Never Again: นิทรรศการต้านรัฐประหารบนตึกแถวในตรอกสุขุมวิท

นิทรรศการ ‘Never Again: หยุด ย่ำ ซ้ำ เดิน’ คือความพยายามรวบรวมหลักฐานของประชาชนธรรมดาผู้ลุกขึ้นมาต่อต้านรัฐบาลทหาร โดยจัดเป็นพิพิธภัณฑ์เฉพาะกิจที่ WTF Gallery and Café ตึกแถวขนาดกะทัดรัดในซอยสุขุมวิท 51 กรุงเทพฯ เปิดให้เข้าชมฟรีตั้งแต่วันที่ 1-10 พฤศจิกายน 2562 เวลา 4 โมงเย็นไปจนถึง 4 ทุ่ม เสมือนช่วงเวลาอันยาวนานที่ประเทศไทยต้องอยู่ภายใต้กฎหมาย ม.44 ของ คสช.

ย้อนไปยังวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 ประเทศไทยถอยไปสู่วงจรการรัฐประหารอีกครั้ง เมื่อคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) นำโดย พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ประกาศยึดอำนาจจากรัฐบาลพลเรือน ก่อนที่พลเอกประยุทธ์จะขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีด้วยตัวเอง และอยู่ในตำแหน่งล่วงมานานกว่า 5 ปี

ภายใต้การครองอำนาจของ คสช. ถือเป็นช่วงเวลาหลายปีที่ประชาชนไทยอยู่อย่าง ‘สงบเรียบร้อย’ ในทัศนะของผู้ปกครอง แต่การที่มีคนถูกดำเนินคดีซ้ำแล้วซ้ำเล่า ถูกปิดปากไม่ให้พูดซ้ำแล้วซ้ำเล่า ช่วงเวลาเดียวกันก็ช่างหดหู่ ‘สงบราบคาบ’ ในสายตาประชาชน

แม้วันนี้ประเทศไทยจะมีนายกรัฐมนตรีจากการเลือกตั้งแล้ว ทว่า ‘ความสงบราบคาบ’ ด้วยการกดปราบประชาชนยังคงไม่ได้รับการสะสางเพื่อไม่ ‘ย่ำ ซ้ำ เดิม’

และนายกรัฐมนตรีจากการเลือกตั้งที่ว่านั้น ก็คือนายกรัฐมนตรีคนเดียวกับที่ยึดอำนาจในนาม คสช. พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา

ขณะที่ความทรงจำจากช่วงรัฐประหารยังไม่จางไป ศูนย์ทนายเพื่อสิทธิมนุษยชน ร่วมกับพิพิธภัณฑ์สามัญชน และชุมชนนักกิจกรรมภาคเหนือได้รวบรวม ‘ศิลปะอารยขัดขืน’ ในรูปแบบสิ่งของ เสื้อผ้า ภาพถ่าย เอกสาร ฯลฯ เพื่อบอกเล่าและย้ำเตือนบทเรียนความทรงจำในช่วงที่ประเทศยังห่างไกลจากการเป็นประชาธิปไตย บันทึกเป็นหมุดหมายว่าเหตุการณ์เหล่านี้ไม่ควรหวนกลับมาสู่หน้าประวัติศาสตร์การเมืองไทยอีก

WAY เก็บภาพตัวอย่างสิ่งของจัดแสดงและบรรยากาศวันเปิดนิทรรศการในวันที่ 1 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ทั้งกิจกรรม ‘Free Space Talk – 5 ปี 5 ผู้คน 5 เรื่องราวประสบการณ์ภายใต้การปกครองของ คสช.’ รวมทั้งการแสดงจากวงสะเวินใจ (หมอลำแบงก์) ที่ตัวนำของวงคือหนึ่งในผู้ที่ถูกดำเนินคดี 112 และ Rap Against Dictator: RAD ที่ส่งเพลง ‘ประเทศกูมี’ ดังก้องในคืนเงียบงันของบ้านเมืองมาแล้ว

กิจกรรมในแต่ละวันจะแตกต่างกันไปตลอดนิทรรศการ อาทิ การนำชมนิทรรศการโดยทนายความสิทธิมนุษยชน, สนทนากับเหยื่อความรุนแรงทางการเมืองอย่าง จ่านิว-สิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์, เปิดเผยเรื่องราวสิ่งของต้องห้ามภายใต้การครองอำนาจนำของคณะรัฐประหาร คสช.

มัทนา อัจจิมา

“ตอนนั้นจำได้ว่าจ่านิวเขาจัดขบวนรถไฟไปตรวจสอบคดีอุทยานราชภักดิ์ จำได้ว่าถูกกักขบวนที่ราชบุรี เพื่อนๆ หลายคนที่มีโอกาสลงขบวนก็ลงไป แต่พี่ไม่ลง พี่มีความรู้สึกว่า เฮ้ย ต้องป้องกันจ่านิวแหละ

“ในที่สุดเราก็ต้องลงจากขบวน พี่เป็น 1 ใน 17 คนของ (รถบัสทหาร) คันแรกที่ถูกนำตัวไปที่พุทธมณฑล พี่ก็ดื้อนะ เขาจะให้พี่เซ็น MOU ไม่ให้ร่วมการเมือง…พลตรีวิจารณ์ จดแตง (ฝ่ายกฎหมาย คสช.) เขาทุบโต๊ะแล้วถามว่ารับเงินมาเท่าไหร่ หาว่าถูกจ้างมา พี่ก็ปฏิเสธสิ มันไม่ใช่

“ครอบครัวพี่ 12 คน พี่เป็นคนเดียวที่ออกมา (เรียกร้องเลือกตั้ง) ที่เหลืออยู่ตรงข้ามพี่หมดเลย”

มัทนา อัจจิมา ผู้ร่วมกิจกรรม ‘นั่งรถไฟไปอุทยานราชภักดิ์ ส่องแสงหากลโกง’ และผู้ต้องหาคดีคนอยากเลือกตั้ง MBK39

เอกชัย หงส์กังวาน

“พี่ติดคุกอยู่ 2 ปี 8 เดือน ไม่ได้ลดเลยแม้แต่วันเดียว ออกมาปลายปี 58-59 มีรัฐประหารไปแล้ว ตอนนั้นเลยไม่ได้ทำอะไรเลยเพราะอยู่ในคุก และสังเกตว่าปี 59 ก็ไม่ได้ทำอะไรเลย อยู่บ้านทำนู่นทำนี่ แล้วเรารู้สึกว่ามันไม่เห็นมีอะไรดีขึ้นเลย ทำไมมันแย่ลงเรื่อยๆ เราก็ไม่ไหวแล้ว พอปี 60 ก็เริ่มขยับ

“ก่อนหน้านั้นดูข่าวเราก็จะเห็นว่าสารพัดเรื่องเป็นข่าวฮือฮาเก่งสุดก็ 1 เดือน แล้วก็เงียบ เป็นอย่างนี้ตลอด ตอนกรณีนาฬิกาประวิตร (พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ) เราก็คิดในใจว่าก็แค่เดือนเดียวเท่านั้น เดี๋ยวก็เงียบ เราก็ไม่ยอม ถึงตื๊อตลอดให้ข่าวอยู่ในกระแส

“โดนทำร้ายก็หนักนะ ส่วนทรัพย์สินนี่ เดือนมกราเพิ่งโดนเผาประตูรถเป็นรอยไหม้ เขาคงแค่ขู่ พอเดือนเมษาไปกิจกรรมรณรงค์ล่าชื่อถอดถอน กตต. ปรากฏว่าขากลับโดนคนร้ายเอาน้ำมันราด คราวนี้เผารถทั้งคัน วอดเกลี้ยง”

เอกชัย หงส์กังวาน นักกิจกรรมทางการเมือง และอดีตนักโทษในคดีหมิ่นพระมหากษัตริย์ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112

ยาน มาแชล

“5 ปีที่แล้วตอนประยุทธ์มีอำนาจ เขาเขียนเพลงคืนความสุขให้ประเทศไทย 5 ปีต่อมามีการเลือกตั้งที่เป็นเพียงข้ออ้างให้ประยุทธ์เป็นนายกฯ อยู่ต่อไป ผมจึงคิดแปลงเนื้อเพลงว่า ‘เราจะทำผิดสัญญา ขอเวลาอีกนานๆ แล้วระบบเผด็จการจะอยู่ค้ำฟ้า’

“วันรุ่งขึ้นตำรวจมาเยี่ยมที่บ้าน กดกริ่งแต่เช้าแต่ผมไม่ได้ยิน ตำรวจรอหน้าบ้านทั้งวัน ประมาณ 4 โมงเย็นผมกำลังจะออกจากบ้าน เห็นว่าตำรวจยังรอ เขาบอกให้ผมเซ็นสัญญาหยุดทำคลิปแบบนี้ เซ็นหรือไม่เซ็นอาจเป็นการตัดสินใจของคุณ แต่ถ้าคุณไม่เซ็นเราต้องไปบอกเจ้านายของเรา และเราไม่รับรองว่าจะเกิดอะไรขึ้น”

ยาน มาแชล (Yan Machal) ชาวฝรั่งเศสผู้ทำคลิปเพลงล้อเลียน คสช.

กัญญา ธีรวุฒิ

“สยามไปร่วมเล่นละครเรื่อง เจ้าสาวหมาป่า เขาก็ไม่รู้มาก่อนว่าจะโดนคดี (ม.112) แบบนี้ สยามก็ไม่ไปรายงานตัวกับ คสช. เพราะเขาถือว่าเล่นละครแค่นี้ไม่น่าถึงกับต้องไปรายงานตัวหรือผิดมากมายอะไร จากนั้นก็มีตำรวจมาตามที่บ้าน

“มีคนพูดว่า โอ๊ย ป่านนี้เขาโยนไปให้ไอ้เข้กินแล้วล่ะ ป่านนี้โดนเชือดคอไปแล้ว ไม่คิดเลยว่าจิตใจเราจะเป็นยังไง บางครั้งตำรวจโทรมาว่า อย่าตามเลยแม่ แม่เล่นอยู่กับอะไรไม่รู้หรือ อ้าว ไม่ตามได้ไง นั่นมันลูกของเรานะ

“มันเงียบเหลือเกิน ทำให้แม่ใจคอไม่ดีเหมือนกัน แต่ต้องเข้มแข็งเพื่ออยู่รอคำตอบของแต่ละฝ่ายที่ช่วยเหลือเรา เพื่อจะได้รอพบว่าอยู่ตรงนี้นะ หรือตายแล้วนะ ฉันเอาชิ้นส่วนที่เหลือมาให้คุณนะ”

กัญญา ธีรวุฒิ แม่ของ สยาม ธีรวุฒิ นักกิจกรรม ผู้หายสาบสูญระหว่างลี้ภัยทางการเมือง

ณัฏฐา มหัทธนา

“เราสนใจการเมืองช่วงหลังรัฐประหาร มีความรู้สึกรุนแรงมากกับรัฐประหารครั้งนี้

“หมายเรียกคดีการเมืองครั้งแรกก็มีสั่นๆ เหมือนกันนะ ปกติก็จะเจอแต่ใบสั่งขับรถทับเส้น ฝ่าไฟแดง ก็รู้สึกว่า เฮ้ย มันขนาดนี้เลยหรือ แต่อีกใจหนึ่งก็สะใจ รู้สึกว่าอย่างนี้ก็สนุก เพราะเป็นการตั้งข้อหาเกินจริง หมายความว่าคุณหาความชอบธรรมให้ตัวเองไม่ได้

“วันไหนที่ต้องไปศาลแล้วอาจต้องขอประกันตัวและมีความเสี่ยงว่าจะไม่ได้ ก็จะบอกลูกว่าวันนี้ไปศาลนะ เพราะไปทำสิ่งนี้มา แต่ลูกเขาก็โตพอที่จะรู้จักว่าเผด็จการคืออะไร”

ณัฏฐา มหัทธนา นักกิจกรรมและแกนนำกลุ่มคนอยากเลือกตั้ง

Author

ชนฐิตา ไกรศรีกุล
First Jobber ที่ผันตัวจากนักศึกษาเศรษฐศาสตร์-การสื่อสารมวลชนมาเป็นเจ้าหน้าที่วิจัยด้านแรงงาน เป็นชาวเชียงใหม่ที่มีกรุงเทพฯ เป็นบ้านหลังที่สอง และเพิ่งจะยึดแม่สอดเป็นบ้านหลังที่สาม เชื่อว่าตัวเองมีชะตาต้องกันกับพื้นที่ชายแดนและประเด็นทุกข์ร้อนของคนชายขอบ

Photographer

สิทธิกร ขุนนราศัย
วิดีโอครีเอเตอร์รสมือจัดจ้านของ WAY สนใจตั้งแต่วัฒนธรรมตลาดล่างจนถึงประวัติศาสตร์กรีกโบราณ เติบโตมาในยุคสมัยที่ผู้หลักผู้ใหญ่ในบ้านเมืองนิยมผลิตวาทกรรมคนดี นี่อาจเป็นแรงถีบให้เขาเลือกนิยามตัวตนตรงกันข้าม และนิยมคลุกคลีกับ 'คนพรรค์นั้น' ในเพจ เดอะ ลูซเซอร์ คลับ

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า