อานนท์ ชวาลาวัณย์ หรือ ‘แว่น’ หัวหน้าศูนย์ข้อมูลกฎหมายและคดีเสรีภาพ โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) มีงานอดิเรกอื่นนอกเหนือจากการดูฟุตบอล เป็นผู้ดูแลเพจ ‘พิพิธภัณฑ์สามัญชน’ พิพิธภัณฑ์เล็กๆ ที่รวบรวมหลักฐานสิ่งละอันพันละน้อยเพื่อบอกเล่าเรื่องราวของคนธรรมดา โดยเปลี่ยนบ้านของตัวเองให้กลายเป็นสถานที่อย่างไม่เป็นทางการ เพื่อจัดเก็บหลักฐานทางประวัติศาสตร์ และถ่ายรูปพร้อมคำอธิบายลงในเพจเฟซบุ๊คที่เขาตั้งขึ้นมาเป็น ‘พิพิธภัณฑ์ออนไลน์’
แว่นเล่าว่า ได้แนวคิดการทำพิพิธภัณฑ์ฯ มาจากการเคยทำงานกับเจ้าหน้าที่จากสถาบัน International Institute of Social History หรือองค์กรรัฐเนเธอร์แลนด์ซึ่งทำหน้าที่เป็นห้องสมุดและหอจดหมายเหตุภาคประชาชน เก็บสะสมหนังสือ เอกสาร และหลักฐานทางประวัติศาสตร์จากทั่วโลก ให้รอดพ้นจากการถูกเผาทำลายตั้งแต่ยุคนาซีเรืองอำนาจ นอกจากนี้ แว่นยังเป็นผู้ชื่นชอบการเข้าๆ ออกๆ พิพิธภัณฑ์แต่ละแห่ง เพื่อสังเกตวิธีการบันทึกประวัติศาสตร์ในพื้นที่นั้นๆ
“เวลาเราไปพิพิธภัณฑ์ก็มักเห็นแต่ประวัติศาสตร์ภาพใหญ่ ซึ่งเน้นประวัติศาสตร์ของกษัตริย์และชนชั้นนำ ไม่ได้หมายความว่าเราต่อต้าน แน่นอนว่าการกระทำของชนชั้นนำส่งผลต่อคนในวงกว้าง แต่ขณะเดียวกันก็มีประวัติศาสตร์อีกส่วนที่ถูกละเลยไป คือ ในความสำเร็จของผู้นำประเทศมี ‘คนตัวเล็กตัวน้อย’ อยู่ การพัฒนาประเทศไทยไม่ได้มีแต่นโยบายจากเบื้องบนอย่างเดียว แต่มีการกระทำจากเบื้องล่างขึ้นไปด้วย”
เมื่อรัฐรับผิดชอบการเขียนประวัติศาสตร์กระแสหลัก แว่นเห็นว่าตัวเองควรเริ่มทำพิพิธภัณฑ์กระแสรองของประชาชนดูบ้าง โดยออกแบบโลโก้ให้เป็นรูปกำปั้นข้างซ้ายกำปึกกระดาษ เป็นสัญลักษณ์ว่าประชาชนควรเป็นผู้เขียนประวัติศาสตร์ของตัวเอง และตั้งเป้าให้พิพิธภัณฑ์ต้องสามารถบอกเล่ามากกว่าเรื่องราวศิลปวัฒนธรรมในชุมชน และต้องขยับฐานะไปพูดถึงประเด็นประวัติศาสตร์สังคม-การเมืองภาคประชาชนให้ได้
ตอนนี้เพจ ‘พิพิธภัณฑ์สามัญชน’ ก่อตั้งได้ราวหนึ่งปีแล้ว แว่นยังคงเก็บหอมรอมริบหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่ได้รับบริจาค และเจียดรายได้จากการทำงานด้านกฎหมายมาซื้อเองบ้างบางชิ้น ของส่วนมากในพิพิธภัณฑ์เป็นเสื้อผ้า ป้าย และอุปกรณ์ร่วมสมัยจากเหตุการณ์ทางการเมืองที่ย้อนไปไม่ถึงสองทศวรรษ เขาจึงดีใจเมื่อค้นพบว่าตัวเองบังเอิญเจอหนังสือเก่าตั้งแต่สมัย 40 กว่าปีที่แล้ววางขายในสภาพดี บ่นอุบเวลาควักเนื้อซื้อเสื้อยืดลายที่ตัวเองถูกใจและเห็นว่าจะกลายเป็นหลักฐานชั้นดี และยังคงรอคอยการบริจาคข้าวของที่เขายืนยันว่า “มีค่าเกินจะเก็บไว้เฉยๆ ในตู้เสื้อผ้า” ไม่ว่าข้าวของนั้นจะแสดงถึงอุดมการณ์การเมืองขั้วใดๆ
WAY ชวนผู้อ่านมาสำรวจสิ่งของในพิพิธภัณฑ์ออนไลน์ แล้วมองย้อนกลับไปในความทรงจำว่า แต่ละคนเคยผ่านประวัติศาสตร์ที่เป็นสีสันของการใช้ชีวิตแบบ ‘สามัญชน’ ในประเทศนี้มาแล้วคนละกี่เหตุการณ์
ห้องที่ 1: ฉันเกิดในยุครัฐประหาร แล้วก็รัฐประหาร
เสื้อ ‘ภัยเหลี่ยม’ (2549)
มีนาคม 2549 พรรคนักศึกษา ‘สานแสงทอง’ องค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยรามคำแหง ทำเสื้อยืด ‘ภัยเหลี่ยม’ ล้อเลียนทักษิณซึ่งมีโครงหน้าเหลี่ยม ขายระหว่างที่กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยชุมนุมอยู่
ย้อนไปในปี 2547 กลุ่มประชาชนเพื่อชาติและราชบัลลังก์ประท้วงกดดันให้ ทักษิณ ชินวัตร ออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี นำไปสู่ม็อบกลุ่มพันธมิตรฯ ในปี 2549 ชนกับม็อบสนับสนุนทักษิณ เช่น กลุ่มคาราวานคนจน การเมืองถูกแบ่งออกเป็นขั้ว ‘เอา-ไม่เอาทักษิณ’ ตอนนั้นเองที่สามัญชนคนธรรมดาเริ่มมีบทบาททางการเมืองในฐานะผู้ชุมนุม
เข็มกลัด ‘ไม่เอา คมช.’ (2549), ป้ายและผ้าคาด ‘คมช. ออกไป’ (2549)
คืนวันที่ 19 กันยายน 2549 ขณะที่ พันตำรวจโททักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีสมัยที่ 2 เดินทางออกนอกประเทศเพื่อร่วมประชุมสหประชาชาติที่สหรัฐอเมริกา คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) ซึ่งภายหลังเปลี่ยนชื่อเป็นคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) นำโดย พลเอกสนธิ บุญรัตนกลิน ก็ได้ทำการรัฐประหารยึดอำนาจ
แม้จะมีการรัฐประหาร แต่ก็ยังมีผู้ชุมนุมจับกลุ่มกันทำกิจกรรมทางการเมือง เช่น กลุ่มคนวันเสาร์ไม่เอาเผด็จการ, สมาพันธ์ประชาธิปไตย, กลุ่ม 19 กันยาต้านรัฐประหาร, มูลนิธิวีรชนประชาธิปไตย, กลุ่มเพื่อนรัฐธรรมนูญ 2540, กลุ่มกรรมกรเพื่อประชาธิปไตย, กลุ่มพลเมืองภิวัฒน์ และกลุ่มคนจนเมืองเพื่อประชาธิปไตย เพื่อต่อต้านคณะรัฐประหาร คมช.
มือตบ (2551)
ปี 2551 เกิดกระแส ‘นักรบมือตบ’ ในหมู่ผู้ร่วมชุมนุมกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ในการขับไล่ สมัคร สุนทรเวช และ สมชาย วงศ์สวัสดิ์ ที่ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีโดยมีสายสัมพันธ์กับ ทักษิณ ชินวัตร โดยเป็นที่นิยมมากหลังจากกลุ่มพันธมิตรฯ นำมาใช้แทนการปรบมือในรายการที่ออกอากาศทางสถานี ASTV และเมื่อ พลตรีจำลอง ศรีเมือง หนึ่งในแกนนำการชุมนุมนำมาใช้บนเวที เพื่อตอบโต้ที่ สมัคร สุนทรเวช กล่าวหาว่า มี ‘มือที่มองไม่เห็น’ อยู่เบื้องหลังการชุมนุมพันธมิตรฯ
ในช่วงหลัง มือตบขยายตลาดจากอุปกรณ์การชุมนุมกลายเป็นของเล่นและของฝากที่แม้แต่คนนอกวงชุมนุมก็ยังซื้อติดไม้ติดมือกลับไปเป็นของฝากให้ลูกหลานเล่น
เสื้อ ‘ไพร่’ (2553)
ปี 2551 อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ปิดตำนานผู้นำทางการเมืองสายทักษิณ ด้วยการขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี พร้อมๆ กับคำครหาว่า ‘ตั้งรัฐบาลในค่ายทหาร’ ทำให้แนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) สวมเสื้อสีแดงออกมาชุมนุมเรียกร้องให้มีการยุบสภา กลุ่มคนเสื้อแดง นปช. ชูคำว่า ‘ไพร่’ ขึ้นมาเพื่อต่อสู้กับ ‘อำมาตย์’ จากฝั่งคนเสื้อเหลือง เพื่อสะท้อนว่าพวกเขาถูกรัฐปฏิบัติอย่างอยุติธรรม
ตีนตบ (2551)
กลุ่มคนเสื้อแดง นปช. (แนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ) ออกอุปกรณ์ ‘ตีนตบ’ เพื่อแก้เผ็ดมือตบของฝั่งพันธมิตร โดยมีทั้งตีนตบแบบพลาสติก เขย่าแล้วเสียงดัง และแบบยางสกรีนลายใบหน้าแกนนำการชุมนุมกลุ่มพันธมิตรฯ ทำโดยกลุ่มรักเชียงใหม่ 51 แต่ไม่เป็นที่นิยมเท่าเพราะราคาแพงและตบแล้วเสียงไม่ดังสะใจ
นกหวีด (2556)
ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่จากการเลือกตั้งในนามพรรคเพื่อไทย เมื่อ ‘ผีทักษิณ’ กลับมามีตำแหน่ง คณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงปฏิรูปประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์แบบอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) จึงเริ่มจัดการชุมนุมขึ้นเพื่อขจัดระบอบทักษิณ และเรียกร้องให้มีการปฏิรูปการเมืองก่อนเลือกตั้งใหม่ โดยใช้นกหวีดเป็นสัญลักษณ์การชุมนุม นำโดย สุเทพ เทือกสุบรรณ
กลุ่ม กปปส. ชุมนุมตั้งแต่ปี 2556 จนยุติในปี 2557 เนื่องจากพลเอกประยุทธ์นำคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เข้ายึดอำนาจจากรัฐบาลรักษาการ
ห้องที่ 2: กว่าจะได้เลือกตั้ง ’62
สติกเกอร์รณรงค์ไม่รับร่างประชามติ (2559)
ราว 1 เดือนก่อนวันที่ 7 สิงหาคม 2559 ซึ่งเป็นวันออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ พ.ศ. 2559 พร้อมโหวตคำถามพ่วงถึงบทเฉพาะกาลที่อนุญาตให้สมาชิกวุฒิสภา 250 คนสามารถร่วมลงคะแนนเสียงเลือกนายกรัฐมนตรีได้ นักกิจกรรม 5 คน ได้แก่ ปกรณ์ อารีกุล, ทวีศักดิ์ เกิดโภคา, อนันต์ โลเกตุ, อนุชา รุ่งมรกต และ ภานุวัฒน์ ทรงสวัสดิ์ชัย ก็ถูกดำเนินคดีในข้อหาครอบครองและ ‘น่าเชื่อว่าจะแจก’ สติกเกอร์ที่มีข้อความว่า ‘Vote No ไม่รับอนาคตที่ไม่ได้เลือก’ ก่อนศาลอุทธรณ์จะประกาศยกฟ้องในเดือนเมษายน 2562
อย่างไรก็ตาม ผลคะแนนโหวตในปี 2559 ออกมาว่า คนส่วนใหญ่เลือก ‘กา YES’ ทำให้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ผ่านการทำประชามติด้วยคะแนนร้อยละ 61.35 และเห็นชอบผ่านคำถามพ่วงร้อยละ 58.07
ขันแดง (2559)
เมื่อมีนาคม 2559 ปรากฏขันน้ำสีแดงมีข้อความว่า ‘แม้สถานการณ์จะร้อน ขอให้พี่น้องได้ความความเย็นจากน้ำผ่านขันใบนี้ด้วยครับ’ พร้อมลายเซ็น ทักษิณ ชินวัตร แจกจ่ายก่อนเทศกาลสงกรานต์ไม่กี่วัน หญิงคนหนึ่งถูกตั้งข้อหายุยงปลุกปั่นตามความผิดมาตรา 116 เพราะถ่ายรูปคู่กับขันน้ำดังกล่าว นอกจากนี้ยังมีรายงานจากสำนักข่าวต่างประเทศว่าทหารไทยได้ยึดขันแดงจากชาวบ้านทั้งสิ้นราว 8,000 ใบ
ปฏิทินรูปทักษิณ-ยิ่งลักษณ์ (2561)
หลังเหตุการณ์ขันแดงแสลงใจผ่านไป ในเดือนพฤศจิกายน 2561 ที่คะแนนนิยมในตัว พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เริ่มลดต่ำลง ก็มีการแจกปฏิทินที่มีรูปคู่ทักษิณ-ยิ่งลักษณ์เพื่อสวัสดีปีใหม่ โดยมีเจ้าหน้าที่ทหารเข้าไปบุกยึดปฏิทินดังกล่าวบางส่วนจากชาวบ้าน เฉพาะจังหวัดอุบลราชธานียึดได้มากกว่า 5,000 ใบ ส่วน พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคงในขณะนั้นมองว่า ผู้แจกจ่ายปฏิทินคือฝั่งต่อต้านรัฐบาลพลเอกประยุทธ์
หลังมีข่าวทหารบุกยึดปฏิทิน พริษฐ์ ชิวารักษ์ และ ธนวัฒน์ วงศ์ไชย สองนักกิจกรรมนักศึกษาก็นำปฏิทินดังกล่าวไปมอบให้กระทรวงกลาโหมเพื่อที่จะได้ไม่ต้องคุกคามประชาชนด้วยการบุกยึด แต่ก็ไม่มีผู้ออกมารับมอบ
พัดลายพรรคไทยรักษาชาติ (2562)
ระหว่างการหาเสียงเลือกตั้งในปี 2562 มีการแจกของที่ระลึกที่มีตราสัญลักษณ์พรรค เพื่อย้ำเตือนให้ประชาชนออกไปใช้สิทธิเลือกตั้งกาพรรคที่ชอบ โดยพรรคไทยรักษาชาติเลือกแจกพัดพลาสติกสีน้ำเงินที่สกรีนชื่อและสัญลักษณ์พรรค
พรรคไทยรักษาชาติก่อตั้งมาตั้งแต่ 27 กรกฎาคม 2552 ใช้ชื่อเดิมว่าพรรครัฐไทย จากนั้นเปลี่ยนเป็นพรรคไทยรวมพลัง และเปลี่ยนเป็นพรรคไทยรักษาชาติในปี 2561 พร้อมตั้ง ร้อยโทปรีชาพล พงษ์พานิช บุตรชายของอดีตสมาชิกวุฒิสภา ระเบียบรัตน์ พงษ์พานิช เป็นหัวหน้าพรรค
หนังสือพิมพ์ฉบับพาดหัวยุบพรรคไทยรักษาชาติ (2562)
คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ประกาศวันเลือกตั้งอย่างเป็นทางการในวันที่ 24 มีนาคม 2562 และกำหนดให้วันที่ 8 กุมภาพันธ์เป็นวันสุดท้ายของการเสนอชื่อแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีจากแต่ละพรรค โดยมีพรรคเด่นๆ เช่น พรรคเพื่อไทยเสนอชื่อ คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ พรรคอนาคตใหม่เสนอ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ และพรรคพลังประชารัฐเสนอชื่อ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา กับสโลแกนหาเสียง ‘เลือกความสงบจบที่ลุงตู่’
แต่พรรคที่สร้างปรากฏการณ์สะเทือนทั้งวงการกลับเป็นพรรคเล็กๆ ที่มีข่าวว่าแตกกิ่งจากเพื่อไทยตามยุทธศาสตร์การเลือกตั้งด้วยกติกาที่ไม่เอื้อกับพรรคขนาดใหญ่ อย่างพรรคไทยรักษาชาติ โดยใช้ชื่อย่อของพรรคว่า ทษช. ชวนให้คนตีความถึง ‘ทักษิณ ชินวัตร’ พร้อมทั้งเปิดตัว ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี เป็นแคนดิเดตหนึ่งเดียวของพรรค แต่ไม่นานก็มีพระราชโองการในวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2562 รับสั่งปรามไม่ให้สมาชิกชั้นสูงในพระบรมราชวงศ์เกี่ยวข้องกับการเมือง จนวันที่ 7 มีนาคม ศาลรัฐธรรมนูญก็มีคำวินิจฉัยยุบพรรคไทยรักษาชาติ ขึ้นเป็นข่าวหน้าหนึ่งของหนังสือพิมพ์ทุกฉบับ
ป้ายเชิญชวนไปใช้สิทธิเลือกตั้ง ‘จับปากกาฆ่าเผด็จการ’ (2562)
ก่อนวันเลือกตั้ง วันที่ 24 มีนาคม 2562 กลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตย (DRG) พยายามรณรงค์ให้คนออกมาใช้สิทธิเลือกตั้ง ‘จับปากกาฆ่าเผด็จการ’ หยุดวงจรของพลเอกประยุทธ์ แต่ท้ายที่สุดพรรคพลังประชารัฐก็เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล ส่งผลให้พลเอกประยุทธ์ขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรีต่อในสมัย 2 ท่ามกลางเสียงลือถึง ‘บัตรเขย่ง’ กติกาการเลือกตั้งที่ไม่เป็นธรรม และการทำงานที่ไม่โปร่งใสของ กกต.
ห้องที่ 3: อย่าปิดปากประชาชนด้วยกฎหมาย ความเจ็บ และความตาย
แผ่นพับ ‘เกิดอะไรขึ้นบ้างในคดีของ ไผ่ จตุภัทร์’ (2560)
ขบวนการประชาธิปไตยใหม่ (NDM) จัดทำแผ่นพับอธิบายเหตุการณ์ตามไทม์ไลน์คดีข้อหาตามมาตรา 112 พ่วงด้วยความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ ของ ‘ไผ่ ดาวดิน’ จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หลังจากเป็นคนเดียวที่ถูกดำเนินคดีเพราะแชร์บทความ ‘พระราชประวัติกษัตริย์พระองค์ใหม่ของไทย’ ที่เรียบเรียงโดยสำนักข่าว BBC ไทย
มาตรา 112 หรือข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ เป็นที่รู้กันในหมู่นักกิจกรรมว่าเป็นยาขม คือโดนแล้วรอดยาก แทบไม่เห็นหนทางสู้คดี ไผ่เป็นคนเดียวในบรรดาคนราว 2,000 กว่าคนที่แชร์บทความแล้วถูกจับ รวมถึงเมื่อถูกจับกุมแล้วก็ได้ยื่นขอให้มีการปล่อยตัวชั่วคราวหลายครั้งเพื่อออกมาสู้คดีตามสิทธิผู้ต้องหา แต่ก็ไม่ได้รับสิทธิ รวมถึงถูกศาลขอนแก่นสั่งให้พิจารณาคดีลับ ไม่ให้คนนอกร่วมรับฟัง ไผ่ให้สัมภาษณ์กับ The Momentum ว่า การแชร์ข่าวของเขามีโทษ “เท่าคดียาบ้า 80 เม็ด-คดีพยายามฆ่า”
เขาใช้ชีวิตอยู่ในทัณฑสถานบำบัดพิเศษขอนแก่นเป็นเวลาเกือบ 2 ปีครึ่ง ก่อนได้รับการพระราชทานอภัยโทษ และสวมเสื้อยืดสีเหลืองสดก้าวออกจากเรือนจำในวันที่ 10 พฤษภาคม 2562
หน้ากากรูปหน้าไผ่ (2560)
ระหว่างถูกจำคุก ไผ่ ดาวดิน ไม่ได้รับสิทธิให้ประกันตัว จึงมีการทำกิจกรรม ‘ปล่อยไผ่’ เพื่อให้กำลังใจและเรียกร้องให้ศาลขอนแก่นอนุญาตสั่งให้ประกันตัวตามสิทธิที่ไผ่พึงได้รับ วันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2560 จ่านิว-สิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ ร่วมกิจกรรมปล่อยไผ่ในฐานะผู้สังเกตการณ์ โดยสวมหน้ากากกระดาษรูปใบหน้าไผ่ ดาวดิน และถ่ายรูปกับผู้สวมหน้ากากแบบเดียวกันที่ถือป้ายคำว่า ‘Free Pai’ อยู่บริเวณหน้าป้ายศาลภายนอกอาคารศาล แล้วนำดอกกุหลาบขาวไปวางบนทางเท้า ใกล้ๆ กับตาชั่งไม้ที่เอียงไปทางรองเท้าท็อปบู๊ตแบบทหาร
ศาลอุทธรณ์ภาค 4 ตีความกิจกรรมนี้ว่าเป็นการละเมิดอำนาจศาล และตัดสินให้จ่านิวมีโทษจำคุก 6 เดือนและปรับ 500 บาท โดยรอลงอาญาโทษจำคุกไว้ 2 ปี และคุมความประพฤติ 1 ปี ต้องรายงานตัวและทำกิจกรรมบริการสังคม รวมถึงไม่สามารถรวมตัวกับผู้ต้องคดีคนอื่นๆ เพื่อจัดกิจกรรมในลักษณะนี้ได้อีก ถือเป็นการ ‘แจกใบแดง’ ผู้เล่นที่โชกโชนด้านการต่อรองต่อต้านอำนาจได้อีก 1 คน
เสื้อ ‘กลุ่มคนอยากเลือกตั้ง MBK39’ (2561)
กลุ่ม ‘MBK39’ เป็นหนึ่งในการชุมนุมของกลุ่มคนอยากเลือกตั้งที่หน้าห้างมาบุญครอง (MBK) หลังจากมีกำหนดการเลือกตั้งมาถึง 5 ครั้ง และจบลงด้วยการที่ผู้ชุมนุมทั้ง 39 คนถูกฟ้องร้องด้วยข้อหายุยงปลุกปั่นตามมาตรา 116, ฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/58 และมาตรา 7 ของ พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะฯ ว่าด้วยการชุมนุมห่างจากเขตพระราชฐานไม่เกิน 150 เมตร โดยมีผู้ต้องหาหลายรายที่ถูกฟ้องมากกว่า 1 คดี เช่น รังสิมันต์ โรม, จ่านิว-สิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์, ณัฏฐา มหัทธนา, เอกชัย หงส์กังวาน และ เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล
ผู้ชุมนุมบางส่วนที่ยังสู้คดีต่อกำลังอยู่ระหว่างรอฟังอัยการสูงสุดสั่งคดีในวันที่ 30 ตุลาคม 2562 เนื่องจากยังทำสรุปสำนวนคดีไม่เสร็จ ที่ผ่านมากลุ่ม MBK39 ถูกเลื่อนนัดเป็นครั้งที่ 16 แล้ว คิดเป็นเวลารอมากกว่า 1 ปี และยังไม่รู้ว่าจะสิ้นสุดเมื่อใด
คดีนี้เป็นหนึ่งในคดีปิดปาก (Strategic Lawsuit Against Public Participation: SLAPP) หรือการฟ้องคดีเพื่อหยุดยั้งการเคลื่อนไหวภาคประชาชน ไม่ให้แสดงความคิดเห็น วิพากษ์วิจารณ์มีส่วนร่วมในกิจกรรมสาธารณะเนื่องจากต้องแบกรับค่าใช้จ่าย แบ่งเวลาไปสู้คดีและรายงานตัว หรือบีบให้ยอมเซ็นข้อตกลงหยุดเคลื่อนไหวแลกกับการไม่ดำเนินคดีต่อ
เสื้อเชิ้ตของจ่านิว (2562)
วันที่ 28 มิถุนายน 2562 จ่านิว-สิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ ถูกบุคคลปริศนาดักทำร้ายร่างกายที่บริเวณปากซอยหน้าบ้าน ย่านซอยพระยาสุเรนทร์ รามอินทรา โดยกลุ่มคนร้ายใช้ไม้ตีที่หน้าและศีรษะก่อนจะขับรถจักรยานยนต์หลบหนีไป และยังจับตัวไม่ได้จนถึงวันนี้
เสื้อเชิ้ตสีขาวเปื้อนเลือดที่จ่านิวสวมในวันถูกทำร้ายกลายเป็นสัญลักษณ์ความรุนแรงต่อผู้คัดค้านคณะรัฐประหาร คสช. และความเมินเฉยของรัฐบาลในการหาตัวผู้กระทำผิด
หมวกดาวแดงพร้อมลายเซ็น สุรชัย แซ่ด่าน (ไม่ทราบปี)
ผู้ไม่ประสงค์ออกนามบริจาคหมวกดาวแดง สัญลักษณ์พรรคคอมมิวนิสต์ที่มีลายเซ็น ‘สุรชัย แซ่ด่าน’ หรือ สุรชัย ด่านวัฒนานุสรณ์ อดีตนักโทษการเมืองตามมาตรา 112 และนักจัดรายการวิทยุใต้ดินขณะลี้ภัยในประเทศลาว
เมื่อธันวาคม 2561 ชาวบ้านตำบลธาตุพนม จังหวัดนครพนม พบศพไม่ทราบสัญชาติจำนวนสองศพลอยมาติดตลิ่งแม่น้ำโขง ในสภาพถูกฆ่ารัดคอทั้งกุญแจมือ ศพถูกผ่าท้องและยัดแท่งปูนลักษณะคล้ายหลักทางโค้งของประเทศเพื่อนบ้าน พันทับด้วยผ้า ตาข่าย กระสอบ และเชือกทบหลายชั้น พิสูจน์ DNA แล้วพบว่าน่าจะเป็น สหายกาสะลอง และ สหายภูชนะ ที่หายตัวไปในวันที่ 13 ธันวาคม 2561 ทั้งสองเป็นคนสนิทของสุรชัย โดยคาดว่าสุรชัยเสียชีวิตแล้วเช่นกัน แต่ยังไม่พบศพ
ป้าย ‘Where are you? (Justice in Siam)’ (2562)
วันที่ 13 พฤษภาคม แม่ของ สยาม ธีรวุฒิ เดินทางไปยื่นหนังสือที่สถานทูตเวียดนามเพื่อทวงถามความชัดเจนเกี่ยวกับชะตากรรมของลูกชาย กลุ่มผู้มาให้กำลังใจได้จัดทำป้ายกระดาษที่มีข้อความ ‘Where are you?’ วางไว้ที่หน้าสถานทูตเวียดนาม โดยตัว r ในคำว่า are ถูกแทนที่ด้วยใบหน้าของสยาม ขณะที่ด้านล่างของป้ายก็มีข้อความ (Justice in) Siam โดยเล่นคำว่า ‘Siam’ ในสองนัย คือการทวงถามว่าตัวของ สยาม ธีรวุฒิ อยู่ที่ไหน และทวงถามความยุติธรรมในประเทศสยาม
สยาม ธีรวุฒิ คือหนึ่งในนักแสดงละครเวทีย้อนยุคเรื่อง เจ้าสาวหมาป่า ละครตลกเสียดสีที่ถูกแจ้งความดำเนินคดีตามมาตรา 112 ในปี 2556 จนต้องหลบหนีออกนอกประเทศในปีถัดมา เนื่องจากมีการรื้อฟื้นทุกคดีที่เกี่ยวข้องกับมาตรา 112 หลังการรัฐประหารในปี 2557
สยามหลบหนีไปยังประเทศเวียดนามตั้งแต่นั้น ก่อนจะกลับมาเป็นข่าวในประเทศไทยเมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2562 หลังมีการกระจายข่าวว่าสยามถูกจับกุมตัวที่เวียดนามและถูกส่งกลับไทยแล้ว แต่ คสช. และตำรวจไทยออกมาปฏิเสธ โดยโฆษก คสช. ออกมายืนยันว่าไม่มีการติดตามผู้ต้องหาคดี 112 ในต่างประเทศ
ห้องที่ 4: นักสู้สีเขียวในเมืองสีควัน
ธงไร้ด้าม ‘เทใจให้เทพา’ (2560)
เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2560 เครือข่ายคนสงขลา-ปัตตานีไม่เอาโรงไฟฟ้าถ่านหิน ทำกิจกรรม ‘เทใจให้เทพา’ โดยเริ่มเดินเท้าออกจากอำเภอเทพาไปยังอำเภอเมือง จังหวัดสงขลา เพื่อยื่นหนังสือคัดค้านการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินต่อ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี การเดินเป็นไปโดยสงบ มีชาวบ้านสวมเสื้อสีเขียวอ่อนสะท้อนแสงและป้ายธงสกรีนคำว่า ‘No Coal’ หรือ ‘ไม่เอาโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา’ บนผ้าสีเขียวเป็นสัญลักษณ์
เมื่อขบวนเทพาเดินทางมาถึงใน 3 วันถัดมาก็ถูกเจ้าหน้าที่สกัดขบวนและควบคุมตัวชาวบ้านผู้เดินเท้า และแจ้งความดำเนินคดีข้อหาชุมนุม มั่วสุม ก่อความวุ่นวาย ร่วมกันเดินหรือเดินแห่อันเป็นการกีดขวางการจราจร-ปิดกั้นทางหลวง ขัดขวางการจับกุมและทำร้ายเจ้าหน้าที่ และพกพาอาวุธหรือไม้แหลมไปในเมืองหรือทางสาธารณะ ซึ่งสิ่งเทียมอาวุธที่ถูกกล่าวหาก็คือด้ามธงธรรมดาๆ เท่านั้น
แม้ต่อมาชาวบ้านจะได้รับการยกฟ้องในเกือบทุกข้อหา รวมทั้งในปี 2561 กระทรวงพลังงานยอมถอยไม่สร้างโรงไฟฟ้าที่เทพาต่อในที่สุด แต่ก็เป็นเพียงการย้ายที่ไปหาวิธีสร้างที่อื่นเท่านั้น เนื่องจากกระทรวงพลังงานยังคงเห็นว่าภาคใต้ควรมีโรงไฟฟ้าถ่านหินอย่างน้อย 1 โรง เพื่อ “ความมั่นคงของระบบไฟฟ้าในพื้นที่ภาคใต้”
หน้ากากเสือดำ (2561)
ในวันที่ 4 มีนาคม 2561 การแสดงละครจำลองเหตุการณ์ฆ่าเสือดำและใส่ ‘หน้ากากเสือดำ’ ประท้วง เป็นวิธีที่ประชาชนนับร้อยแสดงออกถึงความคลางแคลงใจในคดี เปรมชัย กรรณสูต ประธานบริหารบริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) และพวกถูกพบพร้อมซากเสือดำ ไก่ฟ้า และอาวุธปืนในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร แต่ในขณะนั้นดูเหมือนจะมีการดำเนินคดีล่าช้าและเกรงว่าเปรมชัยอาจรอดพ้นคดี เนื่องจากมีระบบเงินและเส้นสายคอยช่วยเหลือ คล้ายกับคดี ‘เฮลิคอปเตอร์ล่าสัตว์ป่าตกที่ทุ่งใหญ่นเรศวร’ สมัยก่อนเกิดเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516
เสื้อ ‘I Survived the Air in Chiang Mai’ (2562)
เมื่อต้นปี 2562 ที่ผ่านมา ตัวเลขวัด PM2.5 หรือฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอนตามจุดวัดต่างๆ ในภาคเหนือพุ่งสูงจนเป็นอันดับต้นๆ ในบรรดาเมืองมลพิษทั่วโลก ฝุ่นละอองเหล่านี้เล็กจนไม่อาจถูกกรองได้ด้วยขนจมูก เมื่อสูดหายใจเข้าไปก็อาจซึมผ่านกระแสเลือดเข้าไปเป็นอันตรายต่อร่างกายได้ทันที
กระทั่งปริมาณฝุ่นควันในอากาศพุ่งสูงไปจนถึงระดับที่วัดด้วยเกณฑ์ AQI ไม่ได้ นพ.รังสฤษฎ์ กาญจนะวณิชย์ อาจารย์แพทย์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และแกนนำในการเรียกร้องให้ภาครัฐแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม ตัดสินใจทำเสื้อที่ระลึก ‘I Survived the Air in Chiang Mai’ (ฉันรอดตายจากอากาศในเชียงใหม่) พร้อมรูปสกรีนคุณภาพอากาศ ‘Beyond AQI 999’ สีม่วง อันแปลความถึงอากาศที่เลวร้ายถึงขั้นสุดจากการจัดระดับความรุนแรงของฝุ่นควันด้วยสีอย่างคร่าวๆ ไล่จากสีเขียว เหลือง แดง ไปจนถึงม่วง โดยรายได้จากการขายเสื้อจะนำไปสมทบทุนป้องกันไฟป่าและฟื้นฟูระบบนิเวศ
ป้ายคัดค้านการสร้างโรงงานน้ำตาลเมืองเพีย (2562) /
ป้ายคัดค้านการ ‘ทวงคืนผืนป่า’ ไล่ที่ชุมชนออกจากอุทยานไทรทอง (2562)
ชาวบ้านและนักศึกษาในเมืองเพีย จังหวัดขอนแก่น ที่คัดค้านการสร้างโรงงานน้ำตาลและโรงไฟฟ้าชีวมวลของบริษัทน้ำตาลมิตรผล ไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าร่วมเวทีรับฟังความเห็นเพื่อกำหนดขอบเขตการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA)
ป้ายประท้วงของเมืองเพียที่พิพิธภัณฑ์สามัญชนเก็บไว้ไม่ใช่ป้ายที่ชาวบ้านทำขึ้น แต่เป็นฝีมือการเขียนป้ายของคนกรุงเทพฯ ที่มาร่วมให้กำลังใจชาวเมืองเพีย โดยเขียนด้านหลังป้ายกระดาษใช้ซ้ำจากกิจกรรม ‘คดีบุกรุกอุทยานไทรทองฯ’ จังหวัดชัยภูมิ ซึ่งเป็นป้ายให้กำลังใจชาวบ้านชุมชนซับหวายที่ถูกขับไล่ออกจากพื้นที่เนื่องจากเพิ่งมีการประกาศเป็นพื้นที่อุทยานขึ้นมาทับในภายหลัง ตามนโยบาย ‘ทวงคืนผืนป่า’ ที่รัฐบาล คสช. ประชาสัมพันธ์เป็นหนึ่งในผลงานที่ทำสำเร็จ
ห้องที่ 5: หยิกแกมหยอก บันทึก ‘สนามอารมณ์’ ภาคประชาชน
เสื้อ ‘BNK44’ (2562)
เพจ ‘จะสี่ปีแล้วนะไอ้สัตว์’ วางแผนจัดคอนเสิร์ตสายพังค์ ‘BNK44 สี่ปีได้แดกแต่คุกกี้เสี่ยงทาย’ ในวันที่ 21 กันยายน 2561 แต่ก็ถูกเจ้าหน้าที่อ้างเรื่องความมั่นคงเข้ามากดดันจนต้องยกเลิกไป จนวันที่ 25 พฤศจิกายน 2561 หรือราว 2 เดือนหลังจากนั้นก็จัดคอนเสิร์ตจนได้ที่สวนครูองุ่น มาลิก แถมออกเสื้อยืดที่ระลึกเป็นลาย BNK44 ล้อกับวงไอดอลนักร้องสาว BNK48 โดยใช้เลข 44 ที่หมายถึงการอยู่ในตำแหน่งนายกฯ จากการรัฐประหารครบ 4 ปี รวมถึงการใช้อำนาจตามกฎหมายมาตรา 44 ที่ให้อำนาจแก่ทหารและ คสช. ได้ไม่จำกัด
เสื้อ ‘เทพพันมือสวมนาฬิกาหรู’ (2562)
‘แหวนมารดา นาฬิกาเพื่อน’ กลายเป็นวลีเด็ดที่หลุดจากปาก พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีในสมัยนั้นไปแล้ว กลายเป็นว่าถูกประชาชนนำมาล้อเลียนอยู่พักใหญ่ถึงความ ‘ฟังไม่ขึ้น’ ของคำชี้แจงที่ไม่ได้จดแจ้งนาฬิกาหรูมากกว่า 20 เรือนเข้าไปในรายการบัญชีทรัพย์สิน
จนกระทั่งในปี 2562 แบรนด์เสื้อยืดสัญชาติไทย A.M.P BKK ก็จับเหตุการณ์นี้มาวาดเป็นลายเสื้อยืดล้อการเมือง เป็นรูปเทพเจ้าพันมือรูปร่างอ้วน หน้าตาคล้ายพลเอกประวิตรสวมนาฬิกา และใช้มือข้างที่สวมแหวนเพชรเม็ดโตยกขึ้นปิดบังใบหน้า อันเป็นท่าทางการยกมือขึ้นบังแดดของพลเอกประวิตรเมื่อครั้งถ่ายรูปรวมคณะรัฐมนตรีประยุทธ์ 1 ซึ่งเป็นรูปแรกๆ ที่นักข่าวใช้ขุดคุ้ยบัญชีทรัพย์สินที่พลเอกประวิตรไม่ได้แสดงรายการ
เสื้อตัวนี้ขายขึ้นห้างอยู่ที่เซ็นทรัลลาดพร้าวในราคาประมาณ 500 บาท เป็นชิ้นที่เจ้าของพิพิธภัณฑ์สามัญชนหยิบมาแสดงอย่างทะนุถนอม เนื่องจากเป็นหลักฐานที่ราคาสูงที่สุดเท่าที่มีในพิพิธภัณฑ์ขณะนี้
เสื้อ ‘Fuck Prayuth’ (2562)
‘Fuck Prayuth. If You Like Prayuth, Fuck You Too’ เสื้อยืดสกรีนคำพูดที่เลียนมาจากประโยคจิกกัด ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐ แล้วนำมาเปลี่ยนชื่อให้เข้ากับนายกรัฐมนตรีไทย ตำบลกระสุนตกจึงอยู่ที่ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เสื้อยืดสีดำลายตัวหนังสือสีขาวง่ายๆ จัดทำโดยนักกิจกรรมที่ทำเพจเฟซบุ๊คล้อการเมือง และจบลงด้วยการถูกแจ้งความข้อหายุยงปลุกปั่นตามมาตรา 116 จนต้องปิดเพจ
ขณะนี้พิพิธภัณฑ์กำลังมองหาวัตถุใหม่ๆ เพื่อนำไปจัดแสดงเพิ่มเติม ท่านที่สนใจสามารถบริจาคหลักฐานทางประวัติศาสตร์ทั้งไทยและต่างประเทศให้กับพิพิธภัณฑ์สามัญชนได้ทางข้อความเพจพิพิธภัณฑ์สามัญชน Musuem of the Commonners เพื่อร่วมกันบันทึกประวัติศาสตร์ของคนธรรมดาให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น