หนึ่งเดือนประท้วงเลบานอน จากภาษี WhatsApp สู่ผู้เสียชีวิตรายแรก: นายกฯ ลั่น “ไม่พอใจก็ออกไป”

สิ่งที่ชาวเลบานอนกำลังเผชิญอยู่ขณะนี้มี 2 ประการ หนึ่ง คือวิกฤติเศรษฐกิจครั้งรุนแรงที่สุดในรอบหลายสิบปีนับตั้งแต่สงครามกลางเมืองเมื่อปี 1990 และสอง คือรัฐบาลไร้ประสิทธิภาพเกินกว่าจะจัดการกับปัญหาประการแรกของชาวเลบานอน

ความล้มเหลวของรัฐบาลในการจัดการปัญหาเศรษฐกิจ ทั้งค่าครองชีพที่สูงขึ้น อัตราว่างงานเพิ่มขึ้น บริการสาธารณูปโภคที่ไม่มีคุณภาพ และปัญหาคอร์รัปชัน เก็บภาษีเพิ่มขึ้น กระทั่งการใช้ WhatsApp ก็ต้องเสียภาษี กลายเป็นชนวนให้ประชาชนทั่วประเทศลุกขึ้นมาประท้วงตั้งแต่วันที่ 17 ตุลาคม 2019 เพื่อกดดันให้รัฐบาลที่นำโดยนายกรัฐมนตรีซาอัด ฮาริริ (Saad Hariri) ลาออกทั้งคณะ และเพื่อเป้าหมายที่ใหญ่กว่านั้น คือปฏิรูประบบการเมืองของประเทศและจัดตั้งรัฐบาลใหม่ที่ไม่เอนเอียงเข้าข้างศาสนาใดศาสนาหนึ่ง

การประท้วงทวีความรุนแรงขึ้นเมื่อวันอังคารที่ผ่านมา หลังเจ้าหน้าที่ทหารในเบรุต เมืองหลวงของเลบานอน ใช้อาวุธปืนยิงขู่เพื่อหวังสลายการชุมนุมของฝูงชน แต่กระสุนนัดหนึ่งกลับถูกผู้นำพรรคการเมืองท้องถิ่นเสียชีวิต

ผู้เสียชีวิตรายนี้นับเป็นศพแรกของการประท้วงที่ยืดเยื้อเกือบเดือน เขาเป็นหนึ่งในสมาชิกพรรคสังคมนิยมก้าวหน้า (Progressive Socialist Party) ซึ่งนำโดย วาลิด จัมบลัตต์ (Walid Jumblatt) คู่แข่งทางการเมืองของ มิเชล อูน (Michel Aoun) ประธานาธิบดีคนปัจจุบัน

กองทัพรายงานว่า ทหารผู้ลั่นกระสุนถูกควบคุมตัวและกำลังอยู่ระหว่างการสอบสวนแล้ว แต่ก็ไม่สามารถทำให้ผู้ชุมนุมสงบลงได้

วันรุ่งขึ้น ผู้ประท้วงจากทั่วทุกภาคส่วนทั่วประเทศจึงตอบโต้ด้วยการรวมตัวกันเผายางรถยนต์ และปิดกั้นเส้นทางจราจรบนถนนสายหลักในเลบานอน แม้จัมบลัตต์จะออกมาปรามผู้สนับสนุนทางการเมืองของเขาไม่ให้ตอบโต้อะไรก็ตาม

ก่อนหน้าที่จะเกิดเหตุยิง ทางฝั่งประธานาธิบดีอูนเคยออกมาขอร้องแกมกดดันให้ผู้ชุมนุมหยุดการเคลื่อนไหว มิฉะนั้นอาจเกิด ‘หายนะ’ และสร้างความเสียหายแก่ผลประโยชน์ของประเทศชาติ แต่การขับไล่ผู้ชุมนุมและประชาชน “ให้อพยพไปเสีย” และถ้อยคำอันรุนแรงระหว่างการให้สัมภาษณ์ราว 1 ชั่วโมงของเขากลับไม่ช่วยให้สถานการณ์ดีขึ้น

“ถ้ามีใครไม่พอใจกับเหล่าผู้นำอันเพียบพร้อมและมีเกียรติ ก็ให้เขาอพยพไปเสีย” ประธานาธิบดีอูนให้สัมภาษณ์ “เรากำลังทำงานหามรุ่งหามค่ำเพื่อกู้สถานการณ์ ถ้าประชาชนยังประท้วงไม่เลิก หายนะก็จะบังเกิด แต่ถ้าหยุดเท่านี้ก็ยังพอมีช่องว่างให้เราหายใจหายคอและแก้ไขเรื่องต่างๆ”

อารยะขัดขืน

“เราจะไม่ถอย และจะยิ่งไม่ถอยเมื่อต้องเผชิญหน้ากับเจ้าหน้าที่ซึ่งไม่รับรู้ไม่สนใจเรา”

คือคำประกาศของ อเตฟ (Atef) หนึ่งในผู้ประท้วงชาวเลบานอน ส่วน ลินดา มิคาริ (Linda Boulos Mikari) เล่าว่า บทสัมภาษณ์ของประธานาธิบดีเป็นตัวกระตุ้นให้เธอลงถนนประท้วง

“เราเหนื่อยแล้วกับเจ้าหน้าที่ที่มักทำราวกับว่าการประท้วงของเราไม่มีความหมาย ‘กลับบ้านไป’ ประธานาธิบดีพูดราวกับว่าเราเป็นเด็กๆ ขอเถอะ เคารพเราบ้าง”

ธนาคารหลายแห่งปิดตัวลงเนื่องจากพนักงานต่างสไตรก์ด้วยความกลัวว่าจะถูกทำร้ายจากลูกค้าที่ต้องการถอนเงิน ธนาคารพาณิชย์วิตกว่าอาจเกิดเหตุการณ์ ‘เงินทุนไหลออก’ เมื่อนักลงทุนที่ไม่เชื่อมั่นพากันขนเงินหนีออกนอกประเทศ จึงใช้มาตรการรัดกุมอย่างมากในการถอนเงินดอลลาร์สหรัฐ และการขนย้ายเงินปอนด์เลบานอน เงินสองสกุลที่ได้รับความนิยมพอกันในเลบานอน

ความไม่พอใจของผู้ประท้วงพุ่งไปยังชนชั้นนำกลุ่มเดิมๆ ที่ปกครองประเทศมาอย่างยาวนานและยังเป็นชนส่วนน้อยที่มั่งคั่งขึ้นเรื่อยๆ ผู้ประท้วงเรียกร้องให้คณะรัฐมนตรีทั้งคณะลาออก กำหนดภาษีที่เป็นธรรม กำจัดคอร์รัปชัน และมีการปฏิรูปโครงสร้างทางการเมืองที่มีมาตั้งแต่สมัยหลังสงครามกลางเมือง ซึ่งเอื้อให้ชนชั้นปกครองกลุ่มเล็กๆ อยู่ดีกินดี แต่คนส่วนมากกลับต้องทนใช้บริการสาธารณูปโภคที่ไม่มีคุณภาพ อย่างไรก็ตาม อูนกล่าวว่าข้อเสนอให้ลาออกนั้นเป็นเรื่อง ‘เพ้อฝัน’

อูนยังบอกเป็นนัยๆ ว่าอาจนำนายกรัฐมนตรีฮาริริที่เคยประกาศลาออกไปเมื่อปลายเดือนตุลาคมกลับเข้ามาดำรงตำแหน่งตามเดิมด้วย เนื่องจากฮาริริค่อนข้างกว้างขวางในหมู่ผู้นำชาติตะวันตก และรัฐบาลเลบานอนก็หวังลึกๆ ว่าเส้นสายของเขาอาจเป็นสะพานไปสู่ความช่วยเหลือทางการเงินในช่วงที่เศรษฐกิจเลบานอนกำลังวิกฤติได้

“ผมพบฮาริริแล้ว และเขาดูจะลังเลอยู่ระหว่างคำตอบตกลงและปฏิเสธ” อูนกล่าวเมื่อวันอังคารที่ผ่านมา

การเมืองที่ไม่แบ่งแยกพรรคพวกทางการเมืองตามกลุ่มศาสนาก็เป็นอีกข้อเรียกร้องหนึ่งของผู้ประท้วง เนื่องจากกฎหมายของเลบานอนกำหนดให้มีการ ‘ล็อค’ สัดส่วนเก้าอี้เอาไว้ตามศาสนา เช่น ประธานาธิบดีต้องเป็นชาวคริสต์เท่านั้น โฆษกรัฐสภาเป็นมุสลิมนิกายชีอะห์ และนายกรัฐมนตรีเป็นมุสลิมนิกายซุนนี เป็นต้น การล็อคเก้าอี้เช่นนี้กลายเป็นจุดอ่อนทางการเมืองที่ทำให้ต่างชาติใช้ศาสนาเข้ามาเป็นข้ออ้างในการแทรกแซงได้ง่าย

เกิดอะไรขึ้นในเลบานอน

เลบานอนกำลังเผชิญวิกฤติเศรษฐกิจที่เลวร้ายที่สุดในรอบหลายทศวรรษ ข้อมูลจากทางการเลบานอนระบุว่าอัตรายอดหนี้สาธารณะต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) สูงถึง 150 เปอร์เซ็นต์ ติดอันดับ 1 ใน 3 ของอัตรายอดหนี้สาธารณะทั่วโลก นอกจากนี้อัตราว่างงานโดยรวมมีค่า 25 เปอร์เซ็นต์ เฉพาะอัตราการว่างงานในแรงงานอายุน้อยสูงถึง 37 เปอร์เซ็นต์ ในขณะที่ข้อมูลจากธนาคารโลกชี้ให้เห็นว่าประชากร 1 ใน 3 อยู่ภายใต้เส้นความยากจน (poverty line)

เดือนตุลาคม 2019 เงินดอลลาร์ในธนาคารพาณิชย์เลบานอนขาดแคลน เป็นเหตุให้เงินปอนด์เลบานอนในตลาดมืดอ่อนค่าลงตามเป็นครั้งแรกในรอบ 20 ปี ผู้นำเข้าที่รับเงินเป็นหน่วยปอนด์เสียประโยชน์ ทำให้มีการเรียกร้องให้จ่ายเงินแก่ผู้นำเข้าน้ำมันและข้าวสาลีเป็นหน่วยดอลลาร์สหรัฐแทน นั่นหมายถึงต้นทุนที่สูงขึ้นของผู้ประกอบการเบเกอรีและธุรกิจน้ำมัน ในเวลาต่อมา สหภาพเหล่านี้ก็สไตรก์

ในวันที่ 14 ตุลาคม ไฟป่าผลาญทั่วภูเขาฝั่งตะวันตกของประเทศ จากนั้นประชาชนเลบานอนจึงได้รู้ความจริงว่าเครื่องบินสำหรับดับไฟป่าของประเทศไม่อยู่ในสภาพพร้อมใช้งานเนื่องจากขาดงบประมาณ จนรัฐบาลจำต้องขอความช่วยเหลือจากประเทศข้างเคียงอย่างไซปรัส กรีซ และจอร์แดน

ความไม่พอใจของประชาชนชาวเลบานอนยิ่งเพิ่มสูงขึ้นในอีก 3 วันถัดมา เมื่อรัฐบาลประกาศขึ้นภาษียาสูบ ภาษีน้ำมัน และภาษีในสิ่งที่ควรจะ ‘ฟรี’ อย่างการวิดีโอคอลผ่านแอพพลิเคชั่น WhatsApp 6 ดอลลาร์ต่อเดือน (ราว 180 บาท) เท่านี้ก็เพียงพอที่จะเป็นชนวนให้คนเลบานอนจากทุกภาคส่วนตัดสินใจเดินทางไปยังทำเนียบรัฐบาลในเมืองเบรุตเพื่อประท้วงเรื่องค่าครองชีพ และกดดันให้ ซาอัด ฮาริริ นายกรัฐมนตรี รวมถึงรัฐบาลทั้งชุดลาออก

การประท้วงยังดำเนินต่อไปแม้ฮาริริจะยอมลาออกในวันที่ 29 ตุลาคม ความเดือดร้อนของชาวเลบานอนซึมลึกยาวนานมากกว่าเรื่องปัญหาค่าครองชีพ รัฐบาลล้มเหลวในการจัดเตรียมสาธารณูปโภคพื้นฐานอย่างไฟฟ้า น้ำประปาสะอาดสำหรับดื่ม สัญญาณอินเทอร์เน็ตที่เร็วและแรงเพียงพอ รวมถึงบริการสุขภาพสำหรับประชาชนทั่วไป

สาธารณูปโภคเหล่านี้ไม่เคยได้รับการซ่อมแซมตั้งแต่สมัยสงครามกลางเมืองที่ยาวนานเกือบ 15 ปี ตั้งแต่ปี 1975-1989 จบสิ้น ยิ่งช่วงปีหลังที่ผู้อพยพจากประเทศซีเรียนับล้านลี้ภัยเข้ามาอาศัยด้วย ก็ยิ่งเพิ่มอัตราการใช้งานสาธารณูปโภคอันจำกัดจำเขี่ยให้เสื่อมสภาพเร็วขึ้น

 

อ้างอิงข้อมูลจาก:
independent.co.uk
theguardian.com
bbc.com
amnesty.org

 

Author

ชนฐิตา ไกรศรีกุล
First Jobber ที่ผันตัวจากนักศึกษาเศรษฐศาสตร์-การสื่อสารมวลชนมาเป็นเจ้าหน้าที่วิจัยด้านแรงงาน เป็นชาวเชียงใหม่ที่มีกรุงเทพฯ เป็นบ้านหลังที่สอง และเพิ่งจะยึดแม่สอดเป็นบ้านหลังที่สาม เชื่อว่าตัวเองมีชะตาต้องกันกับพื้นที่ชายแดนและประเด็นทุกข์ร้อนของคนชายขอบ

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า