[On This Day] 9 มิถุนายน 2489 ในหลวงรัชกาลที่ 8 สวรรคต

ช่วงเช้าของวันที่ 9 มิถุนายน 2489 แดดอ่อนสีทองส่องกระทบสถาปัตยกรรมแบบเฟรนช์เรเนซองซ์ (French Renaissance) ของพระที่นั่งบรมพิมาน ขณะที่เหล่าทหารมหาดเล็กและข้าราชบริพารต่างผลัดเปลี่ยนเข้าเวรถวายงานรับใช้ตามปกติ ก่อนโมงยามแห่งความโศกเศร้าจะคืบคลานมาถึง 

เวลา 09.20 น. เสียงปืนดังขึ้น 1 นัด จากห้องบรรทมของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล (รัชกาลที่ 8) มหาดเล็กประจำห้องพระบรรทม ได้แก่ นายบุศย์ ปัทมศริน และ นายชิต สิงหเสนี รีบวิ่งเข้าไปในห้องบรรทม ก่อนพบว่าในหลวงอานันทมหิดลสวรรคตแล้ว ด้านซ้ายมีปืนโคลต์ขนาด 11 มม. วางอยู่ในลักษณะชิดข้อศอก ปลายกระบอกปืนหันออกจากตัว

นายชิต รีบวิ่งไปยังห้องบรรทมของสมเด็จพระราชชนนี พร้อมร้องตะโกนว่า “ในหลวงยิงพระองค์” ก่อนที่สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภูมิพลอดุลยเดช (รัชกาลที่ 9) พระราชชนนี และพระพี่เลี้ยง รีบเข้าไปยังห้องบรรทมของในหลวง

พระราชชนนีโผเข้ากอดพระศพด้วยความโศกเศร้า ก่อนมีรับสั่งให้ตามแพทย์ประจำพระองค์มาตรวจ ระหว่างที่รอแพทย์หลวง มีการทำความสะอาดบริเวณบาดแผลของในหลวงอานันทมหิดล และมีการเคลื่อนย้ายอาวุธปืน ซึ่งต่อมาส่งผลให้เกิดความยากในการเก็บรวบรวมข้อมูลและพิสูจน์หลักฐาน

ต่อมา หม่อมราชวงศ์เทวาธิราช ป. มาลากุล เดินทางไปที่ทำเนียบท่าช้าง เพื่อรายงานข่าวการสวรรคตของในหลวงอานันทมหิดลให้นายปรีดี พนมยงค์ ทราบ ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรี 

ไม่นานหลังจากทราบข่าว ปรีดีเดินทางมาถึงพระที่นั่งบรมพิมาน พร้อมเรียกประชุมพระบรมวงศานุวงศ์ชั้นผู้ใหญ่และคณะรัฐมนตรี มาประชุมเกี่ยวกับการเสด็จสวรรคตของในหลวงอานันทมหิดล โดยที่ประชุมมีมติให้ออกแถลงว่า การเสด็จสวรรคตของในหลวงอานันทมหิดลเป็นอุบัติเหตุ

ในช่วงค่ำวันเดียวกัน มีการเรียกประชุมรัฐสภา เพื่อแจ้งเกี่ยวกับการเสด็จสวรรคตของในหลวงอานันทมหิดล และหาผู้สืบราชสมบัติ โดยมีมติในที่ประชุมเห็นชอบให้ พระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภูมิพลอดุลยเดช ขึ้นสืบราชสมบัติต่อไป ก่อนที่ปรีดีจะประกาศลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี โดยมีพลเรือตรีถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีแทน

ในวันรุ่งขึ้น (10 มิถุนายน 2489) คณะแพทย์จากโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์สภากาชาดไทย เดินทางมาทำความสะอาดพระศพ แล้วพบว่าบาดแผลบริเวณพระปฤษฎางค์ (ท้ายทอย) มีขนาดเล็กกว่าบริเวณพระนลาฏ (หน้าผาก) ซึ่งโดยปกติแล้วบริเวณที่กระสุนเจาะทะลุเข้าไปจะมีลักษณะเล็กกว่าบริเวณที่กระสุนทะลุออกมา ทำให้เกิดการสันนิษฐานว่าในหลวงอานันทมหิดลถูกยิงจากด้านหลัง และเกิดข่าวลือว่าแท้จริงแล้วในหลวงอานันทมหิดลแล้วถูกลอบปลงพระชนม์ มิได้เกิดอุบัติเหตุตามที่รัฐบาลออกแถลงการณ์ในทีแรก ทำให้ประชาชนรู้สึกไม่ไว้วางใจ และเชื่อว่ามีคนอยู่เบื้องหลังการเสด็จสวรรคตของในหลวง

ต่อมากรมตำรวจออกแถลงการณ์กรณีการเสด็จสวรรคตของในหลวงอานันทมหิดล โดยตั้งประเด็นการสวรรคตไว้ 3 ประเด็น ได้แก่ เกิดจากอุบัติเหตุ มีผู้ลอบปลงพระชนม์ หรือทรงพระราชอัตวินิบาตกรรม ถึงแม้ต่อมาจะมีการแถลงยืนยันว่าเป็นอุบัติเหตุ แต่ก็ไม่อาจลบความคลางแคลงใจของประชาชนลงได้

สุดท้ายกรณีสวรรคตของในหลวงอานันทมหิดลก็ถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง โดยกลุ่มบุคคลฝ่ายอนุรักษนิยมและบุคคลที่ไม่ชอบในตัวของปรีดี ทำให้ต่อมามีการกล่าวหาว่า ปรีดีอยู่เบื้องหลังการสวรรคตของในหลวง

เวลาผ่านไป 2 ปี ไม่มีใครคลี่คลายคดีสวรรคตของในหลวงอานันทมหิดลได้ เกิดเป็นกระแสวิพากษ์วิจารณ์และความขัดแย้งภายในประเทศ ทำให้มีการรัฐประหาร เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2490 นำโดย พลโทผิณ ชุณหะวัณ นำกำลังเข้ายึดอำนาจจากรัฐบาลของพลเรือตรีถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ ซึ่งเป็นการร่วมมือกันระหว่าง จอมพลแปลก พิบูลสงคราม และกลุ่มนิยมเจ้า เพื่อโค่นอำนาจของปรีดี จากนั้นคณะรัฐประหารได้แต่งตั้ง พันตรีควง อภัยวงศ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เป็นนายกรัฐมนตรี 

หลังการรัฐประหาร ควง อภัยวงศ์ ในตำแหน่งนายกรัฐมนตรี จัดตั้งคณะกรรมการสอบสวนชุดใหม่โดยมี พลตำรวจตรีพินิจ อินทรทูต เป็นประธานเข้าจับกุมนายเฉลียว ปทุมรส อดีตราชเลขานุการในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล นายบุศย์ ปัทมศริน และ นายชิต สิงหะเสนี อดีตมหาดเล็กประจำห้องบรรทม ในวันที่ 15 พฤศจิกายน 2490 

หลังจากต่อสู้คดีมาอย่างยาวนาน ด้วยเชื่อในความบริสุทธิ์ของตนเอง เฉลียว บุศย์ และชิต ถูกตัดสินประหารชีวิต ท่ามกลางความเงียบสงัดของเช้าตรู่วันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2498 

อย่างไรก็ดี แม้ในภายหลังจะมีหลักฐานและข้อสันนิษฐานจากนักวิชาการชี้ว่าปรีดีไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง และผู้ถูกประหารทั้ง 3 เป็นเพียงแค่แพะรับบาปเท่านั้น แต่ก็ไม่สามารถหมุนกงล้อของเวลา เพื่อหวนกลับไปพิสูจน์ความจริงได้ ในฐานะผู้เฝ้ามองประวัติศาสตร์ ประชาชนจึงทำได้เพียงสังเกตการณ์ว่ากงล้อของเวลานี้จะหมุนวน และเปิดเผยสิ่งใดออกมา 

หากเชื่อว่า ‘ความจริงเป็นสิ่งไม่ตาย’ สัจจะเป็นอมตะเสมอ ไม่ว่ากาลเวลาจะนำพามันไปซ่อนไว้ที่ไหน มันจะปรากฏออกมาในเวลาที่เหมาะสม

ที่มา:

Author

กนกวรรณ เชียงตันติ์
ผู้ถูกเลือกให้ปวดหลัง

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า