เรื่องและภาพ : ณขวัญ ศรีอรุโณทัย
1. ความหงุดหงิดที่กาฐมัณฑุ
มีหลายครั้งที่ผมสงสัยว่ามันจะอะไรกันนักกันหนาวะ
แน่นอนว่าการเดินทางท่องเที่ยวก็นับว่าเป็นความฟุ่มเฟือย แต่ถึงจะฟุ่มเพือย เราก็ตั้งใจจะใช้เงินอย่างฉลาด แต่หลายครั้งหลายหนเราก็ไม่ค่อยแน่ใจ ว่าแบบไหนกันแน่ที่เรียกว่าฉลาด
อย่างเช่นเรื่องเล่าดังต่อไปนี้
เมืองใหญ่สอนให้เราตั้งการ์ดไว้ก่อน ใครที่เสนอตัวช่วยเหลือมักจะจ้องหาผลประโยชน์บางอย่าง เช่นการถามทาง…ลุงคนหนึ่งยิ้มดีใจ และอาสาจะพาไปยังเกสต์เฮ้าส์ที่เราถามถึง แต่หลังจากเดินไปคุยไปในระยะทางที่ไกลขึ้น ไกลขึ้น ผมก็ชักเอะใจ ลุงเริ่มเข้าเรื่อง ถามถึงงบค่าที่พักของเรา สามคน
ผมบอกตัวเลขออกไป
ลุงมีสีหน้าครุ่นคิด ชวนคุยไปเรื่อยๆ จนสุดท้ายก็เข้าประเด็น ลุงจะพาไปที่โรงแรมๆ หนึ่ง ลองดูก่อนก็ได้ มันดีจริงๆ นะ ลุงบอก
ผมคิดในใจเพียงว่า เอาแล้วไง เอาแล้วงายย
สถานการณ์ทำนองนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ ตั้งแต่วินาทีแรกที่เราก้าวออกจากสนามบิน คนแปลกหน้ายิ้มแย้มจะสแลนเข้ามาอาสาพาไปโรงแรม คนพวกนี้จะพ่วงมาพร้อมกับแท็กซี่ และจะหว่านล้อมสารพัดจนเราไม่ได้ไปในที่ที่เราตั้งใจจะไป ไม้ตายที่มักจะได้ผลคือ…ไปที่ XXX กับผมก่อน ไม่ต้องจ่ายค่ารถ ถ้าคุณไม่ชอบ ค่อยไปที่อื่นต่อ
หนนี้แย่กว่าทุกคราวอีตรงที่ เราไม่ได้นั่งแท็กซี่ เราเดิน และมีแบ็คแพ็คคนละเกือบสิบโลอยู่บนหลัง และเราก็เหนื่อยเกินกว่าจะต่อปากต่อคำ
(หรือนี่เป็นเวรกรรมที่เราใช้งาน porter แล้วทิปน้อยเกินไป 555)
สุดท้ายก็ไปถึง เราเหวี่ยงกระเป๋าทิ้งลงบนโซฟา พนักงานส่งภาษาคุยกับลุง คงเป็นรายละเอียดค่านายหน้าหรืออะไรทำนองนั้น ไหนๆ ก็มาแล้ว ผมกับเอเดินตามขึ้นไปดูสภาพห้อง
พนักงานบอกว่าห้องราคานั้นกำลังทำความสะอาดอยู่ จะพาไปดูห้องที่ดีกว่าพลางๆ ก่อน เราเดินขึ้นบันไดไป หมอนั่นเปิดโชว์ห้อง–แพงกว่าที่เราตั้งงบไว้ 300 รูปี (จะว่าไปมันก็ประมาณแค่ 150 บาท หารกันก็ตกเพียงคนละ 50 บาท แต่ประเด็นมันไม่ได้อยู่ที่ราคา เรารู้สึกไม่ชอบวิธีการแบบนี้) ห้องสะอาด สว่าง น่าอยู่ แต่เรายืนกรานกันเสียงแข็งว่า ขอดูหน่อยเด๊ะ ไอ้ห้องราคาตามที่ตกลงกันไว้น่ะ
เหมือนจะเป็นทริคเก่าๆ ที่เขาคงใช้กันบ่อย หมอนั่นพาเราเดินทะลุเข้าไปในครัว ผ่านซอกอับชื้นเหม็นสาบ ไปทะลุตรงส่วนเซอร์วิส
กลิ่นอับชื้นโชยออกมาปะทะใบหน้า คราบไคลต่างๆ นานาพาให้แขยง เหมือนที่ซุกหัวนอนของคนทำความสะอาดที่ไม่ค่อยรักความสะอาดเท่าไหร่
และที่ร้ายกว่านั้น มีคนมะรุมมะตุ้มอยู่ในห้องน้ำที่คล้ายปิดตายมาเป็นแรมปี เกลื่อนกลาดด้วยเศษปูน
เขาบอกว่า เรากำลังทำความสะอาด ด้อนท์ วอรี่ ด้อนท์ วอรี่
ผมเดือดปุดๆ คิดในใจเพียงว่า มึงเห็นกูเป็นหมูรึไงวะ
แล้วเราก็ไม่พูดไม่จา สะพายเป้ขึ้นหลัง ดุ่มๆ เดินออกมาจากโรงแรมนรกหลังนั้น
2 .ความโดดเดี่ยวก่อนถึงอุลเลริ และความอุ่นใจก่อนถึงกันดรุ๊ก
ในเส้นทางการ trekking ที่โพคารา วันแรกเราตั้งต้นที่นายาปุล (Naya Phul) ผ่านทิเกตดุงกา (Tirkhedhunga) บางคนอาจจะแวะนอนที่นี่สักคืน แต่เพราะเรามีเวลาน้อย วันแรกแรงน่าจะยังดี เราตั้งใจว่าจะเดินไปให้ถึงอุลเลริ (Ulleri)
ช่วงแรกเราก็เดินเกาะกลุ่มกันไป (เราสี่คน และ porter อีกสอง) เอากล้องคล้องคอ เตรียมตัวถ่ายรูปทุกสิ่งทุกอย่างที่ผ่านเข้ามา อารมณ์เหมือนเด็กน้อยตื่นตาตื่นใจในทัศนียภาพ แต่ผ่านไปสักครึ่งวัน แต่ละคนก็ดูจะพบหนทางและจังหวะในการก้าวเดินของตัวเอง
บางคนเก็บกล้องลงกระเป๋า บางคนเริ่มรู้สึกถึงความบ้าหอบฟาง บางคนค้นพบคุณค่าของกระติกน้ำร้อน และบางคนอาจจะฉงนว่ากูมาลำบากทำไมวะเนี่ย
ทางที่ชันและอากาศหนาวเสียดจมูกทำให้เราหายใจลำบาก ตามรายทางจะมีจุดที่สามารถหย่อนก้นนั่งแวะพักได้เรื่อยๆ และแต่ละคนต้องการเวลาพักไม่เท่ากัน ที่สำคัญคือเมื่อเรานั่งอยู่นิ่งๆ นานเกินไป ลมที่กรรโชกไอร้อนจากร่างกาย จะทำให้เราหนาวจนสั่น
หลังจากพักจิบชาอึกเดียว ผมจึงออกเดินนำไปก่อน เข้าใจว่า porter หนึ่งคนเดินนำเราอยู่ มีจุดหมายในใจคร่าวๆ ว่าจะเดินตามเขาให้ทัน
เป็นเรื่องแปลกเหมือนกัน ที่ระยะสองสามชั่วโมงนั้น มองข้างหน้าก็ไม่เจอใครนอกจากบันไดไร้ที่สิ้นสุด มองข้างหลังก็ไม่เห็นใครเพราะเดินนำมาไกลแล้ว และนั่นทำให้รู้สึกสงบอย่างประหลาด ขณะที่เดิน เราจะได้ยินเสียงสองเสียงที่ชัดเจนมาก คือเสียงหอบจากปอด และเสียงตึกตักของหัวใจ
พอมันดังเกินไปเราจะยืนนิ่งๆ สักพัก
พอเรายืนนิ่งๆ เราจะได้ยินเสียงลมพัด เสียงใบไม้เสียดกัน เจือด้วยเสียงนกที่เราไม่รู้จัก
ผมดีใจกับตัวเองเงียบๆ เมื่อเจอป้ายเขียนว่าอีก 1 ชั่วโมงเราจะถึงอุลเลริ แต่ก็น่าแปลกใจ เร่งเดินขนาดนี้ ทำไมถึงตามไม่ทัน porter เสียที
จนกระทั่งถึงหมู่บ้าน ผมหย่อนก้นนั่ง ขาสั่นระริกประท้วงเงียบๆ
10 นาทีต่อมา porter คนที่ผมเข้าใจว่าเดินนำอยู่ข้างหน้า ถึงกระหืดกระหอบตามมา พอเห็นผมเขาก็มีสีหน้าโล่งใจ บอกว่า ยู วอล์ค โซ ฟาสท์
อีกพักหนึ่ง เอก็มาถึง เอเล่าว่าเขาตกใจกันใหญ่ นึกว่าผมหลงทางอยู่ข้างหลัง วิ่งกลับไปหาแต่ก็ไม่เจอ
นาทีนั้น…ผมยิ้มเงียบๆ อยู่คนเดียว รู้สึกผิดนิดหน่อยที่ทำให้คนอื่นเป็นห่วง แต่การเดินเดี่ยวนั้นก็ช่างเพลิดเพลิน
เราโอ้เอ้อยู่บนพูนฮิลล์ ถ่ายรูปกันหนำใจ จนเป็นกลุ่มสุดท้ายที่เริ่มเดินทางไปหมู่บ้านต่อไป คราวนี้เราเดินกันค่อนข้างช้า เพราะพี่คนหนึ่งป่วย และคาดไม่ถึงว่ามันไกลขนาดนี้กว่าจะถึงกันดรุ๊ก (Ghandrung)
ประมาณสี่โมงเย็น ฟ้าก็มืด อากาศเย็นลงอย่างรวดเร็ว
ปกติสี่โมงเย็น เราจะโยนกระเป๋าเข้าห้องพักกันเรียบร้อยแล้ว
ผมชะลอฝีเท้า มองไปข้างหลังเห็นพี่อู๊ดตามมาอยู่ลิบๆ
ผมมองไปข้างหน้า ป่าที่เคยสวยพอมีสีเทากลางคืนห่อหุ้ม กลับดูไม่น่าไว้วางใจ
ผมรอจนพี่อู๊ดตามทัน
เขายื่นไฟฉายให้ และให้ผมเดินนำ
นาทีนั้น…ผมหันไปยิ้มให้พี่เขา
และโดยไม่ต้องพูดอะไรกัน เราต่างก็รู้สึกว่าโชคดีเหลือเกินที่มีเพื่อนร่วมทาง
3. เดนนิสแห่ง ชังกุ นารายัน
หลังจากส่งนุ้ยขึ้นแท็กซี่ไปสนามบิน เราสามคนฟาดอาหารเช้ากันพอหอมปากหอมคอ และเนื่องจากขี้เกียจต่อปากต่อคำกับพี่แท็กฯ เราเลยแพ็คกระเป๋าแล้วเดินไปขึ้นรถบัสเพื่อไปยังบักตะปูร์ (Bhaktapur)
คนละเพียง 15 รูปีเท่านั้นเอง เทียบกับ taxi ที่ต่อแล้วต่ออีกพี่เค้าก็จะยืนยันที่ราคา 200 up
จากความแออัดในย่านทาเมลที่เราซุกหัวนอน พอรถพาเราอออกมารอบนอกของเมือง ผมถึงเห็นว่ากาฐมัณฑุก็ไม่ได้เละเทะอย่างที่คิด จริงๆ แล้วมันค่อนข้างสะอาดและเป็นระเบียบเสียด้วยซ้ำ
อ่านป้ายร้านค้าต่างๆ เพลินดี ส่วนมากจะเป็นชื่อเทพๆ (คงเพื่อศิริมงคล) เช่น Hanuman Auto Part หรือ Kumari Restaurant อะไรประมาณนี้
นั่งปล่อยใจจนเคลิ้มๆ จะหลับ (ใช้เวลาเดินทางประมาณ 30 นาที – ถนนฝุ่น แต่ดีที่รถไม่ติด) บักตะปูร์ก็ปรากฏตัวแก่สายตาด้วยความคลาสสิกสมกับเป็นเมืองหลวงเก่า หากจะเปรียบเทียบอย่างง่ายๆ บักตะปูร์ก็เป็นเมืองมรดกคล้ายกับสุโขทัย แต่สิ่งที่เป็นเสน่ห์ของบักตะปูร์ก็คือความมีชีวิตชีวา สถาปัตยกรรมโบราณรอบ Durbur Square ไม่ได้ตั้งอยู่อย่างเดียวดาย เพราะมีเนปาลี พีเพิล นั่งทอดหุ่ยกันเรียงรายรับยามเช้า
มีพ่อลูกโปรยข้าวให้อาหารนกพิราบฝูงใหญ่
มีหนุ่มสาวกระหนุงกระหนิงบนระเบียงศาสนสถาน อันประดับด้วยไม้แกะสลักลวดลายกามาสุตรา
มีคนขี่สามล้อเดินเข้าไปยังเทวรูป เอาหน้าผากแนบรูปปั้นพลางพึมพัมท่องมนต์ ก้มหยิบกลีบดอกดาวเรืองที่ร่วงหล่นโปรยลงบนกระหม่อมตนเอง และใช้นิ้วชี้แต้มแดงชาดจากปูนปั้นเจิมที่หน้าผาก
มีนักศึกษาศิลปะชาวเนปาลนั่งสเกตช์รูป
และยังมีชายใน down jacket ยี่ห้อ the north face สีดำ และมอเตอร์ไซค์คันโต (ยี่ห้อยอดฮิตของเนปาลคือ Hero Honda และ Bajaj แบรนด์สัญชาติแขก? ดีไซน์โคตรจะแมน ที่ทำให้’มอไซบ้านเราเหมือนรถตุ๊ดไปเลย)
นั่นทำให้เรายังรู้สึกว่านี่คือเมืองโบราณที่อยู่ในโลกปัจจุบัน
ในตรอกซอกซอย บานกรอบต่างๆ ของบ้านเรือน ยังปรากฏไม้แกะสลักอย่างวิจิตร ดูเข้ากันกับคนเมืองนี้ี่ที่โผล่ใบหน้าออกมาจากช่องเปิด…พวกเขาดูเป็นธรรมชาติ ผู้หญิงห่มส่าหรีสีอุ่นๆ เช่นเดียวกับเมือง และที่สำคัญ ไม่มีมหกรรมรุมทึ้งนักท่องเที่ยวอย่างเราเช่นในเมืองหลวง
ซึมซับบรรยากาศบักตะปูร์จนอิ่มเอมคุ้มค่าตั๋ว 750 รูปีแล้ว ช่วงบ่าย ผมกับเอเลยนั่งรถบัสไปชังกุ นารายัน (Changu Narayan) วัดโบราณอีกแห่งที่อยู่ห่างออกไปจากตัวเมือง ไกด์บุ๊คบอกว่าน่าไปเยือน เพราะว่าเป็นหนึ่งในสถาปัตยกรรมแบบเนปาลที่ค่อนข้างสมบูรณ์
สองข้างทางเป็นไร่นาและทุ่งดอกไม้ พุ่มไม้ริมทางเคลือบด้วยฝุ่นสีน้ำตาลเหมือนเคลือบชอกโกแลต รถบัสไต่ขึ้นไปบนเขาจนสุดสายที่ชังกุ
เงียบ… เราเดินบนทางเดินพื้นหิน สองข้างทางเป็นของที่ระลึกที่วางขายอย่างสงบ ไม่มีบรรยากาศคุกคามตามตื้อแบบในทาเมล เราเดินช้าๆ ผ่านกลุ่มเด็กที่เล่นตั้งเตกระโดดขาเดียวบนพื้นหิน
ในวัดก็เงียบมาก มีโต๊ะปิงปองงตั้งอยู่และเด็กหนุ่มหลายคนก็เล่นกันสนุกสนาน มีเราสองคนและฝรั่งอีกสองคน เดินดูรอบๆ วัด ถ่ายรูปรายละเอียดของงานแกะไม้และปูนปั้นกันมันส์มือ
แล้วเดนนิสก็โผล่มา
เขาแนะนำตัวเองด้วยภาษาอังกฤษแบบเนปาลี (ที่ตอนนี้เราจูนหูจนฟังพอรู้เรื่องแล้วล่ะ) เชคแฮนด์แบบฝรั่ง
backpacker’s antibody ของผมเริ่มทำงาน ผมคุยกับเขาไปพลางเดาว่าหนนี้จะมาไม้ไหน
แต่ผิดคาด เขาไม่ได้โน้มน้าวอะไรมากมาย เขาแค่เล่าว่าเขาเป็นนักศึกษาปีสองในมหาวิทยาลัย เรียน art & architecture หา คุณมาจากไทยแลนด์เหรอ ผมชอบอองบอกมากเลย (ห้ะ? อะไรนะ) อ๋อ องค์บาก
และตบท้ายด้วยการบอกว่า เขา painting ด้วย เป็นงานในครอบครัว เขาเป็นรุ่นที่สามถัดจากปู่และพ่อ ร้านของเขาอยู่ตรงทางออกวัด ถ้าเราเดินผ่านก็อย่าลืมแวะไปดู
ผมสัมผัสได้ถึงความจริงใจนะ.. เลยคุยกับเขาต่อ ถามในสิ่งที่สงสัยมานาน ว่าในวิหารนั้นมีอะไร (วัดฮินดูเกือบทั้งหมด เราชมได้เพียงด้านนอกอันวิจิตร แต่ไม่สามารถเข้าไปข้างใน ซึ่งนั่นทำให้ผมสงสัยใคร่รู้เป็นอย่างมาก)
เดนนิสยิ้ม และบอกว่า ในนั้นก็มีแบบเจ้านั่นแหละ (เขาชี้ไปที่รูปปั้นเทพองค์หนึ่ง ขนาดสูงประมาณฟุตครึ่ง) เพียงแต่…เป็นทองคำบริสุทธิ์
แล้วเขาก็เดินจากไป ปล่อยให้เราอ้อยอิ่งอยู่ในวัด จินตนาการถึงภายในที่เราไม่อาจเข้าถึง
ผมยังเดินดูนู่นดูนี่เรื่อยเปื่อยจนสามโมงครึ่ง แสงเริ่มไม่เป็นใจในการถ่ายรูป เอจึงชวนเราเดินออกจากวัดเพื่อหารถบัสกลับเข้าตัวเมือง
ผมแทบจะลืมเขาไปแล้วด้วยซ้ำ แต่กลับปรากฏว่าเดนนิสยืนยิ้มกริ่มรอเราอยู่หน้าร้าน – my gallery เขายิ้มภูมิใจ
ภาพเขียนแบบเนปาลที่ประดับประดาในร้านนั้นเรียกว่า Thanka เขาเปิดแผ่นพลาสติกคลุมเฟรมแคนวาสขนาดประมาณ 1.5 X 1.5 เมตร แล้วเริ่มเล่าให้ฟังถึงภาพนี้ที่เป็นฝีมือของอาจารย์เขา (เดนนิสใช้คำว่า Master) อธิบายสีที่ใช้ ชี้ให้ดูลายเส้นทองคำ ก่อนจะเอาพลาสติกคลุมตามเดิมอย่างระมัดระวัง
แล้วเขาก็หยิบแผ่นภาพทังก้าขนาดเล็กออกมา (30 X 30 เซนติเมตร) ให้เราเห็นถึงความแตกต่างระหว่างชั้นเชิงของฝีมือ ตั้งแต่ระดับ Master, Teacher จนถึง Student และแม้กระทั่งผลงานในระดับ student ก็มีทั้งงานประณีตที่วาดทั้งแผ่นด้วยคนคนเดียว และงาน mass ที่จะแบ่งกันวาดเป็นส่วนๆ เหมือนเครื่องจักรในสายพาน
ลวดลายทังก้าที่เห็นนั้น ต้นแบบมาจาก painting ขององค์ดาไลลามะ คล้ายๆ ปริศนาธรรมอยู่เหมือนกัน ดูแล้วก็เห็นถึงความประณีตและรายละเอียด ลายทั้งหมดวางโครงสร้างในวงกลม มีความสมมาตรอันทำให้เกิดพลังอย่างประหลาด
ผมไม่แปลกใจเท่าไหร่ที่เดนนิสบอกว่ามันเป็นเหมือนศูนย์รวมพลัง และถ้าเราบูชาภาพเขียนนี้ทุกๆ เช้า เพ่งจ้องทำสมาธิ เราจะโชคดี
เขายังเอา collection ภาพเดิมแต่ดูเก่าเหมือนผ่านกาลเวลามาโชว์ และบอกว่าจริงๆ แล้วมันไม่ใช่ของเก่าหรอก พ่อค้าในกาฐมัณฑุอาจจะพูดอย่างนั้น แต่มันดูเก่าเพราะเราเอาไขจากตัว Yak ไปเคลือบไว้ต่างหาก
ตลอดช่วงเวลากว่าสิบนาทีที่เดนนิสเลคเชอร์เรื่องภาพทังก้าให้เราฟัง เขาไม่ได้พูดถึงราคาแม้แต่คำเดียว เช่นกัน เราสองคนก็ไม่ถามถึงราคา
เวลาผ่านไปจนเกือบจะสี่โมง ผมเริ่มรู้สึกเสียใจ เพราะในตอนจบ เขาจะไม่ได้ในสิ่งที่หวัง
ผมชอบเขาเพราะเขาดูจริงใจ รัก และภูมิใจในผลงานของตัว – ศิลปินย่อมภูมิใจในศิลปะ
ทั้งผมและเออาจจะสนใจในศิลปะ แต่เราก็ไม่สามารถจะเสียเงินซื้อของฝากอีกแม้แต่รูปีเดียว เพราะอีกสองวันที่เหลือนั้น เราไม่อยากอดมื้อกินมื้อแบบศิลปิน
ผมบอกเขาอย่างช้าๆ ว่าชอบผลงานของร้านคุณมากนะ มันน่าตื่นตาตื่นใจ แต่… (ถึงตอนนี้ผมไม่รู้จะพูดอะไรดี)
หวังว่าความภูมิใจของเขาคงไม่สั่นคลอน เพียงเพราะแบ็คแพ็คจนๆ ฟอร์มไทยแลนด์สองคน.
ตีพิมพ์ครั้งแรก นิตยสาร WAY ฉบับที่ 32