ห้องโถงขาวอบอุ่นประดับด้วยภาพเพ้นท์ติ้งโทนเย็นเบาสบาย เส้นสายลายฝีแปรงเปื้อนเปรอะแคนวาสนุ่มนวลชวนให้เราได้พักสายตาจากกิจวัตรและใคร่ครวญถึงการเติบโตในฐานะมนุษย์เดินดินที่ย่อมเสียสมาธิให้กับสิ่งรบกวนรอบข้าง
นิทรรศการ ‘Growing in Between’ ของ นัด-ณัฐพงศ์ ดาววิจิตร หรือ ‘Nut Dao’ นักวาดภาพประกอบ กราฟิกดีไซน์เนอร์ และผู้ร่วมก่อตั้ง PRACTICAL School of Design และ Lig Goods ศิลปินผู้ทำงานหลากหลายแนวทางและนักจัดวางสิ่งรอบข้างให้เป็นงานสร้างสรรค์ ในนิทรรศการเดี่ยวครั้งนี้ เราจะพบศูนย์กลางอยู่ที่ภาพคนสีฟ้าตัวใหญ่ทัดเทียมผืนผ้าใบเบื้องหลังซึ่งถูกละเลงด้วยสีดำ ภาพเดียวกันนี้ยังถูกใช้เป็นโปสเตอร์หลักของนิทรรศการ
กระนั้น ความโดดเด่นที่มองข้ามไม่ได้ คือบรรดาชิ้นงานที่สะท้อน ‘สภาวะผันแปร’ ทั้งภายนอกและภายในได้อย่างตรงไปตรงมา ซึ่งเป็นงานชุดใหม่ที่เขาจัดแสดงเป็นครั้งแรก
กรอบเล็กๆ ตรงกลางเสมือนการเติบโตของมนุษย์เราที่ต้องเผชิญสังคมที่จับจ้องปุถุชนคนธรรมดา ท่วงท่าของคนในกรอบจึงแสดงความพยายามตะเกียกตะกายเพื่อหายใจเหนือผิวน้ำ เสมือนการเติบโตท่ามกลางสภาวะของโลกที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา
“เราชอบงานชุดใหม่ที่หดเฟรมให้เล็กลงและทำอะไรรอบๆ นั้นได้ ถ้าส่วนตัวก็ชอบชิ้นสีส้มแล้วก็ชิ้นที่ใช้เป็นโปสเตอร์ รูปที่คนสองคนกำลังลุกขึ้นจากพื้น กำลัง push ตัวเองขึ้นจากพื้น
“ส่วนชิ้นที่ชื่อ ‘Regeneration’ คือการแลกเปลี่ยน energy การ connect กับคนอื่น ก็เลยวาดคนเชื่อมโยงกัน คล้ายการไหลของ energy ดีๆ เป็นเหมือนการฟื้นฟูกัน”
กล่าวได้ว่า การเติบโตสำหรับนัด ไม่เพียงต้องอาศัยเรี่ยวแรงในการทลายกรอบบางอย่างจาก ‘ภายใน’ สู่ ‘ภายนอก’ แต่ยังต้องอาศัยการเชื่อมโยงจาก ‘ภายนอก’ สู่ ‘ภายใน’ สิ่งนี้อาจเป็นสารที่ Growing in Between กำลังบอกเรา
นอกจากภาพเพ้นท์ติ้งที่ใช้ ‘ลวดลาย’ แล้ว ยังมีชิ้นงานจากวัสดุอื่นที่ใช้ ‘รูปทรง’ นำเสนอความพยายามเติบโตผ่าน ‘ก้อนหิน’ นัดชวนให้เรามองแบบแยกส่วนกับสิ่งหนึ่งๆ ที่ถูกจัดวางในลักษณะกระจัดกระจาย ซึ่งอาจนำไปสู่การประกอบความหมายใหม่ให้สิ่งเดิมได้ ด้วยกรรมวิธีทำพิมพ์ก้อนหิน เพื่อเจาะและผ่าราวปอกเปลือกผลไม้ จากนั้นจึงนำไปรมควันตามเหลี่ยมมุมเพื่อสร้างมิติให้แต่ละชิ้น ทำให้รสชาติของการเสพนิทรรศการมีความหลากหลายแพรวพราวมากขึ้น
ในฐานะคนที่คร่ำหวอดในวงการออกแบบมาเนิ่นนาน นัดหรือ Nut Dao สามารถปรับสมดุลระหว่างงาน commercial และงาน passion ได้อย่างน่าสนใจ ความเป็นมืออาชีพทำให้เราอดสงสัยไม่ได้ว่าวิธีคิดต่อการทำงานของเขามีหน้าตาอย่างไร
“มันเป็น package ที่ต้องพ่วงไปด้วยกัน เราคงหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะเราอยู่ในโลกทุนนิยม แต่เราสามารถเลือกงานที่ไม่ได้ส่งผลกระทบกับสิ่งที่เราไม่อยากให้มันเป็น เราสามารถไม่ทำสิ่งนั้นได้ เช่น ไปทำ merch ที่ดูเป็นขยะ เราจะเลี่ยง แต่บางทีมันก็เลี่ยงไม่ได้หรอก ต้องมีบ้าง
“บางคนอาจโฟกัสพาร์ทนี้และดันไปให้สุด แต่เราโตมาจากฝั่งดีไซน์ เราจึงมีฐานลูกค้าจากตรงนั้น มันโอเคนะ เรายังสนุกกับการทำงานอยู่ แต่ตอนแรกเราก็ struggle คือเราคิดว่าจะรวมกันได้ยังไง เราจะเอาพาร์ท passion ไปขายลูกค้าเหรอ มันไม่ได้อยู่แล้ว แบรนด์ที่ไหนจะเอารูปไปทำ content เครียดๆ แน่นอนว่า เขาอยากให้งานมันเพลินๆ นั่นเป็นฟังก์ชันหนึ่งของภาพประกอบ
“เราจึงแยกกันไป คือมันต้องมีทั้งฝั่งหาเงินและฝั่งหล่อเลี้ยง เหมือนฝั่งนี้ต้องส่งเสริมตัวงานอีกฝั่งหนึ่ง อีกฝั่งก็ส่งเสริมอีกฝั่ง ถ้าทำแต่ commercial อย่างเดียวมันก็หมดไฟ มันจะค่อยๆ แห้งไปเรื่อยๆ”
นัดกล่าวต่อไปว่า การทำงานระหว่างเอเจนซีญี่ปุ่นกับการทำงานในไทยก็ย่อมมีความแตกต่าง ทั้งความชัดเจนในการบรีฟงานก็ดี ความเป็นอิสระในการรังสรรค์ผลงานก็ดี รวมถึงสิทธิบางอย่างระหว่างนักออกแบบกับลูกค้า ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่า ในฐานะคนทำงาน ความชัดเจนเป็นสิ่งจำเป็น
“เวลาทำงานกับฝั่งญี่ปุ่น ส่วนใหญ่เขาจะเคลียร์บรีฟมาให้หมด เขาจะเคลียร์กับลูกค้าว่า ลูกค้าอยากให้วาดอะไร อยากให้คนทำท่าทางแบบไหน อยากให้ใส่ชุดอะไร อยากมีอีเวนต์อะไรอยู่ในรูปนั้น เขาจะกำหนดมาให้หมด ด้วยความที่เราทำงานผ่านเอเจนซีด้วย เขาก็มีฟังก์ชันของเอเจนซีที่ต้องทำสิ่งนี้อยู่แล้ว มันจะเร็วและทำงานง่ายกว่า
“ส่วนการทำงานในไทย มันดูคล้ายๆ จะเปิดกว้างนะ คือลองทำมาก่อน ตามใจศิลปินเลย สุดท้ายเขาจะ scope ตอนหลัง เขาจะเริ่มมีไอเดียทีหลัง แต่เราจะได้ลองเยอะกว่า เหมือนได้ทดลองอะไรต่อมิอะไร
“ที่สำคัญ ในไทยจะมีลำดับขั้นในองค์กรเยอะ พอเราเสนอตรงนี้ไป เขาก็ต้องไปเสนอข้างบนอีกที เขาจะไม่ให้เราเสนอตรงนี้แล้วคุยกับข้างบน ซึ่งมันจะเคลียร์แล้วก็บรีฟกลับมาตรงๆ ถูกไหม มันจะตีปิงปองกันแค่ตรงนี้ สิ่งที่เกิดขึ้นคือ พองานขึ้นไปข้างบนแล้วเขาไม่เอา มันก็จะกลับมาเริ่มใหม่หมด ซึ่งกระบวนการทำงานแบบนี้มันฝังอยู่ในทุกอณูของประเทศ”
จากประสบการณ์ นัดรู้สึกว่าคนญี่ปุ่นเคารพและเห็นคุณค่าในงานของเขามากกว่า รวมถึงการทำตามข้อสัญญาอย่างเคร่งคัด ขณะที่ในไทย หากมีช่องโหว่หรือความคลุมเครือในสัญญา ก็อาจถูกใช้งานเกินสัดส่วน
“ฟังก์ชันของเราคือวาดสิ่งที่เขาคิดให้ออกมาเป็นรูปเป็นร่าง มันสบายใจกว่าการโดนบังคับให้ทำ หมายถึงว่า มีบรีฟชัด ก็เป็นความง่ายต่อการทำงานและลดขั้นตอน คือเราโอเคนะ แต่จะมีบ้างที่เราอยากลองแบบนู้นแบบนี้ ซึ่งทำให้ไม่ได้งานตามที่กลุ่มทุนเขากำหนดมา มันก็มีข้อดีข้อเสียปะปนกันไป”
เรายิงคำถามต่อไปว่า ในมุมมองของนักวาดภาพประกอบ ปัญหาของคนทำงานสร้างสรรค์ในไทยคืออะไร นัดนิ่งและยิ้มเล็กน้อย
“ก็เยอะนะ (หัวเราะ) ในไทยจะ treat คนเป็น influencer อะไรสักอย่าง เหมือนแพ็กคู่กัน คือใช้หน้าตาของศิลปินในการเพิ่มมูลค่า หากลองสังเกต ถ้าวาดรูปอย่างเดียว ไม่ออกสื่อ และ acting ไม่ได้ คนฝั่งนี้จะโตช้ากว่า
“ส่วนใหญ่แบรนด์ไทยเหมือนต้องติดหน้าคนไปด้วย เราเห็นหลายที่ก็ไม่ต้องโพสต์หน้าศิลปินตลอด อย่างที่ญี่ปุ่น บางคนไม่รู้ด้วยซ้ำว่าคนวาดคือใคร สิ่งนี้เป็นปัญหาหนึ่ง เพราะบางคนไม่ได้ถนัดแบบนั้น คือเขาทำงานได้ แต่เขาไม่ได้อยากมาพูดหรือขายของขนาดนั้น พื้นที่ในการเติบโตจึงมีจำกัด”
แน่นอนว่า นัดอยู่ในเส้นทางการเติบโตที่พยายามไกลจากสภาวะผันแปรของทุนนิยม การประนีประนอมของเขาจึงคล้ายการมองหาความสมดุลระหว่าง ‘พื้นที่’ ของเฟรมที่หดเล็กลงกับแคนวาสผืนใหญ่ที่เรียกว่าโลก
“เราไม่คิดว่าเราต้องมี branding หรือต้องมีภาพจำ คือมันค่อยๆ develop ว่าเราชอบวาดอะไร ชอบทำอะไร เราเป็นคนชอบหลากหลาย ซึ่งทุกคนก็น่าจะเป็นแบบนี้ จับอันโน้นทีอันนี้ที จากนั้นเราค่อยๆ scope ตัวเอง ค่อยๆ ตัดออกจนเหลือสิ่งที่เราอยากทำจริงๆ ภาพมันก็จะชัดขึ้นมาเอง”
ด้านหนึ่ง ตัวตนของ Nut Dao จึงไม่ผูกติดกับความเป็นแบรนด์หรือความเป็นทุนนิยม เฉกเช่นมุมมองของเขาที่ว่า การออกแบบไม่จำเป็นต้องจำกัดเฉพาะวงของ ‘ผู้เชี่ยวชาญ’ เสมอไป
“การออกแบบเป็นสิ่งที่อยู่ในตัวทุกคนตั้งแต่แรก แต่ด้วยวิธีการเรียกอาชีพ มันสร้างการเป็นผู้เชี่ยวชาญให้คนกลุ่มหนึ่ง”
ในฐานะคนหนึ่งที่ต้องการผลักดันให้การออกแบบเข้าถึงทุกคน นัดสรุปว่า
“จริงๆ การออกแบบเป็น skill ที่เราใช้ได้เลย จะอาม่าหรือป้าๆ เขาก็มีวิธีการออกแบบอะไรสักอย่างในชีวิตประจำวันเหมือนกัน คือเขาทำให้อะไรมันง่ายและตรงตามเป้าหมายที่เขาอยากทำ มันก็ใช้ได้แล้ว”
ถึงที่สุดแล้ว การแสดงความรู้สึกของตนออกมาอาจทำให้เราเข้าใจบางสิ่งบางอย่างได้ดีขึ้น ร่องรอยบนพื้นผิวผ้าใบและรูปทรงของก้อนหินทำให้เราเห็นร่องรอบ มุมมอง และมิติหนึ่งของการเติบโต ดั่งแนวคิด “A time of change and a trace of thought” ของนิทรรศการ Growing in Between
นิทรรศการ ‘Growing in Between’ จัดแสดงที่ Saratta Space (BTS สนามกีฬาแห่งชาติ) ตั้งแต่วันนี้จนถึง 8 มกราคม 2023 เวลาทำการ อังคาร-พุธ และ ศุกร์-อาทิตย์ (ปิดจันทร์กับพฤหัสบดี) เวลา 10.00-19.00 น.
รายละเอียดเพิ่มเติม