เปิดแอพฯ เช็คสุขภาพ ลดโรค ลดป่วย ช่วยมนุษย์วัยทำงาน

ในยุคปัจจุบัน ‘สมาร์ทโฟน’ กลายเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญของมนุษย์ทุกเพศทุกวัย นอกจากจะใช้ในการสื่อสารเป็นหลักแล้ว ยังเป็นอุปกรณ์เพื่อความบันเทิงและพักผ่อนหย่อนใจด้วย งานศึกษาบางชิ้นยังค้นพบอีกว่าบรรดา ‘แอพพลิเคชั่น’ ในมือถือ สามารถใช้ประโยชน์ในการสร้างเสริมสุขภาพของมนุษย์ได้ โดยเฉพาะวัยแรงงานที่มีความเสี่ยงต่อการเจ็บป่วยจากกลุ่มโรคไม่ติดต่อ Non-Communicable Diseases (NCDs) 

งานศึกษาของ ดร.เดโช สุรางค์ศรีรัฐ นักวิจัยศูนย์วิจัยเทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวกและเครื่องมือแพทย์ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ภายใต้หัวข้อ รายงานการวิจัยทบทวนองค์ความรู้และสังเคราะห์ข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย ระบบข้อมูลและแอปพลิเคชันเพื่อป้องกันโรคไม่ติดต่อของสถานประกอบการในระบบการจ้างงาน และระบบประกันสุขภาพ’ พาเราย้อนกลับไปทบทวนทิศทางของการนำสิ่งใหม่อย่างแอพพลิเคชั่นมือถือมาใช้ เพื่อให้คุณภาพชีวิตและสุขภาพของลูกจ้างในสถานประกอบการ ไปจนถึงคนวัยแรงงานอื่นๆ ดีขึ้น 

ปัจจุบันแอพพลิเคชั่นด้านสุขภาพ ทั้งที่มุ่งเน้นไปยังกลุ่มเป้าหมายที่เป็นคนวัยทำงานโดยตรง และกลุ่มคนทั่วไป ถูกพัฒนาขึ้นมาเป็นจำนวนมากและมีระบบการเชื่อมโยงระหว่างฐานข้อมูลที่แตกต่างกันไป การทำความเข้าใจพัฒนาการ ข้อดี ข้อเสีย และความเป็นไปของตลาดแอพพลิเคชั่นสุขภาพเหล่านี้จึงเป็นสิ่งสำคัญ ในฐานะเป็นเครื่องมือที่จะช่วยนำพาวิถีชีวิตแบบสุขภาพดีกลับคืนสู่คนวัยทำงานทุกคนอย่างได้ผล ทั้งในเชิงตัวเลขและผลลัพธ์เชิงประจักษ์อื่นๆ 

สุขภาพกับนวัตกรรม เมื่อแอพพลิเคชั่นเป็นธงนำสร้างเสริมสุขภาพดี

“หากระบบดิจิทัลจะช่วยปรับเปลี่ยนพฤติกรรมคนได้ มันต้องถูกออกแบบมาอย่างดีเท่านั้น”

คือหนึ่งในคำอธิบายความสัมพันธ์ระหว่างแอพพลิเคชั่นมือถือกับการควบคุมและรักษาโรค NCDs ในงานศึกษาฉบับดังกล่าว เนื่องจากมีข้อค้นพบว่า หากสถานประกอบการหรือบริษัทขนาดใหญ่ทั่วโลกจะประสบความสำเร็จในการสร้างเสริมสุขภาพของพนักงานหรือลดพฤติกรรมเสี่ยงลงได้นั้น จะต้องอาศัยปัจจัยด้านดิจิทัลเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย แต่ก็ไม่ได้แปลว่าการมีเพียงแอพพลิเคชั่นด้านสุขภาพมาให้ลูกจ้างในสถานประกอบการได้ใช้งานจะทำให้สุขภาพโดยรวมดีขึ้นทันที เนื่องจากยังมีปัจจัยอีกเป็นจำนวนมากที่ต้องทำงานควบคู่กันไปด้วย 

จุดแข็งสำคัญที่ทำให้แอพพลิเคชั่นเข้ามามีบทบาทสำคัญในการจัดการกับปัญหาสุขภาพของคนวัยทำงานมากขึ้น เนื่องจากแอพพลิเคชั่นเหล่านั้นสามารถเก็บข้อมูลได้ละเอียดมากกว่าข้อมูลที่โรงพยาบาลจัดเก็บ โดยแอพพลิเคชั่นสามารถเข้าถึงข้อมูลในระดับพฤติกรรมประจำวัน อย่างการกินอาหาร การพักผ่อน หรือการออกกำลังกาย การวิเคราะห์สุขภาพของผู้ใช้งานจึงแม่นยำกว่าการเก็บข้อมูลของโรงพยาบาลที่ค่อนข้างกว้าง และไม่สามารถเก็บข้อมูลผู้ใช้งานได้ตลอดเวลาเหมือนแอพพลิเคชั่น

เมื่อมีข้อมูลดิบที่มากเพียงพอ แอพพลิเคชั่นสุขภาพเหล่านี้จึงสามารถใช้วัดและประเมินผลให้ผู้ใช้งานได้ทราบว่า กิจกรรมส่งเสริมสุขภาพต่างๆ นั้นส่งผลมากน้อยแค่ไหน ทำให้ผู้ใช้งานเกิดความรู้สึกว่าการใช้แอพพลิเคชั่นนั้น ‘ได้ผล’ หรือ ‘เห็นผล’ ได้ทันที ไม่ว่าจะเป็นการประเมินระยะสั้นหรือระยะยาวก็ตาม

จากการทบทวนความสำเร็จของหลายแอพพลิเคชั่น ทั้งในประเทศและต่างประเทศที่ผ่านมา พบว่า ปัจจัยสำคัญในการชี้วัดความสำเร็จของแอพพลิเคชั่นด้านสุขภาพ คือ ต้องสามารถเชื่อมโยงข้อมูลด้านสุขภาพกลับสู่ผู้ใช้ให้ได้รับความรู้และเกิดความตระหนักมากขึ้นได้ นอกจากนี้แอพพลิเคชั่นต้องผลักดันให้ผู้ใช้งานนำความรู้เหล่านั้นมาใช้จริงได้ด้วย โดยบางแอพพลิเคชั่นสามารถผลักดันให้เกิดการรวมกลุ่มของผู้ใช้งานเพื่อทำกิจกรรมร่วมกันมากขึ้น ไปจนถึงการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างผู้ใช้งานกับโค้ชด้านสุขภาพหรืออาสาสมัครควบคู่ไปด้วย

ปัจจุบันมีแอพพลิเคชั่นด้านสุขภาพของไทยหลายตัวที่ถูกใช้งานเป็นประจำบนตลาดมือถือ เช่น แอพพลิเคชั่น ‘สปสช.’ แอพพลิเคชั่น ‘H4U’ แอพพลิเคชั่น ‘เป๋าตัง ส่วนกระเป๋าสุขภาพ’ และชุดแอพพลิเคชั่นที่กำลังพัฒนาอย่าง ‘หมอรู้จักคุณ’ ที่กำลังเข้ามามีส่วนร่วมในตลาดอีกด้วย

แอพพลิเคชั่นไทย เข้าถึงสุขภาพดีได้แค่ปลายนิ้ว

ปัจจุบันแอพพลิเคชั่นด้านสุขภาพของไทยที่มีจำนวนผู้ใช้มากที่สุด คือ แอพพลิเคชั่น ‘เป๋าตัง ส่วนกระเป๋าสุขภาพ’ หรือ Health Wallet ที่มียอดผู้ดาวน์โหลดในระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ไปมากกว่า 10 ล้านคน จุดเด่นสำคัญอยู่ที่การเชื่อมโยงฐานข้อมูลกลางของระบบสาธารณสุขไทยให้มาอยู่ในมือของผู้ใช้งานได้โดยตรง

แอพพลิเคชั่น ‘เป๋าตัง’ นี้จะช่วยให้ผู้ใช้งานสามารถเข้าไปตรวจสอบสิทธิหลักประกันสุขภาพของตนเองได้ทันทีผ่านโทรศัพท์มือถือบนฐานข้อมูลของสำนักงานประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ซึ่งความสะดวกสบายของผู้ใช้ก็คือ สามารถที่จะนัดหมายการรับบริการล่วงหน้า ไปจนถึงการจ่ายค่าใช้จ่ายส่วนเกินได้ทันทีเพียงแค่ปลายนิ้ว

จุดเด่นสำคัญอีกประการของแอพพลิเคชั่น ‘เป๋าตัง ส่วนกระเป๋าสุขภาพ’ ก็คือการเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างผู้ใช้งานกับเครือข่ายโรงพยาบาล ภายใต้ชื่อ ‘HealthLink’ ซึ่งได้รับความช่วยเหลือจากกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม โดยโรงพยาบาลกว่า 100 แห่งที่เข้าร่วมโครงการจะสามารถดึงข้อมูลของผู้ใช้งานไปใช้ได้ผ่านความยินยอมบนแอพพลิเคชั่น อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีการยืนยันว่าข้อมูลตรงจุดนี้จะเชื่อมโยงเข้ากับฐานข้อมูลกลางที่ใหญ่กว่านี้ด้วยหรือไม่

ขณะที่แอพพลิเคชั่นยอดนิยมในแง่จำนวนผู้ใช้งาน คือ ‘สปสช.’ ที่มีผู้ดาวน์โหลดบนระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ถึง 500,000 คน โดยแอพพลิเคชั่นนี้จะมีการทำงานที่คล้ายกับแอพพลิเคชั่น ‘เป๋าตัง ส่วนกระเป๋าสุขภาพ’ คือมีการให้บริการด้านสิทธิหลักประกันสุขภาพ นอกจากนี้แอพพลิเคชั่น ‘สปสช.’ ยังมีความสามารถในการบันทึกข้อมูลอื่นๆ ของผู้ใช้ อย่างการนับก้าวเดิน ความดัน ระดับน้ำตาลในเลือด อุณหภูมิร่างกาย ฯลฯ แล้วแสดงผลออกมาเป็นแผนภูมิที่เข้าใจง่าย ทำให้รู้สึกได้ถึงการสื่อสารระหว่างผู้ใช้งานกับข้อมูลที่แอพพลิเคชั่นทำการจัดเก็บ

จุดแข็งอีกประการของแอพพลิเคชั่น ‘สปสช.’ คือ การสร้างความร่วมมือกับสำนักงานกองทุนสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ที่จัดทำหมวด ‘Personal Health สื่อเพื่อคุณ’ ขึ้นมาทำหน้าที่เป็นคลังข้อมูลที่เชื่อมโยงระหว่างแอพพลิเคชั่นกับฐานข้อมูลด้านสุขภาพของ สสส. ที่สามารถแสดงผลให้เหมาะสมกับผู้ใช้งานแต่ละคนได้ การพัฒนาและเชื่อมโยงข้อมูล In-put และ Out-put เช่นนี้ ทำให้แอพพลิเคชั่น ‘สปสช.’ มีความน่าสนใจมากขึ้นเป็นพิเศษ 

แอพพลิเคชั่นต่อมา คือ ‘H4U’ ที่จัดทำโดยกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข และได้รับความร่วมมือพิเศษจากศูนย์สารสนเทศและการสื่อสาร ร่วมกับกรมอนามัยอีกด้วย ซึ่งมีการทำชุดแบบสอบถามออนไลน์เกี่ยวกับโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) ขึ้นมาโดยเฉพาะ สามารถเก็บข้อมูลความเสี่ยงของโรคซึมเศร้า ไปจนถึงข้อมูลพื้นฐานอย่างค่าดัชนีมวลกาย ประวัติการได้รับยา หรือการรับบริการอื่นๆ เพื่อประเมินข้อมูลเบื้องต้นให้แก่ผู้ใช้งานได้ทราบผ่านระบบ PHR API Gateway ของกระทรวงสาธารณสุข โดย ‘H4U’ นี้มียอดผู้ดาวน์โหลดผ่านระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์อยู่ที่ 5,000 คน

ข้อท้าทายที่แอพพลิเคชั่นไทยต้องพัฒนา

จากการสำรวจแอพพลิเคชั่นสุขภาพของไทย พบว่า แอพฯ เหล่านี้จะสามารถเป็นที่นิยมและถูกใช้งานอย่างจริงจังได้ก็ต่อเมื่อผู้ใช้มองเห็นว่ามีความจำเป็นจริงๆ ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ แอพพลิเคชั่น ‘เป๋าตัง ส่วนกระเป๋าสุขภาพ’ มียอดการดาวน์โหลดบน Google Playstore มากกว่า 10 ล้านราย เนื่องจากผู้ใช้งานจำนวนมากเล็งเห็นถึงความจำเป็นที่ต้องใช้งานเพื่อรับเงินสนับสนุนจากภาครัฐ

จากกรณีนี้จึงสามารถกล่าวได้ว่า หากแอพพลิเคชั่นนั้นทำให้ผู้ใช้งานรู้สึกว่าได้รับประโยชน์ หรือทำให้รู้สึกว่าแอพพลิเคชั่นนี้มีความจำเป็นมาก การใช้งานก็จะยิ่งเพิ่มสูงขึ้น และจะยิ่งส่งผลดีต่อการรักษาสุขภาพและการเก็บข้อมูลด้านสุขภาพเพื่อการสร้างสรรค์นโยบายในภาพรวมต่อไป

ปัญหาสำคัญที่แอพพลิเคชั่นด้านสุขภาพของไทยกำลังเผชิญ คือการเชื่อมโยงข้อมูลกับส่วนกลางยังคงเป็นไปอย่างยากลำบาก เพราะมีความซ้ำซ้อนกันหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลพื้นฐานอย่างน้ำหนัก ส่วนสูง ไปจนถึงข้อมูลสำคัญอื่นๆ จนทำให้การประมวลผลข้อมูลระยะสั้น ข้อมูลพฤติกรรม และการกระตุ้นให้เกิดการใช้งานในระยะยาวถูกละเลยไป

อุปสรรคต่อมาอันเป็นผลจากการเก็บข้อมูลซ้ำซ้อนกันระหว่างแอพพลิเคชั่นกับหน่วยราชการ คือ เรื่องความน่าเชื่อถือของข้อมูล เนื่องจากข้อมูลจากหลายแอพพลิเคชั่นเน้นให้ผู้ใช้งานกรอกข้อมูลเอง (เช่น ความดันโลหิต น้ำหนัก ส่วนสูง เป็นต้น) ทั้งที่จริงแล้วข้อมูลบางอย่างสามารถอาศัยศักยภาพของโทรศัพท์มือถือหรืออุปกรณ์เสริมต่างๆ ในการช่วยจัดเก็บและคำนวณได้แม่นยำกว่า 

ช่องว่างที่ภาครัฐและสถานประกอบการต้องเข้ามาเติมเต็ม 

การส่งเสริมให้มีแอพพลิเคชั่นด้านสุขภาพอยู่ในโทรศัพท์มือถือของคนทุกคน โดยคาดหวังว่าจะช่วยให้ผู้ใช้งาน โดยเฉพาะคนวัยทำงานที่มีความเสี่ยงต่อกลุ่มโรค NCDs จะมีสุขภาพที่ดีขึ้นได้นั้น อาจดูเหมือนเป็นการผลักภาระไปยังผู้ใช้งานมากเกินไป เพราะอย่างน้อยสถานประกอบการซึ่งมีบทบาทสำคัญในชีวิตของแรงงานเป็นเวลาหลายชั่วโมงต่อวัน หรือภาครัฐที่มีหน้าที่ป้องกันและสร้างเสริมสุขภาพของคนในชาติ ก็ควรเข้ามามีบทบาทในการแก้ปัญหาที่กำลังเกิดขึ้นด้วยเช่นกัน

ปัญหาสำคัญของแอพพลิเคชั่นสุขภาพที่พัฒนาโดยหน่วยงานรัฐของไทย มีความแตกต่างเป็นอย่างมากกับแอพพลิเคชั่นด้านสุขภาพที่ประสบความสำเร็จในต่างประเทศ เนื่องจากแอพพลิเคชั่นต่างประเทศจะถูกออกแบบขึ้นมาเพื่อเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้ใช้งาน ขณะที่แอพพลิเคชั่นของภาครัฐไทยจะออกแบบมาเพื่อเน้นการให้บริการเป็นหลัก 

ด้วยเหตุนี้ หากอาศัยศักยภาพของแอพพลิเคชั่นเพียงอย่างเดียวย่อมไม่สามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงด้านสุขภาพในระดับสูงของผู้ใช้งานได้ จากงานศึกษาฉบับเดียวกันของ ดร.เดโช สุรางค์ศรีรัฐ ระบุว่า ภาครัฐจะต้องเข้ามาร่วมมือและช่วยเหลือสถานประกอบการเพื่อยกระดับสุขภาพของลูกจ้างให้ห่างไกลจากโรค NCDs โดยในต่างประเทศมีระบบการเบิกจ่ายที่ช่วยสนับสนุนการดูแลและป้องกันสุขภาพในสถานประกอบการ หรือมีการเบิกจ่ายอุปกรณ์ที่ช่วยในการส่งเสริมสุขภาพสำหรับประชาชนในกลุ่มเสี่ยง เช่น อุปกรณ์สวมใส่ราคาถูกที่สามารถเชื่อมต่อข้อมูลเข้ากับระบบส่งเสริมสุขภาพได้ทันที

นอกจากสถานประกอบการจะต้องให้ความร่วมมือในการส่งเสริมสุขภาพของลูกจ้างให้ดียิ่งขึ้นแล้ว บทบาทของภาครัฐอย่างกระทรวงสาธารณสุขและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง คือการพัฒนาเครือข่ายระดับชาติที่มีมาตรฐานในการจัดเก็บและใช้ข้อมูลเพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้ใช้งานแบบเดียวกัน มีการเชื่อมโยงและอิงกับการใช้งานจริงของประชาชน และสนับสนุนด้านการเงินหรือการเบิกจ่ายต่างๆ ให้แก่สถานประกอบการหรือทุกคนที่เกี่ยวข้อง เพื่อสนับสนุนให้แอพพลิเคชั่นสุขภาพเหล่านี้ ‘ง่าย จำเป็น เห็นผลทันตา’ มากกว่าที่เป็นอยู่

Author

ภูภุช กนิษฐชาต
คนหนุ่มผู้หลงใหลการตามหาสาระในเรื่องไร้สาระ คลั่งไคล้การถกเถียงเรื่องปรัชญาการเมืองยามเมามาย นิยมเสพสื่อบันเทิงแทบทุกชนิดที่มีบนโลก ขับเคลื่อนชีวิตด้วยคาเฟอีนและกลิ่นกระดาษหอมกรุ่นของหนังสือราวกับต้นไม้ต้องการแสงแดด ความฝันอันสูงสุดมีเพียงการได้มีชื่อของตนเองจารึกเอาไว้ใน Reading-list ของเหล่านักศึกษาในมหาวิทยาลัยเพียงเท่านั้น

Illustrator

ณขวัญ ศรีอรุโณทัย
อาร์ตไดเร็คเตอร์ผู้หนึ่ง ชอบอ่าน เขียน และเวียนกันเปิดเพลงฟัง

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า