นอกจากผักผลไม้ที่ควรซื้อแบบอินทรีย์แล้ว กาแฟก็เป็นผลิตภัณฑ์ที่ควรซื้อแบบอินทรีย์เช่นกัน แม้กาแฟจะยังไม่มีชื่ออยู่ในลิสต์ผักผลไม้ที่ตรวจพบสารตกค้าง แต่มีรายงานว่าการใช้สารเคมีทางการเกษตรฉีดพ่นลำต้นและใบ อาจส่งผลให้เกิดสารตกค้างในเมล็ดกาแฟได้
ตลาดกาแฟเฉพาะในสหรัฐ มีมูลค่าราว 16,500 ล้านดอลลาร์ International Coffee Organization ประมาณการว่ามีตำแหน่งงานในธุรกิจกาแฟเกือบ 26 ล้านคนใน 52 ประเทศทั่วโลก นอกจากนั้น สหรัฐยังถือเป็นประเทศผู้บริโภคกาแฟอันดับต้นๆ ของโลก และเป็นตลาดกาแฟอินทรีย์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก แต่ถึงอย่างนั้น สัดส่วนของพื้นที่ปลูกกาแฟอินทรีย์อยู่ที่ร้อยละ 6.6
ภูมิภาคแถบลาตินอเมริกาถือเป็นดินแดนแห่งการปลูกกาแฟ กว่าร้อยละ 75 ของกาแฟทั่วโลกมาจากที่นี่ ขณะที่โบลิเวียมีสัดส่วนพื้นที่ปลูกกาแฟอินทรีย์มากที่สุด อยู่ที่ร้อยละ 47 รองลงมาคือ เนปาล และติมอร์เลสต์ ที่ร้อยละ 46 และ ร้อยละ 45 ตามลำดับ หากเทียบจากพื้นที่ปลูก เม็กซิโกถือเป็นประเทศที่มีพื้นที่ปลูกกาแฟอินทรีย์มากที่สุดในโลก
ปัญหาของเกษตรกรปลูกกาแฟแถบลาตินอเมริกาที่ยังไม่สามารถเปลี่ยนมาทำกาแฟอินทรีย์ ก็เนื่องมาจากราคาที่ไม่สามารถขายให้สูงกว่าเดิมได้ ทั้งๆ ที่กาแฟอินทรีย์จะได้ผลผลิตที่น้อยกว่า เมื่อเกษตรกรใช้ปุ๋ยเคมี 250 ปอนด์ จะได้ผลผลิตกาแฟ 485 ปอนด์ เทียบกับแปลงกาแฟอินทรีย์จะได้ผลราว 285 ปอนด์ นี่เป็นอีกเหตุผลที่เกษตรกรแถบลาตินอเมริกาตัดสินใจไม่ผลิตกาแฟอินทรีย์
ผลการทดสอบของทีมมหาวิทยาลัยเรดดิง กับอาสาสมัครเกษตรกร 81 รายในจาไมกา ประเทศที่ทำเงินจากการส่งออกกาแฟได้ร้อยละ 7 จากผลิตผลทางการเกษตรทั้งหมด พบว่าเกษตรกรร้อยละ 78 เคยมีอาการซึ่งเป็นผลจากการรับสารเคมี อาทิ วิงเวียน ปวดศีรษะ หายใจติดขัด และแน่นหน้าอก ส่วนใหญ่มีสาเหตุจากขาดการฝึกฝนในการจัดการและป้องกันสารเคมีอย่างมีประสิทธิภาพ
อย่างไรก็ตาม แนวโน้มการผลิตกาแฟอินทรีย์ยังถือว่าสดใส นับตั้งแต่ปี 2004 พื้นที่ปลูกกาแฟอินทรีย์เพิ่มขึ้นราว 3 เท่าตัว ทั้งนี้ เป็นผลจากการขยายตัวของการทำเกษตรอินทรีย์พืชผักและผลไม้ประเภทอื่นๆ เพราะกาแฟสามารถปลูกร่วมกับพืชพันธุ์อื่นๆ ในพื้นที่เดียวกันได้
เมื่อพูดถึงกาแฟ หนีไม่พ้นที่จะต้องเอ่ยชื่อเชนร้านกาแฟระดับโลกอย่างสตาร์บัคส์ ซึ่งถือเป็นผู้จัดจำหน่ายกาแฟรายใหญ่ พวกเขาตั้งใจจะไปให้ถึงการทำกาแฟแฟร์เทรด หรือการค้าที่เป็นธรรมกับทุกฝ่ายตลอดสายพานการผลิตกาแฟ โดยรายงานของสตาร์บัคส์บอกว่า กาแฟของพวกเขาร้อยละ 95 เข้าข่ายกาแฟแฟร์เทรด แต่โอกาสที่เราจะเห็นกาแฟอินทรีย์จำหน่ายในร้านกาแฟเชนนี้อาจเป็นไปได้น้อยมาก
ฉลากสุดฮิตสำหรับกาแฟ มีตั้งแต่ organic, fair trade และ shade-grown หรือพื้นที่ปลูกกาแฟที่อาศัยร่มไม้ใหญ่เพื่อกรองแสง แสดงถึงความตั้งใจในการดูแลและรับผิดชอบต่อผืนป่าธรรมชาติ (บางครั้ง อาจใช้คำว่า Rainforest Alliance และ Bird Friendly) กว่าครึ่งของกาแฟแฟร์เทรดมักจะเป็นกาแฟอินทรีย์ สำหรับผู้บริโภคที่ต้องการกาแฟปลอดสารเคมีไว้บริโภคทุกๆ เช้า สัญลักษณ์ที่ควรสังเกตอย่างแรกคือ ‘organic’
ที่มา: alternet.org /
fibl.org /
csmonitor.com