ไม่มีงาน ไม่มีเงิน มีเพียงเวลาอันยาวนาน ต่อแถวแลกข้าววันต่อวัน

ต่อให้เราเป็นคนที่ท้องอิ่มและมีเงินซื้อข้าวกิน แต่ตลอดเดือนเมษายนที่ผ่านมาหากเราใช้สายตาที่มีมองข้างถนนบ้าง ก็จะเห็นคนอีกมากมายที่ต้องออกมาเข้าแถวยาวนับกิโลเมตร นั่งรอยืนรออีกหลายชั่วโมง เพื่อรับข้าวกล่องสักกล่องหรือข้าวสารอาหารแห้งสักชุดตามจุดแจกของต่างๆ ทั่วประเทศ ยิ่งเวลาผ่านไปนานเท่าไหร่ แถวเหล่านั้นก็ยิ่งยาวขึ้นทุกวัน

การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ส่งผลกระทบให้หลายอาชีพต้องหยุดชะงักลง เวลาแต่ละวันที่เคยถูกใช้ไปเพื่อทำมาหากินของแรงงานเงินน้อยหรือคนหาเช้ากินค่ำหลายคนต้องเปลี่ยนไป เวลาที่เคยเป็นทำงานตั้งแต่ 8.30 – 17.00 น. กลายเป็นช่วงเวลาที่พวกเขาต้องวิ่งโร่รับข้าวของแจกในแต่ละวัน เวลา 1 วันของคนไม่มีงาน ไม่มีเงินหลายคนหมดไปกับการตระเวนเข้าคิวรับของแจกตามจุดต่างๆ

เชียงใหม่เป็นอีกจังหวัดหนึ่งที่ตอนนี้เต็มไปด้วยผู้คนที่หมดหนทางหาเงินมาเลี้ยงปากท้องได้ด้วยอาชีพตามปกติ หลายคนต้องมารอเข้าแถวรับข้าวของแจกรอบๆ คูเมือง เมื่อ COVID-19 ผลักให้พวกเขาจำเป็นต้องใช้เวลาซื้อข้าวกิน ข้าว 1 มื้อของคนไม่มีงาน ไม่มีเงิน ต้องใช้เวลาเท่าไหร่

ชีวิตแต่ละวันของคนรอรับข้าวแจก

ยายอ้วน วัย 55 ปี ขี่รถมอเตอร์ไซค์ออกจากบ้านแถวขนส่งอาเขตตั้งแต่บ่าย 3 โมง เพื่อมารอรับข้าวแจกบริเวณคูเมืองได้ 3-4 วันแล้ว มื้อเช้าทำกินเองที่บ้าน กลางวันกินของเหลือจากตอนเช้า ตอนเย็นยายอ้วนค่อยออกมาต่อคิวรับข้าวกล่อง ช่วยทุ่นค่ากับข้าวไปได้ 1 มื้อ ยายอ้วนอาศัยอยู่กับสามี สามีอายุ 68 ปี ทำให้ออกมายืนต่อแถวรับข้าวไม่ไหว ยายอ้วนจึงต้องรับหน้าที่หาข้าวกล่องไปเผื่อสามีด้วย

จุดแจกข้าวแต่ละแห่งจะแจกจ่ายข้าวให้แก่ผู้ที่รับคนละ 1 กล่อง ยายอ้วนจึงต้องไปต่อคิวรับข้าวสองที่ บ่าย 3 โมงกว่าๆ ยายอ้วนก็จะมานั่งหลบแดดอยู่ใต้ต้นไม้รอเข้าแถวรับข้าวแจกที่ร้าน North Gate Jazz Co-Op บริเวณประตูช้างเผือกซึ่งจะเริ่มแจกข้าวตอน 4 โมงเย็น เมื่อได้ข้าวเสร็จแล้วประมาณ 4 โมงครึ่ง ยายอ้วนก็จะรีบขี่รถมอเตอร์ไซค์ไปรับข้าวอีกกล่องที่วัดเจดีย์หลวงต่อทันที เพราะวัดเจดีย์หลวงก็เริ่มแจกข้าวตอน 4 โมงเย็นเช่นกัน แต่ที่วัดเจดีย์หลวงมีข้าวแจกเยอะกว่าที่ร้าน North Gate ยายอ้วนจึงต้องไปรับข้าวที่นี่ก่อน กว่ายายอ้วนจะได้ขี่รถกลับบ้านไปกินข้าวเย็นกับตาก็เกือบ 6 โมงเย็นไปแล้ว

ก่อนหน้านี้ยายอ้วนมีอาชีพขายลูกชิ้นทอดอยู่หน้าขนส่งอาเขตกันสองคนตายาย แต่เมื่อ COVID-19 ระบาด ในช่วงปลายเดือนมีนาคมยายก็เริ่มขายของได้น้อยลง และเมื่อต่อมามีการประกาศหยุดเดินรถโดยสารข้ามจังหวัด ก็ยิ่งทำให้ขนส่งอาเขตร้างผู้คนไปโดยปริยาย ยายอ้วนจึงต้องหยุดขายของตามไปด้วย ความจำเป็นที่ต้องหยุดขายของเป็นเวลาเกือบเดือนทำให้ยายอ้วนนำเงินที่เคยใช้เป็นทุนขายลูกชิ้นทอดออกมาใช้จ่ายในแต่ละวัน จนตอนนี้เงินทุนของยายอ้วนใกล้หมดเต็มที ยายจึงต้องออกมาต่อแถวรับข้าวกล่องในตอนเย็น

“ถ้าขายของได้เราก็ไม่อด เราเป็นแม่ค้ามีเงินหมุน อันนี้ทุนหายกำไรหดหมดเลย ทุนมันหดไปกับกิน เราต้องกินทุกวัน ขนาดประหยัดสุดๆ แล้วนะ”

พี่หอม เป็นอีกคนหนึ่งที่ต้องพาลูกสาววัย 7 ขวบออกมาต่อแถวรับข้าวของแจกรอบคูเมือง พี่หอมทำงานเป็นหัวหน้าแม่บ้านของโรงแรมแห่งหนึ่งแถวท่าแพ แต่เมื่อ COVID-19 ระบาดหนักเข้าจนสายการบินต่างๆ ต้องหยุดบิน นักเที่ยวต่างชาติและคนไทยลดน้อยจนแทบไม่เหลือแขกมาเข้าพัก

โรงแรมที่พี่หอมทำงานต้องประกาศปิดชั่วคราวตั้งแต่วันที่ 21 ที่ผ่านมา พร้อมทั้งปรับลดเงินเดือนพนักงานเหลือคนละ 65 เปอร์เซ็นต์ จากที่พี่หอมเคยได้เงินเดือน 11,000 บาท ก็เหลือเดือนละ 7,000 กว่าบาท ทำให้พี่หอมเลือกที่จะเก็บเงินส่วนนี้ไว้สำหรับค่าใช้จ่ายที่จำเป็นอย่างค่าเช่าห้องพัก และค่าผ่อนรถมอเตอร์ไซค์ที่ยังค้างอยู่ แค่สองอย่างนี้เงินเดือนพี่หอมก็หมดไปเกือบ 5,000 บาทแล้ว ขณะที่ทั้งพี่หอมและสามีต่างถูกสั่งให้หยุดงานชั่วคราว

พี่หอมเริ่มออกมาต่อแถวรับข้าวตั้งแต่วันแรกที่ถูกสั่งให้หยุดงาน เพราะครอบครัวของแกมีลูกเล็กถึง 2 คนที่ต้องกินต้องใช้ทุกวัน ลูกคนเล็กวัย 4 ขวบ อีกคนหนึ่งยังเล็กอยู่ พี่หอมจึงให้รออยู่ที่บ้านกับพ่อ ส่วนแกก็ออกมารับของแจกกับลูกสาวคนโต โดยพี่หอมจะเน้นรับข้าวสารอาหารแห้งไว้ก่อน

“เราก็ไม่รู้ว่าอีกหน่อยเขาจะแจกอยู่ไหม กังวลว่าเขาจะไม่แจกกันแล้ว ตอนที่เขายังแจกนี่ต้องเอาไว้ก่อน”

ความพยายามในการกักตุนข้าวสารอาหารแห้งไว้สำหรับครอบครัวทำให้วันหนึ่งพี่หอมต้องไปตระเวนรับของแจกถึง 5 ที่ด้วยกัน

  • 10.00 น. ไปวัดดับภัย
  • 11.00 น. ไปวัดพระสิงห์
  • 12.00 น. ไปวัดโลกโมฬี
  • 15.00 น. ไปร้านคุ้มเสือ Tiger Kingdom สาขาคูเมือง
  • 16.00 น. ไปวัดเจดีย์หลวง

พี่หอมมีความกังวลว่าสิ้นเดือนนี้จุดแจกของในเชียงใหม่หลายที่อาจเริ่มหยุดแจกของกันแล้ว อย่างเช่นที่ร้านคุ้มเสือ Tiger Kingdom ที่ผู้เขียนไปเจอพี่หอมกำลังนั่งรอเข้าแถวต่อคิวอยู่นี้ ทางร้านประกาศชัดเจนว่าสิ้นเดือนหยุดแจก หลังจากที่ทางร้านพยายามอย่างสุดกำลังของคนธรรมดาในการยื่นมือเข้าไปช่วยเหลือผู้คนที่ต้องเดือดร้อนจากวิกฤติ COVID-19 มาตั้งแต่ต้นเดือนเมษายนที่ผ่านมา

เราอยู่ที่นี่จนถึงสิ้นเดือนเมษายน ทำสิ่งที่เราสามารถทำได้ สำหรับผู้ที่ต้องการมันมากที่สุด

คำประกาศผ่านทาง Facebook ของร้านคุ้มเสือ Tiger Kingdom

เมื่อเดินมาท้ายแถว ผู้เขียนพบ พี่หนู หมอนวดฟรีแลนซ์ที่เคยทำงานตามร้านนวดต่างๆ ทั่วเชียงใหม่กำลังนั่งรอรับของแจกอยู่ริมฟุตบาธใต้ต้นคูน ก่อนที่ร้านนวดจะเป็นหนึ่งในกิจการที่ถูกทางรัฐบาลสั่งให้ปิดบริการช่วง COVID-19 พี่หนูเคยหาเงินได้วันละอย่างน้อย 400 บาท

ชีวิตใน 1 วันของพี่หนูตอนนี้ไม่ต่างจากพี่หอมที่ต้องตระเวนรับของแจกวันละหลายที่ด้วยกัน เริ่มจาก 10 โมงเช้าที่บริเวณข้างวิทยาลัยเทคนิคเชียงใหม่ ซึ่งกำลังจะหยุดแจกสิ้นเดือนนี้เช่นกัน เที่ยงที่วัดโลกโมฬี บ่าย 3 โมงที่ร้านคุ้มเสือ Tiger Kingdom เสร็จแล้วค่อยไปหาข้าวแจกสักกล่องก่อนกลับห้องพัก

พี่หนูรู้ชะตากรรมคนทำอาชีพหมอนวดอย่างตัวเองดีว่าร้านนวดยังไม่มีทางได้เปิดเร็วๆ นี้แน่นอน และต่อให้ร้านสามารถกลับมาเปิดได้ตามปกติ กลุ่มนักท่องเที่ยวต่างชาติซึ่งเป็นลูกค้าหลักของร้านนวดทั่วเชียงใหม่ก็คงยังไม่กลับมาเหมือนเดิม ต้องใช้เวลาฟื้นตัวกันอีกนาน แกจึงต้องรีบเก็บข้าวสารอาหารแห้งไว้ให้ได้มากที่สุด เพราะพี่หนูไม่มีเงินเพียงพอที่จะนำไปซื้อของพวกนี้กักตุนไว้เอง

ลำพังเงินค่าเช่าห้องเดือนนี้แกก็ยังไม่รู้จะไปหามาจากไหน พี่หนูเป็นอีกหนึ่งคนที่ลงทะเบียนรับเงินเยียวยา 5,000 บาท จากรัฐบาล แต่ก็ไม่ได้รับสิทธิ เนื่องจากระบบระบุว่าแกเป็นเกษตรกร ซึ่งเป็นข้อมูลเก่า ทั้งที่พี่หนูหันมาทำอาชีพหมอนวดได้ 7 ปีแล้ว

เมื่อแขนของคนธรรมดากำลังจะอุ้มเองไม่ไหวอีกต่อไป

ตลอดระยะเวลาเกือบ 1 เดือนที่ผ่านมา วัดและภาคเอกชนในจังหวัดเชียงใหม่หลายแห่ง ต่างพยายามให้ความช่วยเหลือคนตกงานและไม่มีเงินซื้อข้าวกินให้มีชีวิตรอดกันต่อไปได้ น้ำใจของประชาชนคนธรรมดาเหล่านี้ปรากฏให้เห็นในรูปของข้าวกล่องและข้าวสารอาหารแห้งตามจุดแจกของต่างๆ ด้วยความหวังที่อยากให้คนเชียงใหม่รอดไปด้วยกัน

แต่ลำแขนของคนธรรมดาในเมืองนี้จะแข็งแรงพอที่จะโอบอุ้มกันเองต่อไปได้อีกนานเพียงใด คนแจกเองก็ไม่ได้มีเงินทุนมากมาย ขณะที่คนรับก็ยังคงไม่สามารถเลี้ยงชีพตัวเองได้ด้วยอาชีพ

หากผ่านสิ้นเดือนนี้ไปแล้วจุดแจกของต่างๆ ลดจำนวนลง คนที่มีชีวิตอยู่ได้ด้วยข้าวของแจกเหล่านี้จะไปหาข้าวกินได้ที่ไหน และแถวที่มีจะต้องยาวไปอีกกี่กิโลเมตร แค่เพียงทุกวันนี้การรอรับข้าวแจกตอนเที่ยงวันของจุดแจกบางแห่งในจังหวัดเชียงใหม่ ยังมีผู้คนออกมารอคิวกันตั้งแต่ 08.30 น.

เราจะปล่อยให้คนธรรมดาต้องโอบอุ้มกันเองต่อไปอีกนานเท่าไหร่ และความกังวลที่ไร้การเหลียวแลของคนจนที่ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 เหล่านี้รัฐบาลจะรับผิดชอบอย่างไร

Author

วรรณา แต้มทอง
อดีตนักเรียนกฎหมายที่เลือกทำความเข้าใจความยุติธรรมผ่านวรรณกรรม จึงล้มลุกคลุกคลานกับเปาบุ้นจิ้นอยู่หลายปีกว่าจะเรียนจบปริญญาโท หวั่นไหวกับหนังสือ วรรณกรรม
สารคดี จนอยากเป็นนักเขียน ชอบฟังเพลงที่แปลไม่ออก

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า