แตะผมบนศีรษะได้ แต่อย่าแตะกระเป๋าที่เอวของฉัน: เชิงอรรถรัฐประหารเมียนมา

ต่อให้ไฟจะไหม้เส้นผมบนศีรษะ หรือใครจะมาแตะมวยผมเล่น ยังพอจะยอมได้ แต่อย่ามาแตะกระเป๋าที่เอวของฉันก็แล้วกัน — สำนวนภาษาเมียนมาสมัยใหม่ที่เพิ่งเกิดขึ้นในยุคทุนนิยม มีความหมายว่ายอมทำทุกวิถีทางเพื่อรักษาผลประโยชน์/ธุรกิจของตัวเอง 

สำนวนดังกล่าวดูจะเข้ากันดีกับการหยิบยกมาพูดถึงอีกคำรบหนึ่ง ท่ามกลางเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในเมียนมาตอนนี้ และดูเหมือนว่าหลังการเลือกตั้งทั่วไปในเดือนพฤศจิกายน 2020 กระเป๋าที่เอวซึ่งแตะต้องไม่ได้ก่อนหน้านี้ กำลังจะถูกคุกคาม

เป็นเวลาหลายทศวรรษที่กองทัพสะสมความมั่งคั่งโดยการควบคุมระบบราชการของรัฐและสร้างการผูกขาดในภาคส่วนสำคัญๆ เพราะเมียนมาเป็นหนึ่งในประเทศที่ถูกปกครองโดยทหารมาอย่างยาวนาน (หรือยาวนานมากที่สุด) ในประวัติศาสตร์สมัยใหม่

ลองคิดดูเล่นๆ ก็ได้ว่า ถ้า คาร์ล มาร์กซ์ ยังมีชีวิตอยู่ เขาอาจจะต้องให้คำจำกัดความกระบวนการที่เมียนมากำลังเป็นอยู่นี้ว่า มันเป็นการฉกชิงที่ดินทุกหนทุกแห่ง ระบบเศรษฐกิจบูดเบี้ยว คนมีงานทำแต่รายได้น้อย การอพยพที่ถูกบีบบังคับให้ออกไป ความขัดแย้งที่รุนแรง การนำเข้าเทคโนโลยี กระบวนการผลิตแบบใหม่ เงินทุนผสม โครงการการพัฒนาขนาดใหญ่มหึมา และอื่นๆ 

หายนะ

นายพลติกกา ข่าน (Tikka Khan)

“I want the land not the people.” (ผมต้องการแผ่นดิน ไม่ใช่ประชาชน) — จริงๆ แล้วเป็นคำพูดของ นายพลติกกา ข่าน (Tikka Khan) แห่งปากีสถานตะวันตก เมื่อครั้งที่เขาออกคำสั่งอย่างเลือดเย็นไปยังกองทัพของเขาที่กำลังบุกเข้าไปในปากีสถานตะวันออก (บังคลาเทศในเวลาต่อมา) ในเหตุการณ์สงครามกลางเมืองระหว่างปากีสถานตะวันตกและตะวันออก ค.ศ. 1971 แต่ที่ยกมากล่าวไว้ตรงนี้ด้วย เพราะเห็นว่าไม่ต่างอะไรกับเหตุการณ์ปัจจุบันในเมียนมาที่กองทัพหรือหน่วยงานความมั่นคงแห่งชาติใช้ความรุนแรงกับประชาชน ตั้งแต่กรณีวิกฤติโรฮิงญาที่มีการเปิดโปงว่ากองทัพพยายามเข้ายึดดินแดนกลับคืนมาอีกครั้ง โดยการขับไล่ผู้คนให้ออกไปจากดินแดน หรือในเหตุการณ์สงครามกลางเมืองระหว่างกองทัพเมียนมากับกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ที่บังคับให้ประชาชนต้องกลายเป็นผู้อพยพลี้ภัยสงครามออกจากบ้านของตัวเอง จนถึงเหตุการณ์เข่นฆ่าประชาชนที่ออกมาประท้วงต่อต้านการยึดอำนาจของนายพลมินอ่องหล่าย เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2021 จนทำให้ประชาชนถูกสังหาร…ตายเป็นเบือ

ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2011 ซึ่งเป็นวันที่นายพลเต็งเส่ง สาบานตนเพื่อเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีคนใหม่ในตอนนั้น ได้กล่าวยอมรับต่อสาธารณชนถึงหายนะที่เกิดขึ้นกับเมียนมาในห้วงสองสามทศวรรษที่ผ่านมา ทั้งที่จริงๆ แล้ว เมียนมามีศักยภาพของการเป็นประเทศที่ร่ำรวยที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพราะถ้ามองผ่านมุมมองทั่วไปของนายทุนระดับโลกแล้ว เมียนมาถือเป็นแหล่งทรัพยากรที่สำคัญ และยังเป็นตลาดชายแดนที่ร้อนแรง น่าดึงดูด น่าฉกชิงสิ่งที่ดีที่สุดเป็นอย่างมาก อีกทั้งยังเป็นจุดยุทธศาสตร์ที่สำคัญของแต่ละกลยุทธ์ใหญ่ในสนามประลองของมหาอำนาจ ด้วยจุดยุทธศาสตร์ที่ตั้งอยู่ตรงจุดตัดของกากบาทระหว่างจีนและอินเดีย

Telenor

ท่ามกลางการเปิดโปงการสังหารหมู่ชาวโรฮิงญาและกลุ่มมุสลิมอื่นๆ รวมถึงการร่วมกระทำผิดของเจ้าหน้าที่ระดับสูงของเมียนมา ปรากฏว่ารัฐอิสลามแห่งการ์ตา (The Islamic State of Qatar) กลับมิได้รู้สึกกระอักกระอ่วนใจเลยกับการมีส่วนร่วมในการลงนามในสัญญาการโทรคมนาคมที่มีมูลค่าจำนวนหลายพันล้านดอลลาร์ร่วมกับเมียนมาและนอร์เวย์ ผู้ทำหน้าที่ไกล่เกลี่ยสันติภาพในออสโล (Oslo) ซึ่งก็ได้ลงนามในสัญญาที่มีมูลค่ามหาศาลสำหรับเครือข่าย Telenor (ผู้นำระบบการคมนาคมในยุโรป) ร่วมกับประธานาธิบดีนายพลเต็งเส่ง ในปี 2012

ในขณะที่ชาวกะฉิ่น ชาวกะเหรี่ยง ชาวไทใหญ่ และชาวมอญ ยังคงเฝ้ารอคอยผลการเจรจาไกล่เกลี่ยเพื่อสันติภาพออสโล (Oslo’s Peace Mediation) แต่นายพลเต็งเส่งก็ได้นำพาสัญญาณโทรศัพท์ Telenor มาถึงเมียนมาก่อนสันติภาพเสียอีก

แม้ว่าการปฏิรูปทางการเมืองที่เริ่มขึ้นในปี 2011 ได้ค่อยๆ เปิดที่ทางให้พรรคพลเรือนอย่างพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (NLD) ของอองซานซูจี ซึ่งถูกกีดกันก่อนหน้านี้ สามารถลงแข่งขันเลือกตั้งทั่วไปได้ในปี 2015 และคว้าชัยชนะอย่างถล่มทลาย แต่ในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา ผู้นำทางทหารและพวกพ้องต่างก็ได้จับจองเป็นเจ้าของที่ดินและได้รับสัมปทานทางเศรษฐกิจมากมาย โดยที่กองทัพยังคงรักษาอิทธิพลทางเศรษฐกิจไว้ได้อย่างเหนียวแน่น

Myanmar’s Big State Secret I

ทำไมจึงบอกว่า กระเป๋าที่แตะต้องไม่ได้ก่อนหน้านี้กำลังถูกคุกคาม?

รายงานของ UN เมื่อปี 2019 ระบุว่ากองทัพเมียนมายังคงมีอิทธิพล และเป็นศูนย์กลางด้านเศรษฐศาสตร์การเมืองของประเทศมาเป็นเวลายาวนานหลายสิบปี ถึงแม้ว่าจะยอมปล่อยให้มีการเลือกตั้งและมีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งแล้วก็ตาม ข้อมูลในรายงานดังกล่าวยืนยันว่า มีบริษัทข้ามชาติซึ่งเป็นของกองทัพเมียนมาจำนวน 2 แห่ง ได้แก่ Myanmar Economic Holdings Limited (MEHL) และบริษัท Myanmar Economic Corporation ซึ่งมีเครือข่ายบริษัทย่อยในประเทศอีกจำนวนกว่า 120 แห่ง บริษัทเหล่านี้ทำหน้าที่ในทุกองคาพยพของประเทศ ตั้งแต่ธุรกิจเบียร์ไปจนถึงธุรกิจเหมืองแร่และอัญมณี ถึงกับมีข้อเสนอแนะว่า หากบริษัทต่างชาติคิดจะเข้าไปทำธุรกิจในเมียนมา ทางที่ดีควรเช็คข้อมูลอย่างละเอียดสักหน่อย เพราะมีความเป็นไปได้อยู่มากเหมือนกันที่ว่าบริษัทต่างชาติรายนั้นๆ อาจเป็นคู่ค้ากับกองทัพเมียนมา

เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2018 โฆษกพรรค NLD ของอองซานซูจี ชี้ให้เห็นถึงการครอบงำทางเศรษฐกิจของทหาร และระบุว่าระบบราชการของเมียนมาถูกครอบงำโดยเจ้าหน้าที่ทหารที่เกษียณอายุราชการแล้ว ซึ่งเป็นอุปสรรคสำคัญยิ่งในการพัฒนาประเทศ และประเด็นนี้จะเป็นเป้าหมายสำคัญของการปฏิรูปหลังการเลือกตั้งปี 2020 เหมือนกับกรณีพลเอกอาวุโสมินอ่องหล่าย ที่จะเกษียณอายุราชการในปี 2021 ได้ขอต่ออายุราชการในปี 2016 ในสมัยประธานาธิบดีถิ่นจ่อ ซึ่งทีแรกรัฐบาลก็ไม่ได้เห็นด้วยนักที่มินอ่องหล่ายขอต่ออายุราชการ จนถึงกับเป็นเหตุให้เกิดความตึงเครียดกันระหว่างฝั่งกองทัพและรัฐบาลภายใต้การนำของอองซานซูจีอยู่ระยะหนึ่ง 

รัฐบาลอองซานซูจี 1 ได้เริ่มทยอยจำกัดอำนาจทหารที่มีมากล้นในประเทศ เริ่มจากการโอนกรมการปกครองทั่วไป (General Administration Department: GAD) ซึ่งอยู่ในเขตอิทธิพลอำนาจของกองทัพมาแต่เดิม ในสังกัดกระทรวงกิจการภายใน รัฐบาลของอองซานซูจีมีความพยายามในการถ่ายโอน GAD ออกจากกระทรวงกิจการภายในถึง 2 ครั้งด้วยกัน จนสามารถโอนย้ายมาสู่การควบคุมของพลเรือนเมื่อช่วงปลายปี 2018 

เดิมทีนั้น GAD ถูกควบคุมดูแลโดยทหาร และถูกมองว่าเป็นกระดูกสันหลังของระบบราชการเมียนมา เป็นเครือข่ายระบบราชการที่แผ่ขยายออกไป โดยมีข้าราชการเกือบ 36,000 คน โครงสร้างของ GAD แบบใหม่ได้รับการสถาปนาขึ้นเมื่อปี 1962 ภายหลังเหตุการณ์นายพลเนวินยึดอำนาจรัฐบาลของอูนุ และได้รับการปรับปรุงให้เข้มแข็ง มีประสิทธิภาพมากขึ้นอีกครั้งโดยสภาฟื้นฟูกฎหมายและระเบียบแห่งรัฐ (The State Law and Order Restoration Council: SLORC) นำโดยนายพลซอหม่อง หลังการรัฐประหารล้มอำนาจนายพลเนวิน เมื่อปี 1988

GAD มีหน้าที่บริหารควบคุมพื้นที่ในระดับภาคและรัฐทั้ง 14 ของเมียนมา เพื่อรักษาเสถียรภาพของรัฐ รวมถึงเรื่องเกี่ยวกับการบริหารจัดการที่ดิน การจัดเก็บภาษี เป็นตัวกลางในการติดต่อประสานระหว่างรัฐบาลและประชาชนในระดับจังหวัด อำเภอ ตำบล หมู่บ้าน นอกจากนี้ยังมีบทบาทสำคัญในการตรวจสอบการทำงานของรัฐบาล แม้จะถูกโอนไปสู่การควบคุมของรัฐบาลพลเรือนที่มาจากการเลือกตั้ง แต่สายสัมพันธ์ทางทหารยังคงฝังรากลึกอยู่ภายใน GAD และกระทรวงแม่ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงและปลัดกระทรวง ล้วนเป็นนายทหารที่เกษียณอายุราชการแล้ว กว่าร้อยละ 30 ของเจ้าหน้าที่ใน GAD มีความเชื่อมโยงกับทางฝั่งทหาร ที่ผ่านมาต่างรับรู้กันว่าการปรากฏตัวของอดีตนายทหารเป็นเรื่องปกติในระบบงานราชการของเมียนมา 

เมื่อ GAD ซึ่งถูกมองว่าเป็นเครื่องมือแห่งอำนาจรัฐและปกคลุมไปด้วยความลับ ถูกโอนย้ายมาอยู่ภายใต้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ในสมัยรัฐบาลอองซานซูจี 1 นั้น ถือเป็นความพยายามในการลดทอนบทบาททหารลง และยังเป็นความสำเร็จเชิงสัญลักษณ์ที่สำคัญอย่างยิ่งสำหรับรัฐบาลภายใต้การนำของพรรค NLD

เทรเวอร์ วิลสัน (Trevor Wilson) อดีตเอกอัครราชทูตออสเตรเลียประจำเมียนมา เคยกล่าวไว้ว่า การปฏิรูปการปกครองเพื่อเปลี่ยนผ่านไปสู่ประชาธิปไตยของเมียนมาอาจไม่ใช่การเริ่มนับหนึ่งที่การแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่สิ่งที่จะต้องทำเป็นลำดับแรกสุด คือ การโอนย้ายหน่วยงานในกระทรวงกิจการภายใน อย่าง GAD ออกมาจากการควบคุมดูแลภายใต้กองทัพโดยตรงให้ได้เสียก่อน

Myanmar’s Big State Secret II

photo: Hosana Chay, NRGI Myanmar

สัญญาณที่บ่งบอกถึงความพยายามในการยึดอำนาจจากทหารอีกอย่างหนึ่งในสมัยรัฐบาล NLD คือ การเปลี่ยนแปลงกฎหมายอัญมณีของเมียนมา โดยได้ผ่านการพิจารณาจากรัฐสภาเมื่อเดือนธันวาคม ค.ศ. 2018 จุดมุ่งหมายประการหนึ่งของกฎหมายใหม่นี้คือ การฟื้นฟูการทำเหมืองหยกให้ถูกต้องตามกฎหมายในรัฐกะฉิ่นซึ่งมีพรมแดนติดกับจีน เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่มีการค้าขายอัญมณีอย่างผิดกฎหมาย ที่ผ่านมามีรายงานว่า หยกเมียนมาสร้างมูลค่ามากกว่า 3 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ (กว่า 9 แสนล้านบาท) ต่อปี 

กฎหมายฉบับใหม่นี้หวังที่จะล้างชื่อเสียของอุตสาหกรรมเหมืองแร่อัญมณีของเมียนมา ซึ่งได้รับการวิพากษ์วิจารณ์จากนานาชาติในเรื่องของความปลอดภัยและระบบแรงงานที่โสมม การเปลี่ยนแปลงแก้ไขดังกล่าวเป็นประเด็นความขัดแย้งระหว่างผู้ที่ต้องการเคลื่อนย้ายเมียนมาไปสู่ประชาธิปไตย กับผู้ที่ต้องการรักษาสถานะเดิม

เป็นเวลาหลายปีแล้วที่หยกของเมียนมาตกอยู่ในความลับสุดยอด คนธรรมดาไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลของบริษัทเจ้าของที่แท้จริงของขุมทรัพย์นี้ได้ และทุกอย่างยังคงถูกตั้งคำถามจนถึงวันนี้

ก่อนหน้านี้ องค์กรเอ็นจีโอ Global Witness ซึ่งมีสำนักงานอยู่ในกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ เผยแพร่รายงานชื่อ ‘Jade: Myanmar’s Big State Secret’ เปิดโปงว่า ธุรกิจการค้าขายหยกในเมียนมายังคงถูกควบคุมโดยเครือข่ายของทหารเมียนมาและนักธุรกิจที่มีความใกล้ชิดกับทหาร เม็ดเงินจากการค้าขายหยกจำนวนมากมายมหาศาลยังคงไหลเข้ากระเป๋าบริษัทที่เป็นของครอบครัวนายพลตันฉเหว่ อดีตผู้นำเผด็จการทหาร และผู้นำในกองทัพคนอื่นๆ 

photo: Hosana Chay, NRGI Myanmar

เมื่อปี 2014 หยกที่สกัดออกมาได้จากเหมืองหยกในรัฐกะฉิ่นมีมูลค่าสูงถึง 31,000 ล้านเหรียญสหรัฐ บริษัทที่เชื่อมโยงกับครอบครัวของตันฉเหว่นั้น มีเงินไหลเข้ากระเป๋าจากการขายหยกอยู่ที่ 220 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยคาดกันว่า ในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา หยกทำรายได้ให้กับบรรดานายพลเมียนมาไปแล้วกว่า 120,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ในขณะที่ประชาชนท้องถิ่นที่อยู่รอบเหมืองกลับได้รับผลกระทบทั้งทางด้านปัญหาสิ่งแวดล้อมเสื่อมโทรม ปัญหาทางสังคม เช่น การเสพและค้ายาเสพติด ปัญหาโสเภณี ชาวกะฉิ่นในพื้นที่รอบเหมืองหยกยังเป็นเพียงแค่แรงงานชั้นล่างที่ได้ค่าแรงเพียงน้อยนิด

อย่างไรก็ดี เรายังไม่รู้แน่ชัดว่า NLD กำลังวางแผนอะไรในลำดับต่อไปสำหรับการขุดหยกอันเป็นความลับแห่งรัฐเมียนมา แต่มั่นใจได้เลยว่า มันจะเป็นประเด็นสำคัญสำหรับกองทัพอย่างแน่นอน

ถึงที่สุดแล้ว การต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยในเมียนมา ยังเป็นการต่อสู้กับทุนนิยมที่ครอบงำโดยทหารด้วย เหมือนอย่างที่เวลเซลและอิงเกิลฮาร์ต (Welzel and Inglehart) อธิบายไว้ว่า คำว่าประชาธิปไตย คือ การต่อสู้ระหว่างชนชั้นสูงที่ร่ำรวยกับมวลชนที่ยากจน 

อย่าแตะกระเป๋าที่เอวของฉัน 

หลังจากที่นายพลมินอ่องหล่ายยึดอำนาจ โค่นล้มรัฐบาลของอองซานซูจีที่มาจากการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2021 เขายืนยันว่าจะจัดให้มีการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตยที่มีระเบียบวินัย (disciplined democracy) แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็มิได้หมายความว่าประชาชนเมียนมา ตลอดจนประชาคมโลกจะพอใจกับการให้ทบทวนประชาธิปไตยแบบมีระเบียบวินัยตามที่เขาเอ่ยอ้าง 

น่าคิดว่านี่อาจเป็นระเบิดควันพรางตัว (smokescreen) ที่มีประสิทธิภาพสูงสุด เพื่อรักษาผลประโยชน์ทางการเมืองและเศรษฐกิจในระยะยาวของกองทัพเมียนมา

อ้างอิง

Author

วทัญญู ฟักทอง
มีชื่อพม่าว่า Htay Win เป็น Burmese language lecturer

Illustrator

ณขวัญ ศรีอรุโณทัย
อาร์ตไดเร็คเตอร์ผู้หนึ่ง ชอบอ่าน เขียน และเวียนกันเปิดเพลงฟัง

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า