งานหนัก (ไม่) เคยฆ่าคน เมื่อความเครียดและล้าจากออฟฟิศส่งผลต่อสุขภาพและชีวิตของพนักงาน

“ชั่วโมงการทำงานอันยาวนานจะเพิ่มอัตราการตายถึง 20 เปอร์เซ็นต์” 

ช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมา วลี “งานหนักไม่เคยฆ่าใครตาย” กลายเป็นหัวข้อวิพากษ์วิจารณ์ในสังคมออนไลน์อีกครั้ง หลังกรณีการเสียชีวิตคาโต๊ะทำงานของสื่อมวลชนช่องดังแห่งหนึ่ง เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2566 ต่อมาบริษัทต้นสังกัดออกแถลงการณ์ระบุว่า สาเหตุของการเสียชีวิตมาจากอาการกล้ามเนื้อหัวใจตาย แต่ก็ไม่มีคำอธิบายถึงสาเหตุของอาการเจ็บป่วยดังกล่าว

อย่างไรก็ตาม งานศึกษาร่วมกันระหว่างองค์การอนามัยโลก (World Health Organization: WHO) และองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (International Labour Organization: ILO) พบว่า ผู้ที่มีชั่วโมงการทำงานมากกว่า 55 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ จะมีความเสี่ยงต่อโรคหัวใจขาดเลือดและเส้นเลือดอุดตัน (stroke) มากกว่าผู้มีชั่วโมงการทำงานปกติ (ประมาณ 40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์)

กลุ่มศึกษาจากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด (Standford University) และคณะธุรกิจของมหาวิทยาลัยฮาวาร์ด (Harvard Business School) ระบุว่า ความเครียดสะสมที่เกิดจากชั่วโมงการทำงานอันยาวนาน ความไม่มั่นคงในหน้าที่การงาน และการขาดสมดุลระหว่างชีวิตและงาน (work-life balance) คร่าชีวิตผู้คนไปถึงกว่า 120,000 คนต่อปี รวมถึงเพิ่มภาระค่าใช้จ่ายในการรักษาสุขภาพถึง 190,000 ล้านดอลลาร์

“ปัญหาความอยุติธรรมในที่ทำงาน ก็สำคัญไม่แพ้ปัญหาชั่วโมงการทำงาน”

ดูเหมือนว่าออฟฟิศจะช่วยลดอายุขัยของเราได้หลายสาเหตุ น่าจะถึงเวลาที่เราต้องพิจารณาคำถามเหล่านี้อีกครั้งว่า ความเครียดจากที่ทำงานฆ่าเราได้อย่างไร ความเสียหายที่เกิดขึ้นต่อทั้งตัวพนักงานและสังคมโดยรวมมีมากน้อยแค่ไหน และเราจะหยุดยั้งหรือบรรเทาการเสียสุขภาพกาย สุขภาพจิต และชีวิตที่อุทิศแก่การทำงานได้อย่างไร 

ความสัมพันธ์ระหว่างชั่วโมงการทำงานกับอัตราการตายของพนักงาน 

กรณีล่าสุดที่มีสื่อมวลชนไทยเสียชีวิตคาโต๊ะทำงาน สอดคล้องกับงานศึกษาของ เจฟฟรีย์ เฟฟเฟอร์ (Jeffrey Pfeffer) ศาสตราจารย์ด้านพฤติกรรมองค์กร สเตฟานอส เอ. เซนิออส (Stefanos A. Zenios) ศาสตราจารย์ด้านธุรกิจแห่งมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด (Standford University) และ โจเอล โกห์ (Joel Goh) นักศึกษาปริญญาเอกแห่งมหาวิทยาลัยฮาวาร์ด ซึ่งเสนอว่า “ชั่วโมงการทำงานอันยาวนานจะเพิ่มอัตราการตายถึง 20 เปอร์เซ็นต์” 

งานวิจัยดังกล่าวใช้กรณีศึกษาถึง 228 กรณี เพื่อวิเคราะห์ความสัมพันธ์ระหว่างการทำงานหนักและปัญหาสุขภาพของพนักงาน โดยแบ่งความเครียดที่เกิดจากการทำงานเป็น 10 ปัจจัย ข้อค้นพบสำคัญคือ ความเครียดในที่ทำงานจะส่งผลให้ระบบสุขภาพของประเทศต้องใช้งบประมาณเพิ่มขึ้นจากเดิมร้อยละ 5-8 ขณะเดียวกัน ความไม่มั่นคงในหน้าที่การงานจะทำให้สุขภาพของพนักงานแย่ลงกว่าร้อยละ 50 จากกรณีศึกษาทั้งหมด 

งานศึกษายังพบว่า พนักงานที่มีภาระงานหนักจนไม่สามารถใช้เวลาร่วมกับครอบครัวกว่าร้อยละ 90 ระบุว่า ตนมีสุขภาพร่างกายแย่ สอดคล้องกับพนักงานอีกกลุ่มที่รู้สึกว่า ผู้ประกอบการไม่แฟร์ จะเริ่มมีสุขภาพทางกายย่ำแย่และมีโรคเพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 50 เช่นเดียวกัน

อัตราประชากรที่มีชั่วโมงทำงานมากกว่า 55 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ปี 2559 จาก A systematic analysis from the WHO/ILO Joint Estimates of the Work-related Burden of Disease and Injury

อัตราประชากรที่มีชั่วโมงทำงานมากกว่า 55 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ปี 2559 จาก A systematic analysis from the WHO/ILO Joint Estimates of the Work-related Burden of Disease and Injury

งานที่เรียกร้องเวลา แรงกาย และแรงใจจากพนักงานสูง ไม่เพียงเพิ่มอัตราการเสียชีวิต แต่ยังส่งผลให้พนักงานป่วยถึงร้อยละ 35 งานวิจัยร่วมกันชิ้นนี้ของสองมหาวิทยาลัยจึงสอดคล้องกับการประกาศเตือนจาก WHO และ ILO ว่า ชั่วโมงการทำงานที่สูงจะส่งผลกระทบเชิงลบต่อสุขภาพของพนักงาน 

ดังนั้น จึงกล่าวได้ว่า การทำงานหนัก แต่ไม่มีความมั่นคงในหน้าที่การงานส่งผลโดยตรงต่อสุขภาพ และอาจก่อให้เกิดโรคหรือการเสียชีวิตของพนักงาน

ปัญหาของวัฒนธรรมการทำงานแบบ toxic 

นิตยสาร Forbes ระบุว่า มีคนจีนเสียชีวิตจากการทำงานหนักประมาณ 1 ล้านคนต่อปี สอดคล้องกับอัตราการเสียชีวิตจากชั่วโมงการทำงานสูงที่เพิ่มขึ้นทั่วทั้งโลก การทำงานหนักยังเป็นสาเหตุให้ประชากรโลกเป็นโรคหัวใจเพิ่มขึ้นร้อยละ 42 และเป็นโรคเส้นเลือดอุดตันเพิ่มขึ้นร้อยละ 19 

อย่างไรก็ตาม การทำงานจนเกินตัวเช่นนี้กลับเป็นเรื่องน่าสรรเสริญในประเทศทุนนิยมก้าวหน้าอย่างเกาหลีใต้อยู่พักใหญ่ก่อนเกิดความเปลี่ยนแปลง ตัวอย่างเหยื่อของ toxic workplace ที่โด่งดังของเกาหลี ได้แก่ อีฮันบิต (Lee Han Bit) นักจัดรายการชื่อดังที่ต้องทนทุกข์กับวัฒนธรรมการทำงานที่กดขี่อย่างยาวนาน อีฮันบิตฆ่าตัวตายเมื่อวันที่ 26 ตุลาคม 2560 เนื่องจากถูกบริษัทบังคับให้กดขี่พนักงานใต้บังคับบัญชาคนอื่นต่อ ไม่ต่างจากที่เขาเคยเผชิญ

อีฮันบิต (Lee Han Bit)

จดหมายลาตายของฮันบิต เผยว่า เขาถูกบริษัทบังคับให้ทำงานแทบจะติดต่อกันถึง 55 วัน ได้พักเพียง 2 วันเท่านั้น ฮันบิตยังถูกเรียกร้องในฐานะหัวหน้างานให้ต้องบังคับพนักงานคนอื่นๆ ทำงานเกิน 20 ชั่วโมงต่อวัน และต้องคอยโทรตามให้พวกเขากลับมาทำงานหลังมีเวลานอนเพียง 2-3 ชั่วโมง จนฮันบิตรู้สึกเกลียดตัวเอง และตัดสินใจฆ่าตัวตายในที่สุด

มีความเป็นไปได้สูงว่า วัฒนธรรมการทำงานที่ toxic สามารถส่งต่อไปยังคนอื่นได้ ทั้งโดยรู้ตัวและไม่รู้ตัว ตลอดจนสร้างความลำบากใจแก่ทั้งคนสั่งและคนรับคำสั่ง จนสร้างความเสียหายแก่ทั้งองค์กรในที่สุด

ในแต่ละปี มีการฆ่าตัวตายในเกาหลีใต้เกิดขึ้นทั้งหมดประมาณ 14,000 กรณี และกว่า 500 กรณีจากจำนวนดังกล่าว คือการฆ่าตัวตายที่เกิดจากความเครียดในการทำงาน ตัวเลขเหล่านี้นับว่าสูงมากจนรัฐบาลเริ่มเข้ามาแก้ไขปัญหา และสังคมเริ่มพูดถึงการสลัดภาพ ‘ฮีโร่งานหนัก’ โดยเฉพาะในกลุ่มเพศชาย เพื่อป้องกันไม่ให้การขูดรีดแรงงานจนนำไปสู่ความตายของพนักงานมากไปกว่านี้

“ปัญหาความอยุติธรรมในที่ทำงาน ก็สำคัญไม่แพ้ปัญหาชั่วโมงการทำงาน”

งานวิจัยของเฟฟเฟอร์และคณะยังชี้ว่า นอกจากการถูกใช้งานหนักแล้ว วัฒนธรรมองค์กรที่ขัดต่อชุดคุณค่าที่พนักงานเชื่อมั่น ยังส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของพนักงานอย่างมาก

ย้อนไปในเดือนกันยายน 2565 สำนักข่าว The Indian Express รายงานว่า โลกอินเทอร์เน็ตกำลังถกเถียงประเด็นเรื่องคำว่า ‘special driven people’ ที่หลายบริษัทใช้ในการประกาศรับสมัครงานอย่างเผ็ดร้อน เพราะเชื่อมโยงกับวัฒนธรรมการทำงานแบบ toxic ที่เกิดขึ้นในหลายบริษัท ทั้งนี้ วัฒนธรรมการทำงานแบบ toxic และเอาเปรียบพนักงานเกิดขึ้นนานแล้วในประเทศญี่ปุ่น จนมีการนิยามโรคและการตายจากการทำงานด้วยคำว่า ‘karoshi (過労死)’ และเกิดการปฏิรูปกฎหมายแรงงานครั้งใหญ่

ดังนั้น ลำพังการเรียกร้องให้พนักงานต้องดูแลรักษาสุขภาพตนเอง หรือการพูดคุยปรับความเข้าใจกับพนักงานจึงไม่สามารถแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นในระยะยาวได้ เนื่องจากบ่อยครั้งที่ความ toxic ต่อสุขภาพและชีวิตของพนักงาน เกิดจากวัฒนธรรมภายในองค์กรที่ถูกส่งต่อกันมารุ่นสู่รุ่น การแก้กฎหมายให้เป็นมิตรต่อพนักงานและคอยควบคุมวัฒนธรรมที่ toxic จึงน่าจะเป็นทางออกที่ดีที่สุด

บริษัทต้องปรับตัว พนักงานต้องกล้ายืนหยัดเมื่อผู้บังคับบัญชาล้ำเส้น

เว็บไซต์ด้านการทำงานอย่าง Corporate Wellness Magazine ระบุว่า การลดความตึงเครียดจากการทำงานของพนักงานแบ่งออกเป็น 3 ระดับ คือ ระดับต้น ระดับกลาง และระดับปลาย

ระดับต้น หมายถึงการลดสาเหตุที่ทำให้เกิดความเครียด เช่น ปรับสภาพแวดล้อมในการทำงานใหม่ จัดให้มีเวลาเบรกและหลับกลางวันแก่พนักงาน ให้พนักงานมีส่วนร่วมในการวางแผนงานอย่างแท้จริง เพิ่มระยะเวลาและความช่วยเหลือแก่พนักงานในประเด็นเฉพาะต่างๆ และการใช้คนให้เหมาะสมกับงาน 

ระดับกลาง หมายถึงการพยายามปรับท่าทีและทัศนคติของพนักงานที่มีต่อสาเหตุของความเครียด เช่น การจัดอบรมพนักงาน จัดให้มีการบำบัดปรับเปลี่ยนความคิดและพฤติกรรม (cognitive behavioral therapy) และการตรวจเช็กสุขภาพและระดับความเครียดของพนักงานเป็นประจำ 

ระดับปลาย หมายถึงการมุ่งจัดการกับความเจ็บป่วย เช่น ให้มีการรักษาพยาบาลหากพนักงานเจ็บป่วยหรือเป็นโรคที่เกิดจากการทำงาน (occupational disease) และการปรับลักษณะงานใหม่ให้เหมาะสมกับพนักงานที่เพิ่งฟื้นจากการเจ็บป่วย 

อย่างไรก็ตาม Forbes เสนอไว้ชัดเจนว่า พนักงานไม่ควรรอมาตรการข้างต้นจากบริษัทแต่ฝ่ายเดียว แต่ควรวางแผนจัดการและบริหารสุขภาพของตนเองด้วย โดยอาจจะเริ่มจากการรักและดูแลตนเองมากขึ้น หรือจัดการเส้นแบ่งระหว่างชีวิตการทำงานและชีวิตส่วนตัว ซึ่งจะช่วยบรรเทาความเครียดและโรคภัยเบื้องต้นได้ 

Forbes ทิ้งท้ายเอาไว้ว่า พนักงานต้องกล้ายืนหยัดเมื่อผู้บังคับบัญชารุกล้ำเข้ามาในเส้นของตนเอง และต้องรู้จักการปฏิเสธงาน โดยไม่รู้สึกผิดหรือรู้สึกว่าตนเองไม่ภักดีต่อนายจ้าง เพราะการกระทำเช่นนี้เป็นการปฏิบัติที่ถูกสุขภาวะที่สุด

อย่างไรก็ตาม สำหรับในประเทศไทยแม้ผู้ประกันตนตามมาตรา 33 จะได้เงินช่วยเหลือค่าทำศพ 50,000 บาท และได้ค่าทดแทนร้อยละ 70 ของเงินเดือน 10 ปี หากเสียชีวิตขณะปฏิบัติงาน แต่ก็เป็นเรื่องที่ไม่มีใครอยากให้เกิด ดังนั้น การป้องกันและปรับปรุงสภาพแวดล้อมในการทำงาน เพื่อลดความเสี่ยงในการเสียชีวิตตั้งแต่แรกคงเป็นเรื่องดีกว่า สำหรับทั้งพนักงานและผู้ว่าจ้าง

ส่วนกรณีสื่อมวลชนที่เสียชีวิตขณะปฏิบัติหน้าที่ บริษัทต้นสังกัดยืนยันว่า จะจ่ายเงินเยียวยาครอบครัวเท่ากับมูลค่าของเงินเดือนปัจจุบัน 24 เดือน พร้อมเงินประกันสุขภาพและอุบัติเหตุ เงินกองทุนประกันสังคม และเป็นเจ้าภาพจัดการพิธีศพ แต่ยังไม่ปรากฏข้อมูลที่ชัดเจนว่า แท้จริงแล้วบริบทการทำงานของผู้เสียชีวิตเป็นอย่างไร สภาพแวดล้อมการทำงานเหมาะสมและไม่ทำร้ายสุขภาพแค่ไหน และจะทำอย่างไรเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์เช่นนี้อีก 

กล่าวโดยสรุป การทำงานหนักส่งผลต่อสุขภาพกายและสุขภาพจิตของพนักงาน และอาจถึงขั้นเสียชีวิตได้ แรงงานทั่วประเทศและบริษัทที่เป็นนายจ้างจึงต้องช่วยกันผลักดันหาทางแก้ไข เช่น ลดเวลาการทำงานลง สร้างเส้นแบ่งระหว่างชีวิตส่วนตัวและการทำงาน หรือจัดการวัฒนธรรมองค์กรให้เหมาะสม มิเช่นนั้นการเสียชีวิต ณ สถานที่ทำงานเช่นนี้จะไม่ใช่กรณีสุดท้าย และพนักงานที่ตายไปก็จะถูกแทนที่ด้วยคนใหม่ ภายใต้ระบบการทำงานแบบเดิมราวกับไม่มีอะไรเกิดขึ้น

ที่มา

Author

ภูภุช กนิษฐชาต
คนหนุ่มผู้หลงใหลการตามหาสาระในเรื่องไร้สาระ คลั่งไคล้การถกเถียงเรื่องปรัชญาการเมืองยามเมามาย นิยมเสพสื่อบันเทิงแทบทุกชนิดที่มีบนโลก ขับเคลื่อนชีวิตด้วยคาเฟอีนและกลิ่นกระดาษหอมกรุ่นของหนังสือราวกับต้นไม้ต้องการแสงแดด ความฝันอันสูงสุดมีเพียงการได้มีชื่อของตนเองจารึกเอาไว้ใน Reading-list ของเหล่านักศึกษาในมหาวิทยาลัยเพียงเท่านั้น

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า