เชื่อเถอะ ไปด้วยกันมาจริงๆ

เรื่อง: เรา ภาพ: คีรีบูน

เที่ยวเวียดนามกัน 3 คน บรรจุความทรงจำกันมาคนละส่วน หากจะเอาภาพรวมๆ ก็เขียนเล่ากันมาคนละนิดพอให้ได้รสชาติ หากหวังจะเอาภาพสมบูรณ์เพอร์เฟ็คท์ คงไม่มี
ก่อนไปเที่ยวทีไรก็ต้องอดนอนเพื่อให้ได้ตั๋ว ‘โลว์ๆๆๆ คอสต์’ เที่ยวแรกสุดๆ และด้วยความที่บ้านอยู่ไกลวิถีเสียงเครื่องบิน…บินไฟลท์เช้าเท่ากับอดนอน นั่นเป็นสาเหตุให้บันทึกการท่องเที่ยวขาดเป็นห้วงๆ

01 ตุ่นเขียน: มุยเน่ ทะเล+ทราย
บทสนทนาเวอร์ชั่นใส่ซับไตเติลแล้วเป็นดังนี้

“เอ่อ…อยากไปแซนด์ดูนครับ แบบในหนังเราสองสามคนอ่ะครับ เราก็มากันสองสามคนเหมือนกันครับ เหมือนในหนังเปี๊ยบ แต่แบบว่าอยากเปลี่ยนบรรยากาศนิดนึง เพราะไม่ขับโฟร์วีลมาน่ะครับ ไม่ค่อยมีเงิน พอจะมีจักรยานให้เช่าหรือเปล่าครับ”

เป็นเรื่องโกหกที่ถอดความเกินตัวบท ของจริงมีเพียงแค่ประโยคแรกกับประโยคสุดท้าย “ผมจะไปแซนด์ดูน มีจักรยานเช่าไหม”

พนักงานต้อนรับรีสอร์ทแห่งเมืองชายฝั่งมุยเน่ทำตาโต ตอบกลับมาแปลเป็นไทยแบบเว่อร์ๆ ว่า “คุณจะบ้าเหรอ มันตั้ง 40 กิโลนะ ทางก็ไม่ค่อยดี นั่งรถไปยังตั้งนาน” ประมาณนี้แหละ

มอเตอร์ไซค์มีไหม – มีค่ะ คุณขี่คล่องหรือเปล่าล่ะ – ขี่ไม่เป็นเลยแหละ…เพราะเห็นเป็นถิ่นรถเครื่องจึงถามไปอย่างนั้น

อะไรนะ…แซนด์ดูน อธิบายยังไงดี…มันก็เป็นเนินทรายน่ะครับ ใหญ่ๆ กว้าง คล้ายๆ ทะเลทรายแต่ไม่ใช่ เพราะมันอยู่ใกล้ๆ ทะเลจริงๆ เสียขนาดนั้น ร้อนก็จริงแต่ไม่แล้งแน่ๆ นักท่องเที่ยวผู้ใคร่อยากสัมผัสบรรยากาศทะเลทรายแบบไม่ต้องเดินทางไกล ก็ต้องเชิญที่นี่เลย ‘มุยเน่’ หรือคนถิ่นจะออกเสียง ‘หมุยเหน่’

ทับศัพท์ว่า แซนด์ดูน ไปเลย เพราะถ้าถอดตามพจนานุกรม ‘เนินทราย’ มันดูเล็กกระจิ๋วเกินไป

สุดท้ายเราก็ต้องนั่งรถจี๊ปไปด้วยราคาคนละ 8 เหรียญยูเอส จนถึงที่หมาย ไวท์ แซนด์ดูน เหมือนที่คิดไว้ มีแต่ทรายจริงๆ

ห่างจากที่จอดรถหลายสิบเมตร ทรายเม็ดละเอียดเรียงตัวกันเป็นภูเขาเลากาปรากฏขึ้นหลังแนวสน ลมพัดแรง เพิ่งรู้ว่าโดนลมแรงๆ ที่หอบเอาเม็ดทรายมาด้วยมันเจ็บใช้ได้

นักท่องเที่ยวเขามาทำไมกันที่นี่ นอกจากความกว้างใหญ่ขาวโพลนเวิ้งว้าง นอกจากถ่ายรูปกับเดินลุยทราย ก็ไม่น่าจะมีกิจกรรมอะไร แต่ผิดคาด เพราะฝรั่งหลายคนกำลังทำอะไรสนุกกันอยู่

พวกเขากำลังสไลด์ตัวลงมาจากเนินทรายสูงลิบลิ่ว โดยมีตัวช่วยเป็นแผ่นพลาสติกรองอยู่ข้างใต้ตัว – บ้านเราเรียกฟิวเจอร์บอร์ด

เปล่า…เขาไม่ได้พกเจ้าแผ่นนี่มาจากบ้านหรอก เด็กถิ่นหลายคนต่างหาก ที่เป็นเจ้าของกิจการให้เช่าแผ่นทรายสไลเดอร์พวกนี้ เราจึงเห็นใครหลายคนวิ่งขึ้น-ไถลลง เวียนอยู่หลายรอบอย่างนี้

แม้ไม่มีคลื่นใหญ่ให้เซิร์ฟ แต่หากชอบการร่วงหล่น ไปไถลลงจากแซนด์ดูนก็เป็นทางเลือกที่น่าสนุก

จริงๆ มีเรดแซนด์ดูน หรือ ‘เนินทรายแดง’ อีกที่ แต่เนื่องจากฟ้าใกล้มืด ผมเริ่มง่วง ความทรงจำเลยขาดเป็นห้วงๆ เล่าไปก็ไม่เป็นเรื่องเป็นราว รู้สึกตัวอีกทีก็อยู่ที่ร้านข้าวแล้ว
อ้อ…ความทรงจำแจ่มชัดอย่างเดียว – Saigon สีเขียวเท่านั้น รสดีและราคาสบายใจผู้แบกเป้มาก

 

02 ปอมเขียน: ทะเลทรายดูดพลัง

ตามประสานักท่องเที่ยวผู้มีไกด์บุ๊คคู่ใจเป็นเสิร์ชเอ็นจิ้น เป้าหมายในมุยเน่ของเรา ไม่ต่างจากนักท่องเที่ยวคนอื่นๆ เท่าไหร่ นั่นก็คือ ไวท์แซนด์ดูน ส่วนที่เหลือเราตกลงกันว่า จะปั่นจักรยานชมวิว เดินตลาด และแวะไปใกล้ชิดวิถีชาวประมงที่นั่น

ปั่นไปได้หนึ่งเหนื่อย ก็มีคนตาดีเหลือบเห็นตลาด เราจึงเห็นพ้องต้องกันว่าแวะเที่ยวตลาดกันก่อนเถอะ บ่ายแล้ว แต่ตลาดที่นี่ยังไม่วาย คนพื้นที่เดินกันขวักไขว่ นักท่องเที่ยวมีประปราย แต่ส่วนใหญ่ก็เป็นฝรั่ง พวกเราแค่เดินวนดูโน่นนี่ ไม่ได้อุดหนุนอะไร แต่ก่อนล้อหมุน เราก็มานั่งพักดื่มน้ำอ้อยคั้นสดๆ กันคนละแก้ว

ความพิเศษของน้ำอ้อยที่นี่ นอกจากหอมกลิ่นส้มเพราะเติมน้ำส้มลงไป ยังเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพราะคนซื้อคนก่อนดื่มหมดแก้วเหลือน้ำแข็งไว้ คนขายก็แค่เติมน้ำแข็งเข้าไปหน่อย เทน้ำอ้อยลงไป ก็ยื่นมาให้เราดื่มต่อได้เลย

เช้ารุ่งขึ้น เรานัดกันปั่นไปดูเรือกระด้ง ที่หมู่บ้านชาวประมง ซึ่งต้องผ่านเนินปราบเซียน (เซียนมาเห็น คงกระแนะกระแหนว่า นี่ปราบเซียนแล้วจริงๆ เรอะ!) ก่อนจะเจอเวิ้งอ่าวที่มีแต่เรือกระด้ง เรือกระด้ง และเรือกระด้ง! เราลงไปชักภาพกัน

ส่วน ไวท์ แซนด์ดูน ที่เป็นไฮไลท์ของมุยเน่ ก็เลิศสมคำร่ำลือ ที่นี่ทำให้มีโอกาสสัมผัสสุดยอดพลังลมด้วยตาเปล่า เท่าที่จำได้คือ รอยเท้าจะยิ่งเห็นชัดเจนเมื่ออยู่ในทะเลทราย (เย็น) แต่เมื่อฝุ่นทรายกระเด็นใส่ตา มองไปที่เส้นขอบฟ้าเห็นเพียงขอบเบลอๆ ทำให้ต้องขยี้ตา ว่านี่เราตาฝาด ท้องไส้ปั่นป่วน หรือทรายกำลังเต้นระยิบอยู่ในอากาศจริงๆ กันแน่

แล้วก็ได้เรื่อง ระหว่างนั่งรถจี๊ปออกมาจากที่นั่น ฉันบอกให้พี่คนขับแวะจอดไม่ไหว ต้องอาศัยคนนั่งข้างๆ ช่วยสื่อสาร จากนั้น ทั้งอาหารเช้าและเที่ยงของวัน ก็กรูกันตามฉันออกมาไปสัมผัสกับผืนทราย เหมือนทีวีตอนสัญญาณต่ำ แล้วภาพทุกอย่างก็เบลอ…เหลือเศษแค่เท่าที่เห็นนี่แหละ

 

03 พี่จ๋อยเขียน: เวทมนต์ ‘สีชาเย็น’

ตี 4 คือ เวลาที่เราลืมตาตื่นในบ้านเกิดเมืองนอนของเราเอง

2 ทุ่ม คือ เวลาที่เรามายืนอยู่ในอีกผืนแผ่นดินหนึ่ง ที่โอบล้อมด้วยทะเล

มุยเน่-ตำบลในเขตฟานเทียต ที่นี่มีทั้งท้องทะเลและเนินทราย มันเป็นทะเลทรายในแบบที่เราไม่เคยใฝ่ฝันถึง จนเมื่อภาพยนตร์ที่เราได้ดูร่วมกันในวันนั้น จุดประกายให้ออกเดินทาง

คืนแรกหมดไปกับการหลับไหลไปด้วยความเหนื่อยเพลีย รวมถึงท้องที่ตึงและเต็มด้วยอาหารทะเลสด-ถูก เราลงความเห็นกันว่า…กินในบ้านเราเอง ราคานี้คงหาไม่ได้

รุ่งขึ้น พร้อมแล้วสำหรับการไปเยือนทะเลทราย เราตกลงปลงใจเช่ารถจี๊ปเพื่อไปยัง แซนด์ดูน แห่งนั้น โชเฟอร์แนะนำว่าระหว่างทางก่อนถึงทะเลทราย เราควรแวะ Fairy Stream อย่างไม่ต้องพูดอะไรกันให้มากความ และเวลาของเราก็ยังมีเหลือเฟือ พอให้ใช้จ่ายได้ตามวิถีแห่งการทำตัวเป็นนักท่องเที่ยว จึงต้องเก็บตกระหว่างทางให้หมด-ไม่ควรมีตกหล่น!

เรามีภาพ ‘ลำธารนางฟ้า’ ที่ว่านี้ ติดอยู่ในหัวสมองแต่เพียงรางเลือนเท่านั้น ใครบางคนในหมู่เราพอจะปะติดปะต่อภาพที่เห็นนั้นได้จากการเสิร์ชข้อมูลในเทพเจ้ากูเกิล-มาบ้าง แต่เวลานี้ ของจริง…ขา 6 ข้างของเรา 3 คน กำลังเหยียบอยู่ที่นี่ โดยปราศจากสิ่งใดมาคั่นกลางระหว่างพื้นดินอันนุ่มนิ่ม และ ตีน

ยอมรับตามตรงว่า แรกที่เห็นภาพตรงหน้าเราเองก็ไม่ได้ปลื้มสักเท่าไหร่ ก็แค่สองข้างทางของลำธารนางฟ้านั้นโอบล้อมไปด้วยโตรกผาตั้งชันทำมุมประมาณ 90 องศา เคลือบด้วยสี…แบบที่เราพร้อมใจกันเรียกให้น่าเอ็นดูว่า ‘สีชาเย็น’ เดินระเรี่ยลำธารไปเรื่อยประมาณครึ่งชั่วโมง ทัศนียภาพเบื้องหน้าก็ไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปมากนักจากจุดเริ่มต้นเมื่อครึ่งชั่วโมงก่อน หรือเราหลงวนอยู่กับที่?

และเมื่อเราเริ่มคิดได้ว่า หนทางข้างหน้าที่ดูคล้ายจะยาวไกลไม่สิ้นสุดนั้น ก็คงหนีไม่พ้นภูเขาหินหน้าตาเดิมๆ ต้นไม้แบบเดิมๆ ซ้ำแดดเริ่มจะลามเลียผิวให้กลมกลืนไปกับสีของลำธาร ก็ชวนให้เราตัดสินใจหมุนตัวหันหลังกลับ…

น่าแปลก ที่ในความ (ที่เราคิดว่า) ไม่มีอะไรเลย แต่ภาพลำธารนางฟ้าสีชาเย็นนั้นกลับเด่นชัดยิ่งกว่าภาพใดในมุยเน่-สำหรับเรา

เรื่องบางเรื่องเราเองก็จนใจที่จะหาเหตุผลเอากับมันได้

บางที ปล่อยให้เวลาทำหน้าที่ของมันไปเสียบ้าง…

จนทุกวันนี้ ภาพดินสีส้มนั้นก็ยังคงไม่ซีดจาง, อาจเป็นไปด้วยมนต์ของนางฟ้า

 

********************************

(หมายเหตุ : ตีพิมพ์เมื่อ กันยายน 2554)

Author

WAY

Author

กองบรรณาธิการ
ทีมงานหลากวัยหลายรุ่น แต่ร่วมโต๊ะความคิด แลกเปลี่ยนบทสนทนา แชร์ความคิด นวดให้แน่น คนให้เข้ม เขย่าให้ตกผลึก ผลิตเนื้อหาออกมาในนามกองบรรณาธิการ WAY

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า