‘โนรา’ ศาสตร์ ศิลป์ ศรัทธา กับการเคารพบูชาบรรพบุรุษที่ไม่มีวันเสื่อมคลาย

เมื่อพูดถึง ‘โนรา’ หลายคนอาจคุ้นเคยและรู้จักกันในนาม ‘มโนราห์’ ศิลปะการแสดงพื้นบ้านของภาคใต้ที่มีชื่อเสียง และมีพัฒนาการสืบทอดมาอย่างยาวนาน ด้วยเอกลักษณ์จากเครื่องแต่งกายและการร่ายรำ โนราจึงมีอัตลักษณ์โดดเด่นอย่างชัดเจน

โนราที่เราเห็นหรือชมในงานมงคลและงานรื่นเริง เป็นการแสดงโนราประเภทหนึ่งที่เรียกว่า ‘โนราบันเทิง’ ซึ่งมีความหมายตามชื่อเรียก คือให้ความบันเทิงแก่ผู้ชมด้วยการรำ ร้อง และทำบท แต่จริงๆ แล้วยังมีโนราอีกประเภทหนึ่งที่ถือว่า เป็นรากฐานและจุดกำเนิดของโนราบันเทิง นั่นคือ ‘โนราพิธีกรรม’ หรือ ‘โนราโรงครู’

โนราพิธีกรรมหรือโนราโรงครูถือเป็นพิธีกรรมที่มีความสำคัญอย่างมากสำหรับลูกหลานวงการโนรา เพราะเป็นพิธีที่จะเชิญบรรพบุรุษโนรามาให้ลูกหลานได้กราบไหว้ ณ โรงพิธี และยังเป็นช่วงเวลาสำคัญของโนรารุ่นใหม่ที่กำลังจะก้าวเข้าสู่การเป็นโนราอย่างเต็มตัว แน่นอนว่าพิธีกรรมที่เกิดขึ้นในโรงครูไม่ได้มีเพียงเท่านี้ แต่ยังมีพิธีกรรมและลำดับขั้นตอนอีกมากที่สอดแทรกวิถีชีวิตของผู้คน ความเชื่อ และความทรงจำเอาไว้

‘ครูหมอโนรา’ และ ‘ตายายโนรา’ บรรพบุรุษที่ล่วงลับ

ศิลปะและศาสตร์การแสดงหลายแขนงล้วนแล้วแต่มีครูบาอาจารย์เป็นดั่งที่ยึดเหนี่ยวจิตใจ และเป็นที่เคารพนับถือบูชา เราอาจคุ้นเคยกับ ‘ครูฤาษี’ บรมครูแห่งศาสตร์ของการแสดงที่คนในแวดวงศิลปะแขนงต่างๆ เคารพนับถือ แต่สำหรับโนรา ยังมีครูที่ต้องเคารพบูชาอีกประเภทหนึ่งก็คือ ‘ครูหมอโนรา’ และ ‘ตายายโนรา’

ในความเชื่อของโนรา ครูหมอโนราและตายายโนราคือครูและบรรพบุรุษผู้ล่วงลับ เป็นวิญญาณศักดิ์สิทธิ์ที่คอยปกปักรักษาผู้มีเชื้อสายโนรา อีกทั้งยังมีพลังอำนาจ สามารถบันดาลทั้งคุณและโทษแก่ลูกหลาน และในทุกๆ ปีลูกหลานจะต้องจัดพิธีเซ่นไหว้ เพื่อเป็นการแสดงความกตัญญูและขอบคุณบรรพบุรุษที่คอยดูแล หากลูกหลานไม่จัดพิธีเซ่นไหว้ หรือประพฤติตนไม่เหมาะสมตามศีลธรรมอันดี จะต้องถูกครูหมอโนราและตายายโนราลงโทษ บ้างเจ็บไข้ได้ป่วยและไม่สามารถรักษาได้นอกจากการทำพิธีบวงสรวงเท่านั้น

นอกจากจัดพิธีเพื่อขอบคุณบรรพบุรุษแล้ว ในช่วงเวลาเดียวกันนั้น ลูกหลานโนรายังสามารถขอให้ครูและบรรพบุรุษโนราช่วยเหลือในเรื่องต่างๆ ได้ด้วยการบนบาน หรือที่ภาคใต้เรียกว่า ‘เหฺมฺรย’ อันหมายถึงสัญญาหรือข้อตกลงที่ผู้นั้นได้ให้ไว้ และเมื่อสมปรารถนาตามที่ขอเอาไว้ ผู้บนบานจะต้องนำเครื่องเซ่นมาแก้บน หรือหากบนด้วยการรำโนราถวาย ก็จะต้องนำพานดอกไม้ธูปเทียนและเงินมาให้โนราใหญ่ช่วยทำพิธีที่เรียกว่า ‘ตัดเหฺมฺรย’ ด้วยการใช้มีดหมอ (พระขรรค์) ตัดกลางระหว่างหมากพลูเพื่อเป็นสัญลักษณ์ว่า ไม่มีสิ่งใดติดค้างกันอีก

โรงครู พื้นที่ศักดิ์สิทธิ์แห่งการนับถือและบูชา

โรงครูจะถูกจัดขึ้นโดยลูกหลานโนราเป็นประจำทุกปี หรือตามคำสัญญาที่ให้ไว้กับครูหมอตายาย การจัดโรงครูมีระยะเวลาทั้งหมด 3 วัน 2 คืน และจะจัดขึ้นในช่วงเดือน 6 หรือเดือน 9 ตามจันทรคติ เพื่อแสดงความเคารพบูชาต่อครูหมอโนราหรือตายายโนราที่ล่วงลับ เป็นดั่งพื้นที่ของความสัมพันธ์ระหว่างจิตวิญญาณกับลูกหลานที่ยังมีชีวิตอยู่

ตลอด 3 วัน 2 คืนของโรงครูโนรา จะมีการประกอบพิธีกรรมที่สำคัญมากมาย อาทิ ในวันแรกจะมีพิธีไหว้ภูมิโรงโนรา, ยกขันหมาก เบิกโรง ภาตครู, พิธีตั้งบ้านตั้งเมือง และรำถวายครูหมอโนรา

พิธีกรรมในวันที่สองจะเริ่มด้วยการบูชาพระรัตนตรัย-ชุมนุมเทวดา, แต่งพอก-กาดครู, พิธีครอบเทริด, พิธีถวายหมฺรับ-รำถวายหน้าศาล, จับบท 12 กำพรัด 12 คำบท, เหยียบเสน-รักษาโรค และเชิญครูหมอตายายประทับทรง

และในวันสุดท้าย พิธีกรรมจะเริ่มจากการรำคล้องหงส์-พิธีแทงเข้, แก้เหฺมฺรย-ตัดเหฺมฺรย (แก้บน), บทส่งครู-ตัดจากสามเหลิง, บทส่งผี-รำเฆี่ยนพราย และจบด้วยการดับเทียนชัยลาโรงครู

พิธีแทงเข้

เมื่อถามว่าทำไมการจัดโรงครูต้องใช้เวลา 3 วัน 2 คืน เกรียงเดช ขำณรงค์ (โนราเกรียงเดช นวลระหงส์) ให้ความเห็นว่า โรงครูมีหลายบทบาทหลากหน้าที่และด้วยพิธีกรรมต่างๆ อาทิ การรำ 12 คำพลัด เล่น 12 เรื่อง รำ 12 เพลง และอีกสารพัด ปราชญ์สมัยก่อนจึงกำหนดว่า เวลา 3 วัน 2 คืน เป็นระยะเวลาที่เหมาะสมครบถ้วนในการจะประกอบพิธีทั้งหมดเหล่านี้ รวมไปถึงการตั้งของกราบไหว้บูชาและรำถวาย

ส่วนปัจจัยที่ทำให้ต้องจัดโรงครูโนราในช่วงเดือน 6 และเดือน 9 ธวัชชัย มหาชัย (โนราปอย บ้านตรัง) เล่าว่า เนื่องจากในช่วงเวลาเดือน 6 หลังฤดูการเก็บเกี่ยวเพียงไม่นานจะมีกลิ่นของข้าวใหม่ พอจัดโรงครูโนราจะได้นำข้าวเหนียวใหม่ ข้าวเจ้าใหม่ น้ำผึ้งใหม่มาเป็นของเซ่นไหว้ ส่วนในเดือน 9 เป็นช่วงที่ว่างจากการทำนา เพราะเพิ่งหว่านต้นกล้าไป ยังไม่แตกหน่ออ่อน

ทั้งสองช่วงจึงเหมาะสมต่อการจัดพิธีกรรม เพราะหากจัดโรงครูในช่วงทำเกษตรกรรม ชาวบ้านจะไม่มีเวลาทำพิธี แต่ในปัจจุบัน ช่วงเวลาประกอบพิธีกรรมก็เปลี่ยนไปบ้างแล้ว เนื่องจากของเซ่นไหว้ในพิธีสามารถหาได้ง่ายขึ้น บางพื้นที่จึงเริ่มจัดโรงครูตั้งแต่เดือน 4 เป็นต้นไป

นอกจากนี้ โนราปอยยังอธิบายเพิ่มเติมเกี่ยวกับการจัดพิธีโรงครูในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ว่า มีความแตกต่างจากพื้นที่อื่นๆ ในปัตตานีจะเริ่มจัดโรงครูตั้งแต่เดือน 6 เป็นต้นไป แต่หากเป็นเดือน 8 ข้างแรมจะไม่มีการจัดโรงครู เนื่องจากเป็นช่วงเข้าพรรษา ครูหมอไปวัดฟังเทศน์ฟังธรรม ส่วนในช่วงเดือน 10 จะไม่มีการจัดโรงครูเนื่องจากเป็นช่วงของสาทรเดือนสิบ เหล่าบรรพบุรุษกลับมากินอยู่ที่วัดหรือที่บ้าน ซึ่งเหล่าลูกหลานได้จัดเตรียมไว้ให้อยู่แล้ว รวมไปถึงช่วงออกพรรษา เพราะถือว่าเป็นช่วงชักพระหรือทอดกฐิน ซึ่งไม่มีเวลาจัดโรงครูเนื่องจากสมัยก่อนนั้นมีความยุ่งยาก

ทั้งนี้ หากวันเข้าโรงครูในเดือน 4 ตรงกับวันขึ้นหนึ่งค่ำหรือวันจันทร์ ซึ่งวันจันทร์จะเท่ากับขึ้นจันทร์ดอยจันทร์ หรือเรียกว่า ‘วันดอย’ เปรียบเหมือนกับวันตายหรือวันไม่ดี ก็จะไม่มีการจัดโรงครู นอกจากนี้ ยังมีการคำนวณจากปีนักษัตรของเจ้าบ้านอีกด้วย ตัวอย่างเช่นหากเจ้าบ้านเกิดปีวอก เมื่อคำนวณนับว่าวันไหนตรงกับวันมรณะ ก็จะไม่สามารถจัดพิธียกครูได้ เพราะถือว่าการทำพิธีโรงครูเป็นการแก้เคราะห์และมลทินในใจของเจ้าบ้านให้หมด

นอกจากช่วงเวลา (วันและเดือน) ในการจัดโรงครูแล้ว โนราปอยอธิบายเพิ่มเติมว่า การปลูกโรงครูในพื้นที่ปัตตานีมีความเคร่งครัดเป็นอย่างมาก โดยจะต้องปลูกทางทิศตะวันออกของบ้านเท่านั้น เพราะพระเศียรของพระพุทธรูปนอนหันไปทางทิศตะวันออกถือเป็นทิศของครู โนราบูชาครูจึงต้องหันไปหาทางทิศของครู

โนรากับสถานะมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของมนุษยชาติ

เมื่อปลายปี 2564 องค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (United Nations Educational, Scientific and Cultural Organization: UNESCO) ประกาศให้โนราเป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของมนุษยชาติ (Representative List of the Intangible Cultural Heritage of Humanity) ถือเป็นหมุดหมายสำคัญในการต่อลมหายใจของโนรา และสืบทอดวัฒนธรรมของบรรพชนโนราสู่ลูกหลานสมัยใหม่ และนับเป็นการก้าวย่างที่สำคัญที่ช่วยอวดโฉม ‘ศิลปะที่ยังมีลมหายใจ’ สู่สายตาคนทั่วโลก

โนราจึงไม่ใช่เพียงแค่ศิลปะการแสดงที่เป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่ทรงคุณค่า แต่ยังเป็นเสมือนกาวเชื่อมโยงตัวตนและวิถีของชุมชนอย่างแนบแน่น และทำหน้าที่เป็นสื่อคอยบอกเล่าและสะท้อนถึงวัฒนธรรม วิถีชีวิตของผู้คน ความเชื่อ และความทรงจำให้แก่เหล่าคนรุ่นใหม่ เพื่อก้าวสู่การเป็นส่วนหนึ่งของโลก รวมไปถึงเป็นสื่อที่เชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างบรรพบุรุษและลูกหลาน

อ้างอิง:

Author

ณัชชา กันเขตร
นักพิสูจน์อักษรผู้ชอบนอนดึกตื่นเช้า อดีตนักเรียนประวัติศาสตร์ศิลปะ เวลาว่างชอบอ่านเว็บตูนและวาดรูป กำลังค้นหาและทดลองทำสิ่งใหม่ๆ ใช้ชีวิตอยู่เพื่อทักทายและทำความรู้จักกับแมวจร

Photographer

นันทิกร วิทูรสุนทร
จบการศึกษาจากคณะสังวิทฯ (เน้นสังคมวิทยา ไม่ใช่มานุษยฯ อย่างที่คนอื่นเข้าใจ) แต่พักการลงฟีลด์มาจับคีย์บอร์ด เมาส์ ปากกา และโทรศัพท์ เป็นมิตรแท้ของกองบรรณาธิการ(ที่มักเป็นศัตรูกับตารางเวลา) นอกจากนั้นยังจับหวีแปรงปรนนิบัติแมว รักการอ่านหนังสือโดยเฉพาะเวลาฝนตก และอ้อมกอดอุ่นของผ้าห่ม

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า