ทอ. เลือกเครื่องบิน JAS-39 Gripen E/F จากสวีเดน ไทยได้อะไร

เมื่อกลางดึกของวันที่ 27 สิงหาคมที่ผ่านมา กองทัพอากาศ (ทอ.) ได้เผยแพร่เอกสาร ข่าวกองทัพอากาศ ระบุว่า กองทัพอากาศได้ทำการคัดเลือกเครื่องบินขับไล่ (บข.) แบบใหม่ เพื่อทดแทน บข. แบบ 19/ก (F-16 A/B) ที่ประจำการใน ทอ. มาตั้งแต่ปี 2531 คณะกรรมการพิจารณาเลือกแบบและกำหนดวิธีการจัดหา กองทัพอากาศ ได้ลงมติเอกฉันท์เลือกเครื่องบินขับไล่แบบ JAS-39 Gripen E/F จากบริษัท SAAB ประเทศสวีเดน จำนวน 1 ฝูง 12 ลำ มูลค่า 60,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นโครงการต่อเนื่องจากปี 2568-2577 ทำให้ SAAB กำชัยเหนือ F-16 Block 70/72 จากบริษัท Lockheed Martin จากสหรัฐอเมริกา ภายหลัง ทอ. ใช้เวลาดำเนินการพิจารณาในการคัดเลือกอย่างละเอียดรอบคอบกว่า 10 เดือนด้วยกัน โดยตั้งอยู่บนนโยบายชดเชยการนำเข้ายุทโธปกรณ์ (offset policy) 

ดังนั้น การคัดเลือก บข. แบบใหม่ในครั้งนี้ ตัวเลือกทั้ง 2 แบบคือ F-16 Block 70/72 และ JAS-39 Gripen E/F นั้น หลายฝ่ายลงความเห็นว่า สมรรถนะ ขีดความสามารถที่สนองต่อความต้องการทางยุทธการตามหลักนิยมและยุทธศาสตร์ของ ทอ. ไม่มีความแตกต่างมากนักในข้อถกเถียงเชิงเหตุผล 

แต่การเลือก บข. แบบใหม่นั้น เป็นการคัดเลือกครั้งประวัติศาสตร์ของกองทัพไทย ที่มุ่งเน้นให้นํ้าหนักไปที่ offset policy ที่จะช่วยสร้างมาตรฐานในการจัดซื้ออาวุธของกองทัพไทยในอนาคต โดยวางอยู่บนนโยบายชดเชยการนำเข้ายุทโธปกรณ์ เพื่อนำไปสู่การพึ่งพาตนเอง และการเสริมมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับประเทศไทย เพื่อให้เกิดความคุ้มค่าของงบประมาณที่มาจากภาษีประชาชน ตามสภาพงบประมาณที่มีความโปร่งใสและตรวจสอบได้ ไม่ใช่เพียงแค่ ‘เอาเงินไปแลกอาวุธ’ 

ศึก offset จบสิ้น เมื่อ SAAB เกทับเน้นๆ 

เมื่อช่วงเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา SAAB ผู้ผลิตอาวุธจากประเทศสวีเดน ได้นำเสนอ offset ให้ไทย เพราะเป็นไปตามสมุดปกขาวของ ทอ. สำหรับการจัดหาอาวุธยุทโธปกรณ์ที่มีราคาสูง สามารถชดเชยและสร้างเศรษฐกิจให้กับประเทศไทยอีกด้วย ซึ่งทาง SAAB นำเสนอมูลค่า offset จำนวน 130 เปอร์เซ็นต์ จากมูลค่าโครงการ 60,000 ล้านบาท ที่จะสามารถสร้างเศรษฐกิจไทยได้มากถึง 78,000 ล้านบาท 

หากแยกเป็น direct offset คาดว่า ทอ. จะได้รับ ได้แก่

  • ลิขสิทธิ์ระบบ Data Link 
  • การอัปเกรดระบบและขยายอายุการใช้งานของ Airborne Early Warning อย่างน้อยไปอีก 15 ปี
  • การซ่อมบำรุง
  • ห่วงโซ่อุปทานของ Gripen 

ห่วงโซ่อุปทานของ Gripen หมายความว่า อุตสาหกรรมไทยจะเป็นส่วนหนึ่งของการผลิตและให้บริการของ SAAB ที่จะสามารถยกระดับอุตสาหกรรมการบินในประเทศไทยได้ นอกจากนี้ ยังมีการรายงานจากนักข่าวสายทหารว่า อาจจะมีการแถมจรวดนำวิถีจากอากาศสู่อากาศ Meteor (Beyond-visual-range missile) จำนวนหนึ่งด้วย ซึ่งเป็นจรวดนำวิถีในระยะยิงประมาณ 200 กิโลเมตร

ขณะที่ indirect offset ที่จะช่วยสร้างเศรษฐกิจไทยจะประกอบไปด้วย

  • การลงทุนจากต่างประเทศโดยตรง (FDI)
    • อุตสาหกรรมการเกษตร ป่าไม้ 
    • อุตสาหกรรมพลเรือน
    • เทคโนโลยีไซเบอร์
  • ความร่วมมือทางการศึกษา วิจัย และการสร้างทักษะแรงงาน
    • การวิจัยและพัฒนา
    • การถ่ายทอดเทคโนโลยี 

ทั้งหมดนี้จะมีมูลค่าต่อเศรษฐกิจไทยกว่า 78,000 ล้านบาท เพิ่มจากงบประมาณที่ใช้ไป 130 เปอรเซ็นต์ จากการตั้งต้นโครงการ 60,000 ล้านบาท 

อย่างไรก็ดี เพจสายทหารอย่าง thaiarmedforce.com วิเคราะห์ว่า การสื่อสารของกองทัพอากาศที่ผ่านมา บ่งบอกมาโดยตลอดว่าจะเลือก Gripen ซึ่งเป็นการตัดสินใจไว้นานแล้วก่อนจะประกาศอย่างเป็นทางการ ข้อเสนอทางเศรษฐกิจ ซึ่งกองทัพอากาศทำถูกและออกแบบโครงการได้ดีเยี่ยม จนประเทศไทยกำลังจะได้รับข้อเสนอทางเศรษฐกิจจากการซื้ออาวุธที่ดีที่สุดในประวัติศาสตร์ของประเทศ ต่อให้ไทยได้ประโยชน์ทางเศรษฐกิจกลับมาเพียงครึ่งเดียว หรือ 50 เปอร์เซ็นต์ ก็ยังถือว่าคุ้มค่ามาก

อ้างอิง

Author

ณัฏฐชัย ตันติราพันธ์
อดีตผู้สื่อข่าวต่างประเทศ อดีต น.ศ. ป.โท ในประเทศอีเกียที่เรียนไม่จบ ผู้มีความหมกมุ่นหลายอย่าง

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า