สมบัติชาติหรือสมบัติใคร: ภาษีเรา รัฐเอาไปเปย์งานศิลป์อะไรเนี่ยถามจริ๊ง

ก่อนจะมีเรื่องทัศนัยปางปราบมาร เมื่อไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา ก็มีอีกข่าวแซ่บในวงศิลปะว่า สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย (สศร.) ได้จัดซื้อผลงานราคา 19 ล้านบาท เพื่อเก็บเป็นสมบัติของชาติ เหยี่ยวข่าวขอลำดับเหตุการณ์ของข่าวนั้นให้ว่า สศร. ลงเอกสารการจัดซื้อผลงานศิลปะร่วมสมัยในเว็บไซต์ มูลค่ารวม 19 ล้านบาท โดยมีชื่อศิลปินว่าซื้อของคนไหน กี่ชิ้น ราคาเท่าไหร่ มีศิลปินที่จัดลำดับแบ่งเป็นสามส่วน คือศิลปินรุ่นเล็ก รุ่นกลาง และรุ่นใหญ่ แต่ลงไปไม่นานก็ลบโพสต์นั้นและเว็บไซต์ดังกล่าวก็ไม่สามารถเข้าถึงได้ เลยเกิดความเอ๊ะหลายเอ๊ะ เอ๊ะที่หนึ่ง เพราะว่า สศร. ลงไปแล้วทำไมถึงรีบลบ มันมีอะไรที่ไม่อยากให้เรารู้เหรอ? แต่แน่นอนค่ะ โลกอินเตอร์เน็ตและโลกโสเช่ว มีมือดีแคปไว้ได้ และเอาลงให้เราได้ประจักษ์ค่ะ เขาก็เลยมานั่งดูกันว่า เจ้ารายชื่อน่าสงสัยนี่ มันมีใครบ้างนะ ทำไม สศร. ถึงไม่อยากให้เราได้เห็นรายชื่อนั้น 

เอ๊ะที่สองก็คือ มีศิลปิน ภัณฑารักษ์ และนักวิชาการหลายคนที่เห็นรายชื่อนั้นแล้วก็เกิดประเด็นกันในโลกออนไลน์ตั้งแต่เฟซบุ๊คยันคลับเฮาส์ กลิ่นมันตุมากค่ะคุณขา เลยเกิดเป็นคำถามแก่เหล่านักฉอดนานา

ข้อสงสัยนั้นก็คือ

  1. สศร. คะ คุณพี่ใช้เกณฑ์อะไรในการเลือกศิลปินและผลงานเหล่านี้เป็นสมบัติชาติคะ 
  2. เพราะในจำนวณศิลปินเหล่านี้ มีหลายคนที่ไม่ได้เป็นที่รู้จักขนาดนั้น มีก็คือได้รางวัลน่ะนะ แต่เราไม่ค่อยเห็นงานแสดงเขาเลย
  3. ในขณะเดียวกัน ศิลปินหลายคนก็ไม่ได้มีงานที่เรียกได้ว่า ‘ร่วมสมัย’ ที่ควรค่าแก่การเก็บเป็นสมบัติชาติ หรือพูดง่ายๆ ว่างานพี่ไม่อัพเดทเลยนี่ล่ะค่ะ
  4. แล้วคณะกรรมการที่คัดเลือกเป็นใครบ้างเหรอคะ ทำไมไม่เปิดชื่อคะ กรรมการทิพย์เหรอ งงในงง
  5. อูหูย ราคารวม 19 ล้านนี่ (19,448,500 บาท) มันเยอะนะคะ ทำไมไม่แจกแจงหน่อยล่ะคะ ว่างานแต่ละชิ้นที่ซื้อคืออะไร ศิลปินบางคน งานก็ดีจริง แต่ก็มีหลายคนที่งานเคยดี เคยเป็นประวัติศาสตร์ แต่งานใหม่ๆ ก็ไม่ว้าวแล้ว หรือเอาง่ายๆ นะคะ ชิ้นไม่สำคัญ ไม่ใหญ่ ไม่ปังแต่ราคาพุ่งนี่มันก็น่าสงสัยไหมคะ

ถึงแม้จะเป็นข่าวเล็กๆ ไม่ดังมาก แต่ก็กระเทือนพอที่ทาง สศร. จะรู้สึกว่า ตายละ ต้องทำอะไรบางอย่างซะแร้ววววว สศร. ก็เลยออกมาประกาศว่าการจัดซื้อนั้นโปร่งใสนะจ๊ะ ไม่อุ๊บอิ๊บมุบมิบใดๆ ประกาศตามนี้ค่ะ

“ขอยืนยัน และสร้างความเข้าใจกับทุกฝ่ายว่า การจัดซื้อผลงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัยทุกครั้งที่ผ่านมา เราได้ดำเนินการด้วยความเป็นธรรม โปร่งใส สามารถตรวจสอบได้ตามขั้นตอนและระเบียบของทางราชการ โดยเจรจาซื้อผลงานจากศิลปินทายาทศิลปิน หรือผู้ถือครองกรรมสิทธิ์ตามกฎหมาย และต่อรองราคาเพื่อให้ได้ราคาที่เหมาะสม คุ้มค่า เกิดประโยชน์สูงสุดต่อทางราชการ และราคาผลงานที่จัดซื้อแต่ละชิ้นจะเป็นราคาที่ศิลปินให้การสนับสนุน เพื่อเป็นสมบัติของชาติมากกว่าการขายเพื่อทำกำไรดังเช่นการขายผลงานศิลปะทั่วไป และผลงานดังกล่าวได้มีการนำมาจัดแสดงนิทรรศการ หมุนเวียนอยู่เป็นระยะโดยเปิดเผย มิได้เลือกปฏิบัติเพื่อศิลปินคนใดคนหนึ่งแต่อย่างใด” 

ที่มา: มติชน

สรุปสั้นๆ ว่า ซื้อมาโปร่งใสจ้า ใสกว่านี้ก็แก้วแล้วน้า เป็นประโยชน์ (กับพวกชั้นไม่เกี่ยวกับหล่อน) จริงๆ ราคาคุ้มค่าเพราะศิลปินเขาอยากให้งานเป็นสมบัติชาติ เดี๋ยวพวกหล่อนก็ได้ดูเองแหละน่า และถึงจะมีการประกาศออกมา ก็ไม่ได้ตอบคำถามใดๆ เลย 

ประจวบเหมาะพอดิบพอดีกับที่ สศร. จะมีการจัดแสดงผลงานดังกล่าวในวันที่ 19 มีนาคมนี้ จนถึงวันที่ 9 พฤษภาคม เพื่อแสดงผลงานที่ สศร. ได้เก็บมาตลอดช่วงเวลาหลายปี พูดง่ายๆ ก็คือเอามาแสดงให้รู้ว่างบที่ได้มาน่ะ เอาไปซื้องานศิลปะจริงๆ นะจ๊ะ ไม่ได้มุบมิบเล้ยยยย ซึ่งงานเหล่านี้นับว่าเป็นสมบัติชาติค่ะ เป็นสมบัติของคนไทยทุกคน ที่ควรได้ดูและได้ศึกษา และแน่นอนด้วยต่อมสงสัยมันแรง ก็เลยรับบทนางนาตาชาไปหาดูหาแซ่บกันค่ะ

นิทรรศการผลงานศิลปะสะสมของสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย แสดงผลงานร่วมสมัยแบบถ้านับรวมอายุผลงานก็น่าจะเรียกได้ว่าหมื่นๆ ปี คือร่วมสมัยม้าก ร่วมสมัยแบบพี่เบิร์ดยุคเพลง ‘ซ่อมได้’ จนตอนนี้พี่เบิร์ดร้องเพลงคู่กับ Getsunova แล้ว ผลงาน ‘ร่วมสมัย’ ที่จัดแสดงก็จะมีตัวอย่างเช่น เสียงขลุ่ยทิพย์ ของ เขียน ยิ้มศิริ นี่ก็คือเห็นมาตั้งแต่จำความได้ ก็คือร่วมสมัยเมื่อปี 2492 เหมือนว่าถ้าหลับไปตั้งแต่ยี่สิบปีที่แล้ว ตื่นมา ได้มางานนิทรรศการนี้ก็จะไม่ตกใจเลยว่าศิลปะไปถึงไหนแล้ว อ้อ ไม่ได้ไปไหนนะ ผ่านไปยังไงก็อย่างงั้น ส่วนงานของศิลปินอื่นๆ หลายคนก็เหมือนแช่แข็งแนวคิดไว้อย่างนั้น คือถ้าจะผายมือไปทางข่าวสารโลกน่ะนะ ก็จะมีพวกงานที่ซื้อขายด้วย NFT, ใช้ AI สร้างผลงานศิลปะ, หรือแม้แต่กริมส์ (Grimes) ที่เป็นภรรยา อีลอน มัสค์ (Elon Musk) ก็ขายเศษส่วนของวิญญาณของเธอเป็นงานศิลปะไปแล้ว ส่วนศิลปินไทยที่แสดงในนิทรรศการยังอินกับลายรดน้ำ ลายกนก และพุทธิปัญญาอยู่เลยค่ะ โอย เครียด

แต่ก็มีเรื่องให้ชมบ้าง เดี๋ยวจะหาว่าฟาดอย่างเดียว เพราะเราก็ได้เห็นผลงานของศิลปินไทยที่ดังระดับโลกอย่าง ฤกษ์ฤทธิ์ ตีระวนิช, นิพันธ์ โอฬารนิเวศน์ และ ปรัชญา พิณทอง ไปจนถึงศิลปินร่วมสมัยไทยที่เรียกได้ว่าเป็นบิดาแห่งศิลปะร่วมสมัยไทยอย่าง มณเฑียร บุญมา แต่ก็อดผิดหวังไม่ได้อยู่ดี เพราะผลงานของ มณเฑียร บุญมา ที่นำมาจัดแสดงในนิทรรศการของ สศร. ทั้งที่เป็นประเทศบ้านเกิดเมืองนอนของศิลปิน แต่ทำไมนะคะ ทำไมไม่ได้เก็บผลงานประติมากรรมจัดวางที่สามารถศึกษาต่อได้ แต่กลับเป็นแค่ชิ้นสเก็ตช์ของผลงานเท่านั้นเอง 

นี่คืองาน มณเฑียร บุญมา ที่เราสามารถเห็นได้ในกูเกิล

และนี่คืองาน มณเฑียร บุญมา ที่เราได้ดูในฐานะสมบัติของชาติ ซึ่งไม่ใช่งานจริง แต่เป็นสเก็ตช์

เราถามจริงๆ เถอะ อันนี้ถามด้วยความสงสัยเลย ไม่ประชดด้วย ว่าตอนที่ซื้อมาน่ะ ได้ศึกษาเกี่ยวกับผลงานที่จะมาอยู่ในครอบครองบ้างรึเปล่า หรือเห็นว่ามีชื่อนี้แล้วก็จะเป็นชิ้นไหนก็ได้อย่างนั้นเหรอ? แล้วซื้อมาแบบนี้ ประชาชนจะได้ประโยชน์อะไร? เราได้เรียนรู้อะไรจากผลงานสเก็ตช์ชิ้นนี้ เราได้เรียนรู้อะไรเกี่ยวกับการจัดผลงานศิลปะจัดวางที่จะมาเป็นชิ้นจริงนี้? ทั้งที่พิพิธภัณฑ์ในต่างประเทศที่มีผลงานของ มณเฑียร บุญมา ส่วนใหญ่เป็นชิ้นที่ใช้ประโยชน์จากแนวคิดแพทย์แผนไทยและยารักษาโรคตามธรรมชาติที่มณเฑียรได้นำมาผนวกกับผลงานของเขาจนเรียกว่าเป็นซิกเนเจอร์ ดังนั้นผู้ชมจะไม่ได้รับความรู้เกี่ยวกับศิลปะเพียงอย่างเดียว แต่จะได้เรียนรู้เกี่ยวกับวิทยาศาสตร์และการแพทย์ไปด้วย

มิหนำซ้ำ ที่น่าผิดหวังมากกว่าก็คือการที่ผลงานทุกชิ้นในนิทรรศการนั้นไม่มีแม้แต่คำอธิบายงาน หรืออธิบายแนวทางในการคิวเรทนิทรรศการทั้งหมดเลย เราไม่สามารถหาจุดเชื่อมโยงจากผลงานหนึ่งไปที่ผลงานอีกชิ้นหนึ่ง ไม่มีแม้กระทั่งป้ายอะไรที่สามารถบอกได้เลยว่าผลงานชิ้นนี้มีคุณค่าต่อประวัติศาสตร์ไทยอย่างไร ไม่มีอะไรที่เราสามารถเรียนรู้ประวัติศาสตร์ศิลปะร่วมสมัยไทยได้เลยว่ามีความเป็นมาอย่างไร

ผลงานแนว conceptual อย่างชิ้นงานของ ปรัชญา พิณทอง ไม่มีแม้กระทั่งอะไรที่สามารถบ่งบอกได้ว่าเป็นผลงานที่ได้แนวคิดจากอะไร แม้จะมีสตาฟที่เฝ้างานเล่าให้ฟังว่ามีที่มาอย่างไร แต่นั่นคงไม่อาจนับว่าเป็นการให้ข้อมูลที่เพียงพอหรอกนะคะ

สิ่งที่เราสงสัยมากกว่านั้นก็คือ ในขณะที่ศิลปินร่วมสมัยหลายคนในไทยมีผลงานจัดแสดง หรือได้รางวัลในระดับนานาชาติ เช่น อริญชย์ รุ่งแจ้ง, กรกฤต อรุณานนท์ชัย, มิตร ใจอินทร์, อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล, ทัศนัย เศรษฐเสรี, อารยา ราษฎร์จำเริญสุข และศิลปินอีกมากมายที่แม้จะไม่ได้มีรางวัลในไทย แต่ได้รับรางวัล จัดแสดง หรือร่วมเทศกาลศิลปะระดับโลกมาแล้ว แต่ทำไม สศร. ถึงเลือกเก็บสะสมและนำมาจัดแสดงเพียงไม่กี่หยิบมือ หรือ สศร. นับผลงานของศิลปินที่ซื้อเก็บจากจำนวนรางวัลที่ได้เพียงเท่านั้น? รางวัลในไทยที่ถ้าเข้าไปดูรายชื่อก็จะเห็นว่ากรรมการวนๆ อยู่ไม่กี่คน คนที่ได้รางวัลก็วนๆ อยู่ไม่กี่คน เหมือนให้กันเอง อวยกันเอง ไม่มีหลักเกณฑ์ที่ชัดเจน หรือจะเป็นคล้ายๆ ตั๋วช้างแห่งวงการศิลปะอย่างนั้นเหรอคะ?

หรือว่าข้อมูลเกี่ยวกับผลงานเหล่านั้นขาดหายไป มาจากความไม่โปร่งใสของรายชื่อคณะกรรมการที่ตัดสินผลงาน เกณฑ์ในการจัดเก็บ ภัณฑารักษ์ และแม้แต่กระบวนการจัดซื้อผลงานเหล่านี้ของ สศร. แต่แรก? อ้อ โอเคค่ะ เป็นคิวเรเตอร์ทิพย์ล่ะเนอะ ใช้ใจดู ก็จะอิ่มเอมกับศิลปะ ทำทรงกอดอก จับคาง เอียงคอ เดี๋ยวก็อินเอง แบบนี้เหรอ?

ก่อนจะเบื่อกันว่านังเยาวรุ่นนางนี้มันมาบ่นอะไร เราจะบอกว่า การที่ สศร. และกระทรวงวัฒนธรรมจัดซื้อผลงานแบบนี้ มันไม่ได้กระทบกับพวกเราแค่คนที่เป็นศิลปิน แต่กับคนทั่วไปและคนที่สนใจศิลปะด้วย

แรกเริ่มเลย ถ้าเงิน 19 ล้านนั้น ถูกใช้จ่ายโดยเอกชน มันก็ไม่น่าจะต้องมาถามหรอกว่าคุณพี่ซื้อไปทำไม จะเป็นเจ้าของบริษัทอะไร ทำมาหากินอะไร มันก็ไม่ต้องถามหาความโปร่งใสเท่านี้ แต่เงิน 19 ล้านเหล่านี้ เป็นภาษีของเราค่ะ แล้วทำไมคะ ทำไมเราถึงจะสงสัยไม่ได้ว่าภาษีเรามันไปลงที่อะไร และมันมีประโยชน์ต่อเราจริงหรือไม่ ไม่ใช่มีประโยชน์แค่ต่อราชการหรือกลุ่มคนหยิบมือหนึ่ง ผลงานศิลปะที่ซื้อมาไม่ใช่งานแนวประดับฝาบ้าน ไม่ใช่งานที่เอาไว้แชร์เรียกยอดไลค์ ไม่ใช่งานที่ลูกท่านหลานใคร วาดมาแล้ว หรือดีลกันไว้ แล้วก็ซื้อๆ มาเพื่อประดับบารมี แต่เป็นผลงานที่จะมีประโยชน์ต่อประชาชนในระยะยาวจริงๆ

การจะเอาป้ายไปแปะว่างานศิลปะชิ้นนี้คือ ‘สมบัติของชาติ’ หมายความว่า งานชิ้นนี้มีคุณค่าและควรจะได้รับการส่งต่อ ดูแล เก็บรักษา เพื่อให้เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ ทั้งทางวัฒนธรรม ทางการศึกษา และทางประวัติศาสตร์ คำว่าเป็นประโยชน์ต่อวัฒนธรรม การศึกษา และประวัติศาสตร์อาจจะฟังดูกว้างเกินไป แต่ถ้าบอกว่า เราจะได้ศึกษาประวัติศาสตร์ของเราเอง รวมทั้งคนรุ่นต่อจากเราจะได้เรียนรู้เกี่ยวกับช่วงเวลาที่เราอยู่ โดยอิงจากผลงานศิลปะเหล่านี้ ที่เป็นเหมือนหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่มีคุณค่าต่อประเทศชาติเนี่ย มันน่าจะพอเห็นภาพขึ้นไหม? หรือถ้านึกภาพไม่ออกจริงๆ ก็ลองนึกภาพพิพิธภัณฑ์ในต่างประเทศที่เราว้าวๆ กันน่ะค่ะ พวก Louvre, Tate, MoMa อะไรพวกนี้นั่นล่ะค่ะ ที่พวกท่านๆ ชอบไป ‘ดูงาน’ แล้วก็ถ่ายรูปมา รู้บ้างไหม ว่าผลงานภายในเขาแสดงอะไรบ้างน่ะ

ประเทศที่ให้ความสำคัญกับผลงานศิลปะมากขนาดที่มีการเก็บสะสมผลงานทั้งศิลปะร่วมสมัยและศิลปะเก่าเก็บ มีการจัดทีมภัณฑารักษ์ ทีมนักวิจัย มีการจัดงบประมาณทุกปีเพื่อเก็บผลงานศิลปะเป็นสมบัติชาติ เอาเข้าพิพิธภัณฑ์อย่างจริงจัง มีการคิวเรทนิทรรศการจากผลงานที่มีในครอบครองเพื่อให้ประชาชนได้ศึกษา และนำรายได้เข้าประเทศจริงๆ ไม่ต้องไปไหนไกลนะคะ สิงคโปร์ค่ะ สิงคโปร์มีการเปิดเผยตลอดว่าในทีมที่คัดเลือกผลงานเหล่านี้ มีใครบ้าง ซื้อผลงานแต่ละชิ้นมาในราคาเท่าไหร่ และจัดแสดงในมิวเซียมของรัฐ หมุนเวียนไปตลอด นี่อะไรคะ มิวเซียมในไทยมีแสดงอะไรบ้าง ไหนขอดูหน่อยซิ

แล้วถามว่าทำไมเขาถึงทำได้คะ เพราะผู้นำและคนทำงานของเขามีวิสัยทัศน์ไงล่ะ เขาคิดมาแล้วอะค่ะ ว่าถ้าเก็บผลงานเหล่านี้เป็นสมบัติชาติ ไม่ได้จะมีแค่คนในประเทศที่จะมาศึกษา แต่ถ้าเราต้องการจะศึกษาผลงานที่เป็นหลักฐานของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หรือภูมิภาคเราแล้ว ก็ต้องมาดูที่เขา ดังนั้นการเก็บสะสมผลงานเหล่านี้ ไม่ได้มีประโยชน์แค่ให้คนในประเทศได้ศึกษา แต่เรียกเม็ดเงินจากการท่องเที่ยวอีกด้วย และเขาไม่ได้มองแค่ว่า ต้องมีงานของคนนี้ แต่เขาศึกษาลึกถึงว่างานชิ้นนี้มีความสำคัญอย่างไร สามารถนำมาคิวเรทในนิทรรศการอื่นๆ ในหัวข้ออะไรได้บ้าง 

คนจากประเทศสารขัณฑ์อย่างเรา ถ้าอยากจะศึกษาเกี่ยวกับศิลปะร่วมสมัยไทย อาจจะต้องเริ่มดูที่สิงคโปร์นะคะ เพราะเขาเก็บเป็นทิศเป็นทางกว่าของเรา ต่างจากสิ่งที่เกิดขึ้นที่นิทรรศการในหอศิลป์ร่วมสมัยราชดำเนินแบบลิบลับ

ถ้าพูดถึงวัฒนธรรมร่วมเอเชียอาคเนย์ คนไทยยังเถียงกับประเทศเพื่อนบ้านอยู่เลยค่ะว่าใครก๊อปโขน ก๊อปรามเกียรติ์ไป โอ๊ย ชั้นล่ะปวดหัว เลิกเบียวรามเกียรติ์ก่อนพวกนังเด๋อ อันนี้พูดจริง

ถ้าเราคิดว่าประเทศไทยควรจะเจริญกว่านี้มานานแล้ว ศิลปะไทยก็ไม่ต่างกัน เรามีศิลปินที่ดี มีความสามารถ มีความคิดสร้างสรรค์มากมาย เรามีศิลปินรุ่นใหม่ที่พร้อมจะผลักศิลปะไปข้างหน้าอยู่นับไม่ถ้วน แต่เรากลับมีรัฐที่มองไม่เห็นถึงคุณค่าของผลงานศิลปะ มีรัฐที่หวงแหนวัฒนธรรม ไม่ยอมให้ใครได้เอาไปดัดแปลง เรามีราชการที่ไม่อนุญาตให้แสดงสิ่งนั้นสิ่งนี้ ไม่ยอมเปิดแม้แต่พื้นที่จะให้คนทั่วไปได้มาเรียนรู้เกี่ยวกับศิลปวัฒนธรรม คำว่าร่วมสมัยของเรายังคงจมปลักอยู่กับเมื่อหลายสิบปีที่แล้ว และเรามีอาจารย์ศิลปะ ที่ไม่เห็นแม้แต่คุณค่าของผลงานของลูกศิษย์ตัวเองอยู่มากมาย 

ศิลปะจัดวางบริเวณหน้าคณะวิจิตรศิลป์ มช. ปฏิกิริยาต่อการ ‘เก็บกวาด’ ของคณบดี photo: artn’t

ถ้า สศร. บอกว่าต้องการจะสนับสนุนศิลปะไทยจริงๆ ทำไมเราถึงไม่เห็นผลงานที่เป็นชิ้นเป็นอันมากกว่านี้ ทำไม แม้แต่ Thailand  Biennale เมื่อสองปีที่แล้ว ซึ่งเป็นผลงานของกระทรวงวัฒนธรรมโดยตรง กลับไม่ประสบความสำเร็จ และมีศิลปินไม่ได้จัดแสดงมากมาย สุดท้ายแล้ว ราชการไทยมองศิลปวัฒนธรรมเป็นอะไรกันแน่? เป็นเพียงของประดับเพื่อให้พวกท่านได้เชิดหน้าชูตา เป็นเพียงสิ่งของแขวนผนังเป็นแบ็คกราวด์ให้พวกท่านยืนตัดโบว์แดง แล้วผลงานที่มันไม่เข้าตา ที่ตั้งคำถาม ที่เป็นการแสดงออกของศิลปินจริงๆ พวกท่านคิดว่าควรเก็บไปทิ้ง เพียงแค่นั้นน่ะเหรอ? ถ้าอย่างนั้นแล้ว ก็เปลี่ยนชื่อกระทรวงไปเสียเถอะ อย่าใช้เลยกระทรวงวัฒนธรรม สำนักงานศิลปะร่วมสมัยน่ะ ใช้ชื่อว่า สำนักงานภาพประดับฝาผนังก็ได้


ภาคผนวก

เอาจริงๆ ตอนที่เราเอารายชื่อศิลปินไปค้นหาด้วยความสงสัยแล้วเห็นงานของแต่ละคนแล้วเราก็แบบ

โอ้ย จะไม่ให้ขำปากอ้าได้ไง เรามาดูงานของแต่ละคนกันนะคะ ว่า ร่วมส-มั้ย?

คนนึงที่เราสนใจก็คือ ผศ.ดร.พงศ์ศิริ คิดดี (รบกวนบรรณาธิการ คงคำว่า ผศ.ดร. ไว้ให้หน่อยนะคะ คนพวกนี้เขาชอบไม่พอใจเวลาเราไม่ใส่ยศใส่ตำแหน่งให้เขาอะค่ะ)

ดีกรี มช. – ศิลปากร นักล่ารางวัลศิลปกรรมที่มีรางวัลยาวเหยียดมาตั้งแต่ปี 2544-2558 และรางวัลศิลปกรรมแห่งชาติล่าสุดเมื่อปีนี้ ดำรงตำแหน่งรองคณบดี คณะวิจิตรศิลป์ มช. ส่วนถ้าใครอยากรู้ว่าศิลปินคนนี้ดังยังไง เขาคือหนึ่งในคนที่เก็บผลงานศิลปะของนักศึกษาภาควิชา Media Art ลงถุงดำนี่ล่ะค่ะ คือคนเดียวกับที่โดน อาจารย์ทัศนัย ฟาดนี่ล่ะค่ะ ใครที่ยังไม่ได้ดูวิดีโอ ขอเชิญรับชมความบันเทิงค่ะ

ส่วนงานของนางเหรอคะ ก็จะขออธิบายเอาไว้ว่า เวลาเปลี่ยน งานไม่เปลี่ยน มาสไตล์ไหนก็ยังสไตล์นั้น หรือพูดง่ายๆ ก็คือ ไม่มีการพัฒนาเลย

นี่คืองาน ‘สถาปัตยกรรมแห่งความงาม (สุโขทัย)’ ปี 2552

และนี่คือผลงาน ‘ปีติในรอยธรรม 2562’ ปี 2562

ค่ะ ผ่านไปสิบปี แนวคิดไม่เปลี่ยน เพิ่มเติมมานิดนึงคือขยันขึ้น งานละเอียดขึ้น 

ผลงานหลายชิ้นเองก็มาทรงๆ เดียวกัน แต่เราจะไม่หยิบมาเล่า อยากชวนให้ทุกคนได้ไปยลกันเอง หรือถ้าใครไม่ว่างยล ก็ลองเสิร์ชดูได้นะคะ ว่าในรายชื่อเหล่านี้ มีใครบ้าง ทำอะไรมาบ้าง ดีกรีรางวัลอะไร ลูกศิษย์ใคร หรือจะเปิดดูแค่รูปเฉยๆ ก็ได้ค่ะ ขายขำอะค่ะ ให้รู้ว่าเรามีอะไรเป็นสมบัติชาติบ้าง

Author

พีรมณฑ์ ตุลวรรธนะ
NPC ประจำโลกศิลปะ วิจารณ์วงการศิลปะหาตังค์ไปเติมเกม

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า