What Makes Us Human?: จงแก้ไขปัญหาเรื่องมนุษย์ด้วยความเป็นมนุษย์

พิมพ์ใจ ติดเชื้อเอชไอวีมา 18 ปี แรกเริ่มเธอต้องปิดบังความลับนี้เอาไว้ เพราะคนในหมู่บ้านรับไม่ได้ที่จะใช้ชีวิตร่วมกับผู้ติดเชื้อและผู้ป่วยเอดส์ พ่อของเธอทำงานด้านสาธารณสุขในหมู่บ้านเสนอแนะให้เธอเชิญผู้ติดเชื้อรายอื่นมาประชุมในโรงเรือน โดยให้ความรู้ด้านสุขภาพ พ่อของพิมพ์ใจช่วยให้กำลังใจบุตรสาว จนทำให้พิมพ์ใจและเพื่อนค่อยๆ เปิดตัวว่าเป็นผู้ติดเชื้อ นำไปสู่การตระหนักรู้ของชาวบ้านคนอื่นๆ เป็นวงกว้าง

เมื่อองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุน หรือ JICA มองเห็น จึงยื่นมือช่วยโดยให้กลุ่มผู้ติดเชื้อผลิตตุ๊กตาหมีเพื่อส่งขายต่างประเทศ แม้การหารายได้จะเป็นเรื่องสำคัญสำหรับกลุ่มนี้ ทว่าเมื่อ 15 ปีก่อนเรื่องที่สำคัญยิ่งกว่านั้นก็คือได้พบปะ ให้กำลังใจและช่วยเหลือกันและกันด้านภารกิจประจำวัน

นานวันเข้า คนอื่นๆ ในหมู่บ้านก็เริ่มสนใจกิจกรรมของศูนย์และเริ่มทำงานร่วมกับผู้ติดเชื้อและผู้ปวยเอดส์ ทางกลุ่มมีรายได้เข้ามามากขึ้น พิมพ์ใจได้ฝึกทักษะการบริหารจัดการ เธอกับสมาชิกหลายคนในกลุ่มไปศึกษาดูงานต่างพื้นที่ เพื่อหาเครื่องมือในการจัดการชุมชน เช่น การจัดตั้งสหกรณ์ออมทรัพย์ ต่อมาคนทั้งหมู่บ้านก็ค่อยๆ เข้าร่วมออมทรัพย์กับสหกรณ์ จากนั้นกลุ่มของพิมพ์ใจเลิกขอทุนจากแหล่งทุน เพราะชุมชนเริ่มอยู่ได้ด้วยตัวเอง

เงินทุนจากสหกรณ์ออมทรัพย์ก็มากพอจะลงทุนจัดหาสิ่งอำนวยความสะดวกในหมู่บ้านตามที่ชาวบ้านต้องการ ชาวบ้านเชื่อมั่นในตัวพิมพ์ใจมากจนสนับสนุนให้เธอลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พิมพ์ใจกล่าวว่า “ฉันไม่ได้สมัคร เพราะรัฐธรรมนูญกำหนดว่าฉันต้องเรียนจบประถมศึกษาถึงจะมีสิทธิสมัครได้…”

เมื่อเดือนกรกฎาคม 1996 ฉันได้พูดในที่ประชุมว่าด้วยเอดส์ที่เมืองแวนคูเวอร์ พอพูดจบก็มีคนถามว่า ฉันเป็นหมอหรือเปล่า ฉันตอบไปว่าก่อนติดเชื้อเอดส์ ฉันเป็นคนงานหัดเรียงอิฐ!

เรื่องราวของพิมพ์ใจถูกเล่าในหนังสือ What Makes Us Human? สิ่งใดเล่าทำให้เราเป็นมนุษย์  เขียนโดย นายแพทย์ฌอง-หลุยส์ ลองโบเรย์1 (Jean-Louis Lamboray) จัดพิมพ์โดย สำนักพิมพ์ SOOK Publishing สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

ภาพโดย: สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

หนังสือเล่มนี้ว่าด้วยการเรียนรู้เพื่อเปลี่ยนแปลงขั้นพื้นฐาน (transformation) ที่ส่งผลต่อชีวิตของทุกคน โดยถอดบทเรียนจากเหตุการณ์การหยุดยั้งและควบคุมโรคเอดส์ของชาวชุมชนจังหวัดพะเยา ในประเทศไทย

จุดเริ่มต้นของหนังสือเล่มนี้ ฌอง-หลุยส์ ลองโบเรย์ บอกว่า ได้แรงบันดาลใจจากการลงพื้นที่ทำงานด้านสุขภาวะ ภายใต้องค์กร Constellation ซึ่งเป็นองค์กรที่ทำงานเกี่ยวกับการแก้ปัญหาเอดส์ทั่วโลก

ขณะที่จำนวนผู้ป่วยหลายพื้นที่ทั่วโลกเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ แต่เขาพบว่าข้อมูลจำนวนผู้ติดเชื้อ HIV รายใหม่ในจังหวัดพะเยาลดลงอย่างรวดเร็วอย่างมีนัยยะสำคัญ นี่จึงเป็นจุดทำให้เขาฉุกคิดและตั้งคำถามว่า ‘ชาวบ้าน’ ในชุมชนแถบนี้ถึงเอาชนะและควบคุมโรคในพื้นที่ได้

“มันเริ่มต้นตั้งแต่ผมได้เข้ามาอยู่ในประเทศไทย ผมตั้งคำถามว่า ทำไมภาคเหนือแก้ไขปัญหาโรคเอดส์ได้ดี จึงสนใจเอากรณีนี้มาเป็นวัตถุดิบ จนสุดท้ายผมพบว่ามันเป็นเพราะชาวบ้านไม่ได้มองโรคเอดส์เป็นปัญหาของใครคนใดคนหนึ่ง และมันไม่ใช่แค่การรักษา แต่มันเป็นปัญหาที่เราต้องแก้ไขร่วมกัน”

แนวคิดเช่นนี้เป็นหลักคิดใหม่น่าสนใจ เพราะการที่จะทำให้ชาวบ้านหรือตัวผู้ป่วยก้าวผ่านและยอมรับความรู้สึกที่เกิดขึ้นภายในไม่ใช่เรื่องง่าย

ฌอง-หลุยส์ ลองโบเรย์ ให้ความเห็นต่อว่า เรื่องนี้ต้องมองทั้ง 2 ระดับ คือระดับครอบครัวและระดับสังคม หากทั้งสองวงโคจรนี้ไม่กดดัน ไม่ตัดสินผู้ป่วย ไม่ทำให้ผู้ป่วยรู้สึกเป็นอื่น มอบความเป็นมนุษย์ เปลี่ยนจากความกลัว ความรังเกียจ มาเป็นการมองเห็นและทำให้เขารับรู้ว่า ‘เราแคร์คุณ เราก็จะแก้ปัญหาไปด้วย’ อย่างไรเสียเราก็จะอยู่ด้วยกันได้และสามารถควบคุมอัตราการเกิดของโรคได้อีกด้วย

ซึ่งแนวคิดนี้สอดคล้องกับหลักการทำงานของ Constellation ที่ต่างจากองค์กรอื่นๆ ที่มักใช้วิธีเข้าไปให้ความรู้เรื่องโรคเอดส์ สอนวิธีป้องกัน หรือเข้าไปแจกถุงยางอนามัย แต่ Constellation กลับใช้กระบวนการ SALT ในการแก้ไขปัญหาครอบคลุมทุกมิติ โดยทำงานกับชุมชนผ่านการใช้มุมมองเรื่องความเป็นมนุษย์ เพื่อให้ทุกฝ่ายรู้จักรับผิดชอบชีวิตของตัวเอง หรือเข้าไปรับฟังชุมชนโดยไม่อบรมหรือชี้นำ เน้นการชื่นชมจุดแข็งของชุมชน และให้ชุมชนประเมินตัวเองและเรียนรู้ผ่านการลงมือทำ

SALT คืออะไร ?

S มาจาก support (สนับสนุน) stimulate (กระตุ้น)
A มาจาก appreciate (ชื่นชม), action (ปฏิบัติ) analyse (วิเคราะห์)
L มาจาก learning (เรียนรู้) link (เชื่อมโยง)
T มาจาก team (ทีม) transform (เปลี่ยนแปลง) transfer (ถ่ายทอด)

ภาพโดย: สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

ซึ่งวิธีการทำงานเช่นนี้ จะทำให้ผู้คนในชุมชนตระหนักถึงคุณค่าความเป็นมนุษย์ภายในตัวเอง ผู้คนตระหนักถึงคุณค่าความเป็นมนุษย์ในตัวผู้ป่วย ทุกคนมองเห็นจุดแข็งของชุมชนและผลักดันมัน ด้วยเหตุนี้ วิธีการ SALT จึงประสบผลสำหรับทั้งในแง่การหยุด การแพร่กระจายโรค และช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้ติดเชื้อและสังคมโดยรอบทำให้ผู้ป่วยตระหนักถึงคุณค่าความเป็นมนุษย์ในตัวเอง

ฌอง-หลุยส์ ลองโบเรย์ ชวนถอดรหัสและพบว่า SALT คือท่อน้ำเลี้ยงที่สำคัญ เพราะ SALT เป็นกระบวนการที่ทำให้เรามองเห็นความเป็นมนุษย์ เห็นคุณค่าของชีวิตผู้อื่น เราสามารถแลกเปลี่ยนและทบทวนวิถีการใช้ชีวิตของตนเองได้อย่างไม่ต้องกลัวใคร ไม่ว่าจะเป็นคนในชุมชนและครอบครัว ดังเช่นกรณีของ ‘พิมพ์ใจ’ ที่เธอกล้าเปิดเผยความจริงที่ตัวเองติดเชื้อ HIV กับพ่อของเธอ โดยที่เธอรู้สึกปลอดภัยที่จะพูดความจริงออกมา นี่จึงเป็นที่มาของผลสำเร็จในการหยุดการแพร่กระจายโรคและทำให้คุณภาพชีวิตของชาวบ้านในจังหวัดพะเยางอกงามขึ้น

“จริงอยู่ที่วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมีความสำคัญ แต่พลังงานสำคัญที่สุดที่จะทำให้ชุมชนเข้มแข็ง คือการที่ชุมชนรู้สึกมีความเป็นเจ้าข้าวเจ้าของชุมชนของตัวเอง รวมถึงการที่ชาวบ้านรู้สึกมีศักดิ์ศรีและมีศักยภาพที่จะเป็นผู้ร่วมคิด เพราะเมื่อใดก็ตามที่ชุมชนรู้สึก ไม่ว่ารัฐบาลจะมอบสิ่งใดให้ เขาจะรู้สึกว่าทรัพยากรเหล่านั้นจะต้องทำให้ชุมชนมีประโยชน์สูงสุด” ฌอง-หลุยส์ ลองโบเรย์ ชวนเปิดประเด็น

ภาพโดย: สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

หนังสือเล่มนี้จึงช่วยสะท้อนภาพการแก้ปัญหาที่เคารพศักดิ์ศรีและศักยภาพความเป็นมนุษย์ของคนทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน โดยเฉพาะของคนเล็กคนน้อย คนยากคนจน การกระตุ้นให้รวมตัวร่วมคิด ร่วมทำหรือเรียนรู้ร่วมกันในการปฏิบัติ (Interactive Learning Through Action) ในสถานการณ์จริง จนท้ายที่สุดมันจะส่งผลให้เปลี่ยนแปลงขึ้น เช่น

1. เกิดจิตสำนึกใหม่ ที่เคารพศักดิ์ศรีและศักยภาพในความเป็นมนุษย์ของทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน

2. ก้าวข้ามการแบ่งแยกทุกประเภทไม่ว่าจะเป็น เผ่าพันธุ์, ฐานะ, โรค เพราะเชื่อว่าทุกคนมีความเป็นมนุษย์เหมือนกันสามารถมาร่วมคิดร่วมกันทำได้

3. เกิดเป็นกระบวนการทางปัญญาหรือการเรียนรู้แบบใหม่ ที่ต้องการความคิดเห็นของทุกคน ไม่ใช่ใครเก่งไปคนเดียว เกิดการทำงานแบบปัญญาร่วม (Collective Wisdom) และนี่คือพลังทางปัญญามหาศาลที่สามารถเอาชนะปัญหาที่ชับซ้อนได้

4. ยิ่งทำยิ่งรักกันมากขึ้น เพราะเมื่อเชื่อถือไว้วางใจกันมากขึ้น และมีความสุขมากขึ้นๆ กระบวนการเรียนรู้ร่วมกันจะยิ่งเชื่อถือ ไว้ใจกันมากขึ้น มีความสุข เพราะเราเห็นคุณค่าซึ่งกันและกัน

5. เดินทางไปสู่ความสำเร็จ

กลับมามองปัจจุบัน ท่ามกลางความปั่นป่วนที่กำลังเกิดขึ้นในโลก มนุษย์ทั่วโลกต้องเผชิญวิกฤตการณ์ต่างๆ ทั้งโรคระบาด เศรษฐกิจที่ถดถอย สังคมแห่งชนชั้นที่เหลือมล้ำสุดๆ ภาวะโลกร้อน สงครามความรุนแรง ปัญหาโรคซึมเศร้า สังคมสูงวัย แน่นอนว่าเราไม่มีคำตอบให้กับวิกฤติเหล่านี้

แต่ผลลัพธ์ของการเรียนรู้ร่วมกันในหนังสือ What Makes Us Human? สิ่งใดเล่าทำให้เราเป็นมนุษย์ อาจเป็นเครื่องมือในการแก้ไขปัญหากับเรื่องอื่นได้นอกเหนือจากมิติการเอาชนะโรค ไม่ว่าจะเป็นการจัดการอุปสรรคในบริบทของการทำงานกับชุมชน, ใช้ในการจัดกระบวนการต่างๆ ในบริษัท, นำไปจัดระเบียบความสัมพันธ์ต่างๆ ในชีวิต, ใช้ในการสื่อสารเมื่อทำงานเป็นทีมหรือแม้แต่ใช้คลี่คลายปัญหาบางอย่างในครอบครัว ซึ่งหากถอยกลับไปมองภาพให้กว้างขึ้นในระดับมหภาค จะพบว่าบางปัญหาเราอาจจะต้องการผู้นำชุมชน นักการเมือง หรือ policy maker ที่มีแนวคิดในการทำงานแบบ SALT เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการเปลี่ยนแปลงประเทศ

นายแพทย์ ฌอง-หลุยส์ ลองโบเรย์ คือใคร

ฌอง-หลุยส์ ลองโบเรย์ ชาวเบลเยียม อดีตผู้เชี่ยวชาญประจำองค์กร UNAIDS เป็นผู้ร่วมก่อตั้งองค์กรพัฒนาเอกชน Constellation ซึ่งเชี่ยวชาญการสร้างการมีส่วนร่วมในระบบสุขภาพ กระตุ้นและเชื่อมประสานการแก้ปัญหาเอดส์ รวมถึงประเด็นปัญหาอื่นๆ โดยกระบวนการทำงานแบบ SALT ที่ขยายไป 60 ประเทศทั่วโลก ทั้งในแอฟริกา อเมริกา เอเชีย และยุโรป ช่วยให้ผู้คนในชุมชนและผู้ป่วยตระหนักถึงคุณค่าความเป็นมนุษย์ซึ่งกันและกัน

นายแพทย์ ฌอง-หลุยส์ ลองโบเรย์ และเหล่ากระบวนกรจากองค์กร Constellation ได้เข้ามาร่วมแก้ปัญหาการแพร่กระจายของโรคเอดส์ในประเทศไทย โดยเฉพาะความสำเร็จในการแก้ปัญหาของชุมชนในจังหวัดพะเยา อัตราผู้ป่วยเอชไอวี ลดลงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งไม่เคยมีในที่อื่นของประเทศไทยหรือแม้แต่ที่อื่นของโลก

นายแพทย์ ฌอง-หลุยส์ ลองโบเรย์ คือหนึ่งในผู้เชี่ยวชาญชาวต่างชาติที่อยู่เบื้องหลัง การเริ่มต้นวางแผนและสร้างระบบ หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ร่วมกับ นพ.สงวน นิตยารัมภ์พงศ์ เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติคนแรก ปัจจุบันยังคงทำงานอยู่ที่ Constellation และได้รับเชิญในตำแหน่ง ศาสตราจารย์คุณวุฒิ ประจำสถาบันพัฒนาสุขภาพอาเซียน มหาวิทยาลัยมหิดล

 

Author

รชนีกร ศรีฟ้าวัฒนา
รชนีกรถ่อมตัวว่ามีความอยากเพียงอย่างเดียว คืออยากเป็นนักสื่อสารที่ดี จึงเลือกเรียนวารสารศาสตร์ มาเริ่มงานที่กองบรรณาธิการ WAY ตั้งแต่เพิ่งจบใหม่หมาด - แบบยังไม่ทันรับปริญญา นอกจากทำงานหน้าจอและกดคีย์บอร์ด รชนีกรกล้าทำสิ่งที่ไม่มีใครในกองบรรณาธิการใคร่ทำนัก คือตัดเล็บแมว

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า