‘ตำรวจศีลธรรม’ ผู้คุมสิทธิบนเรือนร่าง องค์กรรับใช้ระบอบอำนาจนิยม

ความตายของมาซาห์ อามินี (Mahsa Amini) หญิงอิหร่าน วัย 22 ปี กลายเป็นตัวจุดชนวนให้เกิดการประท้วงระลอกใหญ่ขึ้นในเมืองต่างๆ ทั่วประเทศอิหร่าน เนื่องจากผู้คนไม่พอใจการใช้อำนาจบาตรใหญ่ของหน่วยงานที่ชื่อ ‘กัชตีเอร์ชาด’ (Gasht-e Ershad) หรือที่รู้จักกันแพร่หลายในนาม ‘ตำรวจศีลธรรม’ (morality police) ซึ่งใช้กำลังระหว่างจับกุมอามินีอย่างรุนแรง จนเป็นเหตุให้เธอเสียชีวิตในเวลาต่อมา

มาซาห์ อามินี (Mahsa Amini)

ความผิดเพียงอย่างเดียวที่ทำให้อามินีตกเป็นผู้ต้องสงสัยก็คือ เธอปล่อยให้เส้นผมของตนเองเล็ดรอดจากผ้าคลุมศีรษะที่เรียกว่า ‘ฮิญาบ’ แล้วเผยโฉมต่อหน้าผู้คนในที่สาธารณะ นั่นจึงเป็นเหตุให้เจ้าหน้าที่จากหน่วยกัชตีเอร์ชาดอ้างอำนาจเข้าจับกุมเธอด้วยข้อหาแต่งกาย ‘ไม่เหมาะสม’ และไม่ถูกต้องตามหลักศาสนา นี่จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้คนหนุ่มสาวในอิหร่านออกมาประท้วง เพื่อแสดงความไม่พอใจต่อตำรวจศีลธรรม ตลอดจนข้อกำหนดที่ลิดรอนสิทธิเสรีภาพบนเรือนร่างและการแต่งกาย

แน่นอนว่า หน่วยงานที่ทำหน้าที่คล้ายๆ ตำรวจศีลธรรมนี้ไม่ได้มีเพียงแค่ในประเทศอิหร่านเท่านั้น หากแต่เกิดขึ้นได้ทั่วไปในสังคมและระบบการปกครองใดๆ ก็ตามที่ต้องการสร้างความเป็นเอกภาพให้เกิดขึ้นในหมู่สมาชิกของสังคมนั้นๆ โดยไม่เกี่ยงว่าระบบการปกครองนั้นจะอ้างตัวว่าทำเพื่อประชาชนและคนส่วนใหญ่มากเพียงใด หรืออ้างว่ารับรองสิทธิเสรีภาพของประชาชนมากเพียงใดก็ตาม 

ถ้าอย่างนั้น เรามาลองสำรวจและสอดส่องเจ้าพวกหน่วยงานที่ชอบสอดส่องคนอื่นเหล่านี้กันบ้างเถอะ

‘ตำรวจศีลธรรม’ กับรถตู้ลาดตระเวนสอดส่องเครื่องแต่งกายสตรี

หลังความตายของมาซาห์ อามินี ในวันที่ 16 กันยายน 2022 กลายเป็นตัวจุดชนวนให้เกิดการประท้วงระลอกใหญ่ขึ้นในเมืองต่างๆ ทั่วประเทศอิหร่าน จนมีหญิงสาวจำนวนมากออกมาฉีกทึ้งฮิญาบ แล้วจุดไฟเผา เพื่อแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ของความไม่พอใจต่อการลิดรอนสิทธิเสรีภาพบนเรือนร่างและการแต่งกาย 

ผู้ร่วมชุมนุมต่างไม่พอใจการใช้อำนาจบาตรใหญ่ของหน่วยงานกัชตีเอร์ชาด เนื่องจากมีรายงานจากพยานที่เห็นเหตุการณ์ระบุว่า ในขณะที่เจ้าหน้าที่กัชตีเอร์ชาดเข้าจับกุมอามินีในข้อหาแต่งกายไม่เหมาะสมนั้น พวกเขาได้ใช้กระบองทุบตีศีรษะและจับหัวของเธอฟาดกับรถอย่างรุนแรง จนเธอหมดสติและเสียชีวิตในเวลาต่อมา 

เพื่อจะเข้าใจบทบาทของตำรวจศีลธรรมในอิหร่าน เราอาจต้องย้อนไปทำความเข้าใจประวัติศาสตร์ตั้งแต่ปี 1979 ซึ่งเป็นการปฏิวัติอิหร่านก่อนกลายเป็นสาธารณรัฐอิสลามเต็มตัว กล่าวคือ หลังจากโค่นล้มระบอบการปกครองของพระเจ้าชาห์ โมฮัมหมัด เรซา ปาห์เลวี กษัตริย์ผู้นิยมโลกตะวันตกและได้รับการสนับสนุนจากสหรัฐอเมริกา อยาตอลเลาะห์ รูฮอลเลาะห์ โคไมนี (Ayatollah Khomeini) ผู้นำการปฏิวัติและผู้นำสูงสุด ก็นำกฎหมายชารีอะห์อันสอดคล้องกับหลักปฏิบัติทางศาสนาของอิสลามมาใช้ปกครองประเทศ

อยาตอลเลาะห์ รูฮอลเลาะห์ โคไมนี (Ayatollah Khomeini)

หลังการปฏิวัติ ประเทศที่เคยเปิดรับอิทธิจากตะวันตกก็เปลี่ยนไปจากหน้ามือเป็นหลังมือ มิติหนึ่งที่ได้รับผลกระทบอย่างเห็นได้ชัดคือ การแต่งกายของคนอิหร่าน ซึ่งต้องแต่งกายให้สอดคล้องกับค่านิยมของอิสลาม อาทิ ผู้ชายจะสวมกางเกงขาสั้นไม่ได้ ต้องสวมกางเกงหรือเครื่องนุ่งห่มที่ยาวเลยเข่า ห้ามสวมเสื้อยืดซึ่งถือเป็นเครื่องแต่งกายของชาวตะวันตก เป็นต้น ในขณะที่ผู้หญิงชาวอิหร่านจะต้องแต่งกายให้เหมาะสมและถูกต้องตามหลักศาสนา อาทิ ต้องสวมผ้าคลุมศีรษะที่เรียกว่า ‘ฮิญาบ’ เพื่อปกปิดเส้นผม เพราะเชื่อกันว่า หากสตรีปรากฏกายในที่สาธารณะโดยไม่สวมฮิญาบก็ไม่ต่างอะไรจากการเปลือยกายล่อนจ้อนต่อหน้าคนอื่นที่ไม่ใช่สามี ห้ามผู้หญิงสวมชุดรัดรูปที่เผยให้เห็นส่วนเว้าส่วนโค้ง และต้องสวมเสื้อผ้าหลวมๆ เท่านั้น แม้ตามหลักการแล้ว ทั้งชายและหญิงต่างก็มี ‘dress code’ ที่สอดคล้องกับหลักศาสนา แต่ในทางปฏิบัติแล้ว กลุ่มที่ถูกเพ่งเล็งอย่างเข้มงวดมักเป็นผู้หญิงมากกว่า

แต่อย่างที่ มิเชล ฟูโกต์ (Michel Foucault) นักปรัชญาและนักประวัติศาสตร์ชาวฝรั่งเศส กล่าวไว้ “ที่ใดมีอำนาจ ที่นั่นย่อมมีการต่อต้าน” เมื่อความเข้มข้นของกระแสการปฏิวัติผ่านพ้นไป การสอดส่องเครื่องแต่งกายของสตรีในอิหร่านก็หย่อนยานลงบ้าง ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของเจ้าหน้าที่และนักการศาสนาในท้องถิ่นนั้นๆ เราจึงเห็นแฟชั่นการสวมใส่ฮิญาบหลากหลายสีสัน และการปล่อยเรือนผมของผู้หญิงให้เล็ดรอดผ้าคลุมได้มากบ้างน้อยบ้างตามแต่โอกาสจะอำนวย

อย่างไรก็ตาม การขึ้นดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีของ มาห์มูด อาห์มาดิเนจาด (Mahmoud Ahmadinejad) ในปี 2005 ก็ได้เปลี่ยนแปลงประเทศให้กลับสู่แนวทางอนุรักษนิยมมากขึ้น โดยเฉพาะในเรื่องการแต่งกายของสตรี แม้อาห์มาดิเนจาดจะเคยหาเสียงเอาไว้ในปีก่อนหน้านั้นด้วยทัศนคติที่ฟังดูหัวก้าวหน้าว่า รัฐบาลอิหร่านจะต้องเคารพสิทธิในเรือนร่างของประชาชน แต่ลงท้ายกลับเป็นเขาเองที่ก่อตั้งหน่วยกัชตีเอร์ชาดขึ้น เพื่อรับผิดชอบหน้าที่ลาดตระเวนและคอยให้คำแนะนำถึงหลักปฏิบัติที่เหมาะสมแก่ประชาชน (Guidance Patrol)

กัชตีเอร์ชาดตระเวนสอดส่องการแต่งกายที่ไม่เหมาะของผู้หญิงอิหร่านด้วยรถตู้สีขาวลายเขียวประจำหน่วยงาน พวกเขามักจอดประจำการบริเวณที่ผู้คนเดินเท้าพลุกพล่าน ซึ่งส่วนใหญ่ก็เป็นแหล่งสัญจรของคนหนุ่มสาวหัวสมัยใหม่ ว่ากันว่า ลำพังแค่การปรากฏกายของเจ้าหน้าที่หรือรถตู้ก็เพียงพอที่จะทำให้ผู้หญิงต้องหยุดเดิน เพื่อจัดแจงเสื้อผ้าการแต่งกายเสียใหม่ให้เหมาะสมกับหลักปฏิบัติ

ตำรวจศีลธรรมมีอำนาจในการว่ากล่าวและตักเตือน หากพบเห็นผู้แต่งกายไม่เหมาะสม พวกเขายังมีอำนาจในการควบคุมตัวผู้กระทำผิดขึ้นรถตู้ แล้วขับพาไปยังศูนย์บัญชาการ เพื่อปรับทัศนคติหรือเอดูเขต (re-educated) คนเหล่านี้ให้มีความรู้ความเข้าใจในการแต่งกายที่ถูกต้อง ผู้ที่ถูกคุมตัวจะไม่ได้รับอนุญาตให้กลับบ้าน หากไม่สามารถติดต่อให้ญาตินำเครื่องแต่งกายที่เหมาะสมมาเปลี่ยน และยังต้องเซ็นเอกสารยอมรับว่าจะไม่แต่งกายแบบผิดๆ อีกในอนาคต

แม้จะมีอำนาจมากถึงเพียงนั้น แต่กัชตีเอร์ชาดก็ยังใช้อำนาจเกินขอบเขตด้วยการใช้ความรุนแรงในการจับกุมผู้ถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดอย่างที่มักปรากฏเป็นข่าวอยู่เสมอ ความตายของอามินีอาจเป็นเพียงยอดภูเขาน้ำแข็งที่ซุกซ่อนเหยื่อของความรุนแรงเอาไว้อีกจำนวนมาก ซึ่งกำลังปะทุออกมาเป็นการประท้วงขนานใหญ่ในขณะนี้ เพื่อส่งสัญญาณว่าหนุ่มสาวอิหร่านจะไม่ยอมทนต่อการสอดส่องทางศีลธรรมและการกดขี่สตรีอย่างเป็นระบบอีกต่อไป แม้รัฐบาลจะตอบโต้อย่างรุนแรงด้วยการใช้ทั้งกระสุนจริง ปืนฉีดน้ำแรงดันสูง และกระสุนยาง จนมีผู้เสียชีวิตแล้วอย่างน้อย 5 ราย บาดเจ็บอีกเกือบร้อยชีวิต พร้อมกันนั้นยังได้มีการตัดสัญญาณอินเทอร์เน็ตในบางพื้นที่และปิดกั้นการเข้าถึงแอปพลิเคชั่นสื่อสารอย่าง Instagram และ Whatsapp ซึ่งเป็นเพียงไม่กี่ช่องทางที่ยังใช้งานได้ในอิหร่าน

ศาลไต่สวนศรัทธาแห่งคาทอลิก ขจัดพวกนอกรีตและคริสต์ปลอมจากสเปน

ย้อนกลับไปตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 8 คาบสมุทรไอบีเรียอันเป็นที่ตั้งของแผ่นดินสเปนและโปรตุเกส ได้ถูกยึดครองโดยชาวมุสลิมหรือที่เรียกว่า ‘แขกมัวร์’ อย่างยาวนาน แต่ชาวคาทอลิกในแว่นแคว้นต่างๆ ก็ยังยืนหยัด และทำสงครามเพื่อขับไล่ชาวมุสลิมออกจากคาบสมุทรไอบีเรีย สงครามพิชิตดินแดนคืนเช่นนี้เรียกว่า ‘Reconquista’ ซึ่งกินระยะเวลากว่า 800 ปี จนสำเร็จลงได้ในศตวรรษที่ 15 เมื่อสองอาณาจักรใหญ่ๆ อย่างอารากอน (Aragon) และกัสตีญา (Castilla) ที่รวมตัวกันผ่านการอภิเษกสมรสระหว่างกษัตริย์เฟอร์ดินานด์ที่ 2 (Ferdinand II of Aragon) และพระราชินีอิซาเบลที่ 1 (Isabel I de Castilla) ในปี 1469 สามารถพิชิตอาณาจักรกรานาดา ฐานที่มั่นสุดท้ายของชาวมุสลิมลงได้ในปี 1492

แม้การขับไล่มุสลิมของเหล่าผู้ชิต (Conquistador) เสร็จสิ้นลง แต่แผ่นดินสเปนก็ยังไม่อาจอยู่เย็นเป็นสุขได้ หากยังปล่อยให้มีคนกลุ่มอื่นๆ ที่ไม่ใช่คาทอลิกหลงเหลืออยู่ ดังนั้นเป้าหมายต่อไปที่ต้องจัดการจึงเป็นชาวยิว ซึ่งนับเป็นคนกลุ่มใหญ่ที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจของสเปนในขณะนั้นในฐานะพ่อค้าและผู้ให้กู้ยืมเงินรายใหญ่ ในปีเดียวกันนั้น กษัตริย์ทั้งสองจึงออกพระราชกฤษฎีกาอาลัมบรา (the Alhambra Decree) เพื่อเสนอทางเลือกให้ชาวยิวว่า จะยอมถูกเนรเทศออกจากราชอาณาจักรสเปน หรือจะยอม ‘เข้ารีต’ รับศีลชำระบาปเป็นชาวคริสต์ 

เหตุการณ์นี้นำไปสู่ลัทธิเกลียดชังและการสังหารหมู่ชาวยิว (pogrom) หลายต่อหลายครั้งในหลายพื้นที่ จนทำให้ชาวยิวมากกว่า 160,000 ชีวิต ต้องหนีออกจากคาบสมุทรไอบีเรีย แต่ก็ยังมียิวอีกจำนวนมากที่เลือกเปลี่ยนมานับถือคริสต์ ซึ่งเรียกว่า ‘ผู้เปลี่ยนศาสนา’ หรือ Converso อย่างไรก็ตาม ในทางปฏิบัติแล้วพวก Converso เหล่านี้กลับถูกมองว่าเป็นภัยคุกคามยิ่งกว่าพวกยิวที่ปฏิเสธการเข้ารีตเสียอีก เพราะทางการยังหวาดระแวงว่า ภายใต้ฉากหน้าของการรับศาสนาคริสต์ พวกเขาอาจยังคงแอบปฏิบัติศาสนกิจตามแบบยิวอย่างลับๆ

นี่จึงเป็นที่มาให้กษัตริย์เฟอร์ดินานด์และราชินีอิซาเบลยื่นคำขอไปยังศาสนจักร กระทั่งพระสันตะปาปาซิกซ์ตัสที่ 4 (Pope Sixtus IV) ยินยอมมอบตราสารอนุญาต (papa bull) ให้ราชวงศ์คาทอลิกมีอำนาจในการจัดตั้ง ‘ศาลไต่สวนศรัทธา’ (Inquisition) เพื่อจัดการกับพวก ‘นอกรีต’ (heresy) ได้ พร้อมๆ กับการแต่งตั้งตำแหน่งผู้ไต่สวนศรัทธา หรือ inquisitor 

ทั้งนี้ inquisitor มีรากศัพท์มากจากภาษาละตินว่า ‘inquirere’ ซึ่งมีความหมายว่า ไต่สวนหรือออกค้นหา กระบวนการไต่สวนของศาลสเปนจึงเป็นระบบกล่าวหา (adversarial system) ที่ศาลจะเชื่อไว้ก่อนว่าผู้ถูกกล่าวหากระทำความผิดจริง และเป็นหน้าที่ของผู้ถูกกล่าวหาที่จะแก้ต่างเพื่อยืนยันความบริสุทธิ์ของตน อย่างไรก็ตาม ศาลจะไม่แจ้งให้ทราบว่าผู้ถูกกล่าวหาทำผิดในข้อหาอะไร เขาจะต้องตรวจสอบและทบทวนตนเอง ในระหว่างนี้ ศาลจะเตือนเป็นระยะๆ จนกว่าผู้ถูกกล่าวหาจะยอมรับสารภาพ แต่ศาลก็ให้โอกาสเพียงแค่ 3 ครั้ง หากเขายังหาความผิดของตนเองไม่ได้ ก็จะถูกแจ้งข้อกล่าวหาพร้อมหลักฐานที่กระทำผิด ซึ่งถ้าไม่ยอมรับสารภาพว่าประพฤตินอกรีต เขาก็จะถูกทรมานจนกว่าจะรับสารภาพ (หนึ่งในวิธีการพิสูจน์ว่าใครเป็นคาทอลิกหรือไม่ก็คือ การบังคับให้กินเนื้อหมู เพราะหากเป็นยิวหรือมุสลิมก็จะไม่ยอมกินจนเผยพิรุธในที่สุด)

การตัดสินโทษของศาลศาสนาในสเปนมีตั้งแต่โทษสถานเบาไปจนโทษสถานหนัก ในกรณีที่ความผิดไม่ร้ายแรง ผู้กระทำผิดจะต้องสาบานว่าจะไม่ทำเช่นนั้นอีก แล้วต้องใส่เสื้อซานเบนิโต (Sanbenito) เป็นสัญลักษณ์ของการประจาน จ่ายค่าปรับ หรือถูกเนรเทศ หากเป็นกรณีร้ายแรงก็อาจถูกจำคุก ถูกเฆี่ยน หรือกระทั่งประหารชีวิตด้วยการเผาทั้งเป็น นอกจากนี้ ยังมีการจัดพิธีกรรมอ่านคำพิพากษาความผิดของพวกนอกรีตจำนวนมากในจัตุรัสกลางเมือง ซึ่งเรียกว่าพิธีกรรมแห่งศรัทธา (the auto-da-fé) เพื่อแสดงให้สาธารณะรับรู้ว่า ผู้กระทำผิดได้กลับใจและได้รับการอภัยกลับสู่อ้อมอกของคริสตจักรแล้ว

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากศาลศาสนาจะปกปิดตัวตนของพยานและผู้กล่าวหาเป็นความลับ ทำให้หลายกรณีมักเป็นการกล่าวหาลอยๆ ของเพื่อนบ้านที่ไม่ชอบหน้ากัน หรือเป็นลูกหนี้ที่ไม่อยากใช้เงินคืนแก่เจ้าหนี้จึงไปกล่าวหาว่าเขาเป็นยิว จนมีผู้ถูกกล่าวหาอย่างไม่เป็นธรรมจำนวนมากส่งจดหมายร้องเรียนไปยังพระสันตะปาปา แต่กลับไม่เป็นผล เพราะกระบวนการไต่สวนศรัทธาก็ยังดำเนินไปอย่างรุนแรง ไม่เพียงแต่ในเขตแดนของสเปนเท่านั้น แต่ยังลามไปตั้งศาลไต่สวนขึ้นในเขตอาณานิคมอย่าง ‘นิวสเปน’ (เม็กซิโก) และเปรูอีกด้วย เมื่อเวลาผ่านไป ผู้ที่ตกเป็นจำเลยในศาลก็ไม่ได้มีเพียง ‘Converso’ อีกต่อไป แต่ยังรวมถึงพระและบาทหลวงคาทอลิกที่ขัดแข้งขัดขากับผู้หลักผู้ใหญ่ในศาสนจักรสเปน

โตมัส เด ตอร์เกมาดา (Tomás de Torquemada)

ผู้ไต่สวนใหญ่ (The Grand Inquisitor) ที่อำมหิตและโด่งดังที่สุดน่าจะหนีไม่พ้นนักบวชคณะโดมินิกันที่ชื่อ โตมัส เด ตอร์เกมาดา (Tomás de Torquemada) ซึ่งว่ากันว่าเขาสั่งเผาคนนอกรีตทั้งเป็นไปกว่า 2,000 คน ตลอดระยะเวลาการดำรงตำแหน่ง จนชื่อของตอร์เกมาดาแทบจะมีความหมายเดียวกับคำว่า ความโหดร้ายทารุณและการทรมาน ความไร้เหตุผลและไร้มาตรฐานของการไต่สวนในศาลศาสนาทำให้ ฟีโอดอร์ ดอสโตเยฟสกี (Fyodor Dostoevsky) นักเขียนชื่อดัง ถึงกับจินตนาการว่า ต่อให้พระเยซูฟื้นคืนชีพขึ้นมาแล้วถูกไต่สวนในศาลนั้นเสียเอง พระองค์ก็คงหนีไม่พ้นจากการถูกตัดสินว่านอกรีต

ลัทธิสตาลินกับการกวาดล้างครั้งใหญ่ (The Great Purge)

หลังการปฏิวัติรัสเซียในปี 1917 พรรคคอมมิวนิสต์ได้โค่นล้มระบอบการปกครองของพระเจ้าซาร์ แล้วหันมาใช้ระบบการปกครองแบบพรรคเดียวตามแนวทาง ‘เผด็จการชนชั้นกรรมาชีพ’ ของลัทธิมาร์กซ์และเลนิน ซึ่งพยายามใช้ระบบเศรษฐกิจแบบสังคมนิยมแบบสุดขั้ว เพื่อกระจายความมั่งคั่งแก่คนส่วนใหญ่ในประเทศ อย่างไรก็ดี แม้จะมีฐานคิดมาจากหนังสือของ คาร์ล มาร์กซ์ เหมือนกัน แต่สมาชิกระดับนำของพรรคคอมมิวนิสต์กลับไม่ได้มีความเป็นเอกภาพ โดยเฉพาะหลังการเสียชีวิตของ วลาดิเมียร์ เลนิน (Vladimir Lenin) นักทฤษฎีและผู้นำคนสำคัญของพรรคฯ 

ความขัดแย้งเริ่มปรากฏชัดเมื่อ โจเซฟ สตาลิน (Joseph Stalin) ขึ้นเป็นผู้นำของสหภาพโซเวียตจากการดำรงตำแหน่งเลขาธิการคณะกรรมการพรรคฯ หรือ ‘Politburo’ ในปี 1922 โดยลัทธิมาร์กซ์แบบดั้งเดิมจะเชื่อว่า ภายหลังการปฏิวัติ รัฐจะค่อยๆ ลดอำนาจลงจนหมดบทบาทไปในที่สุด เพราะถูกแทนที่ด้วยการบริหารจัดการร่วมกันของสังคม ซึ่งประกอบขึ้นจากคนส่วนใหญ่ที่เป็นชนชั้นแรงงาน ดังนั้นเมื่อความขัดแย้งทางชนชั้นหายไปพร้อมกับเหล่านายทุนแล้ว รัฐที่เคยเป็นเครื่องมือของนายทุนก็ย่อมหมดความสำคัญด้วย อย่างไรก็ดี สตาลินไม่เชื่อเช่นนั้น เขาอ้างว่า รัฐของชนชั้นกรรมาชีพจะต้องเข้มแข็งขึ้นก่อน เพื่อป้องกันไม่ให้กระแสโต้กลับการปฏิวัติ (counter-revolution) มาขัดขวางระยะเปลี่ยนผ่านไปสู่สังคมคอมมิวนิสต์อย่างสมบูรณ์

สหภาพโซเวียตในยุคของสตาลินจึงมีความเป็นอำนาจนิยมอย่างมาก กล่าวได้ว่าสตาลินได้ปรับแต่งแนวทางของมาร์กซ์และเลนินด้วยการตัดคำว่า ‘กรรมาชีพ’ ออกจากทฤษฎี แล้วเปลี่ยนเป็นระบอบเผด็จการอย่างสมบูรณ์ นับตั้งแต่ทศวรรษ 1930 เป็นต้นมา สตาลินก็เริ่มโครงการกวาดล้างมุ้งการเมืองที่ไม่เห็นด้วยกับตนขนานใหญ่ ตั้งแต่แกนนำพรรคบอลเชวิคเดิมที่ขัดแย้งกันมาโดยตลอดอย่าง ลีออน ทรอตสกี (Leon Trotsky) กลุ่มคนที่เขาเรียกว่าพวกฉวยโอกาส ตลอดจนพวกนายทุนที่อยากโต้กลับการปฏิวัติ 

เหตุการณ์กวาดล้างอิทธิพลทางการเมืองของคู่แข่งครั้งใหญ่นี้เรียกว่า ‘The Great Purge’ สตาลินมอบหมายหน้าที่สอดส่อง จับกุม และลงโทษลูกพรรคที่เห็นต่างให้แก่หน่วยตำรวจพิเศษที่เรียกว่า ‘หน่วย NKVD ’ ซึ่งจะคอยยัดข้อหา ‘ศัตรูของประชาชน’ แก่ใครก็ตามที่ทำตัวน่าสงสัย โดยกระบวนการไต่สวนอย่างลวกๆ ซึ่งเสร็จสิ้นภายใน 24 ชั่วโมงหลังถูกจับกุมตัว และไม่ต้องหาหลักฐานใดๆ มายืนยันมากนัก บ่อยครั้งหลักฐานมัดตัวผู้ถูกกล่าวหาก็มาจากคำให้การของเจ้าตัวเองในชั้นสอบสวน ซึ่งมักจะถูกทรมานจนต้องยอมรับสารภาพ (แทบไม่ต้องสงสัยว่า NKVD คือต้นแบบของหน่วยสืบราชการลับ KGB อันโด่งดังในเวลาต่อมา)

ผู้ที่ได้รับการตัดสินจาก NKVD ว่าทรยศต่อชาติ (กล่าวให้ถูกคือทรยศต่อสตาลิน) จะถูกลงโทษสถานเบาตั้งแต่ปลดจากตำแหน่ง ไล่ออกจากพรรค เกณฑ์ไปใช้แรงงานในค่ายแรงงาน ‘Gulag’ หรือทำนารวม ถูกจับขังคุก หรือกระทั่งประหารชีวิตอย่างรวดเร็ว ไม่เพียงสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์เท่านั้นที่โดนกำจัด แต่เหล่าผู้นำทหารและเจ้าหน้าที่ในกองทัพแดงต่างก็ถูกคัดกรองจนเหลือเพียงผู้จงรักภักดีต่อสตาลินเท่านั้น นอกจากนี้ หน่วยงาน NKVD ยังขยายการจับกุมและลงโทษชาวต่างชาติในอาณาเขตของโซเวียตนับแสนๆ คนอีกด้วย เช่น ชาวโปแลนด์ ชนกลุ่มน้อยชาวเยอรมัน ชาวเกาหลี และชาวอเมริกันจำนวนมากที่อพยพหนีวิกฤตเศรษฐกิจครั้งใหญ่ (The Great Depression) ในทศวรรษ 1930 ด้วยข้อหา ‘ภัยความมั่นคง’

ลัทธิสตาลินและองค์กรตำรวจ NKVD กวาดล้างชีวิตของผู้คนจำนวนมาก จนทำให้คู่ปรับตัวฉกาจของเขาอย่างทรอตสกีวิจารณ์ว่า สิ่งหนึ่งที่แยกแยะระหว่างระบบการปกครองของเลนินออกจากสตาลินก็คือ เลนินไม่ได้ก่อให้เกิด ‘แม่น้ำแห่งโลหิต’ ไหลนองท่วมผืนแผ่นดินรัสเซีย

‘ลัทธิแม็คคาร์ธี’ ดินแดนแห่งเสรีภาพที่ไม่นับรวมฝ่ายซ้ายและคนรักร่วมเพศ

“Americans don’t patronize Reds”

ประโยคที่แปลความหมายได้ว่า คนอเมริกันไม่โอบรับพวก ‘ภัยแดง’ ทำนองนี้มักปรากฏในเอกสารชวนเชื่อให้ต่อต้านคอมมิวนิสต์หรือหน้าหนังสือพิมพ์ของสหรัฐอเมริกาตลอดช่วงทศวรรษ 1950 ท่ามกลางบรรยากาศที่เรียกว่าสงครามเย็น สหรัฐอเมริกาผู้เป็นหัวหอกของโลกเสรีนิยมประชาธิปไตย (ที่สมาทานระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยม) จึงต้องคอยสู้รบปรบมือในเชิงอุดมการณ์กับกลุ่มประเทศขั้วตรงข้ามหรือค่ายสังคมนิยม-คอมมิวนิสต์ที่มีสหภาพโซเวียตเป็นลูกพี่ 

ดังนั้นแม้มักถูกมองว่าเป็นดินแดนแห่งเสรีภาพ แต่สหรัฐอเมริกายินยอมให้มีแนวคิด ‘ซ้ายๆ’ เกิดขึ้นบนแผ่นดินของตนเองไม่ได้ จนเกิดการกล่าวหา จับกุม และกวาดล้างคนที่เชื่อว่าเป็นคอมมิวนิสต์ขนานใหญ่ในฐานะภัยความมั่นคงของประเทศ นักประวัติศาสตร์จึงเรียกบรรยากาศหวาดกลัวภัยแดงในช่วงสงครามเย็นเช่นนี้ว่า ‘The Second Red Scare’ (ทั้งนี้ ‘The First Red Scare’ หมายถึงความหวาดกลัวที่เกิดขึ้นทันทีหลังการปฏิวัติรัสเซียในปี 1917)

ความพยายามในการขจัดอิทธิพลของคอมมิวนิสต์ภายในประเทศอย่างเป็นรูปธรรมเกิดขึ้นในปี 1947 หลังประธานาธิบดี แฮร์รี เอส. ทรูแมน (Harry S. Truman) ออก ‘คำสั่งฝ่ายบริหารที่ 9835’ หรือที่เรียกว่า ‘Loyalty Order’ ซึ่งให้มีการตรวจสอบ คัดกรอง ทวนประวัติและพฤติกรรมของเจ้าหน้าที่รัฐต่างๆ มิให้ฝักใฝ่ไปในทางคอมมิวนิสต์ ฟาสซิสต์ หรือเบี่ยงเบนจากค่านิยมเสรีประชาธิปไตยและทุนนิยมแบบอเมริกัน

โจเซฟ แม็คคาร์ธี (Joseph McCarthy)

แต่กว่าที่ความหวาดระแวงฝ่ายซ้ายจะปรากฏชัดต่อสาธารณชน ก็ต้องรอถึงเดือนกุมภาพันธ์ ปี 1950 เมื่อโจเซฟ แม็คคาร์ธี (Joseph McCarthy) วุฒิสมาชิกแห่งพรรครีพับลิกัน เปิดเผย ‘ผังล้มทุน’ ด้วยการนำรายชื่อเจ้าหน้าที่รัฐราว 200 คน มากล่าวหาว่า มีส่วนเกี่ยวพันกับพรรคคอมมิวนิสต์สหรัฐ (CPUSA) หรือกระทั่งเป็นสายลับให้โซเวียต ส่งผลให้เจ้าหน้าที่ในลิสต์นี้ถูกเรียกตัวมาสอบสวนและต้องออกจากราชการในที่สุด 

ว่ากันว่าผู้ถูกกล่าวหาแทบทั้งหมดเป็นเจ้าหน้าที่ในกระทรวงต่างประเทศ (Department of State) โดยเฉพาะผู้เชี่ยวชาญด้านประเทศจีนหรือเคยมีประสบการณ์ทำงานในจีน (จีนเปลี่ยนเป็นคอมมิวนิสต์ในปี 1949 ก่อนหน้าที่แม็คคาร์ธีเปิดเผยแผนผังเพียง 1 ปี) จนทำให้มีคำกล่าวอย่างตลกร้ายว่า การกวาดล้างผู้เชี่ยวชาญด้านจีนและภูมิภาคเอเชียด้วยข้อหาคอมมิวนิสต์ เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้สหรัฐอเมริกาต้องพ่ายแพ้ในสงครามเวียดนามเลยทีเดียว

หลังจากนั้นเป็นต้นมาก็เกิดการล่าแม่มดครั้งใหม่ขึ้นในดินแดนแห่งเสรีภาพ ผิดก็แต่ว่าพ่อมดและแม่มดเหล่านี้ได้รับการขนานนามเสียใหม่ว่า ‘ผู้ฝักใฝ่คอมมิวนิสต์’ และนักล่าคอมมิวนิสต์ก็ถูกเรียกว่า ‘ลัทธิแม็คคาร์ธี’ (McCarthyism) ตามชื่อของวุฒิสมาชิกคนนั้น ตลอดทศวรรษ 1950 ลัทธิดังกล่าวได้กวาดล้างและจับกุมผู้คนจำนวนมากจนคนอเมริกันหลายพันชีวิตต้องตกงาน โดยมีเป้าหมายหลักๆ ได้แก่ เจ้าหน้าที่ของรัฐ นักวิชาการและนักการเมืองฝ่ายซ้าย นักเคลื่อนไหวของสหภาพแรงงาน รวมไปถึงบุคคลสำคัญต่างๆ ในวงการบันเทิง อาทิ ชาร์ลี แชปลิน (Charlie Chaplin) และกรณีอื้อฉาวอย่าง ‘Hollywood blacklist’ ที่สตูดิโอชื่อดังออกมาประกาศว่าจะไม่จ้างงานนักแสดง ผู้กำกับ หรือนักเขียนบทที่หัวเอียงซ้ายโดยเด็ดขาด

แม้การจับกุมหลายครั้งอาจมีมูลความจริงและมีหลักฐานมัดตัวแน่นหนา อาทิ กรณีของจูเลียส และเอเทล โรเซนเบิร์ก (Julius and Ethel Rosenberg) ที่ถูกเจ้าหน้าสำนักงานสืบสวนกลาง (FBI) เข้าจับกุมตัวในข้อหาส่งมอบข้อมูลลับสุดยอดของราชการ เช่น ข้อมูลเทคโนโลยีทางการทหารอย่างเรดาร์ โซนาร์ เครื่องยนต์ขับเคลื่อนไอพ่น และการออกแบบอาวุธนิวเคลียร์ ซึ่งทั้งคู่ให้การรับสารภาพว่าเป็นสายลับให้โซเวียตจริงๆ จนทำให้ถูกตัดสินโทษประหารชีวิตด้วยการนั่งเก้าอี้ไฟฟ้าในปี 1953 ทว่าการจับกุมผู้คนแบบหว่านแหหลายต่อหลายครั้งกลับแทบไม่มีมูลความจริงเลย แต่เป็นเพียงการใส่ความลอยๆ ด้วยความหวาดระแวงหรือเป็นการกลั่นแกล้งทางการเมืองเท่านั้น

จูเลียส และเอเทล โรเซนเบิร์ก (Julius and Ethel Rosenberg)

ทั้งนี้ นอกจากวุฒิสมาชิกแม็คคาร์ธีแล้ว กำลังหลักในการไล่ล่าภัยความมั่นคงภายในสหรัฐอเมริกายังมี จอห์น เอ็ดการ์ ฮูเวอร์ (John Edgar Hoover) ผู้อำนวยการคนแรกของ FBI และคณะกรรมาธิการไต่สวนกิจกรรมที่ไม่เป็นอเมริกันของรัฐสภา (House Un-american Activities Committee: HUAC) ซึ่งเปรียบเสมือน ‘ตำรวจศีลธรรม’ ที่คอยสอดส่องพฤติกรรมคนในชาติให้อยู่ในร่องในรอย ความเผด็จการอย่างหนึ่งขององค์กรจับผิดเหล่านี้ปรากฏผ่านนโยบายของฮูเวอร์ที่ยืนกรานจะปกปิดตัวตนของผู้กล่าวหา ผู้ให้ข้อมูล และพยานเป็นความลับ ทำให้ผู้ถูกกล่าวหาส่วนใหญ่ไม่อาจล่วงรู้ได้เลยว่าใครคือคู่กรณี ซ้ำร้ายกว่านั้น บางคนกลับแทบไม่ทราบด้วยซ้ำว่าตนมีความผิดจากการกระทำใด เพราะมีแต่การแจ้งข้อหาว่า “กระทำการเยี่ยงคนที่ไม่ใช่อเมริกัน” (just not the American way of doing things.)

อย่างไรก็ดี อาการหวาดกลัวภัยแดงไม่เพียงส่งผลกระทบต่อกลุ่มการเมืองฝ่ายซ้ายอย่างพวกอนาธิปไตย สังคมนิยม และคอมมิวนิสต์เท่านั้น แต่ยังกระทบถึงกลุ่มคนที่รักเพศเดียวกันอีกด้วย เพราะในขณะนั้น (ทศวรรษ 1950) สังคมอเมริกันยังมองว่า ‘Homosexual’ เป็นความผิดปกติทางจิตประเภทหนึ่ง ซึ่งได้รับการรองจากความรู้ทางการแพทย์ของสมาคมจิตแพทย์อเมริกันอีกที ดังนั้นจึงเชื่อกันว่า ‘พวกวิปริตทางเพศ’ (sexual pervert) ซึ่งจิตใจอ่อนแอและเปราะบางเหล่านี้อาจถูกชักจูงและโน้มน้าวจากพวกคอมมิวนิสต์ได้ง่ายกว่าคนทั่วไป ยิ่งไปกว่านั้น พวกคอมมิวนิสต์ก็อาจฉวยใช้ความลับของการเป็นคนรักเพศเดียวกันที่บุคคลนั้นปกปิดไม่ให้สาธารณะรับรู้ มาข่มขู่และแบล็คเมล์ เพื่อบังคับให้เป็นสายลับก็ได้

ความรักร่วมเพศจึงกลายเป็นภัยความมั่นคงของรัฐและเป็นความผิดทางศีลธรรมไม่ต่างจากการฝักใฝ่คอมมิวนิสต์ ซึ่งจะต้องถูกสอดส่องจากหน่วยงานข้างต้นไปโดยปริยาย นักเขียนบางคนถึงกับเสนอว่า ในช่วงเวลาดังกล่าว สังคมสหรัฐอเมริกาไม่เพียงหวาดกลัวภัยแดงหรือ Red Scare เท่านั้น แต่ยังหวาดกลัวภัยลาเวนเดอร์ (Lavender Scare) อันมีสีม่วง สัญลักษณ์ของกลุ่มบุคคลผู้มีความหลากหลายทางเพศอีกด้วย

ที่มา

Author

ปิยนันท์ จินา
หนุ่มใต้ที่ถูกกลืนกลายเป็นคนอีสาน โตมาพร้อมตัวละครมังงะญี่ปุ่น แต่เสียคนเพราะนักปรัชญาเยอรมันเคราเฟิ้มและนักประวัติศาสตร์ความคิดชาวฝรั่งเศสที่เสพ LSD มีหนังสือเป็นเพื่อนสนิท แต่พักหลังพยายามผูกมิตรกับมนุษย์จริงๆ ที่มีเลือด เนื้อ เหงื่อ และน้ำตา หล่อเลี้ยงชีวิตให้รอดด้วยน้ำสมุนไพรเพื่อคอยฟาดฟันกับอำนาจใดก็ตามที่กดขี่มนุษย์

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า