เรื่อง: เทพพิทักษ์ มณีพงษ์
ภาพ: เฉลิมพล ปัณณานวาสกุล
เบื้องล่าง ใจกลางกรุงเทพมหานครในยามค่ำคืนดูวุ่นวายด้วยเสียงแตรรถยนต์ผสมเสียงระนาดบรรเลงเพลงรำแก้บน ทว่าบนตึกสูงที่ตั้งอยู่กลางสี่แยกราชประสงค์กลับปลอดคนและเงียบสงบ ระหว่างที่เรารอให้ถึงเวลานัดบนทางเดินที่ชั้น 16 ไม่กี่อึดใจต่อมา ประตูของห้องเล็กๆ ก็เปิดขึ้นพร้อมร่างของชายหนุ่มวัย 26 ปีคนหนึ่งที่แต่งหน้าเกือบเสร็จเรียบร้อยแล้ว เหลือเพียงปัดแก้มและเติมกรอบปากที่ยังวาดค้างเอาไว้
“เข้ามาได้เลยค่ะ” เสียงของเขาเชื้อเชิญให้เราก้าวเข้าไปในห้องแต่งตัว ระหว่างที่กำลังคิดว่าควรจะใช้คำสรรพนามเพื่อเรียกนักเต้นแนว ‘Waacking (แวคกิ้ง)’ ผู้นี้ว่า ‘เขา’ หรือ ‘เธอ’ ถึงจะดูเหมาะสมกว่ากัน ขาของเราก็สะดุดกับกองเครื่องแต่งกายและถุงพลาสติกใส่อุปกรณ์ประกอบฉากกองพะเนิน…รู้สึกตัวอีกที จากที่ยืนอยู่ในทางเดินมืดๆ เมื่อสักครู่ เราได้ก้าวเข้ามาสู่อีกที่หนึ่งที่มีเสียงเพลงดิสโก้ยุค ’70s คลอเบาๆ พอให้ขยับเท้าตามเป็นจังหวะ
ปันปัน นาคประเสริฐ คือชื่อจริงของชายหนุ่มพร้อมเมคอัพจัดเต็มคนนั้น
ขณะที่เขาต้องเตรียมตัวขึ้นแสดงในอีกไม่กี่ชั่วโมงถัดไป มันหาใช่เพียงการแต่งหน้าและสวมชุดเพื่อขึ้นแสดงในนามของ ‘ปันปัน’
แต่คือการสวมบทบาทอีกบทบาทหนึ่งซึ่งได้มาจากการเรียนรู้ว่ามีคนอีกคนที่ใช้ชีวิตร่วมกันอยู่ในตัวของตัวเอง
และชื่อของเธอคนนั้นคือ Pangina
– 1 –
“เราเคยอยู่ทีมฮิพฮอพเลย แต่เต้นฮิพฮอพมันมีกรอบของมันอยู่ คือจะเป็นตัวตัวเองก็พอได้ แต่ยังไงก็ต้องเป็นคาแรคเตอร์ตามที่เขาต้องการ” เขาเล่าอดีตของตัวเองก่อนจะมาเป็นนักเต้นแวคกิ้งอย่างทุกวันนี้
จนกระทั่งเขาได้เห็นการเต้นแวคกิ้งบนเวทีการประกวดและเริ่มรู้สึกสนใจตั้งแต่นั้น ปันปันบอกว่าการเต้นแนวนี้มีอะไรมากกว่าการเต้นแบบอื่นๆ และ ‘อะไร’ ที่ว่านั้นไม่ใช่การเต้นด้วยท่วงท่าที่พิสดารยากเกินเลียนแบบ แต่คือการเต้นที่ได้ ‘แสดงออก’ ถึงความเป็นตัวเองผ่านคาแรคเตอร์ที่ตัวเองสร้างและพัฒนาขึ้น
การเต้นแวคกิ้งถือกำเนิดขึ้นจากคลับเกย์ในอเมริกาช่วงยุค 70 เมื่อเกย์เริ่มจับจุดได้ว่า นางโชว์เวลาแสดงมักใช้นิ้วมือกรีดกรายไปมา เมื่อนำมาผสานกับจังหวะเพลงดิสโก้ในคลับก็พบว่าเข้ากันได้ดี ประกอบกับพื้นที่การเต้นที่มีน้อยต้องใช้สอยประหยัด การออกลีลาจึงเปลี่ยนจากการแดนซ์ออนเดอะฟลอร์เป็นการจับจังหวะด้วยการใช้มือแบบนางโชว์แทน
“ในเมื่อแวคกิ้งมันมาจากนางโชว์ แล้วทำไมเราไม่ลองเอานางโชว์มาเต้นแวคกิ้งล่ะ” นี่อาจเป็นความคิดจุดประกายแรกของปันปันก่อนตัดสินใจก้าวเข้าสู่โลกของแวคเกอร์อย่างเต็มตัว
“คุณเป็นอะไรก็ได้ที่คุณ ‘อยาก’ จะเป็น ไม่ใช่อะไรที่คนบอกให้คุณ ‘ต้อง’ เป็น” เขาให้เหตุผลพร้อมเน้นเสียงพลางเลือกสีบลัชออนให้เข้ากับชุดที่จะใส่ในค่ำคืนนี้
ทุกวันนี้นอกจากการโชว์และเดินสายประกวดตามเวทีต่างๆ ปันปันยังเปิดคลาสสอนเต้นแวคกิ้ง ซึ่งคนที่มาเรียนมีตั้งแต่เด็กๆ อายุ 10 กว่าขวบไปจนถึงผู้ใหญ่อายุ 50 ปี การสอนของเขาไม่ได้หวังให้ทุกคนต้องเต้นแวคกิ้งได้เก่งระดับปรมาจารย์ แต่เป็นการสอนให้มีแอ็คติ้งและจับจังหวะเพลงเป็น ที่สำคัญที่สุดคือสอนให้ลูกศิษย์มีความมั่นใจในตัวเอง ซึ่งจะติดตัวไปใช้ได้ในชีวิตจริง
“การเต้นแวคกิ้งมันต้องมั่นใจกับตัวเองก่อน ถ้าคุณทำให้คนเชื่อว่าคุณมั่นใจในตัวเองได้ ในที่สุดคนอื่นก็จะเชื่อว่าคุณมั่นใจ และในที่สุดคุณก็จะมั่นใจในตัวเองจริงๆ” เราเห็นประกายตาแวววาวจากเขาส่งผ่านแพขนตางอนงามที่ดัดมาเป็นอย่างดี
– 2 –
ไม่ถึง 20 นาที ปันปันออกมาพบกับเราอีกครั้งในลุคเจ้าสาวผมบลอนด์พร้อมดอกไม้ขาวประดับศีรษะ ในมือมีช่อดอกไม้สำหรับเจ้าสาว เรียกได้ว่าครบเซ็ต
บอกไม่ถูกจริงๆ ว่าเพราะอะไรทำให้เราเริ่มรู้สึกว่า ‘เขา’ เริ่มจะเปลี่ยนเป็น ‘เธอ’
ไม่ใช่เพราะปันปันอยู่ในชุดแต่งงานพร้อมรองเท้าส้นสูงที่สูงกว่าผู้หญิงปกติสวมใส่ในชีวิตประจำวัน แต่เรารู้สึกได้ว่าจริตจะก้านและการพูดการจาของปันปันเริ่มมีความเป็น ‘ผู้หญิง’ มากกว่าที่เราคุยกันในห้องแต่งตัวเคล้าเสียงเพลงดิสโก้ห้องนั้น
หลังถ่ายภาพเสร็จเรียบร้อย ปันปันพาเรามานั่งคุยกันต่อในบาร์ เธอสั่งวอดก้าผสมสไปรท์ลอยด้วยเลมอนฝานบางจากบาร์เทนเดอร์ พลางจุดบุหรี่ขึ้นสูบเพื่อปลดปล่อยลมหายใจที่ถูกกักไว้จากคอร์เซ็ตชุดแต่งงานสีขาวที่รัดแน่น
ก่อนจะมาเป็นนักเต้นอย่างทุกวันนี้ ปันปันเริ่มทำงานในวงการศิลปะมาก่อน งานนิทรรศการแทบทุกชิ้นของเธอพยายามสื่อถึงการมีอยู่ของอีกตัวตนหนึ่งในจิตใจมนุษย์ที่ไม่ถูกจำกัดเอาไว้ด้วยอัตลักษณ์ทางเพศของเพศหนึ่งเพศใด
แต่เอาเข้าจริงๆ เธอบอกว่าไม่อยากเรียกตัวเองว่าเป็นศิลปินเท่าไหร่
“ไม่ชอบใช้คำว่าศิลปิน เพราะมันดูแบบ ‘โอ้ว! ฉันเป็นศิลปิน’ เราก็จะบอกแค่ว่า ‘I do art. I’m an artist.’
“เราชอบทำงานศิลปะแต่ไม่ได้ทำเพราะอยากจะเป็นศิลปิน ที่ทำเพราะมันจำเป็น ปันอยากจะแก้จุดจุดหนึ่งที่ปันไม่เข้าใจเกี่ยวกับชีวิต ปันเลยทำมัน” เธอว่า
จริงๆ แล้วคนเราทุกคนมีอีกคาแรคเตอร์หนึ่งในตัวเองจริงไหม? เราสงสัย
“มันมีอยู่ ทุกๆ คนจะมีคาแรคเตอร์หนึ่งที่อยู่ลึกๆ เราเจอคาแรคเตอร์บางอย่างที่มาจากข้างใน ซึ่งเริ่มต้นจาก GAGASMICISM (หนึ่งในนิทรรศการศิลปะของเธอ – ผู้เขียน) มันเป็นการค้นพบ พอพบแล้วมันเหมือนได้เรียนรู้เกี่ยวกับตัวเองในหลายแง่ที่สำคัญมากๆ แล้วทำให้รักตัวเองขึ้นเยอะมากๆ
“หลายๆ สิ่งหลายๆ อย่างที่ปันไม่กล้าทำ เวลาเป็นแพนไจนาแล้วปันกล้าทำ มันไม่ใช่แค่ทำให้เรามีความมั่นใจในชีวิต แต่คือความรู้สึกที่ว่า ‘กูไม่แคร์อะไรแล้ว’” หญิงสาวผมบลอนด์กล่าว
การค้นพบอีกตัวตนหนึ่งในชื่อของ Pangina ที่เป็นนางโชว์ drag queen แต่งตัวแบบจัดเต็มทุกชุด เปรียบเสมือนการแสดงออกความเป็นตัวของตัวเองอีกมุมหนึ่งได้อย่างเปิดเผย ไม่ต้องสนใจสายตาใคร เมื่อปันปันหลบเข้าไปแล้วปล่อยให้ Pangina ออกมาโลดแล่นใช้ชีวิตในร่างผู้หญิง เธอบอกกับเราว่าคล้ายกับมี ‘หน้ากาก’ ที่ครอบความเป็นชายเอาไว้
“เราว่ามันเป็นการบำบัดตัวเอง” เธอขยายความพลางขอไฟแช็คจากพนักงานเพื่อจุดบุหรี่ตัวใหม่
– 3 –
แม้ว่าสังคมไทยในปัจจุบันจะยอมรับและให้พื้นที่ในการแสดงออกต่อสาธารณะกับเพศทางเลือกอื่นๆ ที่ไม่ใช่ชายจริง-หญิงแท้มากขึ้นแล้วก็ตาม แต่การใช้ชีวิตของปันปันที่ในห้วงยามปกติใช้ชีวิตเป็นผู้ชายหน้าตี๋ธรรมดา ทว่าในยามราตรีที่ออกแดนซ์ ปันปันคนนั้นกลับหายไปและเปลี่ยนเป็น Pangina ที่แต่งหญิงเป็นนางโชว์ไฮไลท์จมูกเป็นสัน ก็ทำให้บางคนยังไม่เข้าใจในตัวเธออยู่เหมือนกัน
“คนอาจจะยอมรับได้ยากกว่าเพราะ อ้าว…มันเป็นผู้ชาย แต่ทำไมแต่งเป็นผู้หญิง คืออยากจะไปตัดไอ้นั่นทิ้งหรือเปล่า? อยากจะมีนมเหรอ? มันไม่ใช่ไง มันคือการแสดงออกของปัน มันเป็นชีวิต มันเป็นไลฟ์สไตล์ มันเป็นอะไรที่สนุก มันเป็น passion ของปัน”
ไม่ต้องว่าไปไกลถึงสังคม แม้กระทั่งแม่ของเธอเองในตอนแรกก็รับไม่ได้กับการแสดงออกแบบนี้ของลูกชาย ในนิทรรศการศิลปะ GAGASMICISM ช่วงที่เธอต้องแสดงการเต้น แม่ของเธอที่มาร่วมงานกลับเดินออกไปโดยที่ไม่อยู่รอดูลูกแสดงด้วยซ้ำ
จนกระทั่งเธอได้ลงแข่งขันเต้นในรายการ Thailand Dance Now แม่ของเธอจึงเริ่มยอมรับมากขึ้น
“พ่อแม่หลายๆ คนไม่ยอมรับลูกจนกว่าคนอื่นจะยอมรับลูกตัวเองก่อนเหมือนกันนะ อย่างแม่เราตอนนี้เวลาเห็นคนปรบมือให้เรา แม่ก็จะ ‘โอ๊ย…มีความสุขจังเลย’ ” เธอเล่าอย่างขำๆ
แต่เรื่องราวกลับเหมือนหนังคนละม้วนเมื่อคุณย่าและคุณอาของเธอได้เห็น Pangina บนหน้าจอโทรทัศน์ พวกเขาพากันชื่นชมเธอโดยที่ไม่สนใจว่าเธอจะแต่งตัวอย่างไร บอกเพียงว่า ‘เต้นเก่งมาก’
“โมเมนท์นั้นเราเกือบร้องไห้ ปันนึกว่าคุณย่าจะรับไม่ได้ เพราะแกอายุเยอะแล้ว แต่แกก็โทรมาเล่าให้ฟังว่าแกดูเราเต้นแล้วมีความสุข ขำ ทุกครั้งที่เจอก็จะล้อกันตลอด” เธอพูดพร้อมรอยยิ้ม
– 4 –
ภารกิจของความเป็น Pangina ในมุมมองของปันปันแบ่งออกเป็น 2 ส่วน หนึ่ง-คือส่วนของการใช้ชีวิตและการแสดงเป็นนางโชว์ และ สอง-คือส่วนของการเป็นนักเต้นแวคกิ้ง ซึ่งเป้าหมายสูงสุดของเธอไม่ใช่แค่ทำเพื่อตัวเอง แต่เป็นการทำเพื่อคนอื่นล้วนๆ
“drag คือการแสดงเป็นอีกเพศหนึ่งเพื่อให้คนมีความสุข ไม่ได้ต้องการจะเน้นสวย เพราะเรามีความสุขที่สุดคือทำให้คนยิ้ม ถ้าชั้นจะแหกขา ทำตัวอุบาทว์แล้วคนขำ คนมีความสุข เรามีความสุขนะ โลกนี้มันมีอะไรเศร้าๆ เยอะแล้วน่ะ ถ้าเราทำให้เขาแฮปปี้ได้วินาทีหนึ่งก็รู้สึกว่าเราได้ทำหน้าที่ที่ถูกต้องแล้วในช่วงเวลานั้น อันนั้นคือสำหรับการแสดงเป็นนางโชว์ค่ะ
“ถ้าในเรื่องแวคกิ้ง สิ่งสำคัญที่สุดในชีวิตคือการทำให้เด็กแสดงความเป็นตัวตนได้โดยไม่มีใครว่า สำหรับเด็กหลายๆ คนถ้าเขาเป็นเกย์หรือสาวประเภทสอง ครอบครัวเขาหรือสังคมอาจจะบอกว่ามันไม่โอเค แต่เราอยากจะเป็นคนคนหนึ่งที่บอกว่า ‘ดูชั้นสิ ชั้นยังโอเคกับมันเลย’ เพราะเธอจะได้รู้ว่ายังมีคนเข้าใจว่าเธอรู้สึกยังไงอยู่”
เธอพูดจบพร้อมดับบุหรี่ในมือจนมอดลงด้วยที่เขี่ยโลหะสีเงินใกล้มือ
– 5 –
ทั้งปันปันและ Pangina เป็นคนคุยสนุกด้วยกันทั้งคู่ แต่เรารู้สึกได้ถึงชีวิตชีวาเวลาอยู่กับ Pangina มากกว่านิดหน่อย เธอยอมรับว่าจริตที่มีอาจมากล้นเกินปกติ หรือที่เธอติดตลกว่า “ดัดซะหักเลยค่ะ”
หลังจากที่ต้องกล่าวคำอำลาเนื่องจากเธอต้องเตรียมตัวเพื่อขึ้นแสดงในอีกไม่กี่นาทีข้างหน้า เราก็ได้คำตอบของคำถามเรื่องสรรพนามที่เราจะใช้เรียกเธอที่เกิดขึ้นในหัวก่อนที่จะได้พูดคุยกัน
คำตอบที่ถูกต้องคือการไม่ต้องตั้งคำถาม
เพราะเรื่องบางเรื่องก็ไม่จำเป็นต้องไปจำแนกให้มันวุ่นวาย
**********************************************
หมายเหตุ : ตีพิมพ์ครั้งแรกใน way magazine # 74
คอลัมน์ Face of Entertainment