เที่ยงตรงของวันที่ 6 ตุลาคม 2565 เราดันประตูกระจกของ KINJAI CONTEMPORARY เข้ามาพบส่วนเริ่มต้นของนิทรรศการ ‘6 ตุลา เผชิญหน้าปิศาจ | 6 October: Facing Demons’ แลเห็นเก้าอี้พับสีดำอยู่ด้านซ้ายและภาพวอลเปเปอร์ขาวดำราบเรียบไปกับผนังซึ่งอาบด้วยแสงอุ่นตุ่นสีส้ม ภาพที่ปรากฏเสิร์ฟอารมณ์หนักอึ้งให้เราแต่เนิ่นๆ
“บางรูปพอขยายแล้ว เราจึงเห็นว่ามีคนปีนต้นไม้ ซึ่งเราไม่เคยเห็นมาก่อน”
เจ้าหน้าที่นิทรรศการบรรยายให้ฟังอย่างเป็นมิตร พร้อมแนะนำที่มาของนิทรรศการอย่างคร่าวๆ โดยนิทรรศการจะจัดแสดง ‘ชุดภาพถ่าย’ ของเหตุการณ์ 6 ตุลา นับจากคืนวันที่ 5 ตุลา ไล่จนถึงเหตุการณ์สงบในอีกวัน ซึ่งบางส่วนเป็นภาพที่ไม่เคยถูกเผยแพร่ ขณะที่บางส่วนถูกนำมาขยายและปรับความคมชัด
แม้ภาพที่จัดแสดงจะมิได้เป็นหลักฐานใหม่ แต่ก็เผย ‘รายละเอียด’ บางอย่างที่ซุกซ่อนอยู่ในวันนั้นเพิ่มเติม รายละเอียดดังกล่าวจึงถูกพินิจอีกครั้งเพื่อให้ผู้ชมได้ค้นหาหรือเผชิญหน้ากับ ‘ปิศาจ’ ตามชื่อของนิทรรศการ
เมื่อเดินวนครบทั้ง 4 ชั้น ตะกอนความคิดแรกที่พุ่งมาทักทายเรา คือ ภาพถ่ายและคำบรรยายอาจไม่ใช่สิ่งที่บอกผู้ชมว่า ‘ใคร’ คือปิศาจ หากแต่เป็นมวลอารมณ์ที่สะท้อนผ่านสีหน้า แววตา และท่าทาง ซึ่งถูกดักจับไว้ด้วยภาพฟิล์มขาวดำ สิ่งนี้สะท้อนความไม่รู้ ความไม่แยแส ความเชื่องเชื่อ ความกลัว รวมถึงความป่าเถื่อน กระนั้น สำหรับผู้ที่สนใจหรือศึกษาเหตุการณ์ 6 ตุลา อย่างใกล้ชิด นิทรรศการนี้อาจมิได้ให้ความรู้สึกใหม่ เพราะลำพังความอยุติธรรมของ 6 ตุลา ก็ย้ำเตือนเราเสียจนไม่มีความรู้สึกใดต้องถกเถียงกันอีก
กลวิธีเล่าเรื่องกระตุกความสนใจเราเป็นพิเศษ เพราะนับแต่ขั้นบันใดขั้นแรก จะมีการจัดแสดงไทม์ไลน์การเมืองไทยเทียบเคียงไปกับเหตุการณ์สำคัญของโลก
ก้าวแรก ขั้นบันไดระบุปี พ.ศ. 2475 (การอภิวัฒน์สยาม) และขั้นบันไดสุดท้ายระบุปี พ.ศ. 2519 (เหตุการล้อมปราบนักศึกษาและประชาชนในธรรมศาสตร์) และบนชั้น 4 นี้เองที่แสงธรรมชาติฉาบใบหน้าพร้อมสรรพกับเงามืดของเมฆฝน
การไล่เลียงเช่นนี้ ไม่เพียงชวนให้เราได้ค่อยๆ ทำความเข้าใจเหตุการณ์ 6 ตุลา จากภาพถ่าย แต่ยังช่วยให้เราเข้าใจสภาพสังคมไทยก่อนและหลังเหตุการณ์ล้อมปราบ
ชั้น 1 คืออารัมภบท เราจะพบรูปที่ถูกขยายใหญ่เท่าความกว้างของห้อง รายละเอียดที่ถูกทำให้เด่นชัดขึ้น สอดคล้องกับธีม ‘ปิศาจซ่อนอยู่ในรายละเอียด’ (The Devil is in the details)
ชั้น 1.5 หรือชั้นลอย จำลองบรรยากาศพิธีกรรมเผาศพนอกเมรุได้อย่างน่าเวทนาอดสู กระนั้น บรรยากาศทึบทึมอาจเป็นผลมาจากพื้นที่เล็กจ้อยและเพดานเตี้ยต่ำ
ชั้น 2 แถลงการณ์คณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินของ พล.ร.อ.สงัด ชลออยู่ กระจัดกระจายไปทั่วบริเวณ ‘ประกาศยึดอำนาจ’ บนกระดาษขาวมากมายถูกใช้เป็นเครื่องเคียงคู่กับภาพถ่ายที่แนบชิดติดผนัง ซึ่งบางภาพจะมีจุดโฟกัสสีแดงบนตัวบุคคล ชวนเราตั้งคำถามว่าเขาเป็นใคร มีบทบาทอะไรในวันนั้น อาจเป็นปิศาจในรายละเอียดหรือไม่
ชั้น 3 จัดเป็นชั้นไฮไลต์ของงาน ประกอบด้วย บทสัมภาษณ์ของช่างภาพผู้ลั่นชัตเตอร์และยังมีโซนฉายวิดีโอในห้องเล็กๆ ทั้งความเย็นและเนื้อหาทำเอาเราขนลุกกราวไม่น้อย นอกจากนี้ ยังมีวัตถุจัดแสดงอย่างผ้าพันคอและวอกเกิ้ลลูกเสือชาวบ้าน เลนส์กล้องของคุณสมบูรณ์ เกตุผึ้ง อดีตช่างภาพหนังสือพิมพ์สยามรัฐที่ผ่านการใช้งานจริงในเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 รวมไปถึงอุปกรณ์ของตัวละครปริศนาอย่างตำรวจพลร่ม
ชั้น 4 ชี้ให้เห็นบทบาทของ ‘ผู้หลักผู้ใหญ่’ ตัวเป้งซึ่งลงมาไกล่เกลี่ยและอวยพรให้ทุกคน (?) โชคดี แยกย้ายกลับบ้าน จากนั้น 18.00 น. เหตุการณ์ความรุนแรงจึงสงบลง ศิลปะการจัดวางบริเวณชั้นบนสุดแสดงให้เราเห็นว่า เหตุการณ์ 6 ตุลา ไม่เพียงอยู่ในความทรงจำอันรางเลือนของสังคมไทย แต่ยังคงดำรงอยู่ในสังคมปัจจุบัน คลับคล้ายคลับคลาการลอกคราบเปลี่ยนยุคสมัยและผู้เล่นก็เท่านั้น
ในชั้นเดียวกันนี้ เราพบชายชราวัย 70 ก่อนเอ่ยถามว่า คุณลุงอยู่ในเหตุการณ์วันนั้นด้วยไหม
“อยู่สิ” เสียงสั่นเครือลอยในอากาศก่อนยิ้มเล็กน้อย “หลังจากวันนั้น ผมยังไปส่งเพื่อนที่สถานีรถไฟอยู่เลย แต่ผมไม่ได้เข้าป่านะ”
ชายชราเดินลงไปตามขั้นบันไดไม้อย่างมั่นคง ส่วนเรายังคงนั่งพักที่เก้าอี้ชั้นบนสุด เงยหน้าอ่านถ้อยคำไซส์ใหญ่บนเพดาน อันเป็นถ้อยคำที่สะท้อนจุดสิ้นสุดของวันนี้เมื่อ 46 ปีก่อน พลันมองเห็นรถราวิ่งบนทางด่วนด้านใกล้ จากนั้นจึงแลเห็นเมฆฝนที่เคลื่อนตัวอ้อยอิ่งหลังตึกระฟ้าอีกด้าน เราจึงเดินทางกลับจับรถไฟฟ้าสายหนึ่ง มองทิวทัศน์เมืองหลวง และใคร่ครวญถึงหลายต่อหลายเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในวันที่ 6 ตุลา 2519 และวันนี้ในปี 2565
ไม่มีคำตอบและไม่มีผลึกความคิดใดจะสามารถเรียงร้อยเป็นถ้อยคำพรรณนาได้
นิทรรศการ ‘6 ตุลา เผชิญหน้าปิศาจ | 6 October: Facing Demons’ จัดแสดงโดยโครงการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ 6 ตุลา เปิดให้เข้าชมที่ KINJAI CONTEMPORARY (MRT สถานีสิรินธร) ตั้งแต่วันนี้จนถึงวันที่ 13 พฤศจิกายน 2565 เวลา 11.00-21.00 น. (หยุดทุกวันจันทร์) และยังมีกิจกรรมเสวนามากมายสำหรับผู้ที่สนใจ ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติม: โครงการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ 6 ตุลา- October 6 Museum Project KINJAI CONTEMPORARY |