มันเป็นวันคริสต์มาสที่น่าเศร้าสลดใจในเมียนมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในหมู่ชาวกะเหรี่ยงคริสต์ ขณะที่คนส่วนใหญ่ทั่วโลกหยุดพัก เพื่อเฉลิมฉลองวันหยุดอันศักดิ์สิทธิ์ช่วงปลายปี แต่ผู้คนในภูมิภาคต่างๆ ของเมียนมากำลังได้รับผลกระทบและทุกข์ทรมาน อันเนื่องมาจากกองกำลังรักษาความปลอดภัยของประเทศที่เรียกว่า ‘ตั๊ดมะด่อ’ เปิดปฏิบัติการโจมตีทางอากาศตามแผนที่เรียกว่า ‘ปฏิบัติการอะนอยะทา’ – ชื่อปฐมกษัตริย์ยุคจักรวรรดิเมียนมาที่ 1 และ ‘ปฏิบัติการอลองมินตะยา’ หรือ อลองพญา – ชื่อปฐมกษัตริย์เมียนมายุคจักรวรรดิเมียนมาที่ 3 โดยมีการโจมตีทางอากาศอย่างหนักหน่วงในเมืองเลเก่ก่อ (Lay Kay Kaw) รัฐกะหยิ่น หรือกะเหรี่ยง หรือคะเรน (Karen) ในภาษาอังกฤษ
ข่าวในวันคริสต์มาสอีฟรายงานว่า หมู่บ้านโมโซ (Moso) เมืองพะยูโซ (Hpruso) ในรัฐกะยา หรือกะเหรี่ยงแดง (หรือคะเรนนี) ถูกเผาทำลายโดยกองกำลังของรัฐบาลมินอ่องหล่าย ชาวบ้านบางคนถูกจับลักพาตัวไป โดยไม่รู้ชะตากรรมของพวกเขาเหล่านั้น ขณะที่กองกำลังป้องกันชนชาติคะเรนนี (Karenni Nationalities Defense Force: KNDF) ยืนยันว่ามีผู้เสียชีวิตทั้งหมด 35 คน และบางคนอาจถูกเผาทั้งเป็นโดยทหารของมินอ่องหล่าย
ระหว่างการโจมตีทางอากาศและการลอบวางเพลิงในวันคริสต์มาสอีฟในรัฐกะยา KNDF ให้ข้อมูลว่าผู้ที่ตกเป็นเป้าโจมตี ซึ่งรวมถึงผู้หญิงและเด็กต่างพยายามหลบหนีไปยังที่ปลอดภัย แต่กลับกลายเป็นว่าพวกเขาวิ่งเข้าไปในทุ่งสังหารและเผชิญกับชะตากรรมที่น่าสยดสยอง พวกเขาถูกเผาทั้งเป็น จนไม่สามารถระบุตัวบุคคลได้ เนื่องจากศพทั้งหมดถูกเผาทำลาย พร้อมกับยานพาหนะ 2-3 คัน ตามที่เราเห็นในหลักฐานภาพถ่ายที่น่าสยดสยองของสำนักข่าว Khit Thit Media
ในขณะเดียวกัน ในรัฐกะเหรี่ยงมีการโจมตีทางอากาศรอบที่ 3 ใน 10 วัน ดำเนินการโดยกองกำลังของสภาบริหารแห่งรัฐของมินอ่องหล่าย (State Administration Council: SAC) ใกล้กับเมืองเลเก่ก่อ สำนักข่าว Mizzima News รายงานว่า กองกำลังร่วมของกองทัพปลดปล่อยแห่งชาติกะเหรี่ยง (Karen National Liberation Army: KNLA) และกองกำลังป้องกันประชาชน (People’s Defence Force: PDFs) ต้องล่าถอยจากด่านหน้าในหมู่บ้านแม่วาคี เนื่องจากมีการยิงปืนใหญ่และการทิ้งระเบิดทางอากาศจำนวนมาก ตั้งแต่เวลา 10.00 น. ในเช้าวันคริสต์มาสอีฟ ตามรายงานเหตุการณ์การโจมตีทางอากาศของกองทัพเมียนมา ส่งผลให้มี PDF และพลเรือนเสียชีวิต แต่ยังไม่ได้รับการยืนยันจำนวนผู้เสียชีวิตที่แน่นอน
การต่อสู้ที่รุนแรงขึ้นในเมืองเลเก่ก่อ ส่งผลให้ผู้คนจำนวนมากต้องกลายเป็นผู้พลัดถิ่นและถูกบังคับให้ต้องลี้ภัยข้ามพรมแดนธรรมชาติมายังฝั่งไทย โดยเฉพาะด้านอำเภอแม่สอด จังหวัดตาก แม้ว่าประเทศไทยจะให้ที่พักพิงและช่วยเหลือผู้พลัดถิ่นจากเมียนมาได้ในเบื้องต้น กระนั้นก็รับได้ในจำนวนจำกัด ผู้พลัดถิ่นภายในอีกหลายคนจึงไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากต้องเสี่ยงเป็นเสี่ยงตายตั้งค่ายพักแรมบริเวณริมแม่น้ำตองยินหรือแม่น้ำเมย ฝั่งเมียนมา เพื่อรอถึงวันรุ่งขึ้น พวกเขาหวังจะได้ข้ามแม่น้ำเมย ลี้ภัยความตายมายังฝั่งไทย
ผู้ประท้วงต่อต้านเผด็จการทหารในเมียนมาทั้งในโลกออนไลน์และบนท้องถนนต่างเห็นว่า ฝันร้ายอันน่าเจ็บปวดครั้งนี้อาจบรรเทาลงได้บ้างหากองค์การสหประชาชาติ (UN) สามารถกำหนด ‘เขตห้ามบิน’ ในบางพื้นที่ของประเทศเมียนมา เนื่องจากผู้คนนับล้านเรียกร้องมาเป็นเวลาหลายเดือนแล้ว แต่ไม่อาจรู้ได้ว่าขั้นตอนการทำงานเป็นอย่างไร ในขณะที่หลายล้านชีวิตกำลังตกอยู่ในอันตราย
Mae Sot Media รายงานว่า ทหารของไทยได้ออกลาดตระเวนในเมืองแม่สอดตะเข็บชายแดนเมียนมา-ไทย เนื่องจากกระสุนปืนใหญ่จำนวนหนึ่งจากกองกำลังทหารเมียนมาพลัดตกที่ฝั่งไทยด้านอำเภอพบพระ และอำเภอแม่สอด จังหวัดตาก มีบ้านเรือนประชาชน 2-3 หลัง ได้รับผลกระทบ
สงครามกลางเมืองในเมียนมากำลังแผ่ขยายออกไปครอบคลุมทั่วประเทศในฤดูแล้งปีนี้ ช่วงเย็นวันคริสต์มาสอีฟมีรายงานข่าวจากรัฐชิน ซึ่งตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกติดกับรัฐมิโซรัม (Mizoram) ของอินเดีย และมีรายงานอีกว่า กองกำลังป้องกันชิน (Chin Defense Force: CDF) ได้โจมตีกองกำลังของมินอ่องหล่ายที่เมืองมินดะ (Mindat) ส่งผลให้ทหาร 1 นาย และตำรวจ 1 นาย เสียชีวิต นอกจากนี้มีรายงานว่าเมื่อเวลาประมาณ 8.45 น. ของวันคริสต์มาสอีฟ กองพลทหารราบที่ 91 ซึ่งมีฐานประจำการอยู่ที่เขตมอบี (Hmawbi) ภูมิภาคย่างกุ้ง ถูกโจมตีด้วยระเบิดมือ มีทหาร 2 นาย ถูกสังหาร รายงานข่าวอ้างว่าเป็นฝีมือของกองกำลังป้องกันประชาชน หรือ PDF ในเมืองย่างกุ้ง ในวันเดียวกันนี้ที่เมืองย่างกุ้งมีการโจมตีด้วยระเบิดในหลายแห่ง อย่างเช่นที่ศาลและสำนักงานเทศบาลเขตซานชอง (Sanchaung) โดยรัฐบาลมุ่งเป้าไปที่กองกำลังของ PDF ในเขตซานชอง เมืองย่างกุ้ง
ภายหลังการสังหารหมู่ในหมู่บ้านโมโซ รัฐคะเรนนี องค์กร Save the Children ได้ออกแถลงการณ์ในคืนวันคริสต์มาส ประณามการโจมตีโดยกองกำลังทหารเมียนมาในเมืองพะยูโซ ซึ่งส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 38 ราย รวมถึงมีเจ้าหน้าที่ของ Save the Children 2 คน หายตัวไปอย่างลึกลับ ขณะทำงานสังคมสงเคราะห์ในชุมชนใกล้เคียง คำแถลงยืนยันว่า พบยานพาหนะส่วนตัวของพวกเขาถูกทำลายและถูกไฟเผา
จอโมตุน (U Kyaw Moe Htun) เอกอัครราชทูตเมียนมาประจำสหประชาชาติ ส่งจดหมายเปิดผนึกถึงสหประชาชาติเพื่อเรียกร้องให้ดำเนินคดีกับกองทัพ ต่อกรณีการสังหารหมู่ที่เกิดขึ้นที่เมืองพะยูโซ ในรัฐคะเรนนี ซึ่งเหยื่อ 35 ราย ถูกเผาทั้งเป็นโดยรัฐบาลเผด็จการทหาร
การสังหารหมู่เกิดขึ้นในช่วงเวลาที่มีความตึงเครียดทางการเมืองสูงระหว่างกองทัพเมียนมาและชุมชนกะเหรี่ยง จนยกระดับไปสู่สงครามกลางเมือง และยังคงดำเนินเรื่อยมาจนถึงทุกวันนี้
หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ชาวกะเหรี่ยงยังคงจงรักภักดีต่อเจ้าอาณานิคมอังกฤษ และต่อสู้กับญี่ปุ่นและพันธมิตรของขบวนการชาตินิยมเมียนมา ผู้นำชาวกะเหรี่ยงเกลี้ยกล่อมรัฐบาลอาณานิคมให้สร้าง ‘รัฐกะเหรี่ยง’ เป็นเขตปกครองตนเอง แต่ก็ไม่ประสบผลสำเร็จ ผู้นำชาวกะเหรี่ยงนำโดย ซอบาอูจี (Saw Ba U Gyi) จึงก่อตั้งสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยงเพื่อเป็นแกนนำในการต่อสู้เพื่อเอกราช ในไม่ช้าพวกเขาก็ได้จัดตั้งองค์กรป้องกันดินแดน และบุกเบิกกองทัพปลดปล่อยแห่งชาติกะเหรี่ยง เพื่อปกป้องชุมชนชาวกะเหรี่ยง
The Rangoon Nation รายงานว่า ในวันคริสต์มาสอีฟ ปี 1948 ซึ่งเป็นปีที่อังกฤษมอบเอกราชให้กับประเทศเมียนมา ขณะที่มีประชาชนชาวกะเหรี่ยงประมาณ 80 คน ถูกสังหารในเมืองปุล่อ (Palaw) ภูมิภาคตะนาวศรี ในเหตุการณ์การขว้างระเบิดมือเข้าไปในโบสถ์คริสต์ กองกำลังทหารเมียนมาเริ่มปฏิบัติการโจมตีชุมชนกะเหรี่ยงหลายชุมชน รวมทั้งในย่างกุ้งและสามเหลี่ยมปากแม่น้ำเอยาวดีหรืออิระวดี ปฏิบัติการโจมตีชุมชนกะเหรี่ยงในครั้งนั้นถูกบันทึกไว้ในหนังสือ The Union of Burma: A Study of the First Years of Independence (1957) โดย ฮิวจ์ ทินเคอร์ (Hugh Tinker) บรรยายว่า ทั่วทั้งเดลตา (หมายถึงพื้นที่สามเหลี่ยมปากแม่น้ำอิระวดี) ท้องฟ้ายามค่ำคืนเปลี่ยนเป็นสีแดงจากเปลวไฟที่ลุกไหม้เผาหมู่บ้าน
ทินเคอร์บรรยายถึงการทิ้งระเบิดในหมู่บ้านกะเหรี่ยงแห่งหนึ่งในเมืองไตจี (Taik Kyi) ภูมิภาคย่างกุ้ง โดยกองกำลังทหารและตำรวจเมียนมา นำโดย โบเส่งหมัน (Bo Sein Hman) ว่ามันเป็นการสังหารหมู่ เพราะมีประชาชนเสียชีวิตกว่า 150 ราย ซึ่งรวมถึง 30 คนที่ ‘ถูกสังหารโดยเจตนา’ เช่นเดียวกับชุมชนชาวกะเหรี่ยงอื่นๆ ในไตจี ที่ตกเป็นเป้าหมายของการโจมตี มีการสังหารหมู่เกิดขึ้นในหมู่บ้านอย่างน้อยอีก 6 แห่ง ตั้งแต่วันคริสต์มาสปลายปี 1948 ถึงต้นปี 1949
“It was a massacre”
หนังสือพิมพ์ The Rangoon Nation เป็นสื่อเดียวในขณะนั้นที่พยายามรายงานข่าวนี้
เช่นเดียวกับที่ชาวกะเหรี่ยงในไตจีเรียกเหตุการณ์นั้นเป็นภาษากะเหรี่ยงสะกอ (S’gaw Karen) ว่า ‘မၤသံမၤဝီ ပှၤအါအါဂီၢ်ဂီၢ်’ หรือ ‘หม่าตีหม่าวอ พวาอาอาหว่อหว่อ’ หมายถึง การสังหารหมู่ ซึ่งมันเป็นคำที่หลอกหลอนชาวกะเหรี่ยงจำนวนไม่น้อยในไตจี ทางตอนเหนือของเมืองย่างกุ้ง และถือเป็นเหตุการณ์สังหารหมู่ชาวกะเหรี่ยงครั้งใหญ่ที่สุดในช่วงเวลานั้น
เหตุการณ์ครั้งนั้น กองกำลังเมียนมามาถึงหมู่บ้านกะเหรี่ยงสะกอในเมืองไตจี ทหารพยายามสกัดกั้นกลุ่มคนที่เพิ่งกลับมาจากโบสถ์และได้จับกุมตัวชายหนุ่มประมาณ 30 คน และนำตัวพวกเขาไปที่ริมทุ่งนาใกล้ทางเข้าหมู่บ้าน ประมาณ 1 ชั่วโมงต่อมา กรรมการหมู่บ้านและพ่อของชายหนุ่มเหล่านั้นมาถึงที่เกิดเหตุ พวกเขาทั้งหมดถูกยิงเสียชีวิต หลังจากนั้นกองกำลังเมียนมาก็ย้ายไปที่หมู่บ้านอื่น ญาติของเหยื่อขนศพขึ้นเกวียนแล้วนำร่างไร้วิญญาณไปที่สุสาน แต่เรื่องนี้ไม่ได้รับการยอมรับอย่างเป็นทางการ หมายความว่า การสังหารหมู่ไม่เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางในเมียนมา และหลายคนมองว่าเป็นข่าวลือมากกว่าข้อเท็จจริง มีเพียงแค่สุสานในเมืองไตจีเท่านั้นที่ยังคงเป็นหลักฐานยืนยันและเป็นความทรงจำบาดแผลของญาติผู้เสียชีวิต
‘หม่าตีหม่าวอ พวาอาอาหว่อหว่อ’ เป็นประโยคสั้นๆ ในภาษากะเหรี่ยงสะกอ แต่สะเทือนใจ แชร์ความรู้สึกและแจ้งเตือนให้ทราบถึงแรงโน้มถ่วงของสถานการณ์ในบ้านของเขาที่อยู่ติดกับบ้านของเรา ซึ่งมันเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า แพร่หลายไปทั่วประเทศ
สถานการณ์ปัจจุบันในเมียนมาเต็มไปด้วยความโกลาหล ความกลัว ความไม่แน่นอน เราเห็นภาพผู้คนหลายพันคนหนีออกจากบ้าน มีผู้เสียชีวิต บาดเจ็บ หรือถูกกักขังหลายพันคน ท่ามกลางการจู่โจม การวางระเบิด การจับกุม และความโหดร้ายที่ไม่ได้บอกเล่า
ปฏิบัติการอะนอยะทาและปฏิบัติการอลองพญาของกองทัพเมียนมาในรัฐชิน ซึ่งอยู่ใกล้กับภาคตะวันออกเฉียงเหนือของอินเดียหรือในรัฐกะเหรี่ยงที่ติดกับพรมแดนด้านตะวันตกของประเทศไทย ต่างก็ส่งผลกระทบข้ามพรมแดน มีคลื่นผู้ลี้ภัยจำนวนมากหลั่งไหลข้ามพรมแดนไม่ว่าจะเข้ามาทางฝั่งอินเดียหรือฝั่งไทย ทำให้เกิดภาวะที่กลืนไม่เข้าคายไม่ออก และคำถามใหม่ๆ เกี่ยวกับสถานะและอนาคตของพวกเขา
ในช่วงเวลานี้ มินอ่องหล่าย กล่าวระหว่างการประชุมในงานบรรยายที่จัดโดยสถาบันการป้องกันประเทศ เมืองย่างกุ้ง เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2021 ว่าการเลือกตั้งครั้งใหม่จะมีขึ้นในเดือนสิงหาคม 2023 และเขาไม่มีเจตนาจะเจรจากับใคร หมายความว่า เขาไม่มีแผนที่จะมานั่งเจรจากับรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ (National Unity Government of Myanmar: NUG) และ PDF ข่าวนี้ยังไม่ได้รับความสนใจเพียงพอ เนื่องจากประชาคมระหว่างประเทศมุ่งมั่นที่จะยุติโศกนาฏกรรมในเมียนมาด้วยวิธีการพูดคุยอย่างสันติ
อย่างไรก็ดี เราไม่อยากจะได้ยินคำสแลงเหมือนเมื่อปี 1995 ที่เมื่อทหารเมียนมาเข้าไปตั้งฐานที่มั่นเพื่อทำสงครามสู้รบกับกองกำลังกะเหรี่ยง จะมีคำพูดเช่นว่า “ไปดื่มกาแฟแม่ตะวอ” ซึ่งหมายถึง การเข้าสู่สนามสงครามสู้รบระหว่างกองทัพเมียนมากับกองกำลังกะเหรี่ยงที่บ้านแม่ตะวอ ชายแดนเมียนมา-ไทย ด้านอำเภอท่าสองยาง จังหวัดตาก
อดคิดไม่ได้ว่า บางทีอาจถึงเวลาที่ประชาคมระหว่างประเทศจะต้องพิจารณายอมรับรัฐบาลเอกภาพหรือรัฐบาลเงา (NUG) อย่างเปิดเผยและให้การสนับสนุน แทนที่จะวิ่งเต้นสำหรับโต๊ะอภิปรายอื่น!