‘แผลเก่า / Old Wound’: เมื่อรอยแผลที่ยังไม่หายกลายเป็นความทรงจำบาดลึกในงานศิลป์

“ประวัติศาสตร์มีสองฉบับ คือ ฉบับที่ปลอดภัย อ่านแล้วไม่เจอปัญหา ส่วนฉบับที่ไม่ปลอดภัย อ่านแล้วทำให้เรามองเห็นปัญหาในแง่มุมต่างๆ”

หม่อม-ประทีป สุธาทองไทย ศิลปินเจ้าของผลงาน พูดถึงจุดเด่นของการจัดแสดงนิทรรศการครั้งนี้

“ผมเลยคิดว่าชื่อนิทรรศการ ‘แผลเก่า’ เป็นคำสำคัญที่เชื่อมโยงให้มองเรื่องต่างๆ ในเชิงเปรียบเทียบ นอกจากจะมีความหมายทั้งทางตรงและทางแฝง คำๆ นี้ยังมีความหมายในเชิงประวัติศาสตร์ด้วย…ประวัติศาสตร์บาดแผล”

‘แผลเก่า / Old Wound’ เป็นการต่อยอดจาก ‘ประเทศเล็กที่สมบูรณ์’ (2561-2562) นิทรรศการที่ถ่ายทอดงานจิตรกรรมผ่านปกของสิ่งพิมพ์ แม้จะจัดแสดงผลงานคล้ายๆ กัน แต่นิทรรศการเดี่ยวครั้งนี้ได้ขยายขนาดของผลงานบางชิ้น ขณะที่บางชิ้นยังคงขนาดเดิมเท่าต้นฉบับจริงเอาไว้ นอกจากนี้ ยังขยายขอบเขตของประเภทสื่อสิ่งพิมพ์ให้กว้างขึ้น โดยไม่จำกัดเฉพาะแบบเรียนหรือหนังสือวิชาการ เพื่อให้ผู้ชมสามารถเดินเสพผลงานได้อย่างเพลิดเพลิน พร้อมทั้งค้นหา เชื่อมโยง และร้อยเรียงความหมาย เพื่อหานิยามและวินิจฉัย ‘แผลเก่า’ ของสังคมและของตนเอง  

ไม่ว่าจะในอดีตหรือปัจจุบัน สื่อสิ่งพิมพ์มีบทบาทสำคัญต่อการสถาปนาองค์ความรู้ชุดหนึ่งขึ้นมา พร้อมทั้งประกอบสร้าง ‘ความทรงจำ’ แก่ผู้คนในแต่ละยุคสมัย จึงปฏิเสธได้ยากว่า ผู้ชมที่เคยผ่านประสบการณ์ร่วมยุคกับหน้าปกสิ่งพิมพ์ที่ถูกคัดสรรมาจัดแสดง ย่อมเข้าใจเรื่องราวและความหมายในนั้นได้ดี แม้ว่ายุคสมัยจะเปลี่ยนผ่านไปแล้ว 

กระนั้น แม้ผู้ชมบางกลุ่มจะไม่มีประสบการณ์ร่วมหรือมีก็เพียงความทรงจำที่เลือนราง แต่นั่นก็ทำให้ผู้ชมกลุ่มนี้สามารถมองผลงานจัดแสดงในฐานะวัตถุทางศิลปะได้อย่างตรงไปตรงมา นิทรรศการ ‘แผลเก่า’ จึงมีความหมายได้หลากหลาย และยังเว้นที่ว่างให้ผู้ชมเป็นผู้ถักทอคำอธิบายขึ้นมาด้วยตนเอง

นิทรรศการใช้กลวิธีเล่าเรื่องด้วยการใช้ผนังเป็นเสมือนฉากๆ หนึ่ง ภาพปกหนังสือต่างๆ จะถูกจัดวางไว้บนผนังราบเรียบ โดยคละขนาดและประเภท ผนังด้านหนึ่งๆ จึงเปรียบเสมือนฉากสะท้อนสภาพแวดล้อมในอดีตได้อย่างน่าสนใจ

เพ่งมองไปไกลๆ ณ มุมขวาของทางเข้า เราจะพบภาพวาดชิ้นเล็กๆ ซึ่งเป็นที่มาของชื่อนิทรรศการ เมื่อกวาดสายตามาใกล้เรื่อยๆ เราจะพบว่า ภาพวาดเย้ายวนที่เขียนขึ้นด้วยเทคนิคสีน้ำมันอย่างประณีต แท้จริงแล้วคือนวนิยายเอกอุเรื่องหนึ่งชื่อ แผลเก่า

แผลเก่า ตีพิมพ์ครั้งแรกใน พ.ศ. 2479 โดยสำนักพิมพ์คณะเหม เขียนโดย ไม้ เมืองเดิม นิยายเรื่องนี้พูดถึงโศกนาฏกรรมความรักของขวัญและเรียม แต่ตำแหน่งที่มันถูกจัดวางในนิทรรศการกลับดูผิดแผกแตกต่างจากเพื่อนร่วมผนัง

เพราะ แผลเก่า ถูกจัดวางเคียงคู่กับ หนังสือต้องห้าม 204 รายการ พระปกเกล้ากับชาติไทย และ บุกบรมพิมาน ซึ่งล้วนเป็นภาพขนาดเล็กเท่าต้นฉบับ และชื่อเรื่องทั้งหลายก็ดูจะข้องเกี่ยวกับการเมืองไทยเหลือเกิน ทว่าภาพที่ดึงดูดสายตาเรามากคือปกของ The King of White Elephant ที่ถูกขยายใหญ่ จนโดดเด่นที่สุดในผนัง หม่อมให้ข้อสังเกตว่า เรื่องราวทั้งหมดบนผนังด้านนี้อาจเชื่อมโยงแล้วแสดงให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงการปกครองก็ได้

“ชิ้นที่เราคิดว่าจะขยายขนาด แต่ไม่ได้ขยาย ให้เดินดูใกล้ๆ ดีกว่า คือ บุกบรมพิมาน ซึ่งเป็นงานเขียนเชิงสารคดีเกี่ยวกับเหตุการณ์สวรรคตของรัชกาลที่ 8 เราเชื่อว่าเป็นสิ่งที่คนรุ่นใหม่อยากรู้ แต่เขาจะไปสุดทางและไม่ได้ข้อสรุปที่ชัดเจน” 

หม่อมเล่าต่อว่า “ผนังด้านนี้อาจตีความได้ว่า ประวัติศาสตร์และความทรงจำคือบาดแผลอย่างหนึ่ง ซึ่งบางแผลก็ไม่มีใครอยากพูดถึง”

หลังเดินชมได้ครู่หนึ่ง เราพบว่า นิทรรศการนี้กำลังสะท้อนการมอง 2 มุมมอง มุมมองแรกเป็นของศิลปินและคิวเรเตอร์ (curator) ที่พยายามถ่ายทอด ‘สาร’ บางอย่างผ่านวัตถุจัดแสดง มุมมองสองเป็นของผู้ชม แน่นอนว่า ทั้งสองมุมมองมีช่องว่างจากความห่างของช่วงวัย และปูมความรู้ทางประวัติศาสตร์และศิลปะ หากแต่ไม่ใช่ปัญหาหรือข้อจำกัดที่จะทำให้คนดูเข้าไม่ถึงแก่นของงาน มิหนำซ้ำ ความต่างเหล่านี้กลับทำให้การใคร่ครวญและคิดตามสนุกยิ่งขึ้น

ในฐานะศิลปิน หม่อมเองก็คาดหวังให้ผู้ชมได้ข้อสังเกตและคำถามบางประการกลับไปครุ่นคิด ดังนั้น การอธิบายผลงานอย่างละเอียดและชัดเจนจนผู้ชมรู้เรื่องทุกชิ้นจึงไม่ใช่จุดประสงค์ที่แท้จริงของการจัดแสดงครั้งนี้ ในแง่นี้ก็นับว่า ‘แผลเก่า / Old Wound’ ทำหน้าที่ของมันได้ผลดีทีเดียว

แผลเก่า แผลใหม่ แผลเรื้อรัง

นอกจาก ‘แผลเก่า’ อันเป็นชื่อของนิทรรศการแล้ว หม่อมยังแสดงความเห็นถึง ‘แผลใหม่’ ในสังคมไทยว่า

“แต่ละคนเคยมีแผล แต่ละแผลก็ได้รับมาคนละแบบ บางแผลเจ็บมาก แต่ไม่ได้จำจนขึ้นใจ บางแผลเจ็บนิดเดียวเหมือนแม่ตี แต่ช่างเจ็บเหลือเกิน นึกถึงทีไรน้ำตาจะไหล ฉะนั้น แผลไม่ได้ทำงานกับร่างกาย แผลไม่ได้ทำงานมิติเดียว แต่แผลมันทำงานกับความรู้สึก การจดจำ ภาพอดีต หรืออะไรที่ฝังลึกและเข้มข้นมาก

“มันก็จะเจอหลายแผล เป็นแผลใหม่ที่มาจากแผลเก่า เป็นแผลเก่าที่เกิดเจ็บขึ้นใหม่ เพราะแผลเก่ามันยังไม่หาย เอาจริงๆ ก็คือแผลเก่าที่ถูกทำให้เป็นแผลเรื้อรัง”

ข้อสังเกตของหม่อมคือ ดราม่าในปัจจุบันมีจำนวนมากจนบั่นทอนจิตใจ เมื่อเป็นเช่นนั้น ก็ควรลดและเลี่ยงการเสพข่าวบางประเภท 

“สรุปแล้วคนทำสื่อกับคนดูแพ้ใคร? แพ้ทุนน่ะ แพ้สินค้า ถ้ายังเป็นแบบนี้ สังคมจะจม…”

“เพราะหลายๆ ปก (ในนิทรรศการ) ก็เป็นเรื่องดราม่ามาก่อน และ ‘ดราม่า’ อาจเป็นเรื่องที่เราต้องกลับมาพูดถึง มันเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นและผ่านไป ถ้าทำให้คนคิดหรือมีข้อสังเกตเหมือนๆ กับเราได้ก็น่าจะดี มันเป็นวิธีส่งต่อข้อสังเกตและวิธีสังเกตแค่นั้นเอง”

การเยียวยารักษาด้วยศิลปะและศิลปิน 

เมื่อมีบาดแผลย่อมต้องมีการเยียวยารักษา เราจึงถามด้วยความสงสัยว่า ศิลปะจะช่วยเยียวยาแผลต่างๆ จนหายเป็นปลิดทิ้งได้หรือไม่

“งานศิลปะของผมคนเดียวคงเยียวยาอะไรไม่ได้หรอก แต่อยากให้ภาพจิตรกรรม ทำให้คนนึกถึง ตระหนักถึง หรือตั้งข้อสังเกตต่อสังคมและประวัติศาสตร์ คืออยากให้คนมองเรื่องที่รู้จักอยู่แล้วในอีกด้านหนึ่ง”

“ไม่อยากให้มันยิ่งใหญ่ เวลาเห็นคนพูดถึงงานศิลปะอย่างยิ่งใหญ่ เราฟังแล้วยังหมั่นไส้เลย แบบว่าขี้โม้ ไม่อยากให้งานศิลปะเป็นงานขี้โม้ ไม่อยากเป็นคนขี้โม้ เหมือนเราเก่งจังที่เที่ยวไปสั่งสอนคนอื่น เราสั่งสอนลูกศิษย์ในห้องเรียนก็พอแล้ว แต่เชื่อว่าใครหลายคนมีบุคลิกเป็นครูนะ แต่เขาไม่ได้เป็นครูไง”

ถึงอย่างไร หม่อมมองว่า การเยียวยาบาดแผลทางใจก็เป็นปรากฏการณ์เฉพาะของงานศิลปะ และจำเป็นอย่างยิ่งที่ศาสตร์และศิลป์ในสาขาต่างๆ ต้องทำงานนี้ร่วมกัน

พื้นที่ว่างบนผืนผ้าใบ

ผลงานแต่ละชิ้นจะมีขอบขาวรอบๆ เปรียบเสมือนกรอบของปกหนังสือ ขอบสีขาวเหล่านี้ไม่ใช่การเพนท์ติ้ง แต่เป็นผิวแคนวาสผ้าใบดิบๆ พื้นที่ว่างนี้อาจเป็นได้ทั้งบริบทล้อมรอบที่สื่อชิ้นนั้นมักถูกนำไปวาง เช่น วางบนโต๊ะในห้องนั่งเล่น วางบนชั้นวางในร้านเสริมสวย หรือวางขายตามแผงหนังสือพิมพ์ หรือเป็นพื้นที่เชิงสัญลักษณ์ที่เปิดให้บทสนทนาอันเปี่ยมด้วยความรู้ ความรู้สึก การครุ่นคิด ข้อสงสัยต่ออดีตและปัจจุบัน ระหว่างผู้ชมและผลงานเกิดขึ้นได้ 

“ศิลปะเป็นเรื่องของการใส่รหัส โดยเฉพาะในสังคมที่ถูกควบคุม คนทำงานศิลปะจะหาทางออกด้วยการใส่รหัสเพื่อซ่อนมัน ทำให้การสื่อสารแยบยล จริงๆ การทำงานศิลปะแต่ละชิ้นควรทำให้คนอ่านได้หลายชั้น คือถ้าเนื้อหาอ่านได้ชั้นเดียว ผมคิดว่าคนดูคงรู้สึกไม่สนุก “สวย” (นิ่ง) พอละ แต่ถ้า “เอ๊ะ สวย” แต่มีอะไรมากกว่านั้น ก็คงให้ความรู้สึกอีกแบบ เหมือนคนรุ่นใหม่ที่ทำเรื่องการเมือง เขารู้สึกว่าสังคมยิ่งปิดทาง เขาก็ยิ่งพยายามหาหนทางไปต่อให้ได้”

สิ่งที่หม่อมเน้นย้ำ คือ การเมืองเป็นสิ่งที่อยู่ในชีวิตประจำวันและแฝงฝังอยู่ในทุกเรื่องราว เช่น การอยู่ร่วมกันในบ้านหลังหนึ่งย่อมมีเรื่องทะเลาะเบาะแว้งเป็นธรรมดา เพราะฉะนั้น หากชมนิทรรศการแล้วไม่ได้เชื่อมโยงกับการเมืองกระแสปัจจุบัน ก็ไม่ใช่เรื่องใหญ่ เฉกเช่นพื้นที่ว่างเปล่าที่ถูกเว้นไว้

ขบคิดต่อไป…

นอกจากหนังสือเก่าปีลึก ยังมีหนังสือที่ใกล้ชิดกับคนทั่วไป เช่น คู่สร้างคู่สม สี่แผ่นดิน และ บ้านทรายทอง หม่อมชี้ว่า เบื้องต้น เราอาจตั้งคำถามง่ายๆ ว่า ทำไมนิยายบางเรื่องจึงถูกผลิตซ้ำ ทั้งในสื่อสิ่งพิมพ์และสื่อประเภทอื่นๆ นิทรรศการ ‘แผลเก่า / Old Wound’ จึงอาจเป็นแบบฝึกหัดหนึ่งในการตั้งคำถามต่อสังคม

ตัวอย่างที่เราชอบมาก คือ ปกนิตยสารท่องเที่ยว อ.ส.ท. ซึ่งก่อตั้งปี 2503 ในสมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ สิ่งนี้สะท้อนว่า อ.ส.ท. เป็นสื่อหลักที่พยายามสร้างภาพจำเชิงบวกของแต่ละภูมิภาค หม่อมชวนคิดกับงานชิ้นนี้ว่า สถานที่สวยงามบนปกคือพื้นที่ของคอมมิวนิสต์ ฉะนั้น สื่อประเภทนี้จึงอาจทำหน้าที่สกัดหรือลบความเป็นการเมืองออกจากพื้นที่ดังกล่าว นิตยสารท่องเที่ยวจึงมีอิทธิพลต่อการรับรู้ของผู้คนในหลายแง่มุม 

“การเปลี่ยนผ่านและความเปลี่ยนแปลงล้วนเกิดขึ้นจากคำถาม แต่เมื่อมองประวัติศาสตร์ที่เราใช้ในแบบเรียน จะเห็นว่า บางเรื่องก็เปลี่ยนของมันไปเอง ไม่เห็นมีอะไรต้องกังวล นั่นจึงทำให้คนไม่เข้าใจสักทีว่า ทำไมเรื่องนี้หรือบางเรื่องเกิดขึ้นอีกแล้ว”

เมื่อเราถามคำถามสุดท้ายว่า อยากฝากอะไรถึงสังคมปัจจุบันไหม หม่อมตอบด้วยน้ำเสียงจริงจังว่า 

“ไม่ฝากได้ไหม”

คำตอบเรียบง่ายนี้นับว่าสะท้อนตัวตนของศิลปินท่านนี้ได้ดีทีเดียว และยิ่งขับเน้นความเนี้ยบลุ่มลึกของผลงานเขา จนเราประทับใจอีกเท่าทบทวี

นิทรรศการ ‘แผลเก่า / Old Wound’ จัดแสดงระหว่างวันที่ 8 ตุลาคม 2565 ถึง 21 มกราคม 2566 ณ SAC Gallery เปิดทำการวันอังคาร-เสาร์ เวลา 10.00-18.00 น.

Author

ยสินทร กลิ่นจำปา
ผู้ปกครองของแมวน้อยวัยกเฬวราก จิบเบียร์บ้างตามโอกาส จิบกาแฟดำเป็นครั้งคราว จิบน้ำเปล่าเป็นกิจวัตร เชื่อว่าสิ่งร้อยรัดผู้คนคือเรื่องราวและความหวัง พยายามเขย่าอัตตาตนเองด้วยบทสนทนากับคนรอบข้าง

Photographer

พิชชาพร อรินทร์
เกิดและโตที่เชียงใหม่ มีลูกพี่ลูกน้องเป็นน้องหมา 4 ตัว ชอบสังเกต เก็บรายละเอียดเรื่องราวของผู้คน ตัดขาดจากโลกภายนอกด้วย playlist เพลงญี่ปุ่น อยู่ตรงกลางระหว่างหวานและเปรี้ยว นั่นคือ ส้ม

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า