ชาติ สาด กระสุน: มันเกิดมาไม่มีชาติ ศาสน์ กษัตริย์ มันต้องตายด้วยมือกู!

ปฏิบัติการโฆษณาชวนเชื่อผ่านภาพยนตร์ไทยใน 3 ทศวรรษ (2490-2520)

Part 3 (2518-2523)

“มันเกิดมาไม่มีชาติ ศาสน์ กษัตริย์ มันต้องตายด้วยมือกู!”

เมื่อล่วงเข้าสู่ปี 2519 จำนวนการสร้างหนังบู๊ 2 ประเภท เพิ่มขึ้นมากกว่าเดิม แยกเป็น กลุ่มหนังปราบปรามผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์หรือขบวนการคอมมิวนิสต์ข้ามชาติ อาทิ 17 ทหารกล้า, ท้ามฤตยู, วีรบุรุษกองขยะ, เสาร์ 5, อัศวิน 19 และ ท้องนาสะเทือน ส่วนกลุ่มหนังปราบปรามผู้มีอิทธิพลเถื่อน อาทิ 3 นักสู้ผู้ยิ่งใหญ่, จ่าทมิฬ, ชุมแพ, บ่อเพลิงที่โพทะเล, เผาขน, ไผ่กำเพลิง, มหาอุตม์ และ เสือ 4 แคว

จำนวนที่เพิ่มมากขึ้นของหนังบู๊ทั้งสองกลุ่มมีนัยสำคัญสอดรับกับความตึงเครียดทางการเมืองอย่างน่าสนใจ โดยเฉพาะท่าทีชัดเจนในหนังกลุ่มแรก ตัวอย่างเช่น วีรบุรุษกองขยะ ที่นำเสนอวีรกรรมของพระเอกในฐานะตำรวจตระเวนชายแดนที่ต้องต่อสู้กับ ผกค. จนกระทั่งตัวตายในตอนท้ายเรื่อง 17 ทหารกล้า สร้างจากเหตุการณ์ต่อสู้ป้องกันค่ายทหารในยุทธภูมิบ้านห้วยโก๋น จังหวัดน่าน เมื่อปี 2518 ข้อความบนใบปิดของเรื่องมีเนื้อความว่า

“ถ้าสิ้นชาติ สิ้นแผ่นดิน สิ้นกษัตริย์ เห็นสุดจะยืนหยัดอยู่ได้! จะสู้กันไม่หลบหนีหาย… สู้ตรงนี้ สู้ที่นี่ สู้จนตาย ถึงเป็นคนสุดท้ายก็ลองดู!”

ภาพยนตร์ในทำนองเดียวกันอย่าง อัศวิน 19 ก็มีข้อความโฆษณาในเชิงปลุกใจไม่ต่างกัน เนื้อความว่า

“ความเป็นไทยเรารัก และไม่ยอมให้ใครย่ำยี เราจะรักษาแผ่นดินไทยไว้ ด้วยหัวใจ และสายเลือดของนักสู้ ‘ลูกแม่ไทย’”

แต่ภาพยนตร์ที่เป็นตัวแทนการต่อสู้คอมมิวนิสต์ที่คนดูให้การต้อนรับมากที่สุด กลับเป็นภาพยนตร์เรื่อง เสาร์ 5

เสาร์ 5 สร้างจากนิยายชื่อเดียวกันของ ‘ดาเรศร์’ มีพระเอก 5 คน ที่ล้วนมีประวัติการรบในเวียดนามมาอย่างโชกโชน จนขึ้นชื่อว่าเป็นหน่วยปีศาจ เพราะยิงไม่เข้า ฆ่าไม่ตายกันทั้ง 5 คน น้อยคนนักจะรู้ว่าเพราะทั้ง 5 ต่างมีสุดยอดพระเบญจภาคีไว้คุ้มครองกาย เป็นพระผงที่ปลุกเสกขึ้นในวันเสาร์ 5 ตามวันเกิดของเด็กหนุ่มทั้ง 5 ซึ่งต่างห้อยนามสกุลพระไว้ทุกคน ตั้งแต่ ยอด นางพญา, เดี่ยว สมเด็จ, เทิด ยอดธง, ดอน ท่ากระดาน และ กริ่ง คลองตะเคียน

หนังเรื่อง เสาร์ 5 ยังต่างจากหนังปราบผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ทุกเรื่องที่เคยมีมา เพราะเน้นความสนุกและอภินิหารของกลุ่มตัวเอกเป็นสำคัญ แต่งตัวชุดคาวบอยไปดวลปืนบุกถล่มฐานทัพคอมมิวนิสต์ที่เจาะถ้ำอยู่กันในป่าลึกอย่างเถิดเทิง แถมยังออกแบบคาแรคเตอร์ทั้ง 5 ได้น่าจดจำ มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ทำให้การต่อสู้กับคอมมิวนิสต์ในหนังเรื่องนี้กลายเป็น ‘ความสนุก’ มากกว่าจะตั้งหน้าตั้งตากู้ชาติสละชีพอย่างหนังร่วมยุคเดียวกันนำเสนอ

ขณะที่การปราบปรามผู้ร้ายคอมมิวนิสต์บนจอภาพยนตร์กลายเป็นความบันเทิงสุดขั้ว นอกจอก็มีการเคลื่อนไหวอย่างเป็นระบบ เพื่อมุ่งทำลายล้างขบวนการนักศึกษาและประชาชนที่กลับมาเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐในการใช้ความรุนแรงจัดการผู้เห็นต่าง เริ่มจาก กิตฺติวุฑฺโฒ (พระราชาคณะปลัดซ้าย พระอุดรคณาภิรักษ์ ในขณะนั้น) ให้สัมภาษณ์แก่นิตยสาร จัตุรัส ตีพิมพ์เผยแพร่ฉบับวันที่ 24 มิถุนายน 2519 ขึ้นหน้าปก กิตฺติวุฑฺโฒ พร้อมพาดหัวคำพูดว่า

“ฆ่าคอมมิวนิสต์ได้บุญมากกว่าบาป”

หัวใจของคำสัมภาษณ์นี้อยู่ที่การเปรียบคอมมิวนิสต์เป็น ‘มาร’ และการสร้างชุดคำอธิบายเลี่ยงบาลีว่า การฆ่าคนที่มีแนวคิดเป็นคอมมิวนิสต์นั้น ‘ไม่เท่ากับ’ การฆ่าคน เพราะถือว่าคนที่เป็นคอมมิวนิสต์นั้นไม่ใช่คนแล้ว คำพูดชุดนี้ได้ออกใบอนุญาตฆ่าให้แก่ฝ่ายผู้ก่อการในขณะนั้น ‘ปลดล็อคธรรม’ ให้ประชาชนส่วนใหญ่ยินยอมรับการฆ่าโดยดุษฎี ด้วยการทำให้ขบวนการนักศึกษาและประชาชนกลายเป็นเสมือนตัวร้ายในภาพยนตร์ ตัวร้ายที่ตายๆ ไปเสีย แผ่นดินจะได้สูงขึ้น

ผู้ชมซึมซับความรู้สึกเกลียดชัง หวาดกลัวขบวนการคอมมิวนิสต์และคนที่มีแนวคิดแบบคอมมิวนิสต์ผ่านภาพยนตร์ไทยมาตลอดเกือบ 2 ทศวรรษ พวกเขาได้เห็นจินตนาการอันเลวร้ายต่อคอมมิวนิสต์ในสารพันรูปแบบ และได้เห็นว่าในท้ายสุดพระเอกที่จะมาจัดการภัยคอมมิวนิสต์ คืนความสงบสุขกลับสู่ผู้ชมอีกครั้ง ซึ่งก็คือเจ้าหน้าที่ตัวแทนของรัฐ ไม่ว่าจะเป็นนายทหารกล้า ร้อยตำรวจเอกปลอมตัวมา หรือยอดจารชนอภินิหารผู้เสี่ยงตายเพื่อชาติ

ใครๆ ก็อยากเป็นพระเอก ไม่มีใครอยากเป็นผู้ร้าย และเหตุการณ์ที่หลายคนเลือกจะเป็นพระเอก ก็มาถึงในเช้าวันที่ 6 ตุลาคม 2519

ชาติ/สาด/กระสุน

หลังข่าวลือการกลับมาของ พระถนอม กิตติขจร ตามด้วยข่าวการตายอย่างลึกลับของพนักงานการไฟฟ้านครปฐม 2 ราย ที่แจกใบปลิวต่อต้านพระถนอม นำมาสู่การรวมตัวกันประท้วงที่ธรรมศาสตร์โดยนักศึกษาและประชาชน ถึงขั้นวอล์คเอาท์ ‘ไม่เข้าสอบ’ เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลสอบสวนเหตุฆาตกรรมพนักงานการไฟฟ้าและขับไล่พระถนอมออกจากประเทศ นำมาสู่การเล่นละครเสียดสีแขวนคอใต้ต้นโพธิ์เพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมดังกล่าว

บ่ายวันที่ 5 ตุลาคม 2519 หนังสือพิมพ์ดาวสยาม ตีพิมพ์ภาพการแสดงละครแขวนคอในธรรมศาสตร์ ประโคมข่าวบิดเบือนใส่ร้ายขบวนการนักศึกษาว่าต้องการล้มล้างสถาบัน ตามมาด้วยสถานีวิทยุหลายช่องปลุกระดมให้ประชาชนออกมาชุมนุมที่ลานพระบรมรูปทรงม้า ในจำนวนนี้มีกลุ่มประชาชนจัดตั้งฝ่ายขวาอย่าง กระทิงแดง ลูกเสือชาวบ้าน และนวพล เข้าร่วมนำกำลังมวลชนพากันล้อมมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ด้วยความเชื่อว่ามีพวกคอมมิวนิสต์เวียดนามอยู่ข้างใน บ้างถึงขั้นลือว่ามีการซุกซ่อนอาวุธสงครามร้ายแรงไว้ในธรรมศาสตร์ เพื่อเตรียมการทำลายชาติ ขณะที่กลุ่มนักศึกษาชุมนุมกันอย่างสงบในมหาวิทยาลัยเพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลจัดการปัญหาจอมพลถนอม

เช้าวันที่ 6 ตุลาฯ มาถึงพร้อมกับเลือดและกระสุน ความตายคละคลุ้งทั่วสนามหญ้ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ณ เวลานั้นไม่มีใครรู้ว่าเกิดอะไรขึ้นข้างใน มีคอมมิวนิสต์อยู่จริงหรือไม่ มีการยิงตอบโต้จากภายในด้วยอาวุธสงครามอย่างที่ข่าววิทยุประโคมหรือเปล่า

นับจากเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ เป็นต้นมา และการประกาศท่าทีแข็งกร้าวต่อการปราบปรามขบวนการคอมมิวนิสต์อย่างเด็ดขาดในยุครัฐบาล ธานินทร์ กรัยวิเชียร ที่ขึ้นสู่ตำแหน่งหลัง พลเรือเอกสงัด ชลออยู่ ทำการรัฐประหารรัฐบาล เสนีย์ ปราโมทย์ ในคืนวันที่ 6 ตุลาฯ

นับแต่วันนั้น หนังไทยหลายเรื่องตลอดช่วง พ.ศ. 2520-2523 ได้กลายเป็นเครื่องมือโฆษณาชวนเชื่อชั้นดี เพื่อสร้างความชอบธรรมจากการปราบปรามขบวนการนักศึกษา รวมถึงการเปิดแนวรบกับขบวนการคอมมิวนิสต์อย่างรุนแรงเฉียบขาดภายหลังเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ

ภาพยนตร์เรื่อง เก้ายอด (2520) เป็นหนังแนวสายลับ พระเอกแฝงตัวเข้าสู่องค์กรก่อการร้ายข้ามชาติชื่อ องค์กรเก้ายอด มีคนไทยรู้เห็นเป็นใจ สมาชิกระดับหัวหน้าองค์กรเก้ายอดต่างสวมหัวโขน ดูเหมือน เก้ายอด จะไม่ต่างจากหนังบู๊ในช่วงเวลานั้นที่ฉูดฉาดในแง่แอคชั่น แต่พล็อตเรื่องวนเวียนอยู่กับภัยคอมมิวนิสต์แฝงในคราบองค์กรก่อการร้ายข้ามชาติ

ทว่าการแทรกฟุตเทจเหตุการณ์ชุมนุมของขบวนการนักศึกษาลงไปในหนัง ผ่านการฉายให้เห็นว่าขบวนการเก้ายอดได้อยู่ ‘เบื้องหลัง’ การปลุกปั่นนี้จนทำให้คนไทยลุกขึ้นมาฆ่ากันเองตามแผนทำลายชาติ พระเอกของเรื่องได้รับรู้และเห็นว่าจะปล่อยให้องค์กรเก้ายอดอยู่ต่อไปอีกไม่ได้ จึงได้เริ่มดำเนินแผนตอบโต้ นำมาสู่ฉากบู๊ในช่วงท้ายเรื่อง

ฉากสั้นๆ ใน เก้ายอด นี้เป็นการสื่อสาร ‘ทางตรง’ ไปยังผู้ชมที่รับรู้เหตุการณ์ 6 ตุลาฯ จากภาพนิ่ง จากข่าวหนังสือพิมพ์ ว่าเป็นเหตุการณ์ที่มีเบื้องหลัง หากเป็นเบื้องหลังที่ก่อการขึ้นโดยขบวนการคอมมิวนิสต์แอบแฝง (เก้ายอด) ความจริงและจินตนาการถูกผสมผสานเป็นหนึ่งในหนังเรื่องนี้

ตามมาด้วย หนักแผ่นดิน (2520) ภาพยนตร์ที่ผูกเรื่องขึ้นให้พระเอกของเรื่องคือ ลูกเสือชาวบ้าน หนึ่งในกลุ่มมวลชนจัดตั้งที่มีส่วนสำคัญในเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ แต่ในเรื่องนี้ พวกเขากลับเป็นผู้ถูกกระทำตั้งแต่เริ่มเรื่อง เมื่อขบวนการคอมมิวนิสต์ลอบโจมตีขบวนรถบัสกลางดึกที่บรรทุกลูกเสือชาวบ้านมาเต็มคันรถ มีทั้งคนเจ็บคนตาย เห็นความโหดร้ายป่าเถื่อนของขบวนการคอมมิวนิสต์ที่ฆ่าลูกเสือชาวบ้าน ‘ผู้บริสุทธิ์’ หลังจากนั้นหนังเปิดตัวละครเอก 2 ตัวคือ ชาติ (ครรชิต ขวัญประชา) กับ ไท (สมบัติ เมทะนี) แต่คนเดินเรื่องหลักคือนายชาติ ชาวบ้านอำเภอวังหิน จังหวัดอุบลราชธานี ที่ถูกขบวนการคอมมิวนิสต์จัดฉากให้ไปทำงานในกรุงเทพฯ เพื่อล่อลวงให้เขาตกระกำลำบากจนต้องเข้าร่วมขบวนการอย่างจำยอม

ฉากการประชุมพรรคคอมมิวนิสต์ในกรุงเทพฯ ที่นายชาติเข้าร่วมนั้น แตกต่างจากฉากประชุมองค์กรก่อการร้ายในหนังไทยทศวรรษก่อนอย่างสิ้นเชิง ภาพเปรียบเทียบการประชุมองค์กรก่อการร้ายใน เพชรตัดเพชร (2509) และการประชุมพรรคคอมมิวนิสต์ใน หนักแผ่นดิน (2520) เป็นการประชุมในบ้านที่ดูธรรมดาสามัญ ทุกคนแต่งตัวอย่างสามัญ แต่บนโต๊ะกลับเต็มไปด้วยสมาชิกขบวนการที่มีทั้งฝรั่ง จีน และแขก เพื่อย้ำเตือนให้คนดูรู้ว่าขบวนการนี้ ‘มีเบื้องหลังเป็นนายทุนต่างชาติ’ นายชาติถูกโน้มน้าวให้เข้าร่วมขบวนการด้วยการรับประกันฐานะที่จะร่ำรวยขึ้น และได้มอบหมายให้นายชาติทำหน้าที่เป็น ‘เอเยนต์’ กลับไปยังบ้านเกิดเพื่อชักชวนชาวบ้านเข้าร่วมขบวนการคอมมิวนิสต์ ปลุกระดมให้ลุกขึ้นล้มล้างรัฐบาลและสถาบัน

หนังแทบจะพาคนดูตามชีวิตนายชาติที่เปลี่ยนจากคนไทยไปเข้าร่วมขบวนการคอมมิวนิสต์ ก่อนจะเกิดอาการตาสว่างว่าตนถูกหลอกใช้ ต้องสูญเสียทั้งเมียและแม่ไปในการต่อสู้ปะทะกับฝ่ายรัฐไทย ในช่วงท้ายเรื่อง นายชาติได้หวนกลับมาร่วมมือกับนายไท เพื่อทำภารกิจสุดท้ายคือการนำธงไตรรงค์ฝ่าห่ากระสุนคอมมิวนิสต์ ไปชักธงขึ้นยอดเสาแทนธงคอมมิวนิสต์ที่โบกสะบัดเหนือแผ่นดินไทย นายไทกลายเป็นพระเอกของเรื่องเมื่อเป็นคนเชิญธงคนสุดท้าย ทั้งมีฉากสำคัญที่หลังจากนายไทยิงผู้ร้ายคอมมิวนิสต์ระดับหัวหน้าตายไปแล้ว เขากลับจับปืนพร้อมพาดธงไตรรงค์ไว้บนบ่า ก่อนจะยิงกระสุนออกไป 3 นัด เล็งเป้าหมายยังเสาธงคอมมิวนิสต์ให้ล้มครืนลง

กระสุนทั้ง 3 นัดที่นายไทยิงออกไปนั้น คือความหมายของ ชาติ ศาสน์ กษัตริย์

ฉากจบของเรื่อง กลุ่มตำรวจตระเวนชายแดนตามมาสมทบนายไท และชาวบ้านที่เหลืออยู่จับกุมพวกคอมมิวนิสต์ได้หมด ก่อนจะมีการนำธงไตรรงค์ขึ้นสู่ยอดเสา แล้วฝ่ายเจ้าหน้าที่รัฐไทยก็ต้อนผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์เข้ามายืนเรียงแถวร่วมกับชาวบ้าน เพื่อร้องเพลง รักกันไว้เถิด ต่อหน้าธงไตรรงค์ที่ชักขึ้นสูงหน้าอดีตที่ทำการพรรคคอมมิวนิสต์อันเป็นรังผู้ร้าย นับเป็นฉาก ‘เหนือจริง’ ที่สะท้อนให้เห็นถึงจินตนาการของฝ่ายขวาในการจะทำให้นาฏกรรมการฆ่าล้างคอมมิวนิสต์ในภาพยนตร์ กลายเป็นเรื่องพาฝัน มีบทสรุปจบอันสวยงาม ทั้งยังสร้างความชอบธรรมให้แก่นโยบายปราบปรามคอมมิวนิสต์ ในยุครัฐบาลนายธานินทร์ กรัยวิเชียร

ภาพยนตร์เรื่องสุดท้ายในปี 2520 ที่เน้นย้ำถึงข้อความชุดเดียวกัน “การฆ่าคอมมิวนิสต์ไม่บาป” ก็คือเรื่อง 3 นัด

3 นัด เล่าเรื่องของพ่อลูกคู่หนึ่งที่มีอุดมการณ์ทางการเมืองขัดแย้งกันอย่างรุนแรง จ่าก้าน เป็นนายตำรวจที่เลื่อมใสในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ส่วนกริช ลูกชายจ่าก้าน กลับเป็นนักเลงหัวไม้ที่หันเหไปเข้าร่วมขบวนการคอมมิวนิสต์ ในตอนท้ายเรื่อง กลุ่มพระเอกบุกเข้าทำลายซ่องคอมมิวนิสต์ที่ล่อลวงผู้หญิงไปขาย จ่าก้านได้เผชิญหน้ากริชอีกครั้ง กริชชักปืนจะยิงพ่อตัวเอง ทว่าจ่าก้านตัดสินใจยิงกริชก่อน จ่าก้านยิงลูกชายแท้ๆ ไป 3 นัด จนถึงแก่ความตาย กระสุน 3 นัดของจ่าก้านนั้นแทน ชาติ ศาสน์ กษัตริย์

ข้อความบนใบปิดหนังเรื่องนี้ ระบุหัวใจในตอนจบของหนังเอาไว้แล้วว่า

“มันเกิดมาไม่มีชาติ ศาสน์ กษัตริย์ มันต้องตายด้วยมือกู!”

เสื่อมสลาย

คำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 66/2523 ในยุค พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ที่ให้สมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์ออกจากป่ากลับเข้าสู่สังคมโดยไม่ต้องรับโทษทางกฎหมาย อันเป็นการเปลี่ยนท่าทีจากการปราบปรามอย่างรุนแรงในช่วงรัฐบาลนายธานินทร์ กรัยวิเชียร และ พลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ ทำให้ขบวนการนักศึกษาและประชาชนที่เข้าร่วมกับคอมมิวนิสต์หลังเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ ส่วนใหญ่ตัดสินใจออกจากป่า กอปรกับปัญหาภายในของพรรคคอมมิวนิสต์ นำมาสู่การเจรจายุติการรบระหว่างรัฐไทยกับคอมมิวนิสต์อย่างเด็ดขาดในปี 2525 กินระยะเวลายาวนาน 30 ปี นับจากมีการออกกฎหมายคอมมิวนิสต์ที่เพิ่มอำนาจให้เจ้าหน้าที่รัฐ สามารถจับกุม กักขัง และปราบปรามอย่างรุนแรงเป็นกรณีพิเศษได้ในปี 2495 และเป็นเวลา 17 ปี นับจากวันเสียงปืนแตก

ภาพยนตร์ไทยนับจากการขึ้นสู่อำนาจของ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ในปี 2523 ก็หันเหความสนใจออกจากการต่อสู้กับขบวนการคอมมิวนิสต์อย่างเห็นได้ชัด วายร้ายในหนังบู๊ไทยทศวรรษ 2520 นับจากนี้ไปจนถึงช่วงท้ายทศวรรษกลับเป็นกลุ่มนายทุน พ่อค้าคนกลาง โดยเฉพาะผู้มีอิทธิพลในต่างจังหวัด เน้นปัญหาความอยุติธรรมที่เกิดขึ้นกับปัจเจกหรือสังคมระดับหมู่บ้าน มากกว่าจะแทนภาพใหญ่ของสังคมไทยเช่นในทศวรรษก่อนหน้า อาทิ มหาหิน (2521) สิงห์สั่งป่า (2521) เสือภูเขา (2522) ผ่าปืน (2523) เจ้าพ่อภูเขียว (2524) ไอ้ผาง ร.ฟ.ท. (2525) เพชรตัดหยก (2525) ฯลฯ ส่วนภาพยนตร์ที่ว่าด้วยการต่อสู้กับขบวนการคอมมิวนิสต์ไม่มีปรากฏอีกนับจากปี 2523 เป็นต้นมา

ช่วงกลางจนถึงปลายทศวรรษ 2520 นี้ ภาพยนตร์ไทยยังเผชิญปัญหาจากการเสื่อมความนิยมของผู้ชม ซ้ำรัฐบาลยกเลิกกำแพงภาษีภาพยนตร์ต่างประเทศ ส่งผลให้ภาพยนตร์ต่างประเทศฟอร์มใหญ่จากค่ายยักษ์ใหญ่ของฮอลลีวูด ที่มีหนังเด่น อาทิ เจมส์ บอนด์ และ สตาร์ วอร์ส ซึ่งก่อนหน้านี้ไม่มีโอกาสเข้าฉายในไทยในช่วงต้นทศวรรษ ก็ได้กลับเข้ามาทยอยฉายอีกครั้ง

กอปรกับการเข้ามาของเครื่องเล่นวิดีโอเทป ที่เปลี่ยนรูปแบบการชมภาพยนตร์จากเดิมต้องเข้าโรงหนังเท่านั้น วิดีโอเทปได้ทำให้การชมภาพยนตร์กลายเป็นกิจกรรมในบ้านหรือตามร้านคอฟฟี่ช็อป แม้ในช่วงแรกตัวเครื่องเล่นและวิดีโอเทปจะยังมีราคาแพงมากก็ตาม ส่วนสุดท้ายที่เติบโตมาเป็นคู่แข่งของภาพยนตร์ไทยโดยตรงก็คือ ละครโทรทัศน์ เมื่อโทรทัศน์ราคาถูกลงมาก ใครๆ ก็ซื้อหาครอบครองได้ เจ้าของช่องรายการโทรทัศน์จึงเริ่มเฟ้นหาคอนเทนต์ทั้งสร้างละครโทรทัศน์เองและซื้อคอนเทนต์ละครโทรทัศน์จากต่างประเทศ ทั้งอเมริกาและญี่ปุ่นมาฉาย รวมถึงละครชุดกำลังภายในจากฮ่องกง ทำให้ผู้ชมเดิมที่เคยชมภาพยนตร์หันเหมาชมละครโทรทัศน์ที่มีทางเลือกมากกว่าและสะดวกสบายกว่า

แม้ภาพยนตร์ไทยจะเปลี่ยนท่าทีไม่พูดถึงขบวนการคอมมิวนิสต์อีก ไม่พูดถึงเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ และ 6 ตุลาฯ เลยเถิดถึงขั้นไม่พูดถึงการเมืองในภาพยนตร์อีกเลยตลอดทศวรรษถัดมา (2530) ทว่าภายหลังเมื่อมีการเผยแพร่ภาพชุดเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ ให้แก่สาธารณชนได้เห็นความโหดร้ายที่กลุ่มฝ่ายขวาและเจ้าหน้าที่ที่กระทำต่อนักศึกษาและประชาชน หลายภาพแสดงสีหน้าผู้กระทำที่มีความสุข-บันเทิง การฆ่ากลายเป็นความบันเทิงในโมงยามนั้น ภาพของผู้ชุมนุมเด็กที่ยิ้มและปรบมือให้ต่อการฆาตกรรมตรงหน้า ได้กลายเป็นภาพที่สะท้อนให้เห็นถึงพลังของสื่อบันเทิงในฐานะโฆษณาชวนเชื่อ ที่เปลี่ยนผิดเป็นถูก เปลี่ยนให้คนคิดต่าง/อีกฝ่ายกลายเป็นศัตรู เป็นผู้ร้ายที่พวกเขาต้องกำจัด เปลี่ยนการฆ่าให้กลายเป็นความชอบธรรม

เปลี่ยนสังคมไทยให้บิดเบี้ยวผิดเพี้ยนมาจนถึงทุกวันนี้


อ้างอิง
  • บทสัมภาษณ์ เอิร์ล วิลสัน (Earl Wilson) วิคเตอร์ แอล. สเตียร์ (Victor L. Stier) และ พอล กู๊ด (Paul Good) จากเว็บไซต์ https://adst.org/ (Association for Diplomatic Studies and Training) ค้นหาเอกสารด้วยคำค้นว่า Thailand จะพบเอกสารชุดแรกชื่อ Thailand ซึ่งรวมบทสัมภาษณ์อดีตเจ้าหน้าที่ USIS ที่ปฏิบัติการในไทยตั้งแต่ปี 1948-1998
  • เอกสาร CIA จากฐานข้อมูลกลาง www.cia.gov/library/readingroom/ เอกสารหมายเลข CIA-RDP82-00457R005000410006-9 ค้นหาด้วยคำสำคัญ หัวเรื่อง ‘Confiscation of Thai Films’
  • เอกสาร CIA จากฐานข้อมูลกลาง www.cia.gov/library/readingroom/ เอกสารหมายเลข CIA-RDP80-01065A000300020002-1 ค้นหาด้วยคำสำคัญ หัวเรื่อง ‘U.S. PSYCHOLOGY STRATERGY BASED ON THAILAND’
  • วิทยานิพนธ์ปริญญาเอก Thai Cinema as National Cinema: An Evaluative History นำเสนอแก่มหาวิทยาลัย Murdoch University ในปี 2004
  • การก่อกรณี 6 ตุลาฯ https://doct6.com/learn-about/how/chapter-4
  • Grant Watts (2014), Communism Amongst the Stars: Anti-Communism in Film during the 1940s-50s
ที่มาภาพ
  • https://thaibunterng.fandom.com/
  • https://www.facebook.com/ThaiMoviePosters

Author

ชาญชนะ หอมทรัพย์
ชาญชนะ หอมทรัพย์ เกิดในยุคโรงภาพยนตร์สแตนด์อโลนเต็มเมือง ผ่านทั้งยุควิดีโอเทป ติดหนังจีนชุดจนถึงซีรีส์ Netflix ปัจจุบันทำงานเขียนบทภาพยนตร์ และเป็นอาจารย์พิเศษสอนวิชาประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ทั้งไทย-เทศ

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า