คุยกับ Mr.Vop วิเคราะห์ฝนวิปริตเดือนกันยายนกับอาการโคม่า Climate Crisis

ขณะที่เข็มนาฬิกาของเดือนกันยายนเริ่มเดินไปข้างหน้า ไม่มีใครคาดคิดว่าฟ้าฝนจะตกชุกชุมปานฟ้ารั่ว บรรดาชาวเมืองอาบพระพิรุณราวอาบน้ำฝักบัว สองเท้าจุ่มน้ำราวท้องถนนคืออ่างออนเซ็น คำถามคือ ฝนเดือนกันยายนของทุกปีเป็นฤดูกาลตามธรรมชาติมิใช่หรือ แต่เหตุใดปีนี้จึงดูหนักหน่วงเหลือเกิน

ข้อมูลตัวเลขจากเฟซบุ๊กของ ดร.สันต์ ศรีอรรฆ์ธำรง อาจารย์พิเศษคณะบริหารการพัฒนาสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) ระบุว่า ปริมาณน้ำฝนที่วัดได้สูงที่สุดในรอบ 24 ชั่วโมง ตั้งแต่ 1 สิงหาคม – 10 กันยายน จะพบว่า ปี 2565 มีปริมาณน้ำฝนเกิน 100 มม. จำนวน 8 วัน เมื่อเทียบกับสถิติในช่วง 6 ปี มีปริมาณน้ำฝนเกิน 100 มม. ทั้งสิ้น 16 วัน (ครึ่งหนึ่งอยู่ในปีนี้!)

ภาพน้ำท่วมใจกลางเมืองและน้ำรอระบายตามท้องถนนในกรุงเทพฯ จึงดูสอดคล้องกับวิกฤตสภาพภูมิอากาศที่เกิดขึ้นทั่วโลกในรอบขวบปี ไล่ตั้งแต่น้ำท่วมหนักในปากีสถาน ยันย่านดงจักในเกาหลีใต้ แน่ล่ะว่า เราไม่ควรจะชินชากับความประหลาดของฟ้าฝน ทว่าหากมันเป็นความปกติใหม่อย่างแท้จริง แล้วเราในฐานะมนุษย์ควรก้าวต่อไปยังไง

ท่ามกลางอากาศขมุกขมัวของท้องฟ้าสีเทาและแรงลมกระโชก เราคุยกับ Mr.Vop ผู้ดูแลเว็บไซต์ Paipibat.com เจ้าของแอคเคาต์ @MrVop บนโลก Twitter และบล็อกเกอร์ผู้ขีดเขียนเรื่องเล่าทางวิทยาศาสตร์มากมาย ซึ่งหลังบทสนทนาจบลงเพียงไม่นาน เราก็พบว่าฝนเริ่มลงเม็ดพร้อมความครึ้มของท้องฟ้าอีกครั้ง 

เกิดอะไรขึ้นกับท้องฟ้าเมืองไทยในเดือนกันยายนปีนี้ มันมีนัยยะอะไรบ้าง

ถ้าคุณตาม Twitter ผมจะไม่แตะต้องการเมืองเลย แต่ผมก็อ่าน ผมก็เห็น คือผมจะมอนิเตอร์คำ เช่น คำว่า ‘ฝน’ ‘ลูกเห็บ’ แม้กระทั่งคนชื่อ ‘ฝน’ อย่างในประโยค ‘ไอฝนที่รักเธอ’ หรือที่คนบ่น ‘เมื่อไหร่ฝนจะเลิกตกสักที’ ผมเห็นหมด เพราะฉะนั้น ผมจะไวทันที ไอ้ตรงนี้มีน้ำท่วม ตรงนี้ตรงนั้นมีฝนตก อย่างเมื่อกี้จะมีพระอาทิตย์ทรงกลด เพราะผมดักคำพวกนี้ในเครื่องมือ เราจึงเห็นความขัดแย้งกันเรื่องปริมาณน้ำฝนว่า หลายปีก่อนฝนก็ตกหนักเดือนกันยายน แต่ทำไมเพิ่งจะมาหนักในปีนี้ กันยายนมันไม่ได้ตกทุกปีเหรอ แล้วมีคนผุดเอากราฟยุคไหนมาไม่รู้ ชี้ว่า กันยายนปีนั้นปีนี้ฝนตกเยอะนะ กันยายนปีที่แล้วฝนตกเยอะกว่าปีนี้ แล้วทำไมมาท่วมตอนนี้ ผมก็เลยอึดอัด เลยออกมาทวิตว่า ฝนมันมีหลายตัวเลข ตัวเลขปริมาณน้ำฝนในเมืองไทยเราจะวัดตั้งแต่วันนี้ 7 โมงเช้า ถึงพรุ่งนี้ 7 โมงเช้า (หน่วยเป็นมิลลิเมตร) แต่จริงๆ คุณต้องดูความเข้ม (intensity) ด้วย แล้วความเข้มคืออะไร สมมุติว่า คุณรดน้ำต้นไม้ มีน้ำในฝักบัวถังหนึ่ง มีสองวิธีคือ ค่อยๆ รด ไม่ให้ล้นขอบกระถาง กับเทลงไปรวดเดียวจนหมดถัง มันก็ทำให้น้ำล้นออกมา 

ในปริมาณน้ำที่เท่ากัน คุณทำให้ท่วมก็ได้ ทำให้ไม่ท่วมก็ได้ พระพิรุณก็ทำแบบนั้น เช่น ปริมาณน้ำฝน 60 มม. พระพิรุณก็สามารถทำให้ท่วมได้ ถ้าเทลงมาภายใน 1 ชั่วโมง แต่ถ้าค่อยๆ เทภายใน 24 ชั่วโมง แบบนี้ก็ไม่ท่วม ยกเว้นพื้นที่ตรงนั้นมันจะแย่จริงๆ แต่ตัวเลขสำคัญที่เราต้องมองคือ หน่วยของเวลาที่ย่อยลงมา ไม่ใช่ 24 ชั่วโมง แต่คือ 1 ชั่วโมง ว่าภายในชั่วโมงเดียวนั้นจะมีปริมาณน้ำเท่าไร ถ้าเยอะ ยังไงก็ท่วม 

ในชาร์ตปกติของ กทม. เขาจะแสดงการวัดด้วยหน่วย 24 ชั่วโมง แล้วสรุปเป็นรายเดือนเพื่อให้เจ้านายอ่านง่าย แต่พอเราไปเจาะเป็นรายชั่วโมง เป็นรายวัน ตัวเลขจะยิบย่อยมาก ซึ่งผู้ใหญ่คงไม่อยากอ่าน แต่ตัวเลขนี้สำคัญ เพราะถ้าเราดูปั๊บ เราจะเห็นเลยว่า ทำไมน้ำถึงท่วมตอนนี้ๆ แล้วเราก็เผอิญได้เห็นข้อความของคุณสันต์ เขาเอาตัวเลขพวกนี้มาลงตามสื่อ คือตัวเลขสำคัญพวกนี้ต้องสื่อให้ประชาชนเห็นว่า สิ่งที่เราพบคือ เรากำลังเจอสภาพฝนตกผิดปกติ ไม่ใช่เรื่องการเมือง ถ้าเจอฝนตกหนักผิดปกติ ยังไงก็ท่วม

ความประหลาดที่จู่ๆ เหมือนฝนตกหนักในหน่วยเวลาที่ย่อยลงมา สิ่งนี้คืออาการหนึ่งของ Climate Crisis หรือเปล่า

ถ้าคุณใช้คำว่าประหลาด มันก็ใช้ได้นะ เพราะในช่วงหลายเดือนก่อนก็มีหลายท่านบอกว่า ปีนี้ลานีญามันเบา ลานีญาคือสภาพฝนชุก เอลนีโญคือแล้ง ทีนี้เวลามองลานีญา เราจะดูที่อุณหภูมิผิวน้ำทะเลในแปซิฟิก เขาก็เอาตัววัดค่าอุณหภูมิมาแสดง ถ้าอยู่ในโซนสีแดงคือเอลนีโญ ถ้าอยู่ในโซนสีฟ้าคือลานีญา แต่ปรากฏว่ากราฟวิ่งอยู่ในโซนสีขาว เขาเลยพยากรณ์กันว่าปีนี้ไม่น่าจะมีลานีญานะ เพราะกราฟมันอยู่ในโซนตรงกลาง

แล้วฝนมาจากไหน ที่จริงหลายๆ คนอาจลืมไปว่า ประเทศไทยถูกหนีบอยู่ตรงกลางระหว่างมหาสมุทรแปซิฟิกกับมหาสมุทรอินเดีย เราจึงต้องดู 2 มหาสมุทร เราดูมหาสมุทรหลักอันเดียวไม่ได้ กราฟนี้จึงมีอีกหน้าหนึ่งที่เรียกว่า IOD (Indian Ocean Dipole) เราจะเห็นตัวกราฟดิ่งในสีฟ้า นั่นคือ 3 เดือนที่ผ่านมา กรกฎาคม สิงหาคม กันยายน เราจะเห็นว่า IOD จมอยู่ในโซน Negative

การเป็น Negative ของ IOD ที่ปกคลุมทั่วอาเซียน ทำให้ความร้อนในฝั่งไทยระเหยขึ้น ความร้อนที่ระเหยขึ้นเรียกว่าหย่อมความกดอากาศต่ำ เมื่อเกิดหย่อมความกดอากาศต่ำ ความชื้นจากแนวระนาบจึงพัดเข้ามาในเมืองไทย แล้วจึงเกิดเป็นฝนตก ดังนั้น นอกจากเอลนีโญ ลานีญา เราจึงต้องพิจารณาองค์ประกอบของ IOD ผสมด้วย นอกจากนี้ เมืองไทยยังอยู่บริเวณด้านใต้แผ่นดินขนาดใหญ่ของจีน ซึ่งเราต้องรับอิทธิพลของลมจากจีนด้วย เพราะฉะนั้น เมื่อเราเห็น IOD เห็นสภาพความกดอากาศสูงในจีนจนเกิดภัยแล้งมหาศาล เราก็รู้ว่าฝนจะต้องเยอะ เยอะกว่าปีที่แล้วแน่ๆ แต่เราไม่คิดว่ามันจะเยอะขนาดนี้

จนกระทั่งความผิดเพี้ยนมันเริ่มมาวันที่ 14 มิถุนายน ปากีสถานเริ่มโดนฝน นั่นคือลมมรสุมขนาดที่แรงผิดปกติ แล้วลมมรสุมคืออะไร มรสุมคือลมบก ลมทะเล ที่มันใหญ่ คำอธิบายคือ ในช่วงกลางวันแดดจะเผาพื้นดินจนร้อน แล้วพื้นดินจะร้อนเร็วกว่าน้ำ อะไรที่ร้อนจัดก็จะลอยขึ้นสูง ลมจากทะเลจึงพัดเข้ามาแทนที่ เราเรียกว่าลมทะเล พอตกกลางคืน พระอาทิตย์หายไป ความร้อนจากผิวน้ำก็ลอยสูงขึ้น แล้วลมจากพื้นดินที่เริ่มเย็นก็พัดไปหาทะเล อันนี้เรียกว่าลมบก พอเราขยายสเกลขึ้นมาดูทั้งทวีป มันก็กลายเป็นมรสุม 

วันวิษุวัต

ถ้าดูจากสเกลใหญ่ พระอาทิตย์จะเคลื่อนไปเรื่อยๆ ประมาณมิถุนายน พระอาทิตย์จะค่อยๆ เคลื่อนจากเมืองจีนลงมาอยู่แถวหิมาลัย จนถึง 23 กันยายน เป็นวันวิษุวัต คือพระอาทิตย์จะเคลื่อนลงมาตั้งฉากกับเส้นศูนย์สูตรของโลก ถือเป็นวันสิ้นสุดฤดูร้อนเข้าสู่ฤดูใบไม้ร่วง ในระหว่างที่พระอาทิตย์เคลื่อนลงมามันจะเผาน้ำทะเลไปเรื่อยๆ น้ำทะเลจึงเปลี่ยนอุณหภูมิสูงขึ้นเรื่อยๆ สุดท้ายแล้วน้ำทะเลจะร้อนกว่าอุณหภูมิบก พอร้อนกว่าบกก็จะเกิดลมทะเล กลายเป็นมรสุมพัดเข้าสู่เอเชียใต้ (ปากีสถาน อินเดีย บังกลาเทศ) ส่วนพม่า ไทย หรือเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จะอยู่ขอบๆ พอมรสุมเข้ามาก็จะเกิดเป็นฝน แต่ปีนี้อุณหภูมิของมหาสมุทรร้อนผิดปกติจากภาวะโลกร้อน เมื่อมันร้อนขึ้น มันก็แรงขึ้น 

คือถ้า 2 ฝั่งมหาสมุทรอุณหภูมิเท่ากัน มันจะไม่มีลม ลมจะเกิดจากฝั่งที่เย็นกว่าพัดสู่ฝั่งที่ร้อนกว่า พอมหาสมุทรอินเดียร้อน ลมมรสุมจึงแรงกว่าปีก่อน แล้วก็จะแรงไปอีกหลายปี สุดท้ายจึงกลายเป็นปริมาณน้ำฝนมหึมาที่ตกในปากีสถานนานเป็นเดือน โดยเฉพาะแคว้นสินธ์ ปริมาณน้ำฝนที่วัดตั้งแต่เดือนมิถุนายน คิดเป็น 784% ของปริมาณน้ำฝนปกติ ตอนนี้ปากีสถาน 1 ใน 3 ของประเทศเลยจมอยู่ในน้ำ รุนแรงกว่าปี 54 ของเราเยอะ

Death Valley

ต่อมา 7 สิงหาคม หุบเขา Death Valley ซึ่งเป็นสถานที่ที่แล้งที่สุดในสหรัฐอเมริกา อยู่ดีๆ ฝนที่ต้องตกทั้งเดือน ตกภายในชั่วโมงเดียว น้ำก็ท่วม รถก็จมน้ำ นักท่องเที่ยวเดือดร้อนกันไปหมด ต่อมาวันที่ 8 สิงหาคม เรารู้เลยว่าเกาหลีโดนน้ำท่วมอย่างหนัก เพราะเกิดจากแนวปะทะอากาศ (stationary) ขนาดใหญ่ที่ลอยอยู่บนเกาหลี ซึ่งปกติไม่เคยเป็น ฝนที่ตกลงมาในเขตดงจักของกรุงโซล มีความเข้ม 141.5 มม./ชม. แรงที่สุดนับแต่ปี 1942 แล้วมันเป็นตัวเลขชั่วโมงเดียว แปลว่าถ้าตกทั้งวันก็ราว 3,300 มม./ชม. 

ถามว่าเกาหลีใต้ทำไมอยู่ดีๆ น้ำท่วม วันนั้นไม่มีพายุนะ พายุหินหนามหน่อเกิดปลายสิงหาคม แต่ที่เกาหลีโดนคือช่วงต้นสิงหาคม ฝนในเกาหลีใต้จึงเกิดจากแนวปะทะอากาศ ซึ่งก็คือแนวปะทะระหว่างอุณหภูมิเย็นและร้อนที่มีพลังเท่ากัน กดกัน และไม่ขยับไปไหน มันปะทะบนเกาหลีแล้วจึงตกมาเป็นฝน ไม่มีใครชนะ ใครแพ้ และไม่เลื่อนไปเลื่อนมา มันตกแช่ พอตกแช่ เมืองก็จม เมืองที่ระบบระบายน้ำดีอย่างกรุงโซลก็ไม่รอด ถ้าเป็นเราก็คงมิดหัว คงท่วมถึงชั้น 2

ภาพโดย Yonhap via Reuters

ในเมื่อทำเลที่ตั้งประเทศไทย อยู่ใกล้มหาสมุทรอินเดียที่อุณภูมิสูงขึ้นเพราะภาวะโลกร้อน เรามีโอกาสเผชิญสิ่งที่ปากีสถานกับเกาหลีใต้โดนด้วยไหม

ฝนที่เราโดนหลักๆ ไม่ใช่พายุที่เราเห็นตามสื่อ พายุพวกนี้ไม่ได้น่ากลัว สิ่งที่น่ากลัวคือร่องมรสุมที่ก่อให้เกิดฝนตกแช่ไม่ไปไหน ถ้ามันมาเร็ว ไปเร็ว เอาให้หนัก เราอาจเสียหายจริง แต่อาจไม่ท่วม ถ้าท่วมก็อาจจะลดเร็ว แต่ถ้าเกิดตกยาวๆ อันนี้อันตราย ปกติที่เรากลัวกันคือ พายุโซนร้อน พายุดีเปรสชัน ทิศทางที่มันเข้ามาจะมาจากเวียดนาม ผ่านเทือกเขาอันนัม แล้วลดกำลังลง ซึ่งเราต้องมาลุ้นอีกทีตอนนั้นว่า หย่อมความกดอากาศต่ำที่เป็นส่วนสลายตัวของพายุ มันจะมาอยู่ในเมืองไทยแบบผ่านไปเลย หรือมาแช่ ถ้าแช่ก็ท่วม ประมาณนั้น

ทีนี้ ปัจจุบันเป็นฤดูมรสุม ลมมรสุมฤดูนี้ปกติจะพัดจากทิศตะวันตกเฉียงใต้ แต่ปีนี้เป็นอะไรที่แปลกมาก ลมที่พัดเข้ามาในกรุงเทพฯ เป็นลมที่มาจากทุกทิศ ถ้าเราเก็บภาพเรดาร์เอาไว้ทุกวัน เราจะเห็นว่ามีบางวันที่ลมมาจากทิศเหนือ บางวันมาจากตะวันออก บางวันมีเมฆฝนมาจากทิศตะวันตก พอเข้ามาถึงกรุงเทพฯ ฝั่งตะวันออก กลับหยุดอยู่ประมาณ 2 ชั่วโมง แล้วยูเทิร์นพัดกลับ ซึ่งปกติเราจะไม่ค่อยเจอแบบนี้ ยกเว้นจะมีหย่อมความกดอากาศต่ำพอกอยู่บนกรุงเทพฯ แล้วเราจะเห็นเมฆฝนหมุนทวนเข็มนาฬิกาชัดเจน แต่นี่ไม่หมุนทวนเข็มนะ นี่คือมา หยุด แล้วก็กลับ มันดูแปลกมาก คือปีนี้ผมว่ามันก็ดูแปลกๆ 

ถามว่าโลกร้อนมีผลจริงมั้ย มันใช่นะ อุณหภูมิของน้ำในมหาสมุทรอินเดียที่เปลี่ยนไป มันยังส่งผลให้เกิดภัยแล้งในจีนด้วยนะ ถ้าอุณหภูมิน้ำในมหาสมุทรอินเดียเปลี่ยน มันก็ส่งผลถึง Heat Wave และส่งผลให้ฝนตกในจีนน้อยมาก ต่อด้วยภัยแล้งถึงแล้งจัด ตอนนี้พลังงานก็เริ่มขาดแคลน สิ่งเหล่านี้คือหนึ่งในเรื่องประหลาด เหตุการณ์อุณหภูมิน้ำในมหาสมุทรอินเดียเปลี่ยนมันส่งผลสะเทือนไปทั่ว

ทั้งตัวเลขเชิงสถิติก็ดีและเหตุการณ์ประหลาดๆ ก็ดี เหมือนโลกกำลังส่งสัญญาณชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ แต่ทำไมยังดูเหมือนว่ามนุษย์เรายังไม่มีวิธีรับมือที่เป็นรูปธรรม

คือเวลาเราพูดถึงโลกร้อน คนครึ่งหนึ่งจะตื่นเต้น คนอีกครึ่งหนึ่งจะเฉยๆ บางทีเรามองเป็นเรื่องไกลตัว นักวิทยาศาสตร์พยายามบอกว่า เรามีเวลาเหลือไม่มากแล้วนะ ทุกๆ สำนักก็คำนวณออกมาว่า ในอีก 8-10 ปี คุณจะได้เห็นผลชัดเจนโดยที่ไม่ต้องถามแล้วว่าสิ่งที่เกิดขึ้นมันคืออะไร เช่น ระดับน้ำทะเลที่เพิ่มขึ้น หลายหมู่บ้านแถวสุขุมวิทฝั่งซอยที่อยู่ติดทะเล บางบ้านน้ำเข้ามาถึงห้องรับแขก เขาก็ขายบ้านออกไปก็มี หรือน้ำท่วมตรงหอนาฬิกาบางปู มันก็เพิ่มขึ้นทุกปี เขาก็ใช้วิธีต่อเติมบ้านขึ้นไปให้สูง ก็เอาตัวรอดกันไป แล้วกรุงเทพฯ มันมีการถมอยู่ตลอดเวลา แต่พอถึงจุดหนึ่งมันก็จะไม่ไหว 

การตระหนักถึงปัญหาโลกร้อนและวิธีแก้ไขจึงเป็นเรื่องของมนุษย์เอง ซึ่งมนุษย์ไม่เห็นโลงศพ ไม่หลั่งน้ำตา บางทีเราชี้ไปที่ปากีสถาน ประเทศที่อยู่ห่างไกลออกไปก็ยังไม่สำนึก แม้กระทั่งยุโรปโดน Heat Wave ก็ยังเฉยๆ เพราะฉะนั้นเรื่องมนุษย์ผมไม่สามารถไปแตะต้องได้ ทำไมคุณถึงดื้อกันต่อไปอีก แต่คงเป็นเรื่องของเศรษฐกิจ จำเป็นต้องดำรง Carbon Footprint แต่ทิศทางของทั้งโลกก็พยายามเดินของมันไปนะ พยายามใช้รถ EV พยายามเปลี่ยนมาใช้พลังงานสีเขียว เอาจริงๆ มันอาจไม่ทัน เอาเป็นว่าเกือบทัน แต่ต้องเร่งกว่านี้อีก

ข้อตกลงปารีส ข้อตกลงต่างๆ นานา เห็นพยายามผลักดันกัน ประเทศใหญ่ๆ ต้องแก้ให้เห็นก่อน เพราะเขาผลิตคาร์บอน ผลิตมีเทนเยอะมาก ประเทศเล็กๆ ถึงแก้ได้ทั้งประเทศก็ไม่ได้ส่งผลอะไรมากมาย ถามว่าบราซิลอยากรวยมั้ย เขาก็อยากรวย เขาก็โค่นต้นไม้ในแอมะซอน ทำลายป่าเขตฝนไปเรื่อยๆ เขาก็อยากพัฒนา เอาตังค์เข้าประเทศ เขาไม่อยากจนอยู่อย่างนั้น มันดูเป็นเรื่องของมนุษย์ สิ่งที่ช่วยโลกได้มันก็อยู่ในป่าเขตฝน อย่างในประเทศปาปัวนิวกินี ถ้ายอมจนต่อไปก็อาจจะช่วยโลกได้บ้าง เพราะว่าฝั่งอเมริกาแอมะซอนจะเริ่มมีปัญหา ฝั่งเอเชียเราจะเป็นป่าในสุมาตราและในปาปัวฯ แต่ว่าสุมาตราก็เริ่มโค่นป่าทำเป็นฟาร์มปาล์มน้ำมัน ดีที่ปาปัวฯ ยังเฉยๆ แต่ถ้าเกิดอยากร่ำรวยกับเขาบ้าง ปัญหาก็ลุกลามไปอีก

ภัยพิบัติและปรากฏการณ์แปลกๆ มันเป็นเรื่องที่ส่งสัญญาณให้เห็น แต่ผู้นำบางประเทศอาจจะไม่ได้เข้าใจวิทยาศาสตร์ลึกพอที่จะรู้ว่าสภาพอากาศสุดขั้วมันเป็นปัญหาของโลกร้อน ตอนไหนร้อนก็ร้อนจัด หนาวก็หนาวจัด ฝนตกก็ตกหนักจนท่วม ไม่มีตกจ๋อมแจ๋มๆ พอให้รู้สึกสบายแล้ว ไม่มี คือโลกกำลังก้าวหน้าของมันไป

ในการเคลื่อนไหวเกี่ยวกับสภาพภูมิอากาศ มักมีป้ายว่า “At the start of every disaster movie, There’s a scientist being ignored.” มีความเห็นอย่างไรกับประโยคนี้ โลกของเรากลายเป็นหนังภัยพิบัติแล้วหรือยัง แล้วคาดเดาตอนจบอย่างไรบ้าง

คือโลกเราผ่านการสูญพันธุ์ครั้งใหญ่มา 5 ครั้ง เราไม่ได้ผ่านการสูญพันธุ์มาแค่ยุคครีเทเชียสหรือยุคไดโนเสาร์แค่ครั้งเดียว ก่อนหน้านั้นมันเกิดมาแล้ว 4 ครั้ง ก็คือจะลบสิ่งมีชีวิตบนโลก 80-90% ต่อการสูญพันธุ์ครั้งหนึ่ง ผลวิจัยออกมาชี้ตรงกันว่า เราอยู่ในช่วงเริ่มต้นของการสูญพันธุ์ครั้งใหญ่ครั้งที่ 6 คำพวกนี้มันแรงมั้ย มันแรง แต่คนสนใจมั้ย ก็ไม่ เพราะว่ามันเป็นเรื่องของมนุษย์ ฉันยังอยู่สบายดี แล้วอย่างน้อยๆ ในชั่วชีวิตของฉันก็ไม่มีทางเห็น ถ้าคุณบอกว่าจะเกิดปัญหา คุณลองคำนวณมาสิว่ากี่ปีถึงจะเกิดปัญหา คำตอบคือ 150 ปี อ้าว ไม่เกี่ยวกับฉัน เสวยสุขก่อน คนที่มีอำนาจตัดสินใจก็ยังละเลย ดูเหมือนหนังมั้ย ก็เหมือน เพราะบทหนังต้องเขียนอย่างนี้อยู่แล้ว จริงๆ เราก็กำลังเดินหน้าเข้าสู่ปัญหา เราจึงเคี่ยวเข็ญให้ผู้ใหญ่เข้าประชุมตามเวทีต่างๆ ในนั้นก็จะมีนักวิทยาศาสตร์ชี้แจง แต่ผลคือทำบ้างไม่ทำบ้าง

แล้วโจทย์ทั้งระยะยาวและระยะสั้นของ Climate Crisis นี้คืออะไร เราในฐานะคนตัวเล็กๆ ทำอะไรได้บ้าง

มันต้องตัดสินใจว่า ถ้าเราจะไม่ทำอะไร หรือเราจะทำอะไรเกี่ยวกับการลดอุณหภูมิโลก เราจะต้องปรับตัวเพื่อรับมือกับผลที่ตามมาให้ได้ เราต้องรู้ ‘แผนที่’ แล้วว่า ถึงจุดหนึ่งที่ผู้ใหญ่ไม่ฟังอะไร หรือถึงจะฟังก็แก้ไม่ทันแล้ว เราต้องรู้ว่าหลังจากนั้นเราจะย้ายไปอยู่ไหน สมมุติว่า ธารน้ำแข็งทเวตส์ (Thwaites Glacier) ซึ่งใหญ่ที่สุดของขั้วโลกใต้ละลาย น้ำทะเลจะสูงขึ้น 65 ซม. เราจะอยู่อย่างไร กรุงเทพฯ ที่น้ำท่วมอยู่ตลอดปีตลอดชาติและไม่มีทางลดอีกแล้ว เราจะทำยังไง หรือจะทำแบบอินโดนีเซียที่เขาย้ายเมืองหลวง เราจะย้ายบ้างมั้ย เราจะสร้างกำแพงมั้ย ไม่ต้องอะไรมาก ลองพูดเล่นกันก็ได้ พูดกันบ่อยๆ ในอนาคตที่หน้าฝนไม่ปรานีเราอีกแล้ว และต่อให้มีอุโมงค์ยักษ์ก็อาจช่วยได้ไม่มากนัก เราจะทำกันยังไง เราจะทิ้งหรือปรับปรุงกรุงเทพฯ ต่อไป มันต้องคุยกันบ่อยๆ ต้องคุยและวางแผนกัน 

สิ่งที่เราช่วยได้ ส่วนใหญ่เราก็ทำกันไปเยอะแล้วนะ เช่น ไม่เทไขมันลงท่อ ถ้าเราไปดูหนังฝรั่ง พระเอกผู้ร้ายที่ลงไปไล่ยิงกันในท่อ ท่ออย่างนั้นในเมืองไทยมันไม่มี ของไทยมันเป็นท่ออยู่ตามซอกตามซอยตามถนน ถ้าลูกบาสตกไปลูกเดียวก็ตันละ สิ่งที่เราทำได้คือต้องดูแลมัน พอมีการก่อสร้างท่อแถวนั้นก็ตันละ ก็ต้องไปดูเรื่องทรายหรือวัสดุก่อสร้างว่ามันลงไปมั้ย อย่าทิ้งขยะให้มันไปตัน ถ้าเราเจออะไรก็ไปแจ้งหน่วยงาน อย่างโซฟา โต๊ะ ที่ไปอุดท่อ อันนี้คือเรารู้กันอยู่แล้วว่าควรทำอะไร เราอาจทำมากพอจนต้องตั้งคำถามกันว่า ก้าวต่อไปคืออะไร

หลายประเทศที่เกิดภัยพิบัติเขาแก้ปัญหาด้วยการเอาแผนที่อนาคตมาดู ว่าถ้าหากชายฝั่งตะวันออกของสหรัฐฯ หายไปเท่านี้กิโลเมตร จะทำยังไง อินโดนีเซีย เขาก็ดูว่าถ้าเกาะทั้งเกาะหายไปจะเกิดอะไรขึ้น อย่างประเทศไทยเรา เมื่อหลายพันปีก่อน ปากทะเลอยู่ที่นครปฐม ไม่มี 7 จังหวัดภาคกลาง 3 สมุทร กรุงเทพฯ ไม่มี แต่ก่อนตรงนี้เป็นทะเล ต่อมามีตะกอนทับถมลงมา ทำให้เราสร้างเมืองอยู่บนตะกอน วันข้างหน้าถ้าทะเลกลับมา เราก็ต้องมองไปถึงแผนที่ที่จะบอกว่าเราเหลือพื้นที่เท่าไหร่ แล้วควรจะไปอยู่ตรงไหนของการวางแผนการสร้างอนาคตนี้ อย่างเมียนมาอาจจะด้วยเหตุผลทางการทหารและการเมือง เขาย้ายไปอยู่เนปิดอว์ ซึ่งมันค่อนข้างปลอดภัยจากระดับน้ำท่วม คือย้ายลึกเข้าไปในแผ่นดินค่อนข้างเยอะ อย่างไรก็ตาม พื้นฐานความคิดของการแก้ปัญหาหลังจากนี้คือ ทุกคนต่างต้องจินตนาการและคำนวณแผนที่อนาคตว่าเราควรอยู่ตรงไหน

แผนที่คาดการณ์ระดับน้ำทะเลของกรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย ในปี 2100 
แผนที่คาดการณ์ผลกระทบจากระดับน้ำทะเลของกรุงเทพฯ และจังหวัดชายฝั่งของอ่าวไทย เปรียบเทียบระหว่างผลการวิจัยเก่าและใหม่ของ Climate Central

‘แผนที่อนาคต’ ดูเหมือนเป็นทางออกในการปรับตัว ในบ้านเราคุยเรื่องนี้กันระดับไหนแล้ว

แผนที่อนาคต ถ้าเราเอามากางดู พวกซื้อขายที่ดินก็คงเป็นลมกันเป็นแถว กระเป๋าคงฉีก แล้วก็คงไม่มีใครกล้าพูด ทุกคนคงหุบปากหมด เพราะฉะนั้นในฐานะที่เราค้นคว้า เราก็รู้ในวงแคบๆ พอพูดออกไปก็ดราม่าอีก เงินทั้งนั้น

Author

ยสินทร กลิ่นจำปา
ผู้ปกครองของแมวน้อยวัยกเฬวราก จิบเบียร์บ้างตามโอกาส จิบกาแฟดำเป็นครั้งคราว จิบน้ำเปล่าเป็นกิจวัตร เชื่อว่าสิ่งร้อยรัดผู้คนคือเรื่องราวและความหวัง พยายามเขย่าอัตตาตนเองด้วยบทสนทนากับคนรอบข้าง

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า