Jackson: ตั้งครรภ์ไม่พร้อม ทำแท้งหรือปล่อยตามวิถีของพระเจ้า

ป้ายโฆษณาในเมืองแจ็คสัน

“ท้องเพราะถูกข่มขืนต้องมีทางเลือก”
“สอนเรื่องเพศศึกษารอบด้าน”
“วอน สธ. ปฏิรูปคุมกำเนิดครอบคลุม”

ป้ายพลาสติกติดข้อความรณรงค์ปรากฏอยู่รายรอบแห่งประชุมชั้นสี่ บนอาคารร้านอาหารในชื่อ ‘เพื่อนรัก’ สะดุดต่อสายตาเมื่อแรกก้าวเข้ามา ก่อนหญิงสาวในชุดสีขาวจะเอ่ยถามถึงจุดประสงค์ เมื่อเราตอบไปว่าต้องการชมภาพยนตร์ เธอให้เราเข้าไปนั่งรอเพื่อจะไปนำตั๋วมาให้

ระหว่างนั้น เรามองไปรอบๆ ผู้คนเริ่มทยอยกันมา ส่วนมากเป็นผู้หญิงหลากหลายช่วงวัย ครู่ต่อมา ชายหนุ่มเดินถือตั๋วสำหรับชมภาพยนตร์เดินเข้ามาในห้อง สอบถามว่าใครบ้างที่ยังไม่มีตั๋ว เรายกมือ จ่ายค่าตั๋วไป ได้กระดาษแผ่นเล็กๆ พิมพ์สี่สี มีชื่อของภาพยนตร์ปรากฏอยู่บนนั้น

ไฟหรี่ลง ไม่มีโฆษณาและภาพยนตร์ตัวอย่าง จากนั้นภาพปรากฏขึ้น เป็นภาพของกลุ่มผู้ชายและหญิงวัยกลางคน บ้างกำลังเกาะราวรั้วสถานที่แห่งหนึ่ง มือถือสร้อยกางเขน หลับตา ภาวนา ไม่ก็เอ่ยอ้างถึงบทสวดจากในพระคัมภีร์เสียงดัง จวบจนเมื่อรถเก๋งคันหนึ่งเลี้ยวเข้ามาสู่ถนน ผู้คนที่เมื่อครู่อยู่ในอาการสงบจึงเริ่มขยับ ก่อนจะเริ่มตะโกนใส่รถเก๋งที่กำลังขับผ่านรั้วเข้ามาจอดในลานเบื้องหน้าอาคารสีชมพูหลังนั้น

คุณกำลังฆ่าเด็กๆ ของเรา หยุดเสียเถอะ

ทั้งหมดนี้คือบทเปิดเรื่องของภาพยนตร์สารคดี Jackson: The Place With One Clinic เรื่องราวของคลินิกทำแท้งสุดท้ายในเมืองแจ็คสัน รัฐมิสซิสซิปปี จากแรงบีบทางการเมืองของกลุ่มชนชั้นสูงผิวขาว พวกเขามองคลินิกทางเลือกสีชมพูซึ่งให้บริการและคำปรึกษาแก่หญิงผิวดำชนชั้นล่างตั้งครรภ์เป็นประดุจบ้านของปีศาจ

“พรรครีพับลิกันพยายามต่อสู้กับหญิงชนชั้นล่างในการทำแท้ง”

Jackson Women’s Health Organization credit: Debbie Elliot/NPR

ผู้สื่อข่าวที่ปรากฏในภาพยนตร์ที่ผู้กำกับ ไมซี โครว์ (Maisie Crow) เลือกมานำเสนอ บอกเราให้รับรู้ถึงปัญหาที่ แชนนอน บรูเวอร์ (Shannon Brewer) ผู้อำนวยการศูนย์คลินิกทำแท้งจาก Jackson Women’s Health Organization กำลังเผชิญ ปัญหานี้น่าประหวั่นพรั่นพรึงเสียยิ่งกว่ากลุ่มผู้ประท้วงด้านนอกอาคารสีชมพู

ห่างออกไปราวๆ ร้อยหลา คือที่ตั้งของศูนย์ช่วยเหลือผู้ประสบภัยการตั้งครรภ์ ในชื่อ Center for Pregnancy Choices (CPC) ภายใต้การกำกับดูแลของ บาร์บารา บีเวอร์ส (Barbara Beavers) ผู้เชื่ออย่างสุดหัวใจว่า ปัญหาการทำแท้งจะยุติลงได้ด้วยการยึดมั่นในหลักธรรมคำสอนของพระเจ้า ไม่ใช่ด้วยยาคุมกำเนิด ไม่ใช่ด้วยการนับวันปลอดภัย ไม่ใช่ด้วยการป้องกันใดๆ แต่เป็นการไม่มีเซ็กส์ก่อนวัยอันควร ไม่มีเซ็กส์ก่อนการแต่งงาน

เด็กสาวที่ชื่อ เอพริล แจ็คสัน

หากจะเปรียบบาร์บาราและแชนนอนเป็นคู่ต่อสู้โดยมีสมรภูมิที่ชื่อ ‘สิทธิในการทำแท้งควรเป็นของใคร? มนุษย์หรือศาสนา’ เอพริล แจ็คสัน (April Jackson) เด็กสาววัย 24 เพิ่งรู้ว่าตัวเองกำลังตั้งครรภ์ลูกคนที่ห้า เธอกลับรู้สึกอยากให้ลูกในท้องเป็นแค่เพียง ‘ฝัน’ ตื่นหนึ่ง

เอพริล แจ็คสัน

เพียงฝันที่ไม่ใช่ภาพจริงของการลืมตาตื่นขึ้นมาแล้วพบว่า ความหวังที่จะมีชีวิต มีอนาคตที่ดีกว่าชุมชนในเซาธ์แจ็คสันได้พังทลายสิ้นไปเมื่อเธอได้ตั้งท้อง

“ผมให้สัญญากับพวกคุณ จะต้องไม่มีการทำแท้งในรัฐมิสซิสซิปปี้” ฟิล ไบรอันท์ (Phil Bryant) ผู้ว่าการรัฐมิสซิสซิปปีกล่าวแก่ที่ประชุมกลุ่มศูนย์ช่วยเหลือผู้ประสบภัยการตั้งครรภ์ของบาร์บารา ที่วาดหวังว่าในที่สุด ชัยชนะต่อปัญหาการทำแท้งจะตกเป็นของพระเจ้า

ในขณะที่ เอพริล แจ็คสัน อยู่ในสภาวะสิ้นหวัง แม่ของเธอตะคอกด่าเรื่องตั้งท้อง เรื่องผู้ชายที่แค่มานอนกับเธอ แล้วทิ้งลูกไว้ให้เป็นภาระ การรณรงค์ของกลุ่มบาร์บาราและกลุ่มชนผิวขาวได้ยกระดับไปสู่การเคลื่อนไหวในระดับรัฐที่ออกกฎหมายให้คลินิกทำแท้งอย่างคลินิกของแชนนอน ว่าต้องส่งคนไข้ไปแอดมิทในโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุดก่อน ซึ่งทั้งแชนนอนและผู้ออกกฎหมายต่างรู้ดีว่า การแอดมิทไปโรงพยาบาลนั้นเป็นไปได้ยาก หรือกระทั่งเป็นไปไม่ได้เลย เพราะการทำแท้งไม่ใช่นโยบายของโรงพยาบาลแทบทุกโรงพยาบาล

และไม่ใช่แค่ในเมืองแจ็คสัน แต่หมายความถึงทั่วทั้งรัฐมิสซิสซิปปี

ความโดดเดี่ยวของ Jackson

เดาได้ไม่ยากนัก เหตุใดภาพยนตร์สารคดีนี้จึงได้ชื่อว่า Jackson: The Place With One Clinic

หนึ่ง – เพราะคลินิกของแชนนอนเป็นคลินิกทำแท้งถูกกฎหมายแห่งสุดท้ายในเมืองแจ็คสัน

สอง – เพราะเรื่องราวทั้งหมดในสารคดีต่างหมุนรอบๆ ตัว เอพริล แจ็คสัน การตัดสินใจที่ยากที่สุดในชีวิตของเธอไม่ใช่การตัดสินใจเก็บหรือไม่เก็บลูกเอาไว้ ในฐานะของเด็กสาวที่มีลูกมาแล้วสี่คน แต่การตัดสินใจที่ยากที่สุดของเอพริลคือ การเดินเข้าไปขอรับความช่วยเหลือของศูนย์ช่วยเหลือผู้ประสบภัยการตั้งครรภ์ ภายใต้การดูแลของบาร์บาราที่โอบรับเอพริลอย่างยินดี และกล่าวกับเธอในแบบที่ทำให้เราสะอึกว่า ลูกของเอพริลจะได้เป็นนักฟุตบอลสร้างเงินให้แม่มากมาย ราวกับการเลือกเก็บลูกไว้ของเอพริล เป็นคำตอบที่ทำให้บาร์บาราหันมายิ้มให้กับกล้อง ซึ่งในอีกแง่ คือ ‘เรา’ ในฐานะผู้ชมว่า “เห็นไหม มันมีทางเลือกเสมอ”

แต่หากกลับกัน ผู้ที่กำลังชมเป็นเด็กสาวที่กำลังโดดเดี่ยวไร้ที่พึ่ง ยังเรียนไม่จบ และเพิ่งพบว่าตนเองตั้งครรภ์ล่ะ?

“หัวใจของประเด็นการทำแท้ง อยู่ที่การไร้ศีลธรรมในเรื่องเพศ” บาร์บารา บีเวอร์สกล่าว

บาบารา บีเวอร์ส ผู้อำนวยการ Center for Pregnancy Choices (CPC)

ชีวิตในอุ้งมือใคร

มันง่ายเสมอที่คนเราจะตัดสินคนอื่น แต่กลับปฏิเสธอย่างที่สุดเมื่อมองมาที่ตัวเอง ช่วงหนึ่งของ Jackson ที่ค่อนข้างชอบคือ การที่ผู้กำกับยิงคำถามใส่บาร์บาราซึ่งทำได้เพียงนำเตียงเสริมสำหรับทารกไปให้เอพริลหลังเธอคลอดลูกคนที่ห้า คำตอบของบาร์บาราที่บอกเราว่า เธอเองก็ไม่รู้เหมือนกันจะเอายังไงแน่ ต่อปัญหาทำแท้ง แต่เธอรู้แค่การป้องกันที่ดีที่สุดคือควบคุมตัวเอง ดำเนินชีวิตตามคำสอนของพระเจ้า ถุงยางป้องกันการตั้งท้องได้เพียง 20 เปอร์เซ็นต์ แม้ผู้กำกับจะแย้งว่า 98 เปอร์เซ็นต์ เธอก็ไม่เชื่อ ทั้งยังยืนกรานด้วยการบอกจะหาข้อมูลมายืนยันตัวเลข 20 เปอร์เซ็นต์นั้น

แต่ถ้าคุณดำเนินตามคำสอนของพระเจ้า คำสอนนั้นจะปกป้องคุณทั้งกาย ใจ และวิญญาณได้ 100 เปอร์เซ็นต์

เราบอกได้เพียงความเชื่อของบาร์บาราไม่ผิด

เราบอกได้เพียงว่า เธอพยายามแล้วในขอบเขตของความเชื่อเธอต่อสิ่งที่ทำให้เอพริลว่าเป็นสิ่งที่ดี

ขณะที่เราก็ได้คิดตามไปว่า ถ้าเอพริลเลือกทำแท้งแทน เธอจะมีความสุขกว่าที่เห็นในภาพยนตร์ไหม เธอจะมองตัวเองด้วยสายตาที่ไม่เจ็บปวดไหม

ทัศนะของหนึ่งในผู้เข้าร่วมเสวนาภาพยนตร์ Jackson: The Place With One Clinic พญ.สายพิณ หัตถีรัตน์ มองประเด็นการช่วยเหลือของศูนย์ CPC นั้นวางอยู่บนเงื่อนไขของการที่คุณต้องมอบให้ก่อน เราถึงจะมอบให้กลับ ซึ่งเปรียบไปแล้วไม่ต่างจากความเชื่อว่า “จงมอบความรักให้พระเจ้าก่อน แล้วพระเจ้าจึงจะมอบสิ่งที่เจ้าต้องการ” เพื่อได้รับความช่วยเหลือ เอพริลต้องยินยอมมาฝากครรภ์ลูกคนที่ห้าก่อน

“ซึ่งเป็นการทำให้เขาอยู่ในวัฏจักรที่โงหัวไม่ขึ้น จะเห็นได้ว่าเอพริลเองก็ค่อนข้างเศร้า แล้วก็…เขาก็ไม่ได้อยากจะมี แต่เขาไม่รู้จะทำยังไง”

กลับกัน ในฐานะที่พึ่งของเด็กสาวยากจน คลินิกทำแท้งของแชนนอนกำลังจะปิดตัวตามคำสั่งศาลที่ระบุว่าเธอฝ่าฝืนกฎหมายต่อกรณีไม่ยอมส่งตัวเด็กสาวที่ต้องการทำแท้งไปแอดมิทโรงพยาบาลใกล้เคียง

“เราต้องเอาคำว่า ‘ละอาย’ ออกไปจากการทำแท้ง ตราบใดที่เราไม่ละอายในความเป็นตัวเรา”

เราไม่เชื่อตามที่ภาพยนตร์ต้องการสื่อให้ใคร่ครวญคิดตามต่อประโยคสุดท้ายที่บอกว่า

…หลังจากเอพริลแสดงความจำนงที่จะเข้าไปช่วยงานศูนย์ CPC แปดเดือนต่อมาเธอตั้งท้องลูกแฝด…

เราไม่เชื่อ เพราะเราไม่คิดว่าการทำแท้งเป็นทางออกที่ดีที่สุดต่อเด็กสาวแบบเอพริล
เราไม่เชื่อ เพราะเราคิดว่า ในท้ายที่สุด ทางเลือกเป็นเรื่องส่วนบุคคล ไม่ว่าจะดีหรือเลว

และโลกเบี้ยวๆ ใบนี้ จำเป็นต้องมีคนอย่างบาร์บาราและแชนนอนในอัตราที่พอๆ กัน ผู้คนที่แตกต่างทางความเชื่อ แต่วางพื้นฐานอยู่บนท่าทีของการสนทนา ท่าทีที่ไม่ว่าจะแตกต่างเพียงไร ปลายทางคือ ช่วยเหลือผู้คนที่กำลังทนทุกข์ และเคว้งคว้างอยู่บนโลกเพียงลำพัง

ผู้คนแบบ เอพริล ‘Jackson’

ถ้อยคำจากวงเสวนาภาพยนตร์ Jackson: The Place With One Clinic “ทุกฝ่ายเคารพซึ่งกันและกัน ถ้าคุณไม่ยอมรับอีกฝ่าย ไม่เป็นไร คุณก็ทำหน้าที่ของคุณให้ดีที่สุด แต่สุดท้ายแล้ว ต้องเป็นผู้หญิง ไม่ใช่เป็นคุณ คุณไม่มีสิทธิ์ไปตัดสินคุณค่า”

อาจจะเหมือนมุมมองของ ทัศนัย ขันตยาภรณ์ ที่ปรึกษามูลนิธิ แพธ ทู เฮลธ์ (Path2Health: P2H) ซึ่งทำงานขับเคลื่อนประเด็นการทำแท้งอย่างถูกสุขอนามัยเพื่อไม่ให้ผู้หญิงต้องเสียชีวิตจากการทำแท้งเถื่อน มองการทำงานเพื่อมีจุดมุ่งหมายเดียวกันคือ การช่วยเหลือผู้หญิงที่ตั้งท้องไม่พร้อมนั้นจำเป็นมากๆ ที่ต้องเคารพในบทบาทที่ยืนอยู่บนความเชื่อที่แตกต่างกัน เพราะว่า…

“การขับเคลื่อนเรื่องทำแท้ง เราจะต้องไม่ทอดทิ้งคนที่ไม่เห็นด้วยค่ะ”


Author

นิธิ นิธิวีรกุล
เส้นทางงานเขียนสวนทางกับขนบทั่วไป ผลิตงานวรรณกรรมตั้งแต่เรียนชั้นมัธยม มีผลงานรวมเรื่องสั้นและนวนิยายหลายเล่ม ก่อนพาตนเองข้ามพรมแดนมาสู่งานจับประเด็น เรียบเรียง รายงานสถานการณ์ทางความรู้และข้อเท็จจริงในสนามออนไลน์ เป็นหนึ่งในกองบรรณาธิการที่สาธิตให้เห็นว่า ข้ออ้างรออารมณ์ในการทำงานเป็นสิ่งงมงาย

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า