ต่างประเทศจัดการกับ NCDs กันอย่างไร แลไปข้างนอกเพื่อกลับมาพัฒนาภายใน

ข้อมูลจากรายงานการประมาณความสูญเสียทางเศรษฐกิจจากโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (Economic Burden of Non-communicable diseases) ของสำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ (IHPP) ประเมินว่า ต้นทุนที่เกิดจากโรค NCDs มีมูลค่าทั้งสิ้น 198,512 ล้านบาท โดยเป็นต้นทุนทางตรงอย่างค่ารักษาพยาบาล ร้อยละ 23.8 และเป็นต้นทุนทางอ้อมจากการสูญเสียผลิตภาพถึงร้อยละ 74.2 

ต้นทุนทางอ้อมนี้ สามารถแยกออกได้เป็น 3 ประเด็น หนึ่ง-การสูญเสียผลิตภาพจากการเสียชีวิตก่อนวัยอันควร มีสัดส่วนร้อยละ 73.0 สอง-การสูญเสียประสิทธิภาพในการทำงานจากการขาดงานของผู้ป่วย มีสัดส่วนร้อยละ 0.7 และสาม-การสูญเสียประสิทธิภาพในการทำงานจากการขาดงานของผู้ดูแล มีสัดส่วนร้อยละ 0.4 

เมื่อคำนวณการสูญเสียทางเศรษฐกิจจากโรค NCDs กับผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ (GDP) พบว่ามีสัดส่วนมากถึงร้อยละ 2.2 ของ GDP หรือคิดเป็น 3,128 บาทต่อหัวประชากร โดยประมาณ

เอกสารประกอบการประชุมทางวิชาการ ‘การพัฒนานโยบายในสถานที่ทำงาน (Workplace Policy) เพื่อบูรณาการจัดการเรื่องโรคไม่ติดต่อและการสร้างเสริมสุขภาพ’ (ปี 2563) จัดทำโดยมูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติและเครือข่าย ระบุเช่นกันว่า หากไม่มีการลงทุนด้านการสร้างเสริมสุขภาพ และลดปัจจัยเสี่ยงโรคตั้งแต่เนิ่นๆ จะส่งผลให้เกิดค่าใช้จ่ายในบั้นปลายสูงกว่ามาก โดยมีผลคาดการณ์คือ ประมาณ 46.7 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ ในระหว่างปี พ.ศ. 2554-2573 หรือประมาณ 4 เปอร์เซ็นต์ของมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมในปี 2553

ด้านองค์การอนามัยโลก (WHO) ยังแสดงข้อมูลว่า หากประเทศรายได้ต่ำและปานกลางระดับต่ำ (low and lower-middle-income countries) มีการลงทุนดำเนินการมาตรการที่มีประสิทธิผล ตั้งแต่ปัจจุบันจนถึงปี 2030 จะได้ผลลัพธ์กลับคืนที่คุ้มค่า 7 เท่าของเงินที่ลงทุน กล่าวคือ ได้เงินกลับคืน 7 เหรียญสหรัฐต่อคนต่อการลงทุน 1 เหรียญสหรัฐ 

สร้างมาตรการจูงใจผู้ประกอบการ เพื่อสุขภาพของแรงงาน

จากตัวเลขข้างต้นจึงเป็นเหตุผลสำคัญว่า เหตุใดควรมีมาตรการป้องกัน ส่งเสริมสุขภาพ และลดความเสี่ยงจากโรค NCDs 

แม้ในประเทศไทยจะยังไม่มีความชัดเจนนักว่า ผู้ประกอบการจะได้อะไร หรือคุ้มทุนมากแค่ไหนจากการลงทุนด้านการสร้างเสริมสุขภาพและลดปัจจัยเสี่ยงโรค NCDs แต่ในประเทศที่มองเห็นความสำคัญของการป้องกันและควบคุมโรค ได้มีมาตรการจูงใจหรือโปรแกรมส่งเสริมสุขภาพออกมาในหลายด้าน โดยมีตัวอย่างที่น่าสนใจจากหลายประเทศ ได้แก่ 

ฟินแลนด์: มีกฎหมายส่งเสริมสิทธิการเข้าถึงบริการสุขภาพของคนงาน ผ่านการจัดบริการอาชีวอนามัย (Occupational Health Care Act 2001) ที่ครอบคลุมการตรวจสุขภาพ การประเมินความเสี่ยงด้านสุขภาพ และการให้คำแนะนำ รวมถึงการจัดกิจกรรมและการให้คำแนะนำเกี่ยวกับสุขภาพแก่คนทำงาน

ออสเตรเลีย: มีโครงการส่งเสริมการลงทุนในสุขภาพของกลุ่มสถานประกอบการขนาดกลางและขนาดเล็ก (พนักงานน้อยกว่า 50 คน) ให้บริษัทสามารถเข้ารับบริการให้คำปรึกษาด้านสุขภาพจากหน่วยงานด้านสุขภาพได้โดยไม่มีค่าใช้จ่าย

สหราชอาณาจักร: มีโครงการที่ส่งเสริมสิทธิประโยชน์ผ่านการจูงใจรายบุคคล อย่างโครงการ Cycle to Work Scheme ซึ่งรัฐจะมีการยกเว้นภาษีให้กับพนักงาน และลดเงินประกันสุขภาพให้กับสถานประกอบการที่มีการส่งเสริมกิจกรรมทางกายให้กับพนักงานที่ซื้อจักรยานและอุปกรณ์กีฬา

นอกจากนี้ มีการจัดแพ็คเกจสุขภาพ โดยจะมีหน่วยบริการเป็นผู้ให้คำปรึกษาและบริการแก่สถานประกอบการที่สนใจ สามารถเลือกซื้อบริการได้ตามต้องการ แบ่งเป็น 3 แพ็คเกจ ได้แก่

  1. Bronze Package ประกอบไปด้วย การวิเคราะห์องค์กร ออกแบบและให้คำปรึกษาในการจัดทำโครงการการดูแลสุขภาพพนักงาน
  2. Silver Package จะรวมบริการที่อยู่ใน Bronze Package เข้ากับการจัดกิจกรรมส่งเสริมสุขภาพ เช่น การปรับสภาพแวดล้อมให้เอื้อต่อสุขภาพ โครงการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม การสร้างแกนนำสุขภาพในสถานที่ทำงาน
  3. Gold Package จะรวมบริการที่อยู่ใน Bronze Package และ Silver Package โดยเพิ่มการประเมินผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นใน 2 ด้าน ด้านแรกคือ การประเมินด้านพฤติกรรม สุขภาพ ความผูกพันในงานสำหรับคนทำงาน และด้านที่สองคือ การประเมินด้านผลิตภาพและค่าใช้จ่ายของสถานประกอบการ

สิงคโปร์: มีโครงการส่งเสริมสิทธิประโยชน์ทางการเงินเพื่อจูงใจผู้ประกอบการ ในชื่อโครงการ SME Health+ โดยมุ่งเป้าไปที่กลุ่มสถานประกอบการขนาดกลางและขนาดเล็ก ที่มีพนักงานน้อยกว่า 50 คน ผ่านการสนับสนุนทุนให้มีการจัดบริการส่งเสริมสุขภาพร่วมกับสถานประกอบการในอัตราส่วน 70:30 ซึ่งจัดทำแพ็คเกจกิจกรรมใน 4 เรื่องหลัก และแต่ละแพ็คเกจก็จะมีกิจกรรมแตกต่างกันไป ดังนี้ 

  1. การจัดการโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง กิจกรรมจะประกอบด้วย การประเมินและคัดกรองภาวะสุขภาพ การชี้แนะด้านสุขภาพอย่างน้อย 1 ครั้ง โดยการให้คำปรึกษาและการประเมินผล
  2. การส่งเสริมให้มีกิจกรรมทางกาย จะมีการประเมินสมรรถภาพทางกาย การสอนทักษะและจัดกิจกรรมทางกาย 4 ครั้ง และการประเมินผล
  3. การส่งเสริมโภชนาการ จะมีการประเมินภาวะโภชนาการ การทำ workshop ด้านอาหาร 3 ครั้ง และการประเมินผล
  4. การส่งเสริมสุขภาพจิต จะมีการประเมินสุขภาพจิต การทำ workshop ด้านสุขภาพจิต 3 ครั้ง และการประเมินผล

ทั้งนี้ ค่าใช้จ่ายที่สนับสนุนในอัตราส่วนร้อยละ 70 นั้น จะอยู่ที่ 135-350 เหรียญต่อครั้ง ขึ้นอยู่กับชนิดของกิจกรรมและจำนวนผู้เข้าร่วมกิจกรรม

ไทย: เมื่อย้อนกลับมามองการดำเนินงานในประเทศไทยที่ผ่านมา จะพบว่า มาตรการที่สนับสนุนให้ผู้ประกอบการมีส่วนร่วมในการส่งเสริมให้คนทำงานมีสุขภาพดี เช่น โครงการสถานประกอบการปลอดโรค ปลอดภัย กายใจเป็นสุข (Happy Workplace) ของกระทรวงสาธารณสุข และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ล้วนเป็นการดําเนินงานตามความสมัครใจ มิใช่การบังคับตามกฎหมาย ทำให้สถานประกอบการที่เข้าร่วมโครงการมีจำนวนไม่มาก อีกทั้งส่วนใหญ่เป็นสถานประกอบการที่มีความพร้อมในการดำเนินงานอยู่แล้ว 

ทั้งนี้ อาจเป็นเพราะภาครัฐยังขาดแรงจูงใจที่จะทําให้ผู้ประกอบการให้ความสนใจและร่วมมือในการดําเนินการในวงกว้าง นอกจากนี้ยังขาดการบูรณาการการดำเนินงานในระหว่างหน่วยงาน 

ดังนั้น หากประเทศไทยต้องการบรรลุเป้าหมายที่จะลดอัตราการตายในประชากรวัยทำงานที่มีอายุระหว่าง 30-70 ปี ให้ต่ำกว่า 257.3 คนต่อประชากร 100,000 คน ให้ได้ภายในปี 2568 การศึกษาตัวอย่างมาตรการจากต่างประเทศ ทั้งในแง่การพัฒนากฎหมายและจัดการอย่างบูรณาการ รวมถึงการส่งเสริมมุมมองเรื่องความปลอดภัยและเรื่องสุขภาพในสถานประกอบการให้เป็นเรื่องเดียวกัน จึงเป็นตัวอย่างสำคัญที่สามารถนำมาปรับใช้กับประเทศไทยได้ไม่มากก็น้อย

Author

อภิสิทธิ์ เรือนมูล
นักเขียนประจำกองบรรณาธิการ WAY ผู้ร่ำเรียนนิติศาสตร์ แต่สนใจปรัชญา เพราะปรัชญามอบคำอธิบายถึงชีวิตทั้งในมิติ fiction และ non fiction มีความเชื่อว่าชีวิตในและนอกตำรา ทฤษฎีและการปฏิบัติ ไม่อาจแยกขาดออกจากกัน

Author

ณขวัญ ศรีอรุโณทัย
อาร์ตไดเร็คเตอร์ผู้หนึ่ง ชอบอ่าน เขียน และเวียนกันเปิดเพลงฟัง

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า