อเมริกันประท้วง หลังเอกสารคว่ำกฎหมายทำแท้งเสรีรั่วไหลจากศาลสูงสุดสหรัฐฯ

การออกมาเดินขบวนประท้วงของประชาชนชาวอเมริกัน บริเวณหน้าศาลสูงสุดในกรุงวอชิงตัน ดีซี เกิดขึ้นตั้งแต่วันที่ 2 พฤษภาคม 2565 ภายหลังจากที่สื่ออเมริกันหลายสำนักรายงานว่า มีเอกสารจากศาลสูงสุดรั่วไหลออกมาว่าอาจมีการเตรียมล้มสิทธิในการทำแท้งตามคำพิพากษาคดีประวัติศาสตร์อย่างคดี ‘โร วี. เวด’ (Roe V. Wade) ซึ่งเคยทำให้การทำแท้งในสหรัฐอเมริกาถูกกฎหมายมาก่อน

คดี โร วี. เวด เป็นคำวินิจฉัยหลักของศาลสูงสุดสหรัฐอเมริกา โดยศาลฯ วินิจฉัยว่ารัฐธรรมนูญสหรัฐต้องคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของหญิงตั้งครรภ์ในการเลือกทำแท้งได้ โดยปราศจากข้อจำกัดของรัฐบาล ซึ่งคำวินิจฉัยนี้นำไปสู่การยกเลิกกฎหมายทำแท้งในหลายรัฐของสหรัฐอเมริกา หรืออาจกล่าวได้ว่า คดีนี้ถือเป็นชนวนที่ทำให้เกิดการถกเถียงเรื่องการทำแท้งในสหรัฐว่า การทำแท้งควรชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ หรือควรมีขอบเขตเพียงใด ผู้ใดควรตัดสินว่าการทำแท้งชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ และทัศนะทางศีลธรรมและศาสนาในวงการเมืองควรเป็นอย่างไร นอกจากนี้ ยังก่อให้เกิดการถกเถียงว่าศาลสูงสุดควรใช้วิธีการใดในการตัดสินชี้ขาด
รูธ เบเดอร์ กินส์เบิร์ก (Ruth Bader Ginsburg) อดีตผู้พิพากษาศาลสูงสุด เคยกล่าวเตือนถึงคดี โร วี. เวด เมื่อปี 2562 ในฐานะตุลาการสตรีผู้ที่ต่อสู้กับความไม่เท่าเทียมทางเพศในสหรัฐอเมริกามาโดยตลอดว่า การตัดสินคดีนี้ยังไม่อาจรับรองได้ว่าในอนาคตจะไม่มีการเปลี่ยนแปลงข้อกฎหมายทำแท้ง ซึ่งคำเตือนของกินส์เบิร์กก็ได้เกิดขึ้นจริง เห็นได้จากรายงานของสำนักข่าวต่างประเทศหลายสำนักได้อ้างอิงถึงเอกสารที่หลุดออกมาว่า ศาลสูงสุดสหรัฐฯ ได้ลงคะแนนเสียงให้ยกเลิกกฎหมายตามที่คดี โร วี. เวด เคยมีคำพิพากษาไว้

ในขณะเดียวกัน สำนักสื่อ Politico ได้รายงานว่า จากกรณีการรั่วไหลของเอกสารดังกล่าว จอห์น โรเบิร์ตส (John Roberts) หัวหน้าคณะตุลาการและผู้พิพากษาศาลสูงสุด ยังไม่ได้มีการรับรองเอกสารร่างความเห็นฉบับนี้ แต่ในช่วงที่ผ่านมาก็ได้มีการวิเคราะห์สถานการณ์จากกลุ่มผู้เชี่ยวชาญด้วยเช่นกันว่า เนื่องจากฝ่ายตุลาการศาล รวมถึงผู้พิพากษาศาลสูงสุด มีแนวคิดที่ค่อนข้างเอียงไปทางฝ่ายอนุรักษนิยม นี่จึงอาจเป็นอีกปัจจัยที่ส่งผลให้คำตัดสินในหลายคดีที่ผ่านมาดูเหมือนจะยึดตามแนวคิดอุดมการณ์เป็นหลัก จนทำให้ประชาชนสูญเสียศรัทธาในตัวศาลสูงสุด อีกทั้งยังมีประชาชนชาวอเมริกันจำนวนมากมองว่า คณะตุลาการศาลสูงสุดในขณะนี้เหมือนนักการเมืองที่สวมเสื้อครุยเสียมากกว่า
นอกจากนี้ โจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ได้ระบุว่า รัฐบาลจะตอบโต้ในทันที หากศาลสูงสุดสหรัฐอเมริกาตัดสินใจดำเนินการตามร่างความเห็นดังกล่าว เนื่องจากถือเป็นการคุกคามสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชน

อ้างอิง:

Author

มนสิรา กาหลง
ใช้ชีวิตอยู่ปัตตานีจนจบ ม.ปลาย แล้วจึงย้ายถิ่นฐานเพื่อมาเรียนวารสารฯ ธรรมศาสตร์ วัยเด็กโตมากับทีวี รักการดูโฆษณา ปัจจุบันหันมาสนใจงานเขียน งานข่าว ขับเคลื่อนชีวิตด้วยน้ำชง เพลงเเจ๊ส และแมว มุ่งหวังที่จะมีส่วนร่วมในการพัฒนาสังคมให้ดีขึ้นไปพร้อมๆ กับการเอาชีวิต(ให้)รอดในโลกทุนนิยม

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า