ปริญญามีไว้สร้างกรอบ?

เนื้อหาและความเห็นในบทความเป็นสิทธิเสรีภาพและทัศนะส่วนตัวของผู้เขียน โดยอาจไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับทัศนะและความเห็นของกองบรรณาธิการ

ความแปลกประหลาดประการหนึ่งของบัณฑิตที่ผ่านการบ่มเพาะจากรั้วมหาวิทยาลัยไทยคือ เรามักจะใช้วิชาความรู้ที่ได้ร่ำเรียนมาเป็นกรงขังจินตนาการและความคิดสร้างสรรค์ของเราไปเสียเฉยๆ ไอเดียบรรเจิดสมัยเด็กของเราจึงค่อย ๆ หดหายไปทีละน้อยโดยไม่รู้ตัว

ถ้าไม่เชื่อก็ลองดูบรรยากาศในห้องประชุมของบริษัทหลายแห่งเมื่อโยนงานแปลกๆ ใหม่ๆ ท้าทายภูมิปัญญาให้พนักงานวางแผนกันบนโต๊ะประชุมแล้วเรามักจะได้คำตอบคล้ายๆ กันเสมอว่า

“ทำไม่ได้หรอก เชื่อเถอะมันขัดกับทฤษฎีที่เคยเรียนมา”

หรือไม่ก็​

“ดูดีนะ แต่เป็นไปไม่ได้ มันมีข้อจำกัดมากมาย เสียเวลาเปล่า”

นานๆ ครั้งที่เราจะได้ยินคนพูดในที่ประชุมว่า

“ไม่แน่ใจว่าจะทำได้ไหม แต่อยากลองทำดู” ซึ่งคนในที่ประชุมจำนวนหนึ่งก็มักจะยิ้มเยาะอยู่ในใจเพราะรู้อยู่แก่ใจว่ามันทำไม่ได้ ซึ่งก็เป็นเพราะเขาเรียนมาจริงๆ เลยรู้ว่ามันขัดกับหลักการตลาด หลักการบริหาร ทฤษฎีการจัดการ ฯลฯ คนยิ่งเรียนเก่งก็ยิ่งเห็นก่อนคนอื่นว่าทำไม่ได้ เขาจึงไม่คิดเสียเวลาไปทำ

เอาเข้าจริงแล้ว ส่วนใหญ่มันก็ทำไม่ได้อย่างที่เขาว่าไว้นั่นแหละ แต่ประเด็นสำคัญมันอยู่ที่คนที่ตกปากรับคำว่าจะลองทำดูนั้น แม้จะทำงานตามที่ตั้งใจไว้ไม่ได้ แต่เขามักจะได้แง่มุมบางอย่าง หรือกลยุทธ์บางส่วนที่เป็นผลพลอยได้เอาไปใช้ทำอย่างอื่นได้เป็นของแถม

ซึ่งของแถมเหล่านี้บางครั้งก็ก่อให้เกิดธุรกิจใหม่ หรือต่อยอดเป็นบริษัทใหม่สร้างความสำเร็จได้โดยที่คนริเริ่มทำไม่รู้ตัวด้วยซ้ำไป

เช่นเดียวกับบริษัทขนส่งแห่งหนึ่งของญี่ปุ่นที่เคยปฏิเสธเมืองเล็กๆ เมืองหนึ่งเพราะดูแล้ว “เป็นไปไม่ได้” ที่จะมีลูกค้าต้องการใช้บริการเพราะทั้งเมืองมีแต่ผู้สูงอายุ ซึ่งก็เป็นเช่นนั้นจริง เนื่องจากประชากรในเมืองนี้ไม่มีความจำเป็นต้องใช้บริการขนส่งของบริษัทนี้ เพราะพวกเขาแทบจะไม่ได้ใช้บริการซื้อของผ่านระบบออนไลน์ใดๆ เลย

ทำไมถึงเป็นแบบนี้? พนักงานกลุ่มหนึ่งตั้งคำถามและเริ่มขบคิด…

นึกถึงตัวเราเองเมื่ออายุมากขึ้นก็คงไม่อยากหมกตัวอยู่แต่ในบ้าน หากมีโอกาสได้เดินไปไหนมาไหนบ่อยๆ ก็น่าจะดีต่อสุขภาพมากกว่า กิจกรรมโปรดของคุณตาคุณยายในเมืองนี้จึงเป็นการเดินไปจับจ่ายซื้อข้าวของด้วยตัวเองเพราะทำให้มีโอกาสได้พบปะพูดคุยแก้เหงาซึ่งกันและกัน

ทีมงานของบริษัทขนส่งเจ้านี้ อาสามา “ทดลอง” ให้บริการในเมืองดังกล่าวแม้จะถูกคัดค้านว่าไม่น่าจะทำได้ แต่เมื่อลองมาลงพื้นที่จริงแล้วก็มองเห็นช่องทางที่จะบริการคุณตาคุณยายด้วยบริการ “ส่งของกลับบ้าน”

เพราะจับพฤติกรรมได้ว่าทุกคนอยากเดินมาที่ซูเปอร์มาร์เก็ตด้วยตัวเอง เพื่อพูดคุยกับเพื่อนฝูง ซื้ออาหาร ขนม ฯลฯ แล้วเดินกลับบ้าน ซึ่งขากลับมันยากกว่าขาไปเพราะต้องหิ้วของหนักๆ กลับไปด้วย เมื่อมีบริการ “ช่วยส่งของกลับ” จึงได้รับความนิยมในทันทีเพราะตรงกับความต้องการของเหล่าคุณตาคุณยายในเมืองพอดี

นอกจากนั้น พวกเขายังจับพฤติกรรมของเหล่าคุณตาคุณยายในเมืองนั้นต่อไปด้วยจึงได้รู้ว่า นอกจากชอบมาซื้อของด้วยตัวเองแล้ว ยังชอบทำอาหารกินเองในครอบครัวมากกว่าจะซื้ออาหารสำเร็จรูป บริการช่วย “จ่ายตลาดซื้อของสด” จึงเกิดขึ้นตามมา

แนวคิดนี้ยังขยายไปใช้ได้กับเมืองอื่นๆ เพราะญี่ปุ่นมีโครงสร้างประชากรที่เรียกได้ว่าเป็นประเทศ สว. นานแล้ว เนื่องจากประชากรวัยเกษียณอายุเพิ่มสัดส่วนขึ้นตลอดหลายปีที่ผ่านมา รูปแบบการบริการให้กับลูกค้ากลุ่มนี้จึงกลายเป็นต้นแบบธุรกิจใหม่ที่เกือบไม่เกิดขึ้นเพราะคนส่วนใหญ่เห็นว่ามันเป็นไปไม่ได้

ตัวอย่างนี้ทำให้เราต้องกลับมาทบทวนว่า ประสบการณ์และความรู้ที่เราสั่งสมมานั้นเราใช้มันเพื่อ “สร้างปัญหาใหม่” หรือ “สร้างโอกาสใหม่” มากกว่ากัน เพราะเท่าที่เห็นการถกเถียงกันในวันนี้ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเมืองหรือเรื่องธุรกิจ จะเป็นเรื่องบริหารร้านค้าเล็กๆ ไปจนถึงบริหารประเทศ เราจะเห็นแต่คนหยิบยกเอาปัญหาขึ้นมาโต้เถียงกันมากกว่าที่จะพูดถึงโอกาสแล้วลงมือทำ

ลองย้อนกลับไปมองในอดีต หาก บิล เกตส์ เริ่มต้นทำไมโครซอฟท์แล้วกลัวว่าจะถูกละเมิดลิขสิทธิ์ กังวลว่าทำแล้วจะมีไวรัสมาสร้างความเสียหายให้ระบบ หรือ สตีฟ จ็อบส์ กลัวว่าทำบริษัทแอปเปิลไปแล้วอาจถูกผู้ถือหุ้นไล่ออกเพราะเอาแต่ใจเกินไป และ เจฟฟ์ เบโซส์ ก็อาจกลัวว่าร้านหนังสือออนไลน์อย่าง amazon.com ที่เขากำลังจะตั้งไข่นั้นไม่ใหญ่พอเพราะข้อจำกัดของตลาด วันนี้เราก็คงไม่เห็นบริษัททั้ง 3 แห่งนี้กลายเป็นยักษ์ใหญ่ที่ผลัดกันครองตำแหน่งบริษัทมีมูลค่าสูงที่สุดในโลกทุกวันนี้

ประสบการณ์ + ความคิด = ปัญหา บทสรุปคือไม่ต้องทำอะไร โอกาสความสำเร็จ = 0%

ประสบการณ์ + ความคิด + ลงมือทำ = โอกาส + ปัญหา บทสรุปคือต้องแก้ปัญหาต่อไปเรื่อยๆ แต่โอกาสสำเร็จ = 50%

Author

ปฐม อินทโรดม
ด้วยประสบการณ์บริหารบริษัทไอทีหลายแห่ง ทำให้ปฐมเป็นหนึ่งในผู้เชี่ยวชาญด้านไอทีที่มักแสดงความเห็นผ่านสื่อต่างๆ อยู่เสมอ แต่เนื้อแท้แล้วปฐมสนใจเรื่องการเปลี่ยนแปลงของสังคมและการศึกษาไม่แพ้กัน เพราะรู้ว่าโลกดิจิตอลและอนาล็อกที่มาพัวพันกันทุกวันนี้ก่อให้เกิดปรากฏการณ์มากมายที่น่าบันทึกเอาไว้

Illustrator

ณขวัญ ศรีอรุโณทัย
อาร์ตไดเร็คเตอร์ผู้หนึ่ง ชอบอ่าน เขียน และเวียนกันเปิดเพลงฟัง

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า