ตลาด NFT ทางเลือกใหม่สายสร้างสรรค์ หรือสวรรค์ของโจรละเมิดลิขสิทธิ์

การซื้อขายผลงานศิลปะด้วยเงินคริปโต หรือที่เรียกว่า NFT (None-fungible Token) กำลังเป็นกระแสที่ค่อนข้างมาแรงในแวดวงนักวาดหลายแขนงและสามารถทำเงินได้จริง ที่ผ่านมามีนักวาดจำนวนหนึ่งสามารถสร้างรายได้ผ่านแพลตฟอร์มนี้จนกลายเป็นเศรษฐีเงินล้านในเวลาเพียงชั่วข้ามคืน โดยเงินจำนวนนี้อาจไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจในตลาดซื้อขายงานศิลปะแบบปกติ แต่ตลาด NFT นั้นตัดตัวกลางของตลาดศิลปะแบบเดิมออก และค่อนข้างมีบุคลิกและรสนิยมของนักสะสมงานศิลปะที่แตกต่างไป โดยเกี่ยวพันอย่างแยกไม่ออกกับมีมและวัฒนธรรมอินเตอร์เน็ท

แล้ว NFT คืออะไร? อธิบายแบบกระชับ NFT ก็คือ สินทรัพย์แบบดิจิทัลประเภทหนึ่งที่ถูกนับว่าเป็น ‘โทเคน’ ที่มีเพียงชิ้นเดียวในโลก ไม่สามารถทดแทนได้ ยกตัวอย่างเช่นเรามีภาพของเราหนึ่งภาพ เมื่อเรานำมันไป ‘มินท์’ หรือการแปลงชิ้นงานศิลปะนั้นให้กลายเป็นเหรียญดิจิทัลในระบบบล็อคเชน โดยบล็อคเชนที่เป็นที่นิยมที่สุดคือ Ethereum พอแปลงเสร็จก็จะถูกเรียกว่าเป็น Crypto Art (งานศิลปะเข้ารหัส) ที่สามารถนำไปแลกเปลี่ยนซื้อขายได้ในฐานะสินทรัพย์หนึ่ง ซึ่งความพิเศษของการนำไปมินท์คือ ผลงานของเราอันมีความเฉพาะตัวจะสามารถเก็บข้อมูลการถือครองไว้ในบล็อคเชนได้ ต่อให้ผลงานของเราถูกคัดลอกหรือทำซ้ำแต่สิทธิ์ในการเป็นเจ้าของที่เข้ารหัสไว้นั้น เทียบเคียงได้กับการถือครองชิ้นงานออริจินัล และนี่คือการสร้างมูลค่าให้แก่ชิ้นงาน

ดังนั้นผลงานศิลปะจึงสามารถนำมาซื้อขายในรูปแบบ NFT ได้ เป็นตลาดการซื้อขายแบบใหม่ ซึ่งนอกจากผลงานศิลปะแล้ว ภาพนิ่ง ภาพเคลื่อนไหว ภาพถ่าย วิดีโอ การ์ดสะสม คลิปกีฬา หนัง ไอเทม เกม เพลง ข้อความทวีต หรือแม้แต่ชื่อเสียงของศิลปินก็สามารถนำมาเปลี่ยนเป็นผลงาน NFT เพื่อวางขายได้ แต่สิ่งสำคัญเรื่องลิขสิทธิ์ที่ผู้ซื้อ NFT ควรรู้คือการซื้อ NFT เป็นการแสดงสิทธิของเจ้าของเหรียญดิจิทัลเท่านั้น ไม่ใช่การเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในผลงาน ดังนั้นถ้าหากต้องการลิขสิทธิ์ในผลงานด้วยก็ต้องทำสัญญาโอนลิขสิทธิ์อย่างชัดเจน

สิ่งที่ทำให้ NFT เป็นที่นิยมคือ การซื้อขายแบบที่ไม่ต้องผ่านตัวกลาง ผู้ซื้อกับผู้ขายสามารถทำธุรกรรมกันได้โดยตรงผ่านแพลตฟอร์มต่างๆ เช่น OpenSea, Rarible, Foundation, SuperRare ฯลฯ โดยผู้ซื้อสามารถนำโทเคน NFT ที่ซื้อมาไปขายต่อได้ทันที ซึ่งการทำธุรกรรมก็มีความน่าเชื่อถือและปลอดภัยสูง เพราะทำผ่านระบบบล็อคเชน ที่สามารถตรวจสอบธุรกรรมได้และเปลี่ยนแปลงข้อมูลได้ยาก แน่นอนว่าเมื่อไม่ผ่านพ่อค้าคนกลางก็ทำให้ผู้ขายสามารถตั้งราคาและเปิดประมูลได้อย่างอิสระ โดยเสียเพียงค่าธรรมเนียมของแต่ละแพลตฟอร์มในการแปลงชิ้นงานให้กลายเป็น NFT หรือที่เรียกกันในวงการว่า ‘ค่าแก๊ส’ (Gas Fee)  

หนึ่งในภาพที่ถูกขายเป็น NFT และทำเงินสูงสุดในตลาด NFT คือภาพ ‘Everydays: the First 5,000 Days’ ที่ทำเงินได้ถึง 2.2 พันล้านบาท ทำให้แอคเคาท์ศิลปิน Beeple ที่ลงงานศิลปะชิ้นนี้กลายเป็นเศรษฐีพันล้านในพริบตา

ภาพ ‘Everydays: the First 5000 Days’ โดย Mike Winkelmann (a.k.a. Beeple)

แน่นอนว่าด้วยจำนวนเงินที่มหาศาลก็คุ้มค่ามากพอที่จะทำให้เกิดนักลงทุนหน้าใหม่มากมาย แต่ก็มีนักลงทุนหัวใสหลายคนเลือกที่จะ ‘ขโมย’ ผลงานที่มีอยู่แล้วมาชุบขายเป็น NFT ในชื่อของตัวเอง 

ปัญหาการละเมิดลิขสิทธิ์จึงนับได้ว่าเป็นปัญหาที่รุนแรงและเป็นแผลใหญ่ของ NFT เพราะมีนักวาดจำนวนมากถูกขโมยผลงานไปขาย จนทำให้เกิดแอคเคาท์ที่มีชื่อว่า @NFTtheft ซึ่งเป็นแอคเคาท์ที่ถูกสร้างขึ้นเพื่อประชาสัมพันธ์ให้กับนักวาดที่ถูกขโมยผลงาน และกดดันให้ทางแพลตฟอร์มที่เป็นตัวกลางในการวางขาย NFT กระตือรือร้นที่จะให้ความช่วยเหลือกับนักวาดที่เป็นผู้เสียหายมากขึ้น เพราะที่ผ่านมาบางแพลตฟอร์ม เช่น OpenSea เลือกที่จะวางเฉยและปฏิเสธอีเมลที่นักวาดพยายามร้องเรียนเกี่ยวกับการขโมยผลงานมาโดยตลอด

ปัญหาการขโมยผลงานที่รุนแรงและการเพิกเฉยของแพลตฟอร์ม ทำให้แอคเคาท์ @LiamRSharp ซึ่งเป็นนักวาดตัดสินใจปิดแอคเคาท์ใน DeviantArt ทั้งๆ ที่ใช้งานแพลตฟอร์มนี้มาถึง 14 ปี เพราะว่าถูกขโมยผลงานอยู่เรื่อยๆ และไม่สามารถพิสูจน์ความเป็นเจ้าของผลงานกับแพลตฟอร์ม OpenSea ได้ การมองดูผลงานของตัวเองที่ถูกขโมยไปขาย ทำให้เจ้าของภาพรู้สึกทั้งเศร้าและผิดหวัง ดังนั้นหนทางเดียวที่เขาพอจะปกป้องผลงานตัวเองได้คือ การปิดแอคเคาท์ที่ลงรูปที่ตัวเองเคยวาดเอาไว้ 

ผลงานของ LiamRSharp บน DeviantArt

การละเมิดลิขสิทธิ์นับเป็นปัญหาเรื้อรังของ NFT เพราะการคัดกรองผลงานที่ไม่รัดกุมมากพอ ทำให้เกิดช่องว่างให้ผู้ไม่ประสงค์ดีเข้ามาฉวยโอกาสตรงนี้ได้ นอกจากนี้แล้วปัญหาทางด้านกฎหมายที่ยังไม่ครอบคลุมถึงผลงาน NFT โดยตรงก็สร้างปัญหาค่อนข้างมากให้กับศิลปิน เพราะถ้าขาดกฎหมายทางด้านลิขสิทธิ์ก็จะทำให้ไปกดดันกับทางแพลตฟอร์มที่เป็นตัวกลางในการวางขายได้ยากขึ้น โดยในปัจจุบันนั้นกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับ NFT ยังไม่เป็นที่แน่ชัดเท่าไรนัก มีเพียงกฎหมายที่ยังพอสามารถใช้ควบคุมการละเมิดลิขสิทธิ์ได้คือ กฎหมาย Digital Millennium Copyright Act (DMCA) ซึ่งเป็นกฎหมายลิขสิทธิ์ดิจิทัลของสหรัฐอเมริกาในปี 1998 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อคุ้มครองผลงานของเจ้าของลิขสิทธิ์ หลักการทำงานของมันคือ ระบบการแจ้งเตือนให้ลบเนื้อหา (notice and takedown) ที่เจ้าของลิขสิทธิ์สามารถยื่นคำร้องต่อแพลตฟอร์มที่ละเมิดลิขสิทธิ์ เพื่อนำผลงานของตัวเองออกได้ทันทีโดยไม่จำเป็นต้องยื่นคำร้องต่อศาล

กรณีอื้อฉาวของปัญหาการละเมิดคือ มีม ‘Pepe the Frog’ ที่ถูกนำมามินท์ขายในชื่อ ‘SAD FROGS DISTRICT’ บนแพลตฟอร์ม OpenSea ซึ่งทำเงินได้ถึง 4 ล้านเหรียญดอลลาร์ โดยคิดเป็นเงินไทยได้ 130 ล้านบาท โดย แมตต์ ฟิวรี (Matt Furie) เจ้าของภาพ ได้ยื่นคำร้องต่อแพลตฟอร์มด้วยกฎหมาย DMCA และสามารถนำผลงานที่ถูกละเมิดออกจากแพลตฟอร์มได้สำเร็จ

คาแรคเตอร์กบจากมีมสุดฮิต ‘Pepe the Frog’ ผลงานของ แมตต์ ฟิวรี (Matt Furie)
ผลงานของ SadFrogsDistrict บน OpenSea

แน่นอนว่าด้วยปัญหาการโจรกรรมภาพที่ค่อนข้างเกิดขึ้นบ่อยในตลาด NFT ช่องทางที่นักวาดใช้ในการป้องกันผลงานของตัวเองไม่ให้ถูกขโมยเท่าที่พอจะทำได้ในตอนนี้คือ การอัพโหลดภาพวาดของตัวเองลงในแพลตฟอร์ม DeviantArt ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มที่นับได้ว่าเป็นคอมมูนิตีนักวาดที่ใหญ่ที่สุดของโลก และมียอดผู้สมัครใช้งานมากถึง 65 ล้านบัญชี โดยทางแพลตฟอร์มได้เปิดตัว AI ที่มีชื่อว่า DeviantArt Protect NFT ที่สามารถตรวจจับภาพที่ถูกขโมยไปขายใน NFT ได้

โปรแกรมนี้ถูกพัฒนาขึ้นเพื่อปกป้องผลงานของนักวาดที่ได้ลงทะเบียนเป็นผู้ใช้ตั้งแต่ระดับ CORE ขึ้นไป โดยการทำงานของ AI คือ การตรวจจับภาพ NFT ที่มีความคล้ายคลึงกับภาพที่ลงในแพลตฟอร์ม และจะแจ้งเตือนให้เจ้าของภาพรับรู้ทันทีเมื่อตรวจเจอ นอกจากนี้แล้ว DeviantArt ยังให้ความช่วยเหลือทางด้านกฎหมายให้กับนักวาดด้วยตัวเลือกเพิ่มเติมหลังจากตรวจพบ ว่าต้องการที่จะยื่นหนังสือแจ้งการละเมิดลิขสิทธิ์ DMCA ด้วยหรือไม่

อีกช่องทางหนึ่งคือ การสนับสนุนสหภาพแรงงานสื่อ ศิลปะ วัฒนธรรม และงานสร้างสรรค์ (MACCU) ซึ่งถูกก่อตั้งโดยคณะอนุกรรมาธิการศึกษาสถานการณ์ด้านแรงงานสวัสดิการ คุ้มครองแรงงาน และแรงงานสัมพันธ์ ร่วมกับศูนย์วิจัยรัฐและการรวมกลุ่มของแรงงานที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 โดยสหภาพดังกล่าวต้องการที่จะเพิ่มอำนาจในการต่อรองกับนายจ้างหรือคู่ค้าในประเด็นต่างๆ และต้องการที่จะผลักดันให้แรงงานในสหภาพมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น อีกวัตถุประสงค์สำคัญของสหภาพคือ การช่วยเหลือแรงงานในสหภาพที่ถูกเอารัดเอาเปรียบทางด้านกฎหมาย เพราะที่ผ่านมานั้นแรงงานในระบบต้องประสบปัญหาทั้งในด้านค่าแรงขั้นต่ำ การถูกบังคับให้ทำงานล่วงเวลา การไม่ได้รับวันหยุดที่ยุติธรรมตามกฎหมาย นอกจากนี้ยังรวมถึงปัญหาในวงการด้านสื่อสร้างสรรค์ เช่น ปัญหาด้านการละเมิดลิขสิทธิ์และทรัพย์สินทางปัญญา ซึ่งทางสหภาพเองก็มีนโยบายให้ความช่วยเหลือทางด้านกฎหมายฟรีสำหรับสมาชิกของสหภาพ ความช่วยเหลือทางกฎหมายโดยทั่วไปสามารถเข้าถึงได้โดยการติดต่อที่ช่องทางการติดต่อของสหภาพ ตัวแทนประสานงานด้านกฎหมายของสหภาพหรือเจ้าหน้าที่สหภาพแรงงาน

การมีอยู่ของสหภาพจะช่วยทำให้เสียงของผู้เสียหายนั้นดังมากขึ้น และกดดันให้รัฐปรับปรุงกฎหมายในการคุ้มครองกรณีการโจรกรรมผลงานไปขายเป็น NFT ซึ่งในบางครั้งรูปคดีก็อาจจะเป็นคดีระหว่างประเทศได้ ดังนั้นการมีสหภาพก็จะทำให้ผู้เสียหายจากประเทศหนึ่งสามารถดำเนินการทางกฎหมายกับผู้ก่อเหตุในอีกประเทศหนึ่งได้ง่ายขึ้น

อย่างไรก็ตาม มีข้อสังเกตว่าในเมื่อตลาดเป็นผู้เก็บค่าธรรมเนียมและเป็นตัวกลางในการทำธุรกรรม ก็ควรจะเป็นผู้ที่ตระหนักรู้มากที่สุดเกี่ยวกับลิขสิทธิ์ ดังนั้นเมื่อเกิดปัญหาการละเมิดลิขสิทธิ์ขึ้น จึงควรจะเป็นตัวกลางในการช่วยเหลือและให้ความเป็นธรรมกับเจ้าของลิขสิทธิ์ตัวจริงโดยไม่มีข้อแม้ใดๆ นอกจากนี้แล้วทางแพลตฟอร์มก็ควรจะตรวจสอบแหล่งที่มาของภาพอย่างละเอียดทุกครั้ง เพื่อป้องกันไม่ให้มีผู้ฉวยโอกาสกับนักวาดคนใดได้อีก

อ้างอิง

ฐิติพร อ่อนบ้านแดง
เด็กนิเทศที่มีอีกร่างเป็นแมวสีเทา ติดเป๊ปซี่กับนิยายวาย เวลาว่างส่วนใหญ่ที่มีถูกใช้กับการหาซื้อหนังสือใหม่ๆ มาอ่านแต่ก็ไม่ได้อ่านสักที

Illustrator

บัว คำดี
จากนักเรียนสายหนังผันตัวมาทำกราฟิกดีไซน์และงานโมชั่น แม่นยำเรื่องจังหวะเวลาแม้กระทั่งการเคี้ยวข้าวทีละคำด้วยความเร็วสม่ำเสมอจนหมดเวลาพักเที่ยง ฝากลายเส้นไว้ในชิ้นงานแนวรักเด็ก รักโลก ละมุนละไม แต่อีกด้านที่ทำให้กองบรรณาธิการต่างเกรงกลัวไม่กล้าแบทเทิลด้วย คือความเอาจริงเอาจังกับตารางเวลา ตรงไปตรงมา ลงจังหวะเน้นเป๊ะตามบาร์แบบชาวฮิพฮอพ

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า