เมื่อวนมาถึงวันที่ 12 สิงหาคมของทุกปี กระแสการบอกรักและระลึกถึงพระคุณมารดาผู้ให้กำเนิดก็ถูกจุดขึ้นตามขนบจารีตที่สังคมปลูกฝังกันมา ทว่าในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาเกิดคำถามเกี่ยวกับเรื่องการทดแทนบุญคุณของผู้ที่ได้ชื่อว่า ‘พระในบ้าน’ อย่างพ่อและแม่ จนกลายเป็นข้อถกเถียงระหว่างผู้ใหญ่กับคนรุ่นใหม่อยู่เสมอ ด้วยความแตกต่างทางความคิดที่เปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย ไม่เพียงแต่การให้คุณค่าต่อพระคุณของบิดามารดร แต่ความหมายของคำว่าพ่อและแม่ก็ถูกบิดให้เปลี่ยนแปลงไปเช่นกัน
ค่านิยมหนึ่งซึ่งถือกำเนิดขึ้นบนโลกออนไลน์ผ่านชุมชนแฟนคลับ คือการสวมวิญญาณความเป็นแม่ให้กับผู้ที่รู้สึกเอ็นดูเหมือนลูกในสายเลือดโดยที่เจ้าตัวอาจจะรับรู้หรือไม่ก็ได้ ซึ่งการเป็นแม่ในความหมายนี้ไม่จำเป็นต้องได้รับอนุญาตจากลูกแต่อย่างใด และไม่นานสังคมก็ได้รู้จักกับเหล่าแม่สมมุติที่เรียกตัวเองว่า ‘มัมหมี’
การถือกำเนิดของมัมหมี ทำให้เกิดพฤติกรรมการสนับสนุนดาราศิลปินของบรรดาแฟนคลับทั้งหลายราวกับการเลี้ยงดูส่งเสียลูกในไส้ หากแต่นี่ไม่ใช่ครั้งแรกของวงการแฟนคลับในประเทศไทย เพราะสำหรับแวดวงศิลปะการแสดงอย่างลิเกและวงดนตรีลุกทุ่งนั้น ‘แม่ยก’ คือมารดาผู้แข็งแกร่งแห่งการอุปถัมภ์มาช้านาน
12 สิงหาคมปีนี้ WAY ชวนมาระลึกถึงเส้นทางของเหล่ามารดาสมมุติอย่างมัมหมีและแม่ยก กับสถานะ ‘แม่’ ที่ใครๆ ก็เป็นได้
มัมหมีที่แปลว่า ‘โพแม่’
จุดกำเนิดของมัมหมีนั้นไม่อาจระบุได้อย่างชัดเจนนักว่าเริ่มต้นขึ้นครั้งแรกเมื่อไร แต่หากจะพูดถึงกลุ่มคนที่ทำให้ตัวตนของมัมหมีแผ่ขยายออกเป็นวงกว้างก็คงตีวงให้แคบลงมาได้ นั่นคือ กลุ่มแฟนคลับศิลปินเกาหลี
การปรากฏตัวครั้งสำคัญของมัมหมีที่นับเป็นการประกาศจุดยืนสู่สาธารณะ คือเหตุการณ์ ‘ปั่นหัวไอโอ’ บนแพลตฟอร์มทวิตเตอร์ในช่วงปลายเดือนตุลาคม 2563 โดยในวันที่ 19 ตุลาคม 2563 แฮชแท็ก #อนุชนรักชาติศาสน์กษัตริย์ ได้ติดเทรนด์อันดับ 1 บนทวิตเตอร์ประเทศไทย ซึ่งช่วงเวลาดังกล่าวเกิดขึ้นท่ามกลามความร้อนระอุของการชุมนุมทางการเมืองที่มีการประกาศข้อเรียกร้อง 3 ประการ คือ หนึ่ง-ประยุทธ์ จันทร์โอชา ต้องลาออก สอง-ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ และสาม-ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ ทำให้ผู้ใช้ทวิตเตอร์จำนวนมากตั้งข้อสังเกตว่าแฮชแท็กดังกล่าวอาจเป็นการจงใจปั่นกระแสของกลุ่มไอโอ (Information Operation: IO) จากฝ่ายรัฐบาลเพื่อกลบกระแสการชุมนุม
หลังจากนั้นไม่นาน แฮชแท็กที่มีข้อความใกล้เคียงกันอย่าง #ราษฎรใต้ร่มพระบารมี #เรารักสถาบันพระมหากษัตริย์ และ #สำนึกในพระมหากรุณาธิคุณใต้ร่มพระบารมี ก็พุ่งขึ้นสู่ Top Trend บนทวิตเตอร์ และนั่นคือช่วงเวลาที่ทำให้ชาวทวิตเตี้ยนได้พบกับแฮชแท็กแปลกๆ ที่ไล่หลังตามมา โดยมีคีย์เวิร์ดสำคัญคือคำว่า ‘มัมหมี’ ทั้ง #อนุชนรักมัมหมี #ราษฎรไทยใต้ร่มมัมหมี #เรารักสถาบันมัมหมี และ #สํานึกในพระมหากรุณาธิคุณใต้ร่มมัมหมี โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อตอบโต้แฮชแท็กจากฝั่งไอโอ
ใจความสำคัญในแฮชแท็กมัมหมี นอกเหนือจากข้อความโต้ตอบและด่าทอไอโอ ยังมีภาพนิ่งและวิดีโอของ ลี เจโน่ (Lee Jeno) หนึ่งในสมาชิกของกลุ่มศิลปินเกาหลีวงเอ็นซีทีดรีม (NCT Dream) และข้อความ “แง่งแง่งแง่งแง่งแง่ง” ที่ถอดมาจากเสียงพูดในวิดีโอของเจโน่ซึ่งถูกแชร์ต่อในทวิตเตอร์เพื่อปั่นกระแสแฮชแท็ก นำมาสู่คำถามในสังคมออนไลน์ว่ามัมหมีคือใคร และหมายถึงอะไร
เมื่อสืบค้นคำตอบโดยสังเขปจากเรื่องราวดังกล่าว ได้ความว่า มัมหมี หมายถึงกลุ่มแฟนคลับที่เปรียบเจโน่เป็นเด็กน้อยราวกับลูกของตัวเอง ซึ่งเป็นวัฒนธรรมหนึ่งในวงการแฟนคลับศิลปินเกาหลีที่ทำให้เกิดการปฏิบัติตัวต่อศิลปินอย่างเอ็นดูทะนุถนอมเหมือนเป็นลูกนั่นเอง
หากลองขยับมาทำความเข้าใจให้ลึกซึ้งยิ่งขึ้น คำว่ามัมหมีนั้นเลียนเสียงมาจากคำว่า ‘Mommy’ ซึ่งเป็นคำที่ใช้เรียกมารดาในภาษาฝั่งตะวันตก แต่มัมหมีนั้นมีความพิเศษยิ่งกว่า เพราะไม่จำเป็นต้องพึ่งพาองค์ประกอบทางกายภาพเพื่อกลายเป็นแม่แต่อย่างใด
ความหมายอย่างง่ายของการเป็นมัมหมี คือการสถาปนาตนเองเป็นมารดาสมมุติของใครคนหนึ่งที่รู้สึกรักและเอ็นดูราวกับลูกของตัวเอง ดังนั้น มัมหมีจะเป็นใครก็ได้ อายุเท่าไรก็ได้ และอยู่ในสถานภาพสมรสใดก็ได้ จึงไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรที่จะพบเห็นหญิงสาวอายุน้อยตั้งตนเป็นมัมหมีของคนที่อายุเยอะกว่าตัวเอง โดยเฉพาะในวงการแฟนคลับ เพราะเราสามารถสร้างตำแหน่งแห่งที่ (position) ของตนเองต่อดารา ศิลปิน หรือบุคคลที่ชื่นชอบขึ้นมาได้ด้วยตัวเอง และ ‘โพแม่’ ก็เป็นหนึ่งในตำแหน่งที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมากในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา
ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ เป็นอันต้องเกิดคำถามจากผู้ที่ไม่คุ้นเคยกับสถานะมัมหมีว่า คนเราจะเป็นแม่ของผู้ที่อายุมากกว่าตัวเองได้อย่างไร และที่ยิ่งไปกว่านั้นคือ เราจะอยากเป็นมารดา (สมมุติ) ของผู้อื่นไปเพื่ออะไร
แน่นอนว่า ตามแนวคิดเรื่องการสืบพันธุ์และการให้กำเนิดมนุษย์นั้น ไม่มีสิ่งใดสมเหตุสมผลพอที่จะใช้อธิบายการเป็นมัมหมี แต่เมื่อเป็นสภาวะทางใจ สิ่งเหล่านั้นย่อมมีคำอธิบายในตัวเอง
ในบรรดาเหตุผลที่มัมหมีใช้อธิบายว่าทำไมบุคคลที่มีวัยวุฒิมากกว่าตัวเองจึงสามารถถูกจัดให้อยู่ในสถานะลูกได้ ข้อหนึ่งที่น่าทึ่งที่สุดคงไม่พ้นเหตุผลที่ว่า ‘แม่เสียสละให้ลูกเกิดก่อน’ เพราะเป็นคำตอบที่หากนำไปศึกษาต่อยอดหาความเป็นไปได้ทางชีววิทยาแล้วคงจะต้องปวดเศียรเวียนเกล้า แต่หากมองด้วยจินตนาการอย่างไม่ต้องอาศัยเหตุผลแล้ว ไม่ว่าอะไรก็เป็นไปได้ทั้งนั้น
ที่สำคัญไปกว่านั้น ไม่ว่าเหล่ามัมหมีจะให้นิยามตนเองแบบไหน ทุกความหมายของมันมักถูกชี้ไปยังบทบาทความเป็นแม่ตามการรับรู้ของสังคม เป็นต้นว่า ผู้เป็นแม่ย่อมเสียสละความสุขสบายของตัวเองเพื่อความความสุขของลูกได้เสมอ สายใยแม่ลูกตัดอย่างไรก็ไม่ขาด ความรักจากแม่คือรักที่บริสุทธิ์ไม่มีอะไรเทียบได้ ฯลฯ เมื่อลองมองผ่านแนวคิดและความคาดหวังดังกล่าว ก็อาจทำให้พอเข้าใจได้ว่า เหตุใดสถานะแม่-ลูก จึงถูกเลือกมาใช้เป็นสายใยเชื่อมโยงแฟนคลับเข้ากับศิลปินที่ตัวเองรัก
แม่ยก-แฟนด้อม-มัมหมี เธอคนนั้นคือฉันอีกคน
หากมองศิลปินผ่านสายตาของแฟนคลับ เราอาจพบว่าการถือกำเนิดขึ้นของมัมหมีเป็นจุดกำเนิดของขนบและวัฒนธรรมที่แปลกใหม่ในวงการแฟนคลับ ทั้งยังทรงอิทธิพลต่อการเติบโตของธุรกิจบันเทิงในปัจจุบันเป็นอย่างมาก อย่างไรก็ตาม เมื่อมองย้อนกลับไปถึงรากเหง้าการสวมบทบาทแม่สมมุติในฐานะผู้เสพผลงาน กลุ่มหนึ่งที่ไม่พูดถึงไม่ได้นั่นก็คือ ‘แม่ยก’
พจนานุกรมไทยฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554 ให้นิยามของแม่ยกไว้ว่า ‘หญิงที่เป็นผู้อุปถัมภ์พระเอกลิเกหรือนายวงดนตรีลูกทุ่ง’ หากแต่ในความเป็นจริงแล้วความหมายของแม่ยกมีความยืดหยุ่นไปตามยุคสมัยและปรากฏตัวอยู่ในทุกวงการ ตั้งแต่วงการบันเทิง วงการประกวดนางงาม หรือแม้แต่ในวงล้อมการชุมนุมทางการเมือง
ประวัติศาสตร์ของแม่ยกไม่มีระบุอย่างแน่ชัด แต่พออธิบายโดยสังเขปได้ว่าถือกำเนิดขึ้นมาพร้อมกับยุครุ่งเรืองของลิเก แม่ยกเป็นการยกระดับของผู้ชมทั่วไปเป็นผู้ชมคนสนิท โดยมีลักษณะเฉพาะคือการชื่นชอบการดูลิเกเป็นชีวิตจิตใจจนต้องตามไปดูการแสดงทุกรอบไม่ว่าคณะลิเกที่ชอบจะเดินทางไปแสดงที่ใด นั่นทำให้แม่ยกมีความสัมพันธ์ที่ชิดเชื้อกับผู้แสดงมากกว่าผู้ชมทั่วไป และอาจมีสิทธิเข้าถึงตัวนักแสดงได้มากกว่าผู้ชมทั่วไปเช่นกัน
การได้มาซึ่งสิทธิของแฟนคลับระดับ exclusive พ่วงมาด้วยภาพจำของแม่ยกที่มักจะเป็นสตรีรุ่นใหญ่ในอาภรณ์สวยงามสมวัยที่มาพร้อมกับพวงมาลัยธนบัตรหลากสี ซึ่งถูกพัฒนาให้น่าตื่นตาตื่นใจกว่าพวงมาลัยดอกไม้ที่ใช้คล้องคอแบบทั่วๆ ไป อาจเพื่อสร้างการจดจำหรือเพื่อมอบเป็นรางวัลแก่ตัวบุคคลหรือคณะที่ทำการแสดงแล้วก่อให้เกิดความอิ่มอกอิ่มใจ
ครั้นเมื่อมูลค่าแห่งสินทรัพย์ถูกเปลี่ยนไปอยู่ในรูปแบบที่แตกต่างมากขึ้นตามกาลเวลา วงการแม่ยกที่แทรกซึมอยู่ในหลากหลายพื้นที่ก็เริ่มกะเทาะกรอบในการมอบรางวัลเพื่ออุปถัมภ์คนของตน บ้างก็เปลี่ยนมาอยู่ในรูปของบ้านพร้อมโฉนดที่ดิน บ้างก็หยิบยื่นสินค้าแบรนด์เนม หรือเปลี่ยนจากการมอบเป็นสิ่งของโดยตรงมาเป็นการลงขันเปิดพื้นที่โปรโมทให้บุคคลภายนอกได้เข้ามาทำความรู้จักศิลปินทั้งออฟไลน์และออนไลน์
แม้บางวัฒนธรรมของการแสดงออกในฐานะแฟนคลับจะปรับเปลี่ยนไปตามยุคสมัย จนคำว่าแม่ยกขยับขยายปริมณฑลเข้ารวมกับคำว่า ‘แฟนด้อม’ (fandom) ซึ่งหมายถึงกลุ่มแฟนคลับอันมีที่มาจากฝั่งเกาหลี แต่ช่อเงินขนาดใหญ่อลังการที่มีมูลค่าน่าตกใจ ยังคงแปรผันตามปริมาณความรักและความพึงพอใจของผู้ให้เสมอ นี่เป็นความจริงข้อหนึ่งที่ไม่เคยเปลี่ยนแปลงไปตามเวลา
บนพื้นฐานความสนใจที่แตกต่าง ปรากฏที่มาอันคล้ายคลึงกันระหว่างแม่ยกและมัมหมี จุดร่วมบางประการภายใต้ตัวตนของแฟนคลับที่ถูกฉายชัดออกมาอย่างไม่อาจหลบเลี่ยง นั่นคือ ความหมายร่วมของคำว่า ‘แม่’ ที่ถูกสร้างขึ้นด้วยเพศ และถูกยึดโยงให้อยู่คู่กับการอุ้มชูอุปถัมภ์ศิลปิน ดารา หรือแม้แต่พระเอกลิเกที่ตนรู้สึกพึงพอใจ
ถ้าเปรียบแม่ในโครงสร้างครอบครัวเป็นเครื่องจักรในการขับเคลื่อนชีวิตลูก ทั้งแม่ยกและมัมหมีต่างก็มีคุณสมบัติที่ครบถ้วน และหากถามหาความรักความห่วงใยของแม่ที่มีต่อลูกตามหลักของผู้ให้กำเนิด มัมหมีและแม่ยกก็ไม่ได้บกพร่องในเรื่องดังกล่าว
แรงสนับสนุนของเหล่าแม่ยกนับเป็นกำลังสำคัญที่ช่วยต่อลมหายใจให้คณะลิเกรวมถึงศิลปะการแสดงพื้นบ้านหลายแขนงให้ก้าวเดินต่อไปได้ท่ามกลางสมรภูมิสื่อออนไลน์และความเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรม เช่นเดียวกันกับพลังการสนับสนุนของมัมหมีในปัจจุบันที่มีต่อนักร้อง ศิลปิน และนักแสดง เพียงแต่แนวคิดของพวกเขาอาจจะเข้มข้นกว่าแฟนคลับทั่วไปสักหน่อย เพราะเมื่อสวมบทบาทของแม่แล้ว ลูกของหล่อนก็ควรจะได้รับสิ่งที่ดีเลิศที่สุด
“ลูกแม่จะต้องไม่อายใคร” มัมหมีหลายท่านกล่าวเช่นนั้นเมื่อถึงคราวประกาศศักดาความยิ่งใหญ่ของแฟนคลับบนพื้นที่สื่อ ซึ่งสามารถเชื่อมโยงไปถึงความโด่งดังและการเป็นที่รู้จักของศิลปินที่ตัวเองรักได้ในทางหนึ่ง
อย่างไรก็ตาม โพสิชั่นแม่ที่ถูกสร้างขึ้นและเกี่ยวพันกับคำว่าแม่ที่ติดอยู่กับเพศสภาพ ก็ยังไม่อาจจำกัดความของแม่ยกหรือมัมหมีได้ทั้งหมด ตัวอย่างเช่น ในวงการแม่ยกลิเกยุคเก่า ยังมีการแบ่งแยกเป็นกลุ่มย่อยตามวัตถุประสงค์ในการอุ้มชูนักแสดง โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับพระเอกลิเก ได้แก่ แม่ยกจำพวกที่เปรียบเสมือนแม่บุญธรรม ซึ่งเรียกว่าแม่ยกอุปถัมภ์ และแม่ยกจำพวกที่ควบตำแหน่งภรรยาทางกายหรือแม่ยกพิศวาส[1]
ขณะเดียวกัน ในวงการมัมหมีก็มีคำศัพท์แยกย่อยที่ใช้อธิบายรายละเอียดเพิ่มเติมตามสถานการณ์ เช่น ‘มัมหมา’ ซึ่งหมายความถึงแม่ที่เปรียบตัวเองเป็นหมา แม่ที่เปรียบลูกตัวเองเป็นหมา หรือแม่ที่มองลูกเป็นเหมือนแฟนในบางโอกาส (อนึ่ง นี่เป็นเพียงความหมายที่ถูกใช้ในวงกว้าง อาจมีความหมายอื่นที่เฉพาะกลุ่มมากกว่านี้) ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว หากตีความตามกรอบศีลธรรมแห่งมารดา ทั้งมัมหมาและแม่ยกพิศวาสคงเป็นสตรีที่มีตราบาปมากที่สุดจนไม่อาจมีที่ยืนในสังคมได้ (และอาจโดนลูกเอาไปทิ้งถังขยะอย่างที่มัมหมาชอบพูดกัน)
อย่างไรก็ดี เมื่อคำว่าแม่มิได้มีความหมายครอบคลุมสถานะของแม่สมมุติเสมอไป ปลายทางของแม่ยกและมัมหมีจึงแตกต่างกัน ความใกล้ชิดของแม่ยกในบริบทแวดล้อมสามารถนำไปสู่สายสัมพันธ์ในลักษณะครอบครัวและเครือญาติได้แม้จะไม่ได้มาจากต้นตระกูลเดียวกันก็ตาม แต่กับมัมหมีซึ่งเกิดขึ้นภายหลังการมีอยู่ของแม่ยกถึงหลายสิบปี และต้องอาศัยความเข้าใจต่อพฤติกรรมที่ไม่สามารถอ้างอิงหลักเกณฑ์ใดได้แม้แต่อายุ กลายเป็นปรากฏการณ์ที่ไร้ขอบเขตและไม่อาจจะถูกตีกรอบได้ด้วยตรรกะบนโลกแห่งความจริง
แฟนคลับไม่เท่ากับมารดา เมื่อแม่สมมุติอยากเลี้ยงลูกในโลกจริง
ในช่วงที่ผ่านมา มัมหมีถูกทำให้กลายเป็นคอนเทนต์บนพื้นที่ออนไลน์ และถูกหยิบยกขึ้นมาสร้างความเข้าใจให้กับประชาชนทั่วไปผ่านโซเชียลมีเดีย ก่อนจะเริ่มกระโดดออกสู่ชีวิตประจำวันและกลายเป็นสิ่งสามัญที่พูดถึงได้ทั่วไป หากแต่จุดสำคัญภายใต้การเติบโตอย่างกว้างขวางของมัมหมีคือ การก่อตัวของจิตวิญญาณแห่งมารดาที่โดยลึกๆ แล้วอาจแฝงอยู่ใน DNA และสัญชาตญาณของมนุษย์เพศหญิงทุกคนโดยไม่ต้องร้องขอ
ถ้าเปรียบเทียบการเป็นแม่คนของผู้หญิงวัย 15 ปี กับ 35 ปี อาจมองเห็นความแตกต่างอย่างชัดเจนในหลายมิติ ทั้งความพร้อมทางร่างกาย จิตใจ ทุนทรัพย์ รวมไปถึงวุฒิภาวะทางอารมณ์ แต่ถ้าเปรียบเทียบการเป็นมัมหมีของผู้หญิงวัย 15 ปี กับ 35 ปี ในบางครั้งอาจไม่พบความแตกต่างเลยก็ได้ ซึ่งนั่นก็ไม่ใช่ปัญหาอะไร เพราะการเป็นแม่ด้วยจินตนาการไม่จำเป็นต้องมองหาความพร้อม
การวาดอนาคตถึงการเป็นแม่คนจริงๆ อาจจะยากและสร้างความลำบากใจให้กับหญิงสาวจำนวนมาก แต่การเป็นมัมหมีนั้นง่ายดายและเต็มไปด้วยความสุขที่มีสิทธิเลือกเอง บทบาทแม่สมมุติจึงขายดีเป็นเทน้ำเทท่า ท่ามกลางสังคมที่ผู้คนส่ายหน้าปฏิเสธการสร้างครอบครัวในชีวิตจริง
แม้บทบาทแม่สมมุติจะประกอบสร้างขึ้นด้วยเหตุผลต่างๆ นานา ทว่าบทบาทแท้จริงของมัมหมีก็ยังดำรงอยู่ในสถานะของแฟนคลับ เช่นเดียวกับลูกๆ ของเธอที่ยังคงอยู่ในฐานะศิลปิน หากแต่สถานะมัมหมีที่คล้ายเป็นการสร้างโลกอีกใบแยกออกจากโลกความเป็นจริงเพื่อสนองความรักและเอ็นดูในแง่มุมที่ลึกซึ้งราวกับเป็นผู้คลอดศิลปินออกมาด้วยตัวเอง อาจไม่ใช่สิ่งที่ลูกสมมุติทุกคนจะรับรู้และเข้าใจได้
เหตุการณ์ที่ หลี หย่งเจิน (李咏臻) นักกีฬาวอลเลย์บอลทีมชาติจีนชี้แจงต่อแฟนคลับว่า ไม่ชอบป้ายเชียร์ที่เขียนข้อความ “妈妈爱你” (แม่รักคุณ) จากบรรดาแม่สมมุติชาวไทย เพราะรู้สึกว่าเป็นการไม่ให้เกียรติแม่แท้ๆ ของตัวเอง หรือข้อความของ จางวอนยอง (장원영) สมาชิกกลุ่มศิลปินเกาหลีวงไอฟ์ (IVE) ที่ตอบกลับข้อความบอกรักจากมัมหมีในทวิตเตอร์อย่างสุภาพว่า “Thanks, but I have my real mommy sweetie” กลายเป็นเรื่องราวที่ทำให้ต้องย้อนกลับมาทบทวนอีกครั้งว่า สถานะแม่สมมุติที่ถูกสร้างขึ้นนั้นมีไปเพื่อหล่อเลี้ยงความรู้สึกของแฟนคลับแต่เพียงฝ่ายเดียวหรือไม่
ในกรณีดังกล่าว ทำให้เห็นว่าความปรารถนาดีในฐานะของแฟนคลับเป็นสิ่งที่เข้าใจได้ แต่การเพิ่มข้อตกลงทางสถานะแม่อย่างไม่เป็นทางการ อาจทำให้พลัดตกหลุมช่องว่างระหว่างวัย ไปจนถึงกำแพงวัฒนธรรมที่ไม่อาจปืนข้าม แม้ว่าจุดเริ่มต้นจะมาจากความรักอย่างบริสุทธิ์ใจที่ไม่ต่างจากแม่แท้ๆ ของเจ้าตัวก็ตาม
ข้อค้นพบอีกประการคือ การหยิบยื่นความรักให้กับผู้อื่นภายใต้จิตวิญญาณแห่งมารดาย่อมมีความพิเศษและยืนยาวในความรู้สึกของผู้มอบ นั่นเป็นเพราะความศรัทธาต่อความรักของมารดาเป็นสำคัญ ฉะนั้น จิตวิญญาณของความเป็นแม่จึงไม่จำเป็นต้องกลั่นออกมาพร้อมน้ำตาและน้ำคร่ำในห้องผ่าตัดเสมอไป
ท้ายที่สุด คำตอบของคำถามข้างต้นอาจไม่เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมในเร็ววัน มิเช่นนั้นคงต้องมีการร่างจรรยาบรรณมัมหมีไว้แจกจ่ายแก่ประชาชน แต่ตราบใดที่องค์ประกอบของความเป็นแม่ยังหล่อเลี้ยงความรักที่ลึกซึ้งไว้ได้ภายใต้กาลเวลาที่เปลี่ยนผ่าน เราก็อาจได้เห็นมัมหมีกลายเป็นแม่คนที่สองของใครสักคนในอนาคตเช่นเดียวกับแม่ยกลิเก
เชิงอรรถ
[1] ภัทรวรรณ ยงค์ชัย. แม่ยก : การศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างผู้แสดงลิเกกับคนดูเปรียบเทียบกรุงเทพมหานครกับพิษณุโลก. (วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร, 2540). หน้า 2.