เจ. เค. โรว์ลิง ผู้เขียน แฮร์รี พอตเตอร์ ประกาศไม่สนับสนุนสถานเลี้ยงเด็กกำพร้า

หนังสือที่ทำให้นักเขียนหญิงชาวอังกฤษ โจแอนน์ โรลลิง หรือในนามปากกา เจ. เค. โรว์ลิง (J. K. Rowling) แจ้งเกิดเป็นนักเขียนวรรณกรรมสำหรับเด็กที่ดังไปทั่วโลกจนได้รับการแปลเป็นภาษาต่างๆ มากกว่า 75 ภาษา คือเรื่อง แฮร์รี พอตเตอร์ เด็กชายที่สูญเสียทั้งพ่อและแม่ไปตั้งแต่ยังเป็นทารก แฮร์รีอาศัยอยู่กับครอบครัวอันประกอบด้วยลุง ป้า และลูกพี่ลูกน้องซึ่งไม่มีใครชอบหน้าเขาสักคน ก่อนที่จะค้นพบว่าตัวเองเป็นพ่อมดในวันเกิดอันเงียบเหงาครบรอบ 11 ขวบ

ถึงแม้ตัวเอกของเรื่องจะเริ่มต้นมาจากการเป็นเด็กกำพร้า แต่ เจ. เค. โรว์ลิง ก็ออกมาประกาศแคมเปญ #HelpingNotHelping (ความช่วยเหลือที่ไม่เป็นผล) เพื่อบอกเยาวชนที่บางส่วนเป็นแฟนหนังสือของเธอว่า เธอไม่สนับสนุนวัยรุ่นให้ออกไปทำงานอาสาที่บ้านเลี้ยงเด็กกำพร้าในประเทศยากจน เนื่องจากความหวังดีของเยาวชนจิตอาสาอาจกลายเป็นการสนับสนุนแหล่งทารุณเด็กกำพร้าไปโดยไม่รู้ตัว

เจ. เค. โรว์ลิง นักเขียน และผู้ก่อตั้งรวมถึงประธานมูลนิธิลูมอส (Lumos) เตือนว่า การสร้าง ‘สถานรับเลี้ยงเด็กกำพร้า’ ขึ้นมาดูแลเด็กๆ เป็นแนวคิดที่ล้าสมัยและเป็นอันตราย ซ้ำยังบิดเบือนข้อเท็จจริงที่ว่าเด็กกำพร้าในสถานรับเลี้ยงของประเทศยากจนส่วนมากยังมีพ่อแม่อยู่ โดยเด็กกำพร้าถึง 80 เปอร์เซ็นต์ทั่วโลกยังมีพ่อหรือแม่ที่ยังมีชีวิตอยู่ที่ไหนสักแห่ง แต่เพราะปัจจัยต่างๆ เช่น ความอดอยากแร้นแค้น ทำให้เด็กถูกนำไปทิ้งไว้ที่สถานรับเลี้ยงเพื่อแบ่งเบาภาระเลี้ยงดู หรือปัจจัยอื่นอย่างภัยพิบัติธรรมชาติและความพิการ จนทำให้ผู้ปกครองมองว่าสถานรับเลี้ยงเด็กกำพร้าจะเป็นความหวังเดียวที่ทำให้บุตรหลานได้เข้าถึงการศึกษาและบริการทางสุขภาพ

เจ. เค. โรว์ลิง กล่าวในการประชุมสำหรับผู้นำเยาวชนทั่วโลก One Young World ที่กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ว่า “ธุรกิจจิตอาสา (volun-tourism) ทำให้นักท่องเที่ยวและเด็กวัยรุ่นจากประเทศยุโรปที่ต้องการแสวงหาประสบการณ์ท่องเที่ยวผ่านการไปเป็นอาสาสมัครในสถานรับเลี้ยงเด็กกำพร้ายังต่างประเทศ กลายเป็นผู้หวังดีที่อุปถัมภ์เงินอุดหนุนแก่ทัวร์ท่องเที่ยวบ้านเด็กกำพร้า”

“เยาวชนอาสาเหล่านี้มักกลับมาด้วยความเชื่อว่าตัวเองได้ทำความดี แต่มักตกใจเมื่อความจริงแผ่ตรงหน้าและได้ตระหนักว่าตัวเองอาจเป็นส่วนหนึ่งของการสนับสนุนการทารุณเด็ก เนื่องจากสถานรับเลี้ยงบางแห่งถูกตั้งมาเพื่อใช้เด็กๆ เป็นตัวดูดเงินจากกระเป๋านักท่องเที่ยวโดยเฉพาะ”

เธอเชื่อว่าไม่ใช่สถานรับเลี้ยงเด็กกำพร้าทุกแห่งจะเลวร้ายไปเสียหมด รวมถึงการเยี่ยมเยียนหรือทำงานอาสาในสถานรับเลี้ยงเด็กกำพร้าเป็นการกระทำด้วยเจตนาที่ดี แต่กระนั้นก็เป็นการสนับสนุนอุตสาหกรรมการ ‘แยกลูกออกจากครอบครัว’ อันมักสร้างความเสียหายที่ยากจะเยียวยาให้แก่เด็กๆ เช่น ถูกทอดทิ้งหรือทำร้าย และเธอหวังว่าแคมเปญ #HelpingNotHelping จะช่วยหยุดวงจรเหล่านี้ได้

“หนึ่งในเรื่องเลวร้ายที่สุดที่คนคนหนึ่งอาจทำต่อเด็กได้ คือการส่งเด็กไปให้หน่วยงานสังคมสงเคราะห์” เธอพูด “นั่นทำให้เด็กเสี่ยงต่อการถูกทารุณและค้ามนุษย์ ซึ่งส่งผลอย่างใหญ่หลวงต่อพัฒนาการตามปกติและโอกาสต่างๆ ในชีวิตของเด็กๆ”

มูลนิธิลูมอสของเธอทำงานกับเด็กกำพร้าในยุโรปตะวันออก เช่น มอลโดวา ยูเครน บัลแกเรีย และประเทศอื่นๆ เช่น โคลอมเบีย เฮติ เอธิโอเปีย และเคนยา ในการรณรงค์ส่งเด็กกลับไปอยู่กับครอบครัว แทนที่จะสนับสนุนให้เด็กอยู่ในสถานรับเลี้ยง

“ใจความที่ฉันต้องการสื่อกับเยาวชนในวันนี้คือ ทำงานอาสาต่อไปเถิด แต่จงวางแผนอย่างรอบคอบและระมัดระวัง เวลาและพลังของพวกคุณเป็นสิ่งมีค่า ใช้มันอย่างฉลาด แล้วสองสิ่งนี้จะช่วยเปลี่ยนโลกได้ จงอย่าอาสาไปทำงานในสถานรับเลี้ยงเด็กกำพร้า แต่ให้พิจารณาดูว่าปัจจัยใดเป็นตัวส่งเด็กๆ เข้าไปยังสถานที่แบบนั้น แล้วอุทิศเวลาทำโครงการที่จะช่วยแก้ไขปัญหาความยากจนหรือส่งเสริมบริการสาธารณะที่สำคัญในชุมชน” เจ. เค. โรว์ลิง นักเขียนหญิงที่โด่งดังจากเรื่องราววรรณกรรมของพ่อมดกำพร้าในห้องใต้บันใดกล่าวทิ้งท้าย

 

อ้างอิงข้อมูลจาก:
bbc.com
independent.co.uk
jkrowling.com

Author

ชนฐิตา ไกรศรีกุล
First Jobber ที่ผันตัวจากนักศึกษาเศรษฐศาสตร์-การสื่อสารมวลชนมาเป็นเจ้าหน้าที่วิจัยด้านแรงงาน เป็นชาวเชียงใหม่ที่มีกรุงเทพฯ เป็นบ้านหลังที่สอง และเพิ่งจะยึดแม่สอดเป็นบ้านหลังที่สาม เชื่อว่าตัวเองมีชะตาต้องกันกับพื้นที่ชายแดนและประเด็นทุกข์ร้อนของคนชายขอบ

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า