เครือข่ายเอดส์พบการระบาดของ HIV เพิ่มขึ้นในกลุ่ม LGBQI+ ผู้ใช้สารเสพติด พนักงานบริการ กลุ่มเยาวชน และประชากรข้ามชาติ โครงการเอดส์แห่งสหประชาชาติ (UNAIDS) ชูคําขวัญ ‘Let Communities Lead: ถึงเวลาให้ชุมชนนําทางมุ่งสู่การยุติเอดส์’ ตั้งเป้ายุติปัญหาเอดส์ในประเทศไทยภายในปี 2573
1 ธันวาคม คือวันเอดส์โลก และเป็นวันที่เครือข่ายชุมชนที่ทํางานเกี่ยวกับ HIV ทั่วประเทศ จะแสดงพลังให้สังคมตระหนักถึงความสําคัญต่อการแก้ปัญหาเอดส์
‘กลุ่มเพื่อนช่วยเพื่อน’ ในประเทศไทยเป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวางและเป็นต้นแบบระดับนานาชาติของการดูแลและอยู่ร่วมกับผู้ป่วย HIV ตั้งแต่ปี 2538 และได้พัฒนาเป็นศูนย์องค์รวม ทำงานร่วมกับโรงพยาบาล โดยกลุ่มผู้ติดเชื้อได้พลิกบทบาทจาก ผู้รับบริการมาเป็นผู้ร่วมจัดบริการกับบุคลากรทางการแพทย์ จนปัจจุบันมีกลุ่มที่ทํางานศูนย์องค์รวมทั้งหมด 219 กลุ่ม
สุรางค์ จันทร์แย้ม ประธานคณะกรรมการองค์กรพัฒนาเอกชนด้านเอดส์ (กพอ.) และผู้อํานวยการมูลนิธิเพื่อนพนักงานบริการ SWING ระบุว่า ภาคชุมชนมีความพร้อมในการช่วยรัฐและหน่วยงานนาชาติยุติปัญหาเอดส์มาเป็นระยะเวลายาวนาน มีการคิดค้นนวัตกรรมแก้ปัญหาเอดส์และมีผลงานเป็นที่ประจักษ์เกิดขึ้นมากมาย จนเป็นพี่เลี้ยงให้กับองค์กรชุมชนในหลายประเทศ อย่างไรก็ตาม ยังพบว่ามีข้อกฎหมาย และนโยบายที่ยังเป็นอุปสรรคอยู่ จึงต้องการเห็นความชัดเจนและการยอมรับให้ภาคชุมชน ประชาสังคม ถูกจัดอยู่ในโครงสร้างของระบบสุขภาพที่เป็นรูปธรรมและมีงบประมาณสนับสนุนให้เกิดการทำงานอย่างยั่งยืน
“ชุมชนบอกว่า เขาทำมานานแล้ว เขามีความพร้อมเต็มที่ ในการมุ่งไปข้างหน้าแล้ว สำหรับประเทศไทย community leadership แข็งแรงมาก แล้วก็เป็นแนวหน้าในเอเชียแปซิฟิก ถ้าเราเปิดทางสนับสนุนชุมชนอย่างเต็มที่ อย่างเช่นกฎระเบียบต่างๆ แล้วให้เขาทำงานเต็มศักยภาพ และสนับสนุนเงินทุนเพื่อให้ชุมชนดำเนินการ community-led health services ได้เต็มที่ เขาก็จะช่วยคนที่ยังไม่เข้าถึงระบบบริการได้” พัชรา เบญจรัตนาภรณ์ ผู้อำนวยการ UNAIDS ประเทศไทย กล่าว
ทั้งนี้ เครือข่ายพบว่าการระบาดของ HIV เปลี่ยนรูปแบบและเพิ่มขึ้นในผู้ที่มีความเปราะบาง ได้แก่ กลุ่ม LGBQI+ ผู้ใช้สารเสพติด พนักงานบริการ กลุ่มเยาวชน และประชากรข้ามชาติ ดังนั้นจุดแข็งของความเป็นชุมชนคือเข้าใจและเข้าถึงปัญหาของประชากรกลุ่มนี้
ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์ประพันธ์ ภานุภาค ที่ปรึกษาอาวุโสด้านการวิจัยและนโยบาย สถาบันเพื่อการวิจัยและนวัตกรรมด้านเอชไอวี ผู้ตรวจพบผู้ป่วยเอดส์คนแรกของประเทศไทยมีความหวังว่า ประเทศไทยยังคงสามารถยุติปัญหาเอดส์ได้ตามเป้าหมายใน 7 ปีข้างหน้าได้อย่างแน่นอน ถ้าผู้กําหนดนโยบาย ผู้บริหาร เพิ่มการลงทุนให้แก่องค์กรชุมชนอย่างเต็มที่ และสนับสนุนแก้ไขนโยบาย กฎระเบียบที่ไม่เอื้อต่อการทํางาน จะช่วยให้ประเทศไทยยุติเอดส์ได้จริง
“ที่ผ่านมา 6-7 ปี เราเอาแต่กลุ่มเสี่ยง ชายรักชาย สาวประเภท 2 จะต้องรีบตรวจ เราก็สำเร็จตรงนั้น แต่เวลานี้ประชาชนทั่วไป ซึ่งถูกหลงลืมเพราะไม่ได้อยู่ในกลุ่มเสี่ยง มีอัตราการติดเชื้อ HIV เพิ่มสูงขึ้นทั่วโลก เวลานี้ นโยบายต้องมุ่งไปสู่กลุ่มประชากรทั่วไป คนไทยทุกคนควรตรวจเอดส์อย่างน้อยครั้งหนึ่งในชีวิต ไม่ว่าเขาจะทำอะไรมาก็ตาม” นพ.ประพันธ์ กล่าว