ผศ.ดร.ปนัดดา ชำนาญสุข – อาจารย์มหาวิทยาลัยผู้ทำวิจัยด้วยการซ้อนท้ายเด็กแว้น

ฟ้าเป็นสีดำ แทบไม่มีดาวสักดวงบนนั้น ยิ่งในเมืองที่ถูกคลี่คลุมด้วยม่านควันและความเกลียดชัง เราจะเห็นแสงสวยๆ เล็กๆ นั้นได้อย่างไร

บนโลกที่ผู้คนตัดสินกันด้วยอคติ เราจะค้นหาแง่งามของชีวิตได้บ้างไหม

ผู้หญิงคนหนึ่งพยายามตอบคำถามนี้ แม้ไม่อาจอธิบายความซับซ้อนของโลกได้ครบถ้วน อย่างน้อยๆ สิ่งที่เธอได้พบ ก็คือการเปิดหัวใจ

“คนอื่นอาจว่าไม่คุ้ม แต่สำหรับเราถือว่าคุ้ม ทำให้เราเข้าใจสัจธรรมชีวิตมากขึ้น” เธอบอกกับเราอย่างนั้น

‘คุ้ม’ ในความหมายของ อาจารย์ปู-ผศ.ดร.ปนัดดา ชำนาญสุข คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ คือการไปกินอยู่หลับนอนกับกลุ่มคนชายขอบในนาม ‘เด็กแว้น’ เพื่อไขข้อข้องใจที่ว่า ทำไมพวกเขาต้องทำอย่างนั้น

สุรา ยาเสพติด ซิ่ง ซ่า เซ็กส์ ระยะเวลากว่าสามปี นานพอที่ผู้ชายตัวโตๆ จะส่ายหน้าไม่ขอเอาด้วย

ไม่รักดี เลวโดยสันดาน หรือควรมีบริบทอื่นที่มากกว่าสายตาคนนอกจะก้าวล่วง

จริงหรือที่ว่า เด็กผู้ชายหน้าตากวนๆ ควบรถมอเตอร์ไซค์ตะลอนๆ สร้างความเดือดร้อนให้ชาวบ้านชาวช่อง ต้องถูกป้ายด้วยสีดำ ส่วนบุรุษในนามนักบวชนั้นเป็นสีขาวอยู่ร่ำไป

บางทีอาจถูกของเธอ คนที่ใช้ชีวิตแบบสุดๆ ยังน่าสนใจกว่าพวกครึ่งๆ กลางๆ น่าสนใจตรงที่ทำให้เราได้เรียนรู้ว่า ทำไมคนบางคนถึงชั่วได้น้ำได้เนื้อขนาดนั้น

นั่นหมายถึงในนิยามของคนทั่วไป

ไหนๆ ก็ออกมาท่องราตรีกันแล้ว โดดขึ้นท้ายมอเตอร์ไซค์มาด้วยกันเลย เสียงท่ออาจดังไปสักหน่อย แต่รับรองว่าเร้าใจอย่าบอกใคร

หนึ่ง

“ความสัมพันธ์ระหว่างฉันกับโก๋ เด็กหนุ่มผู้ได้รับบาดเจ็บรุนแรงจากการขับรถมอเตอร์ไซค์ในช่วงวันแรกๆ ที่พบกันนั้น ดำเนินไปอย่างเป็นทางการ คำถามที่ฉันเตรียมไว้ถูกนำมาใช้เป็นประเด็นในการพูดคุยกัน โก๋ตอบคำถามฉันทุกคำถามด้วยท่าทีเสมือนว่าเต็มใจและยินดีที่จะพูดคุย แต่เมื่อฉันนำสิ่งที่ได้จากการพูดคุยกับโก๋มาวิเคราะห์หาข้อสรุป ฉันกลับพบว่า การสนทนาระหว่างเราในวันนั้น ไม่ได้ทำให้ฉันเข้าใจความคิด ความรู้สึกของโก๋ ที่มีต่อรถมอเตอร์ไซค์เลยแม้แต่น้อย”

ใบปริญญา ทักษะ ความกล้าหาญ กระทั่งศาสตร์จากวิชาสาขาไหน อาจไม่เพียงพอ ความตอนหนึ่งในงานวิจัยชิ้นนี้ของ อาจารย์ปนัดดา บอกให้เราได้รู้ว่า บางสถานการณ์ ขนาดของหัวใจก็สำคัญเหนือสิ่งอื่นใด

“ครั้งแรกที่ลงพื้นที่ ใช้โรงแรมเป็นที่พักเหมือนอาจารย์ทั่วไปนิยม โรงแรม 4 ดาวเลยนะ ใหญ่ที่สุดของจังหวัด เช้ามาก็ไปโรงพยาบาล ไปดูเด็กที่บาดเจ็บจากการขี่รถมอเตอร์ไซค์ ตามไปดูในชุมชน ไปสัมภาษณ์ ตอนเย็นกลับเข้าโรงแรม พอมาดูข้อมูล มันไม่เห็นไง ตอนเราเรียน ต้องตั้งคำถามเสมอว่า สิ่งที่เราเจอคืออะไร อะไรคือคำตอบใหม่ เราก็เห็นว่าไม่มีอะไรใหม่

เลยมาขบคิดว่า เวลาแค่นั้นอาจไม่พอ เช้าถึงเย็น เลยเริ่มอยู่ดึกขึ้นเรื่อยๆ เด็กยังไม่กลับบ้าน ก็ยังไม่กลับ ตามเด็กไปเรื่อยๆ ใช้ชีวิตกับเด็กในชุมชน อยู่ด้วยกันตั้งเเต่ตอนตื่น ไปไหนไปด้วย ไปโต๊ะสนุ้กฯ เข้าบ่อน จนถึงตีสองตีสามจึงขับรถกลับโรงแรม เป็นอย่างนี้ประมาณสองเดือน

อย่างที่เธอบอก แรกๆ ที่เข้าไปทำข้อมูล หลักการต่างๆ ก็คล้ายที่มืออาชีพทั่วไปนิยม คือพกพาหลักการไปเต็มสมอง มือถือเทปสัมภาษณ์ พอเจอแหล่งข่าวก็กดเทป ยิงคำถามเป็นชุดๆ

ใครๆ เขาก็ทำกัน

ครั้งแรกใช้เทปอัด แต่เรามาเรียนรู้ว่า มันทำให้คนที่เราพูดคุยด้วยเกร็ง ไม่เป็นธรรมชาติ เราก็ใช้จดแทน มันก็ยังใช้ไม่ได้อยู่ดี ข้อมูลสองเดือนแรกนี่ไม่ได้เลยนะ เป็นข้อมูลที่เด็กสร้างขึ้น เราเอะใจว่าทำไมตอบกันใหญ่เลย (หัวเราะ) เราก็จดใหญ่ พอเริ่มคุ้นชิน สนิทขึ้น เด็กบอกเอง เรื่องที่เล่าเขาโกหก หัวหน้าแก๊งที่พี่ตามหาคือผมนี่แหละ เขาเริ่มเปิดใจ ทำให้เรารู้เลยว่า ขนาดใช้เวลาอยู่ตั้งสองเดือน ยังไม่ได้อะไรเลย

หลังเรียนรู้วิชาที่ไม่มีสอนในห้องเรียน อาจารย์ปูเล่าให้ฟังว่า จากที่ใช้โรงแรม 4 ดาว เป็นที่หลับนอน เธอย้ายมาพำนักยังห้องเช่าละแวกเดียวกับชุมชนที่เหล่าวัยรุ่นอยู่ จากนั้นความสัมพันธ์จึงเริ่มพัฒนา

“ช่วงนี้เด็กเริ่มมานอนค้างด้วย ใกล้กันขึ้น ต่อมาก็ไปนอนค้างบ้านเด็ก เขยิบเข้าไปอีก พอคุ้นเคย เด็กก็ชวนไปอยู่ที่บ้านเขาเลย”

ขับรถกลับคนเดียว ผมเป็นห่วง วัยรุ่นมันปล้นกันบ่อย – คือคำพูดของเด็กชายบางคน

“ตอนนั้นเลิกใช้เทปสัมภาษณ์แล้ว เลิกจด สไตล์การทำงานคือนั่งเขียนบันทึกในแต่ละวันว่าเราเจออะไรบ้าง เรียกว่าเป็นการใช้ชีวิตแบบพวกเดียวกันเลย” อาจารย์ปูว่า

ใช้ชีวิตแบบพวกเดียวกัน ใช่, ไม่เข้าถ้ำเสือ ไฉนจะได้ลูกเสือ อยากว่ายน้ำเป็น เอาแต่ยืนมองอยู่ริมตลิ่ง คงไม่เข้าท่านัก

“แม้สุดท้ายผลวิจัยที่เราสรุปจะออกมาว่า พฤติกรรมต่างๆ ของวัยรุ่นเหล่านี้ เป็นผลพวงจากสังคม จากระบบ แต่เราไม่เคยมีธงไปก่อน สนใจทำเพียงเพราะว่า เป็นปรากฏการณ์ที่น่าสนใจ ทำไมเด็กบาดเจ็บจากการขี่รถมันถึงมีอัตราสูงติดอันดับโลก ทั้งๆ มีกฎหมายห้ามเด็กอายุน้อยๆ ขี่รถ เราต้องการหาคำอธิบาย

“จริงๆ ตั้งใจทำพื้นที่แถบนครปฐม แต่อาจารย์ที่ปรึกษาขอให้ยกให้คนอื่น ตอนนั้นน้อยใจมาก ร้องไห้ ขับรถ กะว่าไปปล่อยอารมณ์ที่ทะเลแถวๆ ภาคตะวันออก พอดีอารมณ์มันสงบลง เลยวกรถกลับมาไหว้หลวงพ่อโสธร ได้เห็นเด็กวัยรุ่นจำนวนมากขี่รถมอเตอร์ไซค์ซิ่ง พอกลับไปเช็คข้อมูลก็พบว่า พื้นที่นี้ใช้ได้เลย อัตราอุบัติเหตุสูงติดอันดับชาติ พูดได้ว่าดวงฟ้าส่งมา (หัวเราะ)”

สอง

ในหนังสือ เร่ง รัก รุนแรง: โลกชายขอบของนักบิด อาจารย์ปนัดดาแสดงทัศนะไว้ในคำนำ

‘หัวใจสำคัญที่สุดก็คือ ปรากฏการณ์การบาดเจ็บรุนแรงและการเสียชีวิตจากการขับขี่รถมอเตอร์ไซค์ของเด็กวัยรุ่นนั้น เป็นเพียงปรากฏการณ์ส่วนยอดของภูเขาน้ำแข็งที่โผล่พ้นจากผิวน้ำในมหาสมุทรเท่านั้น

‘ส่วนอื่นๆ ของภูเขาน้ำแข็งที่ซุ่มซ่อนอยู่ คือการกระทำรุนแรงของเด็กวัยรุ่น โดยมีรถมอเตอร์ไซค์เป็นเครื่องมือ อาทิ การมีเพศสัมพันธ์ที่ฉาบฉวยและไม่ปลอดภัย การเสพ ซื้อ และจำหน่ายยาเสพติด การใช้อาวุธเพื่อต่อสู้กันระหว่างกลุ่ม รวมถึงการก่ออาชญากรรมต่างๆ

‘การกระทำรุนแรงทางสังคมของเด็กวัยรุ่นผู้มีความรักและหลงใหลรถมอเตอร์ไซค์เหล่านี้ เป็นผลกระทบของการพัฒนาสังคมในระบบทุนนิยมและวัฒนธรรมบริโภคนิยมที่แผ่ซ่านอยู่ในสังคมโลกปัจจุบัน’

เธอวาดหวังว่า เรื่องเล่าจากการทำงานวิจัยภาคสนาม จะเป็นไฟจากหัวไม้ขีดที่จุดเทียนเล่มใหญ่ในใจของผู้อ่าน ให้เกิดแรงบันดาลใจในการร่วมคิดร่วมส่งเสริมเด็กและเยาวชนไทยให้มีความเข้มแข็ง

“จากไม่เคยดื่ม ก็ต้องดื่ม ไม่เคยขี่รถมอเตอร์ไซค์ ก็หัดขี่ ขนาดซื้อรถเองเลย” อาจารย์ปูเล่าให้ฟัง

บางครั้งมันขัดแย้งกับจริยธรรมของเรา อย่างตอนที่เขาชวนไปดูพรรคพวกรุมโทรมผู้หญิง เรารู้สึกไม่อยากไป ขัดแย้ง หรือเห็นเขาต่อยเพื่อนล้มลง แล้วเอาหินทุ่มหน้า ในความรู้สึก ในฐานะเป็นอาจารย์ มันไม่ใช่แล้ว เราควรเอาข้อมูลไปให้ตำรวจไหม ตรงนี้คือความยุ่งยาก

“ลงพื้นที่แต่ละทีหลายเดือนด้วย ความที่กลัวว่าจะหลุดจากโลกตรงนั้น นานสุด 4-5 เดือน อยู่จนสามารถไปนอนบ้านน้องคนไหนก็ได้ ใช้ชีวิตเหมือนคนในครอบครัว ซักผ้าให้ ทำอาหารให้ แต่พออยู่นานๆ มันจะอิน รู้สึกเป็นเรื่องปกติ เลยต้องถอนออกมาจากพื้นที่สักวันสองวัน กลับสู่โลกของมืออาชีพ ใช้มุมมองนักวิชาการ ต้องถกกับข้อมูลที่ได้มา พอเราหายไป เด็กๆ ก็โทรมาตาม”

ลองไปฟังบางเหตุการณ์ที่ยังอยู่ในความทรงจำของเธอ

“ด้วยความมุ่งมั่นที่อยากทำงานดีๆ ต้องเข้าอยู่ในโลกของคนในให้ได้ เข้าไปอยู่ในจุดที่เด็กยืน เลยต้องใช้เวลาให้มากที่สุด เราเป็นผู้หญิง อายุก็มากกว่า เข้าไปอยู่กับเด็กผู้ชายห้าวๆ ใช้ชีวิตเพลย์บอย ชาวบ้านเอาไปลือกันว่า ผู้หญิงคนนี้เป็นเมียของเด็ก นั่นเป็นประสบการณ์ครั้งแรก ไม่เคยเจอคนพูดแบบนี้ ท้อแท้มาก รับไม่ได้ อยากกลับบ้าน”

เด็กในกลุ่มบางคนบอกว่า อย่าไปฟังขี้ปากใคร ให้ตั้งใจทำงานอย่างเต็มที่

“จำได้แม่นเลย ทำไมเด็กยังคิดได้ เราต้องรู้ตัวเองสิว่าทำอะไรอยู่ นี่ขนาดเป็นเด็กที่สังคมคิดกันว่าไม่มีสมอง เอาแต่สนุกไปวันๆ”

ไม่มีใครอยากเป็นคนเลว – อาจารย์ปูคิดอย่างนั้น

“ทุกคนเป็นคนดีขึ้นได้ มันอาจยาก แต่เราควรมีความหวัง จากงานภาคสนาม ทำให้รู้ว่า ไม่มีใครดีหรือเลวร้อยเปอร์เซ็นต์ แม้ตัวเราเอง มันขึ้นอยู่กับบริบท ถ้าไม่มีปัจจัยแวดล้อม เขาจะดีขึ้นได้ น้องๆ ทุกคน ไม่ว่าจะเป็นประเภทไปยิงคนมา เขามีแง่งาม เพียงแต่ด้านสว่างกับด้านมืดมันเปราะบางมาก

“จริงอยู่ ระบบมันเปลี่ยนไม่ได้ แต่ถ้าเราคิดอย่างนั้นทั้งหมด จบเลย ความสุขมันเกิดขึ้นจากความเข้าใจ แล้วปัญหามันจะค่อยๆ เคลื่อนไป เราต้องสร้างภูมิต้านทานก่อนที่เขาจะก้าวเข้าไปสู่โลกด้านมืด เด็กตั้งเเต่เกิดจนถึงประถม 5 น่ารักมากนะ เกก็เกน่ารัก ไม่จัดจ้าน เราควรป้องกัน สอน เปิดพื้นที่ อย่าให้เขาเป็นคนชายขอบของครอบครัว ของสังคม”

อ่านถึงบรรทัดนี้ สงสัยไหมว่าเธอเอาความกลัวไปซุกซ่อนไว้ที่ไหน เพราะงานที่ทำ มันต่างจากการแต่งตัวเก๋ๆ ไปร่วมเปิดตัวสินค้าบนห้างหรู หรือนั่งตากแอร์เย็นฉ่ำ สัมภาษณ์ผู้บริหารบริษัทยักษ์ใหญ่ถึงตัวเลขกำไรขาดทุน

“มันค่อยๆ ซึม เกิดขึ้นโดยไม่รู้ตัว จากการที่เรามีแรงบันดาลใจ ตอนนั้นเป็นนักศึกษาปริญญาเอก มีความรู้สึกว่าช่วงหนึ่งของชีวิตที่ฉันจะได้ทำงานอย่างเต็มที่ เลยอยากทำงานดีๆ ไว้เป็นตัวอย่างให้ลูกศิษย์ และอยากทำความเข้าใจปรากฏการณ์บางอย่างด้วย คิดว่าคนเราเกิดมาก็ต้องตาย ดูเหมือนเป็นผู้หญิงอ่อนโยน ซึ่งก็จริง แต่ก็มีความบ้าบิ่น”

สาม

ถามเรื่องครอบครัว อาจารย์ปูบอกว่าไม่ได้ให้รายละเอียดการทำงานกับคนทางบ้าน

“เป็นลูกคนเดียว จบพยาบาลจากศิริราช ช่วงนั้นก็ไม่ค่อยได้อยู่บ้านอยู่แล้ว พอจบก็ทำงานตามสาย พ่อบังคับด้วย บอกว่าผู้หญิงควรเป็นพยาบาล แต่ตัวเราไม่อยาก ทำด้วยความทุกข์ จนกระทั่งได้มาเรียนจิตวิทยาสังคม ที่รามคำแหง เลยได้พบความสนุก”

‘สนุก’ ของเธอหมายถึง การได้เข้าใจคน เข้าใจตัวเอง

“พฤติกรรมคนน่าสนใจ พอจบจากตรงนั้น ก็สอบเรียนจิตวิทยาอุตสาหกรรม ที่เกษตรฯ เริ่มสนุกมากขึ้นกับการบริหารจัดการองค์การโดยใช้หลักจิตวิทยา คิดว่าตรงนี้แหละที่เราชอบ เลยขอลาออกจากพยาบาล พ่อโกรธมาก แต่ท่านคิดว่าเราทำได้ จึงปล่อย”

อนาคตน่าจะไปได้สวย อัตราเงินเดือนสุดท้ายที่บริษัทเอกชนแห่งหนึ่งเฉียด 80,000 แต่เงินก็ไม่อาจต้านทานเสียงด้านในที่ดังกว่า

“เงินเดือนเยอะ แต่ทำงานตามนายสั่ง คิดแค่ว่ากำไรสูงสุดต้องทำอย่างไร” เธอว่า

“เลยมาสอบเป็นอาจารย์ที่เกษตรฯ เงินเดือนเหลือ 7,000 กว่าบาท (หัวเราะ) แต่ไม่เคยคิดว่าตัดสินใจผิดนะ ได้ทำงานวิจัยที่เราสนใจจริงๆ อย่างเรื่องเด็กแว้น จริงๆ สนใจเรื่องอุบัติเหตุในโรงงาน แต่เงื่อนไขการทำปริญญาเอก มันต้องสร้างองค์ความรู้ใหม่ ต้องกระทบกับสังคม สำรวจแล้ว อุบัติเหตุจากรถมันโด่งมาก”

ด้วยความที่คลุกคลีกับวัยรุ่นที่ยืนอยู่คนละฝั่งกับกฎหมาย ทำให้มิติการเรียนรู้ขยายวงออกไป สองปีที่ผ่านมา เธอก้าวเท้าเข้าสู่โลกอีกใบ

“ฟังภาพลักษณ์จากปากวัยรุ่นซิ่งรถว่าพวกเขาคิดกับตำรวจอย่างไร เนื่องจากการวิจัยเป็นเรื่องชาติพันธุ์วรรณา จึงต้องทำความเข้าใจคนทุกกลุ่ม เข้าใจวัยรุ่น ต้องเข้าใจในส่วนที่เกี่ยวข้องกับเขาทั้งหมด ปกติแล้วเป็นคนเกลียดตำรวจ มีทัศนคติที่ไม่ดี พยายามยั้งที่จะไม่ทำเรื่องนี้ จนมันหนีไม่ได้ เลยเดินเข้าไปขอสัมภาษณ์ผู้บังคับการท่านหนึ่ง นั่นเป็นจุดเริ่มต้น”

อาจพูดได้ว่า ถ้าจะเกลียด ก็ขอให้รู้ว่าเรากำลังเกลียดอะไรอยู่ ไม่ใช่เอะอะก็ปิดตา เบือนหน้าหนี ไม่ยอมรับรู้ ไม่กล้าเผชิญ

ความเกลียดที่ติดตัวมา เปลี่ยนเป็นความเข้าใจ จากที่มีอคติกับตำรวจอยู่แล้วโดยภาพลักษณ์ มันเป็นอารมณ์ไง เราไม่เข้าใจว่า ทำไมตำรวจถึงต้องทำแบบนี้ รู้แต่ว่าทำ แล้วสังคมก็บอกว่ามันไม่ดี ความเข้าใจคือสามารถอธิบายได้ว่า เขาทำไปเพราะอะไร เพราะระบบ เพราะโครงสร้างหรือเปล่า ถ้าเราเข้าไปอยู่ในจุดนั้นๆ ก็ไม่แน่ เราอาจทำ

เข้าใจ ไม่ใช่เข้าข้าง คนละความหมายกับการเหมารวมว่าโลกทั้งใบบรรจุแต่คนดี

ที่เลวจริงๆ และไม่จำเป็นต้องตามหาคำอธิบายก็มีอยู่มาก

“พอก้าวเข้าไป ได้เห็นเบื้องหลัง เห็นรายละเอียด รับรู้ถึงเหตุผลของการกระทำนั้นๆ ว่าคืออะไร ทำให้เข้าใจภาพชัดขึ้น เลยรู้สึกว่า พฤติกรรมไม่ดีมันมีที่มา สามารถอธิบายได้ แต่สังคมจะยอมรับหรือไม่เป็นอีกเรื่อง แต่ระบบการประเมินค่ามันจะเปลี่ยนไป ไม่ได้เป็นคนโรแมนติกขนาดมองว่าทุกคนเป็นเหยื่อระบบทั้งหมด”

ไม่ได้บอกว่าทำถูก ทั้งเด็กแว้น ทั้งตำรวจเลวๆ เพียงแต่เธอเข้าใจมากขึ้นว่า ทำไมต้องทำอย่างนั้น

ไม่ผิดใช่ไหม ถ้าจะเรียนรู้ในการมองโลกด้วยความเข้าใจ

ไฟใต้ไม่มอดดับ แบ่งเหลืองแบ่งแดง กระทั่งสงครามที่ระอุคุอยู่ทั่วทุกมุมโลก ต้นเหตุมาจากการที่เราไม่ยอมทำความเข้าใจอะไรเลยใช่หรือเปล่า

ใครบางคนเคยกล่าวไว้ว่า เปลี่ยนโลกน่ะ มันเปลี่ยนยาก แต่เปลี่ยนตัวตนบางอย่างภายใน ยากยิ่งกว่า

แต่ไม่เห็นเสียหาย ถ้าจะลองพยายาม

หมายเหตุ: ตีพิมพ์ครั้งแรกในนิตยสาร WAY ฉบับที่ 22 / 2552

Author

สันติสุข กาญจนประกร
อดีตบรรณาธิการเครางาม ปลุกปั้นและปล้ำ WAY มาในยุคนิตยสาร นักสัมภาษณ์ที่ไม่ยอมให้ข้อสงสัยหลงเหลือในประโยคพูดคุย เรียบเรียงถ้อยคำความหล่อบนบรรทัดด้วยทักษะแบบนักประพันธ์ หลังออกไปบ่มเพาะความคิด สันติสุขกลับมาพร้อมรสมือและกลิ่นกายที่คุ้นชิน และแน่นอน ทักษะด้านการเขียนที่ผ่านการเคี่ยวกรำมาย่อมแม่นยำกว่าเดิม

Photographer

อนุชิต นิ่มตลุง
อาชีพเก่าคือคนขายโปสการ์ดภาพถ่ายขาวดำยุคฟิล์ม จับกล้องดิจิตอลรับเงินเดือนประจำครั้งแรกที่นิตยสาร a day weekly เมื่อปี 2547 ถ่ายงานหลากหลายรูปแบบทั้งงานสตูดิโอ ภาพข่าว สารคดี มีความสามารถพิเศษสั่งตัวแบบได้ตั้งแต่พริตตี้ คนงานทุบหินแถวหิมาลัย ไล่ไปจนถึงงานที่ถูกใครต่อใครหยิบยืมไปใช้สอยบ่อยๆ อย่างภาพถ่ายนักวิชาการที่ไม่น่าจะถ่ายรูปขึ้น นอกจากทำงานให้ WAY อย่างยาวนาน ยังเป็นเจ้าของกิจการเครื่องหนัง Dog's vision อันลือลั่น

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า