ผ่านการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ระหว่างรุ่น เพื่อสืบทอดวัฒนธรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่นรุ่นสู่รุ่นต่อไป”
“กว่าที่เราจะใช้เวลาฟื้นฟู เพื่อให้เมืองมินามาตะกลับมาสู่วิถีชีวิตแบบที่เป็น เราต้องใช้เวลาถึง 36 ปี กุญแจสำคัญที่จะทำให้เกิดการฟื้นฟูขึ้นได้ อยู่ที่ตัวผู้อยู่อาศัยที่ไม่อยากให้เกิดเหตุการณ์ซ้ำรอยขึ้นอีก จึงนำมาสู่การริเริ่มพิพิธภัณฑ์มีชีวิตเพื่อให้ลูกหลานได้เรียนรู้ และแม้จะผ่านมาแล้ว 60 ปี แต่คนในเมืองมิยามาตะยังจดจำบริษัทที่ทำให้เกิดปัญหา ซึ่งเมื่อมองกลับมายังจังหวัดเลย การมีวิถีชีวิตที่เข้มแข็งจะสามารถทำให้เกิดระบบเศรษฐกิจแบบพึ่งพาตนเองที่เข้มแข็งได้โดยไม่ต้องพึ่งบริษัทเหมืองอีกต่อไป”
เปิดผลการศึกษาโลหะหนักปนเปื้อน
หัวข้อเสวนาต่อมาคือ การเผยผลการศึกษาการปนเปื้อนโลหะหนักในตะกอนดิน บริเวณพื้นที่รอบเหมืองทองคำ โดย อัครพล ตีบไธสง เจ้าหน้าที่เทคนิคและวิชาการ มูลนิธิบูรณะนิเวศ ได้นำเสนอว่า จากการศึกษาการปนเปื้อนรอบพื้นที่เหมืองทองคำ ระหว่างปี 2555-2559 ในพื้นที่เกษตรกรรมบริเวณห้วยเหล็ก ห้วยผุก ร่องใต้กองหินทิ้ง ร่องนาหนองบง ซึ่งอยู่ทางทิศตะวันออกของโรงแต่งแร่ รวมไปถึงภูซำป่าบอน พบโลหะหนักทั้งสารหนู แคดเมียม และทองแดง โดยพบโลหะหนักสูงสุดที่บริเวณห้วยเหล็ก จุด LE 9 และ LE 10 ซึ่งเป็นบริเวณที่อยู่ใต้บ่อเก็บกากแร่
นำไปสู่บทสรุปและข้อเสนอแนะที่ว่า โลหะหนักสำคัญที่พบการปนเปื้อนในดินและตะกอนดินเกิดขึ้นจากการรั่วไหลในบริเวณพื้นที่ห้วยเหล็กใต้บ่อเก็บกากแร่ และร่องพื้นที่เกษตรกรรมใต้กองหินทิ้ง โดยพื้นที่ใต้บ่อเก็บกากแร่มีความเสี่ยงทางสุขภาพในระดับที่ไม่อาจยอมรับได้
ทั้งนี้ อัครพลใช้ซอฟท์แวร์ประเมินความเสี่ยง หรือ RSC (Risk Integrated Software for Cleanups) ได้ผลค่าความเสี่ยงจากการได้รับสารก่อมะเร็ง หรือที่เรียกว่า ELCR-Excess Lifetime Cancer Risk ทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ มากกว่า 1 ใน 10,000 ส่วน จากการสัมผัสสารเคมีผ่านทางปาก ผิวหนัง และการรับประทาน
“แผนฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมโดยบริษัททุ่งคำต้องกระทำในขอบเขตที่กว้างขึ้น ทั้งในพื้นที่เขตประทานบัตรและในสิ่งแวดล้อมรอบเหมืองแร่ ส่วนพื้นที่ที่ยากต่อการดำเนินการฟื้นฟู ผู้ประกอบการและหน่วยงานรัฐต้องร่วมมือกัน”
เช่นเดียวกับ อัฎฐพร ฤทธิชาติ นักวิชาการ มูลนิธิบูรณะนิเวศ ก็กล่าวว่า นับตั้งแต่เดือนธันวาคม พ.ศ. 2550 โรงพยาบาลวังสะพุงได้ดำเนินการเจาะเลือดประชาชนในพื้นที่ 6 หมู่บ้าน จำนวน 279 ราย เพื่อสุ่มตรวจหาสารไซยาไนด์ ก่อนจะพบว่ามีประชาชน 54 ราย ที่มีสารไซยาไนด์ปนเปื้อน ในขณะที่มีอยู่ 20 ราย อยู่ในระดับเกินค่ามาตรฐาน
กล่าวได้ว่านับตั้งแต่ พ.ศ. 2550 ถึงปัจจุบัน สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเลย (สสจ.) และโรงพยาบาลวังสะพุงได้ดำเนินโครงการเฝ้าระวังภาวะสุขภาพของประชาชนรอบๆ เหมืองทองคำมาอย่างต่อเนื่อง โดย สสจ.เลย มีการตรวจพบสารหนูในปริมาณ 8.06 มก./กก.ในหอยขม ในปี 2553 และพบสารหนู 3.60 มก./กก. ในปูที่เก็บจากลำน้ำห้วยเหล็ก สูงเกินกว่าค่ามาตรฐานที่ 2 มก./กก. ในปี 2557
“การตรวจติดตามสุขภาพของประชาชนรอบเหมืองทองคำของสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเลยและโรงพยาบาลวังสะพุง ในปี 2558 พบสารหนูในประชาชนกลุ่มเสี่ยงอย่างน้อย 98 คน ซึ่งหากเปรียบเทียบผลตรวจของประชาชนรายเดียวกันในปี 2556 และ 2558 จำนวน 70 คน จะพบว่ามีประชาชนที่มีสารหนูเกินเกณฑ์ทั้งสองปีจำนวน 41 คน”
อัฏฐพร กล่าวต่ออีกว่า จากการสำรวจพื้นที่ พบประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากสารหนู โดยมีรอยโรคที่ผิวหนังอันเป็นโรคจำเพาะต่อพิษสารหนู บริเวณฝ่ามือ ฝ่าเท้า ซึ่งมีโอกาสที่จะกลายเป็นมะเร็งผิวหนังชนิด Squamous Cell Carcinoma ได้ หากเป็นเกิน 10 ปี ขณะเดียวกันก็พบประชาชนที่ได้รับแมงกานีสอย่างต่อเนื่องเรื้อรัง ส่งผลให้เกิดอาการปวดศีรษะ อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร ง่วงผิดปกติ บางรายมีอาการประสาทหลอน หัวเราะสลับร้องไห้ และหลงลืม ซึ่งหากยังสัมผัสอย่างต่อเนื่องจะเข้าสู่ระบบประสาทส่วนกลาง นำไปสู่อาการปวดกล้ามเนื้อ เกิดอาการแข็งเกร็ง มือสั่น พูดช้า ตะกุกตะกัก มีอาการพาร์กินสันอย่างชัดเจน
ประเด็นสำคัญจากการศึกษา คือ ไม่มีรายงานผลของโครงการเฝ้าระวังความเสี่ยงด้านสุขภาพตามปีงบประมาณของ สสจ. แต่อย่างใด อีกทั้งไม่มีรายงานร่วมกับหน่วยงานอื่น และรายงานเท่าที่พบ มีเพียงการรายงานค่าเฉลี่ยของการตรวจ และจำนวนร้อยละของประชาชนที่มีผลตรวจเกินเกณฑ์มาตรฐานเท่านั้น หากแต่ละเลยกลุ่มประชาชนที่มีความเสี่ยง และได้รับสารปนเปื้อนแล้ว แม้ในปริมาณน้อย ไม่นับการไม่เปิดเผยผลตรวจสารโลหะหนักของกลุ่มควบคุมในปี 2556 ซึ่งนำไปสู่การไม่สามารถประเมินความเสี่ยงด้านสุขภาพได้อย่างครบถ้วน
นอกจากนี้ ยังไม่มีการอธิบายอาการเจ็บป่วยของประชาชนในพื้นที่รอบเหมือง พิษของสารโลหะหนัก และแหล่งกำเนิดมลพิษ รวมถึงไม่มีการพิสูจน์สาเหตุการเสียชีวิตของชาวบ้านรอบๆ เหมืองทองคำ โดยคำนึงถึงปัจจัยเสี่ยงทางด้านสุขภาพ ทั้งที่รู้ทั้งรู้ว่าเป็นพื้นที่ที่มีปัญหาสิ่งแวดล้อม
สุดท้าย อัฏฐพร กล่าวว่า หน่วยงานรัฐต้องเปิดเผยข้อมูลรายงานผลการติดตามกรณีผลกระทบด้านสุขภาพของประชาชน รวมถึงผลการดำเนินงานในการค้นหาปัจจัยเสี่ยง และการแก้ไขปัญหาเรื่องผลกระทบด้านสุขภาพแก่ประชาชน เพื่อความโปร่งใส ลดความขัดแย้ง และเป็นประโยชน์ต่อการจัดทำแผนฟื้นฟู ซึ่งจะต้องครอบคลุมประเด็นสุขภาพ ความเจ็บป่วยของประชาชน โดยให้มีการดูแล รักษาบำบัด และฟื้นฟูอย่างต่อเนื่อง
ป่าน้อยๆ ที่ไม่ใช่ของเรา
คำ ผกา เขียนไว้ในบทความ ‘ลิตเติ้ลฟอเรสต์ VS บ้านบนดอย’ ตีพิมพ์ใน มติชน สุดสัปดาห์ ฉบับประจำวันที่ 1-8 พฤษภาคม 2558 ไว้ว่า “[…] ฉันดูหนังเรื่องนี้แล้วก็นึกขึ้นได้ว่า เออ…เรายังมีชนบทไทยแบบที่จังหวัดอิวาเตะอย่างที่เห็นในหนังหรือเปล่า? ชนแบบที่เห็นในหนังญี่ปุ่นเรื่องนี้ คือ ชนบทแบบไหน?[…]”
อาจไม่จำเป็นต้องกลับไปย้อนหาบทความเพื่อตามหาคำตอบของความต่างระหว่างชนบทไทยและชนบทญี่ปุ่น ในยุคไทยแลนด์ 4.0 ที่ท่านผู้นำประกาศว่าเราจะต้องก้าวให้พ้นกับดักรายได้ปานกลาง ผ่านนวัตกรรม การเรียนรู้ในด้านเทคโนโลยีสมัยใหม่ต่างๆ ในขณะเดียวกันก็มุ่งส่งเสริมในแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงที่มองข้ามข้อเท็จจริงอีกหลายด้านของชนบท
คำถามที่อาจเปลี่ยนไปแล้วในยุคปัจจุบัน คือ ไม่ใช่ทำอย่างไรที่จะส่งเสริมเกษตรกรให้ยึดหลักแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง หรือเศรษฐกิจแบบพึ่งพาตนเอง แต่รัฐต่างหากจะต้องทำอย่างไรให้ชุมชนเกษตรกรรมอยู่ได้อย่างปลอดภัย ยั่งยืน ในมิติของความเป็นมนุษย์ที่เลือกแล้วซึ่งวิถีของตนเอง โดยไม่มีนโยบายมุ่งส่งเสริมให้ก้าวพ้นความยากจนต่างๆ จนหลงลืมมิติด้านสิ่งแวดล้อม และหลงลืมไปว่าแท้ที่สุดแล้ว ความพอเพียงภายใต้วาทกรรมของกลุ่มอุตสาหกรรม หาได้เป็นคำตอบของประเทศที่โดยแท้แล้วอาจไม่เคยก้าวข้ามยุค 1.0 มาตั้งแต่ต้น